วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ผ้าขนหนูสีตก

หลังจากผ่านการใช้งานมาหลายปี ผ้าขนหนูผืนเดิมของผมก็หมดสภาพลงและต้อง "เปลี่ยนสถานะ" ไปเป็นผ้าเช็ดเท้าตามระเบียบ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวสอนใจในตลาดหุ้นเรื่องนี้

ด้วยความที่เป็นคนใช้ของค่อนข้างทน เมื่อต้องซื้อผ้าขนหนูผืนใหม่มาทดแทน ผมจึงคิดว่า "เอ้า! ซื้อของคุณภาพดี ใช้ได้นานๆ ไปเลยดีกว่า" เลยตัดสินใจไปเดินเลือกซื้อผ้าขนหนูในห้างสรรพสินค้าชื่อดัง โลโก้สีแดงๆ แต่ไม่ขอบอกว่าชื่อห้างอะไร ปรากฏว่ากำลัง "on sale" อยู่พอดี จากพันกว่าเหลือ 600 บาท ก่อนเอามาใช้ก็ต้องซักใช่มั๊ยครับ ปรากฏว่า...

เหมือนชื่อเรื่องแหละ ผ้าขนหนูยี่ห้อดัง สีฟ้าสวย ดัน... "สีตก!"

บัดนี้ผมมีผ้าขนหนูใหม่เอี่ยม ซักครั้งแรกตามปกติ (ไม่ใช้น้ำยาฟอกสี แถมแยกซักกับผ้าสีอ่อนแล้วด้วย) กลับกลายเป็นสีฟ้ากับรอยด่างขาวๆ ดวงเบ้อเริ่ม นี่ยันไม่ทันได้ปฏิบัติหน้าที่ผ้าขนหนูเลยซักเปี๊ยะเดียว ผมนึกถึงเงิน 600 บาทที่ลอยออกไปด้วยความเสียดาย

เฮ้อ! "รู้งี้" ซื้อในห้างไฮเปอร์มาร์ทแถวบ้านดีกว่า ถูกกว่าเยอะ


หุ้นของคุณ "สีตก" หรือไม่?!


อย่าเพิ่งคิดว่านี่คือคำถามเพี้ยนๆ นะครับ ผมเพียงแต่ถามเปรียบเทียบว่า คุณเคยเจอประสบการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้กับการซื้อหุ้นหรือเปล่า

คุณ "เชื่อ" ว่าหุ้นตัวที่กำลังจะซื้อเป็นหุ้นพื้นฐานดี

คุณ "รู้อยู่แก่ใจ" ว่าราคาที่ซื้อเป็นราคาที่ไม่ถูกเลย

คุณ "คาดหวัง" ว่าหุ้นชั้นดีเยี่ยงนี้ ถึงอย่างไรราคาก็ต้องขึ้น

ทั้งหมดนี้ก่อนที่จะพบว่าหุ้นตัวนี้...ซัก...แล้ว...สี...ตก... ความหมายของผมก็คือ มันไม่ได้ดีเหมือนอย่างที่เราคิดไว้ในตอนแรก มันเซอร์ไพรส์เราด้วยผลกำไรที่ลดลง หรือบางทีหนักหน่อยก็ขาดทุนแรงๆ เลย ทั้งที่ก่อนหน้านี้โชว์กำไรมาตลอดหลายไตรมาส แน่นอนว่าราคาหุ้นร่วงไม่เป็นท่า หลายคนมองซ้ายมองขวา อ้าว! "ดอย" แล้วนี่หว่า


หุ้นเติบโตชั้นดี


ที่จริงต้องเข้าใจก่อนว่า หุ้นหน้าไหนก็ส่งเราไปอยู่ "ดอย" ได้ทั้งนั้น เพียงแต่ว่าคนส่วนมาก "ทำใจได้" ถ้าต้องไปดอยกับหุ้นปั่น หลายคนตระหนักถึงความเสี่ยงนี้จึงตัดใจ cut loss ไปตั้งแต่ต้นมือ เพราะรู้วิธีรับมือหุ้นปั่นเป็นอย่างดี

แต่สำหรับหุ้นเติบโตชั้นดีนั้นต่างออกไป คนจำนวนมากมองมันเป็นหุ้นที่มีอนาคต เมื่อราคาตกก็รอแต่จะเก็บเพิ่มเสียด้วยซ้ำ บ่อยครั้งมันไต่ราคาขึ้นจนแทบไม่มีจังหวะย่อลงมาให้ซื้อ บางคนจึงกัดฟันซื้อในราคาค่อนข้างแพงและก็พบว่าราคามันขึ้นต่อไปได้จริงๆ จนถึงกับมีคำกล่าวว่า "หุ้นเติบโตไม่เคยแพงเกินไป" เพราะในไม่ช้ากำไรก็จะโตตามมาจนทัน

นักลงทุนยินดีจ่ายเงินซื้อหุ้นในราคาแพง เช่น ซื้อหุ้นที่มีค่าพีอี (P/E หรือ price-to-earning) สูงๆ โดยเชื่อว่ากำไรที่เติบโตจะช่วยให้ค่าพีอีในอนาคตลดลงมาเอง ซึ่งก็จริง "ถ้ามันยังเติบโต" ดังนั้น เราจึงเห็นคนยอมซื้อหุ้นที่มีค่าพีอี 40 เท่า แล้วราคาก็ยังคงขึ้นต่อไป

ปัญหาก็คือ หุ้นเติบโตจะยังดีตราบเท่าที่มันเติบโต เมื่อใดที่มันหยุดหรือชะลอการเติบโต เมื่อนั้นหายนะก็มาถึง


อะไรทำให้หุ้นสีตก


เคยนึกกันบ้างหรือไม่ว่า คนยินดีซื้อหุ้นที่ค่าพีอี 40 เท่าก็เพราะคาดหวังการเติบโตในระดับ "สูงมาก" หากวันไหนที่หุ้นตัวนั้นลดลงมาเติบโตในระดับ "ปานกลาง" หรือ "ค่อนข้างสูง" บางทีมันอาจเทรดกันที่ค่าพีอี 20 เท่าก็ได้ พูดง่ายๆ ก็คือ

ราคาหุ้นอาจลดลงมาเหลือครึ่งเดียว!

นี่แค่ผลจากการชะลอตัวของอัตราการเติบโตนะครับ ถ้าเกิดบริษัทพลิกกลับไปขาดทุน ทีนี้ค่าพีอีอาจร่วงลงไปเหลือ 10-15 เท่าก็เป็นได้ นั่นคือ ราคาหุ้นอาจลดลงมาเหลือแค่ 1 ใน 4 จากจุดสูงสุด ผมรับรองได้เลยว่าคุณหลับไม่สบายแน่ๆ ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้น

นี่คือความน่ากลัวของการซื้อหุ้นที่มีค่าพีอีสูงๆ หรือการยอม "จ่ายแพง" เพื่อบริษัทชั้นเยี่ยม ซึ่งถ้าเป็นสถานการณ์ปกติก็แล้วไป แต่เมื่อไหร่เกิดการพลิกล็อก โอกาสเจ๊งยับก็มีสูง เพราะเรายอมให้ "แต้มต่อ" ไปกับตลาดเสียแล้ว

ตรงข้ามกับเซียน VI ตัวจริงซึ่งซุ่มรอโอกาสและจะเข้าซื้อต่อเมื่อมี "ส่วนต่างแห่งความปลอดภัย" หรือ margin of safety ที่มากเพียงพอ พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ เขาต่อรองขอ "แต้มต่อ" จากตลาด


อย่างมาก - อย่างน้อย


เมื่อเราซื้อในจังหวะที่อะไรๆ ก็ดูดีไปหมด ทุกอย่างที่เราเห็นคือ "อย่างมาก" เท่าที่บริษัทจะทำได้ ตัว E (earning) เป็นค่า maximum เท่าที่มันจะเป็นได้ ค่าพีอีที่สูงๆ มันจึง "สูงจริงๆ"

ในทางกลับกัน หากเราซื้อในจังหวะที่อะไรๆ ก็ดูแย่ นักวิเคราะห์ต่างใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้น สมมติฐานที่ใช้ก็อนุรักษ์นิยมมากขึ้น ตัว E จึงแทบจะเป็นค่า minimum สิ่งที่เราเห็นเป็น "อย่างน้อย" ที่บริษัทจะทำได้ และเมื่อประกาศกำไรออกมา บริษัทก็มักทำได้ดีกว่าที่คาดจริงๆ ตัว E ก็จะพองขึ้นและทำให้ค่าพีอีลดลงมาเอง ค่าพีอีที่ดูเหมือนจะสูง ที่แท้มัน "สูงไม่จริง"

ผมคงฝากไว้เพียงเท่านี้ สำหรับผมคงต้องกลับไปใช้ผ้าขนหนูด่างดวงผืนใหม่เอี่ยมต่อไป ส่วนทุกท่านจะทำอย่างไรกับหุ้นสีตก หรือคราวหน้าจะหลีกเลี่ยงอย่างไร ก็ลองนึกกันดูนะครับ

1 ความคิดเห็น: