วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

คิดแบบพ่อครัว


วันหนึ่งผมออกไปทานอาหารนอกบ้านกับเพื่อน ขณะที่กำลังเลือกดูเมนูอาหารอยู่นั้น ผมก็พูดขึ้นมาว่า "เอาผัดผักรวมมิตรดีมั๊ย?" เพื่อนผมซึ่งเป็นคนทำกับข้าวเก่งก็รีบบอกว่า "อย่าเลย ผักพวกนี้กำนึงไม่กี่บาท ใส่หมูนิดเดียว ทำเองโยนลงกระทะโครมๆ เดี๋ยวเดียวก็เสร็จแล้ว สั่งอะไรยากๆ ดีกว่า ของพวกนี้เอาไว้ทำกินเองเหอะ"...

ผมคิดว่าคงมีหลายคนที่มีประสบการณ์ทำนองนี้ อาหารง่ายๆ อย่างเช่น ไข่เจียว ผัดผัก หรือหมูทอดกระเทียม บ่อยครั้งที่ถูกสกัดกั้นไม่ให้โผล่ขึ้นมาบนโต๊ะอาหารนอกบ้าน โดยเฉพาะเมื่อไปทานกับคนที่ทำกับข้าวเป็น นั่นก็เป็นเพราะพวกเขาสวมหมวกพ่อครัวและมองว่า "ไม่คุ้ม"

เพื่อนของผมไม่เพียงสวมหมวกพ่อครัวในขณะที่เป็นลูกค้า แต่เขายังคงสวมมันในยามที่เป็นนักลงทุนด้วย เขาบอกว่าเขาชอบหุ้นที่เกี่ยวข้องกับอาหาร เพราะถึงอย่างไรคนเราก็ต้องกิน และร้านพวกนี้ก็ขายอาหารได้แพงๆ ทั้งที่ต้นทุนจริงไม่เท่าไหร่ กำไรของร้านอาหารจึงน่าจะมากมายมหาศาล เขายังบอกอีกว่าเขาได้ซื้อหุ้นในกลุ่มอาหารบางตัวไว้และรู้สึกมั่นใจกับมันมาก


มุมมองเจ้าของร้าน


ผมไม่อยากทำให้อาหารมื้อนั้นหมดอร่อยจึงไม่ได้ว่าอะไรต่อ แต่ที่จริงแล้วผมอยากบอกเขาว่า มุมมองของ "พ่อครัว" กับมุมมองของ "เจ้าของร้านอาหาร" นั้น มีความแตกต่างกันอย่างมาก

มุมมองของพ่อครัวจับจ้องอยู่ที่อาหาร กำไรที่พ่อครัวคิดจึงเป็นการเอาราคาขายหักด้วยต้นทุนวัตถุดิบ หรืออย่างมากก็คิดค่าแก๊สเข้าไปด้วย (อย่างน้อยก็เพื่อนของผมคนนึงล่ะที่คิดแบบนี้) ทั้งที่จริงกิจการร้านอาหารยังมีต้นทุนอย่างอื่นอยู่อีกไม่น้อย ทั้งค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าร้าน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าใช้จ่ายในการสร้างแบรนด์ ค่าตกแต่งร้าน ฯลฯ

ยิ่งไปกว่านั้น กิจการร้านอาหารยังมีต้นทุนแอบแฝงอยู่อีก เช่น วัตถุดิบที่เหลือทิ้งหรือเสื่อมสภาพ ค่าข้าวของเสียหาย ค่าซ่อมแซมอุปกรณ์ เป็นต้น ส่วนการทำกำไรก็จะมีบางวันหรือบางช่วงเวลาที่ขายดี อย่างบางวันฝนตกก็อาจขายได้น้อย การประเมินกำไรต้องมองให้รอบด้านและคิดภาพรวมให้ครบถ้วน ซึ่งทั้งหมดนี้ย่อมต้องอยู่ในใจของเจ้าของร้านทั้งสิ้น

นักลงทุนอยู่ในฐานะผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของบริษัท จึงจำเป็นต้องฝึกฝนตัวเองให้รู้จักมองกิจการจากในมุมของเจ้าของ และในการที่จะทำเช่นนั้นได้พวกเขาก็ต้องมีความรู้ทางธุรกิจ แต่ที่ว่าอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องมีความรู้ฟิ๊ตเปรี๊ยะในระดับที่จะไปเปิดร้านอาหารได้เสียก่อนถึงจะตั้งต้นซื้อหุ้นกลุ่มนี้ได้ เราอาจค่อยๆ เรียนรู้ไปและสะสมหุ้นไปก็ได้ แต่คนที่ทำการบ้านมาก่อนก็จะมีความได้เปรียบและมีความปลอดภัยมากกว่าคนที่ลงทุนไปเรียนรู้ไป

การรู้ "ตื้นลึกหนาบาง" ในตัวกิจการเป็นทีเด็ดของนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ VI และเป็นเสมือนเกราะคุ้มครองที่ทำให้เราอยู่รอดปลอดภัยในตลาดหุ้นได้ โดยเฉพาะเมื่อคนทั่วไปมีความรู้แค่ "ผิวๆ" ซึ่งได้จากการอ่านบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ หรือบางคนก็ไม่อ่านอะไรเลยเสียด้วยซ้ำ

ในการลงทุนในตลาดหุ้นให้ได้ผลตอบแทนดีๆ คุณไม่จำเป็นต้องเก่งกาจผิดมนุษย์มนาแต่อย่างใด คณิตศาสตร์ที่จำเป็นก็อาจจะแค่เลขมัธยมต้น ความรู้บัญชีก็เอาแค่พื้นฐานก็พอ...

สิ่งสำคัญจริงๆ ก็คือ ขอให้รู้จัก "ลงทุนลงแรง" ใส่ความพยายามเข้าไปในจุดที่เหมาะสม และเรียนรู้ธุรกิจด้วยมุมมองเจ้าของกิจการ


มุมมองเรื่องความยากง่าย


อีกประเด็นหนึ่งที่ผมเห็นจากสุดยอดพ่อครัวเพื่อนผมคือ บางทีคนเราก็มองข้ามอะไรที่มัน "ง่ายๆ แต่ได้ผล" อาหารอร่อยไม่จำเป็นต้องทำยากหรือซับซ้อน และที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ "คุณจะสั่งของที่ไม่อยากกินเพียงเพื่อให้คุ้มค่าเท่านั้นน่ะหรือ?" ผมเคยเห็นคนไทยที่อยู่เมืองนอกเดินเข้าร้านอาหารไทยแล้วสั่งเมนูสุดแสนจะเบสิก เช่น ไข่เจียว หรือไก่ย่าง นั่งกินด้วยความปลาบปลื้ม

ในทำนองเดียวกัน นักลงทุนหลายคนที่ผมรู้จักก็เน้นลงทุนในกิจการง่ายๆ ตัวผลิตภัณฑ์ก็ง่าย ขายแบบเดิมไปทุกปี โครงสร้างบริษัทก็ง่าย ไม่มีการควบรวมหรือถือหุ้นไขว้ไปมาให้ปวดหัว โครงสร้างหนี้สินก็ง่าย ไม่ใช่กู้หนี้ก้อนนู้นโปะก้อนนี้ แถมมีหนี้ไม่รู้กี่สกุลเงิน ... พวกเขาไม่ยอมลงทุนในกิจการ "ชั้นเลิศ" ที่โบรกเกอร์หรือใครๆ เชียร์ พวกเขาจะสั่งเฉพาะอาหารที่พวกเขาอยากกินเท่านั้น! คนอื่นจะคิดเห็นอย่างไรก็ช่างเขา

นอกจากนี้ บริษัทชั้นเลิศของเขาไม่จำเป็นต้องใหญ่โตระดับ SET50 หรือ SET100 ก็ได้ ความจริงดีเสียอีก เวลาเงินทุนต่างชาติไหลเข้าไหลออกจะได้ไม่กระทบกับบริษัทมากนัก การที่บริษัทมีขนาดเล็กทำให้กองทุนจำนวนมากไม่สนใจ ข้อดีก็คือ ไม่ต้องมีคนมาแย่งซื้อหุ้น

บางคนบอกว่าซื้อหุ้นตัวใหญ่ถึงจะดี เพราะจะได้มีกองทุนมาคอยพยุงราคาไม่ให้ผันผวนมาก แต่มันก็ไม่แน่เหมือนกันนะครับ เพราะมีหุ้นบางตัวที่ผลการดำเนินงานแย่ลง กองทุนเลยพร้อมใจกัน "ทิ้ง" แบบไม่สนกำไรขาดทุน เล่นเอารายย่อยร้องจ๊ากกันเป็นแถว ป่านนี้ยังติดดอยกันสลอนก็มีให้เห็นเยอะแยะ

สรุปก็คือ ขนาดของกิจการเป็นเรื่องรอง แม้โดยส่วนตัวผมชอบกิจการที่ไม่ใหญ่โตมากนัก แต่ที่สำคัญคือ กิจการต้องไม่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นตัวสินค้าหรือตัวบริษัทก็ตาม


หมวกของคุณ?...


หากคุณตกลงใจซื้อกิจการร้านอาหารเพียงเพราะคิดแบบพ่อครัว บางทีมันอาจลงท้ายด้วยการเจ๊ง เพราะนับแต่วันแรกที่ก้าวเข้าสู่บทบาท "เจ้าของกิจการ" คุณจะคิดเหมือนตัวเองเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ในห้องครัวไม่ได้อีกต่อไป แต่ต้องคิดในฐานะเจ้าของร้านที่เห็นภาพรวมทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในร้านของคุณ และนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราเห็นธุรกิจร้านกาแฟจำนวนมากเกิดขึ้นด้วยใจรัก แต่แล้วก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะเจ้าของร้านใส่หมวกผิดใบ ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง

สิ่งเดียวกันนี้เกิดขึ้นเมื่อคุณซื้อหุ้น ... จริงอยู่ คุณอาจยังมีรายได้หลักมาจากงานประจำ แต่เมื่อใดก็ตามที่คุณโผล่หัวเข้าไปในตลาดหุ้น บทบาทของคุณก็คือ "เจ้าของบริษัท" ไม่ใช่พนักงานตัวเล็กๆ ที่รอฟังคำสั่งจากเจ้านาย และไม่ว่าสัดส่วนการถือหุ้นจะเล็กกระจ้อยร่อยแค่ไหนก็ตาม คุณก็ควรทำมันให้ดีที่สุด

อย่าประมาทคิดว่าเงินน้อยแล้วไม่ต้องใส่ใจนะครับ คนที่รวยในวันนี้ ก็คือคนที่ดูแลเงินของเขามาตั้งแต่ต้น และเงินมันก็ฉลาดครับ ใครดูแลมัน มันก็วิ่งไปหาคนนั้น ส่วนใครชอบส่งมันไปทำงานโง่ๆ มันก็วิ่งหนี เป็นสัจธรรมในโลกการเงิน

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ4 กรกฎาคม 2556 เวลา 11:15

    หนังสือปลุกความคิดของพี่ ไม่ได้ลงบทความทุกบท

    ไม่ทราบว่าจะมีการรวบรวมแล้วพิมพ์บทความใหม่ๆ มั๊ยครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ถ้าเป็นบทความเก่าก็คือคัดมาแล้วครับ แต่สำหรับบทความใหม่ๆ เมื่อมีจำนวนมากพอและสำนักพิมพ์กรุณา (หวังว่านะครับ) ก็คงได้เห็นออกมาเป็นเล่มใหม่ในอนาคตครับ

      ลบ