วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2564

การเติบโตแฝง


นักลงทุนที่ฉลาดมักคอยดูว่ากำไรของบริษัทมีการเติบโตมากน้อยเพียงใด แต่นักลงทุนที่ ฉลาดกว่า มักตรวจสอบลงไปจนถึงรายละเอียด เพื่อมองหาแนวโน้มและพัฒนาการที่สำคัญ ๆ ของบริษัทได้ก่อนใคร


สมมติว่ากำไร 12 ปีย้อนหลังของบริษัท ABCD เป็นดังภาพ นักลงทุนอาจสนใจการเติบโตที่โดดเด่นในภาพรวม แต่ยังข้องใจกับการเพิ่มขึ้นและทรงตัวเป็นระยะ ๆ พวกเขาไม่แน่ใจว่าการเติบโตแบบขยักขย่อนนี้ควรถือว่า “ดีพอ” สำหรับการลงทุนระยะยาวแล้วหรือยัง

อย่างไรก็ตาม หากบริษัทมีการแจกแจงกำไรที่มาจากแผนกต่าง ๆ ดังตาราง นักลงทุนจะสามารถวิเคราะห์การดำเนินงานเป็นรายแผนก และมองเห็นศักยภาพที่แท้จริงได้ง่ายขึ้น


เนื่องจากแผนก C ทำกำไรน้อยมาก นักลงทุนจึงสามารถตัดออกไปจากการวิเคราะห์และหันมาให้ความสนใจกับแผนก A และ B เป็นหลัก สังเกตว่ากำไรจากแผนก A มีจำนวนมากกว่า ทั้งยังมีการเติบโตที่สูงและค่อนข้างชัดเจน ขณะที่แผนก B ทำกำไรน้อยกว่าและไม่เห็นแนวโน้มการเติบโตที่ชัดเจนนัก

เมื่อพิจารณาในแง่สัดส่วนกำไร ช่วงหกปีแรก (2009-2014) กำไรจากแผนก A โดยเฉลี่ยจะคิดเป็น 63 เปอร์เซ็นต์ของกำไรทั้งบริษัท แต่ในหกปีหลัง (2015-2020) กำไรจากแผนก A ยิ่งมีส่วนสำคัญมากขึ้น โดยคิดเป็น 78 เปอร์เซ็นต์ของกำไรทั้งบริษัท ซึ่งเราก็น่าจะพอคาดการณ์ได้ว่า หากแนวโน้มยังคงดำเนินไปเช่นนี้ ในที่สุดแล้วกำไรเกือบทั้งหมดของบริษัทก็จะมาจากแผนก A นี่เอง และกำไรที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ จากแผนก B ก็จะส่งผลต่อภาพรวมน้อยลงไปเรื่อย ๆ

โดยสรุปก็คือ ABCD ในตัวอย่างของเราควรถือเป็นหุ้นเติบโตที่ค่อนข้างน่าสนใจตัวหนึ่ง เนื่องจากมีการเติบโตที่แข็งแกร่งแฝงอยู่ในตัว โชคดีนิดหน่อยที่นักลงทุนส่วนใหญ่ชอบมองกำไรในภาพรวม หุ้นลักษณะนี้จึงมักถูกมองข้ามและมีราคาไม่แพง...

---------------------------

ในทางกลับกัน ถ้าผมใช้ตัวเลขเดิมเปี๊ยบ แค่เปลี่ยนหัวตาราง (และเปลี่ยนเรื่อง) จากเรื่องหุ้นมาเป็นเรื่องสถานการณ์โควิด-19 เราจะได้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน [ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค] ดังตาราง


จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่โดยรวมที่ทรงตัวอยู่แถว ๆ 1400-1500 ราย เป็นระยะเวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์ ทำให้หลายท่านไม่ทันสังเกตว่าเรากำลังมี “การเติบโตแฝง” แอบซ่อนอยู่ และเมื่ออัพเดตจนถึงข้อมูลล่าสุด [วันที่ 23 เม.ย. 64] เราก็จะได้แผนภาพต่อไปนี้ ซึ่งพูดง่าย ๆ ก็คือ แนวโน้มขาขึ้นยังคงดำเนินอยู่ และเราก็ยังไม่รู้ว่ามันจะขึ้นต่อไปถึงไหน


การเติบโตแฝงเป็นสิ่งหนึ่งที่เราใช้มองหาหุ้นที่ถูกมองข้าม และในอีกทางหนึ่ง เราก็ใช้มองหาสัญญาณของภัยคุกคามทางด้านสาธารณสุข ตามความเห็นของผม การฝึกตนเองให้มองลงไปถึงรายละเอียดนั้นจะช่วยให้เรามีความเฉียบคม ไม่มองอะไรฉาบฉวย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลงทุนหรือเรื่องทั่วไปครับ


หมายเหตุ คีย์เวิร์ดที่ไม่ได้กล่าวถึงในบทความนี้ (และหวังว่าจะไม่ต้องมากล่าวถึงในภายหลัง)
1) การเติบโตแบบทวีคูณ (exponential)
2) ขีดความสามารถในการตรวจเชื้อของภาคเอกชน และ
3) ความแตกต่างระหว่าง "จำนวนผู้ติดเชื้อจากระบบเฝ้าระวังฯ" และ "จำนวนผู้ติดเชื้อจากการค้นหาเชิงรุก"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น