วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555

การตากผ้า กับ ปรัชญาการเล่นหุ้น 2


ต่อจากคราวที่แล้ว ผมบอกว่าเรื่องราวของการตากผ้ายังมีอีกมาก และนั่นก็แปลว่าเรื่องราวของหุ้นก็ยังมีอีกมากเช่นกัน

นอกเหนือจาก "แก่นแท้" ของการตากผ้าคือการทำให้ผ้าแห้ง และปัจจัยเสริมซึ่งได้แก่จังหวะการนำผ้าออกไปตาก ซึ่งส่งผลต่อการเหงื่อไหลไคลย้อยของเราเองแล้ว สิ่งหนึ่งที่เราให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือ เบ็ดเสร็จแล้วเราควรเอาผ้าใส่เครื่องตั้งแต่ต้นหรือเปล่า


ฝนลงเม็ดแล้ว ซักเสื้อผ้าตัวที่บางๆ ดีกว่า

หากคุณเอาผ้าไปซักในขณะที่ฝนเริ่มลงเม็ด ใครๆ ก็คงบอกว่าคุณบ้าไปแล้ว ถึงแม้คุณจะพยายามอ้างว่าผ้าที่เอามาซักนั้นเป็นผ้าเนื้อบางที่แห้งง่ายก็ตามที ซึ่งก็แหงล่ะ ต่อให้ผ้าเนื้อบางขนาดไหนแต่ถ้าเราเอาไป "ตากฝน" มันก็คงไม่แห้ง

ในบางโอกาสการไม่ทำอะไรเลยอาจจะดีกว่าการพยายามทำอะไรบางอย่าง ตัวอย่างที่ชัดเจนมากๆ คือการพยายามซื้อหรือแม้แต่ถือหุ้นในภาวะตลาดขาลง การซื้อหุ้นในตลาดขาลงไม่แตกต่างอะไรกับการออกไปตากผ้าในวันฝนตก แต่อย่าคิดว่าคนที่ตากผ้าในวันฝนตกไม่มีอยู่จริงนะครับ คุณอาจคาดไม่ถึงว่าในแวดวงการลงทุนก็มีคนที่ทำบ้าๆ อย่างนั้นอยู่เหมือนกัน และเขาก็คือ "ผู้จัดการกองทุน"

เพื่อความเป็นธรรมต่อวิชาชีพนี้ เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าผู้จัดการกองทุนจำต้องบริหารเงินที่หลั่งไหลเข้ามาให้สอดคล้องกับกฏระเบียบและนโยบายของกองทุน บางครั้งเขาจึงต้องทำในสิ่งที่ไม่ค่อยฉลาดนัก เป็นต้นว่าเข้าซื้อหุ้นในขณะที่ภาวะตลาดขาลงเพิ่งเริ่มต้นขึ้นไม่นาน (ส่วนใหญ่พอหุ้นตกปุ๊บ พวกเราก็จะรีบวิ่งไปซื้อ LTF จริงมั๊ย) ผู้จัดการกองทุนไม่กล้าเก็บเงินไว้รอโอกาสที่เจ๋งสุดๆ แล้วเสี่ยงกับการต้องออกไปอธิบายกับนักลงทุนว่า เนี่ย หกเดือนที่ผ่านมาสภาพตลาดไม่อำนวย ผมจึงยังไม่ได้ซื้อหุ้นตัวไหนเลย... (แต่กองทุนก็เก็บค่าธรรมเนียมบริหารจัดการ 1.75% เท่าเดิม)

ผู้จัดการกองทุนมีอาชีพและหน้าที่ที่จะต้อง "ออกไปทำงานและทำอะไรบางอย่าง" พร้อมกลับมารายงานให้พวกเราได้รับฟัง ดังนั้นไม่ว่าฝนจะตกอย่างไรเขาก็จะยังคงตากผ้าต่อไปด้วยการ "ซื้อหุ้นเชิงรับ" เช่น หุ้นค้าปลีก หุ้นสาธารณูปโภค ฯลฯ และทำให้เราเชื่อว่าเงินของเราถูกเอาไปลงทุนอย่างชาญฉลาด

ชาญฉลาดเหรอ? ถ้าผู้จัดการกองทุนของคุณบอกว่า เอ้า ฝนเริ่มจะตกแล้วนะ ผมจะซักผ้าให้คุณโดยเลือกซักเฉพาะเสื้อผ้าตัวบางๆ จะได้ชื้นและเหม็นอับน้อยหน่อย ...ฟังดูไม่ค่อยโสภาใช่มั๊ยครับ ตลาดขาลงคราวหน้าคุณก็อย่าทำแบบนั้นเสียเองล่ะ


ลองพลิกผ้าดูสิ

สิ่งหนึ่งที่คนตากผ้าเกินกว่า 90% ทำกันก็คือ เอาผ้าที่ซักแล้วมาตากบนราว จากนั้นก็ไปทำกิจกรรมอื่นครึ่งค่อนวัน พอผ้าแห้งก็ค่อยมาเก็บ แต่นี่คือวิธีที่ดีที่สุดหรือเปล่า... ผมสังเกตว่าเสื้อผ้าด้านที่โดนแดดโดยตรงจะแห้งก่อน ดังนั้นหลังจากเริ่มตากผ้าไปแล้วชั่วโมงกว่าๆ หากเราพลิกผ้าอีกด้านให้โดนแดดบ้าง เสื้อผ้าหนาๆ ของผมก็จะแห้งเร็วขึ้นและมีเวลาที่จะกลายร่างเป็นผ้าหอมๆ นานขึ้น

สำหรับการลงทุน สิ่งที่เราต้องทำก็คือการใส่ใจ และการพลิกผ้าก็คือการใส่ใจ

นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (VI) ให้ความสำคัญกับ margin of safety หรือ ส่วนต่างระหว่างราคาตลาดกับมูลค่าหุ้น การซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่งในขณะที่ราคาตลาดอยู่ต่ำกว่ามูลค่าหุ้นมากๆ ช่วยให้เงินของเรามีความปลอดภัยในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ถ้าหลังจากซื้อหุ้นแล้วราคามีการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจน margin of safety ค่อยๆ หดหายไป VI ที่มีความใส่ใจย่อมมองหาหุ้นตัวใหม่ที่ให้ margin of safety สูงกว่า และนี่ก็คือการพลิกผ้าเพื่อให้มันแห้งเร็วนั่นเอง

เรื่องนี้อาจขัดกับความคิดดั้งเดิมของหลายๆ คนที่เข้าใจว่า VI ต้องซื้อแล้วถือยาวโดยไม่สนใจราคาตลาด แต่ถ้าเราเข้าใจ margin of safety ซึ่งเป็นแก่นแท้ของการเป็น VI ก็จะนึกออกว่าการถือหุ้น "นานๆ" นั้นเป็นแค่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยมาก แต่แก่นจริงๆ มันอยู่ที่ margin of safety ครับ

วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2555

การตากผ้า กับ ปรัชญาการเล่นหุ้น 1




สำหรับบางคนการได้นั่งชิลล์หามุมสงบในร้านกาแฟจะช่วยให้เกิดสมาธิและไอเดียดีๆ เราถึงได้เห็นคนจำนวนมากไปนั่งในร้านกาแฟทั้งๆ ที่ไม่ได้ชอบกินกาแฟด้วยซ้ำไป หลายครั้งผมเองก็ทำอย่างนั้นเหมือนกัน แต่บางทีผมก็เกิดไอเดียได้ขณะที่อยู่ในมุมสงบของบ้าน

ใช่แล้วครับ ตามหัวเรื่องเลย วันหนึ่งผมเอาผ้าที่ซักเสร็จแล้ว (ซักเครื่องนะครับ ขอยกเครดิตให้เครื่องซักผ้าด้วย) ไปตากแดด แล้วผมก็พบปรัชญามากมายที่เชื่อมโยงกับการเล่นหุ้น


"อยากได้แดดจัดๆ - อยากให้หุ้นขึ้นเยอะๆ"

เคยมีเพื่อนบอกผมว่า ถ้าไปเมืองนอกแล้วเห็นนักศึกษานั่งผึ่งแดดกลางสนามหญ้า นั่นคือฝรั่ง แต่ถ้าเห็นกลุ่มไหนนั่งหลบแดดใต้ต้นไม้ นั่นคือคนไทย ผมบอกไม่ได้ว่าจริงแค่ไหน แต่ถ้าเป็นผมกับเพื่อนๆ ก็คงจะไปหลบแดดเหมือนกัน เลยคิดว่าเรื่องที่คนไทยไม่ชอบตากแดดร้อนๆ คงจะพอมีความจริงอยู่บ้าง

ข้อสรุปนี้ขัดกับธรรมชาติของการตากผ้า เวลาตากผ้าเราย่อมต้องการแสงแดดจัดๆ เพื่อทำให้ผ้าแห้งเร็ว สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นพ่อบ้านแม่บ้านอาจจะไม่ทราบว่าการเอาผ้าตากแดดจนแห้งและเก็บขณะที่ยังร้อนอยู่นั้นจะทำให้ผ้าหอมสะอาด มุมมองของผมก็คือ เราต้องการแสงแดดจัดๆ ตลอดการตากผ้า แต่เราต้องการให้แดดร่มเป็นการชั่วคราวในขณะที่เรายืนตากผ้า ซึ่งนี่คือ best case scenario ของการตากผ้า

ในทำนองเดียวกับการเล่นหุ้น หลังจากที่ซื้อหุ้นไปแล้วเราต้องการให้หุ้นขึ้นเยอะๆ ยิ่งเยอะก็ยิ่งดี เราจะได้ทำกำไรได้มากๆ อย่างไรก็ตาม เราต้องการให้หุ้นย่อตัวลงมาในระยะสั้นให้เรา "เก็บหุ้น" ไม่เช่นนั้นเราก็จะไม่มีจังหวะที่จะซื้อหุ้นได้ที่ต้นทุนต่ำๆ และก็เหมือนกับการตากผ้าครับ สิ่งนี้คือ best case scenario สำหรับการเล่นหุ้น ซึ่งอาจไม่เกิดขึ้นจริงก็ได้ แต่สิ่งที่ผมอยากให้แง่คิดก็คือ "แม้มันจะไม่ใช่ best case scenario เราก็ยังคงได้กำไรถ้าแดดจัด เพียงแต่ร้อนหน่อยก็เท่านั้น"

ดังนั้นขอให้มองภาพรวมก่อนว่าในระยะยาวแล้วหุ้นตัวนั้นๆ จะเป็นขาขึ้นหรือไม่ ซึ่งหลักใหญ่แล้วก็อยู่ที่แก่นแท้ของตัวหุ้นหรือผลประกอบการของบริษัทนั่นเอง


ฟ้าครึ้มอย่าตากผ้า

หลายคนเห็นแดดร่มหน่อย "ว้าว! นี่คือจังหวะของการตากผ้า" เลยรีบเอาผ้าใส่เครื่องซักแล้วเอามาตาก ปรากฏว่า อ้าว ฝนลงเม็ด... ในทำนองเดียวกัน หลายครั้งที่ราคาหุ้นย่อลงมา นักลงทุนบอกว่า "ว้าว! นี่คือจังหวะของการซื้อหุ้น" เลยรีบช้อนซื้อ ปรากฏว่าช้อนหัก เพราะซื้อแล้วหุ้นก็ลง ซึ่งมักเป็นผลจากการมองภาพระยะสั้น ละเลยภาพระยะยาว

การมองภาพระยะยาวให้ออกเท่ากับว่าเราต้องศึกษาตัวบริษัท รวมทั้งสภาวะการแข่งขัน ซึ่งก็เป็นลักษณะเดียวกับการวิเคราะห์ของนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ VI และที่เราเห็นนักลงทุนกลุ่มนี้ทำกำไรได้อย่างงาม ก็เพราะพวกเขาทำการบ้านมาอย่างหนักและเกาะไปกับแนวโน้มระยะยาวของกิจการนั่นเอง (อ่านออกว่าเดี๋ยวแดดจะแรง) ส่วนที่ VI บางท่านรวยกว่าคนอื่นๆ นั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะเขาเข้าซื้อในจังหวะที่ได้เปรียบจึงมีต้นทุนต่ำ (เห็นแดดร่มปุ๊บก็รีบตากผ้าเลย) ขณะที่บางท่านเข้าซื้อแพงกว่า (แดดร้อน เหงื่อแตก) แต่หุ้นก็ยังขึ้นต่อตามแนวโน้มระยะยาว

...แน่นอนครับบางทีเราเห็นฟ้าโปร่ง แต่แล้วฝนก็ตกลงมา ผมถือว่าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้เสมอในโลกของหุ้น ตัวบริษัทอาจทำผลงานได้ดี เราจึงคิดว่าราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นสอดคล้องกับผลประกอบการ แต่ต้องไม่ลืมด้วยว่าบรรยากาศหรือสภาพตลาดก็มีผลต่อราคาหุ้นด้วยเช่นกัน เรื่องนี้ผมเองก็เคยเจออยู่เป็นระยะๆ ถ้าผมเองต้องขาดทุนเพราะความผิดพลาดทำนองนี้ก็ทำใจ อย่างน้อยเราก็ได้ใช้ความระมัดระวังแล้ว แต่ต้องไม่ลืมตั้งข้อสังเกตกับตัวเองด้วยว่าเรามองอะไรผิดพลาด จากนั้นต้องเดินหน้าต่อไปและไม่ทำผิดซ้ำอีก

--- เรื่องของการตากผ้ายังมีอีกมาก ไว้ว่างๆ จะมาเล่าให้ฟังอีกครับ ---

--- ส่วนรูปประกอบเอามาจากเกมตากผ้า ไม่เคยเล่น แต่น่าจะสนุกดีเหมือนกันนะ ---

วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2555

ว่าด้วย Zero-sum Game


หากเราพูดคุยกับบรรดาคอหุ้นขาจร สิ่งที่เราจะได้ยินบ่อยครั้งคือประโยคที่บอกว่า "ถ้าคนหนึ่งกำไร อีกคนหนึ่งก็ขาดทุน" ฟังดูเหมือนกับว่าตลาดหุ้นเป็นแหล่งหมุนเวียนเงินจากคนฉลาดน้อยไปสู่คนฉลาดมาก หรือจากคนที่ช้าไปหาคนที่เร็ว หรือจากคนประมาทไปยังคนรอบคอบ

ภาษาหรูๆ หน่อยเขาบอกว่าหุ้นเป็น zero-sum game นั่นคือ ผลรวมของกำไรขาดทุนเป็นศูนย์ สมัยแรกที่เริ่มลงทุนผมเองก็เชื่ออย่างนั้นเหมือนกัน และมันก็ดูว่าน่าจะใช่นะ แต่ว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่า?

ดูเหมือนพระเอกกับผู้ร้ายจะผลัดกันได้เปรียบเสียเปรียบ คงต้องตามดูกันว่าตกลงแล้วผลจะออกมาเป็นอย่างไร


ดร.นิเวศน์: หุ้นไม่ใช่ zero-sum game
เมื่อผมอ่านหนังสือของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เซียนหุ้นคุณค่าของเมืองไทย จำไม่ได้แล้วว่าเล่มไหน ท่านบอกว่าหุ้นไม่ใช่ zero-sum game โดยให้เหตุผลว่าหากบริษัทมีผลประกอบการดีและตัวบริษัทมีมูลค่ามากขึ้น ทั้งคนขายและคนซื้อหุ้นอาจจะกำไรทั้งคู่เลยก็ได้

ตัวอย่างเช่น ผมซื้อหุ้นมาที่ราคาหุ้นละ 40 บาท หนึ่งปีผ่านไปมีคนซื้อหุ้นต่อจากผมไปที่ราคา 48 บาท เท่ากับว่าผมได้กำไร 8 บาท ถามว่าคนที่ซื้อหุ้นไปจะต้องขาดทุนงั้นสิ? ไม่เลยครับ ถ้าหากว่าระหว่างปีที่ผ่านมากำไรของบริษัทนี้โตขึ้นพร้อมไปกับราคาที่แพงขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่าบริษัทมีการเติบโตทำให้มูลค่าหุ้น ณ ตอนนี้ย่อมจะต้องสูงกว่ามูลค่าเมื่อปีที่ผ่านมา และบางทีถ้าผู้ซื้อเอาหุ้นไปขายต่อในอีก 1 ปีถัดไป เขาอาจจะขายได้ที่ราคา 60 บาทก็เป็นได้ นี่คือเหตุผลที่เราเห็นหุ้นค้าปลีกบางตัวดูเหมือนจะแพงแล้วแพงอีก แต่ราคาก็ยังขึ้นได้อยู่เรื่อยๆ

สรุปว่าถ้าหุ้นโต มันก็ไม่ใช่ zero-sum game


แต่ถ้าย่นย่อเวลาเข้ามา...

การที่เราพูดถึงระยะเวลาที่ค่อนข้างนาน เช่น 1 ปี ย่อมทำให้เราเห็นการเติบโตของหุ้นได้อย่างชัดเจน แต่ถ้าเราพูดถึงระยะเวลาแค่ 1-2 วันล่ะ ลองคิดง่ายๆ ถ้าบริษัทโต 20% ต่อปี หรือคิดเป็น 0.05% ต่อวัน ซึ่งเป็นขนาดการเติบโตที่แทบจะมองไม่เห็นเลยก็ว่าได้ และด้วย time frame สั้นขนาดนี้ ผมคิดว่าคงจะแฟร์ถ้าจะบอกว่าเราสามารถมองการเทรดหุ้นรายวันเป็น zero-sum game ได้

จากตัวอย่างเดิมเราได้เห็นการซื้อขายหุ้นที่เป็น win-win คือ คนขายได้กำไร คนซื้อก็(น่าจะ)ได้กำไร แต่ถ้าการซื้อขายดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วเวลาไม่ถึงหนึ่งวัน แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่หุ้นจะโตจนสร้างมูลค่าให้กับทั้งผู้ซื้อและผู้ขายในเวลาเดียวกัน เท่ากับว่าผู้ซื้อและผู้ขายต่างต้องแย่งกันชิงไหวชิงพริบในเกมที่กลับมาเป็น "near" zero-sum game เกมที่กำไรของนักลงทุนไม่ได้เกิดจากความสามารถของตัวบริษัท แต่เกิดจากการแกว่งตัวของราคาหุ้น ในกรณีนี้หุ้นจะทำหน้าที่เป็นแค่ตัวอ้างอิงราคา แต่ไม่ได้ถูกมองในแง่มุมของ "ความเป็นเจ้าของกิจการ" อีกต่อไป

ถึงตอนนี้ดูเหมือนว่าการเล่นหุ้นระยะสั้นจะเป็น zero-sum game


เจ้ามือแทรกแซง

อย่า เพิ่งคิดว่าผมจะพาดพิงไปถึงเจ้ามือปั่นหุ้นอะไรทำนองนั้นนะครับ เจ้ามือตามความหมายของผมในที่นี้คือ โบรกเกอร์ นั่นเอง ในการซื้อขายหุ้นเราๆ ท่านๆ ไม่สามารถสั่งซื้อขายได้เองโดยตรง แต่ต้องส่งคำสั่งผ่านโบรกเกอร์ โบรกเกอร์จึงเป็นเสมือนเจ้ามือที่คอยอำนวยความสะดวกและเก็บค่าธรรมเนียมจากเราไม่ว่าเราจะทำอะไร

ในเกมที่ผู้เล่น 2 ฝ่ายลงเงินคนละ 100 บาท เจ้ามือชักไป 1 บาท จากนั้นผู้เล่นทั้งสองฝ่ายต่างชิงไหวชิงพริบเอาเงินจากกองกลาง 199 บาทมาเป็นของตัวเองให้ได้มากที่สุด เกมนั้นคือการ "เล่นหุ้น" ผมตอบไม่ได้ว่าฝ่ายไหนจะชนะ แต่ที่แน่ๆ เจ้ามือเก็บไปก่อนแล้ว 1 บาท และทุกครั้งที่คุณแก้มือ เจ้ามือก็จะเก็บไปอีก 1 บาท ดังนั้น นอกจากจะชิงไหวพริบเอาชนะฝ่ายตรงข้ามแล้ว คุณยังจะต้องคำนึงถึงค่าต๋งที่เจ้ามือเก็บไปด้วยนะครับ

ในเกมที่เจ้ามือมีการเก็บค่าต๋งทำนองนี้ ผลที่ได้คือเกมย่อมไม่ใช่ zero-sum แต่จะติดลบอยู่นิดๆ คนเล่นหุ้นระยะสั้นที่มีฝีมือปานกลางจึงมีแนวโน้มที่จะขาดทุนในระยะยาว


สรุป

ซื้อหุ้นระยะยาว
- ถ้าหุ้นเติบโตก็เป็น positive-sum
- ถ้าหุ้นไม่เติบโตก็เป็น zero- หรือ negative-sum

เล่นหุ้นระยะสั้น
- หุ้นจะโตหรือไม่โตก็ไม่ค่อยมีผล แต่ยังไงก็เป็น negative-sum

ข่าวดีก็คือ ไม่ว่าจะเป็นแนวไหนก็ตาม ถ้าฝีมือของเราเกินค่าเฉลี่ยเราก็สามารถผลักให้กำไรของเราเป็นบวกได้ครับ

วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555

บ้านใหญ่รวยช้า


ไม่นานมานี้ผมได้อ่านเว็บหนึ่งพูดถึงหนังสือที่ "ดีเยี่ยม" และทำให้ระลึกได้ว่าผมเองก็มีหนังสือเล่มนั้นอยู่เหมือนกัน เลยขอเอาเนื้อความบางส่วนมาแบ่งปันและต่อยอดกันครับ

หนังสือเล่มที่ว่าคือ "สู่ชีวิตการงานอันเรียบง่าย" ผมขอยกเนื้อความที่พูดถึงเรื่องบ้านมาเรียบเรียงใหม่ไม่ให้ยืดยาวมากเกินไป ...สิ่งที่น่าสังเกตคือหนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นในปี 2001 หากคนอเมริกันส่วนใหญ่ได้อ่านและทำตามเราก็คงไม่มีวิกฤติซับไพร์ม คนไทยก็คงไม่มีโอกาสได้เก็บหุ้นราคาถูกในปี 2008 ครับ
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ยอดค่าใช้จ่ายสูงสุดของครอบครับส่วนใหญ่ก็คือ ค่าบ้าน ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมาขนาดบ้านพักอาศัยโดยทั่วไปของคนอเมริกันเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่า ขณะที่ค่าบ้านขนาด 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำโดยทั่วไปได้เพิ่มขึ้นเกือบเจ็ดเท่า

ข้อแนะนำในการวางแผนทางการเงินแบบเก่าในช่วง 50 ปีมานี้ก็คือ "ไม่ควรจ่ายเงินค่าบ้านโดยรวม (เงินต้น ดอกเบี้ย ภาษี และค่าเบี้ยประกันภัย)เกินกว่าร้อยละ 25 ของรายได้ทั้งหมดต่อเดือน" และคำแนะนำนี้ก็ยังคงใช้ได้อยู่

โชคไม่ดีเลยว่าช่วง 2-3 ปีมานี้ ผู้ปล่อยสินเชื่อกลับยอมให้ผู้กู้จ่ายค่าบ้านในระดับ 40-50% ของรายได้ เมื่อพิจารณาถึงรายได้สุทธิหลังหักภาษี หักกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และอื่นๆ คงจะเห็นได้ว่าผู้กู้จะมีเงินเหลือพอใช้ในแต่ละเดือนได้อย่างไร...

ผู้ปล่อยสินเชื่อได้สร้างความลำบากอย่างมหาศาลแก่ประชาชนผู้ซื้อบ้านด้วยการอนุมัติเงินกู้ซึ่งสูงเกินกว่าจำนวนผู้ซื้อจะสามารถจ่ายได้จริง เจ้าหน้าที่สินเชื่อจะบอกคุณว่าพวกเขาเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อให้คุณเพราะราคาบ้านได้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และพวกเขาเพียงแต่ต้องการให้ผู้ซื้อบ้านได้มีบ้านที่ตนเองต้องการ ที่จริงผู้ปล่อยสินเชื่อไม่ได้ยอมให้กู้เพราะเห็นแก่ผู้ซื้อ แต่เพื่อประโยชน์ของตนเองมากกว่า สิ่งที่ผู้ให้กู้สนใจเป็นอย่างแรกก็คือคุณจะจ่ายชำระในแต่ละเดือนได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่ การที่คุณต้องตกอยู่ภายใต้แรงกดดันทางอารมณ์จากการเงินและการทำงานอันเนื่องมาจากการตัดสินใจนี้มิได้ส่งผลกระทบใดๆ ต่อผู้ให้สินเชื่อเลย

แน่นอนว่าในระยะสั้น การอนุมัติสินเชื่อนี้ย่อมทำให้ผู้ซื้อบ้านได้มี "บ้านในฝัน" ซึ่งในหลายๆ กรณีก็เป็นบ้านราคาแพงเกินกว่าพวกเขาจะจ่ายได้ แต่ในระยะยาวแล้ว ยอดผ่อนชำระที่สูงลิบทำให้ผู้กู้ต้องพยายามหาเงินมาจ่ายให้ได้ ซึ่งบ่อยครั้งก็ทำให้พวกเขาไม่อาจสร้างฐานะในระยะยาว แต่ต้องหมดเงินไปกับค่าบ้านสูงลิ่วและต้องทนทำงานที่ไม่ชอบ แถมยังเพิ่มความเครียดให้ชีวิตหนักโข

เรียบเรียงใหม่จาก "สู่ชีวิตการงานอันเรียบง่าย" (Simplify Your Work Life) โดย อีเลน เซนต์เจมส์ แปลโดย นุชจรีย์ ชลคุป
และขอขอบคุณ www.cheechud.com บทความของวันที่ 17 ก.ค. 54

--------------------------------------------------

อ่านแล้วผมนึกไปถึงบ้านของบัฟเฟตต์ ซึ่งแม้เขาจะรวยล้นฟ้าแต่ก็ไม่เคยไขว่คว้าหาบ้านหลังโตในย่านหรูหรา ...หรือนี่อาจเป็นหนึ่งในเคล็ดลับที่ทำให้เขาเป็นนักลงทุนที่รวยที่สุดในโลกก็เป็นได้ครับ

สิ่งหนึ่งที่ผมเอามาคิดต่อยอดคือ เพื่อนผมหลายคนมีรายได้สูงลิบ บางคนเป็นผู้จัดการกองทุน บางคนเป็นนักบิน ที่ผมเห็นคือพวกเขาเอาเงินไปทุ่มลงกับ "บ้านใหญ่ๆ" และ "รถเท่ๆ" ความจริงก็นานาจิตตังนะครับ แต่ถ้าเป็นผมคงจะเอาเงินไปลงทุนดีกว่า มีบ้านแบบพอเพียงแต่รวยเร็วดีกว่ามีบ้านใหญ่แล้วรวยช้า และที่สำคัญนี่เป็นการ attack ที่รายจ่ายก้อนใหญ่ที่สุดของชีวิตเลยครับ

วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

เทนนิสกับการลงทุน


ความจริงเทนนิสเป็นกีฬาที่ผมรู้สึกว่าค่อนข้างไกลตัว เพราะต้องมีคอร์ตมีสนามเป็นเรื่องเป็นราว ไม่เหมือนกับแบดมินตันที่คว้าแร็กเก็ตออกไปหน้าบ้านก็ตีได้แล้ว ส่วนมากผมจึงมักได้ดูเทนนิสผ่านหน้าจอทีวีเสียมากกว่า ระยะหลังพบว่าแม้กระทั่งสาวๆ ก็หันมาสนใจเทนนิสกันมากขึ้น แต่สอบถามไปมาแล้วพบว่าดูนักเทนนิสมากกว่าที่จะดูเกม

เชื่อว่าแม้แต่คนที่ไม่ได้ใส่ใจกับเทนนิสก็คงจะพอได้ยินชื่อ "โรเจอร์ เฟเดอเรอร์" หรือ "ราฟาเอล นาดาล" หรือถ้าย้อนไปไกลๆ ก็อาจจะเป็น "อังเดร อากัสซี" หรือ "พีท แซมพราส" ขึ้นอยู่กับอายุของคุณ นักเทนนิสเหล่านี้ต่างเคยขึ้นเป็นมือหนึ่งของโลกมาแล้วทั้งสิ้น แต่ละคนมีช่วงรุ่งเรืองและช่วงตกต่ำซึ่งไม่ต่างอะไรกับหุ้นในตลาดเลย


Biasness ในโลกของเทนนิส

ในปี 2003 ชื่อของ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ เริ่มฉายแสงเจิดจรัสด้วยชัยชนะในการแข่งขันที่วิมเบิลดัน ประเทศอังกฤษ จากนั้นเป็นต้นมาเขาก็ชนะรายการแล้วรายการเล่าและขึ้นครองมือ 1 ของโลกอย่างเหนียวแน่น ถ้ามีคนตั้งคำถามว่าเขาจะสามารถทำลายสถิติชนะแกรนด์สแลม 14 รายการของ พีท แซมพราส ได้หรือไม่ คนตอบทุกคนจะตอบว่า "แน่นอน!" แถมบางคนยังคิดไปไกลว่าเขาจะชนะได้ถึง 20 รายการด้วยซ้ำ

ในภาวะที่เฟเดอเรอร์กำลังขึ้นถึงจุดสูงสุดของอาชีพและก็ยังไม่แก่เสียด้วย ใครก็ต้องคิดว่าเขาจะ "ชนะไปได้เรื่อยๆ" ...ตราบจนกระทั่งมีดาวดวงใหม่ชื่อ ราฟาเอล นาดาล โผล่เข้ามา

นาดาลเป็นนักเทนนิสสไตล์วิ่งสู้ฟัด เขาโดดเด่นมากบนคอร์ตดิน (clay court) เมื่อไหร่ที่ไปดวลกับเฟเดอเรอร์บนคอร์ตดินเขาก็มักจะเอาชนะได้ ที่จริงแล้วเฟเดอเรอร์บนคอร์ตดินก็จัดว่าดี เพียงแต่ไม่ได้เด่นเท่ากับนาดาลเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมแล้วเฟเดอเรอร์ก็เหนือกว่านาดาลเรื่อยมา ...เราคิดว่าเฟเดอเรอร์จะยังคง "ชนะไปได้เรื่อยๆ" ใช่มั๊ยครับ

ผิดแล้วล่ะครับ... นาดาลพัฒนาฝีมือของตัวเองบนคอร์ตประเภทอื่นจนกระทั่งขึ้นมาเทียบเคียงกับเฟเดอเรอร์ซึ่งในวงการถือว่าเป็น "ระดับเทพ" และสามารถแซงขึ้นเป็นมือ 1 ของโลกได้ในที่สุดชนิดที่ใครๆ ก็อ้าปากตาค้าง นาดาลพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้งและชนะการแข่งขันรายการแล้วรายการเล่า ถึงตรงนี้ทุกคนก็คิดว่าหมอนี่เป็นเทพองค์ต่อไปและต่างก็คิดว่านาดาลจะ "ชนะไปได้เรื่อยๆ"


Biasness ในโลกของการลงทุน

เราอาจจะเคยพบหุ้นบางตัวที่อยู่ๆ ก็ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่น ซึ่งอาจจะเป็นผลพวงจากการปั่นหุ้นธรรมดาหรืออาจจะเป็นหุ้นที่มีดีจริงๆ ก็ได้ หุ้นดังกล่าวดูเหมือนจะแพงแล้วแต่ก็ยังคงมีคนอยากซื้อ ผลักดันให้ราคาของมัน "แพงแล้วแพงอีก" ในระยะแรกผลประกอบการของบริษัทอาจยังพอรองรับความแพงนั้นได้ แต่เมื่อหุ้นวิ่งไปนานๆ ผลประกอบการก็ตามไม่ทันเหมือนกัน เมื่อประเมินมูลค่าหุ้นด้วยค่า P/E หรือวิธีอื่นใด จะมองมุมไหนมันก็แพง(ไปแล้ว) แต่เราก็รู้สึกว่ามันยังน่าจะไปต่อได้ เพราะแม้แต่โบรกเกอร์ก็ยังบอกว่ามันน่าจะไปต่อได้

ในตอนนั้นเองกรอบความคิดของเราไม่ต่างอะไรจากแฟนเทนนิสที่คิดว่าผู้เล่นคนโปรดของเขาจะยัง "ชนะไปได้เรื่อยๆ" ในทำนองเดียวกันเราก็คิดว่าหุ้นตัวนั้น "น่าจะไปต่อได้"

ถ้าคิดจากพื้นฐานของบริษัท มันชัดเจนว่าหุ้นนี้ไม่ใช่แค่เริ่มแพง แต่ว่ามันแพงมานานแล้ว ทว่าการที่เราพล็อตกราฟและมองเห็นแนวโน้มขาขึ้นหรือ uptrend ที่แข็งแกร่งส่งเสริมทัศนคติที่บอกว่าราคาหุ้นน่าจะไปต่อได้ ผลที่เกิดขึ้นคือเราตัดปัจจัยพื้นฐานออกไปโดยไม่รู้ตัวและตัดสินใจซื้อ


ไม่มี Cut Loss

หากคุณเป็นนักเล่นหุ้นแนวเทคนิคและตัดสินใจซื้อที่แนวโน้มขาขึ้น ผมคิดว่ามันก็โอเคครับ ซื้อด้วยเทคนิค ออกด้วยเทคนิค แล้วก็ตั้งจุด cut loss เอาไว้ด้วย ซึ่งมันก็เป็นกลยุทธ์ที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม คนที่ซื้อด้วยทัศนคติ (ที่ว่าหุ้นน่าจะไปต่อได้) มักไม่มีการตั้งจุด cut loss อาจเป็นเพราะว่ามันขัดกับทัศนคติของเขา (ก็เขาเชื่อว่าหุ้นยังไปต่อได้นี่)

สิ่งที่ผมเรียนรู้จากเรื่องนี้คือ biasness ในโลกของการลงทุนจะดึงเราออกจากเหตุผล (ปัจจัยพื้นฐานหรือปัจจัยเทคนิคก็ตามที) อย่าใช้มันในการลงทุน

วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2555

พรานโซรอส นิทาน Anti-VI


แม้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ จะถือเป็นสุดยอดนักลงทุนแนว VI และเป็นนักลงทุนที่รวยที่สุดในโลก แต่ถ้านับกันเป็น "ต่อปี" แล้วก็ยังแพ้ผู้จัดการกองทุนเฮ็ดจ์ฟันด์นามว่า จอร์จ โซรอส อยู่พอสมควร (บัฟเฟตต์ทำผลตอบแทนได้ 24.7% ต่อปี ระหว่างปี 1956-2002 ขณะที่โซรอสทำได้ 28.6% ต่อปี ระหว่างปี 1969-2002) นอกจากนี้เรื่องราวของโซรอสในนิทานก็ยังโลดโผนกว่ามาก...


เราไม่ต้อนรับพรานโซรอส!

ในเมืองเล็กๆ ท่ามกลางขุนเขา ผับดูเหมือนจะเป็นที่รวมของผู้คน ทั้งพรานหนุ่มซึ่งเปี่ยมด้วยกำลังและพรานเฒ่าซึ่งเปี่ยมด้วยประสบการณ์ ต่างก็ดื่มเบียร์พูดคุยกันอย่างออกรส บ้างก็โม้กันเรื่องล่าสัตว์ บ้างก็ปรึกษาหาวิธีล่าสัตว์ใหม่ๆ แต่ครั้นเสียงกระดิ่งหน้าร้านดังขึ้น เสียงพูดคุยก็เงียบลงราวกับปิดสวิตซ์

"มีอะไรหรือครับ" พรานหนุ่มคนหนึ่งกระซิบถาม

"จะอะไรซะอีก ก็ไอ้พรานโซรอสน่ะสิ! พูดแล้วของขึ้น" พรานเฒ่าตอบแบบไม่สบอารมณ์ พลางมองตามเด็กในร้านที่ถือเบียร์ 3-4 กระป๋องเดินออกไปข้างนอก "อันโตนิโอ แกจำไว้นะ พรานโซรอสมันเก่งก็จริงแต่มันล่าสัตว์ด้วยวิธีชั่วร้าย พวกเราในที่นี้เกลียดมันทุกคน"

พรานอันโตนิโอเดินออกมาหน้าร้าน เห็นป้ายเขียนไว้ตัวโต "ยินดีต้อนรับทุกท่าน ยกเว้นพรานโซรอสกรุณารอข้างนอก" พรานหนุ่มเกาหัวด้วยความงุนงง เขายังเห็นหลังของใครบางคนไวๆ บางทีอาจจะเป็นพรานโซรอสก็ได้ เขาจึงรีบตามไปโดยทันที

"ท่านคือพรานโซรอสหรือ" พรานหนุ่มถาม น้ำเสียงยังกระหืดกระหอบอยู่

"ข้าจะเป็นใครไปได้" พรานเฒ่าตอบเรียบๆ "ผู้คนไม่ค่อยต้อนรับข้านักหรอก เข้าไปในผับคราวล่าสุดคนก็โห่ไล่ ทั้งขวดทั้งแก้วปลิวว่อน"


เรื่องเล่ารอบกองไฟ

พรานโซรอสเดินนำไปจนถึงกลางป่าที่หนาวเย็น มีใครบางคนก่อกองไฟรออยู่ เขาแนะนำให้พรานอันโตนิโอรู้จักกับพรานครักเคนมิลเลอร์ ที่จริงอันโตนิโอเคยได้ยินเรื่องราวของสองคนนี้อยู่เหมือนกัน พรานโซรอสได้ชื่อว่าเป็นนายพรานที่ช่ำชองการล่าสัตว์ "แปลกๆ" เป็นอย่างมาก ขณะที่พรานดรักเคนมิลเลอร์จัดได้ว่าเป็นลูกมือชั้นยอดที่ผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี

ครั้งหนึ่งพรานดรักเคนมิลเลอร์เห็นช่องทางที่จะจับหมีซึ่งจะทำเงินได้มหาศาล จึงขุดหลุมดักไว้ถึง 30 หลุม ทว่าพรานโซรอสกลับบอกว่า "แค่นี้เหรอที่คุณเรียกว่าการดักสัตว์" และคำถามนี้ก็เป็นที่โจษจัณฑ์ไปทั่วทั้งป่า พรานโซรอสบอกว่า ถ้าคุณมั่นใจสุดๆ ว่าจะจับหมีได้และพวกมันจะทำเงินมหาศาล คุณต้องเทกระเป๋าซัดให้เต็มที่ มันไม่สำคัญหรอกว่าจะผิดหรือถูก สิ่งสำคัญคือคุณทำเงินได้เท่าไหร่เมื่อคุณถูก และคุณเสียเงินเท่าไหร่เมื่อคุณผิด


จับสิงโต ล้มช้าง

บางทีวีรกรรมของพรานโซรอสที่เลื่องลือที่สุดคือการที่เขาจับสิงโตได้เมื่อปี 1992 "ผมไม่ควรได้เครดิตถึงขนาดนั้นหรอก สิงโตฝูงนั้นอ่อนแรง ใครๆ ก็เห็น" ที่จริงมีพรานหลายคนแลเห็นว่าสิงโตอ่อนแรงและต่างยิงลูกดอกใส่พวกมัน แต่มีเพียงโซรอสที่บ้าระห่ำพอที่จะคว้าตาข่ายและกระโจนใส่ตัวจ่าฝูง ที่สุดแล้วการจับสิงโตครั้งนั้นทำกำไรให้เขาอย่างงดงาม

"แล้วจริงหรือที่คุณเผาป่าจับช้าง" พรานอันโตนิโอถามขึ้นแบบเกรงๆ

"บ้าสิ" พรานโซรอสสวนทันที "ข้าไม่เคยเผาป่าต้อนสัตว์ที่ไหน มีแต่คนคิดและกล่าวโทษข้าไปเอง"

สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 1997 คือ อากาศร้อนและแห้งแล้งได้ปกคลุมป่า พรานโซรอสมั่นใจว่าไฟป่าจะต้องเกิดขึ้น เขาเดินสำรวจเส้นทางที่สัตว์ป่าใช้และวางแผนจับช้างเพื่อเอางาไปขาย เขาสุมกองใบไม้แห้งตีกรอบให้มั่นใจว่าช้างจะไม่หลุดรอดไปทางอื่น และแล้วเมือไฟไหม้ป่า ช้างก็กรูกันมาตามทางที่โซรอสวางไว้และตายอยู่ในกองเพลิงถึง 56 ตัว

พรานอันโตนิโอฟังแล้วถึงกับอึ้ง ถึงพรานโซรอสจะไม่ได้เป็นคนจุดไฟ แต่ก็เซ็ตอัพเตรียมล้มช้างซะขนาดนี้ แล้วจะไม่ให้คนเกลียดชังเขาได้ยังไงกันเล่า


ทฤษฎีการล่าสัตว์

การล่าสัตว์ของพรานโซรอสไม่ใช่การซุ่มรอกวางเหมือนอย่างพรานบัฟเฟตต์ ไม่ใช่การซุ่มยิงกระต่ายป่าเหมือนอย่างพรานทั่วไป แต่เขามีทฤษฎีที่เชื่อมโยงพฤติกรรมของสัตว์ใหญ่ๆ และทำให้เขารู้ว่าเมื่อไหร่ถึงจะเป็นเวลาที่ดีที่จะ "ลงมือ"

"เมื่อสัตว์กระหายน้ำ มันย่อมไปที่ลำธาร... เมื่อสัตว์หิวโหย มันย่อมไร้เรี่ยวแรง... เมื่อตื่นตระหนก พวกมันย่อมแตกฝูง" พรานโซรอสกล่าว "ถ้าเข้าใจสิ่งเหล่านี้ เจ้าจะเสี่ยงน้อยกว่าที่ใครๆ นึก"

"ลืมเรื่องการล่าสัตว์แบบสะเปะสะปะที่เหล่าพรานไร้ฝีมือแนะนำเสีย ไม่มีพรานเก่งๆ คนไหนเตรียมกระสุนหรือกับดัก 10 แบบสำหรับล่าสัตว์ 10 ชนิดในคราวเดียวกันหรอก เจ้าต้องมุ่งเน้นและหมั่นฝึกฝน"

"ต้องมุ่งเน้นและหมั่นฝึกฝน" พรานอันโตนิโอพึมพำ