ไม่กี่ปีมานี้ แนวคิดการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investment หรือ VI) ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ "ความร่ำรวย" ของนักลงทุนรุ่นพี่อย่าง ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร หรือรุ่นปู่อย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ซึ่งทำเอานักลงทุนรายย่อยตาโต และสนใจอยากทำตามบ้าง
"ความน่าเชื่อถือ" เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้คนหันมาสนใจ และรู้สึกว่าการลงทุนแบบนี้มีความยั่งยืนมากกว่าการวิ่งไล่ตามราคาหุ้นในแบบเดิมๆ ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะ "ภาพลักษณ์" ของเหล่า VI (Value Investor หรือเรียกย่อๆ ว่า VI อีกเหมือนกัน) ที่ดูมีความรู้และดูเท่ดี
อย่างไรก็ตาม การลงทุนแบบ VI มักถูกมองว่า "ช้า" และ "ไม่เร้าใจ" แต่ถึงกระนั้นเรากลับเห็น VI รุ่นใหม่หลายคนรวยขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จากเงินไม่กี่แสนกลายเป็นหลายสิบล้าน ขึ้นแท่นเศรษฐีหุ้นย่อยๆ ได้ทั้งที่อายุยังไม่ถึง 30 เสียด้วยซ้ำ
...หรือว่าภาพของ VI ที่เชื่องช้าและน่าเบื่อ ควรจะเปลี่ยนไปได้แล้ว?
VI รุ่นใหม่
เราอาจเคยได้ยินเรื่องราวของ VI รุ่นใหม่ๆ ที่ "รวยฟ้าผ่า" ระดับ 10 เด้ง (10 เท่า) ได้ในเวลาแค่ 2-3 ปี ซึ่งถือว่าเป็นผลตอบแทนที่น่าอัศจรรย์ใจและสูงกว่า VI รุ่นบุกเบิกเสียอีก ถ้าอย่างนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่าเขาทำได้อย่างไร และเราจะทำตามได้หรือไม่
อย่างแรกเลย เราต้องยกเครดิตให้กับ VI รุ่นใหม่เหล่านี้ พวกเขามี การวิเคราะห์ธุรกิจ อย่างละเอียดในแบบเดียวกับ VI รุ่นบุกเบิก ซึ่งก็ต้องขอบคุณอินเตอร์เน็ตด้วยที่ทำให้การหาข้อมูลและข่าวสารต่างๆ เป็นไปได้ในเวลาอันรวดเร็ว การค้นคว้าและทำการบ้านทำให้นักลงทุนเหล่านี้ "จำแนกออก" ว่าบริษัทไหนดี บริษัทไหนห่วย และบริษัทไหนกำลังจะฟื้นตัว
อย่างที่สอง เป็นแนวคิดของการใช้ วิธีทางเทคนิค มาประกอบการซื้อขายด้วย ผมไม่ได้พูดถึงแค่การดูกราฟ แต่ยังรวมไปถึงแนวคิดการ cut loss หรือตัดขาดทุนด้วย ประมาณว่าถ้าซื้อแล้วหุ้นลง VI รุ่นใหม่เหล่านี้ก็อาจตัดใจขายหุ้นทิ้งไปเลย พวกเขายอม cut loss นิดๆ หน่อยๆ เพื่อให้มั่นใจว่าทรัพยากรอันล้ำค่าของพวกเขา (เงินทุน) จะไปอยู่กับหุ้น "หลายเด้ง" ไม่ใช่อยู่กับหุ้นที่ "ติดดอย"
กล่าวได้ว่า VI รุ่นใหม่ใช้ให้เงินของพวกเขา "ทำงานหนัก" อยู่เสมอ
อย่างที่สาม นอกจากจะใช้ให้เงินของตัวเองทำงานหนักแล้ว พวกเขายังไปเอา เงินของคนอื่น มาใช้ให้ทำงานหนักอีกด้วย นั่นก็คือ การซื้อหุ้นด้วยมาร์จิ้น
นักลงทุนเหล่านี้มีการวิเคราะห์จนมั่นใจ(มากๆ) พวกเขากล้า "กู้ยืม" เงินจากโบรกเกอร์เอามาซื้อหุ้น แม้พวกเขาจะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับโบรกเกอร์ แต่ก็ถือว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับการได้ "ตัวช่วยทด" หรือ leverage ที่มาในรูปแบบของมาร์จิ้น วิธีนี้ทำให้เงินน้อยกลายเป็นเงินมาก และถ้ามาถูกทาง พวกเขาก็จะรวยเร็วขึ้นเป็นเท่าตัว
การทำแบบนี้ยิ่งทำให้เงินของพวกเขาทำงานหนักขึ้นไปอีก เพราะนอกจากเอาไปจ่ายเป็นค่าหุ้นแล้ว หุ้นที่ได้มาก็ยังเอาไปวางเพื่อเป็นหลักประกันในการซื้อด้วยมาร์จิ้นอีกด้วย
ถ้าเปรียบเป็นการ "บิดผ้า" ก็คงเรียกว่าบิดเสียจนผ้าแห้งแล้วแห้งอีกไม่มีน้ำเหลือซักหยด
เปรียบเทียบกับ VI รุ่นเก่า
ฟังดูแล้วนี่เป็นการลงทุนที่ฉลาดมาก อย่างไรก็ดี เราต้องไม่ลืมเรื่อง "ความเสี่ยง" ด้วย ในฐานะของนักลงทุน เราต้องระลึกไว้เสมอว่า อะไรๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ และไม่ว่าจะวิเคราะห์มาเป็นอย่างดีเพียงใด หุ้นที่เลือกมาก็อาจทรยศเราได้เสมอ
เคยได้ยินเรื่องของ "ผ้าขนหนูสีตก" มั๊ยล่ะครับ?
ราคาหุ้นในระยะยาวจะเป็นไปตามพื้นฐานของกิจการ แต่ในระยะสั้นราคาอาจผิดเพี้ยนไปได้มาก ถ้าเราลงทุนด้วยเงินตัวเองก็แล้วไป เพราะยังถือยาวรอให้ตลาดสะท้อนพื้นฐานที่แท้จริงของกิจการได้ แต่ถ้าเราลงทุนด้วยมาร์จิ้น โบรกเกอร์เขาไม่ฟังเสียงหรอกนะครับ ถ้าหลักประกันไม่พอเขาก็บังคับขายทันที
ดอกเบี้ยก็ต้องจ่ายมาตลอดทาง กำไรยังไม่ทันจะได้ก็โดนบังคับขายหุ้นขาดทุนอีก ขาดทุนในส่วนที่ซื้อด้วยเงินตัวเองไม่พอ ยังขาดทุนในส่วนที่ซื้อด้วยมาร์จิ้นอีกด้วย เรียกว่าเสียหายแบบดับเบิ้ลเลยทีนี้
เทียบกับ VI รุ่นเก่าซึ่งลงทุนอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยเงินเก็บของตัวเองล้วนๆ พวกเขาไม่ดูกราฟหรือแนวโน้มใดๆ หากตลาดเกิดพยศชั่วครั้งชั่วคราวพวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนขายหุ้น ในทางตรงข้ามจังหวะที่หุ้นตกแบบไม่มีเหตุผลกลับเป็นช่วงเวลาที่ "รุ่นเก๋า" เหล่านี้จะแคะกระปุกมาซื้อหุ้นถูกๆ แล้วรอให้ตลาดกลับสู่ภาวะปกติเอง
โมเดลด้วยรูปสามเหลี่ยม
ผมคิดว่าจะเข้าใจง่ายขึ้นถ้าเรามองวิถี VI ทั้งสองแนวนี้เป็นสามเหลี่ยม
VI รุ่นเก่าเป็นสามเหลี่ยมที่มี ฐานกว้าง ความอนุรักษ์นิยมของพวกเขาทำให้ได้ผลตอบแทนดีและการลงทุนมีความ "มั่นคง" ขณะที่ VI รุ่นใหม่ เป็นสามเหลี่ยมที่มี ฐานแคบ พวกเขายอมรับความเสี่ยงสูงกว่า แต่ก็ทำให้ "รวยเร็ว"
ถ้าเทียบกันในช่วงต้นของชีวิตการลงทุน VI รุ่นใหม่ มีอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่า VI รุ่นเก่า อย่างเห็นได้ชัด เมื่อมองกันในมุมนี้เราอาจน้ำลายยืด อยากทำได้อย่าง VI รุ่นใหม่บ้าง
อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบสถานการณ์ปัจจุบัน VI รุ่นเก่า สร้างเนื้อสร้างตัวจนร่ำรวยมหาศาลไปแล้ว สังเกตว่าผมแสดง "ความคืบหน้า" ของ VI รุ่นเก่า เอาไว้ด้วย ดูๆ ไปอาจคล้ายวงปีของต้นไม้ โดยชีวิตการลงทุนช่วงแรกของ VI รุ่นเก่า มีความอนุรักษ์นิยมอยู่ค่อนข้างมากอย่างที่กล่าวแล้วข้างต้น แต่ถึงกระนั้นพวกเขาก็ "รวยมาเรื่อยๆ"
ในภายหลัง VI รุ่นเก่า บางท่านอาจมีการใช้มาร์จิ้นซื้อหุ้นบ้างในช่วงสั้นๆ ที่เกิดวิกฤติ หันไปทางไหนก็มีแต่หุ้นถูก สังเกตว่าสามเหลี่ยมของท่านจะชันขึ้นมาบ้าง แต่ในภาพรวมแล้วก็ยังถือว่าฐานยังกว้างและยังมีความมั่นคงอยู่มาก ซึ่งก็เป็นเพราะว่าท่านใช้มาร์จิ้นเป็นการชั่วคราวและสัดส่วนการใช้มาร์จิ้นก็ไม่ได้สูงมาก คือ ไม่ถึง 20% เมื่อเทียบกับพอร์ตหุ้นทั้งหมดที่มีอยู่ ณ ขณะนั้น
ที่สำคัญมีการนำเงินปันผลจากพอร์ตหุ้นมาทยอยลดหนี้ลง ทำให้หุ้นที่ซื้อ "ด้วยเงินคนอื่น" กลายเป็นหุ้นที่ซื้อ "ด้วยเงินตัวเอง" ในที่สุด
ฝากให้คิด
การเป็น VI แบบ "ทันใจ" อาจทำให้รวยเร็วก็จริง แต่ก็ยังมีสิ่งที่มองไม่เห็นอีกมาก ความสำเร็จของ VI รุ่นใหม่ เกิดขึ้นในชั่วเวลาไม่นาน ต้องปล่อยให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ต่อไปว่า แนวทางนี้ใช้ได้ดีในระยะยาวหรือไม่
ในประเด็นของความเสี่ยง หากไปถึงจุดที่ตลาดไม่เป็นใจ สามเหลี่ยมรูปนี้จะ "ล้ม" หรือไม่ และความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมากน้อยเพียงใด
แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น นักลงทุนทุกท่านก็คงต้องรู้จักดูแลตัวเองและมองให้รอบด้าน หากคิดจะเป็น VI ทันใจ ไปอีกคน ...หรือจะเอาช้าแต่ชัวร์ดีล่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น