วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555
เทรดหุ้นอย่างมีระบบ
สำหรับนักเล่นหุ้นมือสมัครเล่น การซื้อขายหุ้นอย่างมีระบบดูจะเป็นเรื่องเข้าใจยาก หรือแม้บางทีเราคิดว่าเข้าใจและมีหลักการแล้ว แต่เอาเข้าจริงมันจะเป็นหลักการที่ถูกต้องหรือไม่?!
บางคนเข้าใจว่า "ใจ" สำคัญที่สุด และที่ผ่านมาตัวเองล้มลุกคลุกคลานเป็นเพราะใจไม่ถึง ใจไม่นิ่ง ใจไม่สู้ ฯลฯ แต่แท้จริงแล้วใจก็เป็นเพียงแค่ 1 ใน 3 องค์ประกอบของ "ระบบ" การเทรดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผมจะยังไม่เล่าถึงองค์ประกอบทั้งสามในตอนนี้ เพราะถ้าเล่าแล้วยาวแน่นอน ในชั้นนี้ผมขอชี้ให้เห็นก่อนว่า "ระบบ" มีแบบไหนบ้าง และแต่ละแบบมีความแตกต่างกันอย่างไร
วิธีการเทรดหุ้นอย่างมีระบบของมืออาชีพแบ่งออกเป็น 2 แบบ แบบแรกเรียกว่า mechanical trading ส่วนแบบที่สองเรียกว่า discretionary trading ถ้าคุณเป็นมืออาชีพ คุณก็ควรจะเทรดวิธีใดวิธีหนึ่งใน 2 วิธีนี้
Mechanical Trading
ในการเทรดแบบ mechanical นักเทรดจะประพฤติตัวเยี่ยงหุ่นยนต์ พวกเขามี "ระบบการเทรด" ที่เป็นกฏเกณฑ์ที่แน่นอนอยู่ ตัวอย่างเช่น ใช้การตัดกันของเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (moving average crossover) โดยเมื่อไหร่ที่เส้น MA(5) ตัดทะลุเส้น MA(10) ขึ้นไป ถือว่าเป็นสัญญาณซื้อ นักเทรดก็จะคีย์ซื้อทันทีโดยไม่หันกลับมาใคร่ครวญใดๆ อีก ในทางตรงข้าม ถ้าเส้น MA(5) ตัดทะลุเส้น MA(10) ลงมา ถือว่าเป็นสัญญาณขาย นักเทรดก็จะคีย์ขายทันทีเช่นกัน
กฏเกณฑ์ที่ผมยกตัวอย่างเป็นแบบง่ายๆ ในความเป็นจริงนักเทรดย่อมมีทางเลือกมากมาย เช่น ใช้เส้น moving average อื่นๆ อาจจะเป็น MA(8), MA(20) หรือ MA(40) เป็นต้น หรืออาจจะใช้ indicator ตัวอื่นอย่าง MACD, RSI หรือตัวอะไรก็ได้ บางทีเขาอาจจะใช้หลายตัวประกอบกันก็ยังได้
ปัญหาของนักเล่นหุ้นสมัครเล่น คือ จะใช้ indicator ตัวไหนดี?
สิ่งที่มือสมัครเล่นทำคือหยิบ indicator ที่สนใจขึ้นมาแล้วทดลองกับกราฟย้อนหลังไประยะหนึ่ง พอเห็นว่าได้กำไรดีก็เอามาใช้ แต่ตัวไหนที่ไม่ได้กำไรก็โยนทิ้งไป สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาคือเมื่อเวลาผ่านไปเจ้า indicator ที่เคยใช้การได้ดีเยี่ยมกลับแย่ลงๆ จนในที่สุดเขาก็โยนมันทิ้งไปแล้วหาตัวใหม่มาแทน วนเวียนเป็นวัฏจักรอย่างนี้เรื่อยไป
คุณอาจจะแปลกใจว่าที่จริงแล้วนักเทรดมืออาชีพไม่มีปัญหาเรื่องนี้ เหตุผลก็คือ พวกเขาทดสอบระบบอย่างเข้มงวดก่อนที่จะเอามันมาใช้ และนั่นคือสิ่งที่มือสมัครเล่นไม่ได้ทำ
การทดสอบอย่างเป็นระบบทำให้นักเทรดทราบว่า "ในระยะยาว" ระบบการเทรดของเขาจะให้ผลอย่างไร พวกเขาทราบค่าสถิติต่างๆ ของระบบการเทรดเป็นอย่างดี เป็นต้นว่ากำไรเฉลี่ยต่อครั้ง เปอร์เซ็นต์จำนวนครั้งที่เทรดได้กำไร ผลขาดทุนสูงสุด ฯลฯ พวกเขามองเห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว ดังนั้นความลุ่มๆ ดอนๆ ระหว่างทางจะไม่ทำให้พวกเขาหันเหไปจากระบบที่พวกเขาคิดมาดีแล้ว สิ่งที่ต้องทำก็คือ ปฏิบัติตามระบบอย่างเคร่งครัดเท่านั้น
และนี่ก็คือวิธีการเทรดเยี่ยงหุ่นยนต์ หรือ mechanical trading
Discretionary Trading
อย่างไรก็ตาม นักเทรดจำนวนมากไม่ต้องการหลับหูหลับตาเทรดไปตามระบบราวกับตัวเองเป็นหุ่นยนต์ บางทีพวกเขาก็เชื่อมั่นว่าวิจารณญาณหรือสัญชาตญาณของเขามีประโยชน์ต่อการเทรด ซึ่งก็น่าจะดีกว่าการทำตามกฏไปเรื่อยๆ ดังนั้นพวกเขาอาจจะมีกฏไว้หลวมๆ หรือไม่ก็อาจจะไม่มีเลย
พวกเขาอาจจะอ่านกราฟ ดู indicator เช็คแนวโน้มใหญ่ เบ็ดเสร็จแล้วค่อยประมวลออกมาว่าจะทำอะไร พูดให้ชัดก็คือ "ตัวของเขาเอง" นั่นแหละที่เป็นระบบ นักเทรดกลุ่มนี้ทดสอบระบบการเทรดเช่นเดียวกับพวก mechanical traders เพียงแต่พวกเขาต้องทดสอบกับตัวของเขาเองว่าเมื่อเห็นข้อมูลทดสอบแล้วพวกเขาสั่งซื้อขายอย่างไร แล้วก็บันทึกไว้ เมื่อเรียบเรียงได้จำนวนครั้งการเทรดมากเพียงพอก็เอาสถิติมาดูในลักษณะเดียวกัน ซึ่งนั่นก็จะทำให้พวกเขาเห็นภาพได้ว่าในระยะยาวระบบการเทรดของเขาจะทำกำไรได้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด
และแน่นอน พวกเขาทดสอบระบบอย่างเข้มงวดก่อนที่จะลงมือเทรด นอกจากนี้พวกเขายังจดบันทึกเอาไว้ด้วยว่าได้ซื้อขายอะไรไปบ้าง ที่ราคาเท่าไหร่ มีเหตุผลอะไร ซึ่งทำให้พวกเขาวิเคราะห์ผลการเทรดและปรับตัวได้เมื่อสภาวะตลาดเปลี่ยนแปลงไป เมื่อทุกอย่างที่ทำกลายเป็นอัตโนมัติ ความสามารถของเขาก้าวเข้าสู่ภาวะไร้สำนึก และนี่คือสิ่งที่นักเทรดเทพๆ ชื่อดังระดับโลกไปถึง
จะเห็นว่า "ใจ" มีความสำคัญต่อระบบการเทรดแบบ discretionary มากกว่าแบบ mechanical ซึ่งเน้นหนักไปที่วินัย เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าใจมีผลต่อสมอง การที่เราใจไม่นิ่งหรือมีอาการวอกแวกจะทำให้การตีความกราฟหรือ indicator ต่างๆ ผิดเพี้ยนไป เราจึงมักได้ยินพวกมืออาชีพพูดเสมอว่า เวลาเทรดอย่าคิดถึงเงิน เทรดให้ดีแล้วเงินจะตามมาเอง
นักเล่นหุ้นสมัครเล่น
หากต้องการอัพเกรดตัวเองจากนักเล่นหุ้นมือสมัครเล่นไปเป็นนักเทรดมืออาชีพ สิ่งที่เราต้องทำอย่างแรกคือ ระบุให้ได้ว่าจะเทรดแบบ mechanical หรือ discretionary ในข้อนี้ผมแนะนำว่าคนที่ใจไม่ค่อยนิ่งควรเริ่มต้นจากการเทรดตามกฏเสียก่อน แต่การที่จะทำเช่นนั้นได้ก็จะต้องทดสอบระบบกับข้อมูลย้อนหลังอย่างเพียงพอ รวมทั้งทดสอบกับข้อมูล real time ไปสักระยะหนึ่งด้วย ก่อนที่จะเข้าสู่สนามจริงและเงินจริง
อย่าเทรดหุ้นไปตามสัญชาตญาณ! ... แม้แต่มืออาชีพยังใช้เวลาเรียนรู้กว่าจะไปถึงระดับความสามารถแบบไร้สำนึก หากคุณเทรดตามสัญชาติญาณหรือตามการนึกคิดในขณะที่ความสามารถของตัวเองยังไม่ถึงขั้น นั่นไม่ใช่วิทยาศาสตร์และไม่ใช่ระบบ ผมชอบที่ George Angell เทรดเดอร์ชื่อดังกล่าวไว้ว่า "Every day I go in without an opinion ... and I let the market tell me where it wants to go" ไม่ต้องบรรยายเพิ่มครับ
ประการต่อมาเราควรจดบันทึกการซื้อขายหรือทำ trade journal ด้วยเสมอ ระบุว่าซื้ออะไร จำนวนเท่าไหร่ มีเหตุผลอะไรหรือใช้ indicator ตัวใด จะขายเมื่อไหร่ ...ถ้าเราบอกตัวเองได้ว่าจะขายเมื่อไหร่ นั่นแปลว่าเราจะไม่ติดอยู่บนดอย อย่างไรก็ตาม การจดบันทึกอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ แต่เราจะต้องเอาผลมาวิเคราะห์ด้วย เช่น ตรวจสอบว่า %win ของระบบการเทรดยังสูงอยู่หรือไม่ ระบบของเราเริ่มจะเจ๊งแล้วหรือยัง เป็นต้น
การเทรดหุ้นอย่างมีระบบเป็นกิจกรรมที่ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ เราต้องหมั่นทบทวนและตรวจสอบให้แน่ใจว่าเราได้ทำตามระบบอย่างมีวินัย รวมทั้งระบบของเรายังคงดีอยู่ การอ่านหนังสือและหาความรู้เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม วิธีการต่างๆ ที่หนังสือพูดถึงนั้นเราต้องเอามาทดสอบอย่างเข้มงวดก่อนที่จะนำมาใช้เสมอ แล้ววันหนึ่งเราก็จะพ้นจากสภาพแมงเม่าและกลายเป็นมืออาชีพเต็มตัวครับ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น