หากบริษัทบริหารเงินทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง BlackRock ยังอาศัย "ขุมพลังทางปัญญา" จาก BlackRock Investment Institute ความรู้เด็ด ๆ เกี่ยวกับ เงินปันผล ที่พวกเขาศึกษาย่อมดีพอสำหรับนักลงทุนรายย่อยอย่างเรา ๆ ที่จะนำมาปรับใช้ได้
[ต้นฉบับผลการศึกษา: https://www.blackrock.com/institutions/en-zz/literature/whitepaper/investment-institute-means-ends-and-divdends.pdf]
แม้บทความต้นฉบับจะกล่าวถึงแง่มุมต่าง ๆ ของเงินปันผลอย่างกว้างขวาง แต่ในที่นี้ผมขอหยิบยก "ประเด็นเด็ด" มาเพียง 4 ข้อที่หนังสือหุ้นภาษาไทยแทบไม่เคยแตะต้อง ท่านผู้อ่านโปรดทราบว่าบางส่วนของบทความนี้เป็นเนื้อหาจากต้นฉบับโดยตรง และบางส่วนก็เป็นคำอธิบายเพิ่มเติมของผมเอง
1. ในผลตอบแทนจากหุ้น เงินปันผลเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด
เส้นสีส้ม คือ ผลตอบแทนจากตลาดหุ้นอังกฤษหลังปรับด้วยเงินเฟ้อ (real returns) ตลอดช่วงเวลา 45 ปี ส่วนเส้นสีน้ำเงิน คือ ผลตอบแทนเมื่อมีการนำเงินปันผลมาลงทุนซ้ำ (reinvest)
เห็นได้ชัดว่าหากรับเงินปันผลจากหุ้นแล้วเอาไปกินไปใช้เสียหมด ไม่เอามาเวียนลงทุนซ้ำ เราจะเสียโอกาสอย่างมหาศาล เพราะในระยะยาวเมื่อหักเงินเฟ้อออกจากราคา (ดัชนี) หุ้นแล้ว ถือว่ามีการเติบโตแค่จิ๊ดเดียว (95% ต่อ 45 ปี หรือทบต้นประมาณ 1.5% ต่อปี)
ดังนั้น ใครก็ตามที่บอกว่า หุ้น เป็นการลงทุนที่สามารถต้านทานเงินเฟ้อได้ พวกเขาก็พูดความจริง เพียงแต่ยังมีความจริงอีกข้อหนึ่งด้วย คือ "ถ้าอยากทำได้ดีกว่าแค่ต้านทานเงินเฟ้อ เราจะต้อง reinvest"
2. เงินปันผลช่วยลดความเสียหายจากการประเมิน growth ผิดพลาด
ในการหามูลค่าของหุ้น เรามักพิจารณาจากกระแสเงินสดที่หุ้นตัวนั้น ๆ สามารถผลิตออกมาได้ ก่อนจะคิดลด (discount) เพื่อปรับจำนวนเงินในอนาคตเหล่านั้นให้มาอยู่ในมูลค่าปัจจุบัน
เมื่อเราประเมินหุ้นที่คาดว่าจะมีการเติบโตที่รวดเร็ว แต่จ่ายเงินปันผลน้อยในปัจจุบัน เท่ากับว่า "น้ำหนักส่วนใหญ่" ของมูลค่าหุ้นไปโหลดอยู่ที่อนาคตไกล ๆ ซึ่งถ้าประเมิน growth ผิด น้ำหนักส่วนนี้ก็อาจสาบสูญไปเลยก็ได้ ในทางกลับกันเมื่อเราประเมินหุ้นที่จ่ายเงินปันผลเป็นน้ำเป็นเนื้อ โหลดน้ำหนักจะค่อนข้างกระจาย ทำให้ประเมินมูลค่าได้แม่นยำและปลอดภัยมากกว่า
พูดอีกอย่างก็คือ ถ้าเรามีหุ้นสองตัวและประเมินการเติบโตในอนาคตคลาดเคลื่อนไปพอ ๆ กัน เมื่อความจริงนี้ค่อย ๆ ปรากฏขึ้น หุ้นตัวที่จ่ายปันผลมากจะทยอย ส่งกลับ เงินลงทุนของเราออกมาผ่านเงินปันผลพอสมควรแล้ว ส่วนเงินลงทุนที่อยู่ในหุ้นตัวที่จ่ายปันผลน้อยอาจถึงขั้น "หายนะ" เพราะความมั่งคั่งของเราปูอยู่บนความฝัน และความฝันนั้นก็จางหายไป
3. หุ้นคุณค่าสามารถเอาชนะหุ้นเติบโตได้ในระยะยาว
โดยทั่วไป หุ้นคุณค่า (value stock) หมายถึง หุ้นที่มีราคาถูก ส่วน หุ้นเติบโต (growth stock) หมายถึง หุ้นที่มีกำไรเติบโตสูง ซึ่งหากจะพูดให้สุดขั้วแบบเห็นภาพ เราอาจกำลังเปรียบเทียบหุ้นประเภท "สักแต่ว่าถูก" กับหุ้น "สักแต่ว่าโต"
...ผลปรากฏว่า ของถูกชนะ
เรื่องนี้หลายท่านอาจสงสัยว่า ถ้ามันเป็นเช่นนั้นจริงแล้วทำไม วอร์เรน บัฟเฟตต์ ถึงหันหลังให้กับของถูก และหันมาซื้อหุ้นชั้นยอดที่เน้นการเติบโตในระยะยาว? (หลายท่านคงเคยได้ยินคำพูดของบัฟเฟตต์ที่บอกว่า "การซื้อหุ้นที่ยอดเยี่ยมในราคาปานกลาง ดีกว่าการซื้อหุ้นปานกลางในราคาที่ยอดเยี่ยม”)
ประเด็นนี้ค่อนข้างล่อแหลม และเพราะอย่างนั้นมันจึงน่าสนใจ
ในการศึกษาทั่วโลก ผู้วิเคราะห์มักใช้วิธี "สร้างพอร์ตหุ้น" ที่ประกอบด้วยหุ้นคุณค่า (เช่น เป็นกลุ่มที่มี P/E ต่ำสุด 10 เปอร์เซ็นต์แรก) เมื่อครบหนึ่งปีก็เสมือนว่าได้ขายหุ้นทั้งหมดไปแล้วนำเงินมาซื้อหุ้นคุณค่าชุดใหม่ (ของปีนั้น ๆ) เข้ามาแทนที่ เวียนไปเช่นนี้จนครบสิบปีหรือยี่สิบปี ก็ปรากฏว่าได้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นเติบโตจริงแบบไม่ต้องมีใครเถียง
ดังนั้น คำถามที่ท่านควรสนใจอยู่ที่ว่า ท่านจะสามารถทำสิ่งนี้ในโลกของความเป็นจริงได้หรือไม่? และคำตอบก็คือ... ไม่แน่
หากท่านเป็นนักลงทุนรายย่อยที่ไม่ได้มีเงินมาก เงินผอม ของท่านสามารถซอกซอนเข้าซื้อหุ้นได้เกือบทุกตัว โดยไม่ได้มีปริมาณการซื้อขายหรือ volume มากมายจนทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในเวลาที่ซื้อขาย แบบนี้ท่านก็สามารถเลียนแบบวิธีสร้างพอร์ตหุ้นคุณค่านี้ได้
ในทางตรงข้าม หากท่านมีเงินมากแบบ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ทันทีที่ท่านขยับตัวซื้อหุ้น เงินอ้วน ของท่านจะสร้างแรงกระเพื่อมทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้น และอาจผิดสังเกตจนทำให้ใครต่อใครเฮโลเข้ามาไล่ซื้อหุ้นไปด้วย เบ็ดเสร็จท่านอาจจะซื้อได้ไม่ครบจำนวนหรือไม่ก็ต้องยอมซื้อแพง
สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ง่าย เนื่องจากในหลาย ๆ ครั้งหุ้นคุณค่ามักเป็นหุ้นตัวเล็กที่อยู่นอกสายตาและมีสภาพคล่องน้อย ความเสียเปรียบดังกล่าวจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการซื้อหรือขาย และมันก็จะลดทอนผลตอบแทนจากกลยุทธ์ซื้อของถูกนี้ไป นี่เป็นความเสียเปรียบของเงินอ้วน
4. มิติเชิงลึกของหุ้นปันผลสูง
จากข้อมูลย้อนหลัง 23 ปี หุ้นปันผลสูง ไม่เพียงให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนีของตลาดหุ้นโดยรวม (แกนตั้ง 13% vs 10%) แต่ยังมีระดับความเสี่ยงที่ต่ำกว่าด้วย (วัดจากความผันผวนของราคาหุ้น - แกนนอน 16.8% vs 18.0%) เรียกได้ว่า “เหนือกว่า” ทั้งในมิติของผลตอบแทนและความเสี่ยง
อย่างไรก็ตาม หากท่านศึกษาในเชิงลึกมากขึ้นและแบ่งหุ้นปันผลสูงออกเป็นกลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มที่เงินปันผลมีการเติบโตสูง และกลุ่มที่เงินปันผลมีการเติบโตต่ำ ผลปรากฏว่ากลุ่ม ปันผลสูง/เติบโตสูง สามารถเอาชนะกลุ่ม ปันผลสูง/เติบโตต่ำ ได้อย่างชัดเจน
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ เมื่อเราแบ่งกลุ่มย่อยออกดังนี้แล้ว พบว่าหุ้นปันผลสูงที่เงินปันผลมีการเติบโตน้อยให้ผลตอบแทนแย่กว่าตลาดหุ้นโดยรวมเสียอีก ซึ่งนั่นก็แปลว่า คนที่ซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเพียงเพราะเห็นว่าจ่ายเงินปันผลมาก ที่สุดแล้วอาจต้องผิดหวังก็ได้ และในหลาย ๆ ครั้งหุ้นที่จ่ายเงินปันผลงามก็มักเป็นหุ้นที่ไม่ค่อยโตเสียด้วย นักลงทุนจึงจำเป็นต้องมองทั้งสองประเด็นนี้ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนสูง แต่มีความเสี่ยงต่ำ
** ประเด็น Advance **
ประเด็นเล็ก ๆ ตรงนี้ท่านผู้อ่านส่วนใหญ่อาจไม่ต้องสนใจก็ได้ แต่ผมเพียงจะให้ข้อสังเกตเผื่อใครเรียนปริญญาโทด้านการเงิน หากลองสังเกตดูจะพบว่าแผนภาพอันหลังสุดนี้ค่อนข้างจะน่ากวนใจสำหรับผู้ที่เชื่อมั่นในสมมติฐานตลาดที่มีประสิทธิภาพ (efficient market hypothesis) เพราะว่า market portfolio ซึ่งสมควรจะอยู่บน efficient frontier และน่าจะชนะหุ้นตัวอื่น ๆ ในแง่ของ risk-reward กลับดันแพ้หุ้น ปันผลสูง/เติบโตสูง ที่พุ่งทะลุ efficient frontier ออกมาเสียอย่างนั้น แถมยังแพ้ยับทั้งในมิติของผลตอบแทนและความเสี่ยงด้วย
หวังว่าทั้งหมดนี้คงเป็นประโยชน์กับนักลงทุน โดยเฉพาะท่านที่ชื่นชอบและต้องการหาแต้มต่อในการลงทุนจากหุ้นปันผลครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น