วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เรื่องแสบๆ ที่มนุษย์เงินเดือนควรฟัง


วันนี้ผมจะคั่นรายการด้วยทฤษฎีฮาๆ ที่มนุษย์เงินเดือนฟังแล้วอาจจะฮาไม่ออก

มีแนวคิดที่เสนอโดย Laurence Peter นักทฤษฎีการบริหารจัดการชาวอเมริกัน แนวคิดดังกล่าวเรียกว่า Peter Principle ผมอ่านครั้งแรกแล้วชอบมากเลย เหมือนมีอะไรมากระแทกใจให้แสบๆ คันในฐานะของคนที่ทำงานกินเงินเดือนบริษัท แนวคิดนั้นมีใจความว่า "ในองค์กรที่มีระดับชั้น พนักงานแต่ละคนมีแนวโน้มที่จะได้รับการเลื่อนขั้นไปจนถึงตำแหน่งที่ตนเองไม่คู่ควร" เฮอะ งง อ่านทวนอีกรอบนะครับ

ทฤษฎีนี้กำลังบอกเราว่า พนักงานที่กำลังพยายามไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งหน้าที่การงานสูงๆ ต่างก็กำลังเดินทางไปสู่จุดจบของตัวเอง แต่ละคนได้เลื่อนขั้น ช้าบ้างเร็วบ้างแตกต่างกันไป ตราบเท่าที่เขาเหล่านั้นยังคงปฏิบัติงานในหน้าที่ได้อย่างดี หัวหน้าของเขาก็จะเลื่อนตำแหน่งให้เขาสูงขึ้นๆ ฟังดูดีใช่มั๊ยล่ะครับ

แต่ปีเตอร์บอกว่า วันหนึ่งที่เขาถูกโปรโมตให้ขึ้นไปสู่ตำแหน่งที่ "เริ่มจะเกินความสามารถ" แน่นอนว่าพนักงานคนนั้นย่อมฉายแววไม่ออก หัวหน้าก็จะไม่เลื่อนขั้นให้เขาอีกต่อไปและปล่อยให้เขาติดแหง็กอยู่ในตำแหน่งนั้นไปเรื่อยๆ ...ในแต่ละองค์กรจึงมีคนอยู่เพียง 3 ประเภท (อันนี้ผมสรุปเอง)
  1. พนักงานไฟแรงที่ยังคงได้เลื่อนขั้นอยู่เรื่อยๆ
  2. พนักงานที่ติดค้างอยู่ในตำแหน่งที่เขาไม่เอาถ่าน
  3. พนักงานชั้นยอดของบริษัท พวกนี้จะพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดขององค์กร
ความจริงพวกที่ 3 ก็ติดแหง็กเหมือนกัน แต่เป็นเพราะตำแหน่งสำหรับ "ลูกจ้าง" มันมีอยู่เพียงแค่นั้น คนกลุ่มนี้ถือว่าท๊อปคลาสและมีจำนวนน้อยมาก เราจะไม่กล่าวถึงนะครับ
ทั้งนี้ผมจะเรียกพนักงานพวกที่สองว่าเป็นพวกตกค้าง ส่วนพนักงานพวกแรกผมเรียกว่าเป็นพวกไฟแรง ความจริงก็คือพวกตกค้างที่ดูเหมือนจะห่วยนี้ต่างก็เคยเป็นพวกไฟแรงมาก่อนทั้งสิ้น วันคืนที่ผ่านไปพนักงานในกลุ่มไฟแรงคนแล้วคนเล่าได้เลื่อนตำแหน่ง บางคนได้เลื่อนแล้วก็ติดแหง็ก บางคนได้เลื่อนต่อไป แต่ลงท้ายแล้วเขาก็ต้องไปติดแหง็กอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งของบริษัท ดังนั้นหากบริษัทไม่มีการรับพนักงานใหม่เพิ่ม บริษัทก็จะเข้าสู่สภาวะสมดุล (equilibrium) ที่จะเหลือแต่พนักงานในกลุ่มตกค้างทั้งสิ้น คงไม่ต้องเดานะครับว่าบริษัทนั้นจะออกไปสู้กับคนอื่นเขาได้อย่างไร
สิ่งที่ผมขอให้การบ้าน คือ ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เริ่มเข้ามาสู่กลุ่มพนักงานตกค้าง คุณคิดว่าคุณควรจะทำอย่างไร ผมมีทางเลือกให้
  • อยู่ต่อไป อย่างน้อยก็มีเงินผ่อนรถ มีข้าวกิน
  • ลาออก เพื่อไปเป็นกลุ่มไฟแรงของบริษัทอื่นพร้อมรับเงินเดือนที่สูงขึ้น
  • พัฒนาตัวเอง เพื่อให้ความสามารถของเราทันกับตำแหน่งที่สูงขึ้น
ไม่มีใครช่วยฟันธงได้ ไปเลือกกันเอาเองนะครับ

วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553

House of Derivatives ตอนที่ 7 Futures ของคุณชื่ออะไร?


ปกติเรารู้จัก "ชื่อหุ้น" อยู่แล้ว เช่น หุ้นธนาคารกรุงเทพ มีชื่อในทางการเทรดหุ้นว่า BBL หรือหุ้นบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ มีชื่อว่า LH เป็นต้น แล้ว futures มีชื่อว่าอะไรล่ะ

ข้อแตกต่างอย่างหนึ่งระหว่างการซื้อหุ้นกับการซื้อ futures ก็คือ หุ้นไม่มีการหมดอายุ ในทางเทคนิคแล้วเราสามารถ "ถือไปเรื่อยๆ" และรับเงินปันผลไปเรื่อยๆ ขณะที่ futures นั้นเป็นสัญญาประเภทหนึ่งที่มีการระบุวันหมดอายุไว้ด้วย ชื่อของ futures จึงต้องบ่งบอกให้ชัดเจนว่าเรากำลังหมายถึงตัวไหน

ขอยกตัวอย่าง SET50 index futures ตัวหนึ่งนะครับ


S50U10

S50 หมายถึง ดัชนี SET50 ซึ่งเป็นสินค้าอ้างอิงหรือ underlying asset นั่นเอง
U หมายถึง ซีรีส์ หรือเดือนที่ futures จะหมดอายุ
10 หมายถึง ปี 2010 ซึ่งเป็นปีที่ futures จะหมดอายุ

ผมเชื่อว่าเรื่องของสินค้าอ้างอิงกับปีที่หมดอายุนั้นเข้าใจค่อนข้างง่าย แต่คนจะงงกับเรื่องซีรีส์มากกว่า เพราะว่าเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งผมขออธิบายดังนี้ครับ

โดยปกติตลาดอนุพันธ์หรือ TFEX (Thailand Futures Exchange) มีการสร้าง futures ในซีรีส์ต่างๆ ไว้รองรับ ได้แก่

ซีรีส์ H คือ futures ที่หมดอายุเดือนมีนาคม
ซีรีส์ M คือ futures ที่หมดอายุเดือนมิถุนายน
ซีรีส์ U คือ futures ที่หมดอายุเดือนกันยายน
ซีรีส์ Z คือ futures ที่หมดอายุเดือนธันวาคม

สรุปว่ามีครบทุกไตรมาส และทางตลาดอนุพันธ์จะมีการสร้างหรือผลิต futures ในซีรีส์ต่างๆ เอาไว้ให้พวกเราซื้อขายกัน โดยผลิตออกมาล่วงไปข้างหน้า 1 ปี เช่น ตอนนี้เดือนสิงหาคม 2010 นับไปข้างหน้า 1 ปีก็จะไปถึงเดือนสิงหาคม 2010 ใช่มั๊ยครับ ซีรีส์ที่ผลิตออกมาแล้วในตอนนี้ก็จะมี 4 ตัวด้วยกัน

S50U10 ... หมดอายุเดือนกันยายนนี้
S50Z10 ... หมดอายุเดือนธันวาคมนี้
S50H11 ... หมดอายุเดือนมีนาคมปีหน้า และ
S50M11 ... หมดอายุเดือนมิถุนายนปีหน้า

S50U11 ซึ่งจะหมดอายุเดือนกันยายนปีหน้านั้นยังไม่เกิดครับ ฉะนั้น futures ตัวใกล้สุด ณ ตอนนี้ก็คือตัวที่หมดอายุเดือนกันยายน 2010 โดยปกติแม้เราจะมีให้ซื้อขายกัน 4 ซีรีส์ แต่คนส่วนมากจะชอบเล่นตัวที่ใกล้ที่สุด (ซึ่งตอนนี้คือ S50U10) เรียกว่ามีสภาพคล่องสูงสุดครับ ส่วนถ้าผมอยากซื้อ futures ของหุ้นก็เอาชื่อหุ้นใส่ข้างหน้าไป เช่น KTBU10 ก็เป็นซีรีส์ที่หมดอายุเดือนกันยายน 2010 ของหุ้นธนาคารกรุงไทยหรือ KTB เป็นต้น

งวดนี้มีสาระเยอะ รกสมองหน่อยแต่รับรองว่าเอาไปคุยกับมาร์เก็ตติ้งได้สบายปากครับ

แถมท้ายด้วยทิปส่วนตัวในการจำชื่อซีรีส์ของแต่ละไตรมาส ตอนแรกผมก็จำไม่ได้แต่ตอนนี้สบายมาก
ลองจำเล่นๆ ว่า H-M-U-Z มาจาก He Meets Us at Zimbabwe (เขามาเจอพวกเราที่ซิมบับเว่ ...แม่เจ้า! มาเจอกันไกลจังเว้ย อุตส่าห์แอบมาเที่ยวแล้วเชียว 555)

วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553

House of Derivatives ตอนที่ 6 Leverage


เสน่ห์อย่างหนึ่งของ futures คือการที่เราลงทุนน้อยแล้วสามารถทำกำไรได้มากๆ ภาษาทางการเงินเขาเรียกว่า leveraging หรือ gearing ซึ่งทำให้คนมีตังค์น้อยแบบผม (อะแฮ่ม!) มีโอกาสได้ลุ้นเหมือนกับคนมีตังค์มาก ตัวอย่างเช่น

ถ้าผมชอบบริษัท ABC และเชื่อว่าหุ้นจะขึ้นในอนาคตอันใกล้ ผมอยากซื้อหุ้นตัวนี้ที่ราคาตลาดหุ้นละ 100 บาท จำนวน 10,000 หุ้น ผมต้องมีเงิน 1,000,000 บาท ใช่มั๊ยครับ ... แต่มันเป็นแค่ความฝันครับ เพราะผมไม่มีเงินหนึ่งล้านบาท

ผมมีทางเลือกสองทาง
ทางแรก คือ รวบรวมเงินเท่าที่มีอยู่ไปซื้อหุ้น สมมติว่าผมมีแค่ 100,000 บาท ซึ่งก็จะซื้อได้เพียง 1,000 หุ้นเท่านั้น
ทางเลือกที่สอง คือ ซื้อ futures ของหุ้น ABC สมมติว่า
- หนึ่งสัญญา เทียบเท่ากับหุ้น ABC 1,000 หุ้น (1 สัญญา = 1,000 หุ้น = 100,000 บาท ที่ราคาตลาดปัจจุบัน)
- ทุกหนึ่งสัญญา ต้องวางเงินประกันหนึ่งหมื่นบาท หรือ 10% ของมูลค่าสัญญา

ดังนั้น ถ้าผมมีเงินอยู่ 100,000 บาท ผมสามารถวางเป็นเงินประกันเพื่อซื้อ futures ได้ 10 สัญญา

ลองดูสิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปครับ สองอาทิตย์ถัดมาบริษัท ABC ประกาศผลประกอบการ ส่งผลให้หุ้นมีราคาสูงขึ้น 6% คือขึ้นจาก 100 บาทเป็น 106 บาท หากผมเลือกใช้เงินซื้อหุ้นตรงๆ ผมจะได้กำไร (106 - 100) x 1,000 = 6,000 บาท

ในทางตรงกันข้าม หากผมเลือกใช้การซื้อ futures แทนการซื้อหุ้น ผมจะได้กำไรสัญญาละ (106 - 100) x 1,000 = 6,000 บาท แต่! ผมซื้อไว้ 10 สัญญานี่นา โอ้ว ไม่! ผมได้กำไรถึง 60,000 บาทเชียวหรือนี่

สังเกตว่าทั้งสองทางเลือกใช้เงินลงทุน 100,000 บาทเท่ากัน แต่ทางเลือกแรกได้กำไรเพียง 6% ขณะที่ทางเลือกที่สองได้กำไรถึง 60,000/100,000 = 60% เห็นความแตกต่างระหว่างการซื้อหุ้นโดยตรงกับการซื้อ futures หรือยังครับ นี่แหละ leveraging ที่ผมพูดถึง

Leveraging กับความเสี่ยง

จากตัวอย่างที่ผมยกมา ถ้าเรามีความแม่นยำในการคาดการณ์ราคาหุ้น การซื้อ futures จะทำให้ได้กำไรมากมายมหาศาล ... แต่ถ้าเราไม่แม่นล่ะ

ความเสี่ยงบนอีกด้านหนึ่งของเหรียญ หากผมคาดการณ์ผิดและหุ้น ABC กลับตกลง 6% ในกรณีที่ผมซื้อหุ้นก็จะขาดทุน 6% เช่นกัน แต่ถ้าผมซื้อ futures เอาไว้ผมจะขาดทุน 60,000 บาท หรือ 60% เท่ากับว่าผมจะมีเงินเหลือเพียง 40,000 บาทเท่านั้น

เห็นทั้งด้านดีและด้านแย่แล้ว ถ้าเป็นคุณ คุณจะเลือกทางเลือกไหนครับ?

วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

House of Derivatives ตอนที่ 5 Basis คืออะไร


เมื่อไหร่ที่พูดถึง futures แต่ไม่พูดถึง basis ก็คงกระไรอยู่

อธิบายง่ายๆ basis ก็คือค่าที่แสดงมุมมองของตลาด เรากำหนดว่า

basis = S - F

จากตัวอย่างในบทความที่แล้ว SET50 กำลังอยู่ที่ 585 จุด (S = 585) และ SET50 Futures ซื้อขายกันที่ 582 จุด (F = 582) ดังนั้นค่า basis (เบซิส) ก็จะเท่ากับ 3

ในตัวอย่างนี้ค่า basis เป็นบวกแสดงว่าตลาดมองว่าหุ้นน่าจะตก ยิ่งบวกมากก็ยิ่งตกมาก สมมติว่าดัชนีไม่เคลื่อนไปไหนเลย แต่ดันมีข่าวลือในกลุ่มผู้ลงทุน derivatives ทำให้เกิดความกลัวถึงอนาคตของหุ้น ผลก็คือนักลงทุนเหล่านี้จะยอมขาย futures ในราคาที่ลดลง เมื่อค่า S เท่าเดิมแต่ F ลดลง ค่า basis ก็ยิ่งถ่างออกเป็นบวกมากขึ้น ลองย้อนไปมองสมการจะเข้าใจครับ

ตามปกติค่า basis ควรจะค่อยๆ แคบลงเมื่อ futures เข้าใกล้วันหมดอายุ (ผมเคยบอกหรือยังว่า futures เป็นสัญญาที่หมดอายุได้ด้วย?)











จากกราฟนี้ ผมใช้เส้นหนาเป็นดัชนี SET50 ซึ่งมีการเคลื่อนไหวโดยตัวของมันเอง ขณะเดียวกัน SET50 Futures (กราฟเส้นบาง) ก็มีการเคลื่อนไหวล้อไปตามดัชนีไปด้วย สังเกตว่าค่า basis จะห่างอยู่ในช่วงแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ค่อยๆ ลดลงจนเมื่อถึงวันที่ futures หมดอายุ ทั้ง S และ F จะกลับมาเท่ากันเสมอ เพราะอนาคตกลายเป็นปัจจุบันไปเสียแล้ว
อย่างไรก็ตาม basis เป็นของไม่แน่นอน แม้ S และ F จะต้องกลับมาบรรจบกันก็จริง แต่ระหว่างทางอาจเกิดเรื่องราวอะไรขึ้นก็ได้ หากนักลงทุนเกิดอาการแตกตื่น ช่องว่างที่ว่าก็อาจจะถ่างออกอย่างมากก็เป็นได้
สมมติว่า SET50 ตกทันที 30 จุดภายในวันเดียว มันก็มักจะมีนักลงทุนผู้มองการณ์ไกล(?) ฟันธงทันทีว่าหุ้นจะต้องลงอีกยาว SET50 Futures จึงอาจจะตกถึง 40 จุด ถ่างให้ basis กว้างกว่าเดิมถึง 10 จุดก็ได้
ดังนั้นในการซื้อขาย futures นอกจากจะต้องมองตัวดัชนีแล้ว การผันผวนของค่า basis ก็เป็นอีกตัวหนึ่งที่ไม่สามารถละเลยได้เช่นเดียวกัน

วันเสาร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2553

House of Derivatives ตอนที่ 4 SET50 Futures


หลังจากเล่านู่นเล่านี่มานาน ผมว่าได้เวลาแล้วครับที่เราจะมาทำความรู้จักกับ futures ตัวที่ฮิตที่สุดของประเทศไทยในเวลานี้ เรากำลังพูดถึง SET50 Futures ซึ่งเป็นพระเอกของเรื่องนี้

ที่ผ่านมาเราปูพื้นด้วย futures ของข้าว ความจริงแล้วผมชอบอธิบายเรื่องของ derivatives โดยไปตั้งต้นที่สินค้าเกษตรเพราะว่ามันเห็นภาพได้ชัดเจน ผมสามารถจินตนาการการซื้อขายข้าวเป็นกระสอบๆ หรือเป็นเกวียน มากกว่าที่จะจินตนาการถึงหุ้นหรือดัชนี (ซึ่งมันเป็นอากาศธาตุมากเพราะว่าเราคำนวณขึ้นมา) นอกจากนี้ประเทศของเราก็ปลูกข้าวส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก มีเพื่อนชาวจีนของผมคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าพ่อของเขาสอนว่าข้าวไทยเป็นข้าวที่ดีที่สุด "ข้าว" จึงน่าจะเป็นสินค้าอ้างอิงที่คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงได้

ในกรณี futures ของข้าว เราเรียกข้าวว่าเป็น "สินค้าอ้างอิง" หรือ underlying asset เมื่อเราบอกว่าราคาข้าวปัจจุบันอยู่ที่เกวียนละ 8,000 บาท และทำสัญญาว่าจะส่งมอบในอนาคตที่ราคา 10,000 บาท ก็เรียกเป็นศัพท์เท่ๆ ว่า spot price อยู่ที่ 8,000 บาท และ futures price อยู่ที่ 10,000 บาท

SET50 Futures

สินค้าอ้างอิง ได้แก่ ดัชนี SET50

ในแต่ละวันดัชนีมีการเคลื่อนไหวขึ้นลง ดัชนี SET50 ในแต่ละวันถือว่าเป็น spot price ของวันนั้นๆ เช่น วันนี้ดัชนีอยู่ที่ 585 จุด ผมจะเขียนให้เข้าใจง่ายๆ ว่า

S = 585

ในวันเดียวกัน futures ที่ส่งมอบ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 มีการซื้อขายกันอยู่ที่ 582 จุด

F = 582

สังเกตว่าราคา futures ต่ำกว่า spot (F น้อยกว่า S) แสดงว่าตลาดมีความคาดหวังว่าสิ้นเดือนกันยายนนี้เราจะเห็นดัชนี SET50 ลดลงไปอยู่ที่ 582 จุด สมมติผมไม่เชื่อว่าหุ้นจะตกจึงตัดสินใจซื้อ futures ที่ราคานี้แล้วเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงดัชนียังคงอยู่ที่ 585 จุดอยู่ ผมจะได้กำไร 585 - 582 = 3 จุด (ซื้อที่ 582 แต่ขายได้ที่ 585 ...ได้กำไร)

ถ้าถามว่ากำไรที่ได้คิดเป็นกี่บาท เนื่องจาก SET50 Futures ใช้ตัวคูณดัชนีเท่ากับ 1,000 บาท ดังนั้นผมจะได้กำไร 3,000 บาทครับ

ในทางกลับกันถ้าตลาดทำนายแม่น ดัชนีลดลงไปอยู่ที่ 582 จุดจริงๆ งานนี้ผมก็เสมอตัว (582 - 582 = 0) ไม่ได้และไม่เสียอะไร อ้อ แต่ในความเป็นจริงผมจะต้องจ่ายค่าคอมมิชชันด้วยนะครับ ปัจจุบันโบรกเกอร์เขาคิดที่ 450 บาทต่อหนึ่งสัญญาครับ ผมซื้อ 1 ครั้งและขาย 1 ครั้งต้องเสียไป-กลับรวมแล้ว 900 บาท รวมกับ VAT 7% กลายเป็น 963 บาทแล้วครับ ดังนั้นถ้าผมจะพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าไม่ขาดทุน ผมต้องทำกำไรให้ได้ก่อนประมาณ 1 จุด ซึ่งคิดเป็นเงิน 1,000 บาท เพียงพอที่จะครอบคลุมค่าคอมมิชชันพอดี

วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ดัชนีตลาดหุ้น SET50


ก่อนหน้านี้ผมเคยติดค้างไว้ที่เรื่องของดัชนีตลาดหุ้นไทย ปัจจุบันเรามีดัชนีอยู่หลายตัว เช่น SET Index, SET50 Index, SET100 Index, FTSE SET Large Cap เป็นต้น แต่ที่เด่นๆ ผมขอพูดถึงเฉพาะสองตัวแรกเท่านั้นก็พอ

SET Index เป็นดัชนีที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ เพราะว่าเปิดตัวครั้งแรกพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อ 30 เมษายน 2518 ซึ่งก็ถือว่าเป็นวันฐานของดัชนีตัวนี้ด้วยโดยดัชนี SET ในวันแรกอยู่ที่ 100 จุด และมีการขึ้นลงเรื่อยมาจวบจนทุกวันนี้ดัชนีอยู่ที่ 800-900 จุด นับได้ว่าตลาดหุ้นของเราผ่านร้อนผ่านหนาวและเติบโตขึ้นมาหลายเท่าตัว ดัชนีนี้ถือได้ว่าครอบคลุมหุ้นทุกตัวในตลาด (ความจริงมีหุ้นแปลกๆ บางลักษณะที่ไม่นำมารวม แต่ถือคร่าวๆ ว่าเกือบครบก็แล้วกัน) ดังนั้น เราสามารถบอกได้ว่าตลาดหุ้นโดยรวมปรับตัวขึ้นหรือลงได้จากการเคลื่อนไหวของดัชนี SET

ขณะที่ SET50 Index เกิดขึ้นมาภายหลังอีกหลายปี โดยเป็นการรวบรวมหุ้นชั้นนำที่มีขนาดบริษัทใหญ่ที่สุด 50 บริษัทแรกมาคำนวณโดยใช้วันที่ 16 สิงหาคม 2538 เป็นวันฐาน ก่อนที่ต่อมาในปี 2548 เมื่อตลาดมีอายุครบ 30 ปี ก็มีการคำนวณดัชนี SET100 เพิ่มเข้ามาอีกตัวหนึ่ง ซึ่งโดยส่วนตัวผมคิดว่าตลาดหุ้นของเรายังถือว่าเล็กอยู่มากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ การใช้ดัชนี SET และ SET50 ก็ถือว่าน่าจะเพียงพอแล้ว

จุดที่น่าสนใจ คือ ดัชนี SET ให้ภาพของทั้งตลาด แต่ดัชนี SET50 ให้ภาพของหุ้นตัวใหญ่ 50 ตัวแรก โดยปกติดัชนีทั้งสองตัวควรเคลื่อนไหวไปด้วยทิศทางและขนาดที่ใกล้เคียงกัน เพราะเหตุว่าหุ้นใหญ่ 50 ตัวแรกที่อยู่ในดัชนี SET50 ก็รวมอยู่ในดัชนี SET ด้วยเช่นเดียวกัน อีกทั้งในการคำนวณของประเทศเราใช้การถ่วงน้ำหนักด้วย "มูลค่าตลาด" ซึ่งก็คือขนาดของหุ้นนั่นเอง หุ้นตัวใหญ่จึงย่อมมีน้ำหนักมากและมีอิทธิพลต่อดัชนี แต่ถ้าบางครั้งเราเห็นว่าดัชนี SET เป็นบวกและดัชนี SET50 เป็นลบ นั่นแสดงว่าหุ้นตัวใหญ่ส่วนมากมีราคาลดลงแต่หุ้นตัวกลางตัวเล็กมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่ค่อนข้างมากจนสามารถฉุดดัชนีได้ ซึ่งก็เคยปรากฏให้เห็นอยู่เป็นครั้งคราวครับ

ในการหามูลค่าตลาด (market value) นั้นเราใช้จำนวนหุ้นคูณด้วยราคาหุ้น เช่น หุ้นของธนาคารกรุงเทพ (BBL) มีจำนวน 1,908.8 ล้านหุ้น ราคาล่าสุดอยู่ที่ 137 บาท มูลค่าตลาดของ BBL จะอยู่ที่ 261,500 ล้านบาท (ใช่แล้วครับ สองแสนล้านกว่าบาท! และทุกๆ 1 บาทที่ราคาหุ้นเปลี่ยนแปลง มูลค่าตลาดของ BBL จะเปลี่ยนแปลงไปประมาณ 1,900 ล้านบาท) เมื่อเราคำนวณแบบนี้กับหุ้นทุกตัวในตลาดก็จะได้มูลค่าตลาดรวม (market capitalisation หรือ market cap) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 7 ล้านล้านบาท

วันนี้เรามาแบบ informative มากๆ แต่ก็เพื่อปูพื้นสำหรับ SET50 futures ถ้าไม่รู้ตื้นลึกหนาบางเดี๋ยวพื้นจะไม่แน่น ไม่อยากให้พลาดตอนสนุกที่กำลังจะมาถึงครับ

วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2553

House of Derivatives ตอนที่ 3 ราคาของ futures บอกอะไร


จาก House of Derivatives ตอนที่ 2 ผมยกตัวอย่างชาวนาที่ได้ "บริหารความเสี่ยง" ในการทำนาโดยใช้ futures ซึ่งน่าทึ่งมากๆ ชาวนาสามารถวางแผนเพิ่มหรือลดผลผลิตให้สอดคล้องกับภาวะตลาดได้... ยังไงน่ะหรือครับ ก็เขาสามารถอ่านตลาดได้คร่าวๆ จากราคา futures นั่นไง

สมมติว่าราคาข้าวปัจจุบันอยู่ที่เกวียนละ 8,000 บาทแต่ราคา futures ของข้าวที่จะต้องส่งมอบในอีก 4 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 10,000 บาท ก็แสดงว่าตลาดส่งสัญญาณว่าในอีก 4 เดือนข้างหน้าข้าวจะมีราคาสูงขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงราคาข้าวอาจขยับขึ้นไปที่ 9,500 บาทเท่านั้นก็ได้ แต่ก็ต้องบอกว่าการคาดการณ์ของตลาดโดยมากจะใกล้เคียงทีเดียว

เราลองมาดูกลไกว่าตลาดสามารถคาดการณ์อนาคตได้ใกล้เคียงความจริงได้ยังไง สมมติว่ามีเจ้าของโรงสีกลุ่มหนึ่งวิเคราะห์สภาพตลาดได้ผลออกมาว่าราคาข้าวมีแนวโน้มจะขยับจาก 8,000 บาทไปเป็น 9,000 บาทจึงตั้งราคาซื้อข้าวในอนาคต (ตั้งราคา futures) ไว้ที่ 9,000 บาท แต่เดี๋ยวก่อน! มีพ่อค้าข้าวรายใหญ่อีกรายเห็นว่าข้าวในตลาดโลกทำท่าจะขาดแคลนจึงเชื่อว่าราคาจะสูงกว่านั้น เขาเลยตั้งราคารับซื้อข้าวในอนาคตไว้ที่ 10,000 บาท ชาวนาจำนวนมากจึงหันมาทำสัญญากับพ่อค้าข้าวรายใหญ่ ในที่สุดกลุ่มเจ้าของโรงสีก็จำต้องขยับราคา futures ของตนเองขึ้นมารับซื้อที่ราคา 10,000 บาทบ้าง

จะเห็นได้ว่าจุดสมดุลของราคา futures เกิดขึ้นจากความเห็นชอบของคนส่วนใหญ่ในตลาด จากตัวอย่างที่ผ่านมาถ้าชาวนาพากันเห็นว่าราคาข้าวควรขยับขึ้นไปสูงกว่า 10,000 บาท ก็อาจจะไม่ยอมขายข้าวล่วงหน้าให้ใครเลย แต่ไปวัดดวงขายเอาตอนที่ผลผลิตออกทีเดียวเลยก็ได้ ความจริงแล้วราคามันก็เป็นเรื่องของ demand-supply เพียงแต่ตอนนี้เราต้องพยายามคิดไปถึงอนาคตเท่านั้น

ในปัจจุบันประเทศไทยของเราก็มี futures ที่อ้างอิงกับพืชผลทางการเกษตรหลายตัว ได้แก่ ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง ผมไม่แน่ใจว่าจะมีชาวไร่ชาวนาสมัยใหม่ที่ใช้ประโยชน์จาก futures เหล่านี้มากน้อยเพียงใด แต่ถ้าวันหนึ่งมีคนเอาอินเตอร์เน็ตไปถึงหมู่บ้านที่ห่างไกลและมีคนไปให้ความรู้ เราคงจะได้เห็นม็อบชาวไร่ชาวนาน้อยลง พร้อมๆ กับเห็นเกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ... อันนี้ฝันล่วงหน้านะครับ เพราะส่วนมาก futures ที่ดังจริงๆ ของประเทศเราคือ futures ที่ผูกอยู่กับตลาดหุ้นต่างหาก ในตอนหน้าเราจะพา futures กระโจนเข้าสู่ตลาดหุ้นกัน

วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553

House of Derivatives ตอนที่ 2 Futures เกิดขึ้นง่ายๆ


เวลาที่เราซื้อขายข้าวของต่างๆ เรายื่นเงินให้แม่ค้าและแม่ค้าก็ยื่นของให้กับเรา การซื้อขายในรูปแบบนี้เกิดขึ้น ณ เวลาปัจจุบัน ถ้าจะเรียกว่า "หมูไปไก่มา" ก็คงไม่ผิดนัก สมมติว่ามีร้านขายกาแฟสดร้านหนึ่ง ทุกเช้าจะมีคนเข้าคิวยาวเพื่อรอซื้อกาแฟก่อนเข้าออฟฟิศไปทำงานซึ่งผมเองก็เป็นลูกค้าประจำกับเขาเหมือนกัน เย็นวันหนึ่งผมไปบอกกับคุณป้าจุ๊เจ้าของร้านว่าในวันรุ่งขึ้นผมจะซื้อมอคค่าเย็นอร่อยๆ สักแก้วให้คุณป้าทำเตรียมไว้ได้เลย ในวันต่อมาผมก็ไม่ต้องไปเข้าคิวรอ ... เยี่ยมมาก

สิ่งที่ผมทำคือการไป "สัญญา" กับป้าจุ๊ว่าจะซื้อกาแฟ สังเกตนะครับว่าการซื้อขายยังไม่ได้เกิดขึ้นในตอนเย็นวันนั้น เพียงแต่ว่ามีการสัญญาหรือตกลงกันไว้เฉยๆ คุณป้าก็ต้องเชื่อใจผมว่าจะมาซื้อจริง ส่วนผมก็ต้องเชื่อใจคุณป้าว่ามาถึงแล้วจะได้ของ เรื่องราวแบบนี้แหละครับเป็นที่มาของ derivative ตัวหนึ่งที่ชื่อว่า futures และที่มันได้ชื่ออย่างนั้นก็เพราะว่ามันเป็นเรื่องของอนาคตนั่นไง

เปลี่ยนจากภาพเล็กอย่างร้านกาแฟมาเป็นภาพใหญ่ในประเทศไทยที่ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร ชาวนามีหน้าที่ปลูกข้าว ปัญหาประจำของชาวนาคือ "ควรปลูกมากน้อยแค่ไหนดี?" ถ้าจะกู้หนี้ยืมสินมาปลูกข้าวให้มากๆ ก็กลัวว่าปลูกเสร็จแล้วราคาข้าวจะตกต่ำ ขายข้าวก็ไม่ได้ราคา หนี้สินก็ต้องจ่าย เผลอๆ จะจนยิ่งกว่าเก่า ครั้นจะปลูกน้อยก็จะไม่พอกิน คิดแล้วก็กลุ้มใจ แต่แล้วทันใดนั้นเจ้าของโรงสีมีคุณธรรมยื่นข้อเสนอที่น่าสนใจ

เจ้าของโรงสี: "ตอนนี้ข้าวเกวียนละ 8,000 บาท แต่ผมได้ข่าวมาว่าปีนี้ข้าวจะแพงขึ้น เอางี้แล้วกัน ลุงกับญาติปลูกข้าวไป พอเก็บเกี่ยวได้มาส่งให้ผม 20 เกวียน ผมให้ราคาเกวียนละ 10,000 บาท"
ชาวนา: "แล้วถ้าถึงตอนนั้นราคาข้าวมันต่ำกว่าหมื่นล่ะ"
เจ้าของโรงสี: "ผมก็รับซื้อที่ 10,000"
ชาวนา: "งั้นถ้ามันสูงกว่าหมื่นล่ะ"
เจ้าของโรงสี: "ผมก็รับซื้อที่ 10,000 เหมือนกัน"

ชาวนาคิดใคร่ครวญดูแล้วเห็นว่าดีกว่าปลูกแบบเดาสุ่มไป อย่างน้อยก็ได้เงินตั้ง 200,000 บาท น่าจะพอค่าปุ๋ยค่ายาจึงตอบตกลง เหตุการณ์ต่อจากนั้นจะเป็นอย่างไรก็ช่างเถอะ แต่เราเห็นแล้วว่าความทุกข์ของชาวนาได้หมดไป เพราะอนาคตที่ไม่แน่นอนได้กลายเป็นสิ่งที่แน่นอน และนี่คือกลไกการทำงานของ futures ... สิ่งที่เจ้าของโรงสีสัญญาไว้กับชาวนาก็คือ futures นั่นเอง สังเกตว่าเจ้าของโรงสีและชาวนาตกลงราคา futures ตัวนี้ไว้ที่ 10,000 บาท ก็เพราะเชื่อว่าเป็นราคาที่น่าจะเหมาะสมในอนาคต

วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2553

House of Derivatives: ตอนที่ 1 บทส่งท้ายของความไม่รู้


ผมตั้งใจจะเขียนบทความในซีรีส์ 'House of Derivatives' เพื่อเล่าเรื่องของตราสารอนุพันธ์หรือ derivatives อย่างง่ายๆ ในรูปแบบที่เราไม่ค่อยพบเห็นกัน จากประสบการณ์ของผมคนที่รู้เรื่อง derivatives มากๆ ส่วนใหญ่มักพูดจาไม่ค่อยรู้เรื่อง บทความในซีรีส์นี้จึงน่าจะมา "ปิดช่องว่าง" ได้เป็นอย่างดีสำหรับคนที่สนใจ

ใน พ.ศ. นี้ ผมคิดว่าถ้าเราเดินเข้าไปหาโบรกเกอร์ (เวลาเราซื้อขายหุ้นหรืออนุพันธ์ก็ตาม เราต้องส่งคำสั่งผ่านบริษัทหลักทรัพย์หรือที่เรียกกันว่าโบรกเกอร์) เพื่อเปิดบัญชีหรือขอคำแนะนำเกี่ยวกับการซื้อขาย derivatives ลักษณะที่เราจะพบมีอยู่ 2 แบบใหญ่ๆ คือ

  1. "อนุพันธ์เสี่ยงมากนะครับ ลูกค้าผมเคยเปิดพอร์ตเล่นจาก 10 ล้าน ตอนนี้ขาดทุนจนเหลือแค่ 2-3 ล้าน ผมว่าพี่เล่นเฉพาะหุ้นอย่างเดียวน่าจะดีกว่า" หรือ
  2. "คุณพี่ก็เล่นเหมือนกับหุ้นน่ะค่ะ เพียงแต่ว่าเวลากำไรจะได้เร็วกว่ามาก หุ้นขึ้น 10% คุณพี่จะได้กำไรถึง 100% เชียวนะคะ"
สรุปว่ารายแรกไล่แขกส่วนรายหลังก็ให้ข้อมูลไม่ครบ ผมไม่ได้บอกว่าโบรกเกอร์ที่ "เก่ง" และ "ดี" ในเรื่องของ derivatives ไม่มีจริง แต่ผมสามารถยืนยันได้ว่าถ้ามาร์เก็ตติ้งหรือเจ้าหน้าที่การตลาด (คนที่ทำงานอยู่กับโบรกเกอร์ ที่เราโทรไปส่งคำสั่งซื้อขายนั่นแหละครับ) มีใบอนุญาตประเภท ข คือ สามารถขายอย่างเดียว มีโอกาสสูงที่เขาจะไม่ได้รู้เรื่อง derivatives อย่างลึกซึ้งเพียงพอ
ใบอนุญาตของ กลต. มี 2 แบบ ได้แก่
  • ประเภท ก --- สามารถส่งคำสั่งซื้อขาย และเขียนบทวิเคราะห์ได้
  • ประเภท ข --- สามารถส่งคำสั่งซื้อขายได้เท่านั้น
โดยปกติโบรกเกอร์จะติวพนักงานของตัวเองก่อนส่งไปสอบใบอนุญาตประเภท ข ซึ่ง(มักจะ)แค่เพียงพอที่จะทำให้ "สอบผ่าน" และสิ่งที่ลูกค้าซึ่งก็คือเราๆ ท่านๆ มักจะได้รับคือคำแนะนำในลักษณะเดียวกับการซื้อขายหุ้นเท่านั้น สิ่งที่ผมต้องการจะสื่อ คือ เราจะหวังพึ่งมาร์เก็ตติ้งเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ดังนั้น หากต้องการมรรคผลจริงๆ ในการซื้อขาย derivatives เราควรยึดหลัก "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" ดีที่สุดครับ
คราวหน้าของ House of Derivatives เราจะมาพูดถึงที่มาที่ไปของ futures กัน

วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ถ้าอยากจะกู้เงิน


ในบางกรณีคนเราย่อมมีความจำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากธนาคารบ้าง บางทีก็เป็นการกู้รายการใหญ่ เช่น ซื้อบ้านหรือที่ดิน บางทีก็เป็นการกู้ยืมรายการเล็กๆ อย่างเช่นการสมัครบัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสด (ซึ่งหลายคนก็ไม่ทราบว่าถือเป็นสินเชื่อประเภทหนึ่งเหมือนกัน) ไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมในลักษณะใดธนาคารก็ตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบเพราะเป็นคนออกเงิน หากผู้กู้เกิดเบี้ยวขึ้นมาธนาคารย่อมจะได้รับความเสียหาย แม้เราอาจจะรู้สึกว่าธนาคารนั้นใหญ่โตแต่เมื่อถูกเบี้ยวจากลูกหนี้หลายรายเข้าก็เดือดร้อนได้เหมือนกัน

ธนาคารพิจารณาจากอะไรบ้าง

โดยทั่วไปธนาคารใช้หลักการง่ายๆ ที่เรียกว่า 3Cs คือมีตัวซี 3 ตัว ได้แก่
  1. Character หมายถึง คุณสมบัติของผู้กู้ เป็นต้นว่าผู้กู้เป็นใครมาจากไหน มีการศึกษาระดับใด เคยทำธุรกิจมาหรือไม่ หรือว่าไปค้างหนี้ที่ไหนมาบ้าง เป็นต้น
  2. Capacity คือ ขีดความสามารถในการจ่ายคืน ถ้าเป็นพนักงานก็จะดูว่ามีเงินเดือนเท่าไหร่ มีรายได้ทางอื่นอีกหรือไม่ ถ้าเป็นนักธุรกิจก็จะดูว่าธุรกิจมียอดขายเท่าไหร่ ตัวเลขกำไรสม่ำเสมอหรือเปล่า
  3. Collateral สำหรับเงินกู้บางอย่างโดยเฉพาะถ้ายอดกู้สูงๆ ธนาคารก็มักจะให้ผู้กู้เอาหลักทรัพย์มาค้ำประกัน หากผู้กู้ไม่สามารถจ่ายคืนเป็นเงินสดได้ก็จะยึดทรัพย์ขายทอดตลาด เรียกว่า "กำขี้ดีกว่ากำตด"
ตัว C ตัวแรก (character) เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะธนาคารมองว่าคนดีย่อมสำนึกอยู่เสมอว่าไปกู้เขามาและจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง อย่างไรก็ตาม เรื่องจริงก็คือถ้าคุณไปกู้แล้วไม่มีหลักประกันก็มีโอกาสกู้ได้น้อยมาก โดยเฉพาะถ้ากู้รายการใหญ่ๆ เช่น กู้ไปทำธุรกิจ หรือถ้ากู้ได้ก็คงจะเจออัตราดอกเบี้ยที่แพงมาก

ในเรื่องของหลักประกัน โดยมากธนาคารต้องการให้หลักประกันมีความสัมพันธ์กับจุดประสงค์ในการกู้ยืม เช่น ถ้ากู้ไปปลูกบ้านก็ควรจะเอาที่ดินที่จะปลูกบ้านนั้นมาค้ำ หรือถ้ากู้ไปทำธุรกิจก็อาจจะเอาห้องแถวที่จะใช้ประกอบธุรกิจมาค้ำ นอกจากนี้อาจค้ำประกันด้วย "เงินฝาก" อันนี้ก็มีคนเขาทำกันครับ และธนาคารชอบมาก แต่ผมเองไม่แนะนำแนวทางนี้เพราะว่ามันไม่คุ้ม

นอกจากทั้ง 3Cs แล้ว ยังมีคนคิดตัว C อื่นๆ ตามมาอีกมาก แต่ขอปิดท้ายเพิ่มอีกแค่ 2 ตัวที่คิดว่าน่าสนใจก็แล้วกัน
  • Capital หรือเงินทุน ธนาคารชอบให้ผู้กู้ออกเงินของตัวเองส่วนหนึ่ง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในตัวธุรกิจหรืออย่างน้อยก็ในความสามารถของตนเอง ถ้าผู้กู้ลงเงินตัวเองเกินครึ่งมักจะมีโอกาสที่ดีที่จะได้รับเงินกู้
  • Condition คือ เงื่อนไขทั้งจากสภาพเศรษฐกิจและการเงิน เช่น การเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ ค่าเงินบาท แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น เพื่อวิเคราะห์ว่าผู้กู้จะได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมเหล่านั้นอย่างไร และจะมีปัญญาใช้เงินคืนได้หรือไม่
เบ็ดเสร็จแล้วก็ 5Cs ถ้าพร้อมแล้วก็ไปติดต่อขอกู้ได้เลยครับ

*** ที่กล่าวมานี้เป็นหลักการทั่วไป ไม่ได้เป็นการยืนยันหรือรับรองว่าธนาคารแห่งใดแห่งหนึ่งจะให้กู้ยืมเงินจากการวิเคราะห์ด้วยหลักการนี้ ***