วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2555

พรานโซรอส นิทาน Anti-VI


แม้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ จะถือเป็นสุดยอดนักลงทุนแนว VI และเป็นนักลงทุนที่รวยที่สุดในโลก แต่ถ้านับกันเป็น "ต่อปี" แล้วก็ยังแพ้ผู้จัดการกองทุนเฮ็ดจ์ฟันด์นามว่า จอร์จ โซรอส อยู่พอสมควร (บัฟเฟตต์ทำผลตอบแทนได้ 24.7% ต่อปี ระหว่างปี 1956-2002 ขณะที่โซรอสทำได้ 28.6% ต่อปี ระหว่างปี 1969-2002) นอกจากนี้เรื่องราวของโซรอสในนิทานก็ยังโลดโผนกว่ามาก...


เราไม่ต้อนรับพรานโซรอส!

ในเมืองเล็กๆ ท่ามกลางขุนเขา ผับดูเหมือนจะเป็นที่รวมของผู้คน ทั้งพรานหนุ่มซึ่งเปี่ยมด้วยกำลังและพรานเฒ่าซึ่งเปี่ยมด้วยประสบการณ์ ต่างก็ดื่มเบียร์พูดคุยกันอย่างออกรส บ้างก็โม้กันเรื่องล่าสัตว์ บ้างก็ปรึกษาหาวิธีล่าสัตว์ใหม่ๆ แต่ครั้นเสียงกระดิ่งหน้าร้านดังขึ้น เสียงพูดคุยก็เงียบลงราวกับปิดสวิตซ์

"มีอะไรหรือครับ" พรานหนุ่มคนหนึ่งกระซิบถาม

"จะอะไรซะอีก ก็ไอ้พรานโซรอสน่ะสิ! พูดแล้วของขึ้น" พรานเฒ่าตอบแบบไม่สบอารมณ์ พลางมองตามเด็กในร้านที่ถือเบียร์ 3-4 กระป๋องเดินออกไปข้างนอก "อันโตนิโอ แกจำไว้นะ พรานโซรอสมันเก่งก็จริงแต่มันล่าสัตว์ด้วยวิธีชั่วร้าย พวกเราในที่นี้เกลียดมันทุกคน"

พรานอันโตนิโอเดินออกมาหน้าร้าน เห็นป้ายเขียนไว้ตัวโต "ยินดีต้อนรับทุกท่าน ยกเว้นพรานโซรอสกรุณารอข้างนอก" พรานหนุ่มเกาหัวด้วยความงุนงง เขายังเห็นหลังของใครบางคนไวๆ บางทีอาจจะเป็นพรานโซรอสก็ได้ เขาจึงรีบตามไปโดยทันที

"ท่านคือพรานโซรอสหรือ" พรานหนุ่มถาม น้ำเสียงยังกระหืดกระหอบอยู่

"ข้าจะเป็นใครไปได้" พรานเฒ่าตอบเรียบๆ "ผู้คนไม่ค่อยต้อนรับข้านักหรอก เข้าไปในผับคราวล่าสุดคนก็โห่ไล่ ทั้งขวดทั้งแก้วปลิวว่อน"


เรื่องเล่ารอบกองไฟ

พรานโซรอสเดินนำไปจนถึงกลางป่าที่หนาวเย็น มีใครบางคนก่อกองไฟรออยู่ เขาแนะนำให้พรานอันโตนิโอรู้จักกับพรานครักเคนมิลเลอร์ ที่จริงอันโตนิโอเคยได้ยินเรื่องราวของสองคนนี้อยู่เหมือนกัน พรานโซรอสได้ชื่อว่าเป็นนายพรานที่ช่ำชองการล่าสัตว์ "แปลกๆ" เป็นอย่างมาก ขณะที่พรานดรักเคนมิลเลอร์จัดได้ว่าเป็นลูกมือชั้นยอดที่ผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี

ครั้งหนึ่งพรานดรักเคนมิลเลอร์เห็นช่องทางที่จะจับหมีซึ่งจะทำเงินได้มหาศาล จึงขุดหลุมดักไว้ถึง 30 หลุม ทว่าพรานโซรอสกลับบอกว่า "แค่นี้เหรอที่คุณเรียกว่าการดักสัตว์" และคำถามนี้ก็เป็นที่โจษจัณฑ์ไปทั่วทั้งป่า พรานโซรอสบอกว่า ถ้าคุณมั่นใจสุดๆ ว่าจะจับหมีได้และพวกมันจะทำเงินมหาศาล คุณต้องเทกระเป๋าซัดให้เต็มที่ มันไม่สำคัญหรอกว่าจะผิดหรือถูก สิ่งสำคัญคือคุณทำเงินได้เท่าไหร่เมื่อคุณถูก และคุณเสียเงินเท่าไหร่เมื่อคุณผิด


จับสิงโต ล้มช้าง

บางทีวีรกรรมของพรานโซรอสที่เลื่องลือที่สุดคือการที่เขาจับสิงโตได้เมื่อปี 1992 "ผมไม่ควรได้เครดิตถึงขนาดนั้นหรอก สิงโตฝูงนั้นอ่อนแรง ใครๆ ก็เห็น" ที่จริงมีพรานหลายคนแลเห็นว่าสิงโตอ่อนแรงและต่างยิงลูกดอกใส่พวกมัน แต่มีเพียงโซรอสที่บ้าระห่ำพอที่จะคว้าตาข่ายและกระโจนใส่ตัวจ่าฝูง ที่สุดแล้วการจับสิงโตครั้งนั้นทำกำไรให้เขาอย่างงดงาม

"แล้วจริงหรือที่คุณเผาป่าจับช้าง" พรานอันโตนิโอถามขึ้นแบบเกรงๆ

"บ้าสิ" พรานโซรอสสวนทันที "ข้าไม่เคยเผาป่าต้อนสัตว์ที่ไหน มีแต่คนคิดและกล่าวโทษข้าไปเอง"

สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 1997 คือ อากาศร้อนและแห้งแล้งได้ปกคลุมป่า พรานโซรอสมั่นใจว่าไฟป่าจะต้องเกิดขึ้น เขาเดินสำรวจเส้นทางที่สัตว์ป่าใช้และวางแผนจับช้างเพื่อเอางาไปขาย เขาสุมกองใบไม้แห้งตีกรอบให้มั่นใจว่าช้างจะไม่หลุดรอดไปทางอื่น และแล้วเมือไฟไหม้ป่า ช้างก็กรูกันมาตามทางที่โซรอสวางไว้และตายอยู่ในกองเพลิงถึง 56 ตัว

พรานอันโตนิโอฟังแล้วถึงกับอึ้ง ถึงพรานโซรอสจะไม่ได้เป็นคนจุดไฟ แต่ก็เซ็ตอัพเตรียมล้มช้างซะขนาดนี้ แล้วจะไม่ให้คนเกลียดชังเขาได้ยังไงกันเล่า


ทฤษฎีการล่าสัตว์

การล่าสัตว์ของพรานโซรอสไม่ใช่การซุ่มรอกวางเหมือนอย่างพรานบัฟเฟตต์ ไม่ใช่การซุ่มยิงกระต่ายป่าเหมือนอย่างพรานทั่วไป แต่เขามีทฤษฎีที่เชื่อมโยงพฤติกรรมของสัตว์ใหญ่ๆ และทำให้เขารู้ว่าเมื่อไหร่ถึงจะเป็นเวลาที่ดีที่จะ "ลงมือ"

"เมื่อสัตว์กระหายน้ำ มันย่อมไปที่ลำธาร... เมื่อสัตว์หิวโหย มันย่อมไร้เรี่ยวแรง... เมื่อตื่นตระหนก พวกมันย่อมแตกฝูง" พรานโซรอสกล่าว "ถ้าเข้าใจสิ่งเหล่านี้ เจ้าจะเสี่ยงน้อยกว่าที่ใครๆ นึก"

"ลืมเรื่องการล่าสัตว์แบบสะเปะสะปะที่เหล่าพรานไร้ฝีมือแนะนำเสีย ไม่มีพรานเก่งๆ คนไหนเตรียมกระสุนหรือกับดัก 10 แบบสำหรับล่าสัตว์ 10 ชนิดในคราวเดียวกันหรอก เจ้าต้องมุ่งเน้นและหมั่นฝึกฝน"

"ต้องมุ่งเน้นและหมั่นฝึกฝน" พรานอันโตนิโอพึมพำ

3 ความคิดเห็น:

  1. พอดีเพื่อนเมลมาถาม ขอแปะตอบตรงนี้ด้วยแล้วกัน เผื่อเป็นประโยชน์กับคนที่เสิร์ชเจอหรือผ่านมาอ่านครับ

    ----------------------------------------------

    อ่านแล้วสนุกมากๆๆเลยครับ ชอบทั้ง 2 แบบ แต่หากให้เลือกจริงๆชอบแบบโซรอสมากกว่าครับ

    "เมื่อสัตว์กระหายน้ำ มันย่อมไปที่ลำธาร... เมื่อสัตว์หิวโหย มันย่อมไร้เรี่ยวแรง... เมื่อตื่นตระหนก พวกมันย่อมแตกฝูง" พรานโซรอสกล่าว "ถ้าเข้าใจสิ่งเหล่านี้ เจ้าจะเสี่ยงน้อยกว่าที่ใครๆ นึก"

    สำหรับวลีนี้มีความหมายว่าอย่างไรหรอครับ อยากให้อธิบายเพิ่มเติมสักนิดครับ

    ----------------------------------------------

    ผมตอบว่า...

    โซรอสใช้การ "อ่านเกม" ในระดับ macroeconomic โดยอิงกับทฤษฎี reflexivity ของเขา

    แนวทางในภาคการเงิน/การคลังที่ผิดปกติจะเป็นตัวขับดันให้ประเทศนั้นๆ ดึงดันดำเนินนโยบายแย่ๆ (ไปที่ลำธาร ...ให้พรานไปรอส่องได้)
    ประเทศไหนที่ดำเนินนโยบายผิดพลาดย่อมเสียสมดุลและทำให้เกิดความอ่อนแอ (ไร้เรี่ยวแรง ...ไม่มีแรงหนีหรือต่อสู้)
    เมื่อถูกโจมตีก็ไม่มีปัญญาต้านทานและย่อมเกิดความสับสนแตกตื่นขึ้นในภาคเศรษฐกิจ (แตกฝูงสะเปะสะปะ ...พรานเลือกยิงได้ตามสบาย)

    คนมักนึกว่าโซรอส "กล้าเสี่ยง" อย่างบ้าบิ่น แต่ที่จริงโซรอสสามารถคาดการณ์จากทฤษฎีของเขาได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น
    โซรอสจึงเสี่ยงน้อยกว่าที่ทุกคนคิด เพราะเขาจะลงมือต่อเมื่อมีโอกาสชนะสูง

    ตอบลบ
  2. ผมคิดว่า โซรอส กับ บัฟเฟต สุดยอดทั้งคู่ แต่เป็นคนละไสตกัน ถ้าเปรียบเหมือนมวยก็เป็นมวยไฟติ้้ง กับมวยตั้งรับ

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ2 มีนาคม 2555 เวลา 17:40

    นายรักสาน

    ตอบลบ