วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2555

วิเคราะห์หุ้น 2 แบบ


ใครวิเคราะห์หุ้นก่อนซื้อถือได้ว่าเป็น "นักลงทุน" ใครไม่วิเคราะห์หุ้นก่อนซื้อถือได้ว่าเป็น "นักเสี่ยงโชค" ไม่อยากให้ใครครหาว่าเล่นหุ้นเป็นการพนันก็ต้องรู้จักวิเคราะห์หุ้น

เป็นที่ทราบกันว่าแนวทางการวิเคราะห์หุ้นมีอยู่ 2 แบบ คือ การวิเคราะห์แบบ top-down และการวิเคราะห์แบบ bottom-up ผมจะขอเล่าให้ฟังว่าแต่ละแบบมีความแตกต่างกันอย่างไร นักวิเคราะห์ส่วนมากใช้วิธีไหน แล้วมันเป็นวิธีที่ดีกว่าจริงหรือไม่! ลองติดตามดูนะครับ


การวิเคราะห์แบบ top-down
การวิเคราะห์แบบ top-down เป็นการมองจากบนลงล่าง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการมองจากภาพใหญ่ไล่ลงมาสู่ภาพเล็ก โดยอาศัยการตัดตัวเลือกออกไปทีละขั้น ตัวอย่างเช่น เราเป็นผู้จัดการกองทุนที่ลงทุนไปทั่วโลก เราอาจจะเริ่มจากการวิเคราะห์ภูมิภาคที่เราสนใจ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย เป็นต้น สมมติว่าเราวิเคราะห์แล้วเศรษฐกิจยุโรปยังย่ำแย่ อเมริกาก็ยังไม่แน่ว่าจะฟื้น พิจารณาดูแล้วเอเชียมีภาษีกว่าเพื่อน เราก็วิเคราะห์ย่อยลงมาในระดับประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ไทย มาเลเซีย ฯลฯ โดยพิจารณาแนวโน้มเศรษฐกิจ การเมือง และโครงสร้างพื้นฐานประกอบกัน

จากตัวอย่างนี้สมมติว่าเราชอบประเทศไทย เราก็วิเคราะห์ต่อไปโดยอาจมองว่าเศรษฐกิจของประเทศยังคงขยายตัวได้ดี อัตราดอกเบี้ยยังน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำไปอีกระยะหนึ่ง กำลังซื้อของประชาชนโดยรวมน่าจะสูงขึ้นจากมาตรการปรับขึ้นค่าแรงของรัฐบาล รวมทั้งเหตุการณ์อุทกภัยที่เพิ่งผ่านพ้นไปน่าจะส่งผลให้ผู้คนจำเป็นต้องจับจ่าย ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็ตามที ภาพนี้ทำให้เราพอจะมองเห็นได้ว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะสูงขึ้น เป็นต้น เมื่อวิเคราะห์ได้ดังนี้แล้ว เราก็มองต่อว่ากลุ่มอุตสาหกรรมไหนบ้างที่จะได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว เมื่อได้กลุ่มอุตสาหกรรมแล้วก็ค่อยมาดูว่ามีบริษัทอะไรในนั้น แล้วก็ขุดงบการเงินมาดูต่อไป ...จนเมื่อได้ตัวบริษัทที่เราพอใจก็เริ่มลงเม็ดเงินซื้อหุ้นได้

การวิเคราะห์หุ้นแบบ top-down เป็นที่นิยมกันในหมู่นักวิเคราะห์ หากเราเปิดทีวีช่องเศรษฐกิจอย่าง Money Channel หรือ TNN24 เราจะพบว่าผู้ดำเนินรายการมักถามนักวิเคราะห์ที่เชิญมาว่า "ลงทุนในหุ้นกลุ่มไหนดี?" ซึ่งมองให้ลึกๆ แล้วนี่คือการบอกเราทางอ้อมว่าเขาใช้การวิเคราะห์แบบ top-down นั่นเอง


การวิเคราะห์แบบ bottom-up

นอกจากการวิเคราะห์จากบนลงล่างแล้ว เรายังวิเคราะห์หุ้นจากล่างขึ้นบนได้ด้วย ความแตกต่างอยู่ที่การวิเคราะห์แบบ top-down เราไล่มองในภาพใหญ่ก่อนแล้วค่อยไล่เรียงเจาะไปทีละขั้นๆ กว่าจะมาถึงตัวหุ้น ในขณะที่การวิเคราะห์แบบ bottom-up นั้น เราโผล่มาถึงก็ตัวหุ้นเลย จากนั้นค่อยวิเคราะห์ออกไปที่คู่แข่งและอุตสาหกรรม แล้วเลยต่อไปถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศและดูว่าบริษัทจะได้รับผลดีหรือผลเสียอย่างไร พูดแบบชาวบ้านๆ ก็คือมีปัญญาที่จะอยู่รอดและเติบโตต่อไปหรือไม่ เมื่อวิเคราะห์อย่างรอบคอบแล้วก็ลงมือซื้อหุ้นได้

ในมุมมองของคนใส่สูทผูกไทด์นั่งทำงานวิเคราะห์อยู่ในออฟฟิศ แน่นอนว่าการวิเคราะห์แบบ bottom-up ย่อมจะเป็นปัญหาอย่างมาก เพราะเขาไม่รู้ว่าจะเริ่มวิเคราะห์หุ้นตัวไหนดีในเมื่อหุ้นในตลาดมีอยู่ร่วมๆ 500 ตัว ต่างจากนักลงทุนทั่วไปที่สามารถเอาชีวิตประจำวันมาใช้ในการคัดเลือกหุ้นที่ตนเองสนใจ เช่น ผมอาจจะเดินผ่านโฮมโปรทุกสัปดาห์และสังเกตเห็นว่ามีคนซื้อของเยอะทุกที ทำให้ผมรู้สึกสนใจกิจการของเขาและเริ่มค้นคว้า ซึ่งอาจจะลงท้ายด้วยการซื้อหรือไม่ซื้อหุ้นก็ได้ ลักษณะแบบนี้แหละครับที่เรียกว่าการวิเคราะห์แบบ bottom-up


มืออาชีพใช้ top-down โคตรเศรษฐีใช้ bottom-up

เมื่อผมเรียนเรื่องการวิเคราะห์หุ้น ผมรู้สึกว่าตำราค่อนข้างจะเอนเอียงไปทางชื่นชอบวิธี top-down มากกว่าวิธี bottom-up ซึ่งน่าจะเป็นเพราะว่าตำราหรือหลักสูตรนั้นเขาฝึกคนให้ไปเป็นนักวิเคราะห์หรือผู้จัดการกองทุน อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวผมกลับชื่นชอบวิธี bottom-up มากกว่าครับ

ประการแรก วิธี bottom-up เริ่มจากเรารู้จักตัวหุ้นหรือตัวบริษัทมาก่อนเป็นเบื้องต้น นั่นแปลว่าขอแค่เรารู้จักบริษัทเจ๋งๆ ซัก 2-3 บริษัทอย่างลึกซึ้งก็เพียงพอแล้วที่เราจะถือหุ้นเหล่านั้นและทำกำไร ส่วนหุ้นอีก 400-500 ตัวในตลาดเราไม่จำเป็นต้องรู้จักหรือใส่ใจเลยก็ได้ เพราะเราไม่ใช่นักวิเคราะห์ชื่อดังที่จะต้องคอยตอบนักข่าวว่า "ลงทุนหุ้นกลุ่มไหนดี?"

ประการที่สอง วิธี top-down ค่อนข้างขึ้นกับทิศทางและสภาวะเศรษฐกิจ เมื่อทิศทางลมเปลี่ยน ข้อสรุปก็เปลี่ยน ดังนั้นตัวหุ้นที่แนะนำก็เปลี่ยนได้เรื่อยๆ และอาจจะบ่อยด้วย การเปลี่ยนตัวหุ้นบ่อยๆ ทำให้เราไม่สามารถทำความรู้จักหุ้นได้อย่างลึกซึ้งและทำให้เราก้าวข้าม "ขอบข่ายแห่งความชำนาญ" หรือ circle of competence ของเราเอง

ประการที่สาม อย่าลืมว่านักลงทุนระดับโลกอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์, ฟิลลิป ฟิชเชอร์ หรือแม้แต่ ปีเตอร์ ลินช์ ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุน ต่างก็ใช้วิธี bottom-up ในการเลือกหุ้น พวกเขามีความเชื่อร่วมกันว่ากิจการชั้นเยี่ยมนั้นจะดูแลตัวเองได้ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดำเนินไปอย่างไร ดังนั้นหากหุ้นตัวใดมีความโดดเด่นจน "เตะตา" เราได้ มันย่อมมีดีพอที่เราจะลงทุนลงแรงและศึกษามัน

ประการสุดท้าย การอ่านสภาวะเศรษฐกิจเป็นเรื่องยาก 2-3 เดือนผ่านไป แนวโน้มก็เปลี่ยนไปแล้ว การพยายามคาดการณ์เศรษฐกิจอาจเป็นความพยายามที่สูญเปล่า อีกทั้งภาพที่เราเห็น คนอื่นๆ เขาก็เห็น ในจังหวะที่เราวิเคราะห์แบบ top-down แล้วไล่ตามหุ้นกลุ่มแบงก์ คนจำนวนมากก็กำลังวิ่งไล่ตามอยู่เช่นกัน จึงเป็นเรื่องยากที่เราจะได้ซื้อหุ้นที่ราคาต่ำและมี margin of safety

ทั้งหมดนี้เป็นแค่ความเห็นส่วนตัว แต่ก็อาจมีประโยชน์สำหรับนักลงทุนที่กำลังเลือกแนวทางการวิเคราะห์หุ้น ถึงอย่างไรผมก็เชื่อว่า ไม่ว่าเราใช้วิธีใด อย่างน้อยก็ยังดีกว่าคนที่ไม่วิเคราะห์ครับ

2 ความคิดเห็น:

  1. top-down มันสามารถลิงค์กับพวกตัวแปรเศรษฐกิจได้ด้วย ใช้เครืองมือทางสถิติเข้าช่วยได้ ดูน่าเชือถือ(มั้ง) นักวิชาการเลยชอบครับ

    ตอบลบ
  2. ถ้าคิดตามหลักเหตุผล วิธี top-down จะสามารถครอบคลุมหุ้นได้ทุกตัวในตลาด เพราะเราใช้การตัดกลุ่มที่ไม่น่าสนใจออกไปทีละขั้น รวมทั้งสามารถเอาตัวแปรเศรษฐกิจเข้ามาประกอบการคัดเลือก ซึ่งดูแล้วก็น่าเชื่อถือและก็น่าจะเวิร์กสำหรับนักวิชาการจริงๆ แต่สำหรับชาวบ้านอย่างเราๆ ซึ่งเดินห้าง ซื้อของ กินข้าว มีโอกาสได้เห็นตัวกิจการแบบใกล้ชิดจึงไม่มีปัญหาในการเลือกตัวหุ้นครับ ;)

    ตอบลบ