วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

ลงทุนเพื่อกระแสเงินสด


ในสภาวะที่ตลาดหุ้นมีความผันผวนผมเชื่อเหลือเกินว่าหลายๆ คนคงจะอยู่ในสภาพ "ใจสั่น" เวลาที่เห็นราคาหุ้นที่ตัวเองถืออยู่ดิ่งลงอย่างน่าใจหาย ไม่เว้นแม้แต่นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (value investor) หรือที่รู้จักกันในนามของชาว VI

ในมุมมองของ VI หุ้นบางตัวเราคิดแล้วคิดอีกก่อนซื้อ แถมยังซื้อแบบมี margin of safety ซะด้วย แต่ไหงพอตลาดปักหัวลงมันกลับดิ่งตามหน้าตาเฉยได้ล่ะ ตกลงที่เราวิเคราะห์มาก่อนหน้านี้มันถูกต้องจริงๆ หรือเปล่า???

นายตลาดเป็นใหญ่

เรื่องจริงที่นักลงทุนต้องรู้คือ "อย่าเถียงนายตลาด"

ตามแนวคิดของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ตลาดหุ้นคือเพื่อนที่จะโผล่มาเสนอซื้อขายหุ้นกับเราในทุกวัน เขามีชื่อว่า Mr Market (นายตลาด) เรื่องของเรื่องคือเขาจะเป็นคนกำหนดราคา ส่วนเราจะเป็นคนมีสิทธิ์ตอบรับหรือปฏิเสธก็ได้ ดังนั้นเมื่อเข้าใจบทบาทของเขาและของเราแล้ว เราก็อย่าไปเถียงเรื่องราคากับนายตลาด คิดในฝั่งของเราเฉยๆ ก็พอว่าจะซื้อ จะขาย หรือจะอยู่เฉยๆ

มองในมุมใหม่ "ลงทุนเพื่อกระแสเงินสด"

หากว่าในภาวะที่ตลาดกำลังดิ่งลงแล้วเราเทขายหุ้น ฟังดูก็น่าจะโอเค ก็ในเมื่อหุ้นกำลังลงแล้วจะถือหุ้นไว้ทำแป๊ะอะไรจริงมั๊ยครับ แต่ถามจริงๆ เรารู้หรือเปล่าว่า ณ จุดที่เราขายหุ้นมันไม่ใช่ก้นเหว ผมเคยเห็นมานักต่อนักแล้วที่คนเทขายหุ้นด้วยความคิดว่าจะไปรอซื้อกลับที่ก้นเหว แต่กลับกลายเป็นว่าตัวเองนั่นแหละดันไปขายหุ้นตอนมันตกต่ำที่สุด จากนั้นก็ได้แต่นั่งมองหุ้นที่ (เคย) เป็นของเราพุ่งขึ้นๆ จากการที่มีคนช้อนซื้อของดีราคาถูก (ไปจากเรา) หรือแม้เราไม่ได้ขายหุ้นไปที่ก้นเหว แต่พอหุ้นลงต่อเราก็กล้าๆ กลัวๆ ไม่เข้าซื้อซักที จนหุ้นเงยหัวขึ้นมาแล้วก็ยังรีๆ รอๆ จนมันพุ่งผ่านจุดที่เราขายออกไปก็เลยยอมยกธงขาว ปล่อยให้มันลอยผ่านเราไป

ทั้งหมดนี้เป็นเพราะเราพยายามไปมองที่ตัว "ราคาหุ้น" แต่เรื่องจะง่ายกว่านี้อีกมากหากว่าเราพยายามมองไปที่ "กระแสเงินสด"

กระแสเงินสดคืออะไร? กระแสเงินสดที่ออกมาจากหุ้นจริงๆ ก็คือเงินปันผล (ซึ่งเราจับต้องได้เป็นเงินสด) และกระแสเงินสดอีกตัวหนึ่งก็คือผลกำไรที่บริษัททำได้ในแต่ละปีแต่เป็นส่วนที่ไม่ได้จ่ายออกมาเป็นเงินปันผล (เก็บไว้ในบริษัทเป็นกำไรสะสม) หากเรามองที่ตรงนี้แล้วอาการใจสั่นก็จะลดลง

ตัวอย่างการลงทุนของนักลงทุนทั่วไป

สมมติผมมีหุ้นอยู่ตัวหนึ่ง ชื่อหุ้น MKY ผมเห็นว่ามันเป็นบริษัทที่ดีทำผลกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและจ่ายปันผลปีละไม่ต่ำกว่า 80 สตางค์ ขณะที่ราคาหุ้นอยู่ที่ 10 บาท เมื่อคิดเป็นอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลก็จะอยู่ที่ 8% ซึ่งส่วนนี้ไม่เกี่ยวข้องกับสภาพตลาดหุ้น เพราะต่อให้ตลาดหุ้นมันย่ำแย่อย่างไร บริษัทก็ยังเปิดทำการและยังหาเงินได้ พอถึงเวลาจ่ายปันผลก็ยังจ่ายได้ กล่าวได้ว่าผมมั่นใจในกระแสเงินสดส่วนนี้พอสมควรจึงเข้าซื้อไว้ 10,000 หุ้น คิดเป็นเงินลงทุน 10000 x 10 = 1 แสนบาท

ต่อมาตลาดหุ้นตกใจกับปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปทำให้หุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวลงไม่เว้นแม้แต่หุ้น MKY ของผมด้วย ราคาร่วงลงมาอยู่ที่ 9 บาท ถ้าผมพยายามคิดมูลค่าเป็นตัวเงินก็จะพบว่าพอร์ตหุ้นของผมขาดทุนไปแล้ว 1 หมื่นบาท (10,000 หุ้น ขาดทุนหุ้นละ 1 บาท) คิดอย่างนี้แล้วสำหรับคนเบี้ยน้อยหอยน้อยอย่างผมก็ชวนให้ใจสั่นอยู่ไม่น้อย

อย่างไรก็ตามไม่กี่วันต่อมาตลาดหุ้นยิ่งตกใจหนัก ตลาดถล่มลงอีกเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน นำพาให้หุ้น MKY ของผมหล่นลงมาอยู่ที่ 7 บาท เอาล่ะสิ ขาดทุนรวมๆ กันตอนนี้ 3 หมื่นบาทเข้าไปแล้ว (10,000 หุ้น ขาดทุนหุ้นละ 3 บาท) นี่มันนรกชัดๆ ยิ่งคิดยิ่งหม่นหมอง

ตัวอย่างการลงทุนเพื่อกระแสเงินสด

จากตัวอย่างเดิมเพียงแต่คราวนี้ผมลงทุนเพื่อกระแสเงินสด มุมมองของผมจะเปลี่ยนไป ในทีแรกที่หุ้นตกลงมาเหลือ 9 บาทผมจะมองว่า "เฮ้ย จะเป็นไรไป บริษัทก็ยังดีอยู่ เดี๋ยวก็ได้เงินปันผลแล้ว" ผมก็จะยังเย็นใจได้ถึงแม้จะแอบอิจฉาคนอื่นในตลาดอยู่นิดๆ ที่สามารถเข้าซื้อหุ้นแสนดีตัวนี้ได้ที่ราคาต่ำกว่าผม

ครั้นพอหุ้นตกมาเหลือ 7 บาท คราวนี้ผมตาลุกแล้วครับ ถ้าคำนวณกระแสเงินสดจากเงินปันผล 80 สตางค์ เทียบกับเงินลงทุน 7 บาท อ้าว! ได้อัตราผลตอบแทนตั้ง 11.4% นี่หว่า โอ้โห มีความสุขมาก เข้าซื้อเลยที่ราคา 7 บาท และคราวนี้โอกาสดีมากจึงซื้อถึง 20,000 หุ้น (ใช้เงิน 140,000 บาท) ตอนนี้ผมก็มี "เด็กๆ" ในคาถาถึง 30,000 หุ้นที่จะมาช่วยกันสร้างกระแสเงินสดให้ผม โดยแบ่งเป็น

  • ล็อตแรก 10,000 หุ้น สร้างกระแสเงินสดให้ผมในอัตรา 8% (ไม่เลวเลย)

  • ล็อตที่สอง 20,000 หุ้น สร้างกระแสเงินสดให้ผมในอัตรา 11.4% (เยี่ยมยอด)
เมื่อคิดได้ดังนี้แล้วผมควรจะกังวลอะไรล่ะครับ

ลงทุนอย่างไรให้ถูกทาง

พยายามคิดว่าเป้าหมายหลักของเราไม่ใช่การสร้างพอร์ตหุ้นมูลค่าเท่านั้นเท่านี้ แต่เป็นการสร้างกระแสเงินสดมูลค่า...บาทต่างหาก ตรง จุด จุด จุด ผมเว้นไว้ให้แต่ละคนเติมกันเอาเอง สมมติว่าคำนวณจากพอร์ตหุ้นตามตัวอย่างข้างต้นผมจะมีกระแสเงินสดจากเงินปันผลของหุ้นล็อตแรก 10000 x 0.8 = 8,000 บาท และจากหุ้นล็อตที่สอง 20000 x 0.8 = 16,000 บาท รวมแล้วผมจะมีกระแสเงินสด 24,000 บาท และยังไม่นับว่าในอนาคตบริษัทนี้อาจเติบโตและจ่ายเงินปันผลได้มากขึ้นซึ่งก็จะทำให้กระแสเงินสดของผมโตขึ้นกว่านี้อีกด้วย

ไม่ว่าตลาดจะเป็นอย่างไรก็ตาม ขอให้มองมันในฐานะของ "โอกาส" นะครับ สะสมจำนวนหุ้น ลงทุนเพื่อกระแสเงินสดแล้วเราจะไม่หม่นหมองในยามที่ตลาดเป็นขาลงครับ

วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

มือใหม่ป้ายแดง

ข่าวดีสำหรับคนอยากมีรถรวมทั้งคนอยากเปลี่ยนรถก็คือ รัฐบาลได้ออกมาตรการคืนเงินภาษีรถยนต์คันแรกซึ่งจะมีผลตั้งแต่ 16 กันยายน 2554 จนถึง 31 ธันวาคม 2555 คนที่ติดตามอ่านบทความของผมมาคงจะพอเดาได้ว่าไม่ช้าผมก็จะวกเข้าเรื่องหุ้นหรือเรื่องลงทุนอีก แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นผมประชาสัมพันธ์เรื่องหลักเกณฑ์ของมาตรการรถยนต์คันแรกนี้ก่อนดีกว่า

  • ข้อแรกคนซื้อต้องมีอายุ 21 ปีขึ้นไปและไม่เคยเป็นเจ้าของรถยนต์มาก่อน (ถ้าใครมีรถแล้วและอยากเปลี่ยนรถอาจต้องซื้อเป็นชื่อแฟนหรือชื่อพ่อแม่แทนนะครับ)

  • ราคารถต้องไม่เกิน 1 ล้านบาท

  • ถ้าเป็นรถเก๋งต้องมีขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 1,500 ซีซี แต่ถ้าเป็นรถกระบะก็ไม่เป็นไร

  • ต้องเป็นรถใหม่ป้ายแดงที่ผลิตในประเทศไทย
(เรื่องขนาดเครื่องยนต์ก็มีผู้ผลิตหลายรายร้องโวยวายว่าทำไมไม่เป็น 1,600 ซีซีไปเลย เพราะบางค่ายก็ผลิตรถยนต์เริ่มต้นที่ 1,600 ซีซี) ทั้งนี้รัฐจะคืนเงินเท่ากับภาษีสรรพสามิตที่จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 1 แสนบาท ดังนั้นไม่ใช่ว่าทุกคันจะได้คืนภาษี 1 แสนบาทนะครับ และมีเงื่อนไขห้ามผู้ซื้อขายรถก่อนครบ 5 ปีด้วย ในกรณีที่เช่าซื้อหรือผ่อนสถาบันการเงิน เวลาคืนภาษีรัฐเขาจะตีเช็คเป็นชื่อของสถาบันการเงินและจะไปลดยอดหนี้ที่เรามีอยู่ ไม่ได้ส่งเช็คมาให้เราครับ

เมื่อมีมาตรการนี้ออกมาผมเชื่อว่าจะมีหลายคนที่ตัดสินใจซื้อรถหรือเปลี่ยนรถ รถใหม่ป้ายแดงก็คงจะออกมาวิ่งเต็มท้องถนนและรถก็คงจะติดยิ่งขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

นักลงทุนมือใหม่ป้ายแดง

เวลาที่เราซื้อรถป้ายแดงมา ในช่วงแรกเราจะยังไม่สามารถขับแบบอัดความเร็วเต็มๆ ได้ เรียกว่า ระยะรันอิน ซึ่งอาจจะเป็นระยะทางประมาณ 1,000 กิโลเมตรแรก เขาไม่ให้ใช้ความเร็วรอบสูงๆ เพราะเครื่องยนต์จะสึกหรอได้ง่าย ขณะเดียวกันผู้ขับก็ยังไม่รู้ "นิสัย" ของรถว่ามันดื้อหรือมันเชื่องยังไง เข้าโค้งแล้วรถตอบสนองยังไง เอาเป็นว่าเป็นช่วงเวลาที่เรียนรู้กันและกัน

การลงทุนในหุ้นก็คล้ายกัน คนที่เพิ่งเข้ามาในตลาดก็ควรศึกษาทำความคุ้นเคยกับตลาดหุ้นก่อน ไม่ว่าจะเป็นคนที่ต้องการเก็บออมระยะยาวผ่านกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หรือคนที่ซื้อหุ้นเองผ่านโบรกเกอร์ ทุกครั้งที่หุ้นตกผมจะได้ยินคำถามทำนองว่า "วันนี้หุ้นตกเยอะเลย ซื้อ LTF ดีมั๊ย" หรือ "หุ้น TTT ตกลงมาหลายวันแล้ว เข้าซื้อได้หรือยัง"

ปัญหาใหญ่สำหรับมือใหม่เรื่องหุ้นก็คือ ไม่รู้ว่าควรทำอะไร ทำตอนไหน ด้วยจำนวนเงินเท่าไหร่ เราจึงพบอยู่เสมอว่าเมื่อหุ้นตกเพียงเล็กน้อยมือใหม่ก็จะซื้อหุ้น ครั้นแล้วพอหุ้นตกอีกก็ซื้อเพิ่มอีก พอหุ้นตกรอบที่ 3 ก็ไม่ได้ซื้อแล้วเพราะเงินหมด ด้วยเหตุนี้เวลาที่หุ้นมีราคาถูกจริงๆ ก็จะไม่ได้ซื้อ ผิดกับนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (VI) ที่จะกำหนดไว้ในใจก่อนแล้วว่า "ถูกแค่ไหนถึงจะเข้าซื้อ" ถ้าหุ้นตกลงมาไม่ถึงราคาที่เขาหมายตาไว้ก็จะยังไม่ซื้อและยอมรอคอยต่อไป

ทีนี้การที่จะกำหนดได้ว่าหุ้นตัวนั้นๆ ควรจะมีราคาถูกแค่ไหนถึงจะเริ่มน่าสนใจก็ไม่ใช่ของง่าย โดยเฉพาะเมื่อมันเป็นหุ้นตัวใหม่สำหรับเราหรือเมื่อเรายังอยู่ใน "ระยะรันอิน" ของการเป็นนักลงทุน ผมมีคำแนะนำอย่างนี้ครับ

  1. ถ้าเริ่มสนใจหุ้นตัวไหนก็ให้ลองเข้าซื้อดูก่อนด้วยจำนวนน้อยๆ เช่น 100-200 หุ้น ถามว่าทำอย่างนี้ทำไม ผมพบว่าคนส่วนมากจะไม่อดทนพอที่จะติดตามหุ้น (ไม่ว่าจะในแง่ของผลประกอบการหรือราคา) หากว่าเขาบอกตัวเองเพียงแค่ว่า "อุ๊ย! หุ้นตัวนี้น่าสนใจ" แต่ถ้าลงเงินแล้วพวกเขาจะตื่นตัวมากขึ้นเป็นสิบเท่าซึ่งเกิดจากจิตวิทยาล้วนๆ ถึงแม้ว่าการซื้อในจำนวนเท่านี้จะไม่ได้ส่งผลต่อการรวยขึ้นหรือจนลงสักเท่าไหร่ก็ตาม

  2. จดราคาไว้ว่าคุณซื้อหุ้นมาในราคาเท่าไรและผลประกอบการของบริษัทในขณะนั้นเป็นอย่างไร เมื่อเวลาผ่านไปผลประกอบการดีขึ้นจริงตามที่คุณคาดไว้หรือไม่ ถ้ามันดีขึ้นแล้วราคาขยับตามขึ้นมาหรือเปล่า หรือว่าราคามันจะวิ่งไปก่อนหน้าเสมอๆ หรือที่จริงแล้วราคาหุ้นถูกกำหนดโดยการซื้อขายของ "ฝรั่ง" หรือพวกนักลงทุนสถาบัน

  3. ผลประกอบการของบริษัทนี้เป็นสิ่งที่สามารถคาดการณ์ได้หรือเปล่า หรือว่ามันขึ้นอยู่กับทิศทางราคาน้ำมันโลก ค่าเงินบาท ราคาสินค้าเกษตร ฯลฯ ถ้ามันขึ้นกับปัจจัยที่คุณคาดเดาไม่ได้ก็ไม่ควรซื้อหุ้นตัวนี้ต่อ

  4. เมื่อคุณเริ่มมั่นใจแล้วว่าสามารถประมาณการผลประกอบการของบริษัทและเริ่มจับพฤติกรรมราคาหุ้นได้ ตอนนี้คุณก็พร้อมที่จะ "กำหนดในใจ" ได้แล้วว่าหุ้นตัวนี้มีราคาเท่าไหร่ถึงจะน่าสนใจ
จุดตายของพวกมือใหม่ป้ายแดง คือ พวกเขามักจะทุ่มเทสรรพกำลัง (เงินทุน) ลงไปในขณะที่ "โอกาส" ยังมาไม่ถึง ที่จริงแล้วพวกเขามีความมั่นใจอาจจะเพราะเพิ่งไปสัมมนาหรือเรียนอะไรใหม่ๆ มาแล้วก็คิดว่ามันเจ๋งมาก แต่นี่เป็นการคอนเฟิร์มเลยว่าเขายังเป็นมือใหม่จริงๆ ถึงแม้บางรายจะอยู่ในตลาดมาแล้ว 6-7 ปี แต่ก็ยังคงเป็นมือใหม่อยู่นั่นเอง

ผมขอยกตัวอย่างมือพระกาฬอย่าง จอร์จ โซรอส นะครับ ทุกครั้งที่ลงทุนโซรอสจะ "ทดลองตลาด" ด้วยเงินน้อยๆ ก่อนเสมอเพื่อทดสอบว่าแนวคิดของเขาถูกต้องหรือไม่ หากว่ามันไม่เวิร์ก เขาจะ cut loss และออกทันทีโดยไม่ลังเล แต่เมื่อพบว่าตลาดเคลื่อนไปในทิศทางตามที่เขาคาดการณ์เขาถึงจะทุ่มเงินก้อนใหญ่ลงไป ผมไม่ได้บอกว่าให้ VI ทำเลียนแบบโซรอส แต่ขอให้สังเกตวิธีที่เขาบริหารความเสี่ยงและลองเทียบกับคำแนะนำที่ผมให้ไว้ข้างต้น

VI เก่งๆ ที่มีประสบการณ์จะศึกษาหุ้นมาแล้วเป็นอย่างดีก่อนที่จะลงเงินไปในตลาด แต่สำหรับมือใหม่ป้ายแดงที่ยังอยู่ในระยะรันอินถ้ายังไม่แน่ใจว่าจะมีวินัยพอที่จะติดตามศึกษาหุ้นและตัวบริษัทอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด จะลองทดสอบตลาดตามอย่างที่ผมบอกก่อนก็เป็นความคิดที่ดีนะครับ

วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

ไม่ขายไม่ขาดทุน


ความเข้าใจผิดๆ ที่เกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นมีอยู่เยอะมาก แต่ที่ได้ยินบ่อยที่สุดก็คือ "ไม่ขายไม่ขาดทุน" ไม่เว้นแม้กระทั่งมือเก่า (แมงเม่ามือเก่า)

จริงหรือที่บอกว่าเมื่อหุ้นตกแล้วเราไม่ขายก็จะไม่ขาดทุน?

ต้องถามก่อนว่านิยามคำว่า "ขาดทุน" ไว้ว่าอย่างไรครับ ถ้าเริ่มต้นคุณมีเงินสด 3 แสนบาท เอามาซื้อหุ้น TCOP จำนวน 10,000 หุ้น ที่ราคาหุ้นละ 30 บาท ครั้นพอหุ้นตกมาอยู่ที่ 20 บาท มูลค่าหุ้นของคุณลดลงเหลือเพียง 2 แสนบาท คุณก็ลังเลอยู่ว่าจะขายทิ้งดีไหม แต่เพื่อนคุณก็บอกว่าอย่าเพิ่งขาย ไม่ขายไม่ขาดทุนหรอก

หากคุณตีมันเป็นจำนวนหุ้น ตอนนี้คุณยังไม่ขาดทุนหรอกครับ 10,000 หุ้นก็ยังคงอยู่ดีเหมือนเดิม แต่ถ้าคุณตีมันเป็นเงิน ตอนนี้ 3 แสนบาทของคุณลดลงเหลือแค่ 2 แสนบาท ไปถามเด็กประถมเขาก็ต้องบอกว่าขาดทุนครับ

เจาะลึกคำว่าขาดทุน

"ขาดทุน" = "ขาด" + "ทุน"

หมายถึง น้อยกว่าราคาทุน ดังนั้นมันเป็นการเปรียบเทียบระหว่าง...(อะไรบางอย่าง)...กับราคาทุน ราคาทุนหรือราคาหุ้นตอนที่ซื้อมานั้นง่ายที่จะเข้าใจ แต่เจ้าอะไรบางอย่างนี่สิยากกว่า ผมขออธิบายเรื่องนายตลาดก่อนก็แล้วกัน

นายตลาด... คนคนเดียวที่จะซื้อหุ้นจากเรา

วอร์เรน บัฟเฟตต์ สมมติการลงทุนในตลาดหุ้นว่าเหมือนการทำธุรกิจกับ "Mr Market" หรือนายตลาด ซึ่งในทุกวันนายคนนี้จะเอาธุรกิจในส่วนของเขา (หุ้น) มาเสนอขายให้กับเรา หากเราไม่ซื้อเขาก็ไม่ว่าอะไร หรือถ้าเราจะขายธุรกิจในส่วนของเราให้กับนายตลาดเสียก็ได้ เขาก็ยินดีรับซื้อเช่นกัน และเขาจะมาหาเราในทุกๆ วัน ไม่ว่าเราจะสนใจเขาหรือไม่ก็ตาม

พูดถึงราคาที่นายตลาดเสนอซื้อและขาย บางวันนายตลาดอารมณ์ดี ฝันเฟื่องไปว่าธุรกิจดีมาก จึงมาเสนอซื้อเสนอขายในราคาที่สูงลิบ ขณะที่บางวันนายตลาดอารมณ์เศร้าหมอง คิดกลัวไปต่างๆ ว่าธุรกิจจะไปไม่รอด จึงเสนอซื้อเสนอขายในราคาแบกะดิน

ขาดทุนหรือ? ไปถามนายตลาดสิ

นายตลาดเป็นคนคนเดียวที่จะซื้อหุ้นจากเรา ดังนั้นไม่ว่าเราจะเกลียดราคาที่เขาเสนอแค่ไหน ถ้าอยากขายเราก็ต้องตัดใจขายให้เขาไป ผมจึงมองว่า "เรา" ไม่ใช่คนกำหนดว่าจะขายหุ้นได้ในราคาเท่าไหร่ นายตลาดต่างหากที่เป็นคนกำหนด สิ่งที่เรากำหนดได้คือว่าจะขายหรือไม่เท่านั้น

และเมื่อไหร่ที่เราจะคิด "กำไร-ขาดทุน" นั่นคือ คิดถึงตอนซื้อและตอนขาย แม้ยังไม่ขายจริงก็ต้องคิดเสมือนว่าจะขายจริง คำว่า "ไม่ขายไม่ขาดทุน" จึงเป็นการเชื่อมสองคำที่ไม่ได้ไปด้วยกัน (เมื่อคิดถึงการ "ขาดทุนหรือไม่ขาดทุน" ต้องมาพร้อมกับคำว่า "ขาย")

การบอกว่าไม่ขายไม่ขาดทุนจึงเป็นได้แค่การหลอกตัวเอง ความจริงผมคิดว่าการขาดทุนหรือกำไรได้เริ่มเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ตอนที่เราซื้อ สุดแต่ว่าเราอยากจะรับรู้มันหรือไม่ หากใครต้องการเป็นนักลงทุนมืออาชีพต้องรู้จักยอมรับการขาดทุนให้ได้ แต่ต้องเป็นการขาดทุนตามแผนที่วางไว้เท่านั้น และอย่าเทรดนอกแผนหรือเทรดโดยไม่มีการวางแผนครับ

วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

ทวิภพ











ปกติผมไม่ใช่คนที่ชอบดูละคร อาจจะดูบ้างบางเรื่องแต่คงต้องบอกว่าไม่ถึงกับติดชนิดว่ารีบกลับบ้านเพื่อมาดูในทีวีให้ทัน เรียกว่าทันดูก็ดู ไม่ทันก็ไม่ดู และไม่เปิด YouTube เพื่อดูย้อนหลังด้วย เรื่องล่าสุดที่ดูก็คือ “ทวิภพ” ซึ่งจะว่าไปก็ทำเป็นละครหลายรอบแล้ว ทั้งละครทีวีหลังข่าว ละครเพลง และยังเคยเอาไปทำเป็นภาพยนตร์แล้วด้วยซ้ำ


ล่าสุดที่ออกอากาศอยู่ทางช่อง 7 นำแสดงโดยแพนเค้ก เขมนิจ (แสดงเป็นมณีจันทร์หรือแม่มณี) และอ๋อม อรรคพันธ์ (แสดงเป็นหลวงอัครเทพวรากรหรือหลวงเทพ) เนื้อเรื่องยังคงเดิมแต่บทโทรทัศน์ก็มีเปลี่ยนไปตามยุคสมัยบ้าง แต่ฉากหนึ่งที่ทำให้ผมสะดุดใจและเอามาเทียบกับการลงทุนก็คือฉากที่ “แม่มณี” ซึ่งทะลุข้ามกระจกเงาไปโผล่ในยุครัชกาลที่ 5 กำลังโดนคุณหญิงสรเดช เพื่อนสนิทของแม่หลวงเทพ สั่งสอนให้มีกิริยามารยาทสมกับเป็นกุลสตรี


ในละครคุณหญิงสรเดชบอกให้แม่มณีเดินช้าๆ และอย่าเดินลงส้นเท้า ขณะที่แม่มณีเองก็งุ่นง่านบอกว่าเดินช้ามันไม่ทันอย่างที่ใจคิด คือ สมองคิดไปไกลแล้วแต่ต้องมาเดินเนิบนาบ ทำอะไรก็ไม่ทันใจ พานจะเป็นลมซะงั้น


สิ่งสิ่งเดียวกันแต่คนสองคนมองไม่เหมือนกัน


คนหนึ่งเกิดในยุคสมัยเราเห็นว่าการเดินช้าเคลื่อนไหวช้าไม่ทันกิน คนสมัยนี้ต้องว่องไว multitasking แล้ว วิธีไม่สำคัญเท่าผลลัพธ์ ทำอย่างไรก็ได้ขอให้ได้งานก็แล้วกัน ส่วนคนที่เกิดในยุค ร.๕ ก็บอกว่าใครๆ เขาก็เดินกันแบบนี้ เดินช้ามีสติ ทำอะไรก็มีเวลาคิดไม่ทำผิดพลาด


สังเกตว่าทั้งสองคนต่างมี “biasness” ที่โน้มเข้าหาแนวทางที่ตัวเองคุ้นเคย ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่เรื่องการเดิน การพูด แต่ในเรื่องการลงทุนเองก็เป็นอย่างนี้เช่นเดียวกัน


ผมรู้จักกับนักลงทุนคนหนึ่งที่ลงทุนในแนว “แมงเม่าสามัญ” เขาบอกว่าหนทางเดียวที่จะทำกำไรจากตลาดหุ้นคือการมี insider หรือรู้ข่าววงใน เราต้องรู้ให้เร็วกว่าคนอื่นและอย่าโลภ เมื่อไหร่ที่ได้กำไรแล้วต้องรีบออกทันที ผมเองเชื่อว่านักเล่นหุ้นจำนวนมากก็มีความคิดเช่นนี้ ในเมื่อคนที่พวกเขารู้จักต่างทำกำไรได้จากแนวทางนี้แล้วมันจะเป็นอย่างอื่นไปได้อย่างไร


ขณะเดียวกันผมรู้จักนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าหรือ value investment (VI) ที่รอจังหวะซื้อหุ้นในราคาถูก บางครั้งเขาไม่ซื้อหุ้นเลยเป็นเวลาหลายปีเพื่อรอให้ตลาดเกิดภาวะตกต่ำจนนักเล่นหุ้นส่วนมากยอม “สารภาพบาป” และขายหุ้นออกมาทุกราคา เพียงเพื่อที่จะล้างพอร์ตเอาตัวเองออกมาจากตลาดแล้วถือเงินสด(จำนวนน้อยนิดเท่าที่ยังเหลืออยู่)ไว้ หุ้นที่นักลงทุน VI คนนี้ถือจึงมีต้นทุนต่ำมาก จวบจนเมื่อตลาดฟื้นกลับมาเขาก็ทำกำไรได้มหาศาลเพราะเขาเข้าซื้อโดยมีส่วนต่างเพื่อความปลอดภัยหรือ margin of safety นักลงทุนคนนี้เองก็เชื่อว่านี่เป็นแนวทางที่เยี่ยมยอด


ทั้งสองคนเคยเห็นและอาจจะเคยได้กำไรมหาศาลจากแนวทางที่ตัวเองเชื่อมั่น ต่างคนต่างมีความเอนเอียงที่จะสนับสนุนแนวทางที่ตนเองเชื่อ


ทุกสิ่งจะเป็นอย่างที่มันเป็น ไม่ว่าคุณจะเชื่ออย่างไร


ความเอนเอียง (biasness) ของเราไม่ช่วยอะไร หากเรามีประสบการณ์เลวร้ายจากตลาดหุ้น ไม่ว่าจะเคย “เจ๊งหุ้น” ด้วยตัวเอง มีเพื่อนขาดทุนย่อยยับจากหุ้นเล่าให้ฟัง หรือได้ยินข่าวคนโดดตึกเพราะเล่นหุ้นแล้วหมดตัว ความเชื่อความคิดเหล่านั้นไม่ได้มีผลอะไรต่อหุ้นหรือบริษัทเลย ถ้าบริษัทดำเนินกิจการดีก็ย่อมมีกำไรและจะสะท้อนไปในราคาหุ้นไม่ช้าก็เร็ว


ความสำเร็จในตลาดหุ้นจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าเราเอนเอียงไปทางไหน แต่อยู่ที่ว่าเราเข้าใจโลกความจริงหรือไม่ หากเราสามารถจำแนกบริษัทดีๆ ออกจากบริษัทปานกลางหรือแย่ และซื้อหุ้นของมันได้ในราคาที่ไม่แพงโดยไม่หวั่นไหวไปกับคำพูดของ “กูรู” เก๊ๆ รายใดที่พยายามจะบอกเล่า biasness ของตนเองและชักจูงให้เราเชื่อตามไปด้วย แน่นอนว่าเราจะกระโดดขึ้นมาเป็นนักลงทุนแถวหน้าได้อย่างแน่นอน


ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่การตัด biasness ออก ไม่ว่าจะเป็นของเราหรือของใคร และลงทุนจากสิ่งที่เป็นจริง ผมจึงเน้นเสมอถึงปรัชญาการลงทุน (investment philosophy) ซึ่งจะสะท้อนสิ่งที่เป็นจริงออกมา และเมื่อเราลงทุนตามปรัชญาอย่างเคร่งครัดก็จะประสบความสำเร็จ


บทสรุป Antonio's นักลงทุนไม่ได้ต่างไปจากแม่มณีและคุณหญิงสรเดช ซึ่งต่างคนต่างมองคนละด้านและต่างก็พยายามมองจากมุมที่ตนเองเชื่อ จึงไม่มีใครมองเห็นในมุมของอีกฝ่ายหนึ่ง ความเอนเอียงที่เกิดขึ้นไม่ได้ช่วยให้อีกฝ่ายหนึ่งเข้าใจเราแต่อย่างใด และเมื่อไหร่ที่ทั้งสองฝ่าย “เห็น” อย่างที่มัน “เป็น” ทั้งสองฝ่ายก็จะเห็นในสิ่งเดียวกัน เช่นเดียวกับนักลงทุนหลายกลุ่มที่เชื่อมั่นไปคนละทิศละทางสุดแต่ biasness ของตน แต่ว่าตลาด(หรือหุ้น)มีเพียงทิศเดียวที่มันจะมุ่งไป และนั่นคือความเป็นจริง

วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

เม็ดบัวไข่ 1

ได้ฟังชื่อก็อยากกินซะแล้ว... ใครที่เป็นลูกหลานคนจีน ผมเชื่อว่าน่าจะมีโอกาสได้กินขนมไหว้พระจันทร์ หรือบางทีคนไทยเองไม่ได้ไหว้แต่ก็ซื้อมากินเหมือนกัน


สมัยเด็กๆ แม่ผมจะซื้อขนมไหว้พระจันทร์มาให้ทานอยู่เสมอ แต่ก่อนนั้นไม่ได้มีไส้ให้เลือกมากเหมือนกับสมัยนี้ หลักๆ ก็จะเป็นไส้เม็ดบัว ไส้โหงวยิ้ง หรือไส้ทุเรียน ซึ่งอาจจะมีไข่หรือไม่มีไข่ก็ตาม แต่ปัจจุบันนี้มีไส้แปลกๆ โผล่มาเยอะแยะ เช่น ไส้แปดเซียน ไส้ชาเขียว ไส้แคลิฟอร์เนีย ฯลฯ แต่ว่ากันตามตรงผมคิดว่าอร่อยที่สุดน่าจะเป็นตัวพื้นๆ อย่างไส้เม็ดบัวนี่แหละ


โดยปกติแม่จะซื้อขนมไหว้พระจันทร์เจ้าอร่อยไส้เม็ดบัวไข่ 1 มาให้ผม แต่ไม่ว่าจะไส้อะไรก็ตามที คนที่กินจะทราบดีว่าถ้าเป็นแบบไข่ 1 บางทีไข่แดงมันไม่อยู่ตรงกลาง ผ่าแล้วบางชิ้นบางเสี้ยวไม่เจอไข่ ขณะที่บางชิ้นไข่เยอะแยะเคยมีอยู่ครั้งหนึ่งไม่ทราบว่านึกอยากจะลองหรือเผลอยังไงแม่ซื้อเม็ดบัว "ไข่ 2" มาให้ ก็นึกดีใจว่าคราวนี้ผ่ายังไงก็ต้องเจอไข่แดงแน่ๆ ปรากฏว่าผ่าแล้วเจอไข่จริงๆ ครับ แต่กลายเป็นว่าบางชิ้นมีแต่ไข่แดงเบียดจนเนื้อขนมไหว้พระจันทร์เหลือนิดเดียว กินแล้วก็ไม่ค่อยสมดุล รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนเอาใจยากเหมือนกัน คนซื้อเองก็บ่นว่าไข่เยอะเกินไป ไม่อร่อย



ในทางกลับกันบางคราวพวกไข่ 1 ไข่ 2 เกิดหมดก็ต้องซื้อขนมไหว้พระจันทร์แบบไม่มีไข่ ...มันก็ไม่อร่อยอีกแหละ รู้สึกโล้นๆ ฝืดคอ กลายเป็นว่าไม่มีความพอดี หลังๆ จึงแทบจะเป็นกฎเหล็กว่าถ้าจะซื้อต้องเป็น "เม็ดบัวไข่ 1" เท่านั้น



ผมนึกดูแล้วก็เอาไปเปรียบเทียบกับการลงทุนในหุ้นครับ หลายคนชอบเล่นหุ้นแบบลุ้นใจหายใจคว่ำ บางคราวก็กระโดดเกาะรถไฟด้วยกลัวว่าจะตกขบวน แต่ก็ใจสู้นะครับ ไปผิดทางก็ไม่มีถอย ไม่มีการ cut loss หุ้นขึ้นก็ดีใจได้ความสนุกสนานไป ผมมองว่านี่คือ "ไข่แดง" ที่อยู่ในขนมไหว้พระจันทร์ ครับ



เนื้อขนมไหว้พระจันทร์คือผลตอบแทนจากการลงทุน ส่วนไข่แดงก็คือ ความสนุกที่ได้จากการลุ้นในระยะสั้น



ไข่แดงมากก็เบียดเนื้อขนม ไข่แดงน้อยก็ไม่อร่อย



เรารู้อยู่แล้วว่าการลงทุนแนวน่าเบื่อๆ แบบเน้นคุณค่าหรือ value investment (VI) ทำให้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ กลายเป็นนักลงทุนที่รวยที่สุดในโลก และทำให้ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กลายเป็น idol ของนักลงทุนรุ่นใหม่หลายต่อหลายคน แต่คนส่วนมากก็ไม่อยากกินขนมไหว้พระจันทร์โล้นๆ ที่ไม่มีไข่ (ลงทุนให้รวย แต่อดสนุกเพราะไม่ได้ลุ้นหุ้นรายวัน) บางคนอดทนรอไม่ได้ พอเห็นหุ้นขยับก็อยากจะขยับตัวตาม ทั้งที่รู้ว่าเป็น VI ต้องอดทนรอแต่ใจมันรอไม่ไหว



ในเมื่อมันทนไม่ไหวก็ขออัดเต็มๆ ซื้อขายหุ้นแทบทุกวัน เผลอๆ ซื้อเช้าขายเย็นด้วยซ้ำ เก็งถูกบ้างผิดบ้างแต่ขอให้ได้ลุ้น ถ้าเป็นขนมไหว้พระจันทร์ผมยกให้เป็นเม็ดบัวไข่ 2 เลย ผ่าออกมาหาเนื้อขนมไม่ค่อยเจอ (ผลตอบแทนแย่เพราะเก็งผิดทางบ้าง ไม่ยอม cut loss บ้าง เสียไปกับค่าคอมมิชชั่นบ้าง) คิดว่าไข่เยอะแล้วจะอร่อย แต่ออกมาไม่อร่อยครับ เพราะไม่มีผลตอบแทนให้กิน



ผมเองก็เลยคิดว่าเดินสายกลางก็น่าจะไม่เลวสำหรับคนที่ไม่ชอบอดทนรอนานๆ ก็วิเคราะห์และซื้อหุ้นตามแนวทางของ VI เพียงแต่เหลือเงินติดตัวไว้บ้าง เผื่อหุ้นลงจะได้ซื้อเพิ่มอีก และเมื่อหุ้นขึ้นได้ระยะหนึ่งก็ขายทำกำไรออกมาบ้าง นัยว่าเอามาลดต้นทุนของหุ้นในส่วนที่ยังไม่ขาย



แนวคิดนี้อาจไม่เหมือนกับแนวคิดแบบ "ตีแตก" ของ ดร.นิเวศน์ ที่ให้อดทนรอจนได้จังหวะแล้วก็ซัดให้เต็มแรง แต่แนวคิดนี้ช่วยประนีประนอมระหว่างผลตอบแทนและความสนุก เพราะถ้าเป็นคนชอบความสนุก ชอบการเคลื่อนไหวลงทุนแล้วเกิดเบื่อก็จะเลิกไปเสียก่อน ก็แนะนำให้กิน "เม็ดบัวไข่ 1" นี่แหละ แต่ถ้าใครไม่ห่วงเรื่องสนุกก็ยินดีด้วยครับ คุณเยี่ยมมาก



อ้อ ในภาพประกอบเป็นขนมไหว้พระจันทร์ของ S&P นะครับ คนละเจ้ากับที่แม่ผมซื้อให้กินสมัยก่อน แต่ก็อร่อยเหมือนกัน