วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2554
ส่องวิกฤติน้ำท่วมด้วยการวิเคราะห์ความพึงพอใจ
ดูข่าวน้ำท่วมแล้วเห็นใจคนที่ต้องประสบภัยนะครับ แต่ก็นึกเสียใจเมื่อเห็นชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมรวมตัวกันบุกไปพังพนังกั้นน้ำให้น้ำไหลบ่าเข้าไปท่วมคนอื่นๆ บ้าง นัยจะได้ว่าช่วยกันแบ่งเบาความเดือดร้อน แต่ก็พอจะเข้าใจว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น
ผมลองวิเคราะห์ผ่านการวิเคราะห์ utility หรือความพึงพอใจ จะผิดถูกอย่างไรลองติดตามดูนะครับ
ก่อนอื่นผมแบ่งบุคคลต่างๆ ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ รัฐบาล(เจ้าหน้าที่ระดับสูง) เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย ชาวบ้านผู้ประสบภัย และชาวบ้านทั่วไป ซึ่งแม้ดูเผินๆ เหมือนจะมีจุดหมายเดียวกันคือต่อต้านน้ำท่วม แต่จริงๆ แล้วต่างก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป
รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ระดับสูงเป็นคนที่มองเห็นภาพรวม ความสำเร็จของรัฐบาลคือการป้องกันไม่ให้น้ำท่วม ส่วนพื้นที่ไหนที่ท่วมไปแล้วก็ต้องกู้กลับมาให้เร็วที่สุด เมื่อวิกฤติการณ์ผ่านพ้นไปสิ่งที่รัฐบาลจะแถลงคือ 1.น้ำท่วมคิดเป็นพื้นที่มากน้อยเพียงใด ป้องกันไว้ได้มากน้อยแค่ไหน 2.พื้นที่ที่น้ำท่วมไปแล้วใช้เวลานานแค่ไหนก่อนที่น้ำจะลดลง และ 3.ความเสียหายที่คิดเป็นตัวเงินมีมากน้อยเท่าไหร่
ทั้งนี้นอกจากเรื่องพื้นที่น้ำท่วมแล้ว ภารกิจอีกอย่างหนึ่งก็คือการช่วยเหลือผู้ประสบภัย การป้องกันพื้นที่ไว้ไม่ได้จะทำให้เกณฑ์ข้อ 1 ด้อยลง (มีพื้นที่น้ำท่วมเพิ่มขึ้น) และพื้นที่ดังกล่าวจะเข้าสู่เกณฑ์ข้อ 2 (ต้องรีบระบายน้ำออกให้เร็ว) แถมยังมีภาระให้ต้องช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพิ่มอีก จึงอาจบอกได้ว่าการป้องกันพื้นที่ที่ยังไม่ท่วมน่าจะให้ผลบวกมากที่สุด ส่วนการทำให้น้ำลดเร็วน่าจะเป็นผลบวกที่รองลงมา
นอกจากนี้ถ้าเราพิจารณาระดับความพึงพอใจจากสถานการณ์น้ำท่วมตามภาพข้างต้นจะเห็นว่า ระดับน้ำเป็นศูนย์ หรือ ระยะเวลาที่น้ำท่วมเป็นศูนย์ (คือ น้ำไม่ท่วม) จะให้ระดับความพึงพอใจสูงสุด ต่อจากนั้นถ้ามันท่วมแม้แต่แอะเดียว ความพึงพอใจจะหล่นฮวบลงมาทันทีเพราะต้องถอดรองเท้าลุยน้ำและขนข้าวขนของหนีน้ำแล้ว จากนั้นความพึงพอใจจะลดลงเรื่อยๆ ตามระดับน้ำที่สูงขึ้นและระยะเวลาที่ท่วมยาวนานขึ้นไป
จะเห็นว่าระหว่างการท่วม 40 ซม. กับ 50 ซม. ความพึงพอใจจะแตกต่างกันไม่มาก ขณะที่การท่วม 10 ซม. หรือไม่ท่วมนั้นให้ความพึงพอใจแตกต่างกันอย่างมาก ผมคิดว่าแนวคิดนี้ยืนยันได้ว่าการป้องกันไม่ให้น้ำท่วมจะให้ผลบวกสูงสุด
เมื่อสั่งการลงไปเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยก็จะมีภารกิจแรกเป็นการป้องกันพื้นที่ พวกเขาก็จะเอากระสอบทรายมากั้นเป็นแนวคันกั้นน้ำซึ่งจะแบ่งแยกพื้นที่เปียกออกจากพื้นที่แห้ง แน่นอนว่ายิ่งน้ำมามากเท่าไหร่เขายิ่งต้องกั้นให้สูงขึ้นเท่านั้น และยิ่งต้องกั้นให้สูงขึ้นเท่าไหร่ก็แปลว่าฝั่งที่ท่วมจะยิ่งเดือดร้อนมากขึ้นเท่านั้น
ในกรณีที่กั้นน้ำได้สำเร็จ พวกเขาจะได้รับการยกย่องว่าสามารถป้องกันพื้นที่ได้และทำภารกิจสำเร็จ ขณะที่การกั้นน้ำไม่สำเร็จจะทำให้แนวคันกั้นน้ำ "ทั้งหมด" ที่เขาทำ ไม่ว่าจะยาวกี่ร้อยเมตรก็ตามสูญเปล่า ผมแน่ใจว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้ต้องเหนื่อยแน่นอนในการสร้างแนวคันกั้นน้ำ เขาคงไม่อยากให้ความพยายามเหล่านั้นสูญเปล่าแถมยังถูกมองว่าทำงานไม่สำเร็จอีก และในเชิงเศรษฐศาสตร์กระสอบทรายก็ถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีจำกัดในช่วงเวลาแบบนี้ การสูญเสียคันกั้นน้ำจึงเท่ากับว่ากระสอบทรายพวกนั้นจะไม่สามารถเอาไปใช้ที่อื่นใดได้อีกในช่วงนี้ ซึ่งนั้นเป็นเรื่องที่แย่มากๆ
ฝ่ายผู้ประสบภัย ผมมั่นใจว่าการเห็นน้ำท่วมบ้าน เรือกสวนไร่นา โรงงาน ฯลฯ และไม่มีทีท่าว่าจะลดระดับลงย่อมเป็นสิ่งที่เจ็บปวด ยิ่งท่วมยาวนานน้ำก็ยิ่งเน่าเหม็น อาหารก็เริ่มหมด อาการเจ็บป่วยก็เพิ่มขึ้น ความประสงค์ของพวกเขาคือการที่น้ำลดลงเร็วๆ และวิธีที่เห็นว่าง่ายที่สุดคือไปพังคันกั้นน้ำซะ พอน้ำท่วมอีกฝั่งหนึ่งบ้านตัวเองจะได้น้ำลด
อย่างไรก็ตาม ความต้องการอีกอย่างหนึ่งที่อาจจะเฉพาะหน้ามากกว่าด้วยซ้ำก็คือ การได้รับของยังชีพจากทางราชการ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้ แต่พวกเขาอาจจะลืมไปว่าการพังคันกั้นน้ำจะทำให้พื้นที่น้ำท่วมขยายตัวออกไปและมีจำนวนผู้ประสบภัยมากขึ้น ถนนหนทางก็ท่วมมากขึ้น การลำเลียงความช่วยเหลือก็จะลำบากมากขึ้น นั่นไม่เป็นผลดีต่อความต้องการประการหลังของพวกเขา เพราะของยังชีพก็เป็นทรัพยากรที่มีจำกัด การมีจำนวนผู้ประสบภัยมากขึ้นก็ทำให้มีตัวหารมากขึ้น แถมบางทีของบริจาคก็มาจากคนที่อยู่ในโซนแห้งนี่แหละ
ในส่วนของประชาชนทั่วไปผมคิดว่าความต้องการสุดๆ จริงๆ คือการไม่ให้น้ำท่วม และเมื่อเห็นข่าวมีผู้เดือดร้อนในทีวี เขาก็ยินดีบริจาคเงินและของช่วยเหลือ แต่เมื่อน้ำมาประชิดตัวก็อาจลดความช่วยเหลือและหันมาเตรียมช่วยเหลือตัวเองก่อน
บทสรุป
การปฏิบัติของประชาชนที่ประสบภัย ถ้าจะให้ดีที่สุดตามการวิเคราะห์ ผมคิดว่าไม่ควรไปพังคันกั้นน้ำ ส่วนประชาชนทั่วไปควรรีบบริจาคและส่งข้าวของไปให้ผู้ประสบภัยโดยเร็วที่สุด ถ้าทุกคนก้มหน้าก้มตาทำสิ่งที่ถูกที่ควรได้โดยไม่ต้องเลิ่กลั่กคอยระวังนู่นนี่ จะสามารถป้องกันน้ำ-ระบายน้ำ-ให้ความช่วยเหลือได้เร็วและมีประสิทธิภาพที่สุดครับ
วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554
Pricing A Lottery
"ล็อตเตอรี่" จัดได้ว่าเป็นของที่อยู่คู่คนไทยมายาวนาน แม้คนไทยจะไม่ได้เป็นคนที่คิดค้นล็อตเตอรี่ แต่สำหรับบางคนทุกวันที่ 1 และวันที่ 16 ซึ่งเป็นวันออกรางวัล เขาแทบจะนับวันรอเลยทีเดียว ผมเคยไปฝึกงานกับองค์กรรัฐวิสาหกิจที่หนึ่ง ปรากฏว่าทุกวันพี่ๆ เขาจะทำงานกันอย่างขะมักเขม้น ...ยกเว้น "วันหวยออก" ซึ่งจะเปลี่ยนมาขะมักเขม้นอยู่ที่หน้าจอทีวีแทน
ผมอ่านหนังสือที่เขียนโดยคุณสุมาอี้ (นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์) เล่มหนึ่งชื่อ "หลักการพนัน" ซึ่งทราบมาว่าภายหลังเปลียนชื่อเป็น "โอกาสและความน่าจะเป็น" ไปแล้ว เขาบอกไว้ว่าหากเราคิดถึงเรื่องค่าคาดหวัง (expectation) ที่จะได้รับจากสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือล็อตเตอรี่แล้ว เราจะไม่ซื้อมันเลย เพราะกำไรที่คาดหวังจากล็อตเตอรี่แท้จริงแล้วเป็นลบถึง 40% เช่น ถ้าเราจ่ายเงินซื้อล็อตเตอรี่ไป 100 บาททุกงวด ในระยะยาวเราจะได้รางวัลเฉลี่ยเพียงประมาณ 60 บาทเท่านั้น
ความหมายก็คือ เราจ่ายเงิน 100 บาทเพื่อซื้อรางวัลมูลค่า 60 บาทนั่นเอง อ้าว แล้วอีก 40 บาทไปไหนล่ะเนี่ย
งั้นซื้อล็อตเตอรี่ไปทำไม??
คำตอบจากปากของคนที่ซื้อหวย ทั้งหวยรัฐและหวยใต้ดิน เขาบอกว่า "เอาไว้ลุ้นสนุกๆ เผื่อรวย" คีย์เวิร์ดอยู่ที่คำว่า "ลุ้น" นี่เองครับ
ผมเปิดดูในวิกิพีเดียหาคำว่า lottery แล้วได้อะไรที่น่าสนใจครับ ในวิกิฯ บอกไว้ว่า
"The purchase of lottery tickets cannot be accounted for by decision models based on expected value maximization."
นั่นคือเราไม่สามารถอธิบายการซื้อล็อตเตอรี่ได้ด้วยการคิดจากค่าคาดหวัง แต่ต้องไปคิดจากความพึงพอใจของผู้ซื้อ ซึ่งเป็นเพราะว่าคนที่ซื้อมีพฤติกรรมแบบ risk-seeking พูดง่ายๆ ว่าอยากเสี่ยงโชคนั่นเอง
ความแน่นอน vs ความไม่แน่นอน
ความจริงแล้วเป็นเรื่องค่อนข้างน่าประหลาดเหมือนกัน พอเราคิดถึงเรื่องการลงทุน เช่น ซื้อหุ้น ซื้อกองทุนรวม เราเกลียดความไม่แน่นอน (uncertainty) เวลาที่แม่ผมถามว่าซื้อ LTF ไว้ลดภาษีดีมั๊ย ผมมักจะถามย้อนกลับว่า "ถ้าปีหน้าหุ้นขึ้นแล้วได้กำไรหมื่นนึง โอเคมั๊ย" แม่ก็บอกว่าดีสิ แต่พอผมถามใหม่ว่า "ถ้าหุ้นลงแล้วขาดทุนหมื่นนึงล่ะ?" คราวนี้แม่บอกโอ๊ย ไม่เอาหรอก ลงท้ายผมเลยเชียร์ให้ไปซื้อ RMF แทน
ความไม่แน่นอนคนเรามักจะไม่ชอบถ้าเป็นด้านลบ แต่ถ้าเป็นด้านบวกไม่ว่ากัน เรื่องของล็อตเตอรี่ก็คล้ายกันครับ เพียงแต่มันเป็นความแน่นอนในทางลบ คือ ต้องจ่าย 100 บาทก่อนเพื่อเสี่ยงโชค แต่ก็แลกมาด้วยความไม่แน่นอนในด้านบวก คือ "อาจจะรวย" แต่ในคำว่าอาจจะนี่เป็นความน่าจะเป็นหรือ probability ที่ต่ำมากนะ ทว่าคนก็ยังชอบเพราะนั่นคือความหวัง
ถ้าอย่างนั้นผมรู้แล้วครับ สิ่งที่มาอุด 40 บาทที่หายไปก็คือ "ความหวัง" นี่เอง
สำหรับคนจน (หรือแม้กระทั่งชนชั้นกลาง) การเก็บเงินจนกระทั่งร่ำรวยเป็นทางยากของเขา เพราะมันต้องใช้แรงกาย แรงใจ เวลา ต้องอดทนกับความอยากต่างๆ นานา ขณะเดียวกันก็ต้องต่อสู้กับกิเลสมากมาย อยากได้มือถือใหม่ ไอโฟน ไอแพด รถยนต์ ฯลฯ ดังนั้นการรวย "ทางง่าย" ของเขาจึงไปตกอยู่ในความหวังที่ริบหรี่ ...จากไหนน่ะเหรอ ก็จากล็อตเตอรี่หรือหวยนั่นไง
บทสรุป
เงินที่เราจ่ายซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือ ล็อตเตอรี่ ทุกๆ 100 บาท จะกลายไปเป็นเงินรางวัล (ของใคร?) จำนวน 60 บาท และกลายมาเป็นค่าความหวังของเราเอง 40 บาท ซึ่งเรายินดีจ่ายเงินก้อนเล็กนี้หลายๆ ครั้งเพื่อแลกกับความหวังที่หล่อเลี้ยงหัวใจของคนจนว่าสักวันเราจะรวย แต่หลายคนซื้อหวยบนดิน-ใต้ดิน ล่าเลขเด็ดต่างๆ มาจนแก่ตัว แล้วก็ไม่รวยซักที ยกเว้นก็แต่เจ้ามือนะครับ รวยเอา รวยเอา
ราคาล็อตเตอรี่ [100 บาท] = มูลค่ารางวัล [60 บาท] + ความหวังที่จะได้รางวัล 60 บาทที่ว่านั้น [40 บาท]
แล้วตกลงเราซื้อล็อตเตอรี่ทำไมเนี่ย
วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2554
ส่วนลดจากโทรศัพท์มือถือ
ผมใช้บริการโทรศัพท์มือถือค่ายหนึ่ง โปรโมชั่น บริการ รวมทั้งคุณภาพสัญญาณก็ถือว่าโอเคครับ ที่มากกว่าเรื่องของโทรศัพท์ก็คือส่วนลดที่มักจะให้กดดอกจัน (*) ตามด้วยตัวเลขอะไรก็ว่าไป ซึ่งเป็นที่มาของสิ่งที่เราจะมาพูดกัน
จริงๆ แล้วผมแบ่งส่วนลดที่เขาให้มาเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือส่วนลดสินค้าหรือบริการที่ผมใช้เป็นประจำอยู่แล้ว ส่วนประเภทที่สองคือส่วนลดอื่นๆ
ผมมองอย่างนี้ครับ ถ้าเป็นส่วนลดสินค้าหรือบริการที่ผมต้องใช้อยู่แล้ว เช่น โทรฟรีทุกเครือข่าย 30 นาที (ใจดีขนาดนี้ต้องใช้) เล่นอินเตอร์เน็ตไม่จำกัดฟรี 3 วัน เป็นต้น ส่วนลดในลักษณะนี้ไม่มีประเด็นที่ผมจะไม่สมัครเลยครับ ว่าแล้วก็คว้าโทรศัพท์มากดดอกจัน บลา บลา บลา... แล้วกดโทรออก
ประเด็นอยู่ที่ส่วนลดประเภท "out of universe" ไม่เคยอยู่ในหัวของผมเลย เช่น ส่วนลดสมูทตี้ของคุณไก่ วรายศ (นามสมมติ) หรือส่วนลดอ่าวมะพร้าว คลิฟ บีช รีสอร์ท 50% หรือส่วนลดบัตรรวมเครื่องเล่นที่ดรีมมี่เวิลด์ พวกนี้มากกว่าที่ทำให้ผมต้องคิดว่า "เอ๊ จะไปใช้บริการดีมั๊ย?"
ที่จริงแล้วโดนหลอก
เคยมีคนบอกผมว่า "ส่วนลด 20% หรือ 30% จะน่าสนใจตรงไหน ถ้ามันเป็นสิ่งที่เราไม่คิดจะซื้อตั้งแต่ต้นก็เท่ากับได้ส่วนลด 100% อยู่แล้ว" แถมยังสำทับว่าเก็บเงินเอาไว้ซื้อของที่จำเป็นหรือของที่อยากได้จริงๆ จะดีกว่า ...จำใส่หัวไว้แม่นยำจนถึงบัดนี้เลยครับ
ถ้าบังเอิญว่า... ผมเดินไปห้างสรรพสินค้าแล้วเหลือบไปเห็นร้านสมูทตี้ของคุณไก่ วรายศ ทันใดนั้นบังเกิดความหิวน้ำขึ้นมา (อุปาทานมากๆ) กำลังจะเดินเข้าไปสั่งน้ำ ปรากฏว่าหันไปดูราคา โอ้วว แพงมาก จึงตัดสินใจไปสั่งน้ำผลไม้ปั่นจากร้านใกล้ๆ แทน อร่อยเหมือนกันแถมถูกกว่าของคุณไก่ที่หักส่วนลดแล้วอีกต่างหาก
ถ้าบังเอิญว่า... ผมนึกอยากไปเที่ยวทะเลจึงโทรไปหาอ่าวมะพร้าว คลิฟ บีช รีสอร์ท แหม ได้ลดตั้ง 50% พอฟังราคาห้อง จ๊ากก นี่ลดแล้วเหรอ เลยเปลี่ยนใจอยู่บ้านแทน ประหยัดค่าเครื่องบิน ค่าเช่ารถ ค่าอาหาร และค่าโรงแรมไปได้ ปีนี้เก็บเงินไว้ก่อนแล้วค่อยไปเที่ยวสิงคโปร์ปีหน้าซะเลยดีกว่า อันนั้นอยากไปมาตั้งแต่แรกแล้ว
ถ้าบังเอิญว่า... ผมอยู่ว่างๆ เอ้า ย้อนวัยเด็กไปเที่ยวสวนสนุกดีกว่า เลยยกกันไปหมดบ้านไปเที่ยวดรีมมี่เวิล์ด นับไปนับมาเรามีกัน 5 คน บัตรรวมเครื่องเล่นก็คนละ 390 บาทหลังหักส่วนลด ไม่นับค่ากิน ค่าเดินทาง เบ็ดเสร็จแล้วไม่น่าจะต่ำกว่า 3 พันบาท ทั้งที่จริงพวกเราชอบไปเที่ยวอะไรสงบๆ ไปอยุธยา ไปเกาะเกร็ด ฯลฯ
เมื่อลองคิดถึง "ตัวเลือกอื่น" จะเห็นว่าผมมี alternative อื่นๆ อยู่มาก และบางอันก็เข้ากับชีวิตปกติของผมและครอบครัวมากกว่าด้วย
อยู่เฉยๆ คือการหาเงินมาได้
คำหนึ่งที่ผมได้ยินมาคือ "ประหยัด 1 บาท คือหาเงินเพิ่มได้ 1 บาท" แต่สิ่งที่ผมกำลังนำเสนอคือ "หยุดการใช้เงินแย่ๆ 1 บาท คือหาเงินเพิ่มได้ 1 บาท"
เมื่อคนเรามีกิเลสมากมาย ทั้งที่เกิดขึ้นเองในฐานะของปุถุชนคนหนึ่ง และที่เกิดขึ้นจากคนอื่นพยายามยัดเยียดหรือสร้างให้ คนเรามักคิดถึงการ "หาเงินเพิ่ม" มาเป็นอันดับแรก แต่ถามว่าการหารายได้เพิ่ม เช่น หาอาชีพเสริม หรือทำงานนอกเวลางาน กับการลดรายจ่ายอย่างไหนง่ายกว่ากัน คนส่วนมากคิด...แล้วก็ตอบว่าลดรายจ่าย
ประเด็นคือถ้าคุณลดรายจ่ายที่เกิดขึ้นแล้ว (เช่น ค่าอาหารประจำวัน เปลี่ยนจากกินร้านแพงๆ ไปกินร้านธรรมดา) จะประหยัดได้ทางหนึ่ง และถ้าคุณตัดรายจ่ายที่ยังไม่เกิดขึ้น (เช่น ค่าเดินทางไปเที่ยวในสถานที่ที่ไม่เคยคิดอยากจะไป) จะช่วยหยุดการใช้เงินแย่ๆ ได้อีกทางหนึ่ง เบ็ดเสร็จแล้วคุณ "หาเงินเพิ่ม" ได้ถึง 2 ทาง
ลองคิดทบทวนดูนะครับว่าคุณเผลอใช้ "ส่วนลด" พวกนี้ไปบ้างหรือเปล่า
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)