วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555
เทนนิสกับการลงทุน
ความจริงเทนนิสเป็นกีฬาที่ผมรู้สึกว่าค่อนข้างไกลตัว เพราะต้องมีคอร์ตมีสนามเป็นเรื่องเป็นราว ไม่เหมือนกับแบดมินตันที่คว้าแร็กเก็ตออกไปหน้าบ้านก็ตีได้แล้ว ส่วนมากผมจึงมักได้ดูเทนนิสผ่านหน้าจอทีวีเสียมากกว่า ระยะหลังพบว่าแม้กระทั่งสาวๆ ก็หันมาสนใจเทนนิสกันมากขึ้น แต่สอบถามไปมาแล้วพบว่าดูนักเทนนิสมากกว่าที่จะดูเกม
เชื่อว่าแม้แต่คนที่ไม่ได้ใส่ใจกับเทนนิสก็คงจะพอได้ยินชื่อ "โรเจอร์ เฟเดอเรอร์" หรือ "ราฟาเอล นาดาล" หรือถ้าย้อนไปไกลๆ ก็อาจจะเป็น "อังเดร อากัสซี" หรือ "พีท แซมพราส" ขึ้นอยู่กับอายุของคุณ นักเทนนิสเหล่านี้ต่างเคยขึ้นเป็นมือหนึ่งของโลกมาแล้วทั้งสิ้น แต่ละคนมีช่วงรุ่งเรืองและช่วงตกต่ำซึ่งไม่ต่างอะไรกับหุ้นในตลาดเลย
Biasness ในโลกของเทนนิส
ในปี 2003 ชื่อของ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ เริ่มฉายแสงเจิดจรัสด้วยชัยชนะในการแข่งขันที่วิมเบิลดัน ประเทศอังกฤษ จากนั้นเป็นต้นมาเขาก็ชนะรายการแล้วรายการเล่าและขึ้นครองมือ 1 ของโลกอย่างเหนียวแน่น ถ้ามีคนตั้งคำถามว่าเขาจะสามารถทำลายสถิติชนะแกรนด์สแลม 14 รายการของ พีท แซมพราส ได้หรือไม่ คนตอบทุกคนจะตอบว่า "แน่นอน!" แถมบางคนยังคิดไปไกลว่าเขาจะชนะได้ถึง 20 รายการด้วยซ้ำ
ในภาวะที่เฟเดอเรอร์กำลังขึ้นถึงจุดสูงสุดของอาชีพและก็ยังไม่แก่เสียด้วย ใครก็ต้องคิดว่าเขาจะ "ชนะไปได้เรื่อยๆ" ...ตราบจนกระทั่งมีดาวดวงใหม่ชื่อ ราฟาเอล นาดาล โผล่เข้ามา
นาดาลเป็นนักเทนนิสสไตล์วิ่งสู้ฟัด เขาโดดเด่นมากบนคอร์ตดิน (clay court) เมื่อไหร่ที่ไปดวลกับเฟเดอเรอร์บนคอร์ตดินเขาก็มักจะเอาชนะได้ ที่จริงแล้วเฟเดอเรอร์บนคอร์ตดินก็จัดว่าดี เพียงแต่ไม่ได้เด่นเท่ากับนาดาลเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมแล้วเฟเดอเรอร์ก็เหนือกว่านาดาลเรื่อยมา ...เราคิดว่าเฟเดอเรอร์จะยังคง "ชนะไปได้เรื่อยๆ" ใช่มั๊ยครับ
ผิดแล้วล่ะครับ... นาดาลพัฒนาฝีมือของตัวเองบนคอร์ตประเภทอื่นจนกระทั่งขึ้นมาเทียบเคียงกับเฟเดอเรอร์ซึ่งในวงการถือว่าเป็น "ระดับเทพ" และสามารถแซงขึ้นเป็นมือ 1 ของโลกได้ในที่สุดชนิดที่ใครๆ ก็อ้าปากตาค้าง นาดาลพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้งและชนะการแข่งขันรายการแล้วรายการเล่า ถึงตรงนี้ทุกคนก็คิดว่าหมอนี่เป็นเทพองค์ต่อไปและต่างก็คิดว่านาดาลจะ "ชนะไปได้เรื่อยๆ"
Biasness ในโลกของการลงทุน
เราอาจจะเคยพบหุ้นบางตัวที่อยู่ๆ ก็ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่น ซึ่งอาจจะเป็นผลพวงจากการปั่นหุ้นธรรมดาหรืออาจจะเป็นหุ้นที่มีดีจริงๆ ก็ได้ หุ้นดังกล่าวดูเหมือนจะแพงแล้วแต่ก็ยังคงมีคนอยากซื้อ ผลักดันให้ราคาของมัน "แพงแล้วแพงอีก" ในระยะแรกผลประกอบการของบริษัทอาจยังพอรองรับความแพงนั้นได้ แต่เมื่อหุ้นวิ่งไปนานๆ ผลประกอบการก็ตามไม่ทันเหมือนกัน เมื่อประเมินมูลค่าหุ้นด้วยค่า P/E หรือวิธีอื่นใด จะมองมุมไหนมันก็แพง(ไปแล้ว) แต่เราก็รู้สึกว่ามันยังน่าจะไปต่อได้ เพราะแม้แต่โบรกเกอร์ก็ยังบอกว่ามันน่าจะไปต่อได้
ในตอนนั้นเองกรอบความคิดของเราไม่ต่างอะไรจากแฟนเทนนิสที่คิดว่าผู้เล่นคนโปรดของเขาจะยัง "ชนะไปได้เรื่อยๆ" ในทำนองเดียวกันเราก็คิดว่าหุ้นตัวนั้น "น่าจะไปต่อได้"
ถ้าคิดจากพื้นฐานของบริษัท มันชัดเจนว่าหุ้นนี้ไม่ใช่แค่เริ่มแพง แต่ว่ามันแพงมานานแล้ว ทว่าการที่เราพล็อตกราฟและมองเห็นแนวโน้มขาขึ้นหรือ uptrend ที่แข็งแกร่งส่งเสริมทัศนคติที่บอกว่าราคาหุ้นน่าจะไปต่อได้ ผลที่เกิดขึ้นคือเราตัดปัจจัยพื้นฐานออกไปโดยไม่รู้ตัวและตัดสินใจซื้อ
ไม่มี Cut Loss
หากคุณเป็นนักเล่นหุ้นแนวเทคนิคและตัดสินใจซื้อที่แนวโน้มขาขึ้น ผมคิดว่ามันก็โอเคครับ ซื้อด้วยเทคนิค ออกด้วยเทคนิค แล้วก็ตั้งจุด cut loss เอาไว้ด้วย ซึ่งมันก็เป็นกลยุทธ์ที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม คนที่ซื้อด้วยทัศนคติ (ที่ว่าหุ้นน่าจะไปต่อได้) มักไม่มีการตั้งจุด cut loss อาจเป็นเพราะว่ามันขัดกับทัศนคติของเขา (ก็เขาเชื่อว่าหุ้นยังไปต่อได้นี่)
สิ่งที่ผมเรียนรู้จากเรื่องนี้คือ biasness ในโลกของการลงทุนจะดึงเราออกจากเหตุผล (ปัจจัยพื้นฐานหรือปัจจัยเทคนิคก็ตามที) อย่าใช้มันในการลงทุน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ถ้าอยากลองตีเทนนิสก็ขอให้บอกมา มาเล่นด้วยกันได้ครับ นี่ผมก็ไม่ได้เล่นนาน สนิมเกาะหมดแล้ว
ตอบลบเอาสิ สอนด้วยนะ ไม่งั้นจะตีเหมือนตีแบด
ตอบลบ