วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2554

ดอกเบี้ยขึ้น ...แล้วไง?


ในสัปดาห์ที่ผ่านมา แวดวงคนซื้อบ้าน-คนซื้อหุ้น-คนเกษียณคงปั่นป่วนกันพอสมควร เหตุเกิดจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งเป็นผู้กำหนดดอกเบี้ยนโยบายได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบหนึ่ง ผมจะเล่าก่อนว่าคน 2-3 กลุ่มที่ว่านั้นได้รับผลอย่างไร แล้วค่อยเล่าเกี่ยวกับ กนง. ตบท้ายอีกที

ทำไมคนซื้อบ้านถึงได้รับผลกระทบ

เชื่อว่าไม่ต่ำกว่า 90% ของคนที่ซื้อบ้านกู้ยืมเงินมาซื้อ จากนั้นก็จดจำนองและผ่อนกับแบงก์ต่ออีก 20-30 ปี การปรับขึ้นดอกเบี้ย 1% จะมีผลทำให้ผู้ที่กู้ยืมใหม่ต้องจ่ายเงินค่างวดเพิ่มขึ้นประมาณ 7-8%

ทั้งนี้แบงก์เขาจะคำนวณเงินงวดผ่อนบ้านตอนที่เราขอกู้ครั้งเดียว คำนวณได้ค่างวดเท่าไหร่ก็ผ่อนไปตามนั้นตลอดอายุสัญญา ดังนั้นหากเราดันไปกู้ตอนที่ดอกเบี้ยแพงก็เท่ากับว่าต้องผ่อนแพงขึ้นบางทีอาจจะเดือนละหลายพันบาทไปตลอด 30 ปี Oh.. No!

ถามว่าถ้าเรากู้ไปแล้วแบงก์ค่อยมาปรับดอกเบี้ยในภายหลังจะเป็นอย่างไร คำตอบคือเราก็จ่ายค่างวดเท่าเดิมครับ เพียงแต่จะหมดหนี้ช้าลงไปบ้าง

แล้วคนซื้อหุ้นได้รับผลกระทบอย่างไร

โดยหลักแล้วการขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้บริษัทมีต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น จากมุมมองนี้หุ้นน่าจะตก แต่ในตลาดหุ้นเมืองไทยซึ่งหุ้นแบงก์เป็นตัวนำตลาดตัวหนึ่ง การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะมีผลทำให้แบงก์ได้กำไรมากขึ้นเลยพลอยทำให้หุ้นแบงก์เฟื่องฟูและก็ดึงดัชนีขึ้น เป็นงั้นไป

หลายคนอาจจะงงว่าการขึ้นดอกเบี้ยทำให้แบงก์ได้กำไรได้อย่างไร โดยธรรมชาติแบงก์เขาจะเล่นกลเล็กน้อยครับ คือ แบงก์เขาจะขึ้นเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากประจำก่อน ซึ่งถือเป็นการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต เพราะกว่าคนที่ฝากประจำจะได้ดอกเบี้ยชุดใหม่ก็ต้องรอให้ครบเทอมเสียก่อน ขณะที่แบงก์ปล่อยกู้นั้นเป็นอัตราลอยตัว การปรับขึ้นมีผลทันที อย่างนี้แบงก์จะไม่ได้เปรียบได้ยังไง

คนเกษียณยิ้มร่า

สืบเนื่องจากผู้เกษียณอายุบ้านเราไม่ค่อยรู้วิธีลงทุนหาดอกผล พอได้เงินเกษียณมาก็เลยเอาไปฝากธนาคารหมด พอดอกเบี้ยขึ้นก็เลยเฮเป็นธรรมดา ตรงกันข้ามกับในยามที่เงินเฟ้อสูงขึ้นครับ เพราะในยามนั้นคนเกษียณมีรายได้คงที่แต่ข้าวของแพงขึ้น ก็จะเปลี่ยนจากหน้ายิ้มเป็นหน้าบูดแทน

กนง. และอัตราดอกเบี้ย

กนง. เป็นคณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้ว่าการและรองผู้ว่าการแบงก์ชาติ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่าน จะประชุมกันทุก 6 สัปดาห์เพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ความจริงอัตราดอกเบี้ยนั้นแบงก์ต่างๆ เป็นผู้กำหนดเอง แต่ก็มักจะปรับขึ้นลงตามดอกเบี้ยนโยบายเหมือนกัน แต่อาจจะไม่ตรงกันหมด เช่น ดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้น 0.5% แบงก์อาจจะปรับขึ้นเพียง 0.25% เป็นต้น มีบ้างเหมือนกันที่ กนง. ปรับดอกเบี้ยแล้วแบงก์พาณิชย์ไม่ยอมปรับตาม ก็จะมีการกดดันแบบลับๆ หรือไม่ก็เรียกมาคุยเลย ส่วนมากเขาจะเรียกแบงก์ใหญ่พวกหัวโจกมาคุย ถ้าแบงก์ใหญ่ขยับ แบงก์เล็กก็จะขยับตามเองครับ

มีข้อสังเกตว่าการปรับดอกเบี้ยนั้นมักจะปรับเป็นชุดๆ เช่น ประชุมคราวนี้ปรับขึ้น 0.5% ประชุมคราวหน้าก็ปรับอีก 0.5% ปรับกันไปต่อเนื่องจนพอใจก็จะหยุด คือขึ้นเป็นชุดๆ และลงเป็นชุดๆ แต่เป้าหมายก็เพื่อให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบที่วางไว้นั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น