วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2555

ลงทุนเพื่อกระแสเงินสด 2










คราวที่แล้วผมแนะนำการลงทุนที่มุ่งเน้นไปที่ "กระแสเงินสด" แทนการมุ่งไปที่ "มูลค่าพอร์ต" ตามแบบของนักลงทุนทั่วๆ ไป คราวนี้ผมจะขอชักชวนให้หันมาพินิจพิเคราะห์ดูว่าพอร์ตโฟลิโอของแต่ละท่านสร้างกระแสเงินสดมากน้อยเพียงใด

เพื่อให้สะดวกปาก ผมขอยกตัวอย่างพอร์ตโฟลิโอขนาด 1 ล้านบาทของคุณเป๊กเพื่อนผม (นามสมมติ) ซึ่งมีลักษณะคร่าวๆ ดังภาพ กองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป๊กลงทุนไม่มีการจ่ายเงินปันผล คงมีแต่กองทุนอสังหาฯ ซึ่งจ่ายเงินปันผลหลังหักภาษีในอัตราเฉลี่ยปีละ 7% และหุ้นซึ่งเฉลี่ยแล้วจ่ายปันผลหลังหักภาษีปีละ 4%

ดูเผินๆ ก็ไม่น่ามีอะไร แต่ถ้ามองดีๆ จะพบว่าพอร์ตโฟลิโอนี้มีการสร้างกระแสเงินสดน้อยมาก เนื่องจากมีเพียงหุ้นที่สร้างกระแสเงินสดเฉลี่ยปีละ 4% x 150000 = 6,000 บาท และกองทุนอสังหาฯ ซึ่งสร้างกระแสเงินสดเฉลี่ยปีละ 7% x 150000 = 10,500 บาทเท่านั้น รวมแล้วในแต่ละปีพอร์ตนี้จะสร้างกระแสเงินสดเพียง 16,500 บาท หรือคิดเป็น 1.65% ของมูลค่าพอร์ต


ปรับพอร์ตใหม่ ไม่เพิ่มความเสี่ยง

ผมขอแนะนำให้อ่านเรื่อง "ฉีกตำราเรื่องความเสี่ยง" แล้วจะเห็นว่าเราสามารถปรับพอร์ตเพิ่มสัดส่วนของหุ้นและกองทุนอสังหาริมทรัพย์เพื่อเพิ่มผลตอบแทนได้โดยไม่ต้องเพิ่มความเสี่ยง เพียงแต่เราจะต้องอดทนรอและรู้จักทำการบ้านหน่อยเท่านั้น

จากตัวอย่างข้างต้น หากผมจัดพอร์ตใหม่ดังภาพโดยเลือกสรรหุ้นที่มีผลการดำเนินงานเข้มแข็งและมีการจ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอเฉลี่ย 5% ต่อปี ส่วนกองทุนอสังหาริมทรัพย์นั้นผมคงทำอะไรให้มากไม่ได้ ก็คงถือว่ามันจ่ายเงินปันผลในอัตราเดิมคือ 7% ต่อปี



การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้สัดส่วนของพอร์ตที่สร้างกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นอย่างมาก กระแสเงินสดจากหุ้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 5% x 300000 = 15,000 บาท และกระแสเงินสดจากกองทุนอสังหาฯ จะเพิ่มเป็น 7% x 300000 = 21,000 บาท รวมเป็นกระแสเงินสดทั้งปี 36,000 บาท เพิ่มขึ้นจากเดิมเกือบสองหมื่นบาทโดยที่ไม่ต้องลงเงินเพิ่มเลย

เรื่องราวต่อจาก "ลงทุนเพื่อกระแสเงินสด" ภาคแรกคงไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ความพิสดารต่างๆ นานา เพราะเส้นทางไปสู่อิสรภาพทางการเงินนั้นที่จริงไม่ได้ยาก เพียงเรา "ทำให้ถูกต้อง และทำไปเรื่อยๆ"

"คนที่ไม่ประสบความสำเร็จย่อมมีเหตุผลมากมายมาอธิบายว่าเหตุใดเขาจึงทำไม่สำเร็จ"

หวังว่าคงไม่เป็นแบบนั้นนะครับ

2 ความคิดเห็น:

  1. มือใหม่ค่ะ มีข้อสงสัยน่ะค่ะ

    1. "ลงทุนเพื่อกระแสเงินสด" จะเน้นไปที่การจ่ายเงินปันผล ใช่ไหมคะ

    2. ส่วน "กำไรจากส่วนต่างของ NAV" ของกองทุนหุ้นปัีนผล และกองทุนหุ้นดัชนี ถือเป็น "ลงทุนเพื่อกระแสเงินสด" หรือเปล่าคะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ใช่ครับ "เงินสด" ที่ได้จากหุ้นจะมาในรูปของเงินปันผล หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องขายหุ้นออกไปเพื่อรับรู้กำไรถึงจะได้เงินสดมาครับ

      กำไรจากส่วนต่างราคา (ไม่ว่าจะเป็นราคาของหุ้นหรือ NAV ก็ตาม) ยังเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ กำไรเป็นแสนมีโอกาสหายวับไปกับตา หรือเผลอๆ ติดลบเสียด้วยซ้ำ จึงไม่ถือว่าเป็นกระแสเงินสดครับ

      ข้อดีของการลงทุนเพื่อกระแสเงินสด คือ เราสามารถเอาเงินสดส่วนที่เหลือจากใช้จ่าย เวียนกลับไปซื้อหุ้นได้อีกรอบ ซึ่งก็จะได้จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นมาอีก พอจ่ายปันผลคราวหน้าเราก็ได้เงินสดมากขึ้นอีก วนไปเช่นนี้

      ลบ