ตลอดหลายปีที่ได้ลงทุน ผมพบนักลงทุนจำนวนมากที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับแนวคิด ไม่ขายไม่ขาดทุน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับการศึกษาด้านการเงินมาโดยตรง หลายคนมองว่านี่เป็นเพียงการ “แก้ตัว” ของคนที่ไม่อยากขาดทุน บางคนไปไกลถึงขั้นบอกว่า แนวคิดนี้เป็นของพวกขี้แพ้ในตลาดหุ้น... แต่มันจะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่
วิธีบันทึกบัญชี
ตามธรรมดาของการลงทุนหุ้น นักลงทุนจำเป็นที่จะต้องมีการบันทึกบัญชีเพื่อหากำไรขาดทุน ซึ่งอาจเป็นไปได้ในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่
- แบบอ้างอิงราคาตลาด
- แบบอ้างอิงราคาทุน
- แบบอ้างอิงมูลค่าหุ้น
โดยทั้งสามรูปแบบมีระดับการยอมรับและความแพร่หลายแตกต่างกันไป
สมมติว่านักลงทุนเข้าซื้อหุ้น MKY ในตลาดที่ราคา 100 บาท ต่อมาราคาหุ้นลดลงเหลือ 80 บาท โดยส่วนใหญ่นักลงทุนทั่วไปก็จะเข้าใจได้ว่าตนเองขาดทุน 20 บาท ตาม ราคาตลาด ที่ได้ปรับตัวลดลง นี่เป็นรูปแบบที่หนึ่ง ซึ่งหลายคนเรียกว่า mark to market หรือ การเทียบตามราคาตลาด แนวคิดนี้เป็นวิธีหากำไรขาดทุนที่ได้รับการยอมรับแพร่หลายมากที่สุด โดยเฉพาะสำหรับสินทรัพย์ที่มีตลาดซื้อขายคล่องตัว อย่างเช่น หุ้น
รูปแบบที่สองเป็นแนวคิดที่อ้างอิงตามจำนวนเงินที่ใช้เข้าซื้อหุ้น หรือ ราคาทุน ไปเรื่อย ๆ โดยไม่สนใจว่าระหว่างนั้นราคาตลาดของหุ้นจะเคลื่อนไหวอย่างไร แล้วไปรับรู้อีกทีเมื่อได้รับเงินจริงตอนขายหุ้นนู่นเลย ซึ่งแบบนี้ถ้าไม่ขายก็ยังไม่รับรู้ผลขาดทุน ที่จริงแล้วนี่เป็นวิธีที่นักบัญชีใช้กับสินทรัพย์ที่ ไม่ มีตลาดซื้อขาย แต่เนื่องจากนักลงทุนเขาบันทึกบัญชีของเขาเอง ไม่ได้ทำตามมาตรฐานการบัญชีใด ๆ บางคนจึงคิดของเขาแบบนี้ แม้ในกรณีหุ้นของบริษัทจดทะเบียน มันจึงอาจไม่ค่อยถูกต้องถ้ามองจากมุมของนักบัญชี แต่มันก็คงไม่ผิด หากคิดว่านี่เป็นแค่การจดบันทึกของคนคนหนึ่ง
สุดท้ายเป็นรูปแบบที่สาม ซึ่งเป็นที่แพร่หลายน้อยกว่าสองรูปแบบข้างต้น คือ แทนที่จะอ้างอิงกับราคาตลาดหรือราคาทุน นักลงทุนจะคำนวณ มูลค่าหุ้น ในแต่ละช่วงเวลาขึ้นมา สมมติตัวอย่างเดิมเรื่องหุ้น MKY ที่ซื้อมาราคา 100 บาท ในจังหวะที่มูลค่าหุ้นอยู่ที่ 102 บาท ต่อมาราคาตลาดปรับตัวลดลงเหลือ 80 บาท สะท้อนผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 นักลงทุนจึงคำนวณมูลค่าหุ้นตามปัจจัยพื้นฐานใหม่ได้ 92 บาท ทำให้ขาดทุนตามมูลค่าหุ้นที่ลดลง 102 – 92 = 10 บาท
แม้การบันทึกบัญชีทั้งสามรูปแบบจะให้ตัวเลขกำไรขาดทุนแตกต่างกัน ณ เวลาหนึ่ง ๆ แต่ถ้าคิดจนจบกระบวนการซื้อขายหุ้น ผลลัพธ์จะออกมาตรงกัน (หากท่านกดเครื่องคิดเลขไม่ผิด)
ตัวอย่างการบันทึกบัญชี
นายไวไว ซื้อหุ้น ABCD ที่ราคา 100 บาท ต่อจากนั้นราคาหุ้นและเงินปันผลมีการเคลื่อนไหวตามตาราง
(กำหนดให้หุ้นซื้อขายกันที่ P/E 20 เท่า โดยราคาหุ้น ณ สิ้นปีสะท้อนผลประกอบการที่คาดการณ์ของปีนั้น ๆ และบริษัทจ่ายเงินปันผลในช่วงไตรมาส 2 ของปีถัดไป ในอัตรา 80 เปอร์เซ็นต์ของผลกำไร)
จะเห็นได้ว่า หลังจากที่ถือหุ้นไว้ 5 ปี และขายออกไปที่ราคา 52 บาท ไม่ว่าบันทึกบัญชีด้วยวิธีใด นายไวไวจะมีผลขาดทุน 35.2 บาท
ความแตกต่างของการบันทึกบัญชีทั้งสามวิธี คือ วิธีที่หนึ่ง จะคิดกำไรขาดทุนโดยนำเงินปันผลในแต่ละปีมาบวกด้วย capital gain (การเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น) ในปีนั้น ๆ ส่วน วิธีที่สอง จะคิดเฉพาะเงินปันผลในแต่ละปี จากนั้นจึงค่อยสรุปด้วยผลต่างของราคาที่ได้ซื้อและขายหุ้นออกไปจริงในตอนท้าย
ทั้งนี้ สังเกตได้ว่าวิธีที่หนึ่งคิดเสมือนว่านักลงทุน “จะขาย” หุ้นออกไปทุกปี จึงมีการรับรู้กำไรขาดทุน ณ ราคาตลาดตอนสิ้นปี แต่วิธีที่สองคิดตามเหตุการณ์จริง และตราบเท่าที่ยังไม่มีการขายหุ้นออกไปก็จะไม่สรุปผลกำไรขาดทุน
สำหรับ วิธีที่สาม จะยึดจากมูลค่าหุ้นที่นักลงทุนประเมินออกมาในแต่ละปี และคิดกำไรขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าหุ้นดังกล่าว บวกด้วยเงินปันผลที่ได้รับ นอกจากนี้ ยังมีกำไรจาก Margin of Safety (MoS gain) ขณะที่ซื้อและขายหุ้น เมื่อนักลงทุนสามารถซื้อหุ้นได้ในราคาที่ ต่ำกว่า มูลค่าหุ้น (เป็นที่มาของแนวคิดที่ว่า “กำไรตั้งแต่ซื้อ”) และขายในจังหวะที่ได้เปรียบ คือ ขายที่ราคา สูงกว่า มูลค่าหุ้น
แม้จะดูเหมือนซับซ้อน แต่วิธีอ้างอิงมูลค่าหุ้นก็มีข้อดีในแง่ของการให้ข้อมูลเกี่ยวกับความได้เปรียบในกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งก็คือ ซื้อ-ถือ-ขาย หุ้น อย่างชัดเจน เช่น ในตัวอย่างนี้ นายไวไวสามารถสร้างความได้เปรียบในตอน ซื้อ และ ขาย (ได้ Mos gain 5 บาท และ 2 บาท ตามลำดับ) แต่ไปขาดทุนอย่างหนักในขั้นตอนการ ถือ ซึ่งเกิดจากการที่หุ้นสูญเสียมูลค่า นายไวไวจึงทราบได้ว่าตนเองควรพัฒนาเรื่องการคัดเลือกหุ้นให้ดีขึ้น
“ไม่ขายไม่ขาดทุน” แบบคงเส้นคงวา
ท่านทั้งหลายคงเห็นแล้วว่า วิธีบันทึกบัญชีไม่ได้เป็นปัญหา และนักลงทุนสามารถบันทึกโดยอ้างอิงต้นทุนหรือมูลค่าหุ้นก็ได้ (ถ้าต้องการ) เราไม่มีเหตุผลที่จะดูแคลนแนวคิด ไม่ขายไม่ขาดทุน เพียงเพราะว่าเรา "รู้จัก" วิธีบันทึกบัญชีอยู่แค่รูปแบบเดียว แล้วก็คิดแบบโลกแคบ ๆ ว่าสิ่งที่เรารู้จักเท่านั้นที่ถูกต้อง
ในทางกลับกัน ผู้ที่จะอ้างว่า "ไม่ขายไม่ขาดทุน" ก็ต้องมีความสม่ำเสมอในกระบวนการคิด ดังเช่นตัวอย่างข้างต้น หากนายไวไวขาดความคงเส้นคงวา เขาอาจปลอบใจตัวเองตอนสิ้นปีที่สองว่า
“ไม่เป็นไรน่า ถึงหุ้น ABCD จะตกลงมาเหลือ 40 บาท แต่ไม่ขายก็ไม่ขาดทุนหรอก แถมมันยังจ่ายปันผลตั้ง 3.2 บาท คิดเป็น 8 เปอร์เซ็นต์แน่ะ!”
ทั้งที่จริงเปอร์เซ็นต์นั้นสูงเพียงเพราะราคาหุ้นตกลงมามาก แล้วเงินปันผลก็จ่ายจากกำไรของปีก่อนหน้า จึงไม่สะท้อนอนาคตที่ย่ำแย่ นอกจากนั้น หากจะคิดว่า ไม่ขายไม่ขาดทุน เขาก็ควรอ้างอิงราคาทุน 100 บาท ต่างหาก และเงินปันผล 3.2 บาท ของปีนั้นก็จะคิดเป็น 3.2 เปอร์เซ็นต์จากราคาทุน ส่วนเงินปันผลคาดการณ์ของปีถัดไป 1.6 บาท ก็จะคิดเป็น 1.6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น... หมดความเซ็กซี่ไปเยอะเลย
ยิ่งไปกว่านั้น หากจะใช้คำว่า ไม่ขายไม่ขาดทุน นายไวไวก็จะต้องใช้มันกับหุ้นทุกตัวด้วย ไม่ใช่เห็นหุ้นตัวไหนราคาดำดิ่งก็บอกไม่ขายไม่ขาดทุน แต่พอตัวไหนราคาพุ่งพรวดก็บอกว่า ฉันได้กำไรอื้อ อย่างนี้เป็นระบบบัญชีโลเล ประเภทเอาดีเข้าตัวสถานเดียว ไม่มีประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ผลงานเพื่อเอาไปพัฒนาจุดบกพร่องของตนเอง
หากชาว ไม่ขายไม่ขาดทุน มีความคงเส้นวาและสุจริตใจ ก็จะไม่มีนักลงทุนใจกว้างคนใดกล้าดูถูกดูแคลน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น