วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

รวยฝ่าธรรมชาติ


"ธรรมชาติของคน คือ การไม่รวย" นี่คือข้อเท็จจริงของชีวิตที่น่าจะกล่าวได้ว่าเป็น "An Inconvenient Truth" หรือความจริงที่ไม่มีใครอยากฟังอย่างหนึ่ง ต่อไปนี้ผมจะอธิบายว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น รวมถึงวิธีที่เราจะฝ่าธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติของชีวิตการทำงานหรือการลงทุนก็ตาม


มนุษย์เงินเดือนฝ่าธรรมชาติ


"ค่าเฉลี่ย" ดูเหมือนจะเป็นตัวเลขที่อธิบายความเป็นไปต่างๆ ได้ดี โดยเฉพาะเมื่อเรากำลังมองหา "ความพยายาม" บางอย่างที่จะเอาชนะธรรมชาติ (ค่าเฉลี่ย) ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในโลกของการทำงาน

สมมติเราทำงานประจำและได้รับเงินเดือน เรามีโอกาสสูงที่จะได้รับเงินเดือนในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม หรือใกล้เคียงกับเพื่อนๆ ที่เรียนจบมาพร้อมกัน เว้นแต่ว่าเราจะได้ใช้ความพยายามบางอย่างเพื่อเอาชนะค่าเฉลี่ยนั้น เช่น เจรจาต่อรองกับเจ้านาย แสดงผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ ย้ายงานเพื่อหาโอกาสดีๆ หรือแม้กระทั่งออกแรงเลียแข้งเลียขาหัวหน้า (อันหลังไม่ดีนะครับ)

หากปราศจาก "พลังงาน" ที่เราใส่ลงไป โอกาสที่เราจะได้รับค่าตอบแทนในระดับเฉลี่ยก็เป็นไปได้สูง เป็นต้นว่าทำงานแบบเนือยๆ ไปเรื่อยๆ รอเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งไปตามอายุงาน ...

พลังงานที่เราใส่ลงไป ไม่จำเป็นต้องมาในลักษณะ "บ้าพลัง" หรือขยันเป็นม้า แต่อาจเป็นพลังงานที่มาในลักษณะของความใส่ใจ ความรอบคอบ ความมีน้ำใจให้เพื่อนร่วมงาน รวมทั้งการพยายามดึงจุดเด่นของเราขึ้นมาขาย อย่างเช่น ทักษะทางภาษา ทักษะการนำเสนอ หรือความสามารถทางคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ในกรณีที่ความพยายามของเราเป็นผล ผลตอบแทนซึ่งก็คือ เงินเดือนและโบนัส ก็จะเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ย สิ่งที่ผมอยากให้ข้อสังเกตไว้ คือ เงินเดือนที่สูงขึ้นมีแนวโน้มที่จะกลายเป็น "ฐาน" เปรียบเทียบสำหรับการขึ้นเงินเดือนในปีถัดๆ ไป นั่นก็แปลว่า ความพยายามของเราไม่ได้ส่งผลแค่ครั้งเดียว แต่จะดึงให้ฐานะทางการเงินและความเป็นอยู่ของเราดีกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาวด้วย ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นการสร้างความมั่งคั่งในแบบของมนุษย์เงินเดือนก็ว่าได้

แต่ก็อย่างที่ว่า... สิ่งสำคัญก็คือ เราต้องใส่พลังงานลงไปให้ถูกที่ถูกทาง และยิ่งเริ่มต้นเร็วก็ยิ่งดีด้วย


อยากรวยต้องฝืนธรรมชาติ


ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น? เหตุผลก็คือ ธรรมชาติของคนส่วนใหญ่ย่อมรักความสบาย อยากอยู่ดีกินดี เห็นใครมีอะไรมาโอ้อวด ก็อยากมีอย่างเขาบ้าง ไม่ให้ตกยุคหรือน้อยหน้าใคร สิ่งเหล่านี้ทำให้เราต้องจับจ่ายใช้สอย บางทีไม่ได้จ่ายเพื่อตัวเอง แต่ก็ต้องจ่ายเพื่อคนที่เรารัก ทว่าสรุปแล้วก็ต้องควักเงินอยู่ดี

ความจำเป็น กับ ความอยาก เป็นสิ่งที่เราต้องแยกให้ออก แต่ปัญหาโดยทั่วไปก็คือ คนเรามักโอนความอยากไปเป็นความจำเป็น ในยามที่ความอยากพุ่งปรี๊ดขึ้นมา ความเป็นไปเช่นนี้นับว่าเป็นอุปสรรคสำคัญอันแรกของความร่ำรวย โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุน เพราะเมื่อเก็บเงินไม่อยู่และเริ่มต้นด้วยเงินลงทุนน้อยๆ โอกาสที่จะ "ทบต้น" และสร้างความมั่งคั่งในอนาคตก็ย่อมลดลงไปด้วย

แต่ถึงแม้จะมีเงินลงทุนแล้ว อุปสรรคในลำดับต่อมาก็คือ ความสามารถในการสร้างผลตอบแทน

ถ้าเราลงทุนด้วยความรู้และความพยายามเท่าๆ กับคนส่วนใหญ่ ผลตอบแทนที่เราได้ก็คงไม่แตกต่างไปจาก "ค่าเฉลี่ย" ของตลาดเท่าไหร่นัก หากต้องการผลตอบแทนที่เหนือกว่าค่าเฉลี่ย เราก็จำเป็นต้องใส่พลังงานบางอย่างเข้าไปในการลงทุน และต้องใส่ให้ถูกที่ด้วย

นักเล่นหุ้นวัยกระเตาะบางรายหวังรวยเร็วด้วยการพยายามซื้อขายหุ้นบ่อยๆ และนี่ก็คือสิ่งที่ผมพบเห็นอยู่บ่อยๆ ตามเว็บบอร์ด บางคนถึงกับคิดเลยว่าเดือนหนึ่งมี 20 วันทำการ ถ้าเขา "มักน้อย" ทำกำไรแค่วันละ 1 เปอร์เซ็นต์ ก็เท่ากับได้กำไรเดือนละไม่น้อยกว่า 20% แล้ว จากนั้นก็ใส่ความพยายามไปกับการเพ่งดูกราฟตลอดทั้งวัน ซื้อขายทั้งหุ้น ทั้ง DW มือเป็นระวิง ...

และแน่นอนว่ามันไม่เป็นผล


พลังในทางลบ


การสร้างผลตอบแทนให้ได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาวจำเป็นต้องฝืนธรรมชาติและใช้พลังงานอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตาม หลายคนไม่ทราบว่า การสร้างผลตอบแทนให้ได้ ต่ำกว่า ค่าเฉลี่ยของตลาด ก็จำเป็นต้องใช้ความพยายามเหมือนกัน เพียงแต่เป็นความพยายามที่ผิดทิศผิดทาง อย่างเช่นความพยายามของนักเล่นหุ้นฝันหวานข้างต้น

การฝืนธรรมชาติ มีทั้ง "ทางบวก" และ "ทางลบ" หากไม่มี ปรัชญาการลงทุน เป็นตัวกำกับ เราก็จะออกแรงสะเปะสะปะ ให้ผลบวกบ้าง ลบบ้าง สุทธิแล้วอาจได้ผลลัพธ์เป็นศูนย์เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ได้ผลตอบแทนเท่ากับค่าเฉลี่ยนั่นเอง ทั้งที่เหน็ดเหนื่อยลงแรงไปไม่น้อย ถ้าซ้ำร้ายหน่อย นอกจากเหนื่อยแล้วยังแพ้ค่าเฉลี่ยของตลาดอีกต่างหาก

คนจำนวนมากไม่มีปรัชญาการลงทุนเป็นของตัวเอง พวกเขามักจะบอกว่า "ลงทุนแนวไหนก็ได้ ขอให้ได้กำไรเหอะ" ทำนองเดียวกับแมวดำแมวขาว ถ้าจับหนูได้ ก็เป็นอันว่าใช้ได้เหมือนกันหมด แต่พวกเขาลืมไปว่าการลงทุนไม่ได้เหมือนกับแมวเสียทีเดียว และการตั้งต้นที่ "หนู" (กำไร) ก็ทำให้พวกเขาละเลยความสำคัญของแมว (วิธีลงทุน) ทั้งที่เป็นหัวใจของความสำเร็จในระยะยาว

มืออาชีพด้านการลงทุนต่างรู้ดีว่า เมื่อเราลงทุนอย่างถูกต้อง กำไรก็จะตามมาเอง หรือถ้าจะว่าไปก็คงเหมือนกับการสรรหา "แมวเก่งๆ" มาสักตัว จากนั้นมันก็จะจับหนูได้ ซึ่งก็คงดีกว่าการเหวี่ยงแหจับแมวขาวแมวดำขาเป๋ หูตาตาฝ้าฟาง มาอยู่ในสังกัดเต็มไปหมด แม้จะมีขุนศึกแมวมากมาย แต่หาเก่งๆ ไม่ได้ซักตัวเดียว แบบนั้นหนูก็คงวิ่งกันสบาย

ปรัชญาการลงทุนจะเป็นตัวบอกเราว่า "แมวเก่งๆ" สำหรับเรานั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร อะไรคือการลงทุนที่ดี อะไรคือการลงทุนที่เหมาะกับบุคลิกของเรา นี่จะเป็นสิ่งที่กำกับว่า "ทางบวก" สำหรับเราอยู่ทางไหน เพื่อที่เราจะได้ไม่มัวไปเบ่งพลังอยู่ในทางลบ

แต่น่าเสียดายที่คนส่วนมากเดินเตร็ดเตร่อยู่ในตลาดหุ้นโดยปราศจากปรัชญาการลงทุน ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงไม่สามารถฝืนธรรมชาติและสร้างผลตอบแทนให้สูงกว่าค่าเฉลี่ยได้อย่างยั่งยืน


...ไม่ใช่เรื่องง่าย


การฝืนธรรมชาติไม่ใช่เรื่องง่าย ลองนึกถึง "ตู้เย็น" ที่ต้องพยายามดึงความร้อนออกจากอาหารต่างๆ และรักษาอุณหภูมิภายในตัวมันให้ต่ำกว่าอุณหภูมิภายนอกอยู่เสมอ แน่นอน มันต้องใช้พลังงานอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกันกับที่นักลงทุนต้องฝืนธรรมชาติและสร้างความมั่งคั่ง พวกเขาจึงจำเป็นต้องใช้พลังงานอยู่ตลอด "ความสม่ำเสมอ" หรือ "วินัย" จึงถือเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จอีกดอกหนึ่ง

และความยากนี้เองส่งผลให้ "โลกของคนรวย" กลายเป็นโลกที่คนบางกลุ่มไม่มีวันไปถึง เพราะพวกเขาเป็นตู้เย็นที่ไม่มีเครื่องทำความเย็น (ขาดความรู้และแนวทาง) หรือไม่ก็ลืมเสียบปลั๊ก (ขาดพลังงานและความสม่ำเสมอ)

5 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ4 ธันวาคม 2556 เวลา 13:36

    ทึ่งกับการเปรียบเทียบกับตู้เย็นครับ :-)

    ตอบลบ
  2. 555 ผมก็ว่ามันพิลึกดีครับ

    ตอบลบ
  3. พึ่งได้อ่าน แต่ให้ข้อคิดที่ดีมากครับ ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ23 มกราคม 2557 เวลา 08:22

    ชอบแนวคิด ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
  5. ชอบแนวคิดอาจารย์มากครับ

    ตอบลบ