วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ราคาหุ้น


ก่อนอื่นต้องบอกว่าจุดตั้งต้นของทฤษฎีนี้ผมไม่ได้คิดขึ้นมาเอง แต่เห็นจากหนังสือพิมพ์ลงบทสัมภาษณ์ของคุณพนิต วิกิตเศรษฐ์ ในสมัยก่อนที่ท่านจะมาเป็นผู้ช่วย รมต. ซึ่งบทสัมภาษณ์นั้นกล่าวว่า

ราคาหุ้น = มูลค่าหุ้น + ความคาดหวังของตลาด

เมื่อผมเห็นแล้วก็รู้สึกชอบมาก ผ่านมาหลายปีผมคิดว่าน่าจะเอาแนวคิดนี้มาต่อยอด ...หากว่าผมกำลังวิเคราะห์หุ้นตัวหนึ่งและทราบมูลค่าที่แท้จริงของมันได้ ผมนำราคาหุ้นมาพล็อตเทียบกับมูลค่าหุ้น เมื่อใดก็ตามที่ความคาดหวังของตลาดติดลบมากเกินไป ผมก็จะซื้อหุ้นตัวนั้น ในทางกลับกันถ้าตลาดมีความคาดหวังเป็นบวกมากเกินไป ผมก็จะขายหุ้นตัวนั้น
ปัญหาอยู่ที่มากเกินไปคือเท่าไหร่? อันนี้ก็ต้องแล้วแต่นักลงทุนล่ะครับ บางทีอาจกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์เทียบกับราคาหุ้นก็สมเหตุสมผลดี
ปัญหาคลาสสิคอีกอันหนึ่งคือการหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้น ผมแนะนำว่าควรคิดถึงตัวกิจการก่อน คิดจากยอดขายและกำไรที่บริษัททำได้ย้อนหลังไปหลายๆ ปี แล้ว project ไปข้างหน้าโดยตั้งสมมติฐานเริ่มแรกว่าบริษัทมีผลการดำเนินงานคงเส้นคงวา แต่ถ้าบริษัทมีแววว่าจะเติบโตเป็นพิเศษก็ต้องปรับเพิมให้เขาด้วยนะครับ จากนั้น discount ผลกำไรที่ว่านั้นกลับมาที่ปัจจุบัน จะได้มูลค่าของทั้งบริษัท แล้วเราค่อยหารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมดก็จะได้มูลค่าหุ้นที่แท้จริงครับ ส่วนในการพล็อตก็ต้องปรับเพิ่มมูลค่าหุ้นตามจำนวนวันที่ผ่านไปด้วย พอจะสู้ไหวใช่มั๊ยครับ

วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ตำนานดัชนีตลาดหุ้น


ถ้าเราเปิดทีวี บางครั้งจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับหุ้น เช่น "ตลาดหุ้นวันนี้ดัชนี SET Index ปรับตัวสูงขึ้น 8.34 จุด มาอยู่ที่ 737.28 จุด คิดเป็น 1.14%" คนที่ไม่ได้คลุกคลีอยู่กับหุ้นคงสงสัยว่าดัชนีที่ว่านี้มันคืออะไร หรือแม้แต่คนที่คลุกคลีก็อาจจะอยากรู้ตื้นลึกหนาบางเกี่ยวกับมัน

ในสมัยก่อนนานมาแล้ว (แต่ก็มีตลาดหุ้น) นักลงทุนซื้อขายหุ้นกัน ตกเย็นก็ได้แต่ถามกันไปมาว่าหุ้นตัวนั้นตัวนี้มีราคาขึ้นลงอย่างไรบ้าง คาดว่าจะประมาณนี้

แมน: "เฮ้ย วันนี้หุ้นแบงก์กรุงเทพขึ้นอีกรึเปล่า"
นัท: "ก็ขึ้นอีก 50 ตังค์แหละ ตอนนี้ 22 บาทแล้ว"
แมน: "เหรอ แล้ว AIS ล่ะ"
นัท: "เอ่อ วันนี้ก็เท่าเดิมแหละ"
แมน: "แล้ว ปตท. ล่ะ"
นัท: "เฮ้ย เลิกถามซะทีได้มั๊ย"

ปรากฏว่ามีนักหนังสือพิมพ์หัวใสสร้างดัชนีหุ้นขึ้นมาเป็นตัวแทนของหุ้นในตลาดที่อเมริกา ดัชนีนี้เรียกว่าดัชนีดาวโจนส์ ตามชื่อของชาร์ล ดาวและเอ็ดเวิร์ด โจนส์ ซึ่งต่อมาก็มีดัชนีอื่นๆ เกิดขึ้นตามมามากมาย ของประเทศไทยเองก็มีดัชนี SET (Stock Exchange of Thailand) หรือ SET Index เป็นต้น

สังเกตว่าหน่วยของดัชนีคือ จุด หรือ point ซึ่งก็เป็นเพราะเราเทียบดัชนีกับตัวของมันเองในอดีต โดยกำหนดให้ดัชนีในวันฐานมีค่าเป็น 100 จุด (หรือ 1000 จุด) เรื่องราวของดัชนีตลาดหุ้นยังมีอีกมาก เราค่อยว่ากันต่อในโอกาสหน้าครับ

วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

รากฐานของประชาธิปไตย


อาจจะมาแปลกสักหน่อย เพราะปกติผมจะไม่ค่อย (ชอบ) เขียนอะไรเกี่ยวกับการเมือง ส่วนหนึ่งคือมันเป็นหัวข้อที่เขียนแล้วอาจไม่ถูกใจคนอ่าน แล้วก็จะพานทะเลาะกัน แต่ดูจากสถานการณ์บ้านเมืองแล้วก็ต้องว่ากันซักหน่อย

อย่างที่จั่วหัวไว้ ทราบหรือไม่ครับว่าอะไรคือรากฐานของประชาธิปไตย?? ... รัฐธรรมนูญ? การเลือกตั้ง? หรือประชาชน?

คำตอบของแต่ละคนคงจะหลากหลายกันไป แต่คำตอบของผม คือ "หัวใจที่เป็นประชาธิปไตย!!" ที่พร้อมจะเคารพความคิดเห็นของทุกๆ คน ไม่ว่าคนที่คิดเหมือนเราหรือแตกต่างจากเรา ไม่ว่าจะเป็นคนหมู่มากหรือคนส่วนน้อย เมื่อใดที่คนไทย "ทำใจ" ยอมรับฟังความเห็นที่แตกต่างได้โดยสงบและนำมาใคร่ครวญอย่างไม่มีอคติ หากเราคิดผิดก็พร้อมที่จะเปลี่ยนความเห็นของเราเอง สังคมจะดำเนินต่อไปได้

"เราไม่จำเป็นต้องพยายามโน้วน้าวให้คนอื่นคิดเหมือนเรา"

ผมเชื่อว่าแม้คิดเห็นแตกต่าง แต่คนเราก็อยู่ร่วมกันได้ ถ้า... ทุกคนในประเทศนี้... มีหัวใจที่เป็นประชาธิปไตย

วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

โมเดลการรวยแบบมนุษย์เงินเดือน


เชื่อว่าเกินกว่า 90% ของคนที่ผมพบปะอยู่ทุกวันนี้เป็นมนุษย์เงินเดือน และเกือบร้อยละร้อยที่คิดว่ายิ่งได้เงินเดือนเยอะยิ่งมีโอกาสรวย ... ซึ่งก็จริง แต่ไม่ทั้งหมดนะครับ ... คราวนี้ผมจะขอเสนอโมเดลการรวยแบบลูกจ้างดูบ้างว่ามนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ควร "move" อย่างไรจึงจะมีโอกาสรวยเร็ว

สมมติว่ามีเพื่อนผมอยู่ 3 คน คือ เอก อ้อม และอาท ทั้งหมดทำงานเป็นลูกจ้างมืออาชีพ
  • เอก เป็นลูกจ้างในฝันของบริษัท ทำงานอยู่กับบริษัทอย่างมั่นคงตลอดระยะเวลา 20 ปี ไม่เคยย้ายงาน
  • อ้อม เป็นพวกเขย่งก้าวกระโดด ทำงานได้ 2 ปีก็ย้ายไปบริษัทอื่น ครบ 20 ปีเลยย้ายมา 10 บริษัทพอดี!
  • อาท เป็นพวกชอบลองของ ในช่วง 10 ปีแรกย้ายงานเป็นว่าเล่นทุกปี แต่พออายุย่างเข้าเลขสามก็ "settle" ทำงานอยู่กับบริษัทสุดท้ายต่อเนื่องมาถึง 10 ปี
ตัวอย่างนี้อาจจะดูห่ามๆ หน่อยนะครับ แต่ทายกันได้ไหมว่าใน 3 คนนี้ ใครจะรวยที่สุด?


เป็นไปตามความคาดหมาย หลังจาก 20 ปีผ่านไป ลูกจ้างชั้นดีของบริษัทอย่างเอกกลายเป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ต่ำที่สุด ขณะที่อ้อมและอาทได้เงินเดือนพอๆ กัน แต่สังเกตว่าอาทซึ่งขยันย้ายงานถี่ยิบในช่วงแรกได้เงินเดือนสูงกว่าอ้อมมาโดยตลอด เพิ่งจะมาโดนตีเสมอในปีสุดท้ายนี้เอง ลองมาดูกันในแง่รายได้สะสมบ้าง
ตลอดเวลา 20 ปี เอกได้เงินเดือนรวม 9.2 ล้านบาท (อืมม.. ก็ไม่น้อยนะ) อ้อมได้ 16.6 ล้านบาท (โอ้โห!) ส่วนอาทได้ 20.3 ล้านบาท (เฮ้ย!!!)
คิดว่าคงได้ไอเดียไปกันบ้างสำหรับลูกจ้างอย่างเราๆ ทั้งนี้ผมไม่ได้แนะนำให้คนที่อยากรวยมาเป็นมนุษย์เงินเดือน (ความจริงการเป็นมนุษย์เงินเดือนมันรวยได้ช้าด้วยซ้ำไป) หรือชักชวนให้ใครย้ายงานเล่นนะครับ บางครั้งผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินก็ไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดเสมอไป ...เอ่อ แต่ก็สำคัญน่ะครับ หรือใครว่าไม่จริง

วันพุธที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

อยากรวย?


คำถามที่หลายคนถามเมื่อรู้ว่าผมเป็นนักวางแผนทางเงิน คือ "ทำยังไงถึงจะรวย?" หรือไม่ก็ "มีเงินอยู่...บาท เอาไปทำอะไรดี?" เบื้องหลังคำถามเหล่านั้นคือข้อความที่ลึกๆ กำลังบอกว่า "อยากรวย!!" แล้วทำยังไงถึงจะรวยล่ะ

แรกสุดเราต้องมาดูก่อนว่าที่ว่ารวยนั้นคืออะไร ถ้าเราเป็นคนมัธยัสถ์ ใช้ชีวิตแบบพอเพียง การมีเงินในหลักสิบล้านก็น่าถือว่ารวยได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่ถ้าใครมักมากหน่อยก็อาจจะต้องนิยามการรวยให้ใหญ่ขึ้น เช่น อาจจะเป็นร้อยล้าน ทั้งนี้ไม่ใช่นิยามให้ใหญ่โตแล้วจะดูเจ๋งหรือโก้เก๋นะครับ ยิ่งนิยามความรวยให้ใหญ่เท่าไหร่ก็ยิ่งไปถึงยากเท่านั้น ใครยังสงสัยลองย้อนกลับไปดูเรื่อง "ความสุขราคาถูก" ก็จะเข้าใจครับ

ต่อมาเรามาเข้าเป้ากันว่าแล้วทำ "อย่างไร" ถึงจะรวย คนจะรวยมาได้หลักๆ 3 แนว
  1. รวยโดยบังเอิญ เช่น พ่อแม่รวย หรือไม่ก็ถูกหวย ที่บอกว่าบังเอิญก็เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้
  2. รวยเพราะทำงาน คือ ทำงานเก็บเงิน ทั้งที่ไปเป็นลูกจ้างเขาหรือทำกิจการของตัวเอง ลักษณะนี้ต้องเหนื่อยถึงจะรวยได้
  3. รวยเพราะลงทุน คือ เอาเงินไปต่อเงิน ไม่ต้องเอาหยาดเหงื่อไปแลก แต่วิธีนี้จะต้องมีความรู้ด้วย
ถ้าอยากรวยก็ต้องใช้แนวทางที่ 2 และ 3 ผสมกัน ส่วนรายละเอียดต้องว่ากันอีกทีครับ

วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ความสุขราคาถูก


ถ้ามีคนถามว่าความสุขของคุณมีราคาเท่าไหร่ คุณมีคำตอบหรือไม่ครับ

ผมมีเพื่อนอยู่คนหนึ่ง เขาบอกว่าความสุขของเขานั้นไม่มีอะไรซับซ้อน ขอแค่ได้ซื้อหนังสือพิมพ์ไทยรัฐกับโค้กซักกระป๋อง อ่านไปกินไป แล้วเปิดสถานีวิทยุจุฬาฯ ฟังไปด้วย แค่นี้ก็สุขพอแล้ว หากตีเป็นตัวเงิน กิจกรรมทั้งหมดที่ว่าคงใช้เงินแค่ยี่สิบกว่าบาทรวมค่าไฟวิทยุด้วย ผมนิยามความสุขง่ายๆ แบบนี้ว่า "ความสุขราคาถูก"

ถ้าเป็นกรณีทั่วไปของแพงมักจะดีกว่าและเป็นที่ปรารถนามากกว่าของถูก แต่สำหรับความสุข ผมเชื่อว่าคนที่มีความสุขราคาถูกนั้นถือได้ว่าโชคดีกว่าคนที่มีความสุขราคาแพง การที่เรามีความสุขราคาถูกทำให้เรามีเงินเหลือพอไปแบ่งปันความสุขให้กับคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวของเรา เพื่อน หรือแม้แต่คนที่เราไม่รู้จัก เราจะมีส่วนร่วมในความสุขของคนเหล่านั้น

ย้อนกลับไปที่คำถามแรก ความสุขของคุณมีราคาเท่าไหร่ครับ?

วันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

โมเดลการเดินไปที่ทำงาน


พอบอกว่า "โมเดล" คนส่วนมากก็จะเริ่มขมวดคิ้ว
แต่เชื่อหรือไม่ว่าบางที logic ที่เราใช้แว้บหนึ่งนั่นก็คือโมเดลแล้ว

สมมติว่าผมโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินไปทำงานทุกวัน ปรากฏว่าด้วยความรีบร้อนจึงชอบรีบเดินจ้ำอ้าวบนบันไดเลื่อน (ทั้งที่เจ้าหน้าที่สถานีก็มักจะประกาศห้าม ... ไม่รู้ห้ามทำไม) พอขึ้นมาถึงบนดินก็รีบเดินไปตึกที่ทำงานอีก กว่าจะไปถึงออฟฟิศก็เหงื่อไหลไคลย้อย ผมเลยลองมานั่งคิดดูว่าทำยังไงให้มันเร็วโดยที่ไม่เหงื่อแตก

ผมวางโมเดลอย่างนี้ครับ เหงื่อแตก เพราะร่างกายระบายความร้อนไม่ทัน

ความร้อนที่ร่างกายสร้าง > การระบายความร้อน

Solution ไม่ยากเลย ขั้นแรกเพิ่มความเร็วแบบฉลาด ผมหันมาขึ้นรถไฟฟ้าโบกี้ท้ายๆ เพื่อที่ว่าเวลารถจอดปุ๊บจะได้รีบเดิน (ไม่ต้องวิ่งนะ) ไปที่บันไดเลื่อน ถ้าใครใช้รถไฟฟ้าใต้ดินตอนเช้าคงทราบนะครับว่าบันไดเลื่อนรถไฟฟ้าใต้ดินของเราเขาไม่มีการให้ยืนชิดซ้ายชิดขวาเพื่อเปิดทางให้เดิน ซึ่งก็น่าประหลาดครับ ที่เมืองนอกเขาเดินกันทุกประเทศแหละ ของเรากลับประกาศว่าห้ามเดิน แต่ก็มีคนแหกคอกเดินกันอยู่ดี (รวมทั้งผมด้วย) เดินช้าๆ อย่าให้เหงื่อซึม จำไว้ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นคนแรก แต่ขอให้เป็นคนแรกๆ

การเดินบนบันไดเลื่อนจะช่วยให้ผมขึ้นมาถึงชั้นออกบัตรโดยสารได้เป็นรายแรกๆ และไม่ต้องต่อคิวยาวเวลาแตะบัตรเพื่อออกจากสถานี กลยุทธ์นี้ทำให้ผมเร็วขึ้นถึง 2 เด้ง คือ ไม่ต้องติดแหง็กกับฝูงชนบนบันไดเลื่อน และไม่ต้องต่อคิวยาวเวลาออกจากสถานี

แต่สำหรับบันไดเลื่อนที่จะขึ้นมาสู่ระดับพื้นถนน อย่าเดิน! นะครับ ให้ยืนพักปล่อยให้ร่างกายได้มีโอกาสระบายความร้อนออกไป ไม่ต้องกังวลเรื่องเวลามากนักเพราะเราได้เซฟเวลามาในช่วงแรกแล้ว ทันทีที่ขึ้นมาถึงระดับถนนก็ให้เดินเร็วๆ ทันที พยายามใช้ความเร็วสม่ำเสมอและอย่าเร่งเกินไป ก่อนถึงที่ทำงานซัก 100-150 เมตรให้ชะลอความเร็วมาเดินทอดน่อง จังหวะนี้ร่างกายจะพยายามระบายความร้อนส่วนเกินออกไป กระทั่งถึงที่ทำงานเหงื่อก็จะแห้งพอดี

จากการทดลองเดินพบว่าใช้เวลาใกล้เคียงของเดิมแต่เหนื่อยน้อยลง และไม่ค่อยมีเหงื่อ สามารถเริ่มต้นทำงานได้อย่างสบายใจครับ ลองเอาไปทดลองใช้กันดูได้

วันพุธที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ความรู้เรื่องเงินของคนที่ไม่รู้เรื่องเงิน


คนที่ไม่รู้เรื่องเงิน:
เงิน = ของ
ของ = ความสุข

คนที่รู้เรื่องเงิน:
เงิน = ใช้สอย (ซื้อของ) + เก็บออม (เงินออม)
เงินออม = สำรองไว้ใช้ยามจำเป็น + ลงทุน

จะเห็นว่าคนที่รู้เรื่องเงินมีความสุขได้ถึง 3 ทาง คือ
  1. ความสุขจากการซื้อของดีๆ มาใช้
  2. ความสบายใจว่ายามจำเป็นจะมีเงินใช้
  3. ความสำราญใจเวลาที่เห็นเงินลงทุนงอกเงย
บางคนอาจจะบอกว่า "อ้าว! อย่างนี้ก็มีเงินซื้อของน้อยลงน่ะสิ" ...ซึ่งก็ถูกต้อง แต่ผมเห็นว่าคนที่กินบุฟเฟ่ต์จนพุงปลิ้นก็อิ่มอืดและไม่ได้มีความสุขมากไปกว่าคนที่กินอิ่มแค่พอดีๆ ลองมองในมิตินี้ดูนะครับ

เวลาว่าง


ตัวตนของแต่ละคนจะแสดงออกมาในเวลาว่าง

สิ่งที่เราทำในเวลาว่างมักจะเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขและสามารถอยู่กับมันได้นานๆ แต่น่าเสียดายที่คนในยุคนี้ไม่ค่อยมีเวลาว่าง จึงไม่น่าแปลกใจที่บางคนบอกว่าคนสมัยนี้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแต่มีความสุขน้อยลง แล้วถ้าอย่างนั้นเวลาของเราหายไปไหน... หมดไปกับสังคม? หมดไปกับงาน? หมดไปกับการเดินทาง?

ไม่ว่ายังไง เราจะต้องตามเวลาว่างของเรากลับมาให้ได้ ถ้าทำได้ ตัวตนของเราจะชัดเจนขึ้น ความสุขในชีวิตจะเพิ่มขึ้น และเราจะมีพลังใจที่จะทำกิจกรรมอื่นๆ มากขึ้นด้วย