วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

วิจารณญาณ


บทบาทการเป็น "ผู้นำ" และ "ผู้ตาม" อาจจะอยู่ที่ตำแหน่งหรือหัวโขนที่สังคมมอบหมายให้ แต่การเป็น "ผู้นำที่ดี" กลับอยู่ที่คุณสมบัติหนึ่งของตัวเราเอง และสิ่งนั้นก็คือ วิจารณญาณ

ในสถานการณ์คับขันและต้องการการตัดสินใจที่เฉียบคม ผู้นำที่ดีจะไม่มีความลังเลสงสัยใดๆ สมองของเขาเอาข้อมูลทั้งหมดมาวางแผ่พร้อมไปกับใคร่ครวญอย่างระมัดระวัง เมื่อคิดดีแล้วจึงตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาด ทั้งหมดนี้อาจกินเวลาเพียง 2-3 วินาที หรือน้อยกว่านั้น ในทางตรงข้าม ผู้นำที่แย่จะคิดย้อนไปมาว่าควรทำอะไรดี ครั้นพอตกลงใจได้แล้วก็กลับฉุกคิดและตัดสินใจอีกรอบ จะมาสรุปได้ก็ตอนที่จะหมดเวลานั่นเอง

เรื่องแปลกก็คือ ส่วนมากแล้วผู้นำที่ "คิดน้อยและคิดเร็ว" มักจะแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง ส่วนผู้นำที่ "คิดมากและคิดช้า" มักแก้ไขปัญหาได้ไม่ค่อยดี

โดยทั่วไปวิจารณญาณจะทำให้เกิดการตัดสินใจที่เฉียบคมและถูกต้อง ผู้นำที่มีวิจารณญาณดีจึงไม่ต้องคิดนู่นนี่มากมาย เพียงแต่ตัดสิ่งที่ไร้สาระออกและใช้ปัญญาขบคิดก็สามารถหาทางออกได้แล้ว วิจารณญาณเป็นสิ่งจำเป็นต่อผู้ที่เป็นหัวหน้างานในระดับต่างๆ และผมก็เห็นว่ามันจำเป็นต่อการลงทุนไม่แพ้กัน


สูตรสำเร็จไม่มีจริง

ในสมัยเรียนเราอาจเคยทำข้อสอบเก่าด้วยความหวังว่าบางทีข้อสอบจะออกซ้ำกับแนวข้อสอบเก่าๆ บ้าง บางคนพอเจอแนวข้อสอบเก่าโผล่มาก็ทำได้เกือบเต็มเพราะว่าซ้อมมาดี แต่พอเจอแนวข้อสอบใหม่กลับพลิกแพลงไม่เป็นและตกม้าตาย

ในชีวิตจริงนอกห้องเรียน (รวมทั้งในตลาดหุ้น)เราไม่ได้วนเวียนเจอกับโจทย์เดิมๆ เสมอไป ประวัติศาสตร์อาจมีซ้ำรอยเดิมบ้าง แต่ส่วนมากเราจะเจอกับเรื่องใหม่ๆ เสียมากกว่า นั่นเป็นเพราะว่าเมื่อเวลาเปลี่ยนไป สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป อย่างที่คุณตัน ภาสกรนที เคยบอกไว้ว่า "สูตรสำเร็จไม่มีจริง" สิ่งที่คนอื่นทำแล้วประสบความสำเร็จ เราอาจจะทำตามได้แต่ลงท้ายผลลัพธ์ก็ไม่เหมือนกัน

สูตรสำเร็จในการลงทุนก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ทำสมัยหนุ่มๆ อาจไม่เวิร์กแล้วในสถานการณ์ปัจจุบันก็เป็นได้ บางคนถึงกับปรามาสว่าที่บัฟเฟตต์รวยได้ก็เพราะว่าหุ้นถูกๆ ในสมัยนั้นหาง่าย ไม่เหมือนกับปัจจุบัน อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่าถ้าหนุ่มน้อยบัฟเฟตต์มาเกิดในยุคนี้ เขาก็ย่อมรู้จักปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับยุคสมัย และสร้างเนื้อสร้างตัวจนเป็นเศรษฐีได้อยู่ดี ...นี่แหละครับที่ผมเรียกว่า "วิจารณญาณ" ซึ่งจะทำให้เราเรียนรู้ เสริมสร้างประสบการณ์ และเอาตัวรอดได้เสมอ

เถียงครู

ในสังคมไทยการเถียงครูเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยได้รับการยอมรับ ทั้งจากคุณครูซึ่งมักจะมองเด็กที่เถียงครูว่าเป็นพวกก้าวร้าว ไม่มีสัมมาคารวะ ส่วนเพื่อนร่วมชั้นก็จะมองว่าไอ้คนนี้มันแปลก(แต่ก็ขึ้นอยู่กับวิธีการเถียงด้วยเหมือนกัน) อย่างไรก็ตาม เราต้องแยกแยะระหว่างการเถียงในแบบข้างๆ คูๆ กับการเถียงแบบสร้างสรรค์ให้ออก ที่จริงแล้วการโต้แย้งครูอย่างมีเหตุผลก็ช่วยพัฒนาความคิดความอ่าน รวมทั้งวิจารณญาณของเราได้เป็นอย่างดี

สำหรับวิถีของนักลงทุน การโต้แย้งนักลงทุนชั้นเซียน "คนโปรด" ซึ่งเราถือเสมือนเป็นครูนั้น จัดได้ว่าเป็นความท้าทายอันยิ่งใหญ่ เพราะเท่ากับว่าเรากำลังก้าวข้ามจากบทบาทของการเป็นผู้ตามไปสู่บทบาทของผู้สร้างสรรค์หรือผู้นำ ผมเองมีเซียนวีไอท่านหนึ่งเป็นต้นแบบ เริ่มแรกก็ศึกษากลยุทธ์ของท่านและพยายามทำตาม แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็พบว่าแนวคิดบางอย่างของท่านไม่สอดคล้องกับนิสัยและความชอบของเรา

ตัวอย่างเช่น วีไอท่านนั้นชอบถือหุ้นเกือบ 100% ของพอร์ตอยู่เสมอ แต่เมื่อเราทำตามก็พบข้อเสียว่า พอถึงเวลาหุ้นตกทั้งตลาดเรากลับไม่มีเงินสดมาซื้อหุ้นเพิ่มในจังหวะที่ดีที่สุด อย่างดีเราได้แค่ขายหุ้นบางตัวในพอร์ตของเรามาซื้อตัวใหม่ ซึ่งผมรู้สึกว่าไม่ค่อยชอบสถานการณ์ดังกล่าวนัก จึงเริ่มคิดค้นและฉีกแนวออกมาอย่างระมัดระวังจนกลายเป็นแนวทางการลงทุนปัจจุบันในที่สุด

เราไม่อาจสร้างสรรค์แนวทางการลงทุนของตัวเองได้เลยหากปราศจากวิจารณญาณที่ดี และวิจารณญาณที่ดีก็ต้องมาจากความรู้และประสบการณ์ นั่นหมายความว่าระหว่างที่เราอ่านหนังสือ ลงทุน เลียนแบบ คัทลอส ฯลฯ เราไม่เพียงแต่ทำมันไปเฉยๆ แต่ต้องเก็บเอามันมาเป็นบทเรียนและรู้จักต่อยอดด้วยเสมอ เมื่อสั่งสมไว้มากพอ มันจะกลายเป็นวิจารณญาณของเรา และทำให้เราสามารถ "คิดน้อยและคิดเร็ว" แต่ได้ผลลัพธ์ออกมาดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น