วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2556

ล่องแพ


อารมณ์ของคนที่ออกไปชื่นชมธรรมชาติและเดินทางไปตามลำน้ำด้วยการ "ล่องแพ" แน่นอนว่าจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจกับการเปียกน้ำเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งก็คล้ายกับอารมณ์ของคนที่ลงทุนในหุ้นเช่นกัน

ธรรมชาติของหุ้นย่อมมีราคาขึ้นลง สร้างความตื่นเต้นให้กับนักลงทุนโดยเฉพาะมือใหม่ ซึ่งจะว่าไปก็คงคล้ายกับการยืนอยู่บนแพที่ล่องไปตามลำน้ำ แล้วก็ลุ้นไปด้วยว่าคลื่นน้ำจะซัดเราให้เปียกหรือไม่


พี่จ๋า ขอขี่คอหน่อย


หลายคนที่เป็นมือใหม่เกิดความหวาดกลัวว่าจะเปียกน้ำ จึงมองหาทางเลือกอื่นที่น่าสนใจ บางคนก็ไปจ้างคนมายืนให้ "ขี่คอ" ระหว่างที่ล่องแพไปด้วย ซึ่งถ้าเป็นโลกของการลงทุน นั่นก็คือการไปซื้อกองทุนรวมนั่นเอง

น้องมือใหม่อาจคิดไปว่า "รอดแล้ว ข้าไม่เปียกน้ำแล้วโว้ยยย" แต่ลืมไปว่าตัวเองก็ยังคงอยู่ในแพนั่นเอง ระหว่างที่คลื่นน้ำซัดแพไปมา คุณพี่กองทุนรวมก็โงนเงน แกว่งซ้ายแกว่งขวา น้องมือใหม่เริ่มคิดได้ว่า นี่มันก็น่ากลัวเหมือนกันนี่หว่า

มิหนำซ้ำพอผ่านไปซักพัก พี่กองทุนเริ่มห้าว กระโดดออกจากแพนี้ไปแพนั้น จนน้องมือใหม่ที่ขี่คออยู่เริ่มจะเวียนหัว ครั้นพอถามดูพี่กองทุนคนเก่งก็ชี้ไปที่พี่กองทุนคนอื่นๆ ที่กระโดดข้ามไปมาระหว่างแพกันเป็นว่าเล่น แล้วกระซิบบอกว่า "ถ้าไม่โดดตามคนอื่น พี่ก็ตกงานสิน้อง"

ความจริงแพที่พวกเขาโดดไปมา เปรียบไปก็เหมือนกับหุ้นแต่ละตัว บางแพแข็งแรงและแน่นหนาดี แต่บางแพก็ผูกขึ้นหลวมๆ ยืนแล้วก็โคลงเคลงอยู่เหมือนกัน ดูไปน่ากลัวว่าจะ "แพแตก" เอาได้ แต่พี่กองทุนก็ยืนยันจะกระโดดไป เพราะใครๆ เขาก็ทำ!

การมัวแต่กระโดดไปมาทำให้พี่กองทุนไม่มีเวลาพินิจพิจารณาอะไรมากมายนัก ต่างจากเซียน VI ที่ยืนสงบนิ่งอยู่บนแพเดียวกัน พวกเขาให้ความสำคัญกับความแข็งแรงของแพ รวมทั้งความสามารถของผู้ควบคุมแพ แม้การกระโดดข้ามไปมาของพี่กองทุนและน้องแมงเม่าอีกหลายคนอาจทำให้เซียน VI เวียนหัวอยู่บ้าง แต่พวกเขาก็พยายามไม่ใส่ใจ และหันมาจดจ่อกับ "ทิศทาง" และ "ความเร็ว" ของแพต่อไป

เดิมทีน้องมือใหม่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความเชี่ยวชาญ แล้วก็กลัวเปียกน้ำด้วย จึงไปขี่คอคนอื่น ทว่าตอนนี้กลับเริ่มรู้สึกแล้วว่า ที่จริงตัวเองก็พอดูเป็นเหมือนกันว่าแพไหนแข็งแรง แพไหนดูเปราะบาง แพไหนเคลื่อนที่ช้า และแพไหนพายมั่วไร้ทิศทาง! ที่สำคัญเมื่อพิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว การที่ "ขาเปียกน้ำ" มันไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย เมื่อเทียบกับการตกน้ำเพราะแพแตกและจมหายไปในกระแสน้ำ


ลงทุนในกองทุนรวม


ในทำนองเดียวกัน การลงทุนในกองทุนรวมก็ไม่ได้ช่วยให้เรารอดตัวไปจากความผันผวนของตลาดหุ้น เรายังคง "ถือหุ้น" อยู่ เพียงแต่ว่าถือผ่านกองทุนรวม และความผันผวนของหุ้นก็จะส่งต่อมาที่กองทุนรวมเช่นกัน

เราอาจคิดว่าผู้จัดการกองทุนมีความรู้เรื่องหุ้นมากกว่าเรา อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าเราเองก็สามารถพัฒนาตัวเองให้มีความรอบรู้ได้ หากมีความพยายามมากเพียงพอ

ผมเชื่อเสมอว่า แม้แต่เซียน VI เองก็เริ่มต้นจากศูนย์ เราจึงไม่มีเหตุผลที่จะท้อถอย หากเราจะต้องเริ่มจากศูนย์บ้าง

การที่เราเริ่มต้นลงทุนจาก "งูๆ ปลาๆ" จนกระทั่งเก่งขึ้นเรื่อยๆ เราสามารถเลือกหุ้นที่เหมาะกับบุคลิกและความถนัดของเรา ไม่ว่ามันจะเป็นหุ้นตัวใหญ่หรือตัวเล็ก ที่สำคัญคือ ไม่มีใครจะมากะเกณฑ์ว่าเราต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับตัวเราเพียงผู้เดียว!

ในทางกลับกัน ผู้จัดการกองทุนจำเป็นต้องตีกรอบตัวเองลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ และบ่อยครั้งที่ต้องซื้อขาย "ตามกระแสสังคม" หรือตามความนิยม ไม่เช่นนั้นหากผลการดำเนินงานของกองทุนด้อยกว่ากองทุนอื่น พวกเขาก็อาจลำบากหรือตกงานได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นกองทุนต่างๆ มีผลการดำเนินงานไล่เลี่ยและเกาะกลุ่มกัน รวมทั้งหากกะเทาะพอร์ตเปิดออกมาดูแล้ว เราก็จะเห็นรายชื่อหุ้นคล้ายๆ กันราวกับไปลอกกันมา

เหตุผลหนึ่งที่กองทุนรวมสามารถอยู่รอดได้ เป็นเพราะคนจำนวนไม่น้อยมีความ "กลัว" ที่จะเรียนรู้และ "เปียกน้ำ" ทั้งที่มันไม่ใช่สาระสำคัญของการลงทุน


"มอง" ที่จุดหมายปลายทาง


หากล่องแพแล้วขาเราเปียกน้ำนิดๆ หน่อยๆ ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา การแพแตกและตกน้ำต่างหากที่เป็นเรื่องใหญ่ ... การลงทุนหุ้นก็เช่นเดียวกัน ความผันผวนของราคาหุ้นในระหว่างทางถือเป็น "เรื่องขี้หมา" โดยเฉพาะถ้าคุณซื้อหุ้นเพื่อกระแสเงินสด และไม่เคยมีความคิดจะขายมัน เพื่อเอากำไรระยะสั้นเล็กๆ น้อยๆ

สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือ "จุดหมายปลายทาง" เราต้องดูว่าแพนั้นจะนำเราไปที่ไหน และมันแข็งแรงพอที่จะพาเราไปตลอดรอดฝั่งหรือไม่ เช่นเดียวกับที่เราต้องดูว่าหุ้นตัวนั้นแข็งแรงหรือไม่ และจะเติบโตได้แค่ไหน

คนสมัยนี้ชอบเอาเรื่องขี้หมามาเป็นอารมณ์ ไม่เว้นแม้แต่ในการลงทุน หากเราตั้งใจซื้อหุ้นเพื่อกระแสเงินสด เราจะแทบไม่คิดถึงการ "ขายหุ้น" เสียด้วยซ้ำ มีแต่จะ "เก็บหุ้น" เพื่อเพิ่มกระแสเงินสด ดังนั้น การที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงจึงถือว่าเป็นข่าวดี มากกว่าที่จะตระหนกตกใจ

หลายคนลังเลที่จะลงทุนในหุ้นจึงเลือกที่จะเอาเงินไปฝากธนาคาร เพราะคิดว่าปลอดภัยและเงินต้นไม่หายแน่นอน อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าการเอาเงินฝากธนาคารเปรียบเสมือนกับการ "ลงเรือรั่วที่ผูกไว้กับท่า" คุณจะไม่มีวันได้ไปไหน และนับวันมีแต่จะจมลง

การโดยสารไปกับแพนั้น ขาของเราอาจเปียกน้ำนิดๆ หน่อยๆ แต่เรามีจุดหมายปลายทางที่แน่นอน งานของเราก็เพียงแต่หาแพอันที่แข็งแรงเพียงพอเท่านั้น ส่วนการลงเรือที่ผูกไว้กับท่า จุดหมายปลายทางของเราก็คือ "ที่เดิม" เรียกว่า ไม่ไปไหนแล้วโว้ย จะขออยู่ตรงนี้แหละ อย่างน้อยก็ไม่ขาดทุน

ทว่า...พวกเขาอาจลืมไป "เงินต้น" ที่ยังอยู่จะถูกเงินเฟ้อกัดกร่อนลงทุกวัน แม้จะได้ดอกเบี้ยแต่มันก็ยังแพ้เงินเฟ้ออยู่ดี คุณค่าของมันจึงค่อยๆ ลดลงโดยที่เราแทบไม่รู้สึกตัว เปรียบเหมือนกับเรือที่มีรูรั่วและค่อยๆ จมลง ซึ่งก็น่าแปลกใจที่คนจำนวนไม่น้อยยินดีที่จะจมลงไป "อย่างปลอดภัย"


"ปล่อยฉันไว้เถอะ"


เรื่องจริงของชีวิตก็คือ คนจำนวนมากยอมลงเรือรั่วที่ผูกไว้กับท่า และยอมจมน้ำอย่างปลอดภัย ดีกว่าจะไป "ปวดกบาล" เรียนรู้เรื่องการลงทุน ครั้นพอจะสอนให้ ง่ายๆ เบสิก ก็หันมาบอกว่า "ปล่อยฉันไว้เถอะ ฉันกลัว"

... ผมมองเท้าทั้งสองข้างของผมที่เปียกน้ำอยู่เป็นครั้งคราว มันไม่แย่นักเมื่อคิดว่าขณะนี้ผมกำลังเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางที่ตั้งใจไว้ และนึกขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดลใจให้ผมก้าวข้ามความกลัวไร้สาระ แล้วหันมาเรียนรู้เรื่องการลงทุน

แม้ผมจะไม่สามารถชักชวนทุกคนให้ละทิ้งเรือรั่วได้ก็ตามที

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ29 มีนาคม 2556 เวลา 14:16

    อยากให้บทความใน Blog รวบรวมเป็นเล่มจังครับ ติดตามมาปีกว่าแล้ว

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณครับ :D

      มีเป็นหนังสือชื่อ "ปลุกความคิด พิชิตการลงทุน" หาได้ในร้านซีเอ็ดครับ มีปรับปรุงและเขียนเพิ่มเติมด้วย

      ลบ