วันอังคารที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2556

X-RAY อิสรภาพทางการเงิน (A)


เป็นตอนเกือบจบของเรื่องอิสรภาพทางการเงินนะครับ

(ถ้ายังไม่เคยอ่าน โปรดดู
http://www.monkeyfreetime.com/2012/12/blog-post_30.html,
http://www.monkeyfreetime.com/2013/01/x-ray.html และ
http://www.monkeyfreetime.com/2013/02/x-ray-r.html เสียก่อน)

คราวนี้เราจะพูดถึงตัว A หรือ Asset ซึ่งมักเป็นจุดหมายปลายทางของคำถามที่ว่า "ต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงจะมีอิสรภาพทางการเงิน?"


อาวุธจะดีขึ้นได้อย่างไร


อย่างที่ผมเปรียบเอาไว้ตั้งแต่ต้นว่า การพิชิตอิสรภาพทางการเงิน คือ การต่อสู้กับสัตว์ที่ร้ายกาจ และ "สัตว์ร้าย" (ค่าใช้จ่าย หรือ ตัว X) เป็นสิ่งที่เราเลือกเองว่าอยากเจองานง่ายหรืองานยาก ส่วน "ทักษะการใช้อาวุธ" (อัตราผลตอบแทน หรือ ตัว r) เป็นเรื่องของการรีดเอาศักยภาพของอาวุธเท่าที่มีออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์

เมื่อพูดถึง อาวุธ หรือ ตัว A ของเรา หากติดตามดูชีวิตของคนส่วนใหญ่ที่ต้องทำงานเก็บเงิน ทรัพย์สินของเราจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทางหนึ่งก็มาจาก "เงินออม" (Earning - eXpense) ในแต่ละเดือน และอีกทางหนึ่งก็มาจากทรัพย์สินที่ "งอกเงย" ขึ้นมา (นำ asset A ไปลงทุนได้อัตราผลตอบแทน r ทำให้ได้ผลตอบแทนเท่ากับ rA)


ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น = (E - X) + rA
 
 
ในระยะแรกที่เรายังมีเงินน้อยอยู่ การเพิ่มขึ้นของทรัพย์สินจะมาจาก "เงินออม" เป็นหลัก หัวใจของการไปสู่อิสรภาพทางการเงินในระยะแรกจึงเป็นการใช้จ่ายให้น้อย (minimise ตัว X) และถ้าสามารถเพิ่มรายได้ (ตัว E) ด้วยก็ยิ่งดี อย่างไรก็ตาม การเพิ่มรายได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะถ้าเรายุ่งอยู่กับงานประจำมากพออยู่แล้ว
 
แม้การงอกเงยของทรัพย์สินจะยังไม่ได้มีบทบาทสำคัญในช่วงแรกนี้ แต่การฝึกลงทุนและแสวงหาความรู้ก็เป็นสิ่งที่ต้องเริ่มทันที เพราะมันเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา
 
 

สมดุลบนเส้นทางสู่อิสรภาพ

 
ข้อดีของการเริ่มฝึกเร็วก็คือ หากเราลงทุนพลาด ความเสียหายก็ยังไม่มากมายนัก เนื่องจากเงินลงทุนของเราก็ยังน้อยอยู่ โดยมากแล้วถ้าเราไปถูกทาง ทรัพย์สินของเราจะเพิ่มขึ้น พร้อมไปกับความรู้เรื่องการลงทุนที่มากขึ้น
 
ผมขอให้ข้อสังเกตเทอม rA ในสมการข้างต้นดังนี้ครับ
 
หากเรามีตัว A ใหญ่ แต่ตัว r เล็ก ก็เหมือนกับการมีอาวุธใหญ่แต่ไม่มีแรงยกขึ้นไปฟาดฟันใคร ในทางกลับกัน หากเรามีตัว r ใหญ่ แต่ตัว A เล็ก ก็เหมือนกับการใช้อาวุธได้แคล่วคล่องว่องไว แต่ไม่น่าเกรงขาม เพราะอาวุธมันเล็กจนไม่สามารถทำงานใหญ่ๆ ได้
 
ทั้งสองกรณีเป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงประสงค์ เป็นตัวอย่างของคน "มีตังค์" แต่ลงทุนไม่เป็น กับอีกคนที่ "ลงทุนเก่ง" แต่ไม่มีเงินทุน และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ผมสนับสนุนให้เริ่มต้นฝึกฝนลงทุนตั้งแต่ยังมีเงินไม่มากนัก เพื่อที่ว่าตัว A กับ ตัว r ของเราจะได้เข้มแข็งขึ้นไปพร้อมๆ กัน ซึ่งย่อมจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นในตัวเอง ตลอดจนการควบคุมจิตใจในระหว่างที่อยู่ในสนามลงทุนด้วย
 
 

เมื่อเงินทุนมากขึ้น

 
ตามธรรมชาติเมื่อมีเงินทุนมากขึ้น การเก็บออมจะส่งผลต่ออิสรภาพทางการเงินน้อยลง เมื่อเทียบกับการลงทุน
 
อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ลืมว่า "ค่าใช้จ่าย" หรือ ตัว X ยังคงแสดงบทบาทอยู่ในสมการอิสรภาพทางการเงินอยู่เสมอ ดังนั้น เราอาจผ่อนคลายการหารายได้ลงได้ เช่น ลดจำนวนชั่วโมงที่ทำงานล่วงเวลา (OT) หรืองานเสริม แต่ไม่ควรเผลอตัวใช้จ่ายเกินจำเป็น ไม่เช่นนั้นการไขว่คว้าหาอิสรภาพทางการเงินของเราก็จะเหมือนกับการพยายามวิ่งเข้า "เส้นชัย" ที่ขยับไกลออกไปเรื่อยๆ
 
และนั่นก็เป็นสิ่งที่มนุษย์เงินเดือนหลายคนกระทำอยู่
 
เงินทุนที่มากขึ้นอาจทำให้คุณรู้สึกชื่นใจ รู้สึก "รวย" และอยากนำเงินออกมาใช้สอยให้มันสมฐานะ ขอให้หยิกตัวเองไว้และคิดเสมือนว่ามันเป็นเงินที่ลงทุนทำธุรกิจ ซึ่งไม่สามารถดึงเข้าดึงออกมาจับจ่ายได้ตามใจชอบ
 
พยายามอย่าไปสนใจคนที่พูดจาประมาณว่า "เฮอะ! มีเงินแล้วไม่ใช้ ก็เหมือนไม่มี" เพราะที่จริงคุณก็ใช้เงินของคุณอยู่ เพียงแต่คุณใช้มันลงทุน!
 
รอจนวันที่อิสรภาพทางการเงินมาถึง พอถึงตอนนั้นแล้ว คุณจะใช้เงินส่วนที่เกินมายังไงก็ได้ จะไปไหนก็ได้ เอาเวลาไปทำประโยชน์อย่างอื่น หรือจะทำงานต่อไปก็ได้ เพราะคุณมี "อิสรภาพ" แล้วครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น