วันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ถามหุ้นในทีวี


เปิดทีวีดูรายการหุ้นทีไร เราก็มักจะเห็นคอหุ้นโทรศัพท์เข้ามาในรายการเพื่อถามหาแนวรับ-แนวต้าน หรือไม่เช่นนั้นก็ถามเอาดื้อๆ เลยว่า "ติดหุ้น" ตัวนั้นตัวนี้อยู่ จะทำอย่างไรดี

ดูเหมือนว่านักวิเคราะห์และรายการทีวีจะกลายเป็นที่พึ่งของนักเล่นหุ้นจำนวนหนึ่ง แต่สิ่งที่แย่ก็คือพวกเขาถามไม่ตลอดรอดฝั่ง ส่วนมากตอนซื้อจะซื้อเอง แต่จะมาถามก็ตอนที่ติดดอยแล้ว หรือบางครั้งก็กลับกันคือมาถามตอนซื้อ แต่พอหุ้นตกก็ตัดสินใจกอดหุ้นติดดอยเอง ด้วยเหตุนี้กลยุทธ์หุ้นที่ออกมาจากมันสมองของนักวิเคราะห์จึงทำงานได้เพียงครึ่งๆ กลางๆ และไม่ทำกำไร

นักวิเคราะห์ในทีวี


คำถามหนึ่งที่น่าสนใจ คือ หากเราทำตามกลยุทธ์ของนักวิเคราะห์หุ้นในทีวีแบบ "เต็มสูบ" แล้วจะได้กำไรจริงหรือไม่? ถ้าเราลงทุนหุ้นตัวที่เขาเชียร์ ซื้อและขายตามจังหวะที่เขาแนะนำ เราจะได้กำไรหรือเปล่า

คำตอบง่ายๆ คือ "ไม่รู้" เพราะในการที่จะยืนยันคำตอบนี้...

1) เราต้องตามซื้อหุ้น "ทุกตัว" ที่นักวิเคราะห์รายนี้แนะนำและลงทุนในลักษณะของพอร์ตโฟลิโอแทนที่จะมองกำไรจากหุ้นเป็นตัวๆ ไป การฟันธงว่านักวิเคราะห์แม่นหรือไม่แม่นด้วยผลลัพธ์จากหุ้นเพียง 2-3 ตัว ดูไม่ค่อยเป็นวิทยาศาสตร์สักเท่าไหร่

2) เราต้องซื้อใน "ทุกจังหวะ" ที่เขาแนะนำให้ซื้อ และขายในทุกจังหวะที่เขาแนะนำให้ขาย ปัญหาหลักๆ ของเรื่องนี้ก็คือ คนส่วนมากตามซื้อตามขายได้เพียงบางจังหวะ ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่สามารถติดตามผลงานของเขาได้อย่างสม่ำเสมอ หรือไม่ก็เกิดจากเงินทุนที่จำกัดของเราเอง พอช้อนซื้อตามคำแนะนำไป 2-3 รอบก็หมดหน้าตักแล้ว

3) เราต้องมีการ "จดบันทึก" การซื้อขายทุกครั้งและจำแนกไว้ด้วยว่าครั้งไหนบ้างที่มาจากคำแนะนำของนักวิเคราะห์รายนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นจริง คือ นักเล่นหุ้นจำนวนมากไม่ได้จดบันทึกอย่างมีระบบระเบียบเพียงพอ และบางทีก็จดไว้เฉยๆ โดยไม่เอาผลมาประมวลและวิเคราะห์ต่อ

ในเมื่อเป็นแบบนี้เราก็ไม่สามารถสรุปได้ว่ากลยุทธ์ของนักวิเคราะห์ในทีวีใช้งานได้จริงหรือไม่ แต่ถ้าจะว่าตามจริง บางทีตัวนักวิเคราะห์ที่ให้คำแนะนำเองเขาก็ไม่ได้จดไว้เหมือนกันว่าตัวเองแนะนำอะไรไปบ้าง

อย่าถามต้นทุน


คำถามสำคัญอันหนึ่งของการแนะนำกลยุทธ์หุ้นทางทีวีก็คือ "ต้นทุนอยู่ที่เท่าไหร่?"

แม้มันจะฟังดูดีมีเหตุผลที่เราควรรู้ก่อนว่านักลงทุนเคยซื้อหุ้นมาที่ราคาเท่าไร ติดหุ้นมานานหรือยัง ฯลฯ แต่แท้จริงแล้วมันเป็นแค่ "การทำบัญชี" ในสมองเท่านั้น

นักจิตวิทยาการลงทุนอธิบายเรื่องนี้ว่า การทำบัญชีในสมองเป็นกลไกที่เกิดขึ้นมาเอง เราอาจจดจำเอาไว้ว่าต้นทุนหุ้นของเราอยู่ที่ 10 บาท เมื่อราคาหุ้นลดลงเราย่อมรู้สึกว่ากำลังขาดทุน แม้บางคนจะถือคติ "ไม่ขายไม่ขาดทุน" แต่ที่จริงในสมองก็ยอมรับกลายๆ อยู่ว่าขาดทุน จุดที่เราซื้อหุ้น (10 บาท) ถูกมาร์กหรือกำหนดเอาไว้เป็นจุดอ้างอิง และนักเล่นหุ้นส่วนมากจะยอมติดหุ้นไปก่อนเพื่อลดความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น ตราบจนหุ้นกลับขึ้นมาที่ 10 บาทอีกครั้ง สมองจะถูกกระตุ้นให้ "ล้างขาดทุน" ด้วยการขายหุ้นออกไป

กลไกดังกล่าวรวมทั้งจุดอ้างอิงที่เป็นต้นทุน อาจมีความสัมพันธ์ในเชิงอารมณ์ แต่มันไม่มีความสัมพันธ์ในเชิงกำไร! หุ้นอาจวิ่งผ่าน 10 บาทแล้วไปไกลถึง 20 บาทก็ได้ มันไม่ได้สนใจว่าคุณมีต้นทุนอยู่ที่เท่าไหร่หรือ cut loss ไปหรือยัง ถ้าสถานการณ์มันเหมาะสมที่จะลง มันก็ลง ถ้าเหมาะสมที่จะขึ้น มันก็ขึ้น ถ้าเรามัวแต่ห่วงต้นทุน เราจะพบว่าในพอร์ตของเรามีแต่หุ้นเน่าๆ เหมือนกับของกินเก่าๆ ที่อยู่ในตู้เย็น

สิ่งที่เราควรทำ คือ วิเคราะห์ตามสถานการณ์ไป ต้นทุนไม่เกี่ยว

ส่งท้าย


โดยส่วนตัวผมไม่เคย(แม้แต่จะคิด)ถามหุ้นทางทีวี ซึ่งไม่ใช่ไม่เชื่อว่านักวิเคราะห์ไม่เก่ง แต่เพราะนักวิเคราะห์ไม่มีทางรู้ใจเราได้เท่ากับตัวเราเอง ความอึดอัด ความสบายใจ เป้าหมายในการลงทุนของเรา เขาก็ไม่มีทางรู้ อีกประการหนึ่งคือ ในโลกยุคนี้ข้อมูลข่าวสารของรายย่อยไม่ได้ด้อยกว่านักวิเคราะห์มืออาชีพแล้ว ทำการบ้านเสียหน่อย อ่าน annual report, เข้าฟัง Opp Day, พูดคุยกับลูกจ้าง ฯลฯ เผลอๆ จะรู้มากกว่ามืออาชีพเสียด้วยซ้ำ


หมายเหตุ ภาพประกอบเป็นตัวอย่างรายการหุ้นทางโทรทัศน์เท่านั้น ไม่มีการพาดพิงถึงตัวบุคคลหรือตัวรายการแต่อย่างใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น