วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

เครื่องบินเจ้าปัญหา

 


สายการบินแห่งหนึ่งมีเครื่องบินที่แทบไม่ได้ใช้งานอยู่ และที่ไม่ได้ใช้งานนั้นก็ไม่ใช่อะไร แต่เป็นเพราะว่ามันไม่คุ้ม เนื่องจากเป็นรุ่นที่ใช้สำหรับบินพิสัยไกลพิเศษและกินน้ำมันมาก ทุกวันนี้จึงได้แต่จอดไว้เฉยๆ

ฝ่ายบริหารพยายามขายเครื่องบินพวกนี้ออกไป แต่ก็ไม่ค่อยมีใครสนใจนัก ยกเว้นผู้ซื้อรายหนึ่งที่เสนอซื้อมาในราคาที่ต่ำมาก ทำให้ฝ่ายบริหารรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ เพราะถ้าตัดสินใจขาย บริษัทก็จะต้องรับรู้ผลขาดทุนจากการขายเครื่องบินเหล่านี้ในทันที ในทางกลับกัน หากบริษัทไม่ขายเครื่องบินออกไป พวกเขาก็จะต้องทยอยบันทึกการด้อยค่าลงไปในบัญชี และยังต้องเสียค่าซ่อมบำรุงอีกเป็นระยะ

คำถามคือ ถ้าเป็นเรา เราจะทำอย่างไร?


มันแค่เรื่องทางบัญชี...


เพื่อความเป็นธรรมกับฝ่ายบริหาร ผมคงไม่วิพากษ์วิจารณ์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เพียงแต่จะนำเสนอแนวคิดในการตัดสินใจต่อจากจุดนี้ และเชื่อมโยงไปถึงแนวคิดในการลงทุนหุ้นเท่านั้น

ตามมุมมองของผม เครื่องบินเหล่านี้ถือเป็น "สินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้" ไปเรียบร้อยแล้ว เพราะถึงมีอยู่บริษัทก็ไม่ได้ใช้งาน แถมยังต้องมานั่งดูแลรักษาและซ่อมบำรุงอีก ถ้ามองในมุมของ "พ่อรวย" เครื่องบินพวกนี้ถือเป็น หนี้สิน เสียด้วยซ้ำ เพราะนอกจากมันจะไม่สร้างรายได้แล้ว มันยังทำให้บริษัทเสียเงินอีกต่างหาก

เราคงอ่านได้ไม่ยากว่า การครอบครองเครื่องบินพวกนี้ที่แท้เป็นการ "ทำลายมูลค่า" ของบริษัท และการขายพวกมันออกไปก็จะเป็นการหยุดยั้งการทำลายมูลค่านั้น

เหตุผลสำคัญที่ฝ่ายบริหารไม่อยากขายพวกมันออกไปในตอนนี้ก็คือ การทำอย่างนั้นจะทำให้บริษัทต้องบันทึกรายการขายลงไปในบัญชี และรับรู้ผลขาดทุนก้อนโตในทันทีด้วยเช่นกัน เพราะราคาขายอยู่ต่ำกว่าราคาทางบัญชีมาก ซึ่งแน่นอนว่ามันจะทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทที่ย่ำแย่อยู่แล้ว ยิ่งดูแย่ลงไปอีก แต่ข้อดีอยู่ที่บริษัทจะไม่ต้องรับภาระค่าซ่อมบำรุงพวกมันอีกต่อไป

ในทางตรงข้าม หากบริษัทเก็บเครื่องบินพวกนี้ไว้ บริษัทก็เพียงแต่บันทึกการด้อยค่าของพวกมันไปเรื่อยๆ เหมือนกับการทยอยขาดทุน และก็อาจต้องบันทึกค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเรื่อยไป ซึ่งก็เหมือนกับการเจ็บน้อยๆ แต่เจ็บเรื้อรัง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ว่ามานี้เป็นแค่ผลในทางบัญชี เพราะอย่างที่เราทราบกันแล้วว่า การขายเครื่องบินออกไปจะเป็นการหยุดยั้งการทำลายมูลค่าของบริษัท ซึ่งหากตัดเรื่องทางบัญชีออกไปแล้ว ฝ่ายบริหารก็คงตัดสินใจได้ไม่ยาก ตอนนี้จึงเหลืออยู่ที่ว่าพวกเขาจะอยากแค่ "ดูดีทางบัญชี" หรือเปล่า?


สำหรับการลงทุนหุ้น?


นักลงทุนจำนวนไม่น้อยติดกับดักทางบัญชีในลักษณะเดียวกันนี้ พวกเขาไม่กล้าขายหุ้นที่ไม่เอาไหน ถึงแม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าหุ้นพวกนี้เป็นตัวทำลายมูลค่าในพอร์ตของเขา แต่การ "ขายขาดทุน" และรับรู้ผลทางบัญชีในทันที ก็เป็นเรื่องที่เจ็บปวดเกินไป

ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงตัดสินใจเก็บหุ้นเน่าๆ พวกนั้นเอาไว้ก่อน จากนั้นก็นั่งดูมันด้อยค่าลงไปเรื่อยๆ ดีกว่าที่จะตัดใจขายทั้งที่ยังเห็นเป็น "ตัวแดง" (ขาดทุน) อยู่ในพอร์ต

"หุ้นเน่า" ในพอร์ตของเราไม่ได้แตกต่างอะไรกับเครื่องบินที่คอยเผาเงินของบริษัททิ้งไปเรื่อยๆ ถึงตรงนี้หลายคนอาจเริ่มรู้สึกแล้วว่า พอเราได้ยินเคสของบริษัทสายการบิน เราคิดได้ทันทีว่า "เขา" ควรทำอย่างไร อะไรดี อะไรแย่ อะไรคือหลอกตัวเอง... แต่พอเป็นเคสของตัวเองกลับอึกอัก ทั้งที่จริงแล้ว แนวคิดมันก็ไม่ได้แตกต่างกัน

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่า ควรทำอะไร แต่อยู่ที่ กล้าทำหรือไม่ ต่างหาก


ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น


หากย้อนเวลากลับไปได้ และฝ่ายบริหารรู้ว่าเรื่องราวจะออกมาเป็นอย่างนี้ ผมเชื่อว่าพวกเขาคงตัดสินใจไม่ซื้อเครื่องบินพวกนี้มาตั้งแต่ต้น อันที่จริงถ้ามีใครสักคนลองดึงเอกสารที่ศึกษาโครงการนี้เมื่อหลายปีก่อนออกมาตีแผ่ก็คงจะดี จะได้เห็นกันว่าพวกเขามองข้ามความผิดพลาดของเครื่องบินรุ่นนี้และซื้อมันมาได้ยังไง

การเรียนรู้จากความผิดพลาดถือเป็นเรื่องดี น่าเสียดายว่าคนส่วนมาก "อาย" เกินกว่าจะยอมรับและเรียนรู้จากมัน

หากเมื่อไหร่ที่หุ้นชั้นดีของเราแปลงร่างกลายเป็น "หุ้นเน่า" ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ อย่างที่ผมเคยเขียนไว้ในบทความเรื่อง "ผ้าขนหนูสีตก" นั่นก็ถือเป็นบทเรียนชั้นดี และเป็นตัวอย่างชั้นเยี่ยมที่เราจะได้เรียนรู้ แต่ข้อสำคัญก็คือ เราจะต้องจดบันทึกเอาไว้เสมอว่าซื้อหุ้นตัวนั้นตัวนี้มาเพราะอะไร

เพราะบางทีซื้อมาแล้ว นานๆ ไปเราเองก็ลืมเหมือนกันว่าคาดหวังอะไรจากหุ้นตัวนี้บ้าง พอไม่จดก็เลยไม่ได้เรียนรู้ แล้วก็ทำผิดซ้ำๆ อยู่นั่นเอง


หมายเหตุ ภาพประกอบจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 17 ก.ย. 56

1 ความคิดเห็น: