วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เที่ยวต่างประเทศ


คนจำนวนไม่น้อยนิยมท่องเที่ยวต่างประเทศด้วยการ "ซื้อทัวร์" ซึ่งก็อาจจะเหมาะสมกับความชื่นชอบและข้อจำกัดของแต่ละคน แต่ในฐานะของนักลงทุน ผมคิดว่าการมีโอกาส "เที่ยวเอง" ช่วยเปิดมุมมองให้กับตัวเราได้มากกว่ากันมาก

โดยทั่วไปบริษัททัวร์มักเน้นไปที่สถานที่ท่องเที่ยวดังๆ ตามที่ใส่เข้ามาในรายการ คือ ได้เที่ยวหลายแห่ง แต่ละแห่งใช้เวลาน้อย พอหมดเวลาเที่ยวก็ขนคนกลับเข้าโรงแรม แล้ววันรุ่งขึ้นก็ตื่นนอนแต่เช้าเพื่อออกเดินทางต่อไป เป็นเช่นนี้จนกระทั่งเดินทางกลับบ้าน สรุปก็คือ ได้เที่ยวเยอะ จ่ายไม่มาก มีไกด์คอยดูแลความสะดวกให้ตลอดรายการ ซึ่งฟังดูก็น่าจะดี

อย่างไรก็ตาม การไปเที่ยวกับทัวร์นั้น เราขาดโอกาสสำคัญที่จะได้รับประสบการณ์และเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในพื้นที่ เป็นต้นว่า เขากินอยู่กันอย่างไร เดินทางอย่างไร จับจ่ายใช้สอยที่ไหน ฯลฯ ทว่าสิ่งเหล่านี้สามารถซึมซับได้จากการจัดทริปไปเที่ยวด้วยตัวเอง ซึ่งเราจะได้เผชิญหน้ากับความท้าทายในต่างแดนพร้อมๆ กับครอบครัวหรือเพื่อนของเรา รับมือกับ "ความไม่รู้" ที่ทุกคนก็ไม่รู้พอๆ กัน รวมถึงได้สังเกตความเป็นไปของสิ่งรอบตัว และแน่นอนว่ามันมีประโยชน์สำหรับนักลงทุนอย่างเราๆ

ผมขอยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นก็แล้วกัน

ประเทศญี่ปุ่นพัฒนาล้ำหน้ากว่าประเทศของเราไปมาก หลายอย่างที่เป็น "ของใหม่" สำหรับเรา ก็เป็นของเก่าสำหรับเขา กล่าวได้ว่าประเทศของเรากำลังเดินตามรอยเขาอยู่ห่างๆ คนที่รู้จักสังเกตและมองหาโอกาสทางธุรกิจก็อาจเห็นอะไรดีๆ และนำมาใช้กับการลงทุนของตัวเราเองได้


ภูมิประเทศก็สำคัญ


จากประสบการณ์ของผม การครอบครอง "ทรัพยากรที่มีจำกัด" นั้น เป็นสิ่งที่ดีเสมอ อย่างเช่น ในเมืองที่มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา และมีพื้นที่ราบเป็นส่วนน้อย ย่านการค้ามักมากระจุกตัวอยู่บนพื้นที่ราบ ซึ่งมีการคมนาคมสะดวก ราคาที่ดินบนพื้นที่ราบก็ย่อมสูงกว่าบนเนินเขา ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้นเร็วกว่าด้วย

ในกรณีนี้ ความได้เปรียบของทำเลพื้นที่ราบ คือ การเดินทางที่สะดวกสบายและประหยัด แตกต่างจากคนที่อยู่อาศัยบนเนินเขาที่มีถนนคนเคี้ยว ซึ่งนอกจากต้องควักเงินซื้อบ้านแล้ว ยังจำเป็นต้องซื้อรถยนต์และขับขึ้นเขาทุกวัน สิ้นเปลืองทั้งเวลาและน้ำมัน หากจะเทียบไปแล้วก็อาจเหมือนกับคนกรุงเทพฯ ที่ซื้อบ้านอยู่ชานเมืองไกลๆ เลยต้องซื้อรถขับขึ้นทางด่วนฝ่ารถติดไปทำงานทุกวัน ซึ่งนั่นก็กระทบต่อวิถีชีวิตทั้งหมดในระยะยาว คิดๆ ดูแล้ว การยอม "จ่ายแพง" ซื้อทรัพยากรที่มีจำกัดตั้งแต่ต้นอาจจะคุ้มค่าในเชิงของการลดรายจ่าย ทั้งตัวของมันเองยังทวีมูลค่าได้เร็วอีกด้วย

อย่างไรก็ดี การทุ่มเงินซื้อทรัพยากรที่มีจำกัดเพื่อเอามา "ใช้สอย" อาจมองไม่เห็นเป็นตัวเงิน อย่างเช่น บ้านที่เราอยู่อาศัยถึงแม้จะเพิ่มมูลค่ามากขึ้น แต่ผมก็คิดว่าคนเราคงไม่ค่อยมีใครขายบ้านตัวเองเพื่อทำกำไร เพราะต้องวุ่นวายเรื่องขายบ้านเก่า สร้างบ้านใหม่ ย้ายโรงเรียนลูก ฯลฯ ความคุ้มค่าในกรณีดังกล่าวจึงมักเป็นในแง่ของการใช้สอยมากกว่าที่จะนับกันเป็นจำนวนเงิน และนี่ก็คงจะคำนวณออกมาได้ยาก

การซื้อทรัพยากรที่มีจำกัดให้คุ้มค่าในแง่ตัวเงินควรเป็นการซื้อเพื่อเอามา "ทำเงิน" อย่างเช่น ซื้อบ้านหรือคอนโดฯ เพื่อเอามาปล่อยเช่า หรือแม้แต่การซื้อที่ดินเปล่าในทำเลที่มีจำกัดเพื่อเอามาพัฒนาธุรกิจ อย่างที่ญี่ปุ่นก็มีการสร้างตึกเล็กๆ ในทำเลใจกลางเมืองสำหรับจอดรถโดยเฉพาะ และใช้อุปกรณ์จักรกลยกรถขึ้นไปเก็บบนตึกอย่างนุ่มนวล สร้างรายได้ให้กับเจ้าของธุรกิจได้เป็นกอบเป็นกำ

ทั้งนี้ทั้งนั้น เราอาจไม่ทันสังเกตเรื่องของภูมิประเทศข้างต้น หากตัดสินใจไปเที่ยวกับคณะทัวร์ ซึ่งจะนัดเราแบบ 6-7-8 คือ ปลุก 6 โมง, ทานอาหาร 7 โมง และออกเดินทาง 8 โมงเช้า เพื่อนั่งรถโค้ชไปยังสถานที่ท่องเที่ยวให้ทันตามกำหนดการ

...แต่ถ้าคุณเดินท่อมๆ ไปในเมืองอย่างไม่เร่งรีบแล้วล่ะก็ คุณจะเห็นมันแน่


วิถีชีวิต


เมื่อเดินทางท่องเที่ยวไปกับคณะทัวร์ เรามักเดินทางด้วย "รถโค้ช" ซึ่งรวดเร็วและสะดวกสำหรับการท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะ แต่นั่นก็เป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมที่จะทำให้เรามองข้ามวิถีชีวิตของผู้คนไป

ในการเดินทางด้วยตัวเอง เรามีโอกาสที่จะได้ขึ้นรถเมล์ รถไฟ รถไฟใต้ดิน รถราง แท็กซี่ ฯลฯ และได้เดินทางพร้อมๆ กับคนพื้นที่นับหมื่นนับแสน เราจะได้เห็นว่า คนเหล่านั้นที่เดินทางไปทำงานในตอนเช้าแวะซื้ออะไรเป็นอาหารเช้า หนังสือพิมพ์ยังขายดีอยู่หรือไม่ ร้านกาแฟมีมากน้อยแค่ไหน พวกเขาซื้อกาแฟตามร้านหรือซื้อจากร้านสะดวกซื้อ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในเมืองเป็นอย่างไร

สิ่งหนึ่งที่ผมพบเห็นจากร้านสะดวกซื้อ คือ ร้านในญี่ปุ่นมีของหลากหลายกว่าในประเทศไทยมาก เบเกอรี่ดูสดใหม่น่ากิน กาแฟสำเร็จรูปแบบแช่เย็นก็มีขายหลายยี่ห้อ และก็อร่อยเสียด้วย เท่าที่ผมสังเกตมา ร้าน FamilyMart, ร้าน 7-Eleven และร้าน Lawson มีจำนวนมากมายไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน สิ่งนี้ทำให้ผมตระหนักได้ว่า แท้จริงแล้วแบรนด์เหล่านี้รู้วิธีต่อสู้ เพียงแต่เขาเลือกที่จะบุกหรือไม่เท่านั้นเอง

ประสบการณ์ที่ได้รับจากการเดินเข้าเดินออกร้านสะดวกซื้อและสังเกตผู้คนไปพร้อมๆ กัน ทำให้ผมพอจะมองเห็นว่าร้านสะดวกซื้อในเมืองไทยจะสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างไร ทั้งยังลบความคิดเดิมๆ ที่หลายคนบอกผมว่า "ร้านสะดวกซื้อในเมืองไทยพัฒนามามากแล้ว อิ่มตัวแล้ว ต่อไปนี้เป็นการขยายสาขาไปตามจังหวัดต่างๆ เท่านั้น"

ในแง่ของการเดินทาง ผมได้รับประสบการณ์จากการใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทบจะทุกรูปแบบ รวมทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล และพอจะมองเห็นว่าระบบขนส่งของประเทศเราจะพัฒนาไปในทิศทางใดได้บ้าง เทคโนโลยีใดที่น่าจะ "เวิร์ก" หรือ "ไม่เวิร์ก" กับประเทศไทย เป็นต้น และถ้าจะมองกันในมุมของหุ้น เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหุ้นในกลุ่มขนส่งแต่เพียงเท่านั้น หากยังพาดผ่านไปถึงกลุ่มการเงิน, เทคโนโลยี, รับเหมาก่อสร้าง รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ด้วย ซึ่งถ้าเรามี ขอบข่ายแห่งความชำนาญ หรือ circle of competence ในกลุ่มเหล่านี้พอดี นี่ก็อาจเป็นมุมมองที่ดีสำหรับการลงทุนในอนาคต


เหมือน หรือ ไม่เหมือน?


ถึงแม้ประเทศไทยจะเดินตามรอยประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ก็ไม่ใช่กับทุกสิ่ง เหตุผลก็คือ สภาพแวดล้อมของเราไม่ได้เหมือนกับต่างประเทศเสมอไป อย่างธุรกิจตึกจอดรถนั้น หากจะให้คุ้มค่ากับการลงทุนและค่าไฟฟ้า ความต้องการพื้นที่จอดรถจะต้องสูงมากจริงๆ ซึ่ง อาจจะ ยังไม่ใช่สำหรับประเทศไทยในตอนนี้

หรืออย่างธุรกิจร้านสะดวกซื้อที่มีอยู่ทั่วทุกหัวระแหงในประเทศญี่ปุ่น บางทีเราอาจวาดฝันว่าประเทศของเราจะมีร้านสะดวกซื้อเป็นหมื่นๆ ร้าน แต่ก็ต้องดูด้วยว่าความหนาแน่นของประชากรของเรามีมากพอหรือไม่ ประชากรในกรุงเทพฯ ยังคงอยู่อาศัยตามซอยหรือหมู่บ้านอีกไม่น้อย นี่ทำให้ "ความหนาแน่น" ของประชากรในบางพื้นที่ไม่สามารถสูงมากจนเปิดร้านสะดวกซื้อได้หลายๆ ร้านในบริเวณใกล้เคียงกัน

หรือในกรณีของรถไฟความเร็วสูง เราก็อาจคิดต่อไปได้ว่าอะไรเป็น "เงื่อนไขแห่งความสำเร็จ" ของประเทศญี่ปุ่น จากนั้นก็ย้อนกลับมาดูว่าประเทศของเรามีสิ่งเหล่านี้หรือไม่ ก็จะพอมองเห็นได้ว่า เมื่อทำแล้วผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร อย่างรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นนั้น คนญี่ปุ่นที่เดินทางข้ามเมืองในแต่ละวันมีจำนวนมาก และเป็นคนที่มีกำลังทรัพย์พอที่จะจ่ายค่าโดยสารแพงๆ รถไฟของเขาจึงสามารถเดินทางได้ถี่ ทั้งยังตรงเวลาอีกด้วย ก็ต้องถามว่าประเทศของเรามีคุณลักษณะเช่นนั้นหรือไม่ หากไม่มี เราก็ต้องปรับให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของเรา ความสำเร็จจึงจะออกมาได้อย่างยั่งยืน

และนี่ก็คือเรื่องราวของการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศด้วยตัวเอง แล้วก็เก็บเกี่ยวประสบการณ์กลับมามองในมุมของเจ้าของธุรกิจ ซึ่งผมมองว่ามันคุ้มไม่แพ้ความสนุกที่ได้จากการเดินทางอย่างอิสระ รูปถ่ายสวยๆ และของฝากที่ซื้อกลับบ้าน

วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

รวยฝ่าธรรมชาติ


"ธรรมชาติของคน คือ การไม่รวย" นี่คือข้อเท็จจริงของชีวิตที่น่าจะกล่าวได้ว่าเป็น "An Inconvenient Truth" หรือความจริงที่ไม่มีใครอยากฟังอย่างหนึ่ง ต่อไปนี้ผมจะอธิบายว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น รวมถึงวิธีที่เราจะฝ่าธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติของชีวิตการทำงานหรือการลงทุนก็ตาม


มนุษย์เงินเดือนฝ่าธรรมชาติ


"ค่าเฉลี่ย" ดูเหมือนจะเป็นตัวเลขที่อธิบายความเป็นไปต่างๆ ได้ดี โดยเฉพาะเมื่อเรากำลังมองหา "ความพยายาม" บางอย่างที่จะเอาชนะธรรมชาติ (ค่าเฉลี่ย) ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในโลกของการทำงาน

สมมติเราทำงานประจำและได้รับเงินเดือน เรามีโอกาสสูงที่จะได้รับเงินเดือนในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม หรือใกล้เคียงกับเพื่อนๆ ที่เรียนจบมาพร้อมกัน เว้นแต่ว่าเราจะได้ใช้ความพยายามบางอย่างเพื่อเอาชนะค่าเฉลี่ยนั้น เช่น เจรจาต่อรองกับเจ้านาย แสดงผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ ย้ายงานเพื่อหาโอกาสดีๆ หรือแม้กระทั่งออกแรงเลียแข้งเลียขาหัวหน้า (อันหลังไม่ดีนะครับ)

หากปราศจาก "พลังงาน" ที่เราใส่ลงไป โอกาสที่เราจะได้รับค่าตอบแทนในระดับเฉลี่ยก็เป็นไปได้สูง เป็นต้นว่าทำงานแบบเนือยๆ ไปเรื่อยๆ รอเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งไปตามอายุงาน ...

พลังงานที่เราใส่ลงไป ไม่จำเป็นต้องมาในลักษณะ "บ้าพลัง" หรือขยันเป็นม้า แต่อาจเป็นพลังงานที่มาในลักษณะของความใส่ใจ ความรอบคอบ ความมีน้ำใจให้เพื่อนร่วมงาน รวมทั้งการพยายามดึงจุดเด่นของเราขึ้นมาขาย อย่างเช่น ทักษะทางภาษา ทักษะการนำเสนอ หรือความสามารถทางคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ในกรณีที่ความพยายามของเราเป็นผล ผลตอบแทนซึ่งก็คือ เงินเดือนและโบนัส ก็จะเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ย สิ่งที่ผมอยากให้ข้อสังเกตไว้ คือ เงินเดือนที่สูงขึ้นมีแนวโน้มที่จะกลายเป็น "ฐาน" เปรียบเทียบสำหรับการขึ้นเงินเดือนในปีถัดๆ ไป นั่นก็แปลว่า ความพยายามของเราไม่ได้ส่งผลแค่ครั้งเดียว แต่จะดึงให้ฐานะทางการเงินและความเป็นอยู่ของเราดีกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาวด้วย ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นการสร้างความมั่งคั่งในแบบของมนุษย์เงินเดือนก็ว่าได้

แต่ก็อย่างที่ว่า... สิ่งสำคัญก็คือ เราต้องใส่พลังงานลงไปให้ถูกที่ถูกทาง และยิ่งเริ่มต้นเร็วก็ยิ่งดีด้วย


อยากรวยต้องฝืนธรรมชาติ


ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น? เหตุผลก็คือ ธรรมชาติของคนส่วนใหญ่ย่อมรักความสบาย อยากอยู่ดีกินดี เห็นใครมีอะไรมาโอ้อวด ก็อยากมีอย่างเขาบ้าง ไม่ให้ตกยุคหรือน้อยหน้าใคร สิ่งเหล่านี้ทำให้เราต้องจับจ่ายใช้สอย บางทีไม่ได้จ่ายเพื่อตัวเอง แต่ก็ต้องจ่ายเพื่อคนที่เรารัก ทว่าสรุปแล้วก็ต้องควักเงินอยู่ดี

ความจำเป็น กับ ความอยาก เป็นสิ่งที่เราต้องแยกให้ออก แต่ปัญหาโดยทั่วไปก็คือ คนเรามักโอนความอยากไปเป็นความจำเป็น ในยามที่ความอยากพุ่งปรี๊ดขึ้นมา ความเป็นไปเช่นนี้นับว่าเป็นอุปสรรคสำคัญอันแรกของความร่ำรวย โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุน เพราะเมื่อเก็บเงินไม่อยู่และเริ่มต้นด้วยเงินลงทุนน้อยๆ โอกาสที่จะ "ทบต้น" และสร้างความมั่งคั่งในอนาคตก็ย่อมลดลงไปด้วย

แต่ถึงแม้จะมีเงินลงทุนแล้ว อุปสรรคในลำดับต่อมาก็คือ ความสามารถในการสร้างผลตอบแทน

ถ้าเราลงทุนด้วยความรู้และความพยายามเท่าๆ กับคนส่วนใหญ่ ผลตอบแทนที่เราได้ก็คงไม่แตกต่างไปจาก "ค่าเฉลี่ย" ของตลาดเท่าไหร่นัก หากต้องการผลตอบแทนที่เหนือกว่าค่าเฉลี่ย เราก็จำเป็นต้องใส่พลังงานบางอย่างเข้าไปในการลงทุน และต้องใส่ให้ถูกที่ด้วย

นักเล่นหุ้นวัยกระเตาะบางรายหวังรวยเร็วด้วยการพยายามซื้อขายหุ้นบ่อยๆ และนี่ก็คือสิ่งที่ผมพบเห็นอยู่บ่อยๆ ตามเว็บบอร์ด บางคนถึงกับคิดเลยว่าเดือนหนึ่งมี 20 วันทำการ ถ้าเขา "มักน้อย" ทำกำไรแค่วันละ 1 เปอร์เซ็นต์ ก็เท่ากับได้กำไรเดือนละไม่น้อยกว่า 20% แล้ว จากนั้นก็ใส่ความพยายามไปกับการเพ่งดูกราฟตลอดทั้งวัน ซื้อขายทั้งหุ้น ทั้ง DW มือเป็นระวิง ...

และแน่นอนว่ามันไม่เป็นผล


พลังในทางลบ


การสร้างผลตอบแทนให้ได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาวจำเป็นต้องฝืนธรรมชาติและใช้พลังงานอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตาม หลายคนไม่ทราบว่า การสร้างผลตอบแทนให้ได้ ต่ำกว่า ค่าเฉลี่ยของตลาด ก็จำเป็นต้องใช้ความพยายามเหมือนกัน เพียงแต่เป็นความพยายามที่ผิดทิศผิดทาง อย่างเช่นความพยายามของนักเล่นหุ้นฝันหวานข้างต้น

การฝืนธรรมชาติ มีทั้ง "ทางบวก" และ "ทางลบ" หากไม่มี ปรัชญาการลงทุน เป็นตัวกำกับ เราก็จะออกแรงสะเปะสะปะ ให้ผลบวกบ้าง ลบบ้าง สุทธิแล้วอาจได้ผลลัพธ์เป็นศูนย์เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ได้ผลตอบแทนเท่ากับค่าเฉลี่ยนั่นเอง ทั้งที่เหน็ดเหนื่อยลงแรงไปไม่น้อย ถ้าซ้ำร้ายหน่อย นอกจากเหนื่อยแล้วยังแพ้ค่าเฉลี่ยของตลาดอีกต่างหาก

คนจำนวนมากไม่มีปรัชญาการลงทุนเป็นของตัวเอง พวกเขามักจะบอกว่า "ลงทุนแนวไหนก็ได้ ขอให้ได้กำไรเหอะ" ทำนองเดียวกับแมวดำแมวขาว ถ้าจับหนูได้ ก็เป็นอันว่าใช้ได้เหมือนกันหมด แต่พวกเขาลืมไปว่าการลงทุนไม่ได้เหมือนกับแมวเสียทีเดียว และการตั้งต้นที่ "หนู" (กำไร) ก็ทำให้พวกเขาละเลยความสำคัญของแมว (วิธีลงทุน) ทั้งที่เป็นหัวใจของความสำเร็จในระยะยาว

มืออาชีพด้านการลงทุนต่างรู้ดีว่า เมื่อเราลงทุนอย่างถูกต้อง กำไรก็จะตามมาเอง หรือถ้าจะว่าไปก็คงเหมือนกับการสรรหา "แมวเก่งๆ" มาสักตัว จากนั้นมันก็จะจับหนูได้ ซึ่งก็คงดีกว่าการเหวี่ยงแหจับแมวขาวแมวดำขาเป๋ หูตาตาฝ้าฟาง มาอยู่ในสังกัดเต็มไปหมด แม้จะมีขุนศึกแมวมากมาย แต่หาเก่งๆ ไม่ได้ซักตัวเดียว แบบนั้นหนูก็คงวิ่งกันสบาย

ปรัชญาการลงทุนจะเป็นตัวบอกเราว่า "แมวเก่งๆ" สำหรับเรานั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร อะไรคือการลงทุนที่ดี อะไรคือการลงทุนที่เหมาะกับบุคลิกของเรา นี่จะเป็นสิ่งที่กำกับว่า "ทางบวก" สำหรับเราอยู่ทางไหน เพื่อที่เราจะได้ไม่มัวไปเบ่งพลังอยู่ในทางลบ

แต่น่าเสียดายที่คนส่วนมากเดินเตร็ดเตร่อยู่ในตลาดหุ้นโดยปราศจากปรัชญาการลงทุน ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงไม่สามารถฝืนธรรมชาติและสร้างผลตอบแทนให้สูงกว่าค่าเฉลี่ยได้อย่างยั่งยืน


...ไม่ใช่เรื่องง่าย


การฝืนธรรมชาติไม่ใช่เรื่องง่าย ลองนึกถึง "ตู้เย็น" ที่ต้องพยายามดึงความร้อนออกจากอาหารต่างๆ และรักษาอุณหภูมิภายในตัวมันให้ต่ำกว่าอุณหภูมิภายนอกอยู่เสมอ แน่นอน มันต้องใช้พลังงานอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกันกับที่นักลงทุนต้องฝืนธรรมชาติและสร้างความมั่งคั่ง พวกเขาจึงจำเป็นต้องใช้พลังงานอยู่ตลอด "ความสม่ำเสมอ" หรือ "วินัย" จึงถือเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จอีกดอกหนึ่ง

และความยากนี้เองส่งผลให้ "โลกของคนรวย" กลายเป็นโลกที่คนบางกลุ่มไม่มีวันไปถึง เพราะพวกเขาเป็นตู้เย็นที่ไม่มีเครื่องทำความเย็น (ขาดความรู้และแนวทาง) หรือไม่ก็ลืมเสียบปลั๊ก (ขาดพลังงานและความสม่ำเสมอ)

วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2556

"หนังสือแปล" มีดีไม่แพ้ต้นฉบับ?


หลายท่านที่เป็นนักอ่านน่าจะเคยประสบปัญหาหรือเกิดอาการไม่สบอารมณ์จากการอ่าน "หนังสือแปล" และบางท่านที่สุดขั้วหน่อยก็อาจจะถึงกับตั้งธงไว้เลยว่าจะไม่อ่านหนังสือที่แปลเป็นภาษาไทยเด็ดขาด

เหตุผลที่พวกเขาให้ไว้ก็คือ หนังสือแปลมักจะสู้หนังสือภาษาอังกฤษต้นฉบับไม่ได้ ซื้อมาแล้วก็มักจะผิดหวัง สู้กัดฟันอ่านต้นฉบับไปเลยดีกว่า อย่างไรก็ตาม ในฐานะคนแปลหนังสือ ผมกลับมองว่าหนังสือแปลสามารถที่จะ "ดี" ได้ไม่แพ้ต้นฉบับ และในหลายๆ กรณี หนังสือแปลก็อาจจะทำได้ดีกว่าต้นฉบับเสียด้วยซ้ำ

และต่อไปนี้ก็คือ มุมมองของผม ...


เมื่อไรที่หนังสือแปลจะแย่?


ในการแปลหนังสือ สิ่งที่ผู้แปลพึงกระทำ (อย่างยิ่ง) คือ การรักษาเนื้อความดั้งเดิมให้ได้มากที่สุด หรือพูดแบบง่ายๆ ก็คือ อย่าแปลผิด อย่าแปลขาด และอย่าแปลเกิน

การแปลผิดความหมาย ถือได้ว่าเป็น "ความผิดขั้นร้ายแรง" ของนักแปล แม้บางครั้งนักแปลอาจแปลผิดได้โดยสุจริต คือ พยายามอย่างเต็มที่แล้ว แต่ก็ยังไม่ดีพอ อาจจะด้วยพื้นความรู้ที่ไม่ตรงกับแนวเนื้อหา เช่น แปลหนังสือด้านการลงทุน แต่ตัวเองกลับไม่เคยลงทุน หรือศึกษาด้านการลงทุนมาเลย อย่างนี้ก็เจ๊งแน่ หรืออีกแบบก็คือ ผู้แปลมีทักษะด้านภาษาไม่เพียงพอ อย่างนี้ก็ไม่ไหวอีกเหมือนกัน

นักอ่านจึงต้องดูด้วยว่า ผู้แปลมีพื้นความรู้มาทางด้านไหน หนังสือหลายเล่มมีประวัติโดยย่อของผู้แปลอยู่ท้ายเล่ม ผมแนะนำให้อ่านดูคร่าวๆ จะได้รู้ว่าหมอนี่เป็นใคร และมีผลงานอะไรมาบ้าง

ถัดมาเป็นเรื่องของ การแปลขาดหาย ซึ่งเป็นการแปลที่ทำให้เนื้อความดั้งเดิมตกหายไป ผู้อ่านจะยังได้รับความรู้หรือสาระสำคัญจากหนังสืออยู่ แต่ได้ไม่ครบ 100% ความเห็นของผมคือว่า ถ้าเป็นการ "แปลและเรียบเรียง" และการพยายามรักษาเนื้อความส่วนนั้นอาจทำให้การอ่านสะดุดโดยไม่จำเป็น (อย่าลืมว่าผู้เขียนต้นฉบับก็อาจเขียนแบบกะพร่องกะแพร่ง หรือพูดจาไม่รู้เรื่องได้เหมือนกัน) อย่างนี้ก็อาจอนุโลมได้ เพื่อประโยชน์ของผู้อ่านเอง

ประเด็นสุดท้าย ได้แก่ การแปลเกิน เรียกว่าคนเขียนเขียนมา 100 คนแปลจัดให้ 110 กลายเป็นว่าสอดแทรกเนื้อหาหรือความคิดเห็นของตัวเองเข้าไปอีก อย่างนี้ถือว่าไม่ดี เพราะคนอ่านจะแยกไม่ได้ว่าอันไหนเป็นเนื้อความจากผู้เขียน หรืออันไหนเป็นการขยายความของผู้แปล ที่ซ้ำร้ายคือ จะมีคนหยิบยกถ้อยคำพวกนั้นไปอ้างอิง แล้วบอกว่ามาจากผู้เขียน ทั้งๆ ที่เจ้าตัวไม่ได้รู้เรื่องด้วยเลย

ทางออกก็คือ หากเนื้อความส่วนไหนยากและควรมีการอธิบายเพิ่ม ก็ควรแทรกเป็นฟุ้ตโน้ต (footnote) หรือใส่ไว้ในวงเล็บ และกำกับได้ด้วยว่าเป็นคำอธิบายจากผู้แปล อย่างนี้เป็นต้น ตรงนี้ก็จะเป็น "มูลค่าเพิ่ม" หรือ "value added" ที่ผู้แปลสามารถจะทำให้หนังสือทรงคุณค่ายิ่งขึ้น โดยไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด


ลึกลงไปในรายละเอียด


ที่กล่าวมาข้างต้นเป็น "แก่น" ที่ผู้แปลควรยึดถือ แต่ในส่วนของรายละเอียด หรือ "กระพี้" และ "เปลือก" เรายังต้องว่ากันต่อไป

สมมติเราซื้อหนังสือเล่มหนึ่งที่ปรมาจารย์ด้านการลงทุนของโลกเป็นคนเขียน แน่นอนว่าเราคงอยากรู้เนื้อความอย่างถูกต้องครบถ้วน ไม่ขาด ไม่เกิน แต่ถึงแม้จะหาคนที่แปลได้ตามนั้นแล้ว สิ่งที่ผู้อ่านต้องการไม่แพ้กันก็คือ "อรรถรส" ในการอ่าน

ผู้แปลสามารถส่งผ่าน "อารมณ์" และ "ความนัย" ที่ผู้เขียนให้ไว้ได้มากน้อยแค่ไหน? สำนวนเขียนของผู้แปลมีความสละสลวยและชวนให้อ่านได้อย่างไหลลื่นหรือไม่? ผู้แปลสามารถถ่ายทอด "บุคลิก" ที่มีอยู่ในงานเขียนได้ดีเพียงใด? นี่คือรายละเอียดที่เราต้องให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน

บางครั้งเราเจอผู้เขียนที่เขียนไว้ดีมาก แต่ได้คนแปลที่ไม่ค่อยเอาไหน หนังสือดีก็เลยกลายเป็นหนังสือดาดๆ ไปอย่างน่าเสียดาย ในทางกลับกัน คนแปลที่มีฝีมือ แต่ต้องไปประกบแปลหนังสือน่าเบื่อๆ ก็อาจกลายเป็นการฝังตัวเองไปได้เหมือนกัน เพราะคนอ่านเขาไม่รู้หรอกว่าต้นฉบับมันน่าเบื่อ

ด้วยเหตุนี้ผมจึงตกลงกับเพื่อนว่า หากจะแปลหนังสือ ก็ต้องเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าและน่าอ่านเท่านั้น ไม่อย่างนั้นเสียเวลาเปล่า ได้ตังค์เท่าไหร่ก็ไม่คุ้ม


นักแปลไส้แห้ง?


"อาชีพนักแปล" ไม่ใช่อาชีพที่ทำรายได้งดงามอะไรมากนัก โดยเฉพาะถ้าหนังสือไม่ได้ติดอันดับขายดี (bestseller) หรือแม้บางครั้งต่อให้หนังสือติดอันดับขายดี แต่นักแปลได้รับค่าตอบแทนแบบคงที่ จ่ายกันครั้งเดียวจบ อย่างนี้นักแปลก็ "ไส้แห้ง" ได้เหมือนกัน

เพื่อนผมคนหนึ่งที่อยู่ในแวดวงแปลหนังสือบอกว่า การแปลหนังสือของเขาถือว่าเป็นรายได้พิเศษ และที่ว่าพิเศษนั้นก็เพราะว่า ปกติเขาเองก็อ่านหนังสืออยู่แล้ว การแปลหนังสือจึงเหมือนกับมีคนมาจ้างให้เขาทำในสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องเพิ่มความพิถีพิถัน หรือใช้ความตั้งอกตั้งใจมากขึ้นเท่านั้น

นึกดูก็เหมือนการที่มีใครสักคนมาจ้างเราให้อาบน้ำ ทั้งที่จริงไม่ว่าอย่างไรเราก็คงจะอาบน้ำกันทุกวันอยู่แล้ว (ยกเว้นฝรั่งที่อยู่เมืองหนาว อันนั้นไม่แน่) สิ่งที่เราต้องทำเพิ่มก็มีแค่ตั้งใจอาบให้สะอาดขึ้นกว่าปกติ

โดยทั่วไปแล้ว นักแปลหนังสือไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะ "ได้เงิน" หรือ "ได้กล่อง" กันง่ายๆ เหตุผลก็คือ งานแปลจำนวนมากจ่ายค่าตอบแทนแบบคงที่ แล้วก็ไม่ได้เป็นอัตราที่มากมายอะไร ขณะที่ชื่อเสียงหรือความนับหน้าถือตา ส่วนมากก็ตกเป็นของผู้เขียนเสียมากกว่า เพราะถือว่าเป็นเจ้าของไอเดียตัวจริง

ด้วยเหตุนี้นักแปลที่ผมพบเจอจึงมักจะทำเพราะ "ใจรัก" มากกว่าจะหวังผลอื่นใด หรือบางทีนี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้หนังสือแปลคุณภาพดี มีจำนวนน้อยก็เป็นได้


หนังสือแปล... แซงหนังสือต้นฉบับ?!


หากดูแค่เพียงผิวเผิน ก็คล้ายกับว่าหนังสือแปลจะทำได้ดีที่สุดเพียงแค่เทียบเท่ากับหนังสือต้นฉบับ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้แปลอาจเพิ่มคุณค่าให้กับหนังสือได้ด้วยเช่นกัน

หนังสือบางประเภทเป็นหนังสือเฉพาะทาง ยกตัวอย่างใกล้ๆ ตัวก็อย่างเช่น หนังสือด้านการเงินและการลงทุน ซึ่งบางทีผู้เขียนก็กล่าวถึงตราสารทางการเงิน เช่น พันธบัตร ตั๋วเงิน หรือหุ้นกู้ โดยไม่ได้อธิบายเพิ่มเติม เพราะรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่อง "พื้นๆ" ทว่าในฐานะผู้แปล หากเรารู้ว่ามีโอกาสที่คนอ่านจะไม่เข้าใจ หรือไม่คุ้นเคย เราก็อาจแทรกคำอธิบายไว้ที่ footnote ได้

หรือบางครั้งมีการกล่าวถึงเหตุการณ์ที่ "ใครๆ ก็รู้" แต่ว่าเป็น "ใครๆ" ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างนี้ผู้แปลก็สามารถเล่าเรื่องเพิ่มเติม หรือเทียบเคียงกับเหตุการณ์ที่คนอ่านอาจจะคุ้นเคยกว่าในเมืองไทย อย่างนี้เป็นต้น

สิ่งที่พบกันบ่อยอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ การใช้สำนวนในภาษาอังกฤษ ซึ่งหากแปลกันตรงๆ โดยไม่รู้ว่าเป็นสำนวน ก็มีโอกาสที่จะเกิดความเข้าใจผิดไปคนละเรื่อง ผู้แปลก็จะมีบทบาทในการหาคำอธิบายที่เหมาะสมกับผู้อ่านซึ่งเป็นคนไทย

จะเห็นได้ว่า สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถหาได้จากหนังสือต้นฉบับ และเป็นโอกาสที่หนังสือแปลจะแซงหน้าหนังสือต้นฉบับได้ หรือถ้ามีใคร "ฟิต" และอยากอ่านหนังสือต้นฉบับภาษาอังกฤษขึ้นมา เขาก็จะต้องทำการค้นคว้าเหล่านี้ในแบบเดียวกับที่ผู้แปลทำ ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าจะต้องใช้เวลาและความพยายามมาก โดยเฉพาะถ้าผู้อ่านเองไม่ได้มีทักษะการอ่านหรือพื้นความรู้เท่ากับนักแปล

อีกมุมหนึ่งซึ่งเป็นความเห็นส่วนตัวของผมก็คือ สำหรับคนไทยแล้ว การอ่านภาษาอังกฤษย่อมใช้เวลามากกว่าการอ่านภาษาไทย และบ่อยครั้งที่การอ่านหนังสือภาษาอังกฤษเล่มโตๆ ต้องจบลงด้วยการ "อ่านค้าง" จากนั้นก็วางทิ้งไว้เป็นเดือนๆ ก่อนที่จะลงท้ายด้วยการ "อ่านไม่จบเล่ม"

ดังนั้น ถ้ามีหนังสือแปลที่แซงหน้าหนังสือต้นฉบับได้ เราก็ควรอ่านมัน แล้วเก็บพลังงานที่เหลือไปอ่านเล่มอื่นๆ ที่ยังไม่มีการแปลเป็นภาษาไทย และนี่ก็คือเทคนิคที่ผมใช้บริหารเวลาในชีวิตจริงครับ

วันพุธที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เปิดตัวหนังสือ "Tap Dancing To Work"


เปิดตัวหนังสือในงาน Book Expo ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

เครื่องบินเจ้าปัญหา

 


สายการบินแห่งหนึ่งมีเครื่องบินที่แทบไม่ได้ใช้งานอยู่ และที่ไม่ได้ใช้งานนั้นก็ไม่ใช่อะไร แต่เป็นเพราะว่ามันไม่คุ้ม เนื่องจากเป็นรุ่นที่ใช้สำหรับบินพิสัยไกลพิเศษและกินน้ำมันมาก ทุกวันนี้จึงได้แต่จอดไว้เฉยๆ

ฝ่ายบริหารพยายามขายเครื่องบินพวกนี้ออกไป แต่ก็ไม่ค่อยมีใครสนใจนัก ยกเว้นผู้ซื้อรายหนึ่งที่เสนอซื้อมาในราคาที่ต่ำมาก ทำให้ฝ่ายบริหารรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ เพราะถ้าตัดสินใจขาย บริษัทก็จะต้องรับรู้ผลขาดทุนจากการขายเครื่องบินเหล่านี้ในทันที ในทางกลับกัน หากบริษัทไม่ขายเครื่องบินออกไป พวกเขาก็จะต้องทยอยบันทึกการด้อยค่าลงไปในบัญชี และยังต้องเสียค่าซ่อมบำรุงอีกเป็นระยะ

คำถามคือ ถ้าเป็นเรา เราจะทำอย่างไร?


มันแค่เรื่องทางบัญชี...


เพื่อความเป็นธรรมกับฝ่ายบริหาร ผมคงไม่วิพากษ์วิจารณ์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เพียงแต่จะนำเสนอแนวคิดในการตัดสินใจต่อจากจุดนี้ และเชื่อมโยงไปถึงแนวคิดในการลงทุนหุ้นเท่านั้น

ตามมุมมองของผม เครื่องบินเหล่านี้ถือเป็น "สินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้" ไปเรียบร้อยแล้ว เพราะถึงมีอยู่บริษัทก็ไม่ได้ใช้งาน แถมยังต้องมานั่งดูแลรักษาและซ่อมบำรุงอีก ถ้ามองในมุมของ "พ่อรวย" เครื่องบินพวกนี้ถือเป็น หนี้สิน เสียด้วยซ้ำ เพราะนอกจากมันจะไม่สร้างรายได้แล้ว มันยังทำให้บริษัทเสียเงินอีกต่างหาก

เราคงอ่านได้ไม่ยากว่า การครอบครองเครื่องบินพวกนี้ที่แท้เป็นการ "ทำลายมูลค่า" ของบริษัท และการขายพวกมันออกไปก็จะเป็นการหยุดยั้งการทำลายมูลค่านั้น

เหตุผลสำคัญที่ฝ่ายบริหารไม่อยากขายพวกมันออกไปในตอนนี้ก็คือ การทำอย่างนั้นจะทำให้บริษัทต้องบันทึกรายการขายลงไปในบัญชี และรับรู้ผลขาดทุนก้อนโตในทันทีด้วยเช่นกัน เพราะราคาขายอยู่ต่ำกว่าราคาทางบัญชีมาก ซึ่งแน่นอนว่ามันจะทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทที่ย่ำแย่อยู่แล้ว ยิ่งดูแย่ลงไปอีก แต่ข้อดีอยู่ที่บริษัทจะไม่ต้องรับภาระค่าซ่อมบำรุงพวกมันอีกต่อไป

ในทางตรงข้าม หากบริษัทเก็บเครื่องบินพวกนี้ไว้ บริษัทก็เพียงแต่บันทึกการด้อยค่าของพวกมันไปเรื่อยๆ เหมือนกับการทยอยขาดทุน และก็อาจต้องบันทึกค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเรื่อยไป ซึ่งก็เหมือนกับการเจ็บน้อยๆ แต่เจ็บเรื้อรัง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ว่ามานี้เป็นแค่ผลในทางบัญชี เพราะอย่างที่เราทราบกันแล้วว่า การขายเครื่องบินออกไปจะเป็นการหยุดยั้งการทำลายมูลค่าของบริษัท ซึ่งหากตัดเรื่องทางบัญชีออกไปแล้ว ฝ่ายบริหารก็คงตัดสินใจได้ไม่ยาก ตอนนี้จึงเหลืออยู่ที่ว่าพวกเขาจะอยากแค่ "ดูดีทางบัญชี" หรือเปล่า?


สำหรับการลงทุนหุ้น?


นักลงทุนจำนวนไม่น้อยติดกับดักทางบัญชีในลักษณะเดียวกันนี้ พวกเขาไม่กล้าขายหุ้นที่ไม่เอาไหน ถึงแม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าหุ้นพวกนี้เป็นตัวทำลายมูลค่าในพอร์ตของเขา แต่การ "ขายขาดทุน" และรับรู้ผลทางบัญชีในทันที ก็เป็นเรื่องที่เจ็บปวดเกินไป

ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงตัดสินใจเก็บหุ้นเน่าๆ พวกนั้นเอาไว้ก่อน จากนั้นก็นั่งดูมันด้อยค่าลงไปเรื่อยๆ ดีกว่าที่จะตัดใจขายทั้งที่ยังเห็นเป็น "ตัวแดง" (ขาดทุน) อยู่ในพอร์ต

"หุ้นเน่า" ในพอร์ตของเราไม่ได้แตกต่างอะไรกับเครื่องบินที่คอยเผาเงินของบริษัททิ้งไปเรื่อยๆ ถึงตรงนี้หลายคนอาจเริ่มรู้สึกแล้วว่า พอเราได้ยินเคสของบริษัทสายการบิน เราคิดได้ทันทีว่า "เขา" ควรทำอย่างไร อะไรดี อะไรแย่ อะไรคือหลอกตัวเอง... แต่พอเป็นเคสของตัวเองกลับอึกอัก ทั้งที่จริงแล้ว แนวคิดมันก็ไม่ได้แตกต่างกัน

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่า ควรทำอะไร แต่อยู่ที่ กล้าทำหรือไม่ ต่างหาก


ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น


หากย้อนเวลากลับไปได้ และฝ่ายบริหารรู้ว่าเรื่องราวจะออกมาเป็นอย่างนี้ ผมเชื่อว่าพวกเขาคงตัดสินใจไม่ซื้อเครื่องบินพวกนี้มาตั้งแต่ต้น อันที่จริงถ้ามีใครสักคนลองดึงเอกสารที่ศึกษาโครงการนี้เมื่อหลายปีก่อนออกมาตีแผ่ก็คงจะดี จะได้เห็นกันว่าพวกเขามองข้ามความผิดพลาดของเครื่องบินรุ่นนี้และซื้อมันมาได้ยังไง

การเรียนรู้จากความผิดพลาดถือเป็นเรื่องดี น่าเสียดายว่าคนส่วนมาก "อาย" เกินกว่าจะยอมรับและเรียนรู้จากมัน

หากเมื่อไหร่ที่หุ้นชั้นดีของเราแปลงร่างกลายเป็น "หุ้นเน่า" ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ อย่างที่ผมเคยเขียนไว้ในบทความเรื่อง "ผ้าขนหนูสีตก" นั่นก็ถือเป็นบทเรียนชั้นดี และเป็นตัวอย่างชั้นเยี่ยมที่เราจะได้เรียนรู้ แต่ข้อสำคัญก็คือ เราจะต้องจดบันทึกเอาไว้เสมอว่าซื้อหุ้นตัวนั้นตัวนี้มาเพราะอะไร

เพราะบางทีซื้อมาแล้ว นานๆ ไปเราเองก็ลืมเหมือนกันว่าคาดหวังอะไรจากหุ้นตัวนี้บ้าง พอไม่จดก็เลยไม่ได้เรียนรู้ แล้วก็ทำผิดซ้ำๆ อยู่นั่นเอง


หมายเหตุ ภาพประกอบจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 17 ก.ย. 56

วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2556

หลักสูตรลงทุนอย่าง VI พันธุ์แท้

 

คอร์ส 1: แม่นงบการเงิน

  • ทำความเข้าใจธุรกิจผ่านงบการเงิน
  • มองหาตัวเลขที่สำคัญ
  • ตีความอัตราส่วนทางการเงิน
เน้นความเข้าใจ เรียนจบ อ่านงบเป็น
จัดวันเสาร์ที่ 26 ต.ค. 56 เวลา 9.00-17.00 น. (เปิดลงทะเบียน 8.30 น.)
ณ โรงแรม Grand Mercure Bangkok Fortune (ติด MRT พระราม 9) ชั้น 3 ห้อง Fortune

 

 

คอร์ส 2: ประเมินมูลค่าหุ้น

  • มูลค่าหุ้นและ Margin of Safety
  • วิธีอัตราส่วน เช่น P/E, PEG
  • วิธีคิดลดกระแสเงินสด เช่น DCF, DDM
เข้าใจง่าย เรียนจบ ประเมินหุ้นเป็น  เลือกหุ้นลงทุนได้
จัดวันเสาร์ที่ 9 พ.ย. 56 เวลา 9.00-17.00 น. (เปิดลงทะเบียน 8.30 น.)
ณ โรงแรม Grand Mercure Bangkok Fortune (ติด MRT พระราม 9) ชั้น 3 ห้อง Fortune


ทั้งสองหลักสูตร สอนโดยทีมวิทยากรคุณภาพของ Club VI ซึ่งประกอบด้วย ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA), ที่ปรึกษาทางการเงิน, ผู้จัดการกองทุน, financial engineer และผู้เขียนหนังสือ “ลงทุนอย่าง VI พันธุ์แท้ 1 และ 2″

จำนวนผู้เข้าอบรมไม่เกิน “70 ท่าน” ซึ่งเป็นจำนวนที่กำลังพอดี สำหรับการดูแลอย่างทั่วถึง

ในส่วนของค่าใช้จ่ายและรายละเอียดการรับสมัคร สามารถติดตามได้ที่ http://www.clubvi.com/2013/09/12/courseintro/

หลักสูตรนี้ถูกออกแบบมาให้มีเนื้อหากำลังดี เน้นตัวอย่างและการนำไปใช้งาน ไม่ใช่มีแต่หลักการ หรือยิบย่อย สอนไปหมดเสียทุกอย่าง เพราะฉะนั้นผมจึงเชื่อว่า มันจะช่วย "ย่นระยะ" ให้คนรัก VI สามารถเดินตรงไปสู่ความสำเร็จได้เร็วขึ้น

วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2556

ปัญหาของ VI


เมื่อจั่วหัวถึง "ปัญหาของ VI" หลายๆ คนอาจนึกไปถึงปัญหาที่เกิดจากการลงทุนแบบเน้นคุณค่า เช่น ต้นทุนของเงินจม ความอดทน หรือความแม่นยำในการประเมินมูลค่าหุ้น เป็นต้น ... แต่ใครจะรู้ว่าแท้จริงแล้ว "แวดวง VI" เองก็ยังมีปัญหาสุมอยู่นับจากอดีตถึงปัจจุบัน ทั้งยังมีทีท่าว่าจะต่อเนื่องไปในอนาคต


ช่วงเริ่มต้นของเมืองไทย


หากมองแค่เพียงผิวเผิน เราอาจเข้าใจว่าแวดวง VI ของเมืองไทยกำลังพัฒนาไปได้ด้วยดี นับจากช่วงวิกฤติปี 2540 ที่การลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investment) ได้เริ่มเป็นที่รู้จักในประเทศไทย โดยมีอาจารย์นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เป็นผู้บุกเบิกรุ่นแรกๆ และเขียนหนังสือ "ตีแตก" ขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้การลงทุนในแนวทางนี้

ปัญหาของ VI ในยุคแรกเป็นเรื่องของการยอมรับนับถือจากแวดวงการลงทุนโดยทั่วไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคุณลักษณะของการลงทุนแบบ VI เอง ที่จำเป็นต้องพิสูจน์ผลงานผ่านกาลเวลา ในเวลานั้นการลงทุนแบบเน้นคุณค่าซึ่งยังเป็นของใหม่ของประเทศไทย จึงเปรียบเหมือนกับนักเตะดาวรุ่งฝีเท้าดี ที่ยังไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน

อุปสรรคอีกส่วนหนึ่งมาจากแวดวงการเงินในระดับโลก ดังที่เราทราบกันว่า นักการเงินที่ได้รับรางวัลยกย่องมักมีผลงานในทางวิชาการ ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นแนวคิดที่สืบเนื่องมาจากสมมติฐานตลาดมีประสิทธิภาพ (Efficient Market Hypothesis) หรือต่อยอดออกไปจากนั้น ไม่ว่าจะเป็น Harry Markowitz, William Sharpe, Robert Merton, Myron Scholes ฯลฯ สวนทางกับกูรูด้าน VI ซึ่งเท่าที่ผมรู้ ไม่ยักมีใครได้รับรางวัลโนเบล

อย่างไรก็ตาม การลงทุนแบบ VI ในเมืองไทยก็ได้รับการยอมรับนับถือมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะเมื่อเริ่มปรากฏผลงานของคนที่ลงทุนในแนวทางนี้อย่างจริงจัง จนสามารถสร้างฐานะร่ำรวยขึ้นได้ ทั้งๆ ที่เริ่มต้นเท่ากับคนธรรมดาสามัญ ทำให้นักเล่นหุ้นจำนวนไม่น้อยหันมาสนใจ VI กันมากขึ้น ด้วยเห็นว่าเป็นหนทางสู่ความร่ำรวยในแบบที่คนธรรมดาทั่วไปสามารถเอื้อมถึง


VI ทมิฬ


น่าเสียดายที่ความสนใจดังว่ากลับกลายเป็นดาบสองคม เพราะนักลงทุนใจร้อนหลายคนเลือกที่จะไปทางลัด ด้วยการขอเกาะขบวนกลุ่มคนที่พวกเขาเชื่อว่าเป็น "เซียนวีไอ" และนั่นก็เป็นที่มาของคำครหาเรื่อง "VI ทมิฬ"

หากจะเล่าให้ฟังอย่างรวบรัด ก็ว่ากันว่า VI ทมิฬ คือ กลุ่มนักลงทุนที่ (พยายาม) เปิดเผยตัวว่าเป็น VI ชั้นเซียน จากนั้นก็ปล่อยข่าวให้คนไล่ซื้อหรือขายหุ้นตามที่ตนเองต้องการ ซึ่งมันก็คือการปั่นหุ้นดีๆ นี่เอง แน่นอนว่าคนกลุ่มนี้สามารถรวยขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แต่ไม่ใช่เพราะฝีมือในเชิง VI ทว่านั่นก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร ในเมื่อพวกเขารวยและเป็นที่นับถือ จะพูดอะไรออกทีวี คนก็เชื่อทั้งนั้น

สิ่งนี้เป็นวงจรแห่งความชั่วร้าย เพราะยิ่งคนกลุ่มนี้รวยขึ้น พวกเขาก็ยิ่งมีพื้นที่ข่าวให้กับตัวเองมากขึ้น และทำให้ผู้คนหันมาสนใจกันมากขึ้น แผนการของพวกเขาก็เลยยิ่งสำเร็จง่ายขึ้นไปอีก และพวกเขาก็ยิ่งรวยขึ้น ... วนเวียนกันไปจนกว่าจะมีคนจับได้ไล่ทัน หรือจนกว่าเหยื่อของพวกเขาจะไส้แห้ง ไม่เหลือความน่าสนใจให้หลอกอีกต่อไป

กรณี VI ทมิฬ เป็นสิ่งที่บั่นทอนความน่าเชื่อถือของแวดวง VI อย่างร้ายแรง ทั้งที่จริงแล้วมันไม่สมควรที่จะเกิดขึ้นได้เลย หากนักลงทุนใช้วิจารณญาณและศึกษาแนวทางการลงทุนแบบ VI อย่างจริงจัง ไม่หวังรวยทางลัด ไม่ซื้อหุ้นตามเซเลบ

และภูมิต้านทาน VI ทมิฬ ที่ได้ผลดีที่สุดก็คือ การศึกษาวิถีของ VI อย่างถ่องแท้


ปัญหาในปัจจุบัน


ปัจจุบันผู้คนหันมาศึกษาแนวทางการลงทุนแบบ VI กันอย่างกระตือรือร้น มองทางหนึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะทำให้ปัญหา VI ทมิฬลดน้อยลง แม้ว่ามันจะยังไม่มีทางหมดไป ตราบเท่าที่ยังมี "มือใหม่จอมโลภ" และ "มือเก่าจอมลวง" อยู่คู่กันบนโลกใบนี้

แต่หากเรามองอีกทางหนึ่ง การที่คนหันมาหาแนวทาง VI กันมากๆ ก็เป็นช่องทางให้เหลือบไรพันธุ์ใหม่ปรากฏตัวออกมา ไม่ว่าจะเป็นการ "แอบอ้าง" เป็นกูรูด้าน VI แล้วเขียนพ็อกเกตบุ๊กห่วยๆ ออกมา เพื่อฟันเงินจากนักลงทุนมือใหม่ที่หวังจะเป็น VI หรือออกรายการทีวีเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ จากนั้นก็จัดอบรมสัมมนา หาเงินเข้ากระเป๋า

ความจริงแล้วการหาเงินเข้ากระเป๋าไม่ใช่เรื่องเลวร้าย หากว่าพวกเขาเก่งจริง และตั้งใจเผยแพร่ความรู้โดยสุจริต ซึ่งในท้องตลาดก็มีคนกลุ่มนี้อยู่เช่นเดียวกัน แล้วมันก็เป็นแค่หนทางหนึ่งในการ "ทำมาหากิน" ที่ไม่มีใครจะว่ากันได้ แต่ปัญหามันไปเกิดตรงที่ว่า หลายคนไม่ได้มีความรู้เรื่อง VI เลย เวลาเขียนก็เขียนมั่ว เวลาสอนก็สอนผิด และผมก็มองว่าการกระทำเช่นนี้บาปกรรมมาก

บาปประการแรก พวกเขาขายสิ่งที่พวกเขาไม่มี นั่นคือความรู้ในเชิง VI ถือเป็นการฉ้อโกง

บาปประการที่สอง พวกเขาให้ความรู้ผิดๆ ทำให้ผู้เรียนเอาไปใช้แล้วขาดทุน ต้องสูญเสียเงินเก็บที่สู้อุตส่าห์หามาด้วยความยากลำบาก

บาปประการที่สาม พวกเขาทำให้ผู้คนสับสน ไม่รู้ว่าแท้จริงแล้ว VI เป็นอย่างไร นับเป็นการตัดโอกาสของคนที่จะเดินถูกทางและสร้างอนาคต

บาปประการสุดท้าย พวกเขาทำให้แวดวง VI หมองมัว ผู้คนเริ่มกลับมาสงสัยว่าแนวทาง VI ใช้ได้ผลจริงหรือไม่ ย้อนกลับไปสู่ยุคมืดของ VI อีกครั้งหนึ่ง


งั้นทำอย่างไรดี?


คำตอบของวันนี้มักนำไปสู่คำถามของวันต่อไป ปัญหาของแวดวง VI ยังคงเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ แต่ผมก็มีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า ยิ่งคนมีความเข้าใจแก่นแท้ของมันมากขึ้นเท่าไหร่ ความรุนแรงของปัญหาและโอกาสที่จะเกิดขึ้นก็ยิ่งลดน้อยลง

ย้อนกลับมาที่ปัญหาเฉพาะหน้า การหยุดยั้งการเผยแพร่แนวทาง VI แบบปลอมๆ แม้จะเป็นบทบาทโดยตรงของสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) แต่ผมก็คิดว่าการหวังน้ำพักน้ำแรงจากสมาคมฯ แต่เพียงฝ่ายเดียวดูจะเป็นการนิ่งเฉยมากเกินไปหน่อย เหมือนกับการเห็นโจรมือเปล่าวิ่งผ่านฝูงชนแล้วไม่มีใครช่วยกันจับ กลับบอกว่าเป็นหน้าที่ของตำรวจ อย่างนี้สังคมก็คงอยู่ยาก

ทางออกก็คือ เราต้องช่วยกัน "ซื้อปลาดี" และ "ปฏิเสธปลาเน่า"

ซื้อปลาดี หมายถึง ช่วยกันสนับสนุนและเผยแพร่แนวคิดแบบ VI ที่เป็นเนื้อแท้ ใช้ "ปากต่อปาก" ให้เป็นประโยชน์ เมื่อเห็นแนวคิดไหนดีๆ และเป็น VI อย่างแท้จริงก็ช่วยกันเผยแพร่ และแสดงความคิดเห็นด้วยความสุภาพ เหมือนกับการซื้อปลาที่สดและมีคุณภาพจากพ่อค้าที่มีคุณธรรม

ปฏิเสธปลาเน่า หมายถึง ไม่ให้การสนับสนุนนักเขียนหรือสำนักพิมพ์ที่แอบอ้างความเป็น VI และเผยแพร่ความรู้ผิดๆ บ่อยครั้งที่มีคนพยายามใช้หนังสือสร้างชื่อเสียง เพื่อเป็นสปริงบอร์ดไปสู่การจัดสัมมนา ซึ่งก็แน่นอนว่าเป็นการ "ย้อมแมวขาย"

ในฐานะผู้บริโภค ก่อนซื้อหนังสือลงทุนแนว VI เราควรดูว่าเนื้อหาดีไหม หากไม่ได้เรื่องก็อย่าซื้อตั้งแต่ต้น คนจำนวนมากมักปล่อยปละละเลย คิดว่าซื้อๆ มาก่อน จนมาอ่านทีหลังถึงค่อยพบว่าเนื้อหาแย่ แต่อย่างนั้นมันไม่ทันการณ์ เพราะเงินไหลเข้ากระเป๋านักเขียนและสำนักพิมพ์ไร้คุณภาพไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนผู้อ่านก็เสียเงิน แถมได้ความรู้ผิดๆ เหมือนการซื้อปลาเน่าที่กินไม่ได้ และถ้าฝืนกินก็มีแต่จะล้มป่วย

การตัดท่อน้ำเลี้ยงนักเขียนและสำนักพิมพ์ไร้คุณภาพ จะส่งผลให้พวกเขา "หากิน" ได้ลำบากขึ้น และอาจหันเหไปทางอื่นแทน ตามหลักเศรษฐศาสตร์ demand ที่เหลือก็มีแนวโน้มจะไหลไปหาหนังสือดีๆ มากขึ้น ผลต่อเนื่องก็คือ ยอดขายที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เกิด economy of scale ราคาขายต่อเล่มสามารถลดลงได้ และนักเขียนก็มีทุนทรัพย์ในการผลิตผลงานใหม่ๆ ที่เป็นน้ำดี ซึ่งก็น่าจะเป็นผลดีในระยะยาว

และนั่นก็น่าจะทำให้แวดวง VI สามารถเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง

วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2556

"ค่าเบต้า" นอกตำรา


คนที่เรียนมาทางด้านการเงินน่าจะคุ้นเคยกันดีกับ "ค่าเบต้า" (beta) ซึ่งว่ากันง่ายๆ ก็คือ ค่าทางสถิติที่บ่งบอกว่าราคาของหุ้นตัวหนึ่งๆ มีการเคลื่อนไหวสอดคล้องกับตลาดหุ้นโดยรวมอย่างไร

สิ่งที่แปลกประหลาดเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ ค่า beta ถูกมองด้วยความรู้สึกที่แตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิงจากฝั่ง "มืออาชีพด้านการลงทุน" เช่น บรรดาผู้จัดการกองทุน และนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ทั้งหลาย กับอีกฝั่งหนึ่งที่เป็นนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ VI ซึ่งหลายคนก็ "ลงทุนเป็นอาชีพ" และหาเลี้ยงชีพด้วยการลงทุน


Beta ที่มีคุณค่า


คนที่เรียนด้านการเงินมาอย่างมีแบบแผนได้รับการสั่งสอนมาว่า ค่า beta เป็น "ตัวแทน" ของความเสี่ยง และหุ้นที่มีค่า beta สูง เป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงมากกว่าหุ้นที่มีค่า beta ต่ำ

ภายใต้กรอบความคิดที่ว่า "high risk, high return" การสร้างผลตอบแทนให้ได้มากๆ จำเป็นต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น มืออาชีพเหล่านี้จึงมักใช้วิธีเลือกซื้อหุ้นที่มีค่า beta สูงๆ ในภาวะที่ตลาดเป็นขาขึ้น เพราะโดยหลักการแล้ว หุ้นที่มีค่า beta สูงมักเป็นหุ้นที่ปรับตัวขึ้นแรงกว่าตลาด และพวกเขาก็จะเอาชนะตลาดได้

ในทางทฤษฎี หากตลาดหุ้นปรับตัวขึ้น 1% หุ้นที่มีค่า beta 1.5 เท่า ก็มีแนวโน้มว่าจะปรับตัวสูงขึ้น 1.5% หรือถ้าพูดให้น่าตื่นเต้นยิ่งขึ้น หากตลาดหุ้นปรับตัวขึ้น 10% หุ้นตัวนี้ก็น่าจะปรับตัวขึ้น 15% ลองคิดดูก็ได้ว่าตลาดขาขึ้นมันน่าอภิรมย์เพียงใด แต่สำหรับการซื้อหุ้นที่มีค่า beta สูงๆ คุณไม่เพียงแต่เกาะไปกับตลาดขาขึ้นเท่านั้น แต่ยังเอาชนะมันได้อีกต่างหาก แค่ฟังก็น้ำลายหกแล้ว

การซื้อหุ้นที่มีค่า beta สูงๆ จะช่วยดึงให้พอร์ตโฟลิโอของเรามีค่า beta โดยรวมสูงขึ้นด้วย ดังนั้น ถ้าใครเชื่อมั่นกลยุทธ์นี้ ในช่วงที่ตลาดหุ้นเป็นขาขึ้น เขาก็ย่อมจะถอดหุ้นที่มีค่า beta ต่ำออกไป และเปลี่ยนเอาหุ้นที่มีค่า beta สูงเข้ามาในพอร์ตแทน ซึ่งถือว่าเป็นการ "ยอมเสี่ยง" อย่างชาญฉลาดในจังหวะที่ได้เปรียบ

ในทางกลับกัน ช่วงตลาดขาลงเขาก็จะขายหุ้น beta สูง และถือหุ้น beta ต่ำ เพื่อลดความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ต และถ้าทุกอย่างเป็นไปด้วยดี พอร์ตหุ้นของเขาก็จะปรับตัวลดลงน้อยกว่าตลาด ทำให้เขาเอาตัวรอดและชนะตลาดได้อีกครั้ง

วิธีนี้ถูกต้องแจ๋วแหววในเชิงทฤษฎีและสถิติ ซึ่งถ้ามองในมุมนี้ beta ก็เป็นอุปกรณ์ที่มีคุณค่าสำหรับการลงทุนมากเลยทีเดียว


Beta ที่ไร้ค่า


ขณะที่แวดวงการลงทุนใช้ค่า beta กันอย่างแพร่หลาย นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ Value Investor (VI) กลับไม่เห็นประโยชน์ที่จะใช้มัน

เพียงแค่ชื่อก็บอกความหมายอยู่แล้วว่า พวกเขาลงทุนแบบ "เน้นคุณค่า" หรือ "เน้นมูลค่า" ไม่ได้เน้นราคา ดังนั้น ค่า beta ซึ่งสืบรากเหง้ามาจาก ราคาหุ้น จึงไม่ได้มีความเกี่ยวพันอะไรกับ มูลค่าหุ้น ที่พวกเขามองหา การล้วงลึกลงไปคำนวณค่า beta ด้วยการหา variance และ covariance (แค่ฟังชื่อก็น่าเบื่อแล้ว) เลยทำให้ VI รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว และสรุปตรงกันว่า "ไม่รู้จะหาไปทำไม"

ตามความเห็นของผม มีเหตุผลอย่างน้อย 3 ข้อที่ทำให้การหาค่า beta กลายเป็นสิ่งงี่เง่าในสายตาของ VI ซึ่งได้แก่

1) ค่า beta คำนวณมาจากการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น (ซึ่งเป็นสิ่งที่ไร้สาระตามทัศนะของ VI) แถมยังเอาไปเทียบกับการเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้น (ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ไร้สาระเช่นกัน) เลยไม่น่าแปลกใจที่ตัวเลขนี้จะเป็นอภิมหาแห่งความไร้สาระ

2) สมมติฐานที่ว่า "ค่า beta บ่งบอกความเสี่ยงได้" ตั้งอยู่บนสมมติฐานตลาดมีประสิทธิภาพ และความเชื่อที่ว่าราคาหุ้นจะสะท้อนทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ VI มั่นอกมั่นใจว่าไม่เป็นความจริง การลงทุนที่อาศัยประโยชน์จากค่า beta จึงเป็นการลงทุนที่ฝากความหวังไว้กับสิ่งที่ไม่มีจริง

3) หุ้นสองตัวที่มีค่า beta เท่ากันเป๊ะ อาจแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในแง่ของคุณภาพ งบการเงิน ฝ่ายบริหาร แผนการดำเนินธุรกิจ ฯลฯ จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผล หากจะบอกว่าหุ้นสองตัวนี้มีความเสี่ยงเท่ากัน เพียงเพราะราคาหุ้นที่ผ่านมาบังเอิญเคลื่อนไหวสอดคล้องกับดัชนีตลาดในระดับที่เท่ากัน

ฟังๆ ดูเหมือนว่า VI จะเป็นพวก "เหนือชั้น" และหันหลังให้กับค่า beta ... แต่ที่จริงแล้ว VI หลายคนก็ยังติดอยู่ในวังวนของค่า beta อยู่โดยไม่รู้ตัว!


โอ๊ะ! ฉันใช้มันอยู่


สิ่งหนึ่งที่เป็นไฟต์บังคับสำหรับ VI ก็คือ "การประเมินมูลค่าหุ้น" และวิธีการประเมินหุ้นที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้น การคิดลดกระแสเงินสด (Discounted Cash Flow: DCF) ซึ่งตัวแปรสำคัญอันหนึ่ง ได้แก่ อัตราคิดลด

หลายคนที่เคยลงมือทำ DCF เพื่อหามูลค่าหุ้นคงทราบดีกว่า อัตราคิดลด หรือ discount rate มีผลต่อผลลัพธ์สุดท้ายมากมายขนาดไหน การเปลี่ยนอัตราคิดลดจาก 10% ไปเป็น 12% อาจส่งผลให้ "มูลค่าที่แท้จริง" ที่คำนวณได้บิดเบี้ยวไปถึง 20 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่านั้น ความสำคัญของอัตราคิดลดทำให้นักลงทุนพยายามหาสิ่งยึดเหนี่ยว และหนึ่งในวิธีที่ฮอตฮิตที่สุดก็คือ แคปเอ็ม

CAPM (Capital Asset Pricing Model) หรือที่เรามักเรียกกันว่า แคปเอ็ม เป็นโมเดลที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่าง risk-return และเป็นตัวที่บอกเราว่า อัตราผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นต้องการควรเป็นเท่าไหร่ โดยตัดสินกันจากค่า beta ของหุ้นตัวนั้นๆ ยิ่งหุ้นมีค่า beta สูง ผู้ถือหุ้นก็ยิ่งต้องการอัตราผลตอบแทนสูง เพื่อให้สมน้ำสมเนื้อกับ "ความเสี่ยง" และอัตราผลตอบแทนนี้เองที่เราเอามาใช้เป็นอัตราคิดลด

VI จำนวนมากแม้จะปฏิเสธแนวคิดเรื่องค่า beta แต่พวกเขาก็คำนวณ DCF และหาอัตราคิดลดด้วยวิธีนี้ เข้าทำนอง "เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง" แถมยังไม่รู้ตัวเสียอีกด้วยแน่ะ


มองให้ไกลกว่าค่า Beta


ความผันผวนของราคาหุ้น ไม่ว่าจะคิดมาตรงๆ หรือเทียบเคียงกับดัชนีตลาด มองยังไง VI ก็ไม่เห็นว่าเป็น "ความเสี่ยง" ความจริงแล้วมันตรงกันข้ามเลย เพราะ VI มองการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นว่าเป็น "โอกาส" ถ้าหุ้นลงมากๆ ก็มองหาโอกาสซื้อ ถ้าหุ้นขึ้นแรงมากๆ ก็มองหาโอกาสขาย

ในขณะที่ความเสี่ยงในสายตาของพวกเขากลับไปอยู่ที่ มูลค่าหุ้น หรือถ้าหาตัวแสดงแทนที่พอจะจับต้องได้ง่ายหน่อยก็คือ ผลประกอบการของบริษัท ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณโจ ลูกอีสาน (คุณอนุรักษ์ บุญแสวง) บอกว่าเป็น "เจ้ามือตัวจริง"

บริษัทที่มีผลประกอบการคงเส้นคงวา มีการเติบโตที่ต่อเนื่อง และคาดการณ์ได้ง่าย แบบนี้ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ หรือในทางกลับกัน บริษัทที่มีผลประกอบการลุ่มๆ ดอนๆ โตบ้างไม่โตบ้าง มีความเปราะบางต่อสภาพเศรษฐกิจ และยากต่อการคาดเดา แบบนี้ถือว่ามีความเสี่ยงสูง ถ้ามองแบบนี้ ผมก็จะบอกว่าอัตราคิดลดของบริษัทพวกแรกสามารถที่จะต่ำกว่าบริษัทพวกหลังได้

สรุปก็คือ บริษัทที่มีผลประกอบการเติบโตดีและคงเส้นคงวา นับได้ว่ามีความเสี่ยงน้อย อัตราคิดลดก็น้อย บริษัททำนองนี้ก็ควรมีมูลค่าสูง จบแล้ว! ไม่เห็นต้องไปสนใจความผันผวนของราคาหุ้นเลย หันมาสนใจความผันผวนของผลประกอบการกันดีกว่า

ผมรู้ดีว่าการหักล้างความเชื่อ โดยเฉพาะความเชื่อที่มาจาก "ตำรา" เป็นสิ่งที่ค่อนข้างยาก แต่หลังจากที่ได้ศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบมาอย่างถ้วนถี่แล้ว ผมก็เห็นว่าแนวคิดเรื่องค่า beta และ CAPM เหมาะสมที่จะอยู่ใน textbook และได้รับรางวัลโนเบล แต่ไม่ได้อยู่ข้างกายของผมในยามที่ต้องการสร้างความมั่งคั่ง

และแน่นอนว่ามันไม่ได้อยู่ข้างกายของ VI ระดับโลกคนไหนเลยด้วย

วันพุธที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เซลส์แมน On the Street


เช้าวันหนึ่งขณะที่นั่งทานอาหารเช้าอยู่ในร้านฟาสต์ฟู้ด และมองดูผู้คนภายนอกที่เดินผ่านไปมาด้วยความเร่งรีบ ผมเห็นชายท่าทางคล้ายเซลส์แมนคอย "ดัก" และเสนอขายอะไรบางอย่างให้กับหนุ่มสาวออฟฟิศที่เดินผ่านมา ซึ่งถ้าไม่ใช่คอร์สฟิตเนส ก็คงเป็นคอร์สเรียนภาษา หรือไม่ก็เชิญชวนให้ทำบุญผ่านบัตรเครดิต

สิ่งที่ผมเห็นว่าน่าสนใจก็คือ เท่าที่ผมสังเกตดู ผู้คนมักพยายาม "วิ่งหนี" เซลส์แมนที่คอยดักอยู่บนทางเท้า ฝ่ายเซลส์แมนก็มักใช้ลูกตื๊อเข้าสู้ ดูไปแล้วเหมือนสงครามที่ชิงไหวชิงพริบกัน

และนี่ก็ทำให้ผมนึกไปถึงพฤติกรรมของหลายๆ คนในตลาดหุ้นด้วย


เซลส์แมนไร้ประสบการณ์


ประสบการณ์เป็นความรู้ความชำนาญที่เกิดจากการสั่งสม ซึ่งต้องใช้เวลา แต่การใช้เวลามากๆ ก็ไม่ได้ทำให้เกิดประสบการณ์ขึ้นเสมอไป หากใช้แต่เวลาโดยปราศจากการเรียนรู้

เซลส์แมนบางคนแสดงออกถึงความไร้ประสบการณ์ ผมไม่รู้ว่าพวกเขาทำงานนี้มานานกี่ปี แต่อย่างที่ผมบอกไป เวลาไม่สำคัญเท่ากับการเรียนรู้ พวกเขาใช้ความพยายามในลักษณะ "วิ่งสู้ฟัด" คือ วิ่งเข้าหาทุกคนที่เดินผ่านมา และเดินตามตื๊อไปอีกราว 10 กว่าเมตร ก่อนที่จะถอดใจและมองหาเหยื่อรายใหม่ จากนั้นก็เดินตามตื๊อไปอีก

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ขนาดผมนั่งทานอาหารเช้าอยู่แค่ครึ่งชั่วโมง ยังเห็นกระบวนการซ้ำๆ นี้ไม่รู้กี่สิบรอบ ประเมินได้คร่าวๆ ว่าใน 10 คนที่เขาวิ่งเข้าหา จะมี 7-8 คนที่ปฏิเสธอย่างแข็งขัน ไม่ว่าเขาจะเดินตามไปเสนออะไรหรือไกลแค่ไหนก็ตาม ส่วนอีก 2-3 คนที่เหลือจะเป็นพวก "ขี้เกรงใจ" ซึ่งที่จริงก็ทำท่าปฏิเสธอยู่เหมือนกัน แต่ก็มักจะยอมหยุดคุยด้วย ก่อนจะเดินจากไป

ลงท้ายแล้วคนที่ยอมเซ็นชื่อหรือให้เบอร์โทรติดต่อกับเซลส์แมน ก็คือพวกขี้เกรงใจเหล่านี้ และไม่มีสักครั้งเดียวที่เขาได้ลายเซ็นหรือเบอร์โทรจากคนที่ปฏิเสธอย่างแข็งขัน นี่คือสิ่งที่ผมสังเกตเห็นระหว่างที่นั่งกินไปดูไปอยู่ในร้าน

ตามความเห็นของผม กลยุทธ์ที่ดีที่สุดสำหรับเซลส์แมนก็คือ อย่าเดินตามตื๊อพวกใจแข็งให้เสียแรงเสียเวลา แต่ให้ทุ่มเทความพยายามไปกับกลุ่มคนขี้เกรงใจ ซึ่งเป็นพวกที่มีโอกาสตัดสินใจซื้อ


เหตุเกิดในตลาดหุ้น


ในตลาดหุ้นก็มีเรื่องราวคล้ายๆ กัน เพียงแต่ "เรา" สวมบทบาทของเซลส์แมนคนนี้ และสิ่งที่เดินเข้ามาหาเราก็ไม่ใช่หนุ่มสาวออฟฟิศ แต่ว่าเป็นหุ้นในตลาด

เท่าที่ผมสังเกตดู คนบางคนชอบหยิบหุ้นมาเล่นเป็นตัวๆ และเมื่อหยิบหุ้นตัวไหนมาแล้ว ก็จะพยายามรีดเอากำไรจากมันมาให้ได้ พวกเขามักมีหุ้นอยู่ในจอเรดาร์แค่คราวละ 1-2 ตัว และพอถึงเวลาซื้อก็มักจะจัดหนักกันเลยทีเดียว

นักเล่นหุ้นหลายคนคงจะพอมีประสบการณ์ว่า หุ้นบางตัวนั้น ซื้อแล้วได้กำไรง่าย ซึ่งอาจเป็นเพราะเราไปซื้อในช่วงที่อุตสาหกรรมนั้นเป็นขาขึ้น หรือไม่ก็เป็นเพราะตัวบริษัทมีผลประกอบการดี แต่จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม หุ้นพวกนี้ก็เหมือนกับ "พวกขี้เกรงใจ" ที่เดินอยู่บนถนน และพร้อมที่จะทำเงินให้กับเซลส์แมน ถึงแม้ว่าเซลส์แมนจะใช้ความพยายามเพียงนิดเดียว

ในทางกลับกันหุ้นบางตัวซื้อแล้วได้กำไรยาก บางทีซื้อแล้วหุ้นลง นักเล่นหุ้นก็ใส่เม็ดเงินใหม่ๆ เข้าไปอีก เพื่อช่วย "กู้ชีพ" และหาทางกลับมาเท่าทุนให้ได้ พวกเขาเวียนซื้อเวียนขายอีกหลายรอบ พอหุ้นเด้งหน่อยก็รีบแบ่งขาย พอหุ้นย่อลงก็ซื้อถัวกันใหม่ ซ้ำไปซ้ำมาแบบนี้ ดูแล้วเหมือนกับเซลส์แมนที่พยายามตามตื๊อ(ว่าที่)ลูกค้าใจแข็ง แต่ลงท้ายแล้วก็มักจะขายของไม่ได้อยู่ดี

ผมมองว่ากลยุทธ์ที่ดีที่สุดสำหรับนักเล่นหุ้นก็คือ อ่านเกมให้ออกว่าหุ้นตัวไหนซื้อแล้วกำไรง่าย จากนั้นก็ใส่เม็ดเงินลงไปอย่างชาญฉลาด อย่าเสียแรงเสียเวลาเดินตามตื๊อพวกหุ้นใจแข็ง

หุ้นตัวไหนศึกษาดูแล้วธุรกิจไปได้สวย ไม่สลับซับซ้อน อ่านงบการเงินแล้วไม่มีลับลมคมใน อย่างนี้คือหุ้นที่ซื้อแล้วกำไรง่าย เพราะผลประกอบการของมันจะเป็น "แกนหลัก" ที่ดึงราคาหุ้นให้สูงขึ้นไปในระยะยาว จะเหลือก็แต่รอซื้อในจังหวะที่หุ้นมีราคาถูกเท่านั้น

ตรงกันข้ามกับพวกหุ้นใจแข็ง ซึ่งมักจะมีผลประกอบการไม่สม่ำเสมอ บางทีก็ทำท่าจะโตเร็ว แต่เผลอแป๊บเดียวกำไรก็หด ราคาหุ้นก็มักสะท้อนไปตามนั้น และนี่ก็คือหุ้นที่คุณจะต้องตามตื๊อ ซื้อๆ ขายๆ จนกว่าจะหลุดออกมาเท่าทุน หรือไม่ก็ตัดสินใจ cut loss ให้มันรู้แล้วรู้รอดไป

สังเกตว่าการ "ทำการบ้าน" ตั้งแต่ต้น ก่อน ที่จะเข้าซื้อนั่นแหละที่เป็นตัวตัดสินว่า คุณกำลังเดินเข้าหาหุ้นใจแข็งหรือหุ้นที่ซื้อแล้วกำไรง่าย


หัวกับท้ายเหมือนกัน


ความจริงแล้วถ้าเราแบ่งเรื่องราวทั้งหมดเป็น input, process และ output แล้วเปรียบเทียบกัน ก็จะเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น


เซลส์แมน:

สังเกตว่าสิ่งที่เซลส์แมนต้องใส่เข้าไป (input) และผลลัพธ์ที่เขาต้องการ (output) เป็นสิ่งเดียวกัน ไม่ว่าเขาจะใช้วิธีไหน สิ่งที่แตกต่างกันมีเพียงกระบวนการ (process) เท่านั้น

หากสังเกตดีๆ กระบวนการจะเป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพ กระบวนการแรกใช้ input มาก ให้ output น้อย ถือว่ามีประสิทธิภาพต่ำ ส่วนกระบวนการที่สองใช้ input น้อยกว่า แต่อาจจะให้ output เท่ากัน ซึ่งถือว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่า เพราะฉะนั้นถ้าเซลส์แมนเห็นแววว่าคนไหนเป็นพวกใจแข็ง เขาก็ควรรีบยุติความพยายามในทันที เพื่อดึงตัวเองออกจาก low-efficiency process และแสวงหาโอกาสครั้งใหม่

อย่าลืมว่ายอดขาย 1,000 บาทจากพวกใจแข็ง ก็มีค่าเท่าๆ กับยอดขาย 1,000 บาทจากพวกขี้เกรงใจ แต่มันใช้เวลาและความพยายามที่สูงกว่ากันมาก


นักลงทุน:



ในทำนองเดียวกัน ถ้านักลงทุนประเมินหุ้นด้วยวิธี "วัดพลังหุ้น" และเห็นว่าหุ้นสามารถผ่านเกณฑ์ของตนเองได้อย่างสบายๆ แล้วล่ะก็ หุ้นตัวนั้นก็มีโอกาสทำกำไรได้ง่ายกว่าการเหวี่ยงแหซื้อหุ้นทุกตัวที่นักวิเคราะห์เชียร์ออกทีวี เพราะนี่คือ high-efficiency process

นักลงทุนต้องไม่ลืมว่ากำไร 10,000 บาทจากหุ้นกากๆ ก็มีค่าเท่ากันกับกำไร 10,000 บาทจากหุ้นชั้นดี แต่การรีดเอากำไรจากหุ้นเฮงซวยนั้น คุณต้องใช้ความพยายามอย่างมาก อาจเสียทั้งเงินและเวลา รวมไปถึงสุขภาพจิต ซึ่งที่สุดแล้วคุณจะบอกว่า "รู้งี้" ไม่ซื้อตั้งแต่แรกดีกว่า

ผมว่าประสบการณ์พวกนี้ นักลงทุนเจอกันมาแล้วเกือบทั้งนั้น จริงไหม?

วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

วัดพลังหุ้น



หากถามว่าเล่ม 2 ต่างจากเล่ม 1 หรือไม่? คำตอบก็คือ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงครับ

เล่มแรกเน้นไปที่การ "ปูพื้น" แนวความคิดแบบ VI ทั้งเรื่องราคาและมูลค่า, ส่วนต่างแห่งความปลอดภัย, ขอบข่ายแห่งความชำนาญ, แนวคิดของวีไอระดับโลก ฯลฯ โดยมีจุดเด่นอยู่ที่การอธิบายงบการเงินแบบง่ายๆ ชนิดที่บางคนถึงกับบอกว่า "ง่ายที่สุดเท่าที่เคยอ่านมา" เสียด้วยซ้ำไป

คราวนี้เล่มสองมาในแบบที่ "ลึกขึ้น" และเป็น "เชิงปฏิบัติ" มากขึ้นกว่าเดิม

หนังสือเล่มนี้ให้มุมมองของ Margin of Safety อย่างเป็นรูปธรรม และตอบคำถามที่ว่า เราควรมองหาอะไรบ้างก่อนจะซื้อหุ้นสักตัว? คุณสมบัติข้อใดสำคัญ และข้อใดไม่สำคัญ? ราคาแพงหรือถูกดูจากอะไรบ้าง?

ลองเดินไปดูตามร้านหนังสือสิครับ ผมว่ามันเป็นการลงทุนที่ดีนะ :)

วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

วัดความสำเร็จแบบ VI


การวัดความสำเร็จในตลาดหุ้นไม่ใช่เรื่องยาก คนส่วนมากวัดจาก "กำไร" หรือไม่ก็ "ความมั่งคั่ง" ที่พวกเขามี แต่นั่นเป็นหนทางที่ถูกต้องแล้วหรือ?

เราจะมาดูกันว่า ตัวชี้วัดความสำเร็จที่ไม่เหมาะสมมีส่วนสำคัญกับอนาคตทางการลงทุนของเราอย่างไร ไม่ว่าเราจะเป็นนักเล่นหุ้นเก็งกำไรรายวัน หรือนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (VI) ก็ตาม และที่สำคัญ มีคนจำนวนไม่น้อยที่ใช้มาตรวัดความสำเร็จผิดๆ อยู่อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวด้วย ... แต่จะเป็นเราหรือเปล่าหนอ?


ตัววัดของนักเล่นหุ้นทั่วไป


ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า นักเล่นหุ้นระยะสั้นที่มีความเชื่อในการ "เข้าเร็ว ออกเร็ว" มักให้ความสำคัญกับ "กำไร" มากเป็นพิเศษ และวัดความสำเร็จของตัวเองจากเจ้ากำไรนี่เอง กำไรที่ว่านี้เป็นกำไรของตัวเองนะครับ ไม่ใช่กำไรของบริษัท ดังนั้น พวกเขาจึงไม่ได้สนอกสนใจว่าบริษัทจะมีความแข็งแกร่งหรือมีผลประกอบการเติบโตมากนัก ตราบเท่าที่หุ้นวิ่ง...

เมื่อพูดถึงการวิ่งของราคาหุ้น เรากำลังพูดถึง "change" เพราะฉะนั้นขอแค่ให้บริษัท "ดูดีกว่าเมื่อวาน" ราคาหุ้นก็พร้อมที่จะวิ่งแล้ว ไม่จำเป็นว่าบริษัทต้องแข็งแกร่งหรือมีศักยภาพในระยะยาวแต่อย่างใด นักลงทุนกลุ่มนี้ไม่สนใจพื้นฐานของตัวกิจการในระยะยาว เพราะถือว่ามันยาวไกลเกินไป ซึ่งถ้าคิดจากมุมของพวกเขา มันก็ถูก คุณจะสนใจผลประกอบการในอีก 10 ปีข้างหน้าหรือ ในเมื่อจะขายมันอยู่รอมร่อวันนี้พรุ่งนี้แล้ว

การเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นก็คือ "กำไร" ของพวกเขา จึงไม่น่าแปลกใจที่นักเล่นหุ้นระยะสั้นจะเฝ้าติดตามราคาหุ้นอย่างใจจดใจจ่อ รวมทั้งคอยเช็ค "ต้นทุน" ของพวกเขาอยู่ตลอด และสิ่งที่พวกเขาคิดก็คือ

กำไร = ราคาหุ้น - ต้นทุน


จะเห็นว่ากำไรของพวกเขาจะสูงได้ ถ้า ราคาหุ้น พุ่งแรงๆ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงพยายามเข้าซื้อหุ้นตัวที่ "น่าจะวิ่ง" และกลายเป็นการเสาะแสวงหาหุ้นปั่นหรือหุ้นในกระแสไปโดยปริยาย ความพยายามนี้บีบพวกเขาให้เข้าไปจับหุ้นร้อนที่วิ่งมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสวิ่งต่อไป อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้แปลว่ามีคนอีกกลุ่มหนึ่งในตลาดที่ถือหุ้นตัวนี้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าพวกเขา (ต่ำกว่ามากๆ) และพร้อมที่จะ "ปล่อย" เพื่อทำกำไรแทบจะทุกราคา

ในอีกทางหนึ่งจากระบบความคิดนี้ กำไรของพวกเขาจะสูงได้เหมือนกันถ้า ต้นทุน ของพวกเขาต่ำ เราจึงเห็นนักเล่นหุ้นจำนวนมากที่พยายามซื้อหุ้นถัวเฉลี่ย เพื่อกดให้ต้นทุนของพวกเขาลดลง ทั้งๆ ที่บางครั้งกลายเป็นการทยอยซื้อหุ้นเน่าเข้าพอร์ต และยิ่งทำให้พอร์ตของพวกเขาแย่ลงเรื่อยๆ นอกจากนี้การหมกมุ่นอยู่กับต้นทุนมีส่วนทำให้เราหลงลืมที่จะตรวจสอบว่าราคาหุ้นยังคงมีทิศทางเป็นขาขึ้นอยู่หรือไม่ บางทีเราลดต้นทุนได้จริง แต่ราคาหุ้นก็กลับทิศไปเสียแล้ว

การที่เราจับจ้องอยู่ที่ "กำไร" ย่อมทำให้เราคอยแต่จะคิดว่า กำไรเพิ่ม กำไรลด ขาดทุน ได้เงิน เสียเงิน ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นความคิดที่มาเขย่าสมองส่วนที่ใช้เหตุผลทั้งสิ้น บางครั้งเราจึงตัดสินใจผิดพลาด เช่น take profit เร็วเกินไป หรือไม่ยอม cut loss แม้จะรู้ว่าผิดทาง เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ระบบความคิดที่ยึดกำไรเป็นศูนย์กลางจึงมักกลายเป็นการทำลายตัวเอง และยิ่งถ้านับต้นทุนที่ไม่ใช่เงิน เช่น ความเครียด และเวลาที่สูญเสียไป เข้ามารวมด้วยแล้ว ต้นทุนรวมของการเก็งกำไรระยะสั้นก็คงสูงกว่าที่เราเห็นมาก


ตัววัดของ VI


การยึดกำไรเป็นศูนย์กลางไม่ใช่แนวทางที่ดีสำหรับนักเก็งกำไร และแน่นอนว่าไม่ใช่สำหรับ VI ด้วย ถ้าอย่างนั้น VI ควรเอาอะไรเป็นตัวชี้วัดดีล่ะ?

เท่าที่ผมทราบมา VI หลายคนวัดความสำเร็จของตัวเองจาก "ขนาดพอร์ต" และตั้งเป้าจะมีพอร์ตสิบล้าน ร้อยล้าน ซึ่งก็ฟังดูน่าตื่นเต้นดี แต่ปัญหาคือ ขนาดพอร์ตขึ้นอยู่กับราคาหุ้น เพราะฉะนั้นตอนหุ้นขึ้นพอร์ตก็โต พอหุ้นลงพอร์ตก็แฟบ เบ็ดเสร็จแล้วเดี๋ยวโตเดี๋ยวแฟบ

ในจังหวะที่ตลาดหุ้นบูม ราคาหุ้นมักเกินมูลค่าที่แท้จริงไปมาก หากเขาคำนวณขนาดพอร์ตของเขาในตอนนั้นก็คงนั่งยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ไปกับสิ่งที่ไม่มีแก่นสาร หรือในเวลาที่ตลาดตกต่ำ เขาก็อาจหดหู่ไปกับสิ่งที่ไม่มีแก่นสารอีกเหมือนกัน

กลายเป็นว่าปากบอกสนใจ "มูลค่า" แต่กลับวัดความสำเร็จจาก "ราคา" เลยเป็นพวกมือถือสาก ปากถือศีลไป แล้วเก่งกว่าแมงเม่าตรงไหนเนี่ย?!

การจดจ่ออยู่กับขนาดพอร์ตทำให้เรามัวสนใจแต่ "การเติบโตของราคาหุ้น" โดยอาจละเลยเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญไป เช่น ค่า P/E ที่สูงลิ่ว, การก่อหนี้ของบริษัท หรือเงินปันผล เป็นต้น ซึ่งบ่อยครั้งที่ราคาหุ้นเติบโตดีเฉพาะในตลาดขาขึ้น แต่พองานเลี้ยงเลิก ราคาหุ้นก็ปักหัวลง แล้วเราถึงค่อยมาคิดได้ว่า "เราไม่ได้รวยอย่างที่คิดนี่หว่า"


ตัวชี้วัดที่แนะนำ


ผมเห็นว่า VI ที่ดีไม่ควรวัดความสำเร็จของตัวเองจากขนาดพอร์ต แต่ควรวัดจากอะไรที่มีแก่นสารมากกว่านั้น หากคุณเป็น VI ที่เก่งจริงๆ และมั่นใจกับการคำนวณมูลค่า ตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ คือ

มูลค่าที่แท้จริงของหุ้น x จำนวนหุ้น


จากนั้นจับหุ้นทุกตัวบวกกัน ก็จะได้มูลค่าที่แท้จริงของพอร์ต

หรือไม่อย่างนั้นก็ใช้ตัวเลขกำไร (earning per share) ของหุ้นแต่ละตัวก็ได้ เช่น

EPS x จำนวนหุ้น


จับหุ้นทุกตัวบวกกัน ก็จะได้ total earning ของพอร์ต ซึ่งคิดเสมือนว่าคุณสามารถ "ชักส่วนแบ่ง" กำไรจากที่บริษัททำมาหาได้มาเป็นของคุณเองโดยตรง

หรือไม่ก็หาตัวเลขกระแสเงินสดจากเงินปันผล (dividend per share)  เช่น

DPS x จำนวนหุ้น


พอจับทุกตัวบวกกัน ก็จะได้กระแสเงินสดที่จะเข้ากระเป๋าของเราในแต่ละปี อันนี้จับต้องได้ด้วย หรือถ้าใครอยากใช้กระแสเงินสดอื่นๆ เช่น free cash flow ก็ได้เช่นกัน

สังเกตว่าตัวชี้วัดความสำเร็จที่ผมแนะนำมานี้ ไม่สั่นไหวไปกับราคาหุ้นหรือสภาวะตลาด จึงเหมาะสมกับ VI มากกว่าการใช้ขนาดพอร์ตแบบเสี่ยหุ้นทั่วไป ชอบแบบไหนก็ลองหยิบไปใช้ดูได้ครับ

วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

คิดแบบพ่อครัว


วันหนึ่งผมออกไปทานอาหารนอกบ้านกับเพื่อน ขณะที่กำลังเลือกดูเมนูอาหารอยู่นั้น ผมก็พูดขึ้นมาว่า "เอาผัดผักรวมมิตรดีมั๊ย?" เพื่อนผมซึ่งเป็นคนทำกับข้าวเก่งก็รีบบอกว่า "อย่าเลย ผักพวกนี้กำนึงไม่กี่บาท ใส่หมูนิดเดียว ทำเองโยนลงกระทะโครมๆ เดี๋ยวเดียวก็เสร็จแล้ว สั่งอะไรยากๆ ดีกว่า ของพวกนี้เอาไว้ทำกินเองเหอะ"...

ผมคิดว่าคงมีหลายคนที่มีประสบการณ์ทำนองนี้ อาหารง่ายๆ อย่างเช่น ไข่เจียว ผัดผัก หรือหมูทอดกระเทียม บ่อยครั้งที่ถูกสกัดกั้นไม่ให้โผล่ขึ้นมาบนโต๊ะอาหารนอกบ้าน โดยเฉพาะเมื่อไปทานกับคนที่ทำกับข้าวเป็น นั่นก็เป็นเพราะพวกเขาสวมหมวกพ่อครัวและมองว่า "ไม่คุ้ม"

เพื่อนของผมไม่เพียงสวมหมวกพ่อครัวในขณะที่เป็นลูกค้า แต่เขายังคงสวมมันในยามที่เป็นนักลงทุนด้วย เขาบอกว่าเขาชอบหุ้นที่เกี่ยวข้องกับอาหาร เพราะถึงอย่างไรคนเราก็ต้องกิน และร้านพวกนี้ก็ขายอาหารได้แพงๆ ทั้งที่ต้นทุนจริงไม่เท่าไหร่ กำไรของร้านอาหารจึงน่าจะมากมายมหาศาล เขายังบอกอีกว่าเขาได้ซื้อหุ้นในกลุ่มอาหารบางตัวไว้และรู้สึกมั่นใจกับมันมาก


มุมมองเจ้าของร้าน


ผมไม่อยากทำให้อาหารมื้อนั้นหมดอร่อยจึงไม่ได้ว่าอะไรต่อ แต่ที่จริงแล้วผมอยากบอกเขาว่า มุมมองของ "พ่อครัว" กับมุมมองของ "เจ้าของร้านอาหาร" นั้น มีความแตกต่างกันอย่างมาก

มุมมองของพ่อครัวจับจ้องอยู่ที่อาหาร กำไรที่พ่อครัวคิดจึงเป็นการเอาราคาขายหักด้วยต้นทุนวัตถุดิบ หรืออย่างมากก็คิดค่าแก๊สเข้าไปด้วย (อย่างน้อยก็เพื่อนของผมคนนึงล่ะที่คิดแบบนี้) ทั้งที่จริงกิจการร้านอาหารยังมีต้นทุนอย่างอื่นอยู่อีกไม่น้อย ทั้งค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าร้าน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าใช้จ่ายในการสร้างแบรนด์ ค่าตกแต่งร้าน ฯลฯ

ยิ่งไปกว่านั้น กิจการร้านอาหารยังมีต้นทุนแอบแฝงอยู่อีก เช่น วัตถุดิบที่เหลือทิ้งหรือเสื่อมสภาพ ค่าข้าวของเสียหาย ค่าซ่อมแซมอุปกรณ์ เป็นต้น ส่วนการทำกำไรก็จะมีบางวันหรือบางช่วงเวลาที่ขายดี อย่างบางวันฝนตกก็อาจขายได้น้อย การประเมินกำไรต้องมองให้รอบด้านและคิดภาพรวมให้ครบถ้วน ซึ่งทั้งหมดนี้ย่อมต้องอยู่ในใจของเจ้าของร้านทั้งสิ้น

นักลงทุนอยู่ในฐานะผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของบริษัท จึงจำเป็นต้องฝึกฝนตัวเองให้รู้จักมองกิจการจากในมุมของเจ้าของ และในการที่จะทำเช่นนั้นได้พวกเขาก็ต้องมีความรู้ทางธุรกิจ แต่ที่ว่าอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องมีความรู้ฟิ๊ตเปรี๊ยะในระดับที่จะไปเปิดร้านอาหารได้เสียก่อนถึงจะตั้งต้นซื้อหุ้นกลุ่มนี้ได้ เราอาจค่อยๆ เรียนรู้ไปและสะสมหุ้นไปก็ได้ แต่คนที่ทำการบ้านมาก่อนก็จะมีความได้เปรียบและมีความปลอดภัยมากกว่าคนที่ลงทุนไปเรียนรู้ไป

การรู้ "ตื้นลึกหนาบาง" ในตัวกิจการเป็นทีเด็ดของนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ VI และเป็นเสมือนเกราะคุ้มครองที่ทำให้เราอยู่รอดปลอดภัยในตลาดหุ้นได้ โดยเฉพาะเมื่อคนทั่วไปมีความรู้แค่ "ผิวๆ" ซึ่งได้จากการอ่านบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ หรือบางคนก็ไม่อ่านอะไรเลยเสียด้วยซ้ำ

ในการลงทุนในตลาดหุ้นให้ได้ผลตอบแทนดีๆ คุณไม่จำเป็นต้องเก่งกาจผิดมนุษย์มนาแต่อย่างใด คณิตศาสตร์ที่จำเป็นก็อาจจะแค่เลขมัธยมต้น ความรู้บัญชีก็เอาแค่พื้นฐานก็พอ...

สิ่งสำคัญจริงๆ ก็คือ ขอให้รู้จัก "ลงทุนลงแรง" ใส่ความพยายามเข้าไปในจุดที่เหมาะสม และเรียนรู้ธุรกิจด้วยมุมมองเจ้าของกิจการ


มุมมองเรื่องความยากง่าย


อีกประเด็นหนึ่งที่ผมเห็นจากสุดยอดพ่อครัวเพื่อนผมคือ บางทีคนเราก็มองข้ามอะไรที่มัน "ง่ายๆ แต่ได้ผล" อาหารอร่อยไม่จำเป็นต้องทำยากหรือซับซ้อน และที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ "คุณจะสั่งของที่ไม่อยากกินเพียงเพื่อให้คุ้มค่าเท่านั้นน่ะหรือ?" ผมเคยเห็นคนไทยที่อยู่เมืองนอกเดินเข้าร้านอาหารไทยแล้วสั่งเมนูสุดแสนจะเบสิก เช่น ไข่เจียว หรือไก่ย่าง นั่งกินด้วยความปลาบปลื้ม

ในทำนองเดียวกัน นักลงทุนหลายคนที่ผมรู้จักก็เน้นลงทุนในกิจการง่ายๆ ตัวผลิตภัณฑ์ก็ง่าย ขายแบบเดิมไปทุกปี โครงสร้างบริษัทก็ง่าย ไม่มีการควบรวมหรือถือหุ้นไขว้ไปมาให้ปวดหัว โครงสร้างหนี้สินก็ง่าย ไม่ใช่กู้หนี้ก้อนนู้นโปะก้อนนี้ แถมมีหนี้ไม่รู้กี่สกุลเงิน ... พวกเขาไม่ยอมลงทุนในกิจการ "ชั้นเลิศ" ที่โบรกเกอร์หรือใครๆ เชียร์ พวกเขาจะสั่งเฉพาะอาหารที่พวกเขาอยากกินเท่านั้น! คนอื่นจะคิดเห็นอย่างไรก็ช่างเขา

นอกจากนี้ บริษัทชั้นเลิศของเขาไม่จำเป็นต้องใหญ่โตระดับ SET50 หรือ SET100 ก็ได้ ความจริงดีเสียอีก เวลาเงินทุนต่างชาติไหลเข้าไหลออกจะได้ไม่กระทบกับบริษัทมากนัก การที่บริษัทมีขนาดเล็กทำให้กองทุนจำนวนมากไม่สนใจ ข้อดีก็คือ ไม่ต้องมีคนมาแย่งซื้อหุ้น

บางคนบอกว่าซื้อหุ้นตัวใหญ่ถึงจะดี เพราะจะได้มีกองทุนมาคอยพยุงราคาไม่ให้ผันผวนมาก แต่มันก็ไม่แน่เหมือนกันนะครับ เพราะมีหุ้นบางตัวที่ผลการดำเนินงานแย่ลง กองทุนเลยพร้อมใจกัน "ทิ้ง" แบบไม่สนกำไรขาดทุน เล่นเอารายย่อยร้องจ๊ากกันเป็นแถว ป่านนี้ยังติดดอยกันสลอนก็มีให้เห็นเยอะแยะ

สรุปก็คือ ขนาดของกิจการเป็นเรื่องรอง แม้โดยส่วนตัวผมชอบกิจการที่ไม่ใหญ่โตมากนัก แต่ที่สำคัญคือ กิจการต้องไม่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นตัวสินค้าหรือตัวบริษัทก็ตาม


หมวกของคุณ?...


หากคุณตกลงใจซื้อกิจการร้านอาหารเพียงเพราะคิดแบบพ่อครัว บางทีมันอาจลงท้ายด้วยการเจ๊ง เพราะนับแต่วันแรกที่ก้าวเข้าสู่บทบาท "เจ้าของกิจการ" คุณจะคิดเหมือนตัวเองเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ในห้องครัวไม่ได้อีกต่อไป แต่ต้องคิดในฐานะเจ้าของร้านที่เห็นภาพรวมทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในร้านของคุณ และนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราเห็นธุรกิจร้านกาแฟจำนวนมากเกิดขึ้นด้วยใจรัก แต่แล้วก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะเจ้าของร้านใส่หมวกผิดใบ ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง

สิ่งเดียวกันนี้เกิดขึ้นเมื่อคุณซื้อหุ้น ... จริงอยู่ คุณอาจยังมีรายได้หลักมาจากงานประจำ แต่เมื่อใดก็ตามที่คุณโผล่หัวเข้าไปในตลาดหุ้น บทบาทของคุณก็คือ "เจ้าของบริษัท" ไม่ใช่พนักงานตัวเล็กๆ ที่รอฟังคำสั่งจากเจ้านาย และไม่ว่าสัดส่วนการถือหุ้นจะเล็กกระจ้อยร่อยแค่ไหนก็ตาม คุณก็ควรทำมันให้ดีที่สุด

อย่าประมาทคิดว่าเงินน้อยแล้วไม่ต้องใส่ใจนะครับ คนที่รวยในวันนี้ ก็คือคนที่ดูแลเงินของเขามาตั้งแต่ต้น และเงินมันก็ฉลาดครับ ใครดูแลมัน มันก็วิ่งไปหาคนนั้น ส่วนใครชอบส่งมันไปทำงานโง่ๆ มันก็วิ่งหนี เป็นสัจธรรมในโลกการเงิน

วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2556

VI ระดับบริษัท


ในฐานะของนักลงทุนรายย่อย ผมคิดว่าหลายท่านที่เป็น Value Investor หรือ VI คงทราบกันดีอยู่แล้วว่า เราต้องซื้อหุ้นที่มี "ราคา" ต่ำกว่า "มูลค่า" กล่าวได้ว่าสิ่งนี้เป็นหัวใจสำคัญของการเป็นวีไอ

สิ่งอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ถือเป็นเรื่องเสริม ไม่ว่าจะเป็นเงินปันผล การถือยาว การเติบโต ฯลฯ ถ้าเราลงทุนโดยเน้นสิ่งเหล่านี้ แต่ไม่ได้สนใจประเมินมูลค่าหุ้นหรือประเมินไม่เป็น แบบนั้นก็ไม่ใช่วีไอ และนี่ก็เป็นสาเหตุที่เราเรียกการลงทุนแบบนี้ว่า Value Investment ...

ไม่ใช่ Dividend Investment, Long-term Investment หรือ Growth Investment!

บางคนคิดว่า Value Investment (ย่อว่า VI เหมือนกัน) เป็นเรื่องของนักลงทุนที่จะซื้อขายหุ้น แต่ที่จริงแนวคิดนี้สามารถเอาไปใช้ในระดับบริษัทได้ด้วย ... และถ้ามันอยู่ใน "สายเลือด" ของบริษัทไหน นักลงทุนวีไอเองก็ไม่ควรพลาดศึกษาบริษัทนั้นด้วยเช่นกัน


บริษัทก็เป็น VI ได้


หลายท่านเห็นภาพชัดเจนแล้วว่า นักลงทุนบุคคลสามารถทำตัวเป็นวีไอได้โดยการประเมินมูลค่าหุ้น และใช้ประโยชน์จากการที่ราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง พวกเขาอาจสงสัยว่า อ้าว! แล้วบริษัทจะประเมินมูลค่าหุ้นไปทำไมล่ะ? ผมจะอธิบายอย่างนี้ครับ

ในการดำเนินธุรกิจ บริษัทจะต้องตัดสินใจในกิจกรรมต่างๆ เช่น การวิจัยตลาด การผลิต การหาลูกค้า หรือแม้แต่การขยายกิจการก็ตาม กิจกรรมพวกนี้ล้วนเป็นสิ่งที่มี "มูลค่า" ในตัวเอง เพราะฉะนั้นโดยทั่วไปแล้วบริษัทก็จะไม่ได้ประเมินมูลค่าหุ้น หากแต่ประเมินมูลค่าของกิจกรรมเหล่านี้แทน

โดยปกติถ้าเป็นโครงการใหญ่ที่ต้องมีการตัดสินใจ เช่น การเปิดสายการผลิตใหม่ หรือการโหมจัดแคมเปญส่งเสริมการขาย บริษัทก็มักจะมีการประเมินความคุ้มค่าของโครงการกันก่อนอยู่แล้ว แต่บางกิจกรรมที่ผู้บริหารมองว่า "ทำแน่" อย่างนี้ก็อาจทำเลย โดยไม่ต้องสั่งลูกน้องให้ไปประเมินความคุ้มค่าของโครงการมาอีก

ในจุดนี้ผู้บริหารที่มีหัวใจเป็น VI จะมีความได้เปรียบ เพราะพวกเขาสามารถประมาณได้ด้วยประสบการณ์ว่ากิจกรรมใดมีคุณค่าหรือมูลค่าสูง เมื่อเทียบกับ resource ที่ต้องใช้ ซึ่ง resource นี้ก็ไม่ได้คิดแต่ที่เป็นตัวเงิน แต่ว่าคิดไปถึงเวลา ความเหนื่อยยากของทีมงาน และการเสียโอกาสที่จะไปสร้างสรรค์งานอย่างอื่นด้วย

แม้ในส่วนที่ต้องพิจารณาความคุ้มค่าของโครงการ พวกเขาก็ยังคงใช้แนวคิดของวีไอ โดยใช้การประเมินอย่างระมัดระวังและใช้ "มูลค่าขั้นต่ำ" ที่จะได้รับจากโครงการ หากถึงกระนั้นแล้วมูลค่าก็ยังคงสูงคุ้มค่าน่าพอใจ พวกเขาจึงค่อยลงมือทำ

สิ่งนี้เหมือนกับที่นักลงทุนวีไอคำนวณมูลค่าหุ้นแบบอนุรักษ์นิยม แล้วก็นั่งรอจนกว่าราคาหุ้นจะต่ำกว่ามูลค่าไปมากๆ ถึงจะเข้าซื้อ อย่างที่เราเรียกกันว่ามี "Margin of Safety" ในระดับที่น่าพอใจนั่นเอง และในเมื่อพวกเขาซื้อในจุดที่ downside แทบไม่มีแล้ว ผลตอบแทนของพวกเขาจึงสูงได้ ทั้งๆ ที่ความเสี่ยงต่ำ


รอคอยโอกาสดี


ทั้งนี้ผมไม่ได้หมายความว่า บริษัทควรนั่งจับเจ่าและรอคอยจนกว่าจะมีโครงการที่ดีสุดยอดผ่านเข้ามา เพราะความเข้มงวดของบริษัทที่เป็นวีไอย่อมปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ หากเป็นการดำเนินงานปกติ ก็อาจมองหา Margin of Safety ที่ไม่ต้องมากนัก แต่ถ้าเป็นโครงการยักษ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง แบบนี้ก็ควรมองหา Margin of Safety ที่มากหน่อย

นอกจากการดำเนินงานของบริษัทแล้ว ในบางกรณีบริษัทก็อาจทำตัวเป็น "นักลงทุน" ได้ด้วยเหมือนกัน อย่างเช่น การลงทุนในทรัพย์สิน หรือการเข้าซื้อกิจการ เป็นต้น

โดยปกติเรามักเห็นบริษัทออกมา "ช้อปปิ้ง" ในขณะที่กิจการกำลังเฟื่องฟู (คล้ายๆ กับที่ผู้คนชอบออกมาจับจ่ายใช้สอยเงินในช่วงที่รายได้ดีหรือเพิ่งได้โบนัส) ซึ่งก็มักเป็นช่วงที่เศรษฐกิจดีและกิจการอื่นๆ ก็เฟื่องฟูอยู่ด้วยเหมือนกัน การออกมาซื้อกิจการในช่วงเวลานี้จึงมักเป็นการซื้อ "ของดีราคาแพง" ซึ่งไม่ใช่แนวคิดของวีไอเลย

ในทางตรงข้าม บริษัทที่มีความเป็นวีไอจะเก็บเงินเอาไว้ก่อนในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจดี โดยอาจเก็บเป็นเงินสด เงินลงทุนระยะสั้น หรือไม่เช่นนั้นก็เอาไปลดหนี้ การกระทำเช่นนี้เป็นการเตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับโอกาสที่จะผ่านเข้ามา และเมื่อโอกาสนั้นผ่านเข้ามาจริงๆ พวกเขาก็จะมีเงินสดเอาไว้ช้อปปิ้ง "ของดีราคาถูก" หรืออย่างน้อยก็มีวงเงินกู้เอาไว้ใช้ในสถานการณ์ดังกล่าวได้


บมจ. เฮ้าส์ เอ็นเนอร์จี


ขอยกกรณีสมมติ บมจ. เฮ้าส์ เอ็นเนอร์จี ซึ่งเป็นเจ้าของเหมืองถ่านหินหลายแห่งในประเทศอินโดนีเซีย ในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี ในช่วงที่ราคาถ่านหินเพิ่งจะบูมไปกับราคาน้ำมันด้วย (ก่อนที่จะตกสวรรค์ลงมาเหมือนกัน) เฮ้าส์ เพิ่งซื้อกิจการถ่านหินรายใหญ่รายหนึ่งในประเทศออสเตรเลียและก่อหนี้ก้อนใหญ่ขึ้นมา ซึ่งถ้าจะว่ากันตามจริงนี่ก็เป็นการลงทุนที่ไม่ขี้เหร่เท่าไหร่นัก และในเวลานั้นเฮ้าส์ก็เป็นบริษัทที่มีหนี้สินน้อยมาก

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาราคาถ่านหินก็ตกต่ำ ทั้งจากปัญหาเศรษฐกิจโลกและในส่วนของธุรกิจพลังงานเองที่มีการนำ "เชลล์แก๊ส" มาใช้ จนใครๆ ก็บอกว่าถ่านหินจบเห่แล้ว และแม้ว่าเฮ้าส์จะสามารถผลิตถ่านหินได้มากขึ้น แต่ก็เป็นการเพิ่มขึ้นในด้านปริมาณเท่านั้น เพราะเมื่อขายได้ราคาต่ำ รายได้ก็หดหาย กำไรก็ลดลง สิ่งนี้เกิดขึ้นกับผู้ผลิตถ่านหินทุกราย ไม่ใช่แค่เฮ้าส์เท่านั้น นอกจากนี้บางเหมืองที่มีต้นทุนสูงก็จำใจต้องปิดตัวลง

ในเวลานี้หากผู้บริหารของเฮ้าส์มีแนวคิดแบบวีไอมาก่อนหน้า พวกเขาอาจมีเงินสดและวงเงินกู้ยืมจำนวนมาก เพื่อเอามา "ช้อปปิ้ง" เหมืองถ่านหินที่มีคุณภาพดี มี facility พร้อม และมีต้นทุนต่ำ ภายใต้สมมติฐานว่าถ่านหินจะยังเป็นพลังงานจำเป็นของโลกใบนี้ต่อไป ซึ่งก็มีโอกาสที่จะเป็นเช่นนั้น

ผมเคยคุยกับเพื่อนที่เป็นวิศวกรในแวดวงนี้ และเห็นตรงกันว่า ถ่านหินส่วนมากขุดขึ้นมาแล้วก็ถูกส่งไปที่โรงไฟฟ้า และการจะเปลี่ยน (convert) ประเภทโรงไฟฟ้า เช่น จากโรงไฟฟ้าถ่านหินไปเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้แก๊สหรือน้ำมันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งต้นทุนก็คงสูงจนไม่คุ้มที่จะทำ สรุปก็คือ โรงไฟฟ้าโรงไหนที่ใช้ถ่านหินก็คงจะต้องใช้ต่อไป

นั่นหมายความว่า demand ของถ่านหินในอนาคตอย่างน้อยๆ ก็ไม่น่าจะลดลง ส่วน supply ส่วนเกินก็น่าจะค่อยๆ ถูกดูดซับไป (อย่าลืมว่าบางเหมืองที่สู้ต้นทุนไม่ได้ก็ปิดดำเนินการไปบ้างแล้ว) เมื่อทั้งสองฝั่งเกิดสมดุลมากขึ้น ราคาถ่านหินก็น่าจะมีเสถียรภาพได้

ดังนั้น หากเฮ้าส์สามารถออกไปช้อปปิ้งกิจการดีๆ ในช่วงเวลานี้ บางทีนี่จะเป็นการ "ตีแตก" ในระดับบริษัท เหมือนอย่างที่ ดร.นิเวศน์ เคยทำได้มาแล้วในระดับบุคคลก็เป็นได้ ... แต่ก็น่าเสียดายที่มันไม่ได้เกิดขึ้น


การซื้อหุ้นคืนของเฮ้าส์


อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งดีๆ ที่ บมจ. เฮ้าส์ เอ็นเนอร์จี ลงมือทำ นั่นคือ "การซื้อหุ้นคืน" ซึ่งเป็นแอ็คชั่นที่เรียกได้ว่า วีไอ๊... วีไอ

การซื้อหุ้นคืนเป็นการที่บริษัทออกมาซื้อหุ้นของตัวเองเสมือนว่าเป็นผู้เล่นรายหนึ่งในตลาดหุ้น ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ราคาหุ้นตกต่ำลงมากจนถือได้ว่า "ต่ำเกินไป" ในสายตาของผู้บริหาร และดูไปแล้วก็น่าจะมี Margin of Safety ที่มากพอสมควร ดังนั้นแทนที่จะไปลงทุนอย่างอื่นให้ได้ผลตอบแทนดีๆ ก็ลงทุนในหุ้นของบริษัทตัวเองที่รู้จักตื้นลึกหนาบางเป็นอย่างดีก็แล้วกัน... ผลก็คือ

1) demand ของหุ้นในตลาดสูงขึ้นและส่งผลดีต่อราคา โดยราคาหุ้นอาจจะดีขึ้น หรือถ้าตกก็คงตกเบาลง ขณะเดียวกันหุ้นที่ถูกบริษัทซื้อไปก็จะถูกดูดซับออกจากตลาด นั่นหมายความว่า supply ของหุ้นจะลดลงด้วยในอนาคต

2) หุ้นที่ถูกซื้อคืน เรียกว่า treasury stocks เป็นส่วนที่ไม่มีสิทธิ์รับเงินปันผล กล่าวได้ว่า "คนแย่งเค้ก" ของเรามีน้อยลง และในทำนองเดียวกัน เมื่อจำนวนหุ้นลดลง ตัวหารก็ลดลง กำไรต่อหุ้นหรือ EPS ก็เพิ่มขึ้น

3) เป็นการจัดโชว์สองอย่างพร้อมๆ กัน อย่างแรกเป็นการ "โชว์ป๋า" เพื่อบอกว่าตัวเองมีเงินสดมาก และอย่างที่สองเป็นการ "โชว์เก๋า" ส่งสัญญาณบอกนักลงทุนว่าราคาหุ้นในตลาดต่ำเกินจริง ทำนองว่า นี่ไง ฉันเองยังควักเงินซื้อเลย!

การซื้อหุ้นคืนจึงเป็นทั้งการช่วยพยุงราคาหุ้น, เพิ่มคุณค่าหุ้น และจัด โชว์ป๋า+โชว์เก๋า ไปพร้อมๆ กัน ที่สำคัญเป็นการซื้อของดีราคาถูกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ จะชื่นชอบบริษัทที่มีการซื้อหุ้นคืนอย่างมาก

ว่ากันตามจริงแล้ว การซื้อหุ้นคืนดีกว่าการจ่ายเงินปันผลเสียด้วยซ้ำ เพราะการจ่ายเงินปันผล เราได้รับเงินแค่ครั้งเดียว (แถมยังเสียภาษีด้วย) แต่การลดตัวหารได้อย่างถาวรจะส่งผลดีตลอดไป แถมการลงมือในจังหวะที่หุ้นมีราคาถูก ทำให้บริษัทไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายแพงมาก ทั้งยังลดภาระเงินปันผลจ่ายในอนาคตลงได้บางส่วนอีกด้วย


การซื้อหุ้นคืนด้วยเหตุผลที่เหมาะสม ณ ราคาที่เหมาะสม เป็นการกระทำของผู้บริหารที่มีจิตวิญญาณของวีไอ แต่เราก็ต้องสังเกตดีๆ ด้วยว่า มันเกิดจากการใคร่ครวญอย่างรอบคอบ หรือเป็นแค่การสร้างข่าวเพื่อพยุงราคาหุ้น ซึ่งการจะตอบได้นั้น เราต้องศึกษารายละเอียดของการซื้อให้ดี


ลงทุนแบบ VI กับบริษัทที่เป็น VI


บริษัทที่มีความเป็นวีไออย่างชัดเจนที่สุดก็คือ เบิร์กไชร์ ฮาทาเวย์ ของ วอร์เรน บัฟเฟตต์

เบิร์กไชร์เป็นบริษัทที่เข้าถือหุ้นบริษัทอื่นๆ ในขณะที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง แต่เนื่องจากเบิร์กไชร์เองก็จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นนิวยอร์ก (NYSE) เพราะฉะนั้นตัวของมันเองก็มีโอกาสซื้อขายกันต่ำกว่ามูลค่าได้ด้วยเหมือนกัน และหากว่าคุณสามารถคว้าโอกาสนั้นไว้ได้ ผลตอบแทนของคุณก็จะเจ๋งยิ่งกว่าวอร์เรน บัฟเฟตต์ เสียอีก (อย่างน้อยก็ในช่วงเวลานั้นๆ)

ลองคิดดูว่าจะมีอะไรดีไปกว่าการลงทุนแบบวีไอในบริษัทที่เป็นวีไอเสียอีกล่ะ!?

สำหรับพวกเราที่อยู่ในตลาดหุ้นไทยคงไม่ต้องคิดไปไกลถึงเบิร์กไชร์หรอก เยี่ยมๆ มองๆ หากิจการชั้นดีที่คิดและทำแบบวีไอ จากนั้นก็รอซื้อเมื่อมี Margin of Safety ที่น่าพอใจ...

แค่นี้ก็หรูแล้วครับ!

วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556

จุดจบของฟองสบู่หุ้นค้าปลีก


ในตลาดหุ้นบ้านเราเชื่อว่าหุ้นในกลุ่มค้าปลีกคงเป็น "หุ้นในดวงใจ" ของใครๆ หลายคน ผมจึงคิดแล้วคิดอีกว่าควรเขียนเรื่องนี้ดีหรือไม่ เพราะใจหนึ่งก็อยากเตือนด้วยความปรารถนาดี แต่อีกใจหนึ่งก็กลัวจะโดนรุมสกรัมจากคนที่หลงรักหุ้นกลุ่มนี้สุดหัวใจ

เอาอย่างนี้แล้วกันครับ ถ้าใครตัดสินใจเด็ดขาดแล้วว่าจะ "ร่วมเป็นร่วมตาย" ไปกับหุ้นกลุ่มนี้ จะอยู่ด้วยกันทั้งในยามทุกข์และยามสุข และไม่ห่วงเรื่องกำไรขาดทุน ก็ข้ามบทความนี้ไปได้เลย ... แต่ถ้าใครพร้อมเปิดตาดูภาพมุมกว้างมุมลึก ดูมุมมองที่อาจเหมือนหรือต่างกับเรา จากนั้นก็คิดไตร่ตรองด้วยตัวเองอีกที อย่างนี้บทความก็อาจช่วยคุณได้มากครับ


ความสำเร็จของธุรกิจค้าปลีก


ดูเหมือนว่าในระยะหลังบริษัทที่ทำกิจการเกี่ยวกับค้าปลีกจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว การเติบโตทั้งในแง่ของยอดขายและผลกำไรเป็นไปอย่างก้าวกระโดด พร้อมไปกับราคาหุ้นที่พุ่งทะยานอย่างกับติดจรวด เกินหน้าเกินตาหุ้นกลุ่มอื่นๆ จนคนเขาบอกกันว่า "กัดฟันซื้อไปเถอะ" เดี๋ยวก็กำไร

เคยสงสัยกันบ้างหรือไม่ครับว่า ทำไมค้าปลีกจึงเพิ่งมาบูมเอาป่านนี้? ทำไมไม่เป็นเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว? ทำไมต้องเป็นค้าปลีก? ทำไม...

หากเรานึกย้อนดู (นึกออก! แสดงว่าเกิดทัน) รูปแบบของร้านค้าปลีกในสมัยก่อนจะเป็นแบบ "ต่างคนต่างทำ" คือ ใครมีตึกแถวคิดจะเปิดร้านโชห่วยก็เปิด หาของมาขาย มียี่ปั๊วซาปั๊วเอาของมาส่ง ลูกค้าก็อยู่ในละแวกนั้นเอง บางทีลูกค้าก็เป็นเด็กๆ มาซื้อลูกอม 3 เม็ด 1 บาท ใส่อยู่ในกระป๋องโลหะ หรือไม่ก็ซื้อขนมขบเคี้ยว ผู้ใหญ่ก็มาซื้อสบู่ แชมพู เรื่อยไปจนถึงน้ำปลา ซีอิ๊ว แป้งมัน ฯลฯ





ต่อมารูปแบบร้านค้าปลีกก็มีการพัฒนาขึ้นโดยมีตัวอย่างมาจากต่างประเทศ และเมื่อร้านค้าปลีกมีการ "เปิดสาขา" ก็ทำให้เราได้เห็นร้านเล็กๆ อย่างร้านสะดวกซื้อที่เป็นรูปแบบแฟรนไชส์ทันสมัย หรือร้านใหญ่ๆ อย่างห้างสรรพสินค้า ห้างไฮเปอร์มาร์ท ซึ่งต่างก็สะอาดสะอ้าน มีมาตรฐาน มีระบบการขนส่งสินค้า (logistics) ที่คล่องตัว เรียกได้ว่าน่าประทับใจตั้งแต่หน้าบ้านไปจนถึงหลังบ้าน

การเปิดสาขาทำให้ผู้ประกอบการสามารถ "ก๊อปปี้" ความสำเร็จไปใช้กับร้านใหม่ได้ในทันที ระบบหลังบ้านก็ใช้ร่วมกัน ยิ่งเปิดสาขาก็ยิ่งมีการประหยัดที่เกิดจากขนาด (economy of scale) มากขึ้น ในส่วนของหน้าบ้าน ลูกค้ายินดีจ่ายเงินให้กับความสะดวกสบายและความมั่นใจ ในส่วนของหลังบ้าน บริษัทก็สามารถต่อรองกับคู่ค้าหรือซับพลายเออร์ได้มากขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับในสมัยก่อนที่ซับพลายเออร์จะมีอำนาจมากกว่าร้านค้า


โอกาสทางการเงินและวิถีชีวิต


ความสำเร็จของธุรกิจค้าปลีกในปัจจุบันส่วนหนึ่งเกิดจากรูปแบบการเงินและการใช้ชีวิตของผู้บริโภคด้วย

ในแง่ของการเงิน เราแทบปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคนเมืองรุ่นหลังมีการศึกษาสูงขึ้น และส่วนมากเรียนจบออกมาก็ใช้ชีวิตเป็นพนักงานประจำ การศึกษาที่สูงขึ้นทำให้พวกเขามีรายได้ค่อนข้างดีและเป็นที่หมายปองของสถาบันการเงินต่างๆ ในการที่จะปล่อยสินเชื่อ กล่าวได้ว่าพวกเขามีความสามารถในการจับจ่าย ทั้งในส่วนของเงินตัวเองและเงินที่มาจากเครดิต

ในแง่ของการใช้ชีวิต เมื่อคนเหล่านี้ออกมาใช้ชีวิตเป็นชนชั้นกลาง พวกเขาต้องทำงานหนักให้คุ้มกับเงินเดือนที่ได้รับ บางคนกว่าจะได้กลับบ้านก็ค่ำแล้ว วิถีชีวิตเช่นนี้ทำให้พวกเขาไม่ค่อยทำกับข้าวกินเองที่บ้าน และหันไปหา "อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง" หรือ "ร้านอาหารนอกบ้าน" ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็เข้าทางกิจการค้าปลีกทั้งนั้น ... ลำพังเหน็ดเหนื่อยต่อสู้กับงานและการจราจรก็แย่แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่พวกเขาจะขอสบายๆ กับอาหารการกินบ้าง

สิ่งหนึ่งที่มีผลต่อการใช้ชีวิตของเราในทุกวันนี้ ได้แก่ ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งไปเสริมรูปแบบการเงินและการใช้ชีวิตของเราได้อย่างไม่รู้ตัว

เป็นต้นว่าราคารถยนต์ที่ถูกลงทำให้คนมีรถขับกันมากขึ้น (ลองเทียบรถยนต์รุ่นล่างๆ กับค่าครองชีพ ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันดูสิ) การเดินทางไปเที่ยวห้างไกลๆ สามารถทำได้ง่ายกว่าแต่ก่อน หรือแม้แต่คนที่ไม่ขับรถก็ยังสามารถโดยสารรถไฟฟ้าและรถไฟฟ้าใต้ดินไปเที่ยวห้างได้สบาย

นอกจากนี้การที่เรามีสมาร์ทโฟนเอาไว้ท่องอินเทอร์เน็ต เกาะติดโซเชียลเน็ตเวิร์ก ก็ทำให้เราสนอกสนใจมากขึ้นว่าร้านอาหารหรือเสื้อผ้าร้านไหนกำลังเป็นที่นิยม เพื่อนๆ ของเราไปเที่ยวไหนกันมาบ้าง ซึ่งแน่นอนว่า "การบริโภค" ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ด้วยเหตุนี้สังคมของเราจึงเข้าสู่ยุคแห่งการบริโภค และถ้ามีเงินไม่พอ ธนาคารทั้งหลายก็แทบจะ "ยัดเงิน" (และหนี้) ใส่มือคุณเลยแหละ ที่จริงนี่ก็เป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่เป็นทางด้านการเงิน เช่น การใช้บัตรพลาสติกแทนเงินสด ซึ่งก็ทำให้การจับจ่ายยิ่งง่ายเข้าไปอีก ... พอจะนึกออกมั๊ยว่าเงินที่บริโภคกันแหลกลาญเหล่านี้จะไหลไปที่ไหน

อ้อ! ก็ธุรกิจค้าปลีกสิครับ


ค้าปลีกไม่อาจเลิศหรูตลอดไป


ทุกสิ่งล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ความรุ่งเรืองของธุรกิจค้าปลีกก็เช่นเดียวกัน ผมไม่อาจรับรองได้ว่าธุรกิจค้าปลีกจะ "เลิกดี" เมื่อไหร่ แต่ที่แน่ๆ ถ้าสรรพสิ่งในโลกใบนี้เป็นอนิจจัง (เป็นสิ่งไม่เที่ยง ย่อมมีวันแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา) เราก็จะได้เห็นวันที่ความเฟื่องฟูนี้จบลง

ทีนี้มันก็ขึ้นอยู่กับว่าจะจบแบบเบาๆ คือ อัตราการเติบโตค่อยๆ ลดลงทีละน้อยจนเหลือปีละ 3-4% พอๆ กับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมในระยะยาว (long term GDP growth) หรือว่าจะจบแบบแรงๆ คือ ทรุดลงมาแบบตกสวรรค์? อันนี้ผมก็ไม่แน่ใจนะครับ แต่ถ้าถามว่าทำไมถึงต้องมี "จุดจบ" ทำไมไม่เติบโตตลอดไป อย่างนี้ผมมีคำตอบให้

อย่างแรก คือ เรื่องของทำเล ผมขอให้ทุกคนลองหลับตาจินตนาการดูก่อน สมมติตัวเองว่าเป็น CEO หรือผู้จัดการใหญ่ของกิจการค้าปลีกซักราย ในช่วงแรกๆ ที่เราจะเปิดสาขาใหม่ เราจะเลือกทำเลตรงไหนครับ

แน่นอน เราคงจะเลือก "ทำเลที่ดีที่สุด" เป็นการเปิดเอาฤกษ์เอาชัย เลือกทำเลที่แน่ใจว่ามีกำลังซื้อสุดยอด คู่แข่งน้อย ฯลฯ ต่อเมื่อเปิดแล้วรอด ยอดขายดี เราถึงค่อยขยับไปเปิดสาขาอื่นในทำเลที่ดีรองๆ ลงไป ถูกไหมครับ นั่นแปลว่าทำเลที่ดีจะถูกใช้ก่อน และสาขาที่เปิดหลังก็จะได้ทำเลแย่ลงเรื่อยๆ ผมจึงมองว่าการเปิดสาขาเพิ่มแม้จะช่วยในเรื่อง economy of scale แต่มันก็ถูกหักลบด้วยทำเลที่แย่ลง ซึ่งถ้าบริษัทใดหลับหูหลับตาเปิดสาขามากๆ ในตอนท้ายพวกเขาก็จะต้องมานั่งปิดสาขาที่ไม่ทำกำไร

อย่างที่สอง ลองหันมาดูเรื่องของ economy of scale จริงอยู่ว่าการมีสาขามากขึ้นส่งผลให้มีการประหยัดอันเนื่องมาจากขนาด สาขาที่มากขึ้นอาจช่วยในการแชร์ต้นทุน เช่น เรามีต้นทุนคงที่เดือนละ 300,000 บาท ถ้าเปิด 3 สาขา ก็คิดเป็นต้นทุนเฉลี่ยสาขาละ 1 แสนบาท แต่ถ้าเปิด 30 สาขา ต้นทุนเฉลี่ยจะเหลือเพียง 1 หมื่นบาท

สิ่งที่ผมอยากชี้ให้เห็น คือ แม้เราจะเดินหน้าเปิดเพิ่มเป็น 60 สาขา ต้นทุนเฉลี่ยอาจลดลงเหลือ 5 พันบาทได้จริง แต่การลดจาก 10,000 บาทเหลือ 5,000 บาท ก็คงช่วยอะไรไม่ได้มาก ไม่เหมือนกับตอนเปิดสาขาแรกๆ พูดอีกอย่างก็คือ economy of scale สามารถทำงานได้ถึงระดับหนึ่ง แต่พอหลังจากนั้นแล้ว มันก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก ซึ่งเรื่องนี้ก็รวมไปถึงพลังในการต่อรองกับซับพลายเออร์ด้วยเช่นกัน

ธุรกิจค้าปลีกที่ทำหน้าที่เป็น "หน้าร้าน" สามารถต่อรองกับซับพลายเออร์ได้มากขึ้น หากว่ามีจำนวนยอดสั่งซื้อสินค้ามากๆ อย่างไรก็ตาม ซับพลายเออร์สามารถอดทนจนหน้าเขียวหน้าเหลืองได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น เมื่อส่วนต่างกำไรของเขาถูกกัดกินไปจนไม่เหลือหลอ เขาก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้นถ้าใครคิดว่าจะ "ผูกขาด" และโขกสับซับพลายเออร์ได้โดยไม่มีขีดจำกัดแล้วล่ะก็ ขอให้คิดเสียใหม่

อย่างที่สาม ได้แก่ ฐานกำไรที่โตขึ้น การมียอดขายและกำไรมากๆ เป็นสิ่งที่ดี ขณะเดียวกันมันก็เป็นความท้าทายด้วย หากปีที่แล้วบริษัทมีกำไร 8,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ล้านบาทในปีนี้ กำไรที่เพิ่มขึ้น 2 พันล้าน (เทียบกับกำไรเดิม 8 พันล้าน) จะคิดเป็นการเติบโต 25%

ในปีต่อไปหากบริษัทสามารถทำกำไรเพิ่มได้อีก 2 พันล้านบาท กำไรของพวกเขาจะเป็น 12,000 ล้านบาท และคิดเป็นการเติบโต 20% ซึ่งลดลงจากเดิม เหตุเพราะว่าฐานกำไรของบริษัทใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง มาถึงตรงนี้หลายคนอาจถามว่า ในเมื่อบริษัทมีขนาดใหญ่ขึ้นแล้วทำไมจะทำกำไรให้ใหญ่ขึ้นในสัดส่วนเดียวกันไม่ได้ล่ะ ... คำตอบคือ "ข้อจำกัด" ของศักยภาพบริษัทครับ

สมมติบริษัทค้าปลีกแห่งหนึ่งมีศักยภาพ (เงินทุน บุคลากร และเวลา) เพียงพอที่จะเปิดสาขาได้สูงสุดปีละ 100 สาขา และการเปิดสาขาในจำนวนเท่านี้ก็จะสร้างกำไรให้บริษัทเพิ่มขึ้นได้ 2,000 ล้านบาท ในปีต่อๆ ไปบริษัทก็ยังคงเปิดสาขาได้ไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้เท่าใดนัก เพราะแม้บริษัทจะพยายามหาคนและเงินทุนมาเพิ่ม แต่ผู้บริหารที่รับผิดชอบก็จำเป็นต้องเข้าไป monitor หรือตรวจสอบคุณภาพอยู่ดี (ยกเว้นจะยอมลดมาตรฐานลง ซึ่งก็คงไม่ใช่สิ่งที่ดี) แถมยังต้องคอยดูแลสาขาเดิมๆ ที่เพิ่มจำนวนขึ้นทุกปีอีก แค่คิดก็เหนื่อยแทนแล้ว

อย่างที่สี่ เป็นเรื่องของคู่แข่ง โอกาสทางธุรกิจที่ยอดเยี่ยมย่อมดึงดูดใจให้คู่แข่งก้าวเข้ามาขอแบ่งเค้ก ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีสำหรับผู้ที่เข้ามาก่อนแน่ๆ โดยเฉพาะเมื่อคู่แข่งหน้าใหม่หันไปขอใช้ "know-how" จากธุรกิจค้าปลีกยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศ เพราะนั่นแปลว่าพวกเขาจะไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ หรือเปรียบไปก็เหมือนลูกนกที่ออกจากไข่ปุ๊บก็บินได้เลย

ร้านค้าปลีกในลักษณะของร้านสะดวกซื้อนั้น ส่วนใหญ่ลูกค้าไม่ได้รู้สึกผูกพันกับตัวเจ้าของร้านหรือว่าพนักงาน บางทีอาจมีความพอใจในชื่อแบรนด์ของร้านบ้าง แต่ที่ "ตรึงใจ" จริงๆ ก็คือ ทำเลและความสะดวกมากกว่า ซึ่งสองสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่คู่แข่งรายใหม่เสาะหาไม่ได้

แม้ในภาพใหญ่เบอร์สองหรือเบอร์สามยังไม่มีทางไล่ทันเจ้าตลาดในเร็ววัน แต่ถ้ามองเป็นทำเลหรือเป็นร้านๆ ไป เราอาจเห็นการแข่งขันที่คู่คี่สูสีก็เป็นได้ มันมีความแตกต่างอย่างมากระหว่างการเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ "วิ่งสบายๆ" กับ "วิ่งไปเหลียวหลังไป" ต่อให้ยังวิ่งนำเป็นอันดับหนึ่งอยู่เหมือนเดิมก็เถอะ


ฟองสบู่หุ้นค้าปลีก


เห็นได้ว่าบริษัทค้าปลีก โดยเฉพาะ "เจ้าเดิม" ไม่อาจยืนค้ำฟ้า หรืออย่างน้อยก็คงไม่ยืนได้แบบสบายๆ เหมือนที่เคยเป็นมา ฉะนั้นภาพสวยๆ และความคาดหวังที่สูงลิบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันราคาหุ้นค้าปลีกมาตลอดหลายปีนี้ อาจกลายเป็นการเป่าฟองสบู่ให้พองโตพร้อมที่จะแตกก็เป็นได้

ก่อนจะมาว่ากันด้วยเรื่องฟองสบู่ ผมขอแนะนำว่าใครที่ยังไม่ได้อ่านเรื่อง "ปรากฏการณ์ขอบฟ้า" หรือ Horizon Effect ควรสละเวลาอ่านมันสักนิดเสียก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าท่านจะไม่พลาดเรื่องสำคัญไป

http://www.monkeyfreetime.com/2013/05/blog-post_30.html

นักลงทุนในตลาดหุ้นจำนวนไม่น้อยตั้งข้อสังเกตว่า หุ้นค้าปลีกแทบจะทั้งกลุ่มมีการซื้อขายกัน "แพงมาก" เมื่อเทียบดูจากค่า P/E หรือ price-to-earning โดยหุ้นของบริษัทชั้นนำหลายตัวขยับขึ้นไปเทรดกันที่ P/E 40-50 เท่า แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีน้อยคนที่นึกไปถึงสถานการณ์ที่เรียกว่าฟองสบู่

หลายคนคิดว่า P/E 40-50 เท่านี้อาจจะดูแพง จึงพยายามหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองด้วยการใช้ "forward P/E" คือ เอาผลประกอบการในอนาคตมาใช้คำนวณ บางทีฟอร์เวิร์ดไปปีเดียวก็ยังแพงอยู่ เลยฟอร์เวิร์ดไปหลายๆ ปี ทำให้ดูว่าราคาหุ้นไม่แพงเมื่อเทียบกับอนาคตอันสดใส

อันที่จริงแล้วสิ่งนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น "ปรากฏการณ์ขอบฟ้า" อย่างหนึ่งก็ได้เหมือนกัน เรามองไปในอนาคต เช่น 3-6 เดือน แล้วยังคงเห็นการเติบโต จึงคิดไปว่าอนาคตที่ไกลกว่านั้นก็น่าจะยังสวยงามด้วย แถมบางครั้งผู้บริหารก็กล่อมเราเสียอยู่หมัด ชวนเชื่อว่าในอนาคตเราจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การเติบโตภายหลัง AEC จะยิ่งมากกว่านี้หลายเท่า เราจะไปบุกพม่า ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย ฯลฯ...

ถามหน่อยเถอะว่าประเทศเหล่านั้นเขาไม่มีค้าปลีกกันหรือยังไง ที่สำคัญพอเศรษฐกิจเปิดมากขึ้นแล้ว มั่นใจหรือว่าเราจะยังรักษาตลาดภายในประเทศได้อย่างเหนียวแน่น เราบุกเขาได้ เขาก็บุกเราได้นะครับ!

การที่บริษัทปลูกหญ้าให้ดูเขียวๆ จากนั้นก็บอกว่า "หญ้าที่ขอบฟ้าเขียวยิ่งกว่า" จึงเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาพิสูจน์ เพราะสิ่งที่อยู่ไกลกว่าขอบฟ้าย่อมเป็นสิ่งที่เราไม่เห็น วิธีที่จะเห็นมันได้ชัดเจนก็คือ ต้องเดินเข้าไปดูใกล้ๆ และในระหว่างที่ยังไม่แน่ชัดก็ระมัดระวังตัวเอาไว้ก่อน อย่าเพิ่งฝันหวานและยอมจ่ายเงินแพงๆ

เพราะนี่อาจเป็นฟองสบู่หุ้นค้าปลีกก็ได้


ฟองสบู่แตก เมื่อ...


ปัจจัยที่ช่วยเสริมปรากฏการณ์ขอบฟ้าก็คือ การรับรู้ที่มักจะ "ล้าหลัง" (lag) ความเป็นจริง

เมื่อเราเห็นผลประกอบการของบริษัทออกมาดีติดต่อกัน 3-4 ปี เราก็มักคะเนไปว่าปีนี้ก็น่าจะดีอีกเช่นเคย ทั้งที่ยังไม่ทันเช็คแผนงานหรือกิจกรรมที่บริษัทจะทำในปีนี้เสียด้วยซ้ำ การที่เราคิดว่าผลกำไรจะออกมาดีเป็นเพราะเราดูจาก "ตัวเลขเก่า" เพราะฉะนั้นคนที่ดูแต่ตัวเลขเก่าๆ ก็จะล้าหลังความเป็นจริงอยู่เสมอ

ดังที่บอกไปแล้วว่า ขอบฟ้าของคนเราไม่เท่ากัน บางคนมีขอบฟ้าไกล บางคนมีขอบฟ้าใกล้ คนที่มีขอบฟ้าใกล้เป็นพวกที่น่ากลัวมาก เพราะต่อให้อันตรายมาจ่ออยู่ตรงหน้า พวกเขาก็ยังชิลล์ๆ บอกว่า "นื่เป็นเรื่องชั่วคราว" เมื่อใดที่บริษัทเริ่มมีผลประกอบการแย่ลง คนที่ยึดติดกับข้อมูลเก่าก็จะบอกว่านี่เป็นเรื่องชั่วคราว เพราะ mindset ของเขาล้าหลังและยังยึดมั่นอยู่ว่าบริษัทนี้จะต้องเติบโตแน่

และเมื่อการเติบโตอย่างก้าวกระโดดสิ้นสุดลง ฟองสบู่นี้ก็อาจค่อยๆ แฟบลง หรือไม่ก็แตกดังโพละ

น่าจะมีหลายคนเคยเห็นแผนภาพ "วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์" หรือ product life cycle ความจริงเราสามารถประยุกต์มันกับตัวกิจการได้ โดยกิจการหนึ่งๆ อาจมีหลายผลิตภัณฑ์ ซึ่งเราก็เพียงแต่เอาแผนภาพของแต่ละผลิตภัณฑ์มาซ้อนกัน ก็จะเห็นภาพวงจรชีวิตของตัวกิจการได้

ในแง่นี้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทค้าปลีกอาจไม่ใช่ "สินค้า" อย่างสบู่ ยาสีฟัน หรือขนม แต่ว่าเป็น "ตัวร้าน" เช่น ร้านสะดวกซื้อเดิมเน้นขายของเหมือนโชห่วย แต่ว่ามีการจัดร้านสวยงามและทันสมัยกว่า อาจเรียกได้ว่าเป็น "ร้านสะดวกซื้อดั้งเดิม" ต่อมาเริ่มรุกไปในการขายเครื่องดื่มและอาหาร เรียกว่า "ร้านอิ่มสะดวก" อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งเราก็ต้องมาพิจารณาวงจรชีวิตของร้านแต่ละแบบ จากนั้นก็จะได้รู้ว่าตัวบริษัทที่เป็นเจ้าของร้านพวกนี้จะอยู่ในขั้นใดของวงจรชีวิต




เมื่อมองเข้าไปในบริษัทค้าปลีก สิ่งที่ทุกคนรู้เท่ากัน คือ ที่ผ่านมาบริษัทมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่นั่นก็ไม่ได้บอกเราว่าบริษัทกำลังอยู่ที่จุด A หรือจุด B กันแน่

ความแตกต่างระหว่างสองจุดนี้มีนัยมากมายเหลือคณานับ เพราะถ้าบริษัทอยู่ที่จุด A นั่นแปลว่าเราจะยัง "เกาะ" ไปกับบริษัทค้าปลีกแห่งนี้ได้อีกนานพอสมควร แต่ถ้าบริษัทอยู่ที่จุด B ก็หมายถึงว่าการเติบโตใกล้จะสิ้นสุดลง และหากเราเข้าซื้อหุ้นตัวนี้ก็อาจเป็นการซื้อก่อนถึงยอดดอยเพียงเล็กน้อย

การจะฟันธงได้ว่าบริษัทอยู่ที่จุดใดกันแน่นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรู้จักตัวกิจการเป็นอย่างดีจนกระทั่งสามารถมองเห็นอนาคตไปได้ไกลพอควร ซึ่งก็วกกลับไปที่ "ปรากฏการณ์ขอบฟ้า" อีกนั่นเอง

บางท่านอาจคิดว่าการซื้อที่จุด B ก็ไม่ได้เลวร้ายมากนัก เพราะบริษัทยังเติบโตต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นอัตราที่ไม่น่าตื่นตาตื่นใจเหมือนกับที่เป็นมาก่อนหน้านั้น แต่อย่างที่ผมเคยกล่าวไว้ว่า "หุ้นเติบโตจะยังดีตราบเท่าที่มันยังเติบโต" เพราะฉะนั้นแค่มันโตในอัตราที่น้อยลงก็เป็นหายนะได้แล้ว


Inverted John Neff's Method


คนที่ศึกษาแนวทางของเซียนหุ้นอาจเคยได้ยินชื่อของ จอห์น เนฟฟ์ (John Neff) ซึ่งเป็นยอดผู้จัดการกองทุนอีกท่านหนึ่ง กลยุทธ์การลงทุนอันโดดเด่นของเนฟฟ์อยู่ที่การซื้อหุ้นที่มีผลประกอบการดีและมี P/E ต่ำ โดย "ทีเด็ด" อยู่ที่การเบิ้ลผลตอบแทน

เนฟฟ์บอกว่า P = [P/E] x E ดังนั้นหากวันใดหุ้นที่ถูกมองข้ามตัวนี้เริ่มเป็นที่สนใจ ค่า P/E ของมันก็จะพุ่งพรวดขึ้นมา และเมื่อรวมกับผลของตัว E หรือ earning (กำไร) ที่โตขึ้นด้วย ราคาหุ้นก็จะซุปเปอร์ทวีคูณ รวยเละ!

ผมเรียกวิธีนี้ว่า John Neff's Method หรือ วิธีของจอห์น เนฟฟ์ ซึ่งใช้การ "ระเบิด" ของค่า P/E ผสมผสานกับการเติบโตของกำไร

ในกรณีของหุ้นค้าปลีก ผมมองเห็น Inverted John Neff's Method หรือ วิธีที่สวนทางกับจอห์น เนฟฟ์ กล่าวคือ หุ้นค้าปลีกในวันนี้เป็นหุ้นยอดฮิต ผู้จัดการกองทุนแทบทุกรายมีมันอยู่ในพอร์ตเรียบร้อยแล้ว ทุกคนกล้ากัดฟันซื้อในราคาแพงแม้ว่าค่า P/E จะสูงเสียดฟ้า ในขณะที่ตัว E ก็เติบโตอย่างมากในแต่ละปี

ในอนาคตหากตัว E เติบโตน้อยลง เช่น แทนที่จะโตปีละ 25% ก็ลดลงเหลือปีละ 10-15% สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ นักลงทุนเลิกคลั่งไคล้หุ้นค้าปลีก ค่า P/E ที่เหมาะสมอาจลดลงจาก 40-50 เท่า เหลือเพียงแค่ 20 เท่า กระบวนการนี้จะย้อนทางกับจอห์น เนฟฟ์ เพราะกลายเป็นว่าค่า P/E "หดตัว" ลงอย่างมาก พร้อมกับที่ตัว E โตน้อยลง ทำให้ราคาหุ้นตกต่ำอย่างไม่น่าเชื่อทั้งๆ ที่หุ้นยังพอจะเติบโตได้อยู่บ้าง

ในที่สุดฟองสบู่ก็แตกโดยสมบูรณ์ แม้จะเพิ่งย่างก้าวเข้าสู่เฟสอิ่มตัว หรือ Maturity เท่านั้น

ก็ลองไปคิดๆ กันดูแล้วกันครับ ของแบบนี้ระวังกันไว้ก่อนก็ดี อย่ารอให้ฟองสบู่แตกก่อนแล้วค่อยมาหงอยเอาทีหลัง ... เงินทองเป็นของนอกกาย แต่ถ้าทำหายก็เสียใจ จริงมั๊ยครับ?!


หมายเหตุ ภาพประกอบกระป๋องฮอลล์จาก thaiscooter.com

วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ปรากฏการณ์ขอบฟ้า


ฟังชื่อแล้วหลายคนอาจสงสัยว่าคราวนี้ผมจะมาเล่าอะไรเกี่ยวกับธรรมชาติวิทยาหรือเปล่า ความจริงแล้วไม่ใช่หรอกครับ ผมยังคงวนเวียนอยู่กับ "หุ้น" และต้นทางของเรื่องนี้ก็ไม่ได้มาจากตลาดหุ้นอีกเช่นเคย เพราะเรื่องสนุกๆ รอบตัวเราสามารถเอามาโยงเข้าตลาดหุ้นได้อยู่เสมอ ส่วนคราวนี้ผมคิดไปถึงเกมครับ




นึกย้อนไปถึงกิจกรรมในสมัยก่อน เกมโปรดอันหนึ่งของผมและเพื่อนๆ ก็คือ "หมากรุก" ไม่ว่าจะเป็นหมากรุกไทย จีน หรือฝรั่ง ใครขนอะไรมาให้เล่นก็เล่นหมด แต่นั่นก็คืออดีต เนื่องจากสมัยนี้เราหาคนมาเล่นหมากรุกด้วยค่อนข้างยากแล้ว แต่ถ้าคุณไม่รังเกียจที่จะเล่นกับคอมพิวเตอร์แล้วล่ะก็ มันก็ไม่มีปัญหาหรอก เพราะโปรแกรมฟรีให้ดาวน์โหลดก็มีเยอะแยะ

อย่างไรก็ตาม คนส่วนมากไม่ค่อยอยากเล่นหมากรุกกับคอมฯ แม้แต่เพื่อนผมที่เป็นเซียนหมากรุกยังบอกว่า "คอมฯ มันเก่งเกินไป เล่นกี่ทีก็แพ้"

ด้วยเหตุนี้ มนุษย์โลกส่วนมากจึงยอมศิโรราบให้กับหมากรุกคอมพิวเตอร์แต่โดยดี แม้แต่ผมเองก็ยังเรียกโปรแกรมขึ้นมาเล่นแค่พอแก้ขัดยามที่หาคนเล่นด้วยไม่ได้ แล้วก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะชนะอะไร จนกระทั่งเวลาผ่านไป และได้รู้ "ทีเด็ด" ที่จะใช้ต่อกรกับมัน

ทราบหรือเปล่าครับว่า ทำอย่างไรถึงจะ "คว่ำ" เจ้าสมองกลนี้ได้?!


วิธีชนะคอมพิวเตอร์


เซียนหมากรุกทราบกันดีว่า คู่แข่งสมองกลของเขานั้นฉลาดปราดเปรื่องเพียงใด คอมพิวเตอร์ไม่มีการเผลอหรือลืม สำหรับพวกมัน รู้ก็คือรู้ และเมื่อรู้แล้วก็ไม่มีลืม มันสามารถ "จดจำ" รูปแบบการเดินหมากได้สารพัด แถมยังคิดไปล่วงหน้าได้อีกหลายตาในลักษณะของ "what-if" analysis ด้วย

ข่าวดีก็คือ การคิดล่วงหน้าของคอมพิวเตอร์นั้นถูกจำกัดด้วยหน่วยความจำและความเร็วในการประมวลผล มันจึงอาจคิดมองไปข้างหน้าได้ "แค่ในระดับหนึ่ง"

สมมติคอมพิวเตอร์ตัวหนึ่งสามารถคำนวณล่วงหน้าได้ 4 ตาเดิน ก็หมายความว่า มันจะเช็คมาเรียบร้อยแล้วว่าภายใน 4 ตาเดินนี้ เราอาจเดินหมากตอบโต้กับมันอย่างไรได้บ้าง จากนั้นเครื่องก็จะเลือกเอา "ทางเลือกที่ดีที่สุด" สำหรับมันออกมา

หลายคนอาจเริ่มคิดขึ้นมาว่า อ้าว แล้วตาที่ 5, 6 หรือ 7 ล่ะ?...

ใช่แล้วครับ นั่นคือสิ่งที่คอมพิวเตอร์ "มองไม่เห็น" และนั่นก็คือ Horizon Effect หรือ ปรากฏการณ์ขอบฟ้า นั่นเอง ลองจินตนาการถึงตัวเราเองก็ได้ เราอาจขึ้นไปยืนบนยอดเขากวาดสายตามองไปไกลจนสุดลูกหูลูกตา ไกลจนถึงขอบฟ้า เราเห็นทุกอย่าง ... ยกเว้นสิ่งที่อยู่ถัดไปจากขอบฟ้า (horizon: อ่านว่า ฮอ-ไร-ซอน)

วิธีเอาชนะคอมพิวเตอร์ก็เช่นกัน หากเราวาง "กับดัก" เอาไว้ให้ไกลกว่าขอบฟ้า จากนั้นก็หลอกให้มันเดินเข้าไปติดกับได้ เพียงเท่านี้เราก็สามารถคว่ำคอมพิวเตอร์ที่ใครๆ ประหวั่นพรั่นพรึงได้แล้ว


Horizon ในเกมหุ้น


ปรากฏการณ์ขอบฟ้ามีอยู่ในโลกของการลงทุนเช่นเดียวกัน นักเล่นหุ้นที่มองสถานการณ์วันต่อวันย่อมมี horizon ที่สั้น (เช่น 2-3 วัน) พวกเขาจะไม่เห็นสิ่งที่อยู่ไกลกว่านั้น ไม่ว่ามันจะใหญ่โตมโหฬารแค่ไหน หากมีข่าวร้ายออกมา เช่น แบงก์ชาติญี่ปุ่นเตรียมลดจำนวนเงินที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ พวกเขาก็จะ "ตีความ" เอาง่ายๆ แค่ว่า มันเป็นข่าวดีหรือข่าวร้าย ถ้าเป็นข่าวร้ายก็หุ้นลง ... ขาย!

นักลงทุนที่มี horizon ยาวไกลกว่านี้อาจมองแนวโน้มที่ใหญ่ขึ้น พวกเขาดูภาพรวมของเศรษฐกิจ และถ้าเป็นบริษัทก็จะดูว่าแนวโน้มธุรกิจยังดีอยู่หรือไม่ แน่นอน พวกเขายังคงรับฟังข่าวสารเหมือนกับคนอื่นๆ เพียงแต่พวกเขา "ตีความ" ด้วยมุมมองและความใส่ใจที่แตกต่างออกไป และที่คนกลุ่มนี้มองเห็นสิ่งที่คนกลุ่มแรกไม่เห็น ก็เนื่องจากพวกเขามี horizon ที่ยาวกว่านั่นเอง

อาจพูดได้ว่า คนที่มี horizon ยาวกว่าย่อมมีความได้เปรียบเหนือคนที่มี horizon สั้น คิดเอาง่ายๆ สมมติผมจัดแมตช์หมากรุกให้คอมพิวเตอร์ 2 ตัวแข่งขันกัน ตัวหนึ่งมี horizon 4 ตาเดิน ส่วนอีกตัวมี horizon 20 ตาเดิน ไม่ต้องบอกก็คงรู้ใช่ไหมครับว่าคอมฯ ตัวหลังจะไล่ยำตัวแรกเละเทะขนาดไหน

ในทำนองเดียวกัน หากนักลงทุนที่มี horizon สั้นปะทะกับนักลงทุนที่มี horizon ยาว (ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้น) คนกลุ่มแรกก็จะหยิบฉวยผลประโยชน์สั้นๆ เมื่อหยิบได้มาแล้วก็เอาไปแจกจ่ายให้โบรกเกอร์ ส่วนที่เหลือเก็บไว้เองก็มีแค่เพียงเล็กน้อย บางครั้งพลาดไปโดน "กับดัก" ที่รออยู่ไกลกว่า horizon เท่าที่พวกเขามองเห็น ก็เจ็บเนื้อเจ็บตัวกันไป

ขณะที่นักลงทุนกลุ่มที่สองก็อาจหยิบฉวยผลประโยชน์ระยะสั้นด้วยเหมือนกัน แต่พวกเขาก็จะเลือกเฉพาะอันที่ไม่มีกับดักรออยู่ เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเจ็บตัวก็มีน้อยลง นอกจากนี้การที่พวกเขามี horizon ที่ยาวไกลขึ้นก็เปิดโอกาสให้หยิบฉวยประโยชน์จาก "ภาพใหญ่" ได้ด้วย กล่าวคือ พวกเขาไม่ได้มองแค่ว่าหุ้นจะขึ้นหรือลงในวันพรุ่งนี้ แต่มองภาพใหญ่ว่าเศรษฐกิจกำลังขยายตัว อัตราภาษีต่ำ ผลประกอบการของบริษัทน่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ และตามหลักเหตุผลแล้วราคาหุ้นก็น่าจะยังเป็นขาขึ้นต่อไป เป็นต้น


มิติอื่นของ Horizon


นอกจาก horizon ในมิติของเวลาแล้ว ยังมี horizon ในมิติอื่นๆ ที่เราควรคำนึงถึงอีกด้วย

ตัวอย่างที่ชัดเจนอันหนึ่ง ได้แก่ horizon ในมิติของกลยุทธ์ บริษัทบางแห่งมีผลประกอบการดีมาอย่างต่อเนื่อง สินค้าได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี มีสถานะทางการตลาดเข้มแข็ง ซึ่งนักลงทุนที่มี horizon สั้นๆ ก็จะเห็นแค่นี้

อย่างไรก็ตาม หากมองให้ลึกลงไปก็จะเห็นว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทที่เติบโตอย่างน่าพอใจนั้น มีกุญแจหลักอยู่ที่ความร่วมมือทางธุรกิจ กล่าวได้ว่า ความร่วมมือกับพันธมิตรเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จอันนี้ และเมื่อเจาะลึกเข้าไปที่พันธมิตร เราอาจพบว่าพันธมิตรรายนี้กำลังดำเนินงานบางอย่างที่คล้ายคลึงกันกับบริษัทที่เราสนใจ และมีความเป็นไปได้ที่เขาจะ "เลิกความสัมพันธ์" และหันมาแข่งขันด้วยในอนาคต

นี่คือ "กับดัก" ที่อยู่ไกลกว่า horizon ของนักลงทุนบางราย และแน่นอนว่าพวกเขาจะต้องโดนดักตีหัวเข้าสักวัน หากว่ายังคงมองแค่สั้นๆ

อีกตัวอย่างหนึ่งเป็น horizon ในมิติของผู้บริหาร บางบริษัทมีภาพลักษณ์ที่ดูดี ผู้บริหารสูงสุดเป็นคนมีความสามารถ สุภาพ และจริงใจ เมื่อใดที่เขาออกงานสังคม ทุกคนก็ล้วนแต่ชื่นชม และก็ไม่แปลกหากนักลงทุนที่มี horizon สั้นๆ จะเห็นเพียงเท่านี้

ทว่านักลงทุนที่รอบคอบจะเจาะลึกลงไปถึงฝ่ายบริหาร "ทั้งทีม" พวกเขาคอยติดตามผู้บริหารท่านอื่นๆ ด้วยว่าใครรับผิดชอบอะไร ท่าทีของทีมบริหารเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ ใครเป็นผู้มีอิทธิพลชี้นำ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญและเป็นความรู้ที่ต้องรวบรวมจากหลายแหล่ง โดยเฉพาะจากการประชุมผู้ถือหุ้น งานพบปะนักลงทุน และการให้สัมภาษณ์ตามหน้าหนังสือพิมพ์ (แน่นอนว่าไม่มีในสรุปข้อมูลทางการเงิน หรือในบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์)

การที่เรารู้จักฝ่ายบริหารเป็นอย่างดีจะทำให้สามารถคาดเดาได้ว่า พวกเขาจะตัดสินใจอย่างไร และการกระทำดังกล่าวจะส่งผลต่อบริษัทในแง่บวกหรือแง่ลบ หากผู้บริหารหลายคนเป็นพวกคร่ำครึหัวโบราณ พวกเขาอาจทำให้การบริหารงานของบริษัทฝืดกว่าที่ควร และนี่ก็เป็นกับดักที่คน horizon ยาวเท่านั้นที่จะเห็น


ไม่ใช่แค่ "มุมมอง" และ "ความรู้"


แม้มุมมองและความรู้จะเป็นตัวหลักที่กำหนด horizon ของเรา แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า "อคติ" ที่เรามี ก็มีส่วนสำคัญในการกำหนด horizon ด้วย บางครั้งเราอาจพรั่งพร้อมด้วยความรู้และความสามารถ แต่มันจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยหากเราเต็มไปด้วยอคติ

"คนเรามักเห็นอย่างที่อยากจะเห็น"

เพราะฉะนั้นถ้าเรามีจิตใจฝักใฝ่ไปแล้วว่าหุ้นตัวนั้นตัวนี้เป็นอย่างไร อคติของเราก็จะตามไปบิดเบือนการตีความและบั่นทอน horizon จนทำให้มองไม่เห็นระเบิดเวลาที่วางอยู่โต้งๆ เรามองไม่เห็นสิ่งที่ควรจะเห็น!

ลองนึกทบทวนดูก็ได้ครับ ที่เราเคยเจ๊งหุ้นมาในอดีตเกิดจาก Horizon Effect กันบ้างหรือไม่


หมายเหตุ ภาพประกอบจาก colourbox.com

วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

รายการ "VI สายดำ" เทปที่ 2 (ธุรกิจธนาคาร)


ออกอากาศทาง กรุงเทพธุรกิจ TV เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2556

ว่าด้วยธรรมชาติของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ตัวเลขที่เกี่ยวข้อง และทิศทางในอนาคตครับ




พยายามแปะวิดีโอแล้ว ไม่สำเร็จแฮะ เอาลิงก์ไปแทนแล้วกันนะครับ

http://www.youtube.com/watch?v=QGBV95hkIZY