วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2555

ส่องตัวตนของคุณผ่าน 3 คำถาม


ผมเคยเห็นแบบสอบถามที่วัดบุคลิกของนักลงทุน แต่เขาถามกันเป็นสิบข้อแล้วก็ยืดยาวมากมาย ผมจึงมาคิดว่ามีทางมั๊ยที่เราจะถามสั้นตอบสั้น แต่ "โดน" เต็มๆ แบบไม่ต้องเยิ่นเย้อ... ที่สุดแล้วจึงออกมาเป็น 3 คำถามสั้นๆ ดังแผนภาพ

วิธีใช้ไม่ยากอะไรเลย เริ่มต้นจากคำถามแรก จากนั้นก็ไล่เรียงไปว่าคุณตอบอะไร คำตอบของคุณจะเป็นตัวกำหนดว่าคำถามต่อไปคืออะไร สำคัญตรงที่ว่าให้ "ตอบตามความเป็นจริง" เท่านั้นเอง คำถามไหนที่อาจกำกวมผมจะมีหมายเหตุแปะไว้ด้านล่างครับ

ถ้าพร้อมแล้วก็เริ่มได้เลย


อย่างที่เห็นนะครับ เราจะได้บทสรุปภายในคำถามไม่เกิน 3 ข้อ เมื่อได้คำตอบแล้วว่าคุณเป็นนักลงทุนประเภท A, B, C, D, E หรือ F ...แล้วนักลงทุนแต่ละประเภทมีลักษณะอย่างไรกันบ้าง

ข้อ A - professional trader

คุณมีลักษณะของนักเทรดมืออาชีพ แม้คุณจะไม่ได้มองหุ้นในแบบเจ้าของกิจการและไม่ได้สนใจว่าบริษัททำมาหากินอะไร แต่คุณรู้ว่าจะทำอย่างไรกับราคาหุ้นที่เคลื่อนไหว ความรู้ที่ว่าไม่ได้โผล่ขึ้นมาเอง ทว่าเป็นผลพวงมาจากความมานะและอดทนที่จะอ่านตำรับตำรา และที่สำคัญคุณอ่านแล้วเอามาใช้ด้วย มีคนไม่มากที่เทรดหุ้น "ตามระบบ" อย่างต่อเนื่องและมีวินัย ยินดีด้วยครับ ความสำเร็จรอคุณอยู่

ข้อ B - educated mao

แม้สมญานาม "เม่าผู้มีความรู้" จะยังไม่ใช่ความฝันอันสูงสุดของแมงเม่าทั้งหลาย แต่อย่างน้อยคุณก็โผล่พ้นความเป็นเม่าสามัญมาแล้ว คุณมองออกว่าการอ่านเพียงแค่หนังสือพ็อกเกตบุ๊กดาษๆ เกี่ยวกับหุ้นไม่เพียงพอที่จะทำให้คุณสร้าง "แก่นสาร" ที่จะทำกำไรอย่างมั่นคงได้ คุณจึงศึกษาวิธีการเทรดหุ้นต่างๆ นานา ขาดอยู่เพียงการค้นพบระบบการเทรดที่ใช้ได้และเหมาะกับตัวเอง รวมทั้งทำตามมันไปด้วยความมุ่งมั่นเท่านั้น

ข้อ C - ordinary mao

อย่าวิตกกังวลไป เพราะเม่าสามัญเป็นสถานะของคนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้น คุณอาจเคยได้กำไรก้อนโต เคยติดดอย เทรดหุ้นตามข่าว ตกรถ หรือแม้แต่หันหลังให้กับตลาดมาแล้ว แต่น้อยครั้งมากที่คุณจะระบุได้ชัดๆ ว่าทำไมคราวนั้นถึงกำไร ทำไมคราวนี้ถึงขาดทุน แล้วในระยะยาวเราจะเป็นอย่างไร ฯลฯ บางทีคุณอาจต้องการความรู้ที่สูงขึ้น ประสบการณ์ที่มากขึ้น และจิตวิทยาการลงทุนที่เข้มข้นขึ้น แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้น คุณต้องศึกษาให้มากขึ้น และ shortcut ที่เร็วที่สุดก็คือ ไปอ่านงานเขียนของคนเก่งๆ ที่เป็นไอด้อลของคุณไง

ข้อ D - confused mao

เม่าที่สับสนตัวเอง เกิดจากคนที่อยากลงทุนในหุ้นตามแบบเจ้าของกิจการหรืออาจจะอยากเป็น VI (value investor) แต่แล้วเกิดขี้เกียจขึ้นมาหรือตื่นตาตื่นใจไปกับแสงสีในตลาดหุ้นอย่างไรไม่ทราบ จึงละทิ้งความสนใจจากตัวกิจการไปเสียดื้อๆ ที่บอกอย่างนี้ก็เพราะว่าการอ่านรายงานประจำปีนั้นจัดว่าเป็น "ภาคบังคับ" ของ VI ทุกคน ในเมื่อบริษัทเป็นคนเขียนเอง บทวิเคราะห์ไหนๆ ก็ไม่มีทางสู้ได้ นักลงทุนแนวนี้เข้าทำนอง ขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อน พอแตกใบอ่อนเป็นมะลิลา บางทีอาจต้องลองทบทวนดูว่าจะไปต่อในแนว VI หรือจะเบนเข็มไปเป็นนักเทรดหุ้น

ข้อ E - failed VI

อย่างน้อยการอ่านรายงานประจำปี (รวมถึงงบการเงิน และหมายเหตุประกอบงบด้วยนะครับ) ก็บ่งบอกได้ว่าคุณมีความมุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นมาเป็น VI เต็มตัว อย่างไรก็ตาม โดยธรรมชาติแล้ว VI ที่ลงทุนมานาน 3-5 ปีขึ้นไปควรจะมีพอร์ตเขียวขจี และเหตุที่เขียวก็เพราะว่า VI ตัวจริงจะ "เตะ" หุ้นตัวที่วิเคราะห์ผิดพลาดออกไปแล้วถือหุ้นชั้นเยี่ยมเอาไว้ ส่วนที่ถือไว้หลายปีแล้วยังพอร์ตแดงเถือกนั้นโดยมากเป็นกรณีติดดอยเสียมากกว่า ซึ่งการถือหุ้นติดดอยเป็นเบือก็คงบอกได้เลาๆ ว่าตอนเข้าซื้อนั้นวิเคราะห์ไม่แม่นจึงมี margin of safety น้อย แบบนี้ต้องรีบปรับปรุงครับ เสียดายความมุ่งมั่นที่มี

ข้อ F - successful VI

คุณสมบัติของคุณคู่ควรกับการเป็น VI ที่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าพอร์ตคุณจะใหญ่หรือเล็ก แต่การมาถูกทางจะช่วยให้คุณมั่งคั่งขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง คุณมีจิตวิญญาณของการเป็นเจ้าของกิจการ มีความมุ่งมั่น และยังลงทุนลงแรงอย่างคุ้มค่า ผลงานในระยะยาวของคุณเป็นสิ่งยืนยันได้เป็นอย่างดี ขอเพียงทำต่อไปเรื่อยๆ และอย่าก้าวข้ามขอบข่ายแห่งความชำนาญ (circle of competence) ของคุณออกมาก็แล้วกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น