วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2556

เรื่องของใจ


นักเล่นหุ้นจำนวนไม่น้อยมักจะบอกว่า เหตุผลส่วนใหญ่ที่พวกเขาขาดทุนหรือได้กำไรไม่มากเท่าที่ควรเกิดจาก "ใจไม่นิ่ง"

แน่นอนว่าเรื่องของใจมีความสำคัญ แต่มันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พวกเขาขาดทุนจริงหรือ? หรือบางทีมันอาจเป็นแค่คำกล่าวอ้างคล้ายกับเวลาที่เราบอกว่า "ลืมล้างจาน" ทั้งที่จริงเรา "ขี้เกียจล้าง" และขอผัดผ่อนไปก่อน จนกระทั่งจานหมดไม่มีใช้ แล้วถึงค่อยไปล้าง

ในทำนองเดียวกัน นักเล่นหุ้นก็พอใจที่จะอ้างว่า "ใจไม่นิ่ง" ทำให้เล่นหุ้นแล้วเจ๊ง แทนที่จะยอมรับว่าเขายังไม่ได้ตั้งอกตั้งใจพัฒนาตัวเองอย่างจริงจัง นี่คือเรื่องของจิตวิทยาที่มีผลต่อการลงทุน


"ใจ" เป็นปราการด่านแรกของกำไร?


ความจริงแล้วผมมักพูดเสมอว่า การลงทุนที่ดีเริ่มต้นจาก "สมอง" แล้วไปปิดท้ายที่ "จิตใจ"

การเริ่มต้นจากสมองหมายความว่า เราต้องมีความรู้ในสิ่งที่เราจะลงทุนเสียก่อน ถ้าเป็นนักเล่นหุ้นแนวเทคนิคก็จะต้องมีภาพในใจว่าจะทำอะไรบ้าง จะดู indicator ตัวไหน หาสัญญาณซื้ออย่างไร และจะ cut loss เมื่อไหร่ เป็นต้น นักเทคนิคมืออาชีพจะทดสอบและรู้ล่วงหน้าแล้วว่า ในระยะยาวพวกเขาจะได้กำไรมากน้อยแค่ไหน "ถ้า" เขาทำตามระบบนี้

"วินัย" ของนักเล่นหุ้นแนวเทคนิคจึงก้ำกึ่งอยู่ระหว่าง จิตใจที่เข้มแข็ง กับ ความยึดมั่นแบบโง่ๆ สุดแต่ว่าระบบของเขาถูกกลั่นกรองมาแล้วดีเพียงใด

ในอีกฟากหนึ่ง นักลงทุนแนวพื้นฐานก็ต้องมีความรู้เกี่ยวกับกิจการที่ตนเองลงทุน โดยเฉพาะถ้าเป็นนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ VI ก็ควรมีความรู้เรื่องการประเมินมูลค่า เพื่อให้มั่นใจว่าเราซื้อหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าของมันมากเพียงพอ หรือที่เรียกว่ามี Margin of Safety ในระดับที่น่าพอใจ

สังเกตว่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของ "สิ่งที่น่าจะทำ" หรือสิ่งที่สมองน้อยๆ ของเราคิดออกมา แต่ทั้งหลายทั้งปวงนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย! ถ้ามันไม่ผ่านการ "อนุมัติ" ของจิตใจ

ด้วยเหตุนี้ผมจึงยืนยันว่า ใจ ไม่ใช่ปราการด่านแรก แต่ว่าเป็นปราการด่านสุดท้าย ซึ่งก็หมายความว่า การฝึกฝนจิตใจจะมีประโยชน์ต่อเมื่อเรามีความรู้ความสามารถดีแล้วในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะต่อให้ใจนิ่ง แต่ถ้าความรู้ของคุณไม่มี มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร


ฝึก "สมอง" แล้วค่อยต่อด้วย "หัวใจ"


ลำดับการฝึกฝนที่ถูกต้อง คือ เราต้องฝึกสมองของเราให้เฉียบคมก่อน จากนั้นเมื่อทลายด่านแรกได้แล้ว เราจะเห็นเองว่าด่านที่สอง (จิตใจ) เป็นเรื่องง่าย และเมื่อผ่านทั้งสองด่านได้ "กำไร" ก็จะอยู่ตรงหน้าเอง

ทั้งนี้ผมของแยกการฝึกสมองออกเป็น 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ "ความรู้" และเรื่องที่สอง คือ "ความคิด"

ความรู้ เป็นสิ่งที่ตรงไปตรงมาและหาได้ไม่ยาก แต่ต้องลงมือลงแรงบ้าง ที่สำคัญ คือ เราต้องรู้ว่าความรู้จะหาได้จากแหล่งไหน และแหล่งความรู้นั้นเป็นแหล่งที่ดีหรือไม่ ลองคิดถึงการพยายามตกปลาในแหล่งน้ำเสื่อมโทรม ซึ่งเราก็คงจะไม่ได้ปลา หรือถ้าได้ก็คงได้ปลาที่เป็นพิษมากิน กินแล้วก็ป่วย อันนี้ก็คล้ายกับการพยายามหาความรู้จากคนที่ไม่มีความรู้หรือมีความรู้ผิดๆ นั่นเอง พอเอาไปใช้ก็เกิดความเสียหาย

ความคิด เป็นเรื่องที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้นมา บางครั้งเราเห็นคนที่มีความรู้มาก ทว่าไม่สามารถเอามา "ประยุกต์" ใช้กับการลงทุนได้ นั่นก็เพราะเขาไม่สามารถเปลี่ยนความรู้ให้เป็นความคิดและการตัดสินใจที่ดี เหมือนกับคนที่ "เก่งตำรา" แต่ใช้งานจริงไม่ได้

ความคิดเป็นของยากกว่าความรู้ ความรู้ถ้าอ่านหรือเรียนก็ตามกันทันได้ไม่ยาก แต่ความคิดนั้นต้องสร้างขึ้นมา และอาหารของความคิดก็คือ "เวลา" และ "ความสงบ" ซึ่งสมัยนี้หาไม่ได้ง่ายๆ โดยเฉพาะในสังคมที่เรากำลังก้มหน้าก้มตาเล่นเกมหรือแชทกันผ่านอุปกรณ์พกพาต่างๆ จนหาเวลาที่สมองถูกปล่อยให้อยู่อย่างสงบแทบไม่ได้

ต่อเมื่อมีพร้อมทั้งความรู้และความคิดแล้ว เราจึงจะสามารถ "จูงใจ" ตัวเองให้ยึดมั่นกับสิ่งที่ถูกต้องได้ หากว่าเรายังลังเลกับความสามารถของตัวเอง โอกาสที่เราจะตัดสินใจ "ไม่เชื่อ" สิ่งที่สมองบอก ก็มีความเป็นไปได้สูง

และนี่ก็คือเหตุผลว่า ทำไมเราต้องฝึกสมองก่อนที่จะฝึกหัวใจ


หลงรักหุ้น


เรื่องของใจอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การมี "ฉันทะ" หรือ ความรักในสิ่งที่เราทำ ซึ่งที่จริงน่าจะถือว่าเป็นเรื่องดี เว้นเสียแต่ว่าการ "หลงรัก" หุ้นที่เราถือ จัดได้ว่าเป็นหนทางสู่หายนะ

เคยได้ยินใช่ไหมครับว่า "ความรักทำให้คนตาบอด" ... และการตกหลุมรักหุ้นก็เช่นเดียวกัน

การที่เราเกิดความรู้สึกรักหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง ทำให้เราประเมินหุ้นตัวนั้นอย่างไม่เป็นกลาง โดยเฉพาะถ้าเป็นหุ้นที่ "เคย" สร้างกำไรให้กับเราอย่างเชิดหน้าชูตา โอกาสที่เราจะตกหลุมรักมันก็เป็นไปได้สูงมาก แล้วหากว่าวันหนึ่งพื้นฐานของหุ้นดังกล่าวเกิดเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลง เราก็อาจไม่สังเกตเห็น หรือแม้เห็นแต่ก็อาจทำเป็นมองข้ามไป

การตกหลุมรักหุ้นมักจะเกิดในช่วงตลาดขาขึ้น เมื่อราคาหุ้นที่เราถือปรับตัวเพิ่มขึ้น และยิ่งส่งเสริม "ความเชื่อ" ของเราว่า เราเจ๋ง เราเก่ง และหุ้นของเราก็ยอดเยี่ยม... จนกระทั่งลืมไปว่าแท้จริงแล้วเป็นเพราะว่าตลาดโดยรวมมันเป็นขาขึ้นต่างหาก

สุดยอดผู้จัดการกองทุนอย่าง จอห์น เนฟ บอกว่า "หุ้นทุกตัวมีไว้ขาย" ซึ่งก็หมายถึงว่า เขาพร้อมที่จะประเมินหุ้นทุกตัวอย่างตรงไปตรงมา และไม่ปล่อยให้ "ใจ" เข้ามามีผลต่อความคิดความอ่านของเขา หากหุ้นตัวไหนดีเขาก็ยินดีถือไว้เป็นปีๆ แต่ถ้าหุ้นตัวไหนแย่ลงหรือมีราคาพุ่งขึ้นจนเกินมูลค่า เขาก็พร้อมที่จะขายมันโดยไม่ลังเล

ผมเองเห็นด้วยว่า เราอาจรักกิจการที่เราถือหุ้นได้ แต่เป็นการรักในลักษณะที่พร้อมจะสนับสนุนและให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ ที่สำคัญต้องประเมินหุ้นอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งนี่ก็คือการให้สมองนำหัวใจ ไม่ใช่ให้ใจนำสมอง

ตลาดหุ้นไม่ใช่สถานที่ "โรแมนติก" ให้คุณไปบอกรักหุ้น และสัญญาว่าจะอยู่ด้วยกันตลอดไป

อย่าลืมว่าหุ้นมีซื้อขายอยู่ในตลาดทุกเมื่อเชื่อวัน อยากได้เมื่อไหร่ก็ค่อยไปซื้อก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเก็บหุ้นแย่ๆ ไว้เป็นลูกรักให้หนักอก เพราะมันอาจไม่ได้รักคุณ เท่ากับที่คุณรักมันก็ได้

จำเอาไว้นะครับว่า "ฝึกสมองก่อนฝึกใจ" และ "อย่าปล่อยให้ใจนำสมอง" เพียงแค่สองข้อนี้ คุณก็จะอยู่รอดปลอดภัยและพร้อมรับมือกับทุกสภาวะของตลาดหุ้นแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น