วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2554

โมเดลวิธีการเรียนเก่ง


ความจริงผมคิดอยู่เหมือนกันว่าจะอ้างกับผู้อ่านว่าอย่างไร เพราะคิดว่าผมเองก็ไม่ได้เรียนเก่งขนาดที่จะมาสอนคนอื่นได้ว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ก็มีวิชาพอที่จะเอาตัวรอดจากคนเก่งๆ ได้ คือ ไม่โดนพวกหัวกะทิทับตายตอนสอบ final จึงคิดว่าอย่างน้อยน่าจะพอมีประสบการณ์และแนวคิดมาแชร์กัน

เท่าที่ผมสังเกตดูคนที่เรียนเก่งมีอยู่ 2 มิติ ได้แก่ พวกขยันจนฉลาด กับพวกฉลาดจนไม่ต้องขยัน

ผมบอกว่า 2 มิติ แทนที่จะบอกว่า 2 พวก เพราะว่าบางทีผมก็เจอคนที่ฉลาดแล้วดันขยันด้วย การที่เราแบ่งเป็น 2 มิตินี้ทำให้เราสามารถแบ่งคนออกได้เป็น 4 พวก
  1. คนที่เกิดมาฉลาด ก็เลยขี้เกียจ เพราะเห็นว่าขี้เกียจแล้วก็ยังเรียนได้ดี - สมัยมัธยมผมมีเพื่อนแบบนี้อยู่มาก ไม่เห็นว่ามันจะนั่งท่องตำราอะไร ตอนอาจารย์สอนก็ฟังบ้างไม่ฟังบ้าง ตกเย็นก็ไปเล่นบาสเล่นบอล ใกล้สอบก็ค่อยอ่านหนังสือ ปรากฏว่าสอบออกมาก็ติด top ten ได้ขึ้นบอร์ด
  2. คนที่ไม่ได้เกิดมาฉลาดมาก แต่อาศัยลูกขยัน - เพื่อนแนวนี้ผมก็เห็นอยู่มากอีกเหมือนกัน เวลาฟังอาจารย์ก็จะยังไม่เข้าใจในทันที แต่พอกลับบ้านไปทบทวนบทเรียนและหัดฝึกทำโจทย์ก็เริ่มตามทัน จนตอนใกล้สอบก็อ่านหนังสือ 2-3 รอบ + ฝึกทำข้อสอบเก่า สอบออกมาก็ผ่าน mean ได้สบายๆ
  3. คนที่ฉลาดแล้วยัง(เสื-ก)ขยันอีก - พวกนี้ผมมาเจอก็ตอนเข้ามหา'ลัยครับ เป็นลักษณะสวรรค์ส่งมา(ส่งมากลั่นแกล้ง) คือ ขยัน อ่านบทเรียนมาก่อนล่วงหน้า ตอนเรียนก็ตั้งใจ ฟังปุ๊บก็ get ทันที เรียนเสร็จก็กลับไปทบทวน ใกล้สอบก็ฝึกทำข้อสอบเก่า พวกนี้เรียนจบด้วยเกียรตินิยม
  4. อันนี้โหล่สุด คือ นอกจากไม่ฉลาดแล้วยังไม่ขยันอีกด้วย ส่วนมากผมจะเจอสไตล์นี้ตอนช่วงประถม-มัธยมต้น หลังจากนั้นก็หดหายไปไหนก็ไม่รู้ ก็ถือว่านอกประเด็นของเราเพราะเรากำลังกล่าวถึงโมเดลของการเรียนเก่งครับ
ผมวิเคราะห์ดูแล้วคนทั่วไปที่เรียนปานกลางจะมีลักษณะดังนี้

อาจารย์สอน 100 --- เข้าใจ 70 --- จำได้ 50

ส่วนคนเรียนเก่งจะแตกต่างไปค่อนข้างมาก ลองสังเกตดูนะครับ

อ่านมาก่อน --- อาจารย์สอน 100 --- เข้าใจ 90 --- จำได้ 80 --- คิดต่อยอดได้อีก กลายเป็น 100-110

นึกดูแล้วเจ้าคนแรกมันจะไปสู้คนที่สองนี้ได้อย่างไร ใครมีลูกมีหลานผมแนะนำดังนี้ครับ
  • เตรียมตัวก่อนเรียน ข้อนี้ใช้ความพยายามน้อยแต่ให้ผลมาก เราไม่ต้องอ่านตำราล่วงหน้าไปมากมาย แต่อ่านไปเพียงว่าวันนี้อาจารย์จะสอนเรื่องอะไร เนื้อหาทำนองไหน แค่ผ่านหูผ่านตาก็เริ่ดพอแล้ว
  • ในห้องเรียน เมื่อเราเตรียมตัวมาก่อน สิ่งที่อาจารย์พูดจะไม่ใช่ของใหม่สำหรับเราแล้ว การที่เราอ่านมาก่อนบ้างจะทำให้เราตาโตใส่ใจติดตามมากขึ้น จึงไม่แปลกที่เราจะ get ได้เร็วกว่าและจำได้มากกว่าคนอื่นโดยอัตโนมัติ
  • การคิดต่อยอด จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าเราไม่มีเวลานั่งชิลๆ หรือถ้าเรามัวแต่เล่นไอแพด-แชท BB-หรือเสียบหูฟังเพลงตลอดเวลา การคิดต่อยอดจากสิ่งที่เรียนจะทำให้เราเพิ่มปริมาณสิ่งที่เรา "เข้าใจ" และ "จำได้" บางครั้งก็เยอะกว่าที่อาจารย์สอนด้วยซ้ำไป
ใครมีลูกหลานหรือกำลังเรียนก็ลองเอาไปใช้ดูครับ แล้วจะประหลาดใจว่าเราสามารถเก่งได้ขนาดนี้เชียวหรือนี่

3 ความคิดเห็น:

  1. ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งครับ คิดว่าผมคงเป็นพวกที่สอง
    ที่ไม่ค่อยเก่ง ได้แต่ขยัน มากกว่าครับ

    ตอบลบ
  2. เคยเจอแต่คนหัวดีและขยันจนเก่ง เพื่อนๆที่เหลือในคณะไม่ค่อยขยันมากนัก พอเจอคนขยันกว่าก็คว้าอันดับหนึ่งเหรียญทองไปเลย

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ6 ตุลาคม 2554 เวลา 12:07

    มีข้อคิดดีค่ะ

    ตอบลบ