หลายท่านที่เป็นนักอ่านน่าจะเคยประสบปัญหาหรือเกิดอาการไม่สบอารมณ์จากการอ่าน "หนังสือแปล" และบางท่านที่สุดขั้วหน่อยก็อาจจะถึงกับตั้งธงไว้เลยว่าจะไม่อ่านหนังสือที่แปลเป็นภาษาไทยเด็ดขาด
เหตุผลที่พวกเขาให้ไว้ก็คือ หนังสือแปลมักจะสู้หนังสือภาษาอังกฤษต้นฉบับไม่ได้ ซื้อมาแล้วก็มักจะผิดหวัง สู้กัดฟันอ่านต้นฉบับไปเลยดีกว่า อย่างไรก็ตาม ในฐานะคนแปลหนังสือ ผมกลับมองว่าหนังสือแปลสามารถที่จะ "ดี" ได้ไม่แพ้ต้นฉบับ และในหลายๆ กรณี หนังสือแปลก็อาจจะทำได้ดีกว่าต้นฉบับเสียด้วยซ้ำ
และต่อไปนี้ก็คือ มุมมองของผม ...
เมื่อไรที่หนังสือแปลจะแย่?
ในการแปลหนังสือ สิ่งที่ผู้แปลพึงกระทำ (อย่างยิ่ง) คือ การรักษาเนื้อความดั้งเดิมให้ได้มากที่สุด หรือพูดแบบง่ายๆ ก็คือ อย่าแปลผิด อย่าแปลขาด และอย่าแปลเกิน
การแปลผิดความหมาย ถือได้ว่าเป็น "ความผิดขั้นร้ายแรง" ของนักแปล แม้บางครั้งนักแปลอาจแปลผิดได้โดยสุจริต คือ พยายามอย่างเต็มที่แล้ว แต่ก็ยังไม่ดีพอ อาจจะด้วยพื้นความรู้ที่ไม่ตรงกับแนวเนื้อหา เช่น แปลหนังสือด้านการลงทุน แต่ตัวเองกลับไม่เคยลงทุน หรือศึกษาด้านการลงทุนมาเลย อย่างนี้ก็เจ๊งแน่ หรืออีกแบบก็คือ ผู้แปลมีทักษะด้านภาษาไม่เพียงพอ อย่างนี้ก็ไม่ไหวอีกเหมือนกัน
นักอ่านจึงต้องดูด้วยว่า ผู้แปลมีพื้นความรู้มาทางด้านไหน หนังสือหลายเล่มมีประวัติโดยย่อของผู้แปลอยู่ท้ายเล่ม ผมแนะนำให้อ่านดูคร่าวๆ จะได้รู้ว่าหมอนี่เป็นใคร และมีผลงานอะไรมาบ้าง
ถัดมาเป็นเรื่องของ การแปลขาดหาย ซึ่งเป็นการแปลที่ทำให้เนื้อความดั้งเดิมตกหายไป ผู้อ่านจะยังได้รับความรู้หรือสาระสำคัญจากหนังสืออยู่ แต่ได้ไม่ครบ 100% ความเห็นของผมคือว่า ถ้าเป็นการ "แปลและเรียบเรียง" และการพยายามรักษาเนื้อความส่วนนั้นอาจทำให้การอ่านสะดุดโดยไม่จำเป็น (อย่าลืมว่าผู้เขียนต้นฉบับก็อาจเขียนแบบกะพร่องกะแพร่ง หรือพูดจาไม่รู้เรื่องได้เหมือนกัน) อย่างนี้ก็อาจอนุโลมได้ เพื่อประโยชน์ของผู้อ่านเอง
ประเด็นสุดท้าย ได้แก่ การแปลเกิน เรียกว่าคนเขียนเขียนมา 100 คนแปลจัดให้ 110 กลายเป็นว่าสอดแทรกเนื้อหาหรือความคิดเห็นของตัวเองเข้าไปอีก อย่างนี้ถือว่าไม่ดี เพราะคนอ่านจะแยกไม่ได้ว่าอันไหนเป็นเนื้อความจากผู้เขียน หรืออันไหนเป็นการขยายความของผู้แปล ที่ซ้ำร้ายคือ จะมีคนหยิบยกถ้อยคำพวกนั้นไปอ้างอิง แล้วบอกว่ามาจากผู้เขียน ทั้งๆ ที่เจ้าตัวไม่ได้รู้เรื่องด้วยเลย
ทางออกก็คือ หากเนื้อความส่วนไหนยากและควรมีการอธิบายเพิ่ม ก็ควรแทรกเป็นฟุ้ตโน้ต (footnote) หรือใส่ไว้ในวงเล็บ และกำกับได้ด้วยว่าเป็นคำอธิบายจากผู้แปล อย่างนี้เป็นต้น ตรงนี้ก็จะเป็น "มูลค่าเพิ่ม" หรือ "value added" ที่ผู้แปลสามารถจะทำให้หนังสือทรงคุณค่ายิ่งขึ้น โดยไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด
ลึกลงไปในรายละเอียด
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็น "แก่น" ที่ผู้แปลควรยึดถือ แต่ในส่วนของรายละเอียด หรือ "กระพี้" และ "เปลือก" เรายังต้องว่ากันต่อไป
สมมติเราซื้อหนังสือเล่มหนึ่งที่ปรมาจารย์ด้านการลงทุนของโลกเป็นคนเขียน แน่นอนว่าเราคงอยากรู้เนื้อความอย่างถูกต้องครบถ้วน ไม่ขาด ไม่เกิน แต่ถึงแม้จะหาคนที่แปลได้ตามนั้นแล้ว สิ่งที่ผู้อ่านต้องการไม่แพ้กันก็คือ "อรรถรส" ในการอ่าน
ผู้แปลสามารถส่งผ่าน "อารมณ์" และ "ความนัย" ที่ผู้เขียนให้ไว้ได้มากน้อยแค่ไหน? สำนวนเขียนของผู้แปลมีความสละสลวยและชวนให้อ่านได้อย่างไหลลื่นหรือไม่? ผู้แปลสามารถถ่ายทอด "บุคลิก" ที่มีอยู่ในงานเขียนได้ดีเพียงใด? นี่คือรายละเอียดที่เราต้องให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน
บางครั้งเราเจอผู้เขียนที่เขียนไว้ดีมาก แต่ได้คนแปลที่ไม่ค่อยเอาไหน หนังสือดีก็เลยกลายเป็นหนังสือดาดๆ ไปอย่างน่าเสียดาย ในทางกลับกัน คนแปลที่มีฝีมือ แต่ต้องไปประกบแปลหนังสือน่าเบื่อๆ ก็อาจกลายเป็นการฝังตัวเองไปได้เหมือนกัน เพราะคนอ่านเขาไม่รู้หรอกว่าต้นฉบับมันน่าเบื่อ
ด้วยเหตุนี้ผมจึงตกลงกับเพื่อนว่า หากจะแปลหนังสือ ก็ต้องเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าและน่าอ่านเท่านั้น ไม่อย่างนั้นเสียเวลาเปล่า ได้ตังค์เท่าไหร่ก็ไม่คุ้ม
นักแปลไส้แห้ง?
"อาชีพนักแปล" ไม่ใช่อาชีพที่ทำรายได้งดงามอะไรมากนัก โดยเฉพาะถ้าหนังสือไม่ได้ติดอันดับขายดี (bestseller) หรือแม้บางครั้งต่อให้หนังสือติดอันดับขายดี แต่นักแปลได้รับค่าตอบแทนแบบคงที่ จ่ายกันครั้งเดียวจบ อย่างนี้นักแปลก็ "ไส้แห้ง" ได้เหมือนกัน
เพื่อนผมคนหนึ่งที่อยู่ในแวดวงแปลหนังสือบอกว่า การแปลหนังสือของเขาถือว่าเป็นรายได้พิเศษ และที่ว่าพิเศษนั้นก็เพราะว่า ปกติเขาเองก็อ่านหนังสืออยู่แล้ว การแปลหนังสือจึงเหมือนกับมีคนมาจ้างให้เขาทำในสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องเพิ่มความพิถีพิถัน หรือใช้ความตั้งอกตั้งใจมากขึ้นเท่านั้น
นึกดูก็เหมือนการที่มีใครสักคนมาจ้างเราให้อาบน้ำ ทั้งที่จริงไม่ว่าอย่างไรเราก็คงจะอาบน้ำกันทุกวันอยู่แล้ว (ยกเว้นฝรั่งที่อยู่เมืองหนาว อันนั้นไม่แน่) สิ่งที่เราต้องทำเพิ่มก็มีแค่ตั้งใจอาบให้สะอาดขึ้นกว่าปกติ
โดยทั่วไปแล้ว นักแปลหนังสือไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะ "ได้เงิน" หรือ "ได้กล่อง" กันง่ายๆ เหตุผลก็คือ งานแปลจำนวนมากจ่ายค่าตอบแทนแบบคงที่ แล้วก็ไม่ได้เป็นอัตราที่มากมายอะไร ขณะที่ชื่อเสียงหรือความนับหน้าถือตา ส่วนมากก็ตกเป็นของผู้เขียนเสียมากกว่า เพราะถือว่าเป็นเจ้าของไอเดียตัวจริง
ด้วยเหตุนี้นักแปลที่ผมพบเจอจึงมักจะทำเพราะ "ใจรัก" มากกว่าจะหวังผลอื่นใด หรือบางทีนี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้หนังสือแปลคุณภาพดี มีจำนวนน้อยก็เป็นได้
หนังสือแปล... แซงหนังสือต้นฉบับ?!
หากดูแค่เพียงผิวเผิน ก็คล้ายกับว่าหนังสือแปลจะทำได้ดีที่สุดเพียงแค่เทียบเท่ากับหนังสือต้นฉบับ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้แปลอาจเพิ่มคุณค่าให้กับหนังสือได้ด้วยเช่นกัน
หนังสือบางประเภทเป็นหนังสือเฉพาะทาง ยกตัวอย่างใกล้ๆ ตัวก็อย่างเช่น หนังสือด้านการเงินและการลงทุน ซึ่งบางทีผู้เขียนก็กล่าวถึงตราสารทางการเงิน เช่น พันธบัตร ตั๋วเงิน หรือหุ้นกู้ โดยไม่ได้อธิบายเพิ่มเติม เพราะรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่อง "พื้นๆ" ทว่าในฐานะผู้แปล หากเรารู้ว่ามีโอกาสที่คนอ่านจะไม่เข้าใจ หรือไม่คุ้นเคย เราก็อาจแทรกคำอธิบายไว้ที่ footnote ได้
หรือบางครั้งมีการกล่าวถึงเหตุการณ์ที่ "ใครๆ ก็รู้" แต่ว่าเป็น "ใครๆ" ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างนี้ผู้แปลก็สามารถเล่าเรื่องเพิ่มเติม หรือเทียบเคียงกับเหตุการณ์ที่คนอ่านอาจจะคุ้นเคยกว่าในเมืองไทย อย่างนี้เป็นต้น
สิ่งที่พบกันบ่อยอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ การใช้สำนวนในภาษาอังกฤษ ซึ่งหากแปลกันตรงๆ โดยไม่รู้ว่าเป็นสำนวน ก็มีโอกาสที่จะเกิดความเข้าใจผิดไปคนละเรื่อง ผู้แปลก็จะมีบทบาทในการหาคำอธิบายที่เหมาะสมกับผู้อ่านซึ่งเป็นคนไทย
จะเห็นได้ว่า สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถหาได้จากหนังสือต้นฉบับ และเป็นโอกาสที่หนังสือแปลจะแซงหน้าหนังสือต้นฉบับได้ หรือถ้ามีใคร "ฟิต" และอยากอ่านหนังสือต้นฉบับภาษาอังกฤษขึ้นมา เขาก็จะต้องทำการค้นคว้าเหล่านี้ในแบบเดียวกับที่ผู้แปลทำ ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าจะต้องใช้เวลาและความพยายามมาก โดยเฉพาะถ้าผู้อ่านเองไม่ได้มีทักษะการอ่านหรือพื้นความรู้เท่ากับนักแปล
อีกมุมหนึ่งซึ่งเป็นความเห็นส่วนตัวของผมก็คือ สำหรับคนไทยแล้ว การอ่านภาษาอังกฤษย่อมใช้เวลามากกว่าการอ่านภาษาไทย และบ่อยครั้งที่การอ่านหนังสือภาษาอังกฤษเล่มโตๆ ต้องจบลงด้วยการ "อ่านค้าง" จากนั้นก็วางทิ้งไว้เป็นเดือนๆ ก่อนที่จะลงท้ายด้วยการ "อ่านไม่จบเล่ม"
ดังนั้น ถ้ามีหนังสือแปลที่แซงหน้าหนังสือต้นฉบับได้ เราก็ควรอ่านมัน แล้วเก็บพลังงานที่เหลือไปอ่านเล่มอื่นๆ ที่ยังไม่มีการแปลเป็นภาษาไทย และนี่ก็คือเทคนิคที่ผมใช้บริหารเวลาในชีวิตจริงครับ
ขอบคุณสำหรับหนังสือแปลดี ๆ ครับ
ตอบลบขอบคุณครับ :D
ลบเวลาที่ต้องแปลหนังสือน่าเบื่อ(ด้วยเนื้อหา สำนวนของผู้เขียน) จะต้องยังไงถึงจะมีความสุขกับการแปลหนังสือเล่มนั้นได้คะ?
ตอบลบอย่างแรก คือ เราต้อง "คัดเลือก" หนังสือต้นฉบับมาก่อนประมาณนึงครับ ผมเคยอ่านหนังสือที่เพื่อนกลั้นใจแปลมาจากต้นฉบับน่าเบื่อ แล้วก็พบว่าความน่าเบื่อนั้นขจัดออกไปได้ยากยิ่ง จนบัดนี้ผมก็ยังอ่านไม่จบ และหนังสือแปลเล่มนั้นก็เป็นผลงานที่เพื่อนของผมไม่อยากพูดถึง
ลบอย่างที่สอง ถ้าเจอหนังสือต้นฉบับที่น่าเบื่ออยู่บ้าง แต่เนื้อหาดีจริง ๆ อย่างนี้แนะนำให้ใช้การ "แปลและเรียบเรียง" เพื่อให้มีอิสระเพิ่มขึ้นในการเรียบเรียงและสร้างเสน่ห์ให้กับหนังสือ ขณะเดียวกันก็กำหนดไว้ในใจว่า "ฉันจะทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นเพชรเม็ดงามให้ได้" ครับ