วันศุกร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2558

สรุปเนื้อหาจากงานเปิดตัวหนังสือ "แต้มต่อในตลาดหุ้น" (2)


ต่อจากบทความก่อนนะครับ

ใน session ที่สองของการเปิดตัวหนังสือ “แต้มต่อในตลาดหุ้น” เป็นการอบรมในหัวข้อ “กลไกราคาหุ้น” โดย สุภศักดิ์ จุลละศร มีการสอดแทรกกิจกรรมทดลองง่ายๆ เพื่อให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมและได้รับประสบการณ์ตรง

เนื้อหาโดยสรุปมีดังนี้


ความเชื่อของนักลงทุน


"ความเชื่อ" เป็นสิ่งที่ตัดสินพฤติกรรมและจำแนกนักลงทุนออกเป็นประเภทต่างๆ สำหรับแนว ป๊อบปูล่า ได้แก่ แนวปัจจัยพื้นฐาน แนวเทคนิค และแนวเจ้ามือหุ้น

  • แนวปัจจัยพื้นฐาน เน้นไปที่การศึกษาตัวกิจการ และพยายามประมวลออกมาเป็น มูลค่า หรือ ราคาที่เหมาะสมของหุ้น (VI หรือ Value Investment ถือเป็นส่วนหนึ่งของแนวนี้)

  • แนวเทคนิค ไม่ปฏิเสธเรื่องมูลค่าหุ้น เพียงแต่พวกเขา "ไม่สนใจ" เพราะถือว่าทุกอย่างสะท้อนอยู่ในราคาหุ้นแล้ว จึงเน้นไปที่การศึกษาพฤติกรรมของ ราคาหุ้น บนกระดาน

  • แนวเจ้ามือหุ้น มองว่าราคาหุ้นเป็นผลมาจากการกระทำของคนบางกลุ่ม ซึ่งรู้จักกันในนาม เจ้ามือหุ้น นักลงทุนแนวนี้จึงมุ่งเน้นไปที่การคาดเดาพฤติกรรมของเจ้ามือหุ้น


ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะผสมผสานแนวทางต่างๆ เข้าด้วยกัน แต่โดยส่วนตัวแล้ววิทยากรไม่เห็นด้วย เพราะปรัชญาการลงทุนของแต่ละแนวทางมีความแตกต่างกัน สุดท้ายแล้วนักลงทุนก็ต้องเลือกแนวใดแนวหนึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวอยู่ดี

นอกเหนือจากแนวป๊อบปูล่าทั้งสามนี้แล้ว ยังมีแนวทางอื่นๆ อีก เช่น แนวปรัชญา ของ จอร์จ โซรอส หรือ แนว Quant (คว้อนท์) ของ จิม ไซมอนส์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งเฮ็ดจ์ฟันด์ชื่อ Renaissance Technologies แต่บทสรุปของเนื้อหาส่วนนี้ก็คือ ไม่ว่าแนวไหนก็สามารถรวยได้ ถ้าลงทุนอย่างมีแต้มต่อจริงๆ


กลไกที่ผลักดันราคาหุ้น


ในระยะยาวราคาหุ้นมักจะสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน โดยเฉพาะ "กำไร" แต่ว่าในระยะสั้น แนวโน้มราคาหุ้นอาจแตกต่างไปจากปัจจัยพื้นฐานอย่างมากก็ได้ เพราะฉะนั้นนักลงทุนต้องตระหนักว่า กลไกหลัก ที่ผลักดันราคาหุ้นในแต่ละกรอบระยะเวลานั้นเป็นคนละตัวกัน อย่าพากเพียรแกะงบ แล้วไปเล่นหุ้นสั้นๆ เพราะมันเหนื่อยเปล่า แถมทำให้เราหงุดหงิดและสับสนได้




ในเรื่องของกลไกราคาหุ้น มีประเด็นที่ต้องพิจารณาหลักๆ อยู่ 2 ประเด็น ได้แก่
  1. กิจการนั้นเป็น value creation หรือไม่

  2. ราคาหุ้นอยู่ห่างจากมูลค่าหุ้นมากน้อยแค่ไหน

ซึ่งประเด็นที่สองนี้เป็นกลไกที่เรียกว่า "Margin of Safety" และวิทยากรก็ได้สอดแทรกการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ให้ประสบการณ์เลียนแบบสิ่งที่เกิดขึ้นจากกลไกนี้ จากนั้นได้อธิบายการสร้างแต้มต่อจากทั้งสองประเด็นพร้อมๆ กัน รวมทั้งนำกลไกดังกล่าวไปประยุกต์ใช้กับตัวอย่างในชีวิตจริง และชี้ให้เห็นว่าการผสมผสานแนวทางที่แตกต่างกันจะก่อให้เกิดความลักลั่นในการลงทุนได้อย่างไร



เราปิดท้ายด้วยการประยุกต์ความรู้เรื่อง ข้อต่อของการลงทุน และ กลไกราคาหุ้น เข้าด้วยกัน คือ ให้สร้างแต้มต่อทั้งตอน ซื้อ-ถือ-ขาย โดยอาศัยกลไกของ Margin of Safety สร้างความได้เปรียบในการซื้อและขาย ส่วนกลไก Value Creation ใช้สร้างความได้เปรียบในการถือ เพื่อนำไปสู่ "แต้มต่อแบบไม่เหนื่อย" ซึ่งท่านที่ได้นั่งเรียนในวันนั้นคงพอเห็นภาพว่า เนื้อหาตั้งแต่ต้นจนจบนั้นเรียงร้อยต่อเนื่องกันมา ไม่มีอะไรสูญเปล่า เหมือนภาพยนตร์ที่ทุกฉากล้วนเข้มข้นและมีความหมาย เพียงแต่มาเฉลยกันในตอนท้ายเท่านั้น


... และนี่ก็คือ เนื้อหาอย่างคร่าว ๆ ในงานเปิดตัวหนังสือวันนั้นครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น