สไตล์การลงทุนของแต่ละคนล้วนมีความแตกต่างกันในมิติต่าง ๆ แต่ถ้าใช้ “จำนวนตัวหุ้น” ในพอร์ตมาเป็นเกณฑ์แบ่ง เราจะพบว่ามีนักลงทุนจำนวนหนึ่งที่นิยมลงทุนกับ หุ้นน้อยตัว โดยในแต่ละช่วงเวลา พอร์ตของพวกเขาอาจมีหุ้นแค่ 2-3 ตัว ซึ่งตรงข้ามกับนักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งที่ชอบลงทุนกับ หุ้นมากตัว และมักถือครองหุ้นเอาไว้มากมาย เช่น 20 ตัว หรือมากกว่านั้น
ในที่นี้ เราจะเน้นไปที่ปัญหาจากการสร้างพอร์ตหุ้นน้อยตัวในมิติต่าง ๆ และหลายเรื่องก็เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงกัน
ข้อดี vs ข้อด้อย
ในวิชาการเงินทั่วไป ตำรามักสอนให้เรา “กระจายการลงทุน” หรือ diversify โดยให้แง่คิดเปรียบเทียบกับการเอาไข่ใส่ไว้ในตะกร้าหลาย ๆ ใบ เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะไม่หมดเนื้อหมดตัว หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน อย่างไรก็ตาม แนวคิดที่เริ่มเป็นที่ยอมรับในระยะหลัง คือ การลงทุนแบบมุ่งเน้นในหุ้นน้อยตัว เหมือนการใส่ไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียวแล้วคอยเฝ้าดูแลมันให้ดีที่สุด ซึ่งเป็นแนวทางที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีนักลงทุนทำให้ดูเป็นแบบอย่าง จนนักลงทุนแบบเน้นคุณค่ารุ่นใหม่ ๆ แทบจะหันเหไปในแนวทางนี้กันหมดแล้ว
ข้อดีที่ชัดเจนของการลงทุนแบบมุ่งเน้น ได้แก่ ผลตอบแทนที่สูงกว่า (ถ้าเลือกหุ้นถูกตัว), ความได้เปรียบในการศึกษาตัวหุ้น, ความง่ายในการติดตาม และการได้เห็นผลตอบแทนที่เป็นน้ำเป็นเนื้อ
พอร์ตหุ้นน้อยตัวอาจดูดีและน่าตื่นเต้นเวลาที่ความสำเร็จมาถึง อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องชะโงกดูอีกด้านหนึ่งของเหรียญด้วย จึงจะนับเป็นนักลงทุนที่มีความรอบคอบและเป็นมืออาชีพ นักลงทุนจำนวนไม่น้อยมีความสามารถไม่เพียงพอที่จะคัดสรรหุ้นชั้นยอด และซื้อในราคาที่ได้เปรียบ แต่ถึงกระนั้น ต่อให้มีความสามารถมากพอ พวกเขาก็ยังคงต้องพบเจอกับปัญหาพื้นฐานของเรื่องนี้อยู่ดี
ปัญหาพื้นฐานของพอร์ตหุ้นน้อยตัว ได้แก่ ผลตอบแทนที่ผันผวนมากเป็นพิเศษ, ความเปราะบางต่อความผิดพลาด, ปัญหาด้านจิตวิทยา และปัญหาด้านการบริหารเงินทุน
ผลตอบแทน
เมื่อผลตอบแทนของหุ้นไม่กี่ตัวสามารถ “บงการ” ผลตอบแทนของพอร์ตหุ้นแทบทั้งหมดได้ สิ่งที่นักลงทุนจะได้เห็น คือ พอร์ตหุ้นที่เหวี่ยงไปมาราวกับเรือที่อยู่กลางพายุ หากราคาหุ้น 2 ตัว จากทั้งหมด 3 ตัวที่ท่านถืออยู่กำลัง “ดิ่ง” โดยมากแล้วพอร์ตรวมของท่านก็กำลังดิ่งลงเหวอยู่ด้วยเหมือนกัน ในทางกลับกัน หากหุ้น 2 ตัว จากทั้งหมด 3 ตัวกำลังถูก “แจ็กพอต” มีราคาพุ่งขึ้นราวกับจุดพลุ เย็นวันนั้นท่านอาจจะอยากกลับบ้านไปจัดงานปาร์ตี้
ในอีกด้านหนึ่ง นักลงทุนที่ถือครองหุ้นมากตัวอาจเห็นหุ้นบางตัวมีราคาพุ่งขึ้น ทำให้พอร์ตโดยรวมของพวกเขาขยับขึ้นไปช้า ๆ และบางวันมีหุ้นราคาดิ่งลง ทำให้พอร์ตรวมขยับลงมานิดหน่อย โดยหลักแล้วพวกเขาน่าจะมีความสงบในจิตใจมากเกินกว่าจะไปนั่งซึมเศร้าหรือจัดปาร์ตี้สลับกันวันเว้นวัน
อีกประเด็นหนึ่งที่ท่านอาจนึกไม่ถึง คือ การถือครองหุ้นน้อยตัวอาจทำให้ท่านเจอ “แจ็กพอตใหญ่” หรือไม่ก็ชวดไปทั้งหมด แต่การถือครองหุ้นมากตัวจะทำให้ท่านเจอ “แจ็กพอตเล็ก” แต่เจอบ่อย ๆ ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องที่น่าชั่งใจอยู่ว่าแบบไหนจะดีกว่ากัน
ความผิดพลาด
ความผิดพลาดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับการลงทุนทุกรูปแบบได้เหมือนกัน ทว่า “ผลกระทบ” อาจแตกต่าง
ทั้งนี้ ขอให้เข้าใจแยกกันระหว่าง การเกิดขึ้น (occurrance) กับ ผลกระทบ (impact) ที่ตามมา ในกรณีของพอร์ตหุ้นน้อยตัว ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง เช่น การวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจผิดพลาด, การซื้อหุ้นในราคาที่แพงเกินไป, การทุจริตของผู้บริหาร ฯลฯ อาจส่งผลต่อพอร์ตโดยรวมอย่างหนัก สมมติว่าท่านมีหุ้นในพอร์ตเพียง 2 ตัว คิดเป็นมูลค่าการลงทุนเท่า ๆ กัน ต่อมาเกิดขาดทุนจากหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีกตัวหนึ่งที่เหลือเพียงเท่าทุน ผลขาดทุนโดยรวมจะอยู่ที่ (-40% x 0.50) + (0% x 0.50) = -20%
ในทำนองเดียวกัน หากท่านมีหุ้นในพอร์ต 8 ตัว และมีอยู่ตัวหนึ่งขาดทุน 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนตัวอื่น ๆ ที่เหลือเท่าทุน ผลขาดทุนโดยรวมจะเท่ากับ (-40% x 0.125) + (0% x 0.875) = -5% เท่านั้น สังเกตว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นในระดับพอร์ตมีความแตกต่างกันมาก
หรือท่านอาจจะคิดในอีกแง่หนึ่ง คือ ถ้าจะให้พอร์ตขาดทุนในระดับเดียวกับกรณีพอร์ตหุ้นสองตัว ท่านจะต้องทำผิดพลาดกับหุ้นถึง 4 ตัว (จากทั้งหมด 8 ตัว) โดยแต่ละตัวขาดทุน 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนตัวอื่น ๆ ที่เหลือเท่าทุน ซึ่งในทางสถิติเหตุการณ์เช่นนี้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยกว่ากันมาก เพราะฉะนั้น การสร้างพอร์ตหุ้นที่ไม่น้อยตัวจนเกินไปก็จะเป็นภูมิคุ้มกันสำหรับนักลงทุนได้อย่างหนึ่ง
ปัญหาด้านจิตวิทยา
นักลงทุนอาจไม่รู้ตัวว่า ในทุกครั้งที่เราทำผิดพลาด บางสิ่งบางอย่างจะถูกเขียนเข้าไปในใจของเรา แต่สิ่งที่เขียนนั้นจะตัวโตหรือตัวเล็กแค่ไหน ขึ้นอยู่กับ “ผลกระทบ” ที่เกิดขึ้น
หากย้อนไปถึงสภาวะจิตใจของผู้ที่ถือหุ้นน้อยตัว โดยมากแล้วพวกเขามักมีความมั่นใจในระดับที่สูงกว่านักลงทุนคนอื่น ๆ (ถ้าไม่มั่นใจคงไม่กล้าถือหุ้น 1-2 ตัวเต็มพอร์ตหรอกกระมัง?) แต่ดังที่กล่าวมาแล้วว่า การถือหุ้นน้อยตัวทำให้ท่านมีโอกาสได้รับผลกระทบจากความผิดพลาดสูงขึ้น และเมื่อได้เจอประสบการณ์ผิดพลาดแบบแรง ๆ สภาพจิตใจก็จะเปลี่ยนจากความมั่นใจไปเป็นความลังเล ในทางกลับกัน หากเริ่มต้นด้วยความมั่นใจ ถือหุ้นเพียงหนึ่งหรือสองตัว แล้วปรากฏว่าผลลัพธ์ก็ออกมาดีด้วย ความมั่นใจก็พุ่งทะยาน (overconfident) จนอาจกลายเป็นความประมาท และเริ่มรู้สึกว่าการลงทุนเหมือนกับการเดิมพันชีวิต ซึ่งถ้ามาเส้นทางนี้ โดยมากก็จะ “เจ๊ง” ณ จุดที่มีความมั่นใจสูงเสียดฟ้าพอดี ประสบการณ์ความผิดพลาดก็จะยิ่งหนักหนาสาหัสและเหลือไว้เพียงความเข็ดขยาดในระดับที่จำฝังใจ เหมือนกับนักเล่นหุ้นสมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง
ในฐานะของนักลงทุน สภาพจิตใจที่มีความเหมาะสมมากที่สุด คือ ความมั่นใจในระดับพอดี ๆ รู้ว่าตัวเองรู้ (หรือไม่รู้) อะไร และมีแผนรองรับเหตุการณ์ต่าง ๆ ไว้บ้าง หากต้องการถือหุ้นน้อยตัวก็ต้องตระหนักถึงกับดักทางจิตวิทยาเหล่านี้เอาไว้ด้วย
ปัญหาด้านการบริหารเงินทุน
ความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่นักการเงินพูดถึง แต่นักลงทุนมักไม่ได้ใส่ใจ คือ ความเสี่ยงในการลงทุนซ้ำ (reinvestment risk) ซึ่งแน่นอนว่านักลงทุนหุ้นย่อมต้องพบเจอกับสิ่งนี้ ไม่ว่าเขาจะถือหุ้นมากตัวหรือน้อยตัว
อย่างไรก็ดี ในพอร์ตหุ้นน้อยตัว สัดส่วนของหุ้นแต่ละตัวย่อมอยู่ในระดับที่สูงมาก เมื่อเทียบกับขนาดพอร์ต สมมติว่าหุ้นในพอร์ตของท่านมี 2 ตัว แต่ละตัวคิดเป็นมูลค่าการลงทุน 3 ล้านบาทเท่า ๆ กัน สัดส่วนหุ้นแต่ละตัวจะเท่ากับ 50 เปอร์เซ็นต์ของพอร์ต ทีนี้ปัญหาก็จะเกิดขึ้นเมื่อหุ้นเต็มหรือเกินมูลค่า และต้องการขายทำกำไร ท่านจะทำอย่างไรกับเงิน 3 ล้านบาทที่ได้จากการขายหุ้น? การตัดสินใจ “หาที่ลง” ให้กับเงิน 3 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของความมั่งคั่ง น่าจะสร้างความลำบากใจให้ท่านได้พอสมควร โดยเฉพาะเมื่อท่านเลือกถือหุ้นเพียงครั้งละสองตัว การเปลี่ยนตัวหุ้นควรถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องคิดให้มาก บางทีในเวลานั้น ๆ ท่านอาจไม่สามารถหาหุ้นที่ดีพอจะใส่เงินจำนวนดังกล่าวลงไปก็เป็นได้
ในทางตรงข้าม หากท่านมีหุ้นในพอร์ต 6 ตัว ตัวละ 1 ล้านบาท หุ้นแต่ละตัวจะคิดเป็นเศษหนึ่งส่วนหก หรือประมาณ 16-17% ของพอร์ต การเปลี่ยนตัวหุ้นอาจไม่ทำให้ท่านต้องวิตกกังวลมากมายนัก นอกจากนั้น ว่ากันตามจริงถ้าท่านมีปัญญาหาหุ้นมาแล้ว 6 ตัว การหาเพิ่มอีกสักตัว เพื่อรองรับเม็ดเงินจากการขายหุ้น ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เกินกำลัง
ถือหุ้นน้อยตัว... ทำไม?
บางทีนี่อาจเป็นคำถามที่น่ากวนใจ แต่ถ้าท่านลองตอบตัวเองอย่างจริงจัง บางทีท่านอาจรู้จักตัวเองมากขึ้นอย่างที่ไม่คาดคิดก็ได้
ท่านถือหุ้นน้อยตัว เพราะเป็นคนวิเคราะห์หุ้นเก่ง และต้องการ “มุ่งเน้น” ลงทุนในหุ้นชั้นยอดเท่านั้นหรือไม่?
ท่านถือหุ้นน้อยตัว เพราะเห็นว่าพอร์ตยังมีขนาดเล็ก จึงไม่ต้องการกระจายลงทุนเป็นเบี้ยหัวแตกหรือไม่?
ท่านถือหุ้นน้อยตัว เพราะได้ชื่อหุ้นจากกูรูมาแค่นั้น ครั้นจะหาหุ้นเพิ่มเองก็ทำไม่เป็นหรือไม่?
ท่านถือหุ้นน้อยตัว เพราะทราบมาว่าเซียนหุ้นมักลงทุนแบบมุ่งเน้น จึงพยายามทำอย่างเขาบ้างหรือไม่?
หรือ ท่านถือหุ้นน้อยตัว ที่จริงแล้วเพราะมันเป็นการเก็งกำไร ซึ่งต้องการความคล่องตัว เข้าเร็วออกเร็ว?
หากตอบตัวเองอย่างซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา ถึงตรงนี้ท่านน่าจะตระหนักมากขึ้นว่า ที่จริงแล้วการสร้างพอร์ตหุ้นน้อยตัวมีความเหมาะสมกับตัวท่านมากน้อยเพียงใด บทความนี้ ไม่ได้ ต้องการให้ท่านกลัวหรือหลีกหนีจากการลงทุนหุ้นน้อยตัว เพราะในโลกนี้ก็มีผู้ที่เหมาะกับการลงทุนในรูปแบบดังกล่าวอยู่เหมือนกัน เพียงแต่ต้องคิดให้ดีว่าท่านเป็นหนึ่งในนั้นหรือไม่
และทั้งหมดนี้ก็เพื่อตัวของท่านเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น