"ถ้าอยากดึงดูดคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ให้พูดเรื่อง รวยเร็ว และกลับกันถ้าอยากไล่พวกเขา ให้พูดเรื่อง การเกษียณ"
หากนับกันด้วยระยะเวลา การเกษียณอาจเป็นเรื่องไกลตัว แต่มันก็ใกล้เคียงกับการมองหาเรือชูชีพเวลาไปล่องเรือสำราญ ส่วนที่แตกต่างกันก็คือ เรือชูชีพเราอาจไม่ต้องใช้ แต่การเตรียมเกษียณนั้นได้ใช้แน่ และส่วนที่เหมือนกันก็คือ คนส่วนใหญ่อยากดื่มด่ำกับความสำราญเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อยู่ตรงหน้า มากกว่าจะคิดถึง "ความเป็นความตาย" ที่อยู่ไกลออกไป ทั้งที่ความสำคัญนั้นคนละระดับกันเลย
อย่าลืมว่าในวัยเกษียณท่านจะไม่มีใครให้เกาะหรือแอบหลังอีกต่อไป บางทีท่านเสียอีกที่อาจต้องไปค้ำชูผู้อื่น นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงต้อง "คิด" ตั้งแต่ก่อนเกษียณ และควรจะคิดก่อนให้นานพอที่จะลงมือทำด้วย
ทางรอดที่แตกต่าง
เมื่อพ้นจากชีวิตงานประจำแล้ว คนส่วนใหญ่มีทางเลือกที่จะเอาตัวรอดในวัยเกษียณแค่ 2-3 ทาง
1. เลี้ยงชีพจาก "กระแสเงินสด" ที่สร้างด้วยทรัพย์สิน เช่น รายได้จากบ้านเช่า ดอกเบี้ย หรือเงินปันผล (passive income)
2. หางานใหม่ที่สามารถทำในวัยเกษียณได้ (active income)
3. ถ้ารายได้จากสองข้อแรกไม่เพียงพอก็ "แทะเงินก้อน" ไปเรื่อย ๆ และหวังว่าจะไม่หมดเงินก่อนหมดลม
ประเด็นที่ผมรู้สึกห่วงใยมากที่สุดก็คือ ข้อ 3 นี่เอง เพราะส่วนใหญ่ถ้าท่านเกษียณแล้วเลือกแทะเงินก้อนมาสักระยะหนึ่งจนเริ่มรู้สึกว่าไม่ไหว ความสามารถที่จะกลับไปทำข้อ 2 ก็มักจะหดหายไปหมดเรียบร้อย ด้วยเหตุนี้การกินบุญเก่าในข้อ 3 จึงมีความเสี่ยงที่แฝงอยู่มาก และเป็นสิ่งที่ผมไม่อยากแนะนำ
นอกจากนั้นหากท่านกำหนดกลยุทธ์เอาไว้ใช้ในยามเกษียณแตกต่างกัน สิ่งที่ท่านเลือกทำก็จะแตกต่างกันด้วย อย่างเช่น การลดการถือครองหุ้นเมื่อเข้าใกล้วัยเกษียณ หรือการซื้อทองคำ เพราะการกระทำที่สมเหตุสมผลในกลยุทธ์หนึ่งอาจกลายเป็นเรื่องไม่เอาไหนในอีกกลยุทธ์หนึ่งเลยก็เป็นได้
กลยุทธ์ที่ 1: สร้างกระแสเงินสด
ในกลยุทธ์นี้ท่านจำเป็นต้องเลือกว่าจะใช้สินทรัพย์ประเภทใดมาสร้างกระแสเงินสด ตัวเลือกสำหรับคนส่วนใหญ่ ได้แก่ ดอกเบี้ย ค่าเช่า และเงินปันผล ข้อควรคิดก็คือ สินทรัพย์ที่เลือกควรสร้างกระแสเงินสดได้ค่อนข้างมั่นคงและมากเพียงพอ
จากตัวเลือกทั้งหมด ดอกเบี้ย ดูเหมือนจะเป็นตัวเลือกพื้นฐานที่ง่ายที่สุด ปัญหาก็คือ ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร มักปรับเปลี่ยนไปตามสภาพเศรษฐกิจ ดอกเบี้ยเงินฝากที่เคยสูงสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ (อ่านไม่ผิดหรอกนะครับ) ในสมัยก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง กลับลดลงมาอยู่แถว ๆ 1 เปอร์เซ็นต์ในปัจจุบัน จึงไม่อาจถือว่าผ่านเกณฑ์ได้เลย ทั้งในแง่ความมั่นคงและระดับผลตอบแทน
ในขณะที่ ดอกเบี้ยพันธบัตร (หรือที่เรียกว่า คูปอง) แม้ส่วนใหญ่จะเป็นดอกเบี้ยคงที่ แต่หากท่านมาคิดซื้อเอาในเวลานี้ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุยาวถึง 30 ปี ก็ยังให้ผลตอบแทนอยู่ที่ราว ๆ 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อาจจะผ่านในแง่ความมั่นคง แต่ก็ไม่ผ่านในแง่ผลตอบแทน เพราะแม้จะมีเงินก้อน 6 ล้านบาท เอาไปซื้อพันธบัตรแล้วก็ยังได้ดอกเบี้ยตกเดือนละ 1.5 หมื่นบาทเท่านั้น ส่วนพันธบัตรเอกชนอาจให้ผลตอบแทนสูงขึ้นนิดหน่อย แต่ความเสี่ยงที่จะสูญเงินต้นก็สูงขึ้นตามไปด้วย
สำหรับการสร้างกระแสเงินสดจาก ค่าเช่า ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยเช่าบ้าน ตึกแถว หรือคอนโดมิเนียม ส่วนใหญ่อัตราผลตอบแทนมักดีกว่าพันธบัตร แต่ความมั่นคงของกระแสเงินสดก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งทำเลของทรัพย์สิน การดูแลรักษา การคัดเลือกผู้เช่า ฯลฯ ข้อเสียสำคัญก็คือ การซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อปล่อยเช่าโดยตรงต้องใช้เงินก้อนโต และมีการกระจายความเสี่ยงน้อย หากอสังหาฯ ชิ้นใดเกิดปัญหา เช่น ปล่อยเช่าไม่ได้ หรือปล่อยได้ค่าเช่าต่ำกว่าที่คาด ก็จะกระทบกระแสเงินสดในภาพรวมอย่างมาก และถ้าอยากขายออกไปก็ต้องใช้เวลาหลายเดือน
กระแสเงินสดจาก เงินปันผล อาจได้มาจากหุ้นหรือกองทุนรวม โดยท่านสามารถซื้อสะสมไปเรื่อย ๆ ด้วยตนเอง หรือไม่ก็ใช้วิธี Dollar Cost Averaging (DCA) ซึ่งบังคับให้เราซื้อหุ้นด้วย "จำนวนเงิน" เท่า ๆ กันในแต่ละครั้ง และต้องทำอย่างสม่ำเสมอ DCA เป็นหลักการที่มีความลึกซึ้ง เพราะมันทำให้เราได้จำนวนหุ้นมากขึ้นในราคาถูก และพอหุ้นแพงเราก็จะได้จำนวนหุ้นน้อยลงไปตามกลไก ...สวนทางกับสิ่งที่มวลมหาประชาเม่าชอบทำกัน
หลังจากสะสมหุ้นอย่างมีวินัยมาเป็นสิบปี สุดท้ายเราจะมีพอร์ตหุ้นขนาดใหญ่ที่สามารถจ่ายเงินปันผล สร้างกระแสเงินสดเลี้ยงชีวิตได้อย่างเกินพอ และสามารถนำส่วนที่เหลือมาลงทุนซ้ำหรือ reinvest เพื่อให้พอร์ตยังโตต่อได้แม้หลังเกษียณ โดยความเห็นส่วนตัวของผม พอร์ตหุ้นเลี้ยงชีพนี้ควรประกอบด้วยหุ้นที่จ่ายเงินปันผลดีหลายตัว (เช่น 6-12 ตัว) เพื่อที่ว่าหากบริษัทใดเกิดประสบปัญหาโดยไม่คาดฝัน เช่น ขาดทุน หรืองดจ่ายเงินปันผล กระแสเงินสดในภาพรวมก็จะยังไม่ได้รับผลกระทบมากมายนัก
โปรดจำไว้ว่าในกลยุทธ์นี้กระแสเงินสดสำคัญกว่าขนาดพอร์ต ท่านจึงสามารถถือหุ้นในปริมาณมาก และหากท่านตระหนักถึงความจริงที่ว่า ราคาหุ้นมีความผันผวนเป็น 13 เท่าของเงินปันผล [อ้างอิงงานวิจัยของ โรเบิร์ต ชิลเลอร์ ในปี 1981] ความน่ากลัวของกลยุทธ์นี้ก็ควรเป็นเศษหนึ่งส่วนสิบสามจากสายตาของคนภายนอก
เพื่อให้ครบเครื่องมากขึ้น ที่จริงแล้ว พอร์ตหุ้นเลี้ยงชีพ อาจมีมากกว่าหุ้นก็ได้ ท่านอาจลงทุน "ทางอ้อม" ผ่านกองทุนรวมหุ้น หรือแม้แต่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์/กองรีท ซึ่งผสมผสานข้อดีระหว่างอสังหาริมทรัพย์และกองทุนรวม ก็จะทำให้กระแสเงินสดมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น ทั้งยังมีสภาพคล่องสูง สามารถซื้อขายปรับเปลี่ยนพอร์ตได้ตามสถานการณ์ ซึ่งข้อนี้ก็นับว่าดีกว่าการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อปล่อยเช่าเองโดยตรง
กลยุทธ์ที่ 2: หางานในวัยเกษียณ
การหางานใหม่ในวัยเกษียณไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ลูกจ้างวัยดึกนอกจากจะมีปัญหาเรื่องอายุและสุขภาพแล้ว ปัญหาเรื่องการเรียนรู้งาน การสื่อสาร และการปรับตัว ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการ "เริ่มต้นใหม่" ในวัยเริ่มชรา งานที่เหมาะสมจึงมักเป็นงานที่ได้ใช้ความรู้ ทักษะ หรือสายสัมพันธ์เดิมที่มีอยู่แล้ว โดยอาจไปเป็นที่ปรึกษาหรือกรรมการ ซึ่งต้องใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะทางจริง ๆ หรือบางท่านอาจรับเป็นวิทยากร ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่เก็บสะสมมาตลอดชีวิต อย่างไรก็ตาม การคาดหวังงานดังกล่าวน่าจะยากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อคำนึงถึงโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างในทุกวันนี้
บางทีงานที่เปิดกว้างมากกว่าสำหรับผู้อาวุโสอาจเป็นธุรกิจส่วนตัวเล็ก ๆ ที่ไม่ต้องใช้เงินทุนมากนัก เช่น เปิดร้านขายของหรือร้านซ่อมจักรยานในละแวกบ้าน ทำให้ไม่ต้องเดินทางไกลในแต่ละวัน รายได้อาจไม่มากมาย แต่ก็พอเลี้ยงชีพและทำให้ทุกวันในชีวิตมีคุณค่า
กลยุทธ์ที่ 3: แทะเงินก้อน
แม้นี่จะเป็นกลยุทธ์สุดท้ายที่ผมไม่อยากแนะนำ แต่ถ้าจำเป็นจริง ๆ ท่านก็ควรเรียนรู้หน่อยว่าจะ "แทะ" เงินก้อนอย่างไรหมดช้าที่สุด
ประการแรก พึงทราบไว้ก่อนว่าในการเลี้ยงชีพด้วยการแทะเงินก้อนนั้น ท่านจะต้องพยายามระวังไม่ให้เงินก้อนนี้หดเล็กลง เพราะฉะนั้นการกระจายความเสี่ยงไปในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เช่น ทองคำ ตราสารหนี้ หุ้น ฯลฯ จึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล และในกลยุทธ์นี้การถือครองหุ้น 100% ของเงินทั้งหมดก็ถือเป็นสิ่งต้องห้าม นี่คือความแตกต่างที่สำคัญระหว่างกลยุทธ์ที่ 1 และกลยุทธ์ที่ 3
ในกลยุทธ์ที่ 1 หากราคาหุ้นตกลงมาทั้งตลาด ขนาดพอร์ตของท่านอาจเล็กลง แต่ตราบเท่าที่หุ้นในพอร์ตยังพอจ่ายเงินปันผล (สร้างกระแสเงินสด) ได้มากพอ ท่านก็ไม่ควรต้องเดือดเนื้อร้อนใจ แต่สำหรับกลยุทธ์ที่ 3 การถือครองหุ้น 100% ทำให้ท่านต้องทยอยขายหุ้นให้ได้ "จำนวนเงิน" เท่ากันในแต่ละเดือน เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เมื่อราคาหุ้นดิ่ง จำนวนหุ้นที่ท่านขายก็ต้องมาก และในทางกลับกันเดือนไหนราคาหุ้นพุ่งกระฉูด (ซึ่งเป็นโอกาสขายที่ดี) จำนวนหุ้นที่ท่านขายออกมากลับน้อย ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ก็นรกเลย เพราะพอร์ตจะพังลงด้วยอัตราเร่ง สวนทางกับแนวคิดตอนซื้อด้วยวิธี DCA
ประการที่สอง ในขณะที่ระวังไม่ให้เงินก้อนหดเล็กลง ก็ต้องพยายามสร้างผลตอบแทนควบคู่ไปด้วย เพราะฉะนั้นผมจึงแนะนำให้ถือครองหุ้นเอาไว้พอสมควร เช่น 40-80% ขึ้นอยู่กับขนาดพอร์ต แล้วโยกความมั่งคั่งบางส่วน (ที่คาดว่าจะต้องแทะเร็ว ๆ นี้) ออกมาเป็นสินทรัพย์ที่มีความผันผวนน้อย เช่น เงินฝากธนาคาร หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ พูดง่าย ๆ ก็คือ เราใช้หุ้นสร้างผลตอบแทนเป็นหลัก และใช้สินทรัพย์พวกนี้เป็น บัฟเฟอร์ รองรับแรงกระแทกจากความผันผวนของตลาดหุ้นนั่นเอง
[สำหรับกลวิธีในการขายอาจกำหนดให้
- ขายมากเมื่อหุ้นขึ้น และ "เงินส่วนเกิน" ก็ทบไปเป็นบัฟเฟอร์
- ขายน้อยเมื่อหุ้นลง และ "เงินส่วนขาด" ก็ดึงมาจากบัฟเฟอร์]
ประเด็นนี้อาจแตกต่างจากคำแนะนำของ "กูรู" ทั่วไป เพราะผมมองว่าการเลี้ยงชีพในวัยเกษียณเป็นเรื่องระยะยาวนับสิบปี ในขณะที่ตลาดหุ้นตกต่ำมักฟื้นตัวได้ในระยะเวลา 2-3 ปี หากมีบัฟเฟอร์ขนาดใหญ่พอ เราก็จะสามารถลงทุนหุ้นเป็นส่วนใหญ่ รอ และเอาตัวรอดได้ในระยะยาว ส่วนการถือกองทุนรวมตราสารหนี้ในปริมาณมาก "ตลอดเวลา" จะทำให้ได้ผลตอบแทนที่ต่ำเกินไป อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นดุลยพินิจของแต่ละท่าน
ประการที่สาม อย่าพาตัวเองเข้ามุมอับ หากท่านกำลังแทะเงินยังชีพก้อนสุดท้ายอยู่ด้วยใจตุ้ม ๆ ต่อม ๆ ก็ไม่ควรเอาเงินนี้ไปทำหน้าที่อื่นที่นอกเหนือจากการเลี้ยงชีพ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสียลูกไปเรียนปริญญาโทเมืองนอก ซื้อรถรับขวัญหลาน ปลดหนี้ให้น้อง ฯลฯ
ถ้าท่านใช้เงินตัวเองแก้ปัญหาให้คนอื่น ที่สุดแล้วท่านก็จะมีปัญหาเป็นของตัวเอง
อีกเรื่องสำคัญ
นอกจากเตรียมเลี้ยงชีพในยามเกษียณแล้ว ท่านทั้งหลายอย่าลืมรักษาสุขภาพของตนเองด้วย เรื่องนี้สำคัญมาก หากท่านมีสุขภาพดี ไม่ต้องหมดเปลืองไปกับค่ารักษาพยาบาลแสนแพง ปัญหาเรื่องเงินทองก็จะลดน้อยลง
ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากแนะนำให้ทุกท่านทำประกันภัยโรคร้ายแรง (ประเภทที่เป็นทีหนึ่งรักษากันจนหมดเนื้อหมดตัว) เอาไว้ด้วย เบี้ยประกันอาจแพงหน่อย แต่มันจะเป็น เงินหมื่นที่ปกป้องเงินล้าน และเงินล้านนั้นก็คือ ชีวิตในวัยเกษียณของท่านนั่นเอง
ชอบมากๆครับคุณโอ เป็นข้อคิด และสร้าง Awareness ได้อย่างดี กราบขอบพระคุณครับ
ตอบลบขอบคุณมากและหวังว่าจะเป็นประโยชน์นะครับ
ลบ