เหตุเกิดจากถังเก็บน้ำ
ในการใช้น้ำประปา เดี๋ยวนี้บ้านสมัยใหม่มักจะไม่ต่อท่อของการประปาเข้าสู่บ้านโดยตรงแล้ว เนื่องจากแรงดันน้ำของการประปาไม่เพียงพอสำหรับเครื่องใช้ต่างๆ เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำอุ่น เป็นต้น โดยทั่วไปเราจึงต่อท่อของการประปาเข้ามาพักไว้ที่ถังเก็บน้ำก่อน จากนั้นค่อยปั๊มน้ำเข้าสู่ตัวบ้านต่อไป
ปัญหาของผมเกิดขึ้นเมื่อก๊อกน้ำเข้าของถังเก็บน้ำเกิดอุดตัน ทำให้น้ำไหลเข้าถังช้ามาก ขณะที่คนในบ้านก็ยังใช้น้ำตามปกติ น้ำในถังเก็บจึงค่อยๆ ลดลงโดยที่เราไม่รู้สึกตัว จนกระทั่งวันหนึ่งที่น้ำหมดถังนั่นแหละ ดูจากภาพ (ถังหมายเลข 1) น่าจะพอนึกออกครับ
การจับจ่ายใช้สอย
เมื่อเทียบเคียงเรื่องนี้กับการจับจ่ายใช้สอยของคนเรา (ถังหมายเลข 2) จะเห็นว่าคนทั่วไปซึ่งมีรายได้ประจำ เช่น เงินเดือน และมีรายจ่ายต่างๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า ค่าเดินทาง ฯลฯ เงินที่เหลือจากการจับจ่ายก็ย่อมกลายเป็นเงินเก็บ ไม่ต่างอะไรจากถังเก็บน้ำ
คนที่จับจ่ายใช้สอยน้อยกว่าเงินที่หามาได้ย่อมมีเงินเก็บมากขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นคนรวยในที่สุด ในทางกลับกัน คนที่จับจ่ายใช้สอยมากกว่าเงินที่หามาได้ ถึงจุดหนึ่งเงินเก็บก็หมดและอาจต้องถึงกับกู้หนี้ยืมสิน และแน่นอนว่าถ้าพฤติกรรมดังกล่าวยังไม่ถูกแก้ไข เขาก็ไม่มีวันพ้นสภาพ "ลูกหนี้" ได้
คนฉลาดจะไม่ยอมอยู่ในฐานะของ "คนจ่ายดอกเบี้ย" หรืออย่างน้อยก็พยายามออกจากสภาพนั้นโดยเร็ว เขาจะพยายามอยู่ในฐานะของ "คนรับดอกเบี้ย" ซึ่งนั่นก็ทำให้เขารวยขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง
สิ่งหนึ่งที่ผมอยากฝากให้คิด คือ การเปิดก๊อกบนให้แรงขึ้นนั้นยากกว่าการหรี่ก๊อกล่างให้เบาลง
หากคุณมีเงินเดือน 30,000 บาท ใช้จ่ายเดือนละ 28,000 บาท เท่ากับว่ามีเก็บเงินเดือนละ 2,000 บาท เพียงแค่ลดค่าใช้จ่ายลงได้ 5% หรือ 1,400 บาท ในแต่ละเดือนคุณจะมีเงินเก็บเพิ่มขึ้นเป็น 3,400 บาท มากขึ้นกว่าเดิมถึง 70% น่าทึ่งใช่มั๊ยล่ะ!
การลงทุนในหุ้น
พลิกกลับไปที่การลงทุนในหุ้น (ถังหมายเลข 3) คราวนี้เงินที่ไหลเข้ามาเกิดจากกำไรหุ้น ขณะเดียวกันเงินที่ไหลออกไปเกิดจากการขาดทุน วิธีรวย คือ เราต้องทำให้ในภาพรวมแล้วผลขาดทุนน้อยกว่าผลกำไร เมื่อกำไรพอกพูนขึ้น เราก็จะรวยขึ้น
สิ่งที่ผมพบโดยทั่วไป คือ คนส่วนมากเอาเงินเดือนหรือรายได้อื่นๆ เทเข้ามาสู่พอร์ตหุ้นอยู่ตลอดเวลา การทำแบบนั้นทำให้พวกเขาไม่รู้ตัวว่าที่จริงแล้วถังเก็บน้ำของเขากำลังสูญเสียความสมดุล และที่ทุกวันนี้ถังเก็บน้ำของพวกเขาไม่แห้งขอดก็เป็นเพราะว่าพวกเขามี "ก๊อกพิเศษ" ด้านบนขวาคอยเติมเข้ามา นี่คือสิ่งที่น่ากลัว เพราะมันทำให้พวกเขาเทเงินทิ้งไปในตลาดหุ้นโดยไม่สำเหนียกตัวเสียด้วยซ้ำ และที่จริงเขาจะรวยกว่านี้มากถ้าเพียงแต่ปล่อยเงินพวกนั้นไว้เฉยๆ
จะเห็นว่าระดับน้ำมีสองสี สีเข้มแสดงให้เห็นระดับน้ำที่แท้จริง หากว่าไม่มี "ก๊อกพิเศษ" และสีอ่อนแสดงให้เห็นถึงระดับน้ำที่รวมเอาเงินเติมอื่นๆ เข้าไปด้วยแล้ว ผมเข้าใจดีว่าเงินนั้นมันไม่มีการ "แปะป้าย" ว่าก้อนนี้มาจากไหน ก้อนนั้นมาจากไหน เมื่อเอามันเทรวมกัน เราก็จะงงๆ แล้วมองมันเป็นก้อนเดียวไปเลย
วิธีง่ายๆ ที่ผมอยากแนะนำ คือ ให้สรุปพอร์ตการลงทุนเป็นประจำ ใครที่ซื้อขายไม่บ่อยอาจสรุปทุก 1 ปี ส่วนใครซื้อขายบ่อยอาจสรุปเป็นรายไตรมาสก็ได้ ส่วนเงินนอกที่เติมเข้าไปในแต่ละช่วงก็จดบันทึกไว้ด้วย เมื่อสรุปพอร์ตจะได้หักเงินก้อนนั้นออกก่อน ทีนี้ก็จะรู้แล้วว่าตกลงได้กำไรหรือขาดทุนมากน้อยแค่ไหน
ใครอยาก advance มากขึ้นก็คำนวณด้วยวิธี Modified Dietz Method ก็ได้ เสิร์ชหาเอาในเว็บไม่ยาก ส่วนใครไม่อยากปวดหัว ทำอย่างที่ผมบอกก็โอเคแล้วครับ
ข้อคิดดีๆ ที่คุณได้
คุณอาจจะนึกไปว่าสิ่งที่แย่ที่สุด คือ "การขาดทุน" แต่แท้จริงแล้วสิ่งที่แย่ที่สุด คือ "การไม่รู้ตัวว่าขาดทุน" เพราะเมื่อคุณรู้ว่าขาดทุน อย่างน้อยก็ยังทบทวนหาทางแก้ไขได้ แต่เมื่อคุณไม่รู้ว่าตัวเองกำลังขาดทุน คุณก็คงจะทำในสิ่งเดิมๆ ซ้ำๆ และทำให้การขาดทุนนั้นเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก มิหนำซ้ำยังเอาเงินออมที่หามาได้เทลงมาในตลาดหุ้น พอกพูนความขาดทุนให้ใหญ่โตขึ้นไปอีก
ลองทบทวนดูนะครับว่า ถังเก็บน้ำของคุณกำลังจะแห้งขอดหรือไม่... อย่าให้มาคิดได้ตอนหลังว่า "ไม่น่าเลยเรา"
ต้องทำกำไรให้มากกว่าขาดทุนให้ได้
ตอบลบผมขอคิดต่างจากความคิดด้านบนนะครับ
ตอบลบเราควรทำให้ขาดทุนให้น้อยลงก่อน แล้วกำไรจะมาเอง เพราะเหตุมาเกิดจากการเปิดก๊อกด้านล่าง
เห็นด้วยครับ การซื้อหุ้นแต่ละครั้ง ถ้าเรา "ตัด" ครั้งที่เราไม่มั่นใจออกไป โดยเฉลี่ยแล้วก๊อกล่างของเราจะไหลเบาลงเอง อย่างที่เขาบอกว่า "less is more" ทำน้อยกว่า แต่กลับได้ผลมากขึ้น
ตอบลบ