วันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

วิจัยฝุ่น (PM 2.5) ภาษาชาวบ้าน


ในสถานการณ์ที่คนกรุงเทพฯ ต้องรับมือกับฝุ่นละอองขนาดจิ๋วที่รู้จักกันในนาม PM 2.5 จะมีอะไรดีไปกว่าการศึกษาเรื่องราวของมัน และเปลี่ยนภาษาต่างดาวจากบทความทางวิชาการ มาเป็นภาษาง่าย ๆ อย่างที่ชาวบ้านเข้าใจได้

ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (Particulate Matter) หรือ PM นั้น รัฐบาลของชาติตะวันตกเขามีประสบการณ์และให้ความสำคัญมานานแล้ว อย่างไรก็ตาม ประเทศที่สร้างผลงานวิจัยอย่างจริงจังในระยะหลังกลับกลายเป็นจีน ซึ่งมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับเรื่องนี้เยอะ โดยงานวิจัยมีทั้งที่เกี่ยวข้องกับ PM 2.5 และ PM 10 (ตัวเลขที่พ่วงมา หมายถึง ขนาดของฝุ่น ซึ่งวัดกันเป็น ไมครอน) รวมถึงสารพิษอื่น ๆ อีกหลายตัว แต่ในที่นี้เราจะหยิบมาเฉพาะที่กล่าวถึง PM 2.5 [รายชื่อเอกสารอ้างอิงมีอยู่ที่ท้ายบทความ]


ไปไงมาไง?


สิ่งที่ผู้คนทั่วไปมักจะสงสัย คือ ฝุ่นนี้มันมาจากไหน? แล้วจริง ๆ มันมีทุกปีหรือเปล่า ทำไมปีนี้สถานการณ์จึงหนักหนากว่าที่ผ่านมา

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า PM 2.5 ที่อยู่ในอากาศเป็นฝุ่นที่รวมกันมาจากสองส่วน ส่วนแรกเป็นฝุ่นมลพิษที่เกิดขึ้นจากภายในพื้นที่เอง และส่วนที่สองเป็นฝุ่นมลพิษ “ขาประจำ” ที่ล่องลอยในเขตภูมิภาคของเราอยู่แล้ว ดังนั้น หากเราหยุดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ปล่อยฝุ่นมลพิษในพื้นที่จนหมดเกลี้ยง (สมมติว่าทำได้) เราก็จะกำจัดเฉพาะ ฝุ่นจากในพื้นที่ แต่เพียงเท่านั้น ส่วน ฝุ่นภูมิภาค จะยังคงมีอยู่ต่อไปตามธรรมชาติ การจำแนกฝุ่นสองส่วนนี้ออกจากกันจะทำให้เราทราบว่า ฝุ่นที่เราสามารถบริหารจัดการได้มีปริมาณเท่าใด เมื่อเทียบกับทั้งหมดที่วัดได้

ประเด็นสำคัญ #1: การจำแนก ฝุ่นจากในพื้นที่ กับ ฝุ่นภูมิภาค

ในความคิดของคนทั่วไป แหล่งที่มาสำคัญของฝุ่น PM 2.5 มาจากการยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่งแจ้ง แต่นั่นก็ถือว่าถูกต้องเพียงครึ่งเดียว เพราะที่จริงแล้วฝุ่นมลพิษยังสามารถเกิดขึ้นจากกระบวนการทางเคมีในอากาศ ทำให้เกิดอนุภาคใหม่ขึ้นมาร่วมผสมโรงได้ด้วย

จากรายงานทางวิชาการที่สำรวจปริมาณฝุ่นในเมืองเทียนจิน ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน พบว่าปริมาณฝุ่น PM 2.5 มาจากยานพาหนะ 16%, จากการก่อสร้างและฝุ่นเมือง 30%, จากถ่านหิน 20% และเป็นฝุ่นจากกระบวนการเคมี 28% ส่วนปริมาณฝุ่นในเมืองหนิงโป ซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองเซี่ยงไฮ้ มีสัดส่วนจากยานพาหนะ 15%, จากฝุ่นเมือง 20%, จากถ่านหิน 14% และเป็นฝุ่นจากกระบวนการเคมี 36%

เราคงไม่สามารถสรุปได้ว่า สัดส่วนตามแหล่งที่มาของฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ จะใกล้เคียงกับทั้งสองเมืองนี้มากน้อยเพียงใด จนกว่าจะได้ทำการตรวจวัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ (ไม่ใช่แค่การประมาณตัวเลข แถมยังเป็นตัวเลขทั่วประเทศ) แต่สิ่งหนึ่งที่ผมอยากชี้ให้เห็น คือ ถ้ากรุงเทพฯ ของเรามีฝุ่นจากยานพาหนะอยู่ในระดับ 15-16 เปอร์เซ็นต์ เหมือนอย่างสองเมืองข้างต้นนั้น แม้จะเข้มงวดและลดควันพิษจากรถยนต์ลงได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ผลกระทบในภาพรวมจะมีเพียง 0.20 x 15% = 3% เท่านั้น เราจึงต้องสืบเสาะหาแหล่งที่มาอื่น ๆ ของฝุ่น เพื่อกระทำทุกวิถีทางให้ผลรวมของฝุ่นลดลง ในทางกลับกัน หากเราไม่สำรวจแหล่งที่มาของฝุ่นให้เข้าใจ เราก็จะสาละวนอยู่กับควันรถยนต์ แล้วก็สงสัยว่าทำไมฝุ่นจึงไม่ลดลงเสียที

ประเด็นสำคัญ #2: การจำแนกแหล่งที่มาของฝุ่น


รู้หรือไม่

  • ฝุ่น PM 2.5 สามารถปลิวไปได้ไกลหลายพันกิโลเมตรนับจากแหล่งกำเนิด

  • มีการค้นพบว่าฝุ่น PM 2.5 ราว 40 เปอร์เซ็นต์ของที่วัดค่าได้ เป็นส่วนที่ลอยข้ามมาจากภูมิภาคอื่น (ดังนั้น มาตรการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเขตพื้นที่ ก็จะช่วยได้เฉพาะ 60 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ)

  • ช่วงเวลาและระดับความสูง (เช่น กรณีอยู่อาศัยในตึกสูง) มีผลต่อปริมาณฝุ่น สังเกตได้จากตัวอย่างเมืองเทียนจินในสองรูปต่อไปนี้

  • รูปแรก ที่ระดับความสูง 40 เมตร และระดับพื้นดิน ช่วงเวลาที่น่าสนใจ คือ 6.00-9.00 น. ปริมาณฝุ่นพุ่งขึ้นจากช่วงกลางคืนอย่างเห็นได้ชัด แต่เมื่อพ้น 10.00 น. ปริมาณฝุ่นกลับลดลงอย่างมาก และต่ำที่สุดในช่วง 15.00-16.00 น. ก่อนจะกลับมาคงตัวในช่วงหัวค่ำ


  • ข้อสังเกตจากเรื่องนี้ คือ พวกเราออกจากบ้านแต่เช้าไปสูดฝุ่นในช่วงที่ปริมาณฝุ่นสูงสุดพอดี หากเราสามารถขยับเวลาเริ่มงานเป็นการชั่วคราวในช่วงที่มีวิกฤติฝุ่นครั้งต่อไป ก็จะลดผลกระทบต่อสุขภาพได้มาก

  • รูปที่สอง ที่ระดับความสูง 220 เมตร (เทียบเท่าตึก 73 ชั้น) ปริมาณฝุ่นเริ่มพุ่งขึ้นในช่วง 9.00 น. ซึ่งช้ากว่าฝุ่นที่ระดับพื้นดิน จากนั้นค่อย ๆ ลดลงมาสู่ระดับปกติในช่วง 14.00 น. และช่วงค่ำปริมาณฝุ่นจึงค่อยลดลงต่ำสุด


  • ข้อสังเกต คือ นอกเหนือจากรูปแบบ (โปรไฟล์) ที่แตกต่างกันแล้ว ปริมาณฝุ่นที่ระดับความสูงมาก ๆ โดยเฉลี่ยจะต่ำกว่าปริมาณฝุ่นที่ระดับพื้นดินอย่างชัดเจน แต่ถ้าเป็นความสูงเพียง 40 เมตร (เทียบเท่าตึก 13 ชั้น) ปริมาณฝุ่นจะพอ ๆ กับที่ระดับพื้นดิน

  • จากข้อสังเกตดังกล่าว เราอาจอนุมานได้ว่า ฝุ่นจากในพื้นที่ น่าจะเป็นองค์ประกอบเด่นที่ระดับพื้นดิน และเมื่อสูงขึ้นไปมาก ๆ เช่น 220 เมตร ฝุ่นจากในพื้นที่น่าจะมีสัดส่วนลดลง และทำให้ ฝุ่นภูมิภาค กลายเป็นตัวเด่นแทน
ประเด็นสำคัญ #3: ปริมาณฝุ่นมีความสัมพันธ์กับช่วงเวลา


คำอธิบาย + ปัจจัยประกอบฉาก 


การที่ปริมาณฝุ่นมีความสัมพันธ์กับช่วงเวลา สามารถอธิบายได้จากรอยต่อของชั้นบรรยากาศ ซึ่งจะเป็นขอบเขตที่ “ดัก” ฝุ่นเอาไว้ภายในชั้นบรรยากาศใกล้ระดับพื้นดิน พอถึงตอนเช้าที่ในเมืองเริ่มมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจราจร การก่อสร้าง ฯลฯ ฝุ่นจากภายในพื้นที่ ก็จะเริ่มถูกปล่อยออกมาผสมโรง ทำให้ปริมาณฝุ่นในบรรยากาศชั้นล่าง (ที่ถูกล็อกไว้) ไต่ระดับเพิ่มขึ้น

จนกระทั่งดวงอาทิตย์สาดส่องและอุณหภูมิที่ระดับพื้นดินค่อย ๆ สูงขึ้น อากาศร้อนที่ขยายตัวจะผลักดันให้รอยต่อของชั้นบรรยากาศขยับสูงขึ้นไป และขอบเขตที่ฝุ่นจากระดับพื้นดินจะแพร่ไปได้ก็สูงขึ้นไปด้วย บวกกับ ความเร็วลม ที่ระดับพื้นดินซึ่งจะเพิ่มขึ้นตามอุณหภูมิ สามารถพัดพาฝุ่นบางส่วนออกไปจากเขตเมือง จึงเป็นเหตุผลให้ความหนาแน่นของฝุ่นเริ่มลดลงในช่วงสาย ก่อนที่ทุกอย่างจะกลับคืนสภาพเดิมในช่วงหัวค่ำที่อุณหภูมิเริ่มลดลง

ประเด็นสำคัญ #4: ปัจจัยที่ส่งผลต่อปริมาณฝุ่น

ถึงตรงนี้เรามาสรุปกันดีกว่าว่าอะไรบ้างที่ส่งผลให้ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ลดลง
  • อุณหภูมิ – อุณหภูมิสูงทำให้รอยต่อของชั้นบรรยากาศสูงขึ้น

  • ความเร็วลม – ลมแรงทำให้ระบายฝุ่นออกจากพื้นที่ได้มากขึ้น

  • ทิศทางลม – ลมพัดเข้ามาจากพื้นที่ที่มีฝุ่นน้อย

  • ปริมาณฝน – ปริมาณฝนที่มากทำให้ PM 2.5 ลดลง [ดูภาพประกอบ]

จากการเก็บข้อมูลที่เมืองเทียนจิน หลังจากฝนตกในวันที่ 22-24 กรกฎาคม ปรากฏว่าปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในวันที่ 25 ลดลงอย่างฮวบฮาบ


ทั้งนี้ อยากให้สังเกตว่า แม้จะมีวัฏจักรของการ “ล้างฝุ่น” จากการที่ฝนตก แต่นั่นก็ช่วยได้เพียงชั่วคราว (สังเกตจากการที่ฝุ่นลดลง แต่หลังจากนั้นก็พุ่งขึ้นไปใหม่) เพราะเมื่อใดที่พื้นที่ของเราสะอาด ฝุ่นจากพื้นที่ใกล้เคียงก็จะ แพร่ เข้ามาตามหลักวิทยาศาสตร์ จากพื้นที่ที่มีความหนาแน่นมากไปสู่พื้นที่ที่มีความหนาแน่นน้อย ดังนั้น ถ้าอยากอยู่ได้อย่างสงบสุขถาวร เราก็จะต้องลดฝุ่นในทุกพื้นที่พร้อม ๆ กัน ไม่ใช่เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ หรือจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง ซึ่งอาจใช้เวลานานหน่อย แต่จะให้ผลดีในระยะยาว

งานวิจัยเกี่ยวกับฝนที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง คือ ฝนสามารถลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ลดได้ราว 56 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่น่าแปลกใจอยู่ที่ว่าช่วง 1 ชั่วโมงแรกหลังฝนตก ปริมาณฝุ่นยังไม่เปลี่ยนแปลงเท่าใดนัก แต่หลังจากนั้นฝุ่นจะค่อย ๆ ลดลงใน 12 ชั่วโมงถัดมา คำถามที่ชวนให้คิด คือ ถ้าน้ำฝนสามารถชะล้างฝุ่นในอากาศได้โดยตรง ปริมาณฝุ่นควรจะลดลงโดยทันทีมิใช่หรือ? หรือหากไม่เป็นเช่นนั้น มีกลไกอะไรภายหลังฝนตกที่ทำให้ฝุ่นลดลง ...น่าเสียดายบทความทางวิชาการที่หยิบยกมาไม่ได้บอกตรงนี้ไว้

ประเด็นสำคัญ #5: ถ้าน้ำฝนไม่สามารถชะล้างฝุ่นในอากาศได้โดยตรง การบรรทุกน้ำมาฉีดพ่นไปในอากาศจะช่วยลดฝุ่นได้จริงหรือ

ถึงตรงนี้เราคงได้คำตอบแล้วว่า ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร มาจากไหน ส่วนที่ว่าปีนี้ทำไมสถานการณ์จึงหนักกว่าที่ผ่านมา ก็น่าจะย้อนรอยจากปัจจัยเกื้อหนุนที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งได้แก่ อุณหภูมิ, กระแสลม, ปริมาณฝน รวมถึงปัจจัยตามฤดูกาลอื่น ๆ (เช่น ความกดอากาศ และความชื้น) ที่น่าจะเหมาะเจาะสำหรับการกักเก็บฝุ่น บวกกับความเป็นไปได้ที่กรุงเทพฯ และบริเวณโดยรอบเองก็มีการ “ผลิตฝุ่น” มากขึ้นด้วย เนื่องจากเราไม่ได้วางแผนระยะยาวที่ดีเพียงพอเอาไว้ตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน


โมเดลฝุ่น


เพื่อให้เห็นภาพอย่างเป็นรูปธรรม ผมอยากนำเสนอโมเดลอย่างง่ายที่อธิบายเรื่องฝุ่น PM 2.5 ตามภาพนี้


จะเห็นว่า input ของฝุ่น ได้แก่ ฝุ่นที่พัดหรือแพร่เข้ามาจากภูมิภาคข้างเคียง (A) และฝุ่นที่ก่อขึ้นมาจากในพื้นที่ (B) ส่วน output ของฝุ่น ได้แก่ ฝุ่นที่ถูกชะล้างหรือกำจัดไปในพื้นที่ (C) และฝุ่นที่พัดหรือแพร่ออกไปสู่ภูมิภาคข้างเคียง (D) ทั้งนี้ หากฝุ่นส่วนมากถูกดักเอาไว้ด้วยรอยต่อของชั้นบรรยากาศอย่างสมบูรณ์ เราจะสามารถเขียน ปริมาณฝุ่นที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ (T) ได้ว่า

T = A + B – C – D

เนื่องจาก A และ D เป็นส่วนที่ขึ้นอยู่กับกระแสลมและสภาพดินฟ้าอากาศตามฤดูกาล ซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ เราจึงสามารถจัดรูปสมการข้างต้นใหม่ได้ว่า T = (A – D) + (B – C) โดยที่พจน์หลัง (B – C) เป็นฝุ่นส่วนที่สามารถบริหารจัดการได้ และเราจะมุ่งเน้นที่จุดนี้

ฝุ่นที่ก่อขึ้นจากในพื้นที่ (B) อาจมาจากยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยไอเสีย การเสียดสีของยางรถ หรือฝุ่นที่เกิดขึ้นจากการเบรก, ฝุ่นคอนกรีตที่มาจากการก่อสร้าง, ฝุ่นที่ฟุ้งจากพื้นดิน, ฝุ่นจากโรงงานอุตสาหกรรม และฝุ่นที่มาจากการเผาในที่โล่งแจ้ง การตรวจวัดและจำแนกแหล่งที่มาของฝุ่นมีความสำคัญในแง่ที่ทำให้เราสามารถ “เลือกใช้” มาตรการที่หนักเบาตามระดับการก่อฝุ่นได้อย่างเหมาะสม

ตัวอย่างเช่น สมมติว่าฝุ่นจากการก่อสร้างมีสัดส่วน 40 เปอร์เซ็นต์ ภาครัฐอาจเพิ่มความเข้มงวดและสั่งให้หยุดการก่อสร้าง หากพบว่าเขตก่อสร้างใดปล่อยฝุ่นออกมาเกินมาตรฐาน ขณะเดียวกันก็ไม่จำเป็นต้องไปสั่งหยุดโรงงาน หากฝุ่นจากแหล่งดังกล่าวมีสัดส่วนน้อยจนได้ไม่คุ้มเสีย อย่างนี้เป็นต้น

สำหรับฝุ่นที่ถูกชะล้างหรือกำจัดไปในพื้นที่ (C) อาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ฝนตก หรือเกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การกำจัดฝุ่นด้วยเครื่องมือ การล้างทำความสะอาด และการพ่นละอองน้ำหรือสารเคมีเพื่อดักจับฝุ่นในอากาศ

เมื่อใดก็ตามที่อัตราเร็วในการชะล้าง/กำจัดฝุ่น สูงกว่าอัตราเร็วในการสร้างฝุ่นใหม่ (C > B) เช่น กรณีที่ฝนตกแรง ๆ ปริมาณฝุ่นที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ หรือ T ก็จะติดลบ (สมมติในเบื้องต้นว่าผลรวมของฝุ่นที่เข้าและออกจากภูมิภาคข้างเคียงเป็นศูนย์ คือ A = D) นั่นหมายความว่า ปริมาณฝุ่นในพื้นที่จะลดลง ในทางคณิตศาสตร์ เหตุการณ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นได้ถ้าตัว C มีค่ามาก หรือไม่ก็ตัว B มีค่าน้อย หรือทั้งสองอย่าง

มีข้อสังเกตสองประการที่น่าสนใจ (แต่อาจไม่เป็นจริงก็ได้) ประการหนึ่ง คือ เป็นไปได้หรือไม่ว่าฝนที่ตกลงมาอาจไม่ได้ชะล้างฝุ่นละอองในอากาศโดยตรง สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่าปริมาณฝุ่นไม่ได้ลดลงโดยทันทีหลังฝนหยุด แต่ฝนอาจไปชะล้างฝุ่นบนถนนและพื้นดินจนไม่สามารถฟุ้งกลับขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นการลดตัว B มากกว่าที่จะไปเพิ่มตัว C

ประการที่สอง เป็นข้อสังเกตของ โธมัส ทาลเฮล์ม อาจารย์จากวิทยาลัยธุรกิจของมหาวิทยาลัยชิคาโก ซึ่งสังเกตว่าฝนที่ตกหนักในกรุงปักกิ่งบางครั้งก็ไม่ได้ช่วยให้ฝุ่น PM 2.5 ลดลง พร้อมกับอ้างอิงผลการศึกษาจากประเทศจีนที่พบว่าฝนช่วยชะล้างฝุ่นอนุภาคใหญ่ได้ แต่ไม่ค่อยมีผลต่อฝุ่นอนุภาคเล็ก ทาลเฮล์มตั้งข้อสังเกตว่าบางที “ลม” ที่มาพร้อมกับฝนมากกว่าที่เป็นตัวพัดพาฝุ่นออกไป ซึ่งแบบนี้ก็หมายความว่า D > A และส่งผลให้ T ติดลบได้เหมือนกัน

ประเด็นสำคัญ #5 (new): น้ำฝนและการฉีดพ่นน้ำไม่น่าจะสามารถชะล้างฝุ่น PM 2.5 ในอากาศได้โดยตรง


นอกบ้าน vs ในบ้าน 


การกำจัดฝุ่น PM 2.5 นอกบ้านภายในระยะเวลาอันสั้น ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ ทางเลือกของประชาชนทั่วไปจึงอยู่ที่
  1. การปรับพฤติกรรมให้สอดคล้องกับคุณภาพอากาศนอกบ้าน เช่น หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านในช่วงเช้า (ถ้าทำได้), ใส่หน้ากากป้องกันมลพิษ และลดระยะเวลาที่ต้องอยู่นอกบ้าน

  2. ปรับปรุงคุณภาพของอากาศภายในบ้านหรืออาคาร

มีผลการศึกษาระบุว่าผู้คน 60 เปอร์เซ็นต์จะใช้วิธี “ปิดหน้าต่าง” เมื่อคุณภาพอากาศแย่ แต่แม้จะทำเช่นนั้น 54-63% ของฝุ่น PM 2.5 ภายในอาคาร ก็เป็นฝุ่นที่มาจากนอกอาคารอยู่ดี และยิ่งถ้าเปิดหน้าต่าง ตัวเลขก็จะขยับขึ้นเป็น 92% โน่นเลย สรุปง่าย ๆ ก็คือ อากาศภายในอาคารจะดีหรือแย่ไปตามอากาศนอกอาคาร เพียงแต่จะดีเลย์หรือช้ากว่ากันประมาณ 1-2 ชั่วโมง

หากจะกล่าวโดยทั่วไป ฝุ่น PM 2.5 สามารถเกิดขึ้นภายในอาคารเอง เช่น จากการหุงต้มอาหาร การล้างทำความสะอาด และจากกิจกรรมต่าง ๆ อย่างการจุดยากันยุงแบบขด หลายท่านไม่ทราบว่ายาจุดกันยุงแบบนี้สร้างฝุ่น PM 2.5 ได้ถึง 626 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร หรือสูงเกินมาตรฐานความปลอดภัยของประเทศไทยกว่า 11 เท่าตัว นี่เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

ประเด็นสำคัญ #6: ถ้าไม่รู้จะทำอย่างไร อย่างน้อยปิดหน้าต่างก็ช่วยได้มาก ขณะเดียวกันก็ระวังไม่ทำกิจกรรมที่จะสร้างฝุ่น PM 2.5 ภายในอาคารเสียเอง 

สำหรับฝุ่น PM 2.5 จากนอกอาคาร นอกจากจะผ่านเข้ามาทางหน้าต่างหรือช่องเปิดต่าง ๆ แล้ว ยังสามารถแทรกซึมผ่านช่องหรือรอยแตกของอาคารเข้ามาได้ด้วย บางท่านอาจเข้าใจว่ารอยแตกหรือช่องตามขอบประตู/หน้าต่างเหล่านั้นเล็กนิดเดียว ไม่น่าจะมีผลอะไร แต่ในความเป็นจริงอากาศ (และฝุ่น) สามารถผ่านเข้ามาในอาคารได้อย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน โดยรวมแล้วจึงส่งผลต่อคุณภาพอากาศภายในอาคารได้มากทีเดียว

ปัจจัยที่ทำให้ฝุ่นสามารถซึมผ่านช่องหรือรอยแตกได้มากหรือน้อย ประกอบด้วย

  • ขนาดอนุภาค – ฝุ่นอนุภาคเล็กสามารถแทรกตัวเข้ามาได้โดยสะดวกมากกว่าฝุ่นที่มีอนุภาคใหญ่

  • ความดันอากาศ – หากความดันอากาศภายนอกสูงกว่าภายใน (เช่น เมื่อภายนอกมีอากาศนิ่ง แต่ภายในอาคารเป็นอากาศไหล) การแทรกซึมเข้าสู่ภายในอาคารจะมีมากขึ้น

  • รูปทรงของช่องหรือรอยแตก – หากเป็นช่องตรง ๆ ฝุ่นจะสามารถผ่านได้สะดวกกว่าช่องซิกแซกหรือมีเหลี่ยมมุม

  • ผิวสัมผัสของรอยแตก – หากรอยแตกมีผิวค่อนข้างเรียบ การแทรกซึมจะเป็นไปได้ง่ายกว่า


ประเด็นสำคัญ #7: การซ่อมแซมรอยแตกและปิดช่องต่าง ๆ เตรียมเอาไว้ก่อนอาจเป็นความคิดที่ดี

ทั้งหมดที่ว่ามานี้เป็นมาตรการสำหรับ “บรรเทา” ฝุ่น PM 2.5 ภายในอาคาร ซึ่งอาจช่วยยืดระยะเวลาที่ฝุ่นจะบุกเข้ามาในบ้านได้ แต่ถ้าจะให้ดีจริง ๆ ควรมีการติดตั้งเครื่องกรองอากาศที่สามารถกรองฝุ่นอนุภาคเล็ก เหมาะสมกับพื้นที่ใช้งาน และเหมาะสมกับเงินในกระเป๋าด้วย

หวังว่าเนื้อหานี้จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่านที่ต้องเผชิญกับฝุ่นจิ๋วในปีนี้และปีต่อ ๆ ไปครับ


------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง ตัวเลขและภาพประกอบ (ยกเว้นภาพโมเดล) มาจากเอกสารต่อไปนี้

[หมายเหตุ: ภาพประกอบบางภาพมีการปรับปรุงเพื่อให้อ่านง่ายขึ้น]

Yaolin Lin et al., A Review of Recent Advances in Research on PM2.5 in China, International Journal of Environmental Research and Public Health

Han et al., Evaluation of Regional Background Particulate Matter Concentration based on Vertical Distribution Characteristics, Atmospheric Chemistry and Physics

Feng and Wang, Influence of different weather events on concentrations of particulate matter with different sizes in Lanzhou, China, Journal of Environmental Sciences

1 ความคิดเห็น: