วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เรียนหุ้นจากเชฟกระทะเหล็ก

 

เชื่อว่าหลายคนคงเคยดูรายการ "เชฟกระทะเหล็กประเทศไทย" ที่ได้รับลิขสิทธิ์มาจากญี่ปุ่น ผมเองก็ชอบดูรายการนี้เช่นกัน และมักคิดเสมอว่ารายการนี้มันออกอากาศมายั่วน้ำลายเราก่อนนอนแท้ๆ ...แต่ก็มีอยู่คราวหนึ่งที่รายการนี้ได้ให้ไอเดียการลงทุนที่ดีกับผม

หากจำไม่ผิดในการแข่งขันทำอาหารครั้งนั้น เชฟเอียน (พงษ์ธวัช เฉลิมกิตติชัย) เชฟกระทะเหล็กอาหารตะวันตก ต้องรับมือกับ เชฟฟิลิปป์ ซึ่งเป็นยอดฝีมือคนหนึ่ง เชฟฟิลิปป์เป็นพ่อครัวที่มีฝีมือฉกาจฉกรรจ์และเป็นฝรั่งที่(ดัน)พูดไทยได้ เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่ามีอะไรจะพูดกับคู่แข่งหรือไม่ เชฟฟิลิปป์คงต้องการข่มขวัญคู่ต่อสู้จึงหันไปถามว่า "เชฟเอียน คุณพร้อมจะแพ้มั๊ย?" ในห้องส่งก็ส่งเสียงฮือฮา...

รู้มั๊ยครับว่าเชฟเอียนตอบว่าอย่างไร

เขาตอบว่า "ผมพร้อมเสมอครับ"


นัยยะของการ "พร้อมพ่ายแพ้"


หากเราศึกษาประวัติและวิธีคิดของเชฟผู้นี้ก็จะรู้ว่าทำไมเขาถึงตอบไปอย่างนั้น เชฟเอียนเคยเป็น Executive Chef ประจำโรงแรมห้าดาวมาก่อน ร้านอาหารของเขาได้รับการยกย่องติดอันดับว่าเป็นร้านอาหารที่ดีที่สุดในโลก ปัจจุบันเขามีร้านอาหารอยู่ในต่างประเทศหลายแห่งและเป็นผู้ดำเนินรายการทีวีเกี่ยวกับอาหารอีกด้วย

เชฟเอียนในวัยเด็กค่อนข้างลำบาก แม่ต้องเข็นรถขายข้าวแกง ส่วนตัวเขาต้องช่วยงานที่บ้านทั้งก่อนไปโรงเรียนและหลังเลิกเรียน แต่ที่สุดแล้วทางบ้านก็กู้เงินส่งเสียให้ไปเรียนเมืองนอก โดยตัวเขาเองก็ต้องทำงานเสิร์ฟอาหารและช่วยงานครัว เชฟเอียนมีทัศนคติของการจริงจังและทุ่มเทกับสิ่งที่ทำ เขาได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองจนชนะการแข่งขันทำอาหาร International Cooking Competition  ทำให้เขาเริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงอาหาร ทัศนคติของการพร้อมรับความพ่ายแพ้กลับเป็นการเปิดใจให้เรียนรู้สิ่งใหม่และทำให้เขาเก่งขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งไต่เต้าขึ้นมาจนถึงตำแหน่ง Executive Chef ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของเชฟได้ในที่สุด

การพร้อมที่จะพ่ายแพ้หาใช่เหตุที่เราจะพ่ายแพ้... การพร้อมเปิดรับความพ่ายแพ้ เท่ากับเรากำลังบอกตัวเองว่าเรายังไม่ดีที่สุด เรายังต้องเรียนรู้ ด้วยเหตุนี้เชฟเอียนจึงทิ้งเงินเดือนมหาศาลในตำแหน่ง Executive Chef ไปเปิดร้านอาหารของตัวเองและกลายเป็นเชฟเอียนทีเรารู้จักในทุกวันนี้


แล้วการ "พร้อมขาดทุน" ล่ะ?


ข้อคิดที่ผมได้จากเชฟเอียนก็คือ ในฐานะของนักลงทุน เราเองก็ควรพร้อมรับการขาดทุนเช่นเดียวกัน มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะซื้อแล้วหุ้นขึ้นทุกครั้งไป การขาดทุนในระยะสั้นที่เกิดจากความผันผวนของตลาดหุ้นจึงถือเป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะเมื่อเรามั่นใจว่าตัวบริษัทยังไปได้ดี ที่สุดแล้วราคาหุ้นในระยะยาวก็จะต้องสะท้อนความจริงอันนี้

เมื่อบอกให้เตรียมพร้อมรับการขาดทุน นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ VI ที่เคยได้ยินกฏเหล็กของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ซึ่งบอกว่า "อย่าขาดทุน" อาจเริ่มสับสนขึ้นมา ผมจะขออธิบายอย่างนี้ครับ

บัฟเฟตต์บอกว่ากฏการลงทุนของเขามีอยู่ว่า "ข้อ 1 อย่าขาดทุน" และ "ข้อ 2 อย่าลืมกฏข้อแรก"

อย่างไรก็ตาม คำว่าขาดทุนของบัฟเฟตต์นั้นมีความหมายไม่เหมือนกับเราๆ ท่านๆ ในสายตาของบัฟเฟตต์แล้วราคาหุ้นเป็นเพียงแค่มายา แท้จริงแล้วสิ่งที่เขาได้จากการซื้อหุ้นคือความเป็นเจ้าของกิจการหรือ "มูลค่า" ของบริษัท นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เขากล่าวประโยคที่ชัดเจนและแจ่มแจ้งที่สุดในความเป็น VI

"Price is what you pay. Value is what you get."

การขาดทุนในความหมายของบัฟเฟตต์จึงเป็นการเสื่อมมูลค่า หรือพูดง่ายๆ ก็คือบริษัทเลวลง เขาไม่ได้มองว่าการที่ราคาหุ้นลดลงเป็นการขาดทุนเหมือนอย่างคนทั่วไป ที่จริงแล้วเขาให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นน้อยมากและถึงกับกล่าวไว้ว่า "ใครทนเห็นหุ้นที่ตัวเองถืออยู่มีราคาลดลง 50% ไม่ได้ก็ไม่ควรซื้อหุ้น"

กลับมาที่ความหมายแบบ "บ้านๆ" การขาดทุนที่วัดกันด้วยราคาหุ้นจึงเป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมใจเอาไว้ ไม่ว่าหุ้นที่ถืออยู่นั้นจะเทพขนาดไหนก็ตามที นักลงทุนที่มีประสบการณ์ย่อมทราบดีว่าตลาดสามารถเคลื่อนไหวได้ทั้งสองทาง ทางหนึ่งอาจจะวิ่งขึ้นอย่างบ้าคลั่ง ส่วนอีกทางหนึ่งอาจจะดิ่งลงอย่างบ้าคลั่งเช่นเดียวกัน ถ้าบ้ามากหุ้นก็จะ over- หรือ undervalue และเป็นโอกาสให้เข้าซื้อขาย ส่วนถ้าบ้าน้อยก็เป็นแค่ความผันผวนเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งผมไม่ใส่ใจ เมื่อเราซื้อหุ้นตามแนว VI อย่างแท้จริง โอกาสที่ซื้อแล้วหุ้นลงมีไม่มาก หรือต่อให้ลงมันก็ยังกลับมาได้ในระยะยาว เพราะ "มูลค่า" ของธุรกิจเป็นตัวบังคับ

ดังนั้น ถ้ามีใครมาถามผมว่าพร้อมที่จะขาดทุนหรือไม่ ผมคงต้องตอบแบบเชฟเอียนครับ "ในระยะสั้น ผมพร้อมเสมอ"

1 ความคิดเห็น:

  1. ผมชอบไอเดียบทความนี้ครับ :D

    ส่วนตัวผมเห็นด้วยกับการเตรียมพร้อมเสมอ..ที่จะแพ้ การเตรียมพร้อมเสมอ..ที่จะขาดทุนครับ เนื่องจากไม่ว่าเหตุการณ์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวที่ผมคาดการณ์ไว้..ไม่ได้มีความน่าจะเป็นที่จะเกิด 100% (ต่อให้มองได้เฉียบขาดสุดๆก็อาจจะมีโอกาส 90% แต่ 10% ที่เหลือล่ะ?? โอกาสที่จะแย่ล่ะ?? เพราะความน่าจะเป็นของอนาคตไม่ได้มีแค่เหตุการณ์เดียว)

    ดังนั้นนักลงทุนต้องพร้อมรับ Downside และประเมิน Downside rike เสมอ ทั้ง...

    1.การขาดทุนจากราคาลดลงในระยะสั้น แม้ว่ามูลค่าจะยังไม่เปลี่ยน ถ้านักลงทุนไม่ได้เตรียมใจมาอาจจะสติหลุดเพราะมองแต่ upside ด้านเดียว และทำอะไรโดยใช้อารมณ์เป็นใหญ่ได้ รวมถึงเสียโอกาสในการ switch หุ้นในกรณีเราเจอหุ้นที่มี expected profit ดีกว่าด้วยครับ

    2.การที่พื้นฐานเปลี่ยนจริงๆในระยะยาว นักลงทุนต้องประเมินคุณภาพของธุรกิจว่าเป็นไปตามที่คิดในระยะยาวด้วยหรือไม่? กรณีดีกว่าคาดก็แล้วไป แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ในอนาคตออกมาแย่กว่าคาด โดยไม่ได้เตรียมใจมาก่อนคิดว่าตัวเองประเมินธุรกิจแล้วได้มูลค่าเดียว มั่นใจมากๆว่าไม่มีโอกาสผิดพลาดเลย อาจจะตัดสินใจผิดพลาดได้ถ้าพื้นฐานธุรกิจแย่ลงในระยะยาวครับ

    ต้องประเมินความเสี่ยงให้ครอบคลุมและเตรียมใจที่จะผิดพลาดและพ่ายแพ้เสมอ

    เข้ามาขอแชร์ไอเดียครับ ขอบคุณคุณ Antonio ที่เขียนบทความดีๆครับ

    :D

    ตอบลบ