วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2555

ว่าด้วย Zero-sum Game


หากเราพูดคุยกับบรรดาคอหุ้นขาจร สิ่งที่เราจะได้ยินบ่อยครั้งคือประโยคที่บอกว่า "ถ้าคนหนึ่งกำไร อีกคนหนึ่งก็ขาดทุน" ฟังดูเหมือนกับว่าตลาดหุ้นเป็นแหล่งหมุนเวียนเงินจากคนฉลาดน้อยไปสู่คนฉลาดมาก หรือจากคนที่ช้าไปหาคนที่เร็ว หรือจากคนประมาทไปยังคนรอบคอบ

ภาษาหรูๆ หน่อยเขาบอกว่าหุ้นเป็น zero-sum game นั่นคือ ผลรวมของกำไรขาดทุนเป็นศูนย์ สมัยแรกที่เริ่มลงทุนผมเองก็เชื่ออย่างนั้นเหมือนกัน และมันก็ดูว่าน่าจะใช่นะ แต่ว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่า?

ดูเหมือนพระเอกกับผู้ร้ายจะผลัดกันได้เปรียบเสียเปรียบ คงต้องตามดูกันว่าตกลงแล้วผลจะออกมาเป็นอย่างไร


ดร.นิเวศน์: หุ้นไม่ใช่ zero-sum game
เมื่อผมอ่านหนังสือของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เซียนหุ้นคุณค่าของเมืองไทย จำไม่ได้แล้วว่าเล่มไหน ท่านบอกว่าหุ้นไม่ใช่ zero-sum game โดยให้เหตุผลว่าหากบริษัทมีผลประกอบการดีและตัวบริษัทมีมูลค่ามากขึ้น ทั้งคนขายและคนซื้อหุ้นอาจจะกำไรทั้งคู่เลยก็ได้

ตัวอย่างเช่น ผมซื้อหุ้นมาที่ราคาหุ้นละ 40 บาท หนึ่งปีผ่านไปมีคนซื้อหุ้นต่อจากผมไปที่ราคา 48 บาท เท่ากับว่าผมได้กำไร 8 บาท ถามว่าคนที่ซื้อหุ้นไปจะต้องขาดทุนงั้นสิ? ไม่เลยครับ ถ้าหากว่าระหว่างปีที่ผ่านมากำไรของบริษัทนี้โตขึ้นพร้อมไปกับราคาที่แพงขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่าบริษัทมีการเติบโตทำให้มูลค่าหุ้น ณ ตอนนี้ย่อมจะต้องสูงกว่ามูลค่าเมื่อปีที่ผ่านมา และบางทีถ้าผู้ซื้อเอาหุ้นไปขายต่อในอีก 1 ปีถัดไป เขาอาจจะขายได้ที่ราคา 60 บาทก็เป็นได้ นี่คือเหตุผลที่เราเห็นหุ้นค้าปลีกบางตัวดูเหมือนจะแพงแล้วแพงอีก แต่ราคาก็ยังขึ้นได้อยู่เรื่อยๆ

สรุปว่าถ้าหุ้นโต มันก็ไม่ใช่ zero-sum game


แต่ถ้าย่นย่อเวลาเข้ามา...

การที่เราพูดถึงระยะเวลาที่ค่อนข้างนาน เช่น 1 ปี ย่อมทำให้เราเห็นการเติบโตของหุ้นได้อย่างชัดเจน แต่ถ้าเราพูดถึงระยะเวลาแค่ 1-2 วันล่ะ ลองคิดง่ายๆ ถ้าบริษัทโต 20% ต่อปี หรือคิดเป็น 0.05% ต่อวัน ซึ่งเป็นขนาดการเติบโตที่แทบจะมองไม่เห็นเลยก็ว่าได้ และด้วย time frame สั้นขนาดนี้ ผมคิดว่าคงจะแฟร์ถ้าจะบอกว่าเราสามารถมองการเทรดหุ้นรายวันเป็น zero-sum game ได้

จากตัวอย่างเดิมเราได้เห็นการซื้อขายหุ้นที่เป็น win-win คือ คนขายได้กำไร คนซื้อก็(น่าจะ)ได้กำไร แต่ถ้าการซื้อขายดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วเวลาไม่ถึงหนึ่งวัน แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่หุ้นจะโตจนสร้างมูลค่าให้กับทั้งผู้ซื้อและผู้ขายในเวลาเดียวกัน เท่ากับว่าผู้ซื้อและผู้ขายต่างต้องแย่งกันชิงไหวชิงพริบในเกมที่กลับมาเป็น "near" zero-sum game เกมที่กำไรของนักลงทุนไม่ได้เกิดจากความสามารถของตัวบริษัท แต่เกิดจากการแกว่งตัวของราคาหุ้น ในกรณีนี้หุ้นจะทำหน้าที่เป็นแค่ตัวอ้างอิงราคา แต่ไม่ได้ถูกมองในแง่มุมของ "ความเป็นเจ้าของกิจการ" อีกต่อไป

ถึงตอนนี้ดูเหมือนว่าการเล่นหุ้นระยะสั้นจะเป็น zero-sum game


เจ้ามือแทรกแซง

อย่า เพิ่งคิดว่าผมจะพาดพิงไปถึงเจ้ามือปั่นหุ้นอะไรทำนองนั้นนะครับ เจ้ามือตามความหมายของผมในที่นี้คือ โบรกเกอร์ นั่นเอง ในการซื้อขายหุ้นเราๆ ท่านๆ ไม่สามารถสั่งซื้อขายได้เองโดยตรง แต่ต้องส่งคำสั่งผ่านโบรกเกอร์ โบรกเกอร์จึงเป็นเสมือนเจ้ามือที่คอยอำนวยความสะดวกและเก็บค่าธรรมเนียมจากเราไม่ว่าเราจะทำอะไร

ในเกมที่ผู้เล่น 2 ฝ่ายลงเงินคนละ 100 บาท เจ้ามือชักไป 1 บาท จากนั้นผู้เล่นทั้งสองฝ่ายต่างชิงไหวชิงพริบเอาเงินจากกองกลาง 199 บาทมาเป็นของตัวเองให้ได้มากที่สุด เกมนั้นคือการ "เล่นหุ้น" ผมตอบไม่ได้ว่าฝ่ายไหนจะชนะ แต่ที่แน่ๆ เจ้ามือเก็บไปก่อนแล้ว 1 บาท และทุกครั้งที่คุณแก้มือ เจ้ามือก็จะเก็บไปอีก 1 บาท ดังนั้น นอกจากจะชิงไหวพริบเอาชนะฝ่ายตรงข้ามแล้ว คุณยังจะต้องคำนึงถึงค่าต๋งที่เจ้ามือเก็บไปด้วยนะครับ

ในเกมที่เจ้ามือมีการเก็บค่าต๋งทำนองนี้ ผลที่ได้คือเกมย่อมไม่ใช่ zero-sum แต่จะติดลบอยู่นิดๆ คนเล่นหุ้นระยะสั้นที่มีฝีมือปานกลางจึงมีแนวโน้มที่จะขาดทุนในระยะยาว


สรุป

ซื้อหุ้นระยะยาว
- ถ้าหุ้นเติบโตก็เป็น positive-sum
- ถ้าหุ้นไม่เติบโตก็เป็น zero- หรือ negative-sum

เล่นหุ้นระยะสั้น
- หุ้นจะโตหรือไม่โตก็ไม่ค่อยมีผล แต่ยังไงก็เป็น negative-sum

ข่าวดีก็คือ ไม่ว่าจะเป็นแนวไหนก็ตาม ถ้าฝีมือของเราเกินค่าเฉลี่ยเราก็สามารถผลักให้กำไรของเราเป็นบวกได้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น