วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554

ผ่อน 0% ดีหรือเปล่า


เดี๋ยวนี้เวลาเราไปซื้อของตามห้างสรรพสินค้าหรือโมเดิร์นเทรด พวกคาร์ฟูร์ โลตัส บิ๊กซี เรามักจะพบข้อเสนอให้เราผ่อน 0%

ตัวอย่างเช่น ผมเดินเข้าไปดูตู้เย็นยี่ห้อหนึ่ง ติดป้ายราคาไว้ 12,990 บาท แต่ถ้าผมผ่อน 0% เป็นเวลา 6 เดือน จะต้องผ่อนเดือนละ 2,165 บาท ด้วยความละเอียดของผมเลยเปิดเครื่องคิดเลขในโทรศัพท์มือถือคำนวณดู เออ ใช่จริงๆ ด้วย ทีนี้ผมต้องมาคิดเอาว่าจะผ่อนดีหรือจ่ายสดดี

ผ่อน 0% แล้วห้างได้อะไร

โดยมากห้างจะจับมือร่วมกับสถาบันการเงิน ซึ่งอาจจะเป็น bank หรือ non-bank ก็ตามที หากว่าเป็นการผ่อนมีดอกเบี้ย สถาบันการเงินจะเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อโดยมีห้างเป็นคนออกหน้า สถาบันการเงินจะได้ดอกเบี้ยไปแล้วก็แบ่งสรรผลประโยชน์กับห้างอีกที อันนี้ตรงไปตรงมา แต่ในกรณี 0% เราๆ ท่านๆ อาจจะงงกันนิดหน่อยว่าแล้วแบงก์กับห้างจะได้อะไร

เฉลยก็คือ การผ่อน 0% มักจะเป็นแรงจูงใจให้เกิดการซื้อได้ง่ายขึ้น นั่นเป็นผลดีต่อยอดขายของห้างแบบตรงๆ เลย ในขณะเดียวกันการผ่อน 0% เป็นการการันตีว่าผมจะมียอดใช้จ่ายไปกับบัตรเครดิตใบนั้นไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งประโยชน์ของการที่บัตร "active" นั้นมีมาก ผมอาจจะถือมันไปจ่ายที่ไปรษณีย์หรือเคาน์เตอร์ธนาคาร และบางทีระหว่างทางผมยังอาจรูดซื้อของใช้อื่นๆ หรือพกติดตัวไปทานข้าวนอกบ้านอีกด้วย

แล้วเราควรผ่อน 0% หรือเปล่า

มีสองแนวคิดที่ตรงข้ามกัน แนวคิดแรกเป็นแนวคิดแบบนักการเงินที่ใช้เหตุใช้ผล (rational financier) เขาบอกว่าการผ่อน 0% เป็นการประวิงเวลาจ่ายเงินของเราออกไป ซึ่งเมื่อคิดถึงเงินเฟ้อแล้ว การจ่ายเงินให้ช้าลงและเอาเงินไปลงทุนหรือฝากแบงก์กินดอกเบี้ยไปก่อน ก็คือการได้กำไรดีๆ นี่เอง แล้วจะ(โง่)จ่ายสดไปทำไม

อีกแนวคิดหนึ่งเป็นแนวคิดที่ก้าวข้ามจาก financier (นักการเงิน) ไปเป็น financial psychologist (นักจิตวิทยาการเงิน) คือ ยอมรับว่าการจ่ายสดอาจจะเสียเปรียบในแง่ของกำไร-ขาดทุนจริง แต่การจ่ายสดก็เป็นการสร้างวินัยการเงินที่ดีและทำให้เรารู้ตัวว่าเงินที่เรามี "จริงๆ" นั้นมันเป็นเท่าไหร่ คนพวกนี้ไม่ชอบความรู้สึกที่เหมือนมีผีหนี้คอยติดตามอยู่ทุกเดือนๆ และก็ยังแย้งด้วยว่าการผ่อน 0% จะทำให้เราไม่ค่อยรู้สึกว่าเราได้จับจ่ายเงินออกไปมากแล้ว

ผมเองสนับสนุนแนวคิดที่สอง เพราะผมคิดว่าดอกเบี้ยเงินฝากปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำมาก กำไรจากการประวิงเวลาจ่ายเงินคงไม่มากมายอะไร ที่สำคัญคือการไม่รู้สึกตัวนั้นเป็นกับดักชั้นดี ที่จะทำให้เราควักเงินซื้อ item ใหญ่ๆ ติดกันหลายเดือน แล้วลงท้ายด้วยการจมหนี้จนต้องผ่อนบัตรเครดิตขั้นต่ำ 10% ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายกับกระเป๋าของเราเป็นอย่างมาก เพราะดอกเบี้ยบัตรเครดิตมันแพง ...แต่ว่าธนาคารชอบครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น