วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ทุบสถิติ สู้! เพื่อความฝัน

เรื่องจริงอย่างหนึ่งของชีวิต คือ บ่อยครั้งคนที่เข้ามาฆ่า "ความฝัน" ของเรากลับกลายเป็นคนที่รักและหวังดีต่อเรานั่นแหละ
ถ้าเราบอกว่าอยากเปิดร้านกาแฟ พวกเขาจะบอกว่านี่เป็น red ocean เปิดไปก็เจ๊ง หรือถ้าเราบอกว่าอยากทำอพาร์ตเมนต์ พวกเขาจะบอกว่าต้องมีเงินทุนเป็นสิบล้าน กู้แบงก์ก็ยาก ไหนจะต้องหาคนเช่าอีก อย่าทำเลย
ที่จริงคนเหล่านี้ไม่ได้ผิด เพราะถ้าคิดตาม "หลักสถิติ" โอกาสรวยอาจมีเพียงแค่หนึ่งในห้าหรือหนึ่งในสิบ ที่เหลือคือเจ๊ง ... แต่ถึงกระนั้นผมก็อยากให้ข้อคิดบางอย่างไว้
หากทุกคนมองหลักสถิติแล้วไม่ลงมือทำอะไรเลย ในโลกนี้คงไม่มีคนที่ประสบความสำเร็จ และที่สำคัญสถิติที่ยกมานั้นมักจะเป็นสถิติประเภทเหมารวม ซึ่งอาจไม่ใช่สิ่งที่เราจะเผชิญจริง ๆ ก็ได้
สนามฟุตบอลขนาดมาตรฐานมีความยาวเส้นหลังประมาณ 70 เมตร ส่วนประตูฟุตบอลมีความกว้างประมาณ 7 เมตร หากคุณเตะลูกฟุตบอลให้ข้ามเส้นหลังไป "แบบมั่ว ๆ" โอกาสเตะเข้าประตูจะมีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์

ในทางตรงข้ามหากคุณไม่เตะมั่ว แต่ว่าตั้งใจเตะโดย "เล็ง" ไปที่ประตู ... พอจะตอบได้ไหมครับว่า โอกาสเตะเข้าประตูจะมากหรือน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์!?
แน่นอนว่าจะต้องมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์แหง ๆ
นี่คือตัวอย่างของสถิติแบบ ไม่เหมารวม เป็นการคำนวณความเป็นไปได้โดยที่ระบุเงื่อนไขเอาไว้ (ในที่นี้เงื่อนไขคือ ให้เล็งไปที่ประตู) ความจริงหากคุณเคยเรียนวิชาสถิติและอยากย้อนกลับไปปวดหัวสัก 2-3 วินาที สิ่งนี้เรียกว่า Conditional Probability นั่นเอง
ย้อนกลับมาที่ความฝันของเราบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจ การลงทุน หรืออะไรก็ตาม เวลาประเมินโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ เราต้องคิดอยู่บนฐานของสิ่งที่เรากระทำ ถ้าเราได้ศึกษาและเตรียมพร้อมสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วไป "โอกาส" ของความสำเร็จย่อมสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไป นี่คือตัวอย่างของการพยายามค้นหา "แต้มต่อ" ที่จะช่วยส่งเสริมเป้าหมายในชีวิต
เตือนตัวเองเอาไว้นะครับ ความหวังดีเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม แต่อย่าปล่อยให้ความหวังดีที่อยู่บนฐานของ ค่าเฉลี่ยแบบเหมารวม ของใคร ๆ มาหยุดยั้งความฝันของเรา

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ข้อคิดจากไดเมียว


ประเทศญี่ปุ่นในสมัยโทคุงาวะ (ค.ศ. 1600-1868) โชกุน ปกครองเจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ด้วยกลยุทธ์ที่น่าจะเป็นข้อคิดให้กับมนุษย์เงินเดือนในยุคปัจจุบันนี้

สิ่งที่โชกุนทำก็คือ กระจายอำนาจสู่ ไดเมียว ให้เป็นผู้ปกครองแคว้น แต่ขณะเดียวกันก็ใช้วิธี "ตัดแขนตัดขา" ในทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน โดยการทำให้ไดเมียวมีรายจ่ายมากๆ ... พูดง่ายๆ ก็คือ ยอมให้มีอำนาจ แต่ไม่มีเงิน!

นอกจากจะต้อง "ถลุงเงิน" สร้างสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ทำถนน สร้างสะพาน ฯลฯ ในแคว้นของตนเองแล้ว ไดเมียวยังต้องเดินทางมายังเอโดะ (เมืองหลวงซึ่งก็คือโตเกียวในปัจจุบัน) เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อโชกุนเป็นประจำอีกด้วย ในการเดินทางแต่ละครั้งไดเมียวต้องเสียค่าใช้จ่ายมหาศาล ไหนจะเลี้ยงดูบริวาร ไหนจะเตรียมของที่ระลึกแพงๆ แถมของที่ระลึกนี้จะให้แก่โชกุนคนเดียวก็ไม่ได้ ต้องเตรียมเผื่อข้าราชการผู้ใหญ่ๆ อีกเป็นจำนวนมาก



มิหนำซ้ำด้วยนโยบายที่ให้ไดเมียวปลูกบ้านไว้ที่เมืองหลวง (ทำนองว่าเป็นตัวประกัน) เมื่อเดินทางมาถึงไดเมียวก็ต้องมาเยี่ยมเยียนลูกเมีย และแน่นอนว่าบรรดาภรรยานั้นต่างก็แข่งกันใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย เพื่อไม่ให้เสียหน้าสามีที่เป็นไดเมียว

ผมอยากเปรียบเทียบว่า "มนุษย์เงินเดือน" ในยุคปัจจุบันดูไปก็ไม่ต่างอะไรจากไดเมียวเหล่านี้ มนุษย์เงินเดือนจำนวนมากดูโอ่อ่า แต่งตัวดี มีรถขับ แต่ไม่มีเงิน หรืออันที่จริงพวกเขาอาจจะพอมีเงินบ้าง แต่เงินนั้นก็มี "ที่ไป" เรียบร้อยหมดแล้ว...

ไดเมียวต้องสร้างถนนสร้างสะพาน
- มนุษย์เงินเดือนต้องผ่อนบ้านผ่อนรถ

ไดเมียวต้องเตรียมของที่ระลึกแพงๆ ให้โชกุน
- มนุษย์เงินเดือนต้องหาของกินของใช้แพงๆ ให้ตัวเอง

ไดเมียวต้องหาเงินมาให้เมียถลุงเพื่อเอาหน้า
- มนุษย์เงินเดือนถลุงเองเพื่อโชว์ฐานะ

แต่ไม่ว่าจะเหมือนหรือต่างกันอย่างไร บทสรุปก็คือ ไดเมียวขัดสนเงินทองจนไม่สามารถลุกขึ้นมาแข็งข้อกับโชกุนได้ ส่วนมนุษย์เงินเดือนก็ไม่สามารถลุกขึ้นมาตั้งตัวได้ และต้องทำงานประจำไปตราบจนชั่วชีวิต

อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตของผม คือ ไดเมียวถูกบังคับโดยโชกุน แต่มนุษย์เงินเดือนนั้นทำตัวเอง

หมายเหตุ
เนื้อหาส่วนหนึ่งเรียบเรียงจากหนังสือ ประวัติอารยธรรมญี่ปุ่น ของ รศ.พิพาดา ยังเจริญ
ภาพประกอบจากบล็อก Marky Star

วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558

พิชิตใจพ่อแม่ - พิชิตตลาดหุ้น


ไม่นานมานี้ผมได้อ่านงานเขียนของคุณนวพล วิริยะกุลกิจ เรื่อง กลยุทธ์ 5 ชนะ ซึ่งลงไว้ในนิตยสารการเงินธนาคาร และเห็นว่ามีเนื้อหาดี ทั้งยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการลงทุนหุ้นเพื่อสร้างความมั่งคั่งได้อย่างน่าสนใจ

ส่วนของเดิมเป็นอย่างไร และผมจะเอามาประยุกต์ได้ว่าอย่างไร เราจะมาดูกันครับ


กลยุทธ์พิชิตใจพ่อแม่


ในบทความดั้งเดิมกล่าวถึงการ "สืบทอดธุรกิจ" จากรุ่นพ่อแม่ ซึ่งแน่นอนว่านอกจากรุ่นลูกจะต้องต่อสู้เพื่อชนะในธุรกิจแล้ว พวกเขายังต้องต่อสู้เพื่อเอาชนะใจพ่อแม่อีกด้วย กลยุทธ์เด็ดที่ผู้เขียนแนะนำมีอยู่ด้วยกัน 5 ข้อ ได้แก่

1. มองหางานสำคัญที่พ่อแม่ไม่ถนัด - วิธีนี้จะทำให้พ่อแม่ยอมรับความสามารถของเราได้ง่ายขึ้น ทั้งยังมีอิสระในการโชว์ฝีมือมากกว่าจะไป "เจาะ" ในส่วนที่พ่อแม่แกร่งทั่วแผ่นกันอยู่แล้ว

2. ไม่ตั้งเป้าหมายเริ่มแรกสูงเกินไป - การที่เราตั้งเป้าสูงแล้วทำไม่ได้อาจเป็นการส่งสัญญาณว่าเรายังอ่อนประสบการณ์และมีความมั่นใจเกินตัว การสะสมความสำเร็จเล็กๆ ให้บ่อยครั้ง แล้วจึงขยับเป้าขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นหนทางที่ดีกว่า

3. แสดงออกถึงความมุ่งมั่น - นี่เป็นค่านิยมสำคัญของคนรุ่นก่อน ถ้าเราทุ่มเทแล้วแต่ไม่สำเร็จ พ่อแม่อาจยอมรับได้ว่ามันยากจริง แต่ถ้าไม่ทุ่มเทตั้งแต่แรก ต่อให้สำเร็จเขาก็อาจมองว่า "ฟลุ้กมั้ง!?"

4. เปิดใจรับฟัง - การฟังเป็นการซื้อใจลูกน้องที่ถูกมาก ใน 1-2 ปีแรกของการสืบทอดธุรกิจเหมาะเป็นช่วงเวลาแห่งการรับฟังและเรียนรู้ของเดิม ไม่ใช่การรีบร้อนเปลี่ยนแปลง (ตรงนี้เป็นสิ่งที่คนหนุ่มสาวไฟแรงพลาดกันมาก)

5. รู้จักยืดหยุ่น - โดยเฉพาะในการทำงานร่วมกับผู้บริหารรุ่นพ่อแม่ บางองค์กรมีวัฒนธรรม "เลี้ยงคน" ด้วยความเอื้ออาทร เราอาจจำเป็นต้องลดความคาดหวังลงบ้าง และสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป


กลยุทธ์พิชิตตลาดหุ้น


ต่อให้ท่านไม่ใช่ทายาทธุรกิจ กลยุทธ์ 5 ข้อข้างต้นก็ยังมีประโยชน์อยู่ดี อย่างน้อยก็ในตลาดหุ้น








คนละเรื่อง... เดียวกัน


แม้สองเรื่องนี้ดูไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน แต่บางครั้งผมก็พบความขัดแย้งเรื่องหุ้นระหว่างพ่อแม่กับลูก เนื่องจากคนรุ่นก่อนมักมีภาพจำที่ไม่ค่อยดีกับตลาดหุ้น เช่น เคยเห็นข่าวคนกระโดดตึกหรือยิงตัวตายเพราะขาดทุนหุ้น ส่วนคนรุ่นใหม่ก็เด็กเกินกว่าจะเห็นวิกฤติหุ้นขั้นหายนะแบบปี 2540 และมีแต่ภาพจำของตลาดขาขึ้นอย่างยาวนาน

คำแนะนำของผมก็คือ ให้เอาฝั่งขวาของตารางมา manage ตัวเอง และเอาฝั่งซ้ายมา manage คุณพ่อคุณแม่

หวังว่าจะมีประโยชน์นะครับ

วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ชีวิตใหม่หลังถูกเลิกจ้าง


หากพูดถึงการถูกเลิกจ้างหรือ Lay Off ผมเชื่อว่าหลายๆ ท่านอาจคิดว่าเป็นเรื่อง "ไกลตัว" และคนที่ถูกเลิกจ้างนั้นน่าจะ "บังเอิญซวย" เหมือนกับการถูกสิ่งปฏิกูลของนกตกลงมาใส่หัว

ที่สำคัญสิ่งนี้คงไม่เกิดขึ้นกับเราง่ายๆ หรอกน่า!

ความคิดนี้ใกล้เคียงกับเรื่อง ปรากฏการณ์ขอบฟ้า ที่ผมเคยกล่าวถึง นั่นคือเราจะไม่มีวันเห็นหายนะที่รออยู่พ้นไปจากขอบฟ้า ไม่ว่ามันจะใหญ่โตมโหฬารเพียงใด ความเข้าใจอันฉาบฉวยและปราศจากการเตรียมรับมือส่งผลให้หลายคนเกิดอาการช็อก เมื่อรู้ว่าตัวเอง (หรือคนใกล้ตัว) ต้องพบเจอกับสถานการณ์ดังกล่าว ทั้งที่จริงแล้วการถูกเลิกจ้างสามารถนำเราไปสู่ความยากไร้ หรือชีวิตบทใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิมก็ได้ ขึ้นอยู่กับการเลือกของตัวเราเอง


เศรษฐศาสตร์ของการจ้างงาน


ไม่ว่าท่านจะอยากเป็นลูกจ้างชั้นดีไปตลอดชีวิต หรือคิดจะพลิกบทบาทไปเป็นนายจ้างเข้าสักวัน ท่านควรเข้าใจเศรษฐศาสตร์ของการจ้างงานเสียก่อน จะได้รับมือกับ นายจ้าง/ลูกจ้าง ได้อย่างเหมาะสม

ตามมุมมองของทฤษฎีเกม การจ้างงาน จะเกิดขึ้นถ้าผลลัพธ์ของมันเป็นบวกต่อตัวบริษัท เช่น พนักงานสามารถผลิตสินค้า สร้างยอดขาย หรือดูแลระบบภายในบริษัทให้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย หากต้นทุนของการจ้างงาน (ค่าจ้าง) ถูกกว่าผลลัพธ์ที่คาดว่าจะได้ มันก็มีความคุ้มค่าและการจ้างงานก็จะเริ่มขึ้น



เมื่อการจ้างงานเกิดขึ้นแล้ว ปัญหาที่ตามมาในแต่ละเดือน คือ บริษัทจะจ้างเราต่อไปหรือไม่? ตรงนี้เป็นสิ่งที่หลายท่านหลงลืม เพราะส่วนใหญ่แล้วเราก็จะรับเงินเดือนแล้วก้มหน้าทำงานต่อไป แต่ในความเป็นจริงที่บริษัทจ้างเราต่อเป็นเพราะว่า "ความคุ้มค่า" ของการจ้างงานนั้นยังคงมีอยู่ เขาจึงยังจ้างเราต่อไป

ในบางกรณีความคุ้มค่าอาจลดน้อยลง เช่น พนักงานได้รับการขึ้นเงินเดือนจนเริ่มมีค่าตัวแพงกว่าผลงานที่ทำได้ หรือพนักงานเริ่มออกอาการงอแงไม่อยู่ในระเบียบวินัย ทว่าบริษัทก็ยังคงเลี้ยงคนคนนั้นต่อไปอีก เพราะ ต้นทุนของการเลิกจ้าง (เช่น เงินชดเชย ค่าใช้จ่ายในการสรรหาและฝึกพนักงานใหม่ ชื่อเสียงของบริษัท ฯลฯ) มีสูง และยังไม่คุ้มที่จะแยกทางกันเดิน แต่เมื่อไรที่ความคุ้มค่าเกิดขึ้น การเลิกจ้างก็จะมาถึง



ด้วยมุมมองนี้ หากท่านทำประโยชน์ให้บริษัทได้มาก แถมยังมีต้นทุนการเลิกจ้างสูง เช่น ทำงานในตำแหน่งที่หาคนมาทดแทนได้ยาก หรือเป็นงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อบริษัท ไม่ว่าจะเป็นงานขายที่ทำเงินให้บริษัทโดยตรง หรืองานหลังบ้านประเภทปิดทองหลังพระ โอกาสถูกเลิกจ้างก็น่าจะน้อยลง

อย่างไรก็ตาม ผมขอให้ข้อสังเกตว่าตัวแปรต่างๆ ในอสมการนี้มีบางอย่างที่เราควบคุมไม่ได้ บางครั้งเราทำงานดีเท่าเดิม แต่สภาพอุตสาหกรรมเปลี่ยนไป คุณค่าที่เป็นตัวเงินของผลงานเราอาจน้อยลงจนเกิดความไม่คุ้มค่าที่จะจ้างงานต่อ หรือมีกฎเกณฑ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นทำให้ต้นทุนการเลิกจ้างลดลง เช่น มีแรงงานหน้าใหม่ที่เก่งและไม่แพงไหลเข้ามาในระบบ หรือแม้แต่การที่บริษัทใจดีขึ้นเงินเดือนให้เรามากจนค่าตัวของเราแพงเกินไปเองก็ตาม ทั้งหมดนี้อาจส่งผลให้เราถูกเลิกจ้างได้

แต่อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นล่ะครับ การถูกเลิกจ้างไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป


เรื่องเล่าของเพื่อนรักสี่คน


ในบริษัทแห่งหนึ่งมีวิศวกร 4 คนถูกเลิกจ้างในเวลาไล่เลี่ยกัน เนื่องจากพิษเศรษฐกิจ

สรพงศ์ เป็นคนที่เศร้าที่สุด เขารู้สึกมืดแปดด้านเพราะยังต้องผ่อนทั้งบ้านและรถ เงินเก็บก็แทบไม่มี ด้วยความกลุ้มอกกลุ้มใจเขาจึงกินเหล้าและเที่ยวเตร่แก้เครียด ได้แต่หวังว่าจะมีงานดีๆ วิ่งชนเข้ามาในอนาคต สภาพของเขาไม่หลงเหลือวี่แววของคนหนุ่มอนาคตไกลอย่างที่เคยเป็น

ขณะที่ สัญญา ทำใจรับสภาพ และตัดลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นหลายอย่างเพื่อความอยู่รอด เขานั่งๆ นอนๆ อยู่กับบ้านด้วยความเบื่อหน่าย พร้อมกับร่อนจดหมายสมัครงานไปตามบริษัทต่างๆ และเดินทางไปมาเพื่อสัมภาษณ์งานอยู่หลายรอบ จนในที่สุดเขาก็ได้งานใหม่ ถึงแม้จะกินเวลาเกือบหนึ่งปีและได้รับเงินเดือนที่น้อยลงกว่าเดิมมาก แต่เขาก็คิดว่าสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ได้แค่นี้ก็ดีถมไปแล้ว

ในอีกด้านหนึ่ง สุวัฒน์ เชื่อว่าการเลิกจ้างนี้จะเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว ในมุมมองของเขาการรีบร้อนสมัครงานในช่วงเวลานี้ยากที่จะได้งานดีๆ เพราะบริษัทแต่ละแห่งต่างก็พยายามลดคนกันทั้งสิ้น ดังนั้น แทนที่จะรีบร่อนใบสมัครเหมือนกับสัญญา เขากลับถอยออกมามองภาพกว้างพร้อมกับวางเป้าหมายว่าจะต้องขึ้นไปเป็นผู้บริหารให้ได้หลังจากที่เศรษฐกิจฟื้นตัว และนี่ก็คือช่วงเวลาดีที่เขาจะ "อัพเกรด" ตัวเอง

สุวัฒน์มองหัวหน้าเก่าของเขาเป็นต้นแบบ เขาพบว่าทักษะที่จำเป็นต่อการก้าวขึ้นไปเป็นหัวหน้าคือ ความรู้เรื่องการบริหารจัดการและทักษะการนำเสนองาน นอกจากนี้ เขาสังเกตว่าบริษัทเดิมของเขาต้องติดต่องานกับบริษัทญี่ปุ่นอยู่บ่อยครั้ง การเรียนภาษาญี่ปุ่นในระดับเบื้องต้นอาจช่วยให้เขามีความโดดเด่นขึ้นมาได้ หลังจากคิดได้ดังนี้แล้วเขาก็เริ่มเรียนรู้และฝึกฝนตัวเองอย่างมีวินัย

เมื่อเวลาผ่านไปเกือบสองปี ตำแหน่งผู้บริหารระดับต้นเริ่มกลับมาเป็นที่ต้องการ สุวัฒน์ก็ได้รับข้อเสนอให้เป็นรองผู้จัดการฝ่ายผลิตของบริษัทอีกแห่งหนึ่งสมอย่างที่ตั้งใจ

ขณะที่เพื่อนรักสามคนกำลังสาละวนอยู่กับการเป็นลูกจ้าง สมบัติ ถือได้ว่าแตกต่างจากคนอื่น เพราะแทนที่จะมองหางานใหม่เหมือนกับเพื่อนๆ เขากลับนำเงินเก็บที่อดออมไว้ รวมกับเงินชดเชยจากการเลิกจ้าง มาเปิดกิจการของตัวเอง โดยรับวิศวกรจบใหม่มาฝึกงานและรับเหมาก่อสร้างเล็กๆ น้อยๆ กิจการของเขาดำเนินไปด้วยดีเนื่องจากค่าตัวของวิศวกรไร้ประสบการณ์ในขณะนั้นถือว่าถูกมาก นอกจากนี้ลูกค้าก็เชื่อถือฝีมือและความซื่อตรงของสมบัติและทีมงาน ทำให้บริษัทค่อยๆ เจริญขึ้นพร้อมกับเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว

ในความเห็นของเขา การถูก Lay Off เป็นการ "ช่วยตัดสินใจ" ให้เขาออกมาทำตามความฝันของตัวเอง เพราะถ้าไม่อย่างนั้นแล้วตัวเขาเองคงไม่กล้าออกมาทำกิจการส่วนตัวแบบนี้ สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันในสายตาของเขา คือ การอดออมและเก็บเงินตั้งแต่เริ่มต้นทำงานพร้อมกับเพื่อนๆ ส่งผลให้เขามีเงินทุนในยามที่จำเป็น และมันก็คุ้มค่ากับความพยายามจริงๆ


คุณ ... คือ ใคร


เมื่อคนสี่คนตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน และตอบสนองกับมันแตกต่างกันไป นั่นนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่มีทางจะเหมือนกัน แล้วคุณคิดบ้างหรือไม่ว่า ถ้าเป็นคุณจะทำอย่างไร

จมปลักกับความมืดมนเหมือนกับ สรพงศ์ ?

คิดแค่ประคองตัวรอดเหมือน สัญญา ?

หรือใช้โอกาสนี้พัฒนาตัวเองอย่าง สุวัฒน์ ในจังหวะที่คนอื่นๆ กำลังทอดอาลัยกับโชคชะตา?

หรือว่าบางทีคุณอาจใช้จังหวะนี้ "เปลี่ยนชีวิต" ตัวเองเหมือนกับ สมบัติ ก็ได้

ชีวิตหลังถูกเลิกจ้างคือ ชีวิตใหม่ ทั้งสิ้น ชีวิตใหม่นี้อาจดีขึ้นหรือเลวลง หรือบางทีมันอาจเหมือนเดิม แต่ทั้งหมดนี้อยู่ที่การออกแบบของตัวเราเอง โปรดจำไว้ว่า การถูกเลิกจ้างอาจไม่ใช่สิ่งที่คุณเลือกได้ แต่ชีวิตหลังถูกเลิกจ้างนั้น คุณเป็นคนเลือกเองแน่นอน

วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ดูถูก... ไม่พอ


หากเราพูดลอยๆ คำว่า "ดูถูก" อาจมีความหมายไปในทางไม่ดี แต่ถ้าขยายความอีกนิดเป็น "ดูเหมือนจะถูก" เราจะได้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตขึ้นมาอีกหนึ่งข้อ


เงื่อนไขของห้างค้าปลีก


ในวงการค้าปลีกสมัยใหม่ ห้างดิสเคาท์สโตร์ต่างพยายามชูจุดขายเรื่องราคา เพื่อดึงดูดความสนใจจากลูกค้า บางรายโฆษณาว่าห้างของตนเอง "ถูกสุดสุด" หรือ "ไม่ยอมให้ใครขายถูกกว่า" จนผู้คนติดภาพจำเหล่านั้นอยู่ในใจ และลืมที่จะตรวจสอบว่าคุณสมบัติที่ว่านั้นมีอยู่จริงหรือไม่

ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยพยายามท้าทายกลยุทธ์การตลาดประเภท ถ้าเจอห้างไหนขายถูกกว่า ยินดีคืนเงิน แต่ลงท้ายแล้วก็แทบไม่เคยมีใครได้เงินคืนมา ทั้งที่ดั้นด้นไปหาซื้อสินค้าอย่างเดียวกันได้ในราคาที่ถูกกว่าจริงๆ

ที่เป็นอย่างนี้เนื่องจากทางห้างมักอ้างเงื่อนไขที่สลับซับซ้อน เช่น ร้านค้าคู่แข่งต้องอยู่ภายในรัศมี...กิโลเมตร และโปรโมชั่นต้องเป็นช่วงเวลาเดียวกันเป๊ะๆ (ถ้าซ้อนเหลื่อมกัน เช่น ห้างหนึ่งจัดโปรฯ ระหว่างวันที่ 1-7 มิถุนายน ขณะที่คู่แข่งจัดโปรฯ ช่วงวันที่ 1-8 มิถุนายน เช่นนี้ถือว่าไม่นับ)

หรือบางครั้งก็หลีกเลี่ยงโดยใช้การตีความโปรโมชั่น เช่น ทางห้างขายชาเขียวยี่ห้อหนึ่งขวดละ 16 บาท ขณะที่ห้างคู่แข่งขาย 20 บาท แต่ซื้อ 1 แถม 1 เราจะยกขึ้นมาอ้างว่าซื้อ 2 ขวดแล้วของคุณแพงกว่า อย่างนี้เขาก็ไม่ยอมรับ เพราะถือว่าซื้อขวดเดียวแล้วของฉันยังถูกกว่า อย่างนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้นในการที่จะเชื่อ "ภาพลักษณ์" ที่บอกว่าห้างไหนของถูก เราจำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนเสมอ อย่าหลงแค่คำโฆษณา


แน่ใจหรือว่าถูก


มีอยู่ครั้งหนึ่งผมเดินไปซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ตเล็กๆ แถวบ้าน สายตาเหลือบไปเห็นทิชชู่แพ็คใหญ่ของเขาขายเพียง 185 บาท (ราคาปกติ ไม่ได้จัดโปรโมชั่นใดๆ) เทียบกับในห้างดิสเคาท์สโตร์ทั้ง ห้าง A และ ห้าง B ขายอยู่ที่ 245 บาท แถมทั้งสองห้างยังบอกว่านี่ลดราคาแล้วด้วย!

มันเป็นไปได้อย่างไรที่สินค้ายี่ห้อเดียวกัน แบบ/รุ่นเหมือนกัน ขนาดแพ็คเดียวกัน แต่ขายได้แพงต่างกันขนาดนั้น?

ประเด็นก็คือ ทั้งสองห้างกำลังจัดโปรโมชั่นประเภท ซื้อครบ 800 บาท แถมคูปอง 80 บาท ผมจึงค่อยๆ เรียบเรียงความคิดและสรุปความเห็นส่วนตัวออกมาได้ว่า มีความเป็นไปได้ที่ห้างดิสเคาท์สโตร์จะคาดการณ์ล่วงหน้า และใช้ประโยชน์จากการที่ผู้บริโภคพยายามซื้อสินค้าตุนไว้ เพื่อทำยอดเอาคูปอง

ดังนั้น พวกเขาจึงหันไปตั้งราคาสินค้าประเภทไม่เน่าเสีย เช่น ทิชชู่ แชมพู ผงซักฟอก ฯลฯ ให้สูงเข้าไว้ ด้วยรู้ว่าสินค้าพวกนี้แหละที่ผู้คนจะซื้อไปตุนโดยไม่ใส่ใจว่ามันถูกหรือแพง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อห้างคู่แข่งสำคัญก็กำลังขาย(แพง)ในราคาพอๆ กัน

แต่จะมีสักกี่คนที่เดินไปเช็คราคากับร้านค้าปลีกดั้งเดิมแถวบ้านล่ะ?

เมื่อคุณซื้อทิชชู่แบบนี้แค่ 2 แพ็ค กะทำยอดให้ได้คูปอง 80 บาท แต่ได้มาก็ไม่คุ้ม เพราะแค่เดินไปซื้อร้านแถวบ้านก็เซฟส่วนต่างได้แล้วตั้ง 120 บาท (ส่วนต่าง 60 บาท x 2 แพ็ค) ... สรุปว่าโดนหลอกจากมโนคติของตัวเอง เนื่องจากความเชื่อที่ว่าห้างดิสเคาท์สโตร์ "น่าจะ" ขายถูกกว่าร้านค้าปลีกแบบบ้านๆ ซึ่งอาจไม่จริงเสมอไป


ตั๋วเครื่องบินราคาถูก


การจับจ่ายในห้างค้าปลีก ไม่ใช่ สถานการณ์เดียวที่เราจะได้รับบทเรียนเรื่องนี้ อีกตัวอย่างหนึ่งของการซื้อของที่ดูเหมือนถูก (แต่ไม่ถูก) ก็คือ การซื้อตั๋วเครื่องบินไปเที่ยวต่างประเทศ

ในปัจจุบันคนไทยเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น บ่อยขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสังคมโซเชียลที่โพสต์รูปโชว์กัน จนหลายคนเริ่มรู้สึกว่า "เฮ้ย เราก็น่าจะไปมั่งนะ บ้านนั้นเขายังไปเลย" อีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากการมีสายการบินต้นทุนต่ำเป็นทางเลือกที่สบายกระเป๋ามากขึ้น

เมื่อเปรียบเทียบราคาตั๋วเครื่องบิน แน่นอนว่าตั๋วของสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full-service Airline) ย่อมมีราคาสูงกว่าตั๋วของสายการบินต้นทุนต่ำ (Low-cost Airline) ด้วยเหตุนี้คนจำนวนมากที่มีงบประมาณจำกัดและต้องตัดสินใจภายในระยะเวลาสั้นๆ จึงมีแนวโน้มที่จะเลือกตั๋วโลว์คอสต์ เพราะคิดว่าจะได้จ่ายน้อยกว่า และได้ไปเที่ยวเหมือนๆ กัน ถึงจะลดความสะดวกสบายลงไปบ้างก็ตาม

ความเชื่อนี้อาจไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะถึงที่สุดแล้ว อย่างน้อยนักเดินทางก็จะต้องจ่ายเพิ่มค่าโหลดกระเป๋า (หลีกเลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะถ้าไปเที่ยวเมืองหนาวและไปหลายวัน) และค่าอาหาร (ถ้าเดินทางหลายชั่วโมงและต้องทนหิวไปด้วยก็คงจะลำบากเกินไป)

รวมกันแล้วค่าใช้จ่ายตรงนี้อาจเพิ่มขึ้นมาเกือบ 2 พันบาท ทำให้ค่าตั๋วไม่ได้ถูกจริงเท่าที่เห็นในตอนแรก แถมบนเครื่องยังขาดอุปกรณ์อำนวยความสะดวก หมอน-ผ้าห่มก็ไม่มีให้ จอทีวีก็ไม่มี อยากมีต้องจ่ายเพิ่ม อยากดื่มน้ำสักแก้วก็ยังต้องเสียเงินแพงกว่าที่เราๆ ท่านๆ ซื้อดื่มบนพื้นพิภพนี้หลายเท่าตัวนัก

แต่เท่านั้นก็ยังไม่พอ เพราะเมื่อเช็คดูดีๆ แล้ว เที่ยวบินมักจะไป-กลับในเวลาที่ไม่เอื้อต่อการท่องเที่ยว บางครั้งเดินทางไปถึงดึกมาก พอไปถึงปลายทางแล้วจะเดินทางเข้าเมืองก็ลำบาก อาจต้องยอมจ่ายค่าแท็กซี่กะดึกซึ่งแพงขึ้นกว่าปกติมาก หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องยอมค้างโรงแรมที่สนามบินก่อนคืนนึง ทำให้เสียเวลาเที่ยวไปอีกครึ่งวัน ส่วนขากลับบางทีก็ขยับไปบินตอนเช้า (มากๆ) จนต้องค้างโรงแรมที่สนามบินเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคืน แม้ค่าตั๋วจะถูกแต่ก็ต้องเสียค่าโรงแรมเพิ่มขึ้น

สรุปว่าตั๋วเครื่องบินที่ดูถูก อาจไม่ได้ถูกอย่างที่คิดไว้ในตอนแรกก็ได้

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของสิ่งที่ "ดูถูก" แต่อาจไม่ได้ถูกจริงๆ หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้ถูกเท่ากับที่เห็นในแว้บแรก ผมจึงจั่วหัวเอาไว้ว่าเพียงแค่ ดูถูก นั้นยังไม่พอ แต่เราต้องเช็คให้แน่ว่ามัน ถูกจริง ด้วยหรือไม่ ... หวังว่าจะมีประโยชน์กับทุกท่านนะครับ

วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

การทบต้น 2 แบบ


นักลงทุนส่วนใหญ่อาจทราบหลักของ "การทบต้น" กันดีอยู่แล้ว แต่เชื่อว่ามีน้อยคนที่จะมองมันใน 2 รูปแบบอย่างที่ผมกำลังจะกล่าวถึง

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งมือโปรและมือใหม่ ผมจะขออธิบายปูพื้นคร่าวๆ สักนิดก่อน จากนั้นเราค่อยมาดูกันว่าการทบต้นมีรูปแบบไหนบ้าง และมันแตกต่างกันอย่างไรนะครับ


การทบต้น คืออะไร


การทบต้น (compounding) ระดับเบื้องต้นที่รู้จักกันดี ได้แก่ การทบต้นของดอกเบี้ยเงินฝาก

ตัวอย่างเช่น เรานำเงินไปฝากธนาคารและได้รับดอกเบี้ย ซึ่งถ้าไม่ถอนออกมา ดอกเบี้ยนั้นก็จะ "ทบต้น" กลายเป็นส่วนหนึ่งของ "เงินต้นใหม่" ในปีถัดไป ... จะเห็นได้ว่า การปล่อยดอกเบี้ยให้ทบต้นไปเรื่อยๆ จะทำให้เงินต้นของเราพอกพูนขึ้นปีแล้วปีเล่าอย่างน่าอัศจรรย์

ดังนั้น หากจะให้นิยามกันแบบง่ายๆ การทบต้นก็คือ การที่สินทรัพย์สามารถสร้าง ผลตอบแทน และผลตอบแทนนั้นก็เวียนกลับมาเป็น สินทรัพย์ ที่สร้างผลตอบแทนได้อีก

ความมหัศจรรย์อยู่ที่การทบต้น "ซ้ำๆ" จนสินทรัพย์ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้ยินว่า อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ถึงกับยกย่องให้ดอกเบี้ยทบต้นเป็น "สิ่งมหัศจรรย์อันดับที่ 8 ของโลก" กันเลยทีเดียว

เจ๋งแค่ไหนก็ลองคิดดู


รูปแบบของสินทรัพย์


ความมหัศจรรย์ของการทบต้นไม่ได้เกิดขึ้นกับเงินฝากธนาคารแต่เพียงอย่างเดียว ความจริงแล้วนักลงทุนหุ้นเองก็คุ้นเคยกับเรื่องนี้ ซึ่งวิธีทำก็ง่ายมาก เพียงแต่เราลงทุนหุ้นได้กำไรแล้ว อย่าดึงเงินออกมาจากพอร์ต แต่ให้คงเงินเอาไว้เพื่อ "ทบต้น" ให้พอร์ตหุ้นของเรามีการเติบโต

ในชีวิตจริงนักลงทุนบางท่านพอได้กำไรแล้ว มักเกิดความครึ้มอกครึ้มใจดึงเงินกำไรออกจากพอร์ตราวกับว่ามันเป็นของฟรี จากนั้นก็เอามากินมาเล่นบ้าง อย่างนี้การทบต้นก็จะไม่เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นก็ไม่เต็มที่

บางทีท่านอาจเข้าใจมากขึ้น หากเราจะพูดถึง "รูปแบบของสินทรัพย์" ซึ่งแบ่งออกเป็น

1) สินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทน และ
2) สินทรัพย์ที่ ไม่ สร้างผลตอบแทน

การเปลี่ยนรูปแบบจากสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทน (เช่น หุ้น พันธบัตร กองทุนรวม) ไปเป็นสินทรัพย์ที่ไม่สร้างผลตอบแทน (เช่น เงินสด สมาร์ตโฟน รถยนต์) เป็นการ "ฆ่าตัดตอน" และทำให้ความมหัศจรรย์ของกระบวนการทบต้นไม่บังเกิดขึ้น

ความจริงแล้วผมอยากจะบอกว่าสินทรัพย์ประเภทที่สองนั้น เรามีได้! แต่ควรมีตามความเหมาะสม อย่าลืมว่า resource ของคนเรามีจำกัด หากเลือกมีสินทรัพย์ข้อ 2 มาก สินทรัพย์ข้อ 1 ก็จะน้อย นี่เป็นเรื่องธรรมชาติ


รูปแบบของการทบต้น


อย่างที่บอกไปแล้วว่าการทบต้นจะเกิดขึ้นเฉพาะกับสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทน แต่สิ่งหนึ่งที่เราควรรู้ต่อไปก็คือ การทบต้นสามารถเกิดขึ้นได้ใน 2 รูปแบบ ได้แก่

1) การทบต้นแบบภายใน และ
2) การทบต้นแบบภายนอก

การทบต้นแบบภายใน (Internal Compounding) ถือเป็นการทบต้นโดยเนื้อแท้ นักลงทุนไม่จำเป็นต้องยื่นมือเข้าไปยุ่งเกี่ยว ถ้าเป็นเงินฝากธนาคารก็จะมีการนำดอกเบี้ยเข้าทบต้นให้โดยอัตโนมัติ ถ้าเป็นหุ้น เมื่อกิจการเติบโต มูลค่าหุ้นก็เพิ่มขึ้น และราคาหุ้นในระยะยาวก็จะปรับตัวสูงขึ้นโดยธรรมชาติ ... นักลงทุนไม่ต้องทำอะไร

ในทางกลับกัน การทบต้นแบบภายนอก (External Compounding) นักลงทุนจำเป็นต้องออกแรงกระทำการบางอย่าง เช่น ย้ายเงินฝากธนาคารไปหาดอกเบี้ยที่สูงขึ้น หรือเปลี่ยนตัวหุ้นด้วยการขายตัวที่แพงแล้วไปซื้อหุ้นตัวที่ถูกกว่า เป็นต้น

เมื่อลงทุนจริงในตลาดหุ้น นักลงทุนอาจใช้การทบต้นรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือใช้ทั้งสองรูปแบบผสมผสานกันก็ได้

การลงทุนด้วยกลยุทธ์ซื้อแล้วถือยาว (Buy and Hold Strategy) เป็นตัวอย่างหนึ่งของการทบต้นแบบภายใน ขณะที่การเก็งกำไรแบบรายวัน (Day Trading) ซึ่งอาศัยการซื้อและขายหุ้นอย่างรวดเร็วจบภายในวัน เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการทบต้นแบบภายนอก

สำหรับการทบต้นทั้งสองรูปแบบผสมผสานกัน ผมอยากให้นึกถึงการใช้กลยุทธ์ ซื้อแล้วถือ ในช่วงเวลาที่สั้นลง จากนั้นก็ เปลี่ยนตัวหุ้น เป็นครั้งคราว เช่น เทขายหุ้นที่แพงแล้วไปซื้อหุ้นตัวที่ยังถูกอยู่ เป็นต้น


ลิงขี่ท่อนซุง


เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ลองจินตนาการว่าท่านเป็น "ลิง" ที่ขี่ท่อนซุงล่องไปตามแม่น้ำ (ยกตัวอย่างสมกับเป็นบล็อก MonkeyFreeTime เสียจริงๆ) ท่านสามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วโดยการออกแรงกระโดดข้ามจากซุงท่อนหนึ่งไปยังท่อนถัดไป หรือท่านอาจ "เลือก" ท่อนซุงที่ท่าทางจะเจ๋งที่สุด จากนั้นก็เกาะให้แน่น

ความผิดพลาดของลิงตัวแรกที่อาจเกิดขึ้นได้ก็คือ มันพยายามกระโดดไปมาและพลาดตกน้ำ ทำให้ทุกอย่างช้าลงไปกว่าเดิม ขณะที่ลิงตัวที่สองอาจเลือกซุงผิดและเข้าไปติดแหงกที่ชายฝั่ง แทนที่จะเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ... จะเห็นว่าไม่มีหนทางใดที่สมบูรณ์แบบ แม้แต่ลิงที่ "ผสมผสาน" รูปแบบก็อาจทำพลาดทั้งสองรูปแบบ และช้าหนักกว่าใครๆ ก็เป็นได้

การทบต้นทั้งสองรูปแบบ (หรือแม้แต่การผสมผสาน) ว่ากันตามจริงแล้วไม่มีใครเหนือใคร เหมือนกับลิงที่พยายามใช้กลวิธีต่างๆ ในการล่องไปตามแม่น้ำ ... เรียกได้ว่าวิธีที่เจ๋งที่สุดนั้นไม่มี

มีแต่วิธีที่เหมาะกับเราที่สุดเท่านั้น

วันศุกร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2558

เงินปันผล... พระเอกที่ถูกลืม


แม้ผมจะไม่เคยลงมือสำรวจอย่างเป็นจริงเป็นจัง แต่เท่าที่ได้พูดคุยกับนักลงทุนก็พอจะสังเกตได้ไม่ยากว่า คนส่วนใหญ่พุ่งความสนใจไปที่กำไรหุ้นจากการซื้อๆ ขายๆ เป็นหลัก ส่วนเงินปันผลนั้น พวกเขามักจะบอกว่า "ได้ก็ดี ไม่ได้ก็ไม่รู้สึกอะไร"

ดังนั้น ผมจึงขอหยิบยกเรื่องราวของ เงินปันผล ขึ้นมา เพื่อให้ท่านทั้งหลายเห็นว่า "พระเอกที่ถูกลืม" คนนี้มีดีอย่างไร รวมทั้งวิธีที่จะดูว่าพระเอกแบบไหนที่หล่อจริง เก่งจริง ไม่ใช่เป็นตัวโกงที่สวมรอยมา


เหตุใดพระเอกจึงถูกลืม


ท่านที่เคยดูซีรีส์เกาหลีอาจเคยเห็นว่า มีบ่อยครั้งที่ "พระรอง" ดูหล่อเร้าใจ และเด่นกว่าพระเอกที่หล่อแบบเรียบๆ ซึ่งผมคิดว่ามันก็คล้ายกับในตลาดหุ้นอยู่เหมือนกัน

ในตลาดหุ้น กำไรจากส่วนต่างราคา หรือ Capital Gain เป็นผลตอบแทนที่ดูเป็นเนื้อเป็นหนัง กำไรครั้งหนึ่งอาจจะ 10% หรือ 20% บางทีทะลุไปเป็นร้อยๆ เปอร์เซ็นต์ก็มี ขึ้นอยู่กับว่าเราจะกินคำโตหรือกินคำเล็ก ขณะที่ผลตอบแทนจาก เงินปันผล อาจอยู่ที่ 4-5% ต่อปี พอเทียบกันแล้วจึงดูไม่น่าตื่นเต้นสักเท่าไหร่

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรลืมก็คือ เมื่อพูดถึงกำไรจากส่วนต่างราคา 10-20% นั้น เรากำลังพูดถึงเฉพาะการซื้อขายครั้งที่ได้กำไร แต่ในความเป็นจริงเราอาจมีหุ้นอีกหลายตัวที่ยัง "ติดดอย" และบางตัวก็ต้องตัดใจขายขาดทุน หากต้องการเห็นภาพที่แท้จริง เราก็จะต้องมองภาพของทั้งพอร์ตในระยะเวลาที่ยาวเพียงพอ

สมมติ ชาลี เป็นนักลงทุนหุ้นตัวหน้าใหม่ ในระยะเวลา 2 ปี เขาซื้อขายหุ้นไป 10 ตัว ในจำนวนนี้...

มี 2 ตัวที่ได้กำไร 20%
มี 2 ตัวที่ได้กำไร 10%
มี 4 ตัวที่ติดดอย แล้วกลับมาขายเท่าทุน
มี 2 ตัวที่ติดดอย แล้วยอมตัดใจขายขาดทุน -20%

แม้ว่าผลตอบแทนรวมของพอร์ตจะอยู่ที่ 11.5% (ต่อ 2 ปี) แต่เมื่อคิดเป็นผลตอบแทนต่อปีแบบทบต้น จะเหลือเพียง 5.6% ซึ่งว่าไปแล้ว Capital Gain ที่ชาลีได้รับ ก็ไม่ได้หล่อเร้าใจไปกว่าเงินปันผลสักเท่าไหร่เลย

แต่แน่ล่ะ ถ้าคุณไม่คำนวณก็ไม่มีทางรู้เรื่องนี้


Payout Ratio


หลายคนทราบอยู่แล้วว่า อัตราการจ่ายเงินปันผล (Dividend Payout Ratio) หรือบางทีก็เรียกสั้นๆ ว่า Payout Ratio นั้น คำนวณได้ง่ายๆ โดยเอา "เงินปันผลต่อหุ้น" หารด้วย "กำไรต่อหุ้น"

ตัวอย่างเช่น บมจ. มังกี้ฟรีไทม์ มีกำไรต่อหุ้น 2.5 บาท และจ่ายเงินปันผล 1.5 บาท ก็จะคำนวณได้ว่า Payout Ratio = 1.5 / 2.5 = 60%

ปัญหาที่ซับซ้อนจะเกิดขึ้นเมื่อมีการจ่ายปันผลเป็นหุ้น สมมติ บมจ. มังกี้ฟรีไทม์ จ่ายปันผลเป็น "เงินสด" 1.5 บาท และจ่ายเป็น "หุ้น" อีก 1 บาทล่ะ เราจะคำนวณ Payout Ratio อย่างไร?

เท่าที่ผมเห็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์มักตีขลุม นับรวมทั้งหุ้นทั้งเงินสดเข้าไปด้วยกัน ซึ่งก็จะทำให้นักลงทุนที่ไม่สืบสาวราวเรื่องเข้าใจไปว่า บริษัทแห่งนี้มีการจ่ายเงินปันผลในอัตราที่สูงมาก แต่พอเช็คเงินปันผลมาจริงๆ กลับเป็นตัวเลขกระจิ๊ดเดียว

ในหนังสือ Fundamentals of Corporate Finance ซึ่งเขียนโดย Stephen Ross ปรมาจารย์ด้านการเงินแห่งสถาบัน MIT และทีมงาน ระบุไว้ชัดเจนว่า อัตราการจ่ายเงินปันผลควรคำนวณจาก "เงินสดปันผล" ครับ




เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ (ตามความเห็นของผมนะครับ) คือ เงินสดปันผล เป็นสิ่งที่บริษัทจ่ายออกมาจริงๆ เมื่อจ่ายออกมาแล้วบริษัทก็จะ "แฟบลง"

พูดง่ายๆ ว่าสมมติเราประเมินมูลค่าของบริษัทเอาไว้ 1,000 ล้านบาท พอบริษัทจ่ายเงินปันผลออกมา 50 ล้านบาท มูลค่าของบริษัทก็จะลดลงเหลือ 950 ล้านบาท เพราะว่า 50 ล้านบาทนั้นได้ถูกกระจายออกมาให้ผู้ถือหุ้นแล้ว

ในทางตรงข้าม หากบริษัทตัดสินใจออกหุ้นใหม่ เพื่อเอามาจ่ายเป็น หุ้นปันผล ให้เรา บริษัทก็จะมีจำนวนหุ้นมากขึ้น ขณะที่มูลค่าของตัวกิจการยังคงเดิม ดังนั้น มูลค่า "ต่อหุ้น" ก็จะต้องลดลง อย่างที่เราเรียกกันว่า Dilution Effect นั่นเอง

หลายท่านคำนวณไม่เป็นว่า เมื่อบริษัทออกหุ้นปันผล (เช่น 7 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่) แล้ว มูลค่าหุ้นควรจะไดลูทเหลือเท่าไร วิธีคิดคร่าวๆ ก็คือ ให้เอา X หารด้วย X + 1

อย่างเช่น ออก 7 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่ เราก็เอา 7 หารด้วย (7+1) ... ก็จะได้ 7/8 ของมูลค่าหุ้นเดิม ง่ายๆ แค่นี้เอง

สำหรับการจ่ายปันผลเป็นหุ้น บริษัทไม่ได้ไขก๊อกผ่องถ่ายความมั่งคั่งออกมาให้กับผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด เพราะเราเพียงแต่มีหุ้น "เล็กลง" ในจำนวนที่มากขึ้น ดังนั้น Payout Ratio ก็ไม่ควรจะเอาตรงนี้มาคิด สรุปว่าผมเห็นด้วยกับหนังสือของอาจารย์ Ross


Dividend Cover


ในสายตาของนักลงทุน เราอาจบอกว่ายิ่งจ่ายเงินปันผลมากยิ่งดี แต่มันจะมีประโยชน์อะไร หากบริษัทจ่ายหนัก จ่ายเยอะ แต่จ่ายได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง?

ประเด็นที่เราควรพิจารณา ได้แก่ ความสามารถในการจ่ายเงินปันผลได้อย่างยั่งยืน ที่วัดผ่านอัตราส่วนที่เรียกว่า Dividend Cover ซึ่งได้จากการเอา "กำไรต่อหุ้น" หารด้วย "เงินปันผลต่อหุ้น"

ตัวอย่างเช่น บมจ. มังกี้ฟรีไทม์ มีกำไรต่อหุ้น 2.5 บาท และจ่ายเงินปันผล 1.5 บาท ก็จะคำนวณได้ว่า Dividend Cover = 2.5 / 1.5 = 1.67 เท่า

หรือพูดง่ายๆ ว่า เป็น "ส่วนกลับ" ของ Payout Ratio นั่นเอง

ถึงแม้ว่านักลงทุนจำนวนไม่น้อยจะชื่นชอบบริษัทที่จ่ายเงินปันผลในอัตราสูงๆ เช่น 80-90 เปอร์เซ็นต์ของกำไรสุทธิ แต่การกระทำเช่นนั้นก็มีความเสี่ยง โดยเฉพาะถ้ากำไรของบริษัทไม่ได้คงเส้นคงวาจริงๆ

ความจริงแล้วหากปีไหนบริษัทมีกำไรน้อย แต่ยังอยากจ่ายเงินปันผลหนักๆ บริษัทสามารถควักเอา "กำไรสะสม" ออกมาจ่ายประทังไปก่อนได้ นักลงทุนอาจจะยังแฮปปี้ แต่ก็ต้องระมัดระวังเอาไว้ด้วย เพราะมันเป็นวิธีที่ไม่ยั่งยืน

โดยหลักทั่วไปเรามักจะมองว่า Dividend Cover ที่ต่ำกว่า 1.5 เท่า (เทียบเท่า Payout Ratio ประมาณ 67 เปอร์เซ็นต์) ถือว่าไม่ค่อยปลอดภัยเท่าไรนัก ส่วนตัวแล้วผมชอบให้จ่ายเงินปันผลพอประมาณ แต่จ่ายได้ยาวๆ และค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนจะดีกว่า

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวของ "เงินปันผล" พระเอกที่ไม่ควรจะถูกลืม เพราะแม้จะไม่เร้าใจอะไรมากมาย แต่ก็กินไปได้เรื่อยๆ ครับ

วันศุกร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2558

สรุปเนื้อหาจากงานเปิดตัวหนังสือ "แต้มต่อในตลาดหุ้น" (2)


ต่อจากบทความก่อนนะครับ

ใน session ที่สองของการเปิดตัวหนังสือ “แต้มต่อในตลาดหุ้น” เป็นการอบรมในหัวข้อ “กลไกราคาหุ้น” โดย สุภศักดิ์ จุลละศร มีการสอดแทรกกิจกรรมทดลองง่ายๆ เพื่อให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมและได้รับประสบการณ์ตรง

เนื้อหาโดยสรุปมีดังนี้


ความเชื่อของนักลงทุน


"ความเชื่อ" เป็นสิ่งที่ตัดสินพฤติกรรมและจำแนกนักลงทุนออกเป็นประเภทต่างๆ สำหรับแนว ป๊อบปูล่า ได้แก่ แนวปัจจัยพื้นฐาน แนวเทคนิค และแนวเจ้ามือหุ้น

  • แนวปัจจัยพื้นฐาน เน้นไปที่การศึกษาตัวกิจการ และพยายามประมวลออกมาเป็น มูลค่า หรือ ราคาที่เหมาะสมของหุ้น (VI หรือ Value Investment ถือเป็นส่วนหนึ่งของแนวนี้)

  • แนวเทคนิค ไม่ปฏิเสธเรื่องมูลค่าหุ้น เพียงแต่พวกเขา "ไม่สนใจ" เพราะถือว่าทุกอย่างสะท้อนอยู่ในราคาหุ้นแล้ว จึงเน้นไปที่การศึกษาพฤติกรรมของ ราคาหุ้น บนกระดาน

  • แนวเจ้ามือหุ้น มองว่าราคาหุ้นเป็นผลมาจากการกระทำของคนบางกลุ่ม ซึ่งรู้จักกันในนาม เจ้ามือหุ้น นักลงทุนแนวนี้จึงมุ่งเน้นไปที่การคาดเดาพฤติกรรมของเจ้ามือหุ้น


ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะผสมผสานแนวทางต่างๆ เข้าด้วยกัน แต่โดยส่วนตัวแล้ววิทยากรไม่เห็นด้วย เพราะปรัชญาการลงทุนของแต่ละแนวทางมีความแตกต่างกัน สุดท้ายแล้วนักลงทุนก็ต้องเลือกแนวใดแนวหนึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวอยู่ดี

นอกเหนือจากแนวป๊อบปูล่าทั้งสามนี้แล้ว ยังมีแนวทางอื่นๆ อีก เช่น แนวปรัชญา ของ จอร์จ โซรอส หรือ แนว Quant (คว้อนท์) ของ จิม ไซมอนส์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งเฮ็ดจ์ฟันด์ชื่อ Renaissance Technologies แต่บทสรุปของเนื้อหาส่วนนี้ก็คือ ไม่ว่าแนวไหนก็สามารถรวยได้ ถ้าลงทุนอย่างมีแต้มต่อจริงๆ


กลไกที่ผลักดันราคาหุ้น


ในระยะยาวราคาหุ้นมักจะสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน โดยเฉพาะ "กำไร" แต่ว่าในระยะสั้น แนวโน้มราคาหุ้นอาจแตกต่างไปจากปัจจัยพื้นฐานอย่างมากก็ได้ เพราะฉะนั้นนักลงทุนต้องตระหนักว่า กลไกหลัก ที่ผลักดันราคาหุ้นในแต่ละกรอบระยะเวลานั้นเป็นคนละตัวกัน อย่าพากเพียรแกะงบ แล้วไปเล่นหุ้นสั้นๆ เพราะมันเหนื่อยเปล่า แถมทำให้เราหงุดหงิดและสับสนได้




ในเรื่องของกลไกราคาหุ้น มีประเด็นที่ต้องพิจารณาหลักๆ อยู่ 2 ประเด็น ได้แก่
  1. กิจการนั้นเป็น value creation หรือไม่

  2. ราคาหุ้นอยู่ห่างจากมูลค่าหุ้นมากน้อยแค่ไหน

ซึ่งประเด็นที่สองนี้เป็นกลไกที่เรียกว่า "Margin of Safety" และวิทยากรก็ได้สอดแทรกการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ให้ประสบการณ์เลียนแบบสิ่งที่เกิดขึ้นจากกลไกนี้ จากนั้นได้อธิบายการสร้างแต้มต่อจากทั้งสองประเด็นพร้อมๆ กัน รวมทั้งนำกลไกดังกล่าวไปประยุกต์ใช้กับตัวอย่างในชีวิตจริง และชี้ให้เห็นว่าการผสมผสานแนวทางที่แตกต่างกันจะก่อให้เกิดความลักลั่นในการลงทุนได้อย่างไร



เราปิดท้ายด้วยการประยุกต์ความรู้เรื่อง ข้อต่อของการลงทุน และ กลไกราคาหุ้น เข้าด้วยกัน คือ ให้สร้างแต้มต่อทั้งตอน ซื้อ-ถือ-ขาย โดยอาศัยกลไกของ Margin of Safety สร้างความได้เปรียบในการซื้อและขาย ส่วนกลไก Value Creation ใช้สร้างความได้เปรียบในการถือ เพื่อนำไปสู่ "แต้มต่อแบบไม่เหนื่อย" ซึ่งท่านที่ได้นั่งเรียนในวันนั้นคงพอเห็นภาพว่า เนื้อหาตั้งแต่ต้นจนจบนั้นเรียงร้อยต่อเนื่องกันมา ไม่มีอะไรสูญเปล่า เหมือนภาพยนตร์ที่ทุกฉากล้วนเข้มข้นและมีความหมาย เพียงแต่มาเฉลยกันในตอนท้ายเท่านั้น


... และนี่ก็คือ เนื้อหาอย่างคร่าว ๆ ในงานเปิดตัวหนังสือวันนั้นครับ

วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2558

สรุปเนื้อหาจากงานเปิดตัวหนังสือ "แต้มต่อในตลาดหุ้น" (1)


ขอแบ่งปันเนื้อหาดีๆ จากงานสัมมนาเนื่องในโอกาสเปิดตัวหนังสือ “แต้มต่อในตลาดหุ้น” ซึ่งเป็นสัมมนาฟรีที่จัดขึ้นสำหรับแฟนหนังสือ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม 2558




ใน session แรกเป็นการเสวนาในหัวข้อ “ไม่รวยสักที เพราะไม่มีแต้มต่อ” โดยผู้เขียน (สุภศักดิ์ จุลละศร) และบรรณาธิการ (คุณประภาคาร ภราดรภิบาล) สามารถสรุปประเด็นหลักๆ ได้ดังนี้

  • รวย หมายถึง มีเงินทองมาก ... อย่าสับสนระหว่าง “มีเงินมาก” กับ “มีรายได้มาก”

  • มีเงินมาก เรียกว่า “รวย” แต่ถ้าใช้เงินมาก เรียกว่า “ดูรวย” 

  • คิดดีๆ ว่าเราต้องการอะไร บางคนอยากดูรวยก็ไม่ได้ถือว่าผิด แต่ต้องเข้าใจว่าสองสิ่งนี้อยู่ตรงข้ามกัน เพราะโดยปกติถ้าเราใช้เงินมาก เงินที่เรามีก็จะลดลง

วิธีรวยมากๆ (ระดับร้อยล้านหรือพันล้านบาท) เรียกว่า Code R-I-C-H ซึ่งดัดแปลงมาจากสัมมนาโดยคุณ Sebastien Leblond ที่จัดขึ้นโดย British Council และผู้เขียนได้เข้าฟังเมื่อหลายปีก่อน

R – Real Estate คือ รวยจากอสังหาริมทรัพย์
ให้นึกถึงมหาเศรษฐีตระกูลดังๆ เช่น ภิรมย์ภักดี กาญจนพาสน์ เตชะณรงค์ สิริวัฒนภักดี ฯลฯ ซึ่งหันเหจากธุรกิจเดิมเข้าสู่ “ตัว R” นี้ เพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่ง

I – Investor คือ รวยจากการลงทุน
ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น วอร์เรน บัฟเฟตต์, จอร์จ โซรอส, ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

C – Company Owner คือ รวยจากการสร้างบริษัท
ในยุคปัจจุบันมีตัวอย่างบริษัทที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำให้ผู้ก่อตั้งร่ำรวยมหาศาล เช่น มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก แห่ง Facebook, เซอร์เกย์ บริน และ ลาร์รี เพจ แห่ง Google

H – High Income Earner คือ รวยจากการมีรายได้มหาศาล
ตัวอย่างเช่น นักกีฬาดังๆ อย่าง ไทเกอร์ วูดส์ และ คริสเตียโน โรนัลโด หรือ เจ. เค. โรว์ลิง ผู้เขียนหนังสือแฮรี่ พอตเตอร์ 



การสร้างความร่ำรวยสไตล์ ดร.นิเวศน์ ใช้หลักที่เรียกว่า “แก้ว 3 ประการ” ซึ่งผู้เขียนเคยเรียบเรียงไว้ในหนังสือ “ปลุกความคิด พิชิตการลงทุน” โดยสำนักพิมพ์วิง มีเดีย ประเด็นคือ เราควร maximise สามอย่างนี้ให้ได้พร้อมๆ กัน สำหรับแก้ว 3 ประการนั้นประกอบด้วย

  1. เม็ดเงินลงทุน สามารถสร้างแต้มต่อได้โดยการเก็บออมให้มาก พยายามอดใจไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย รวบรวมเงินที่เรามีอย่าให้เป็นเบี้ยหัวแตก ชักชวนพ่อแม่หรือญาติๆ มาร่วมลงทุน

  2. ผลตอบแทนทบต้น สามารถสร้างแต้มต่อได้โดยการเปิดใจให้กว้าง มองหาโอกาสในการลงทุน แสวงหาความรู้ ถ้ารู้น้อยก็อย่าเพิ่งโลภมาก

  3. ระยะเวลาลงทุน สามารถเพิ่มแต้มต่อได้โดยการเริ่มลงทุนเร็ว ตายช้าๆ (คือ ให้รักษาสุขภาพ) รู้จักส่งต่อความมั่งคั่งไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน มุมมองที่สำคัญอีกอย่าง คือ ถ้าลงทุนหุ้นแล้วชอบ “เล่นรอบ” เข้าๆ ออกๆ พอตกรถปุ๊บ การลงทุนก็ไม่ต่อเนื่อง ทำให้ระยะเวลาลงทุนกะพร่องกะแพร่ง เกิดแต้มต่อไม่เต็มที่

สุดท้ายเป็นเรื่องข้อต่อของการลงทุน ประกอบด้วยการ “ซื้อ–ถือ–ขาย” เราสามารถหาแต้มต่อได้จากทุกท่อน โดยหากเป็น VI ท่อนที่เป็นการ ถือ จะเด่นขึ้นมา ขณะที่แนวเก็งกำไรระยะสั้น ท่อน ถือ อาจสั้นจนแทบไม่มีประโยชน์ นั่นเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องทำความเข้าใจ

สำหรับเนื้อหาใน session ที่สอง ผมจะมาเล่าให้ฟังอีกทีนะครับ

วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

งานเปิดตัวหนังสือ ... ที่นั่งเต็มแล้ว



ขณะนี้ที่นั่งในงานเปิดตัวหนังสือ "แต้มต่อในตลาดหุ้น" และอบรมหุ้น Mini Course ได้เต็มแล้ว


ขอขอบคุณสำหรับการตอบรับ และหวังว่าจะมีโอกาสได้นำเสนอสิ่งดีๆ ให้กับทุกท่านอีกครับ

วันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

"แต้มต่อในตลาดหุ้น"




ขอบคุณท่านบรรณาธิการและทีมงาน Wing Media สำหรับความเหนื่อยยากกว่าจะมาเป็นหนังสือเล่มนี้นะครับ

ความพิเศษของหนังสือเล่มนี้ คือ ท่านสามารถอ่านได้ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่หรือมือโปร และชื่อของมันก็สื่อสุดๆ ว่าท่านควรจะคาดหวังอะไรจากมัน

"แต้มต่อ" คือ ความได้เปรียบที่เราสามารถใช้เอาชนะตลาดหุ้น นักลงทุนขั้นเทพทุกคนล้วนมีสิ่งนี้อยู่ในมือ ... และเผื่อว่าคุณจะไม่ทันสังเกต แต้มต่อของพวกเขาแต่ละคนล้วนแตกต่าง ทว่าปลายทางกลับทำให้พวกเขาร่ำรวยได้เหมือนกัน! มันน่าประหลาดไหมล่ะครับ

หนังสือเล่มนี้เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจหลักธรรมชาติและความได้เปรียบขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรมี ก่อนจะตีแผ่แนวทางการลงทุนที่หลากหลาย และ open ให้ทุกท่านได้เลือกสิ่งที่เหมาะกับตัวเอง

ถัดมาเป็นการกล่าวถึง "กลไกราคาหุ้น" รวมทั้งโมเดลการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นแบบง่ายๆ แต่ทรงประสิทธิภาพ รวมทั้งชักชวนให้ผู้อ่านค้นหาว่า เราจะหาผลตอบแทนสูงๆ อย่างมีแต้มต่อได้อย่างไร และพฤติกรรมแบบไหนควรทำหรือไม่ควรทำ

สำหรับท่านที่สนใจ "ตัวกิจการ" ที่อยู่เบื้องหลังตัวเลขเขียวๆ แดงๆ หนังสือเล่มนี้ปูพื้นวิธีส่องหาธุรกิจ อธิบายงบการเงินและอัตราส่วนต่างๆ ด้วยเทคนิคพิเศษที่หลายคนในเว็บบอร์ดถึงกับบอกว่า

"ถ้าอาจารย์สอนแบบนี้ ฉันก็เข้าใจไปตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว!"

เนื้อหาของหนังสือค่อนข้าง well-organised (เรียบเรียงเป็นขั้นเป็นตอน อ่านเข้าใจง่าย) ไม่ใช่การรวมบทความ มีภาพประกอบที่คอยอธิบายเนื้อความเยอะมากกกก ไม่ใช่กราฟฟิกที่มีไว้แค่สวยๆ

นั่นเป็นเหตุผลที่ผมและกองบรรณาธิการต้องเหน็ดเหนื่อยและภูมิใจกับมันมากเป็นพิเศษ




สำหรับคนที่ชอบอะไรพิสดารๆ ระดับที่ textbook เรียกพี่ ... บอกได้ว่าอยู่ท้ายเล่มครับ

วันพุธที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2558

คำถามท้าทายมนุษย์เงินเดือน


คำถามหนึ่งที่มนุษย์เงินเดือนควรถามตัวเองอย่างจริงจัง คือ "ถ้าห้ามทำงานกินเงินเดือน ชีวิตฉันจะทำมาหากินอะไรได้อีกบ้าง"

 ... ลองคิดถึงงานที่คุณอาจจะ "ยี้" ในแว้บแรก

... อย่าเพิ่งตัดทุกความเป็นไปได้

... อย่ามองข้ามงานที่ได้เงินน้อย หรือไร้เกียรติ

คุณอาจคิดถึงคนขายหมูปิ้งหน้าบูดๆ แถวบ้าน แล้วนึกไปว่าความจริงคุณสามารถขายสินค้าอย่างเดียวกัน และเอาชนะได้ด้วยหน้าตายิ้มแย้ม บางทีคุณอาจคิดถึงการรับซ่อมไฟฟ้าหรือประปาเล็กๆ น้อยๆ ตามบ้าน ... ความรู้ที่คนสมัยนี้ "ยอมจำนน" และยินดีจ่าย เพราะไม่มีปัญญาทำด้วยตัวเอง

หรือไม่ก็สอนพิเศษวิชาโปรดที่คุณเคยเก่งกาจสมัยเรียนก็ได้

แน่นอน ในวันที่ปราศจากแรงบีบคั้น คุณอาจเบะปากใส่บางอาชีพ เพราะคิดว่าตัวเองร่ำเรียนมาสูง แต่เชื่อผมเถอะว่าการ คิดถึงทุกความเป็นไปได้ เอาไว้ก่อน ไม่ใช่เรื่องเสียหาย อย่างน้อยคุณก็จะมีทางเลือกในชีวิตที่สุดหลากหลาย และถ้าสุดท้ายแล้วตัดสินใจว่าจะไม่ทำ มันก็เป็นการตัดสินใจของเรา พูดง่ายๆ ว่าเราเป็นคนบงการชีวิตตัวเอง

สำหรับคนที่ทำงานบริษัทใหญ่ๆ อาจคิดและบอกกับตัวเองว่า "รอดแล้ว" ... แต่สถานการณ์ในชีวิตสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ งานที่คิดว่ามั่นคง ก็ไม่มั่นคงมากไปกว่าตัวบริษัท สมมติว่าวันหนึ่งเกิดบริษัทซวนเซ เขาก็อาจจะต้องปลดคน หรือไม่ต้องซวนเซก็ได้ แค่มีการควบรวมกิจการ บริษัทแม่รายใหม่ก็อาจตัดสินใจเลิกจ้างคุณได้ง่ายๆ เหมือนกัน และถึงแม้จะได้เงินชดเชยมาบ้าง แต่การหางานใหม่เมื่ออายุมากขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

นั่นคือเหตุผลที่ผมตั้งคำถามนี้ และอยากให้ทุกท่านลองคิดและต่อยอดดูว่า ตัวเราสามารถทำอะไรได้บ้าง

หลังจากที่ตอบคำถามนี้ ท่านอาจประหลาดใจเมื่อเห็นว่าหนทางเลี้ยงชีพมันช่างกว้างใหญ่ไพศาลเหลือเกิน ไม่ได้จำกัดอยู่ในออฟฟิศแคบๆ แต่เพียงอย่างเดียว

และบางอาชีพนั้น เมื่อขยับขยายออกไป รายได้ของมันไม่เพียงแค่ทำให้คุณ "มีเงินใช้" แต่อาจถึงขั้น "รวย" ได้ด้วยซ้ำ

วันอังคารที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2558

เงินปันผลของหุ้นเติบโต


ตำราทางการเงินมักบอกว่า บริษัทที่มีการเติบโตสูงๆ มีความจำเป็นต้องเอาเงินสดไปขยายกิจการ จึงจ่ายเงินปันผลน้อยหรือไม่จ่ายเลย และการกระทำเช่นนั้นก็เป็นเรื่องที่ "สมเหตุสมผล" เสียด้วย

ดังนั้น นักลงทุนที่ซื้อหุ้นดังกล่าวจึงมัก "ไม่คาดหวัง" เงินปันผล และนั่นก็เป็นเหตุผลที่บริษัทเหล่านี้เองก็ไม่คิดจะจ่ายเงินปันผลอย่างเป็นน้ำเป็นเนื้อด้วยเหมือนกัน เรียกได้ว่าเป็นเหตุและผลที่วนลูป สะท้อน...ซึ่งกันและกัน แล้วทุกคนก็แฮปปี้ (อันนี้ตำราไม่ได้บอก แต่ผมบอกเอง)

อย่างไรก็ตาม เมื่อการเติบโตเริ่มลดลง ตำราก็บอกว่าในที่สุดบริษัทจะหันกลับมาจ่ายเงินปันผลในอัตราที่สูงขึ้น ... แต่มันก็เป็นสิ่งที่ผมไม่เชื่อสักเท่าไหร่


เสือปืน(ไม่)ไว

ความจริงแล้วการที่บริษัทโตเร็วและ "งก" เงินปันผล จะพลิกกลับมาเป็น เสือปืนไว ควักเงินปันผลจ่ายให้ผู้ถือหุ้นโครมๆ นั้นก็มีอยู่ แต่ก็คงไม่ง่ายนัก เพราะมันขัดกับบุคลิกและความเคยชินของผู้บริหาร

ประเด็นแรก ในมุมของฝ่ายบริหาร พวกเขาต้องการมีเงินสดติดกระเป๋าเอาไว้เยอะๆ หยิบง่ายใช้คล่อง การไม่ต้องควักเงินออกมาจ่ายเป็นปันผลหลายๆ ปี ทำให้พวกเขา "เคยตัว" แล้วพอถึงวันหนึ่ง คุณคิดว่าเขาจะยอมควักเงินออกมาง่ายๆ น่ะหรือ? เมินเสียเถอะ

ประเด็นต่อมา คือ การเติบโตที่ดำเนินมาเป็นเวลาหลายปี จะทำให้ผู้คน "ยึดติด" อยู่กับภาพนั้นๆ แม้ต่อมาการเติบโตจะเริ่มชะลอตัว แต่ทุกคนก็คิดว่านี่เป็นเพียงเรื่องชั่วคราว ดังนั้น การจะทำให้ใครบางคน (โดยเฉพาะฝ่ายบริหาร) ยอมรับว่าการเติบโตสวยหรูเริ่มจบลง ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ยังไม่ต้องคิดฝันไปไกลถึงการจ่ายเงินปันผลเลย

ประเด็นสุดท้าย แม้ฝ่ายบริหารจะยอมรับกันเองภายในว่าการเติบโตกำลังจะสิ้นสุดลง แต่ก็คงเป็นการยากที่พวกเขาจะ "ประกาศ" เรื่องนี้อย่างเป็นทางการผ่านการจ่ายเงินปันผล

อย่าลืมว่าหุ้นเติบโตจำนวนไม่น้อยมีการซื้อขายกันที่ P/E สูงลิ่ว เช่น 40-50 เท่า หากสาธารณชนเกิดตระหนักขึ้นมาว่า บริษัทกำลังจะเปลี่ยนสถานะไปเป็นหุ้นที่โตธรรมดาๆ ค่า P/E อาจหดลงไปเหลือเพียงครึ่งเดียว ส่งผลให้ราคาหุ้นทรุดลงอย่างน่าสะพรึงกลัว

และยิ่งถ้าผู้บริหารเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ด้วยแล้ว พวกเขาก็คงไม่อยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้นเป็นแน่

พูดง่ายๆ ก็คือ มีความเป็นไปได้น้อยที่ สิงห์ปืนฝืด จะผันตัวมาเป็น เสือปืนไว

Soft Landing


โดยทั่วไป Soft Landing เป็นคำที่ใช้ในเชิงเศรษฐศาสตร์มหภาค เมื่อภาครัฐพยายามชะลอเศรษฐกิจให้ลดความร้อนแรงลง แทนที่จะโตพรวดพราดเป็นฟองสบู่และจบลงด้วยการระเบิดออกเป็นเสี่ยงๆ แต่ในกรณีของหุ้นโตเร็วที่ค่อยๆ ลดการเติบโตลง พร้อมไปกับการจ่ายเงินปันผลในอัตราที่สูงขึ้น ผมคิดว่าคำนี้ก็น่าจะพอใช้ได้เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวผมไม่คิดว่า Soft Landing จะเกิดขึ้นง่ายๆ ในกรณีของหุ้นเติบโต และต่อให้ผู้บริหารเห็นแล้วว่าธุรกิจเริ่มตีบตัน ความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะ "ปลิ้น" หอบเงินของบริษัทไปลงทุนสัพเพเหระแบบทิ้งๆ ขว้างๆ ก็ยังมีมากกว่าการจ่ายปันผลคืนให้กับผู้ถือหุ้น

ลองคิดดูก็ได้ว่าอะไรจะน่าอภิรมย์มากกว่ากัน ระหว่างการประกาศอย่างยิ่งใหญ่ว่าบริษัทกำลังจะ "ทุ่มเงิน" เพื่อเข้าลงทุนในธุรกิจใหม่ กับการประกาศว่าบริษัทจะเริ่มจ่ายเงินปันผลมากขึ้น เพราะกิจการกำลังจะเติบโตน้อยลง?!

เรื่องแบบนี้ตำราเรียนไม่มีเขียนไว้แน่ๆ นักลงทุนต้องคิดเอาเองครับ