วันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2560

โครงสร้างผลตอบแทนจากหุ้น (ภาคประยุกต์ใช้)


[ท่านที่ยังไม่ได้อ่านบทความก่อนหน้า สามารถย้อนอ่านได้ที่ http://www.monkeyfreetime.blogspot.com/2017/06/blog-post.html]

ระหว่างการซื้อ "หุ้นชั้นยอด - P/E สูง" กับ "หุ้นชั้นดี - P/E ต่ำ" อย่างไหนจะให้ผลตอบแทนดีกว่ากัน?

นี่เป็นคำถามที่ทริกกี้มาก ๆ แต่ถึงกระนั้นผู้ที่ฝักใฝ่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ อาจเลือกข้อแรกอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะพวกเขาเชื่อว่า "การซื้อหุ้นที่ยอดเยี่ยมในราคาปานกลาง ดีกว่าการซื้อหุ้นปานกลางในราคาที่ยอดเยี่ยม" ...แล้วความจริงคืออะไร?!

บางทีการตอบคำถามนี้ให้ชัดเจนลงไปอาจทำได้ยาก อย่างไรก็ตาม ผมมีตัวอย่างหุ้นสองตัวที่แสดงให้เห็นว่าผลตอบแทนดี ๆ สามารถมาได้จากทั้งสองแนวทาง แต่ด้วยรายละเอียดที่แตกต่างกัน


หุ้นสองตัว




หุ้นเบอร์ 1 เป็นของบริษัทค้าปลีกยอดนิยม ท่านจะเห็นว่าผลตอบแทนรวมย้อนหลังห้าปีแบบทบต้นอยู่ที่ 21.4% ต่อปี โดยแบ่งเป็นผลตอบแทนจากเงินปันผล 2.0% และผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาหุ้น 19.3% (บวกกันไม่เป๊ะ เป็นผลจากการปัดทศนิยม)

เมื่อวิเคราะห์ในเชิงลึก ผลตอบแทนจากเงินปันผล 2 เปอร์เซ็นต์นั้น เป็นผลมาจาก payout ratio (0.67) คูณกับ earnings yield (3.0%) ตีความได้ว่า บริษัทนี้มีสัดส่วนการจ่ายเงินปันผลที่ "สูงใช้ได้" เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิ แต่ประเด็นนี้ก็ถูกลบล้างจากค่า P/E ที่สูง (ประมาณ 33 เท่า เมื่อคิด ส่วนกลับ เพื่อให้ได้ค่า E/P หรือที่เรามักเรียกกันว่า earnings yield จึงได้ตัวเลขเพียง 3 เปอร์เซ็นต์) ไปเสียหมด

ในส่วนของผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาหุ้น 19.3 เปอร์เซ็นต์ มาจากการเติบโตของกำไรสุทธิที่ค่อนข้างสูง (เฉลี่ย 15.8% ต่อปี ตลอดห้าปีหลังสุด) บวกกับการที่นักลงทุนยอมซื้อหุ้นที่ P/E สูงขึ้นกว่าเมื่อห้าปีก่อน (เฉลี่ย P/E ปรับเพิ่มขึ้นปีละ 3.5%)


หุ้นเบอร์ 2 เป็นของบริษัทผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่ค่อยโด่งดังนัก แต่ให้ผลตอบแทนรวมย้อนหลังห้าปีสูงถึง 24.1% ต่อปี แบ่งเป็นผลตอบแทนจากเงินปันผล 6.2% และผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาหุ้น 17.9%

หุ้นตัวนี้ซื้อขายกันที่ P/E ค่อนข้างต่ำ คือ ประมาณ 8 เท่า เมื่อคำนวณ earnings yield จะได้ 1/8 = 12.5% ดังที่ปรากฏในแผนภาพ จึงกลายเป็นฐานตั้งต้นที่สูง แม้บริษัทจะจ่ายเงินปันผลในสัดส่วนที่น้อยกว่า (payout ratio = 0.50) ผลตอบแทนจากเงินปันผลก็ยังคงสูงถึง 6.2 เปอร์เซ็นต์

สำหรับผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาหุ้น 17.9 เปอร์เซ็นต์ มาจากการเติบโตของกำไรสุทธิ 13.9 เปอร์เซ็นต์ บวกกับการปรับเพิ่มขึ้นของค่า P/E อีก 4.0 เปอร์เซ็นต์


ใครดีกว่าใคร?


โดยส่วนตัวแล้วถ้าให้เลือกลงทุน ผมชอบหุ้นเบอร์ 2 มากกว่า และที่ชอบนั้นไม่ใช่เพราะว่ามันให้ผลตอบแทนสูงกว่า แต่เป็นเรื่องของ "ความสมดุล" ในมุมมองของผม โครงสร้างผลตอบแทนที่มีเงินปันผลยืนพื้นประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์ บวกกับ capital gain (กำไรจากส่วนต่างราคาหุ้น) อีก 18 เปอร์เซ็นต์ มีความสมดุลมากกว่าการมีเงินปันผล 2 เปอร์เซ็นต์ บวกกับ capital gain 19 เปอร์เซ็นต์

ลองคิดดูว่าสมมติผลประกอบการของบริษัททั้งสองแห่งเกิด "แป้ก" ไปเป็นเวลาสองปี การเติบโตของกำไรกลายเป็นศูนย์ และนักลงทุนยังคงอดทนรอโดยไม่ปรับลด P/E ลงเลย (เป็นข้อสมมติที่ใจดีมาก) อย่างน้อยนักลงทุนที่ถือหุ้น P/E ต่ำ และจ่ายปันผลงามอย่างหุ้นเบอร์ 2 ก็จะยังคงได้รับเงินปันผล 6.2 x 2 = 12.4 เปอร์เซ็นต์ ตลอดระยะเวลาสองปีนั้น (และสามารถนำเงินสดมา reinvest หรือลงทุนซ้ำได้อย่างเป็นน้ำเป็นเนื้อ) ขณะที่นักลงทุนของหุ้นเบอร์ 1 จะได้รับเงินปันผลเพียง 2.0 x 2 = 4.0 เปอร์เซ็นต์ เป็นการปลอบใจ

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของผมเท่านั้น


มาถึงตรงนี้ท่านคงจะเห็นแล้วว่า การซื้อ "หุ้นชั้นยอด - P/E สูง" กับ "หุ้นชั้นดี - P/E ต่ำ" ล้วนสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีได้ ขอเพียงอย่าไปสับสนกับการซื้อ หุ้นชั้นแย่ - P/E สูง หรือ หุ้นชั้นห่วย - P/E ต่ำ ก็แล้วกัน เพราะแบบนั้นมีแนวโน้มสูงว่าจะเจ๊งทั้งคู่ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น