วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ปันปัน vs ทบแหลก


แต่ไหนแต่ไรมาผมชอบลงทุนในหุ้นปันผล เพราะได้ผลตอบแทนถึงสองต่อ ต่อแรกคือ "เงินปันผล" ส่วนต่อที่สองคือ "ราคาหุ้นที่สูงขึ้น" ความรู้สึกอันหนึ่งที่คอหุ้นปันผลมีร่วมกัน ได้แก่ ความรู้สึกเบาใจและสบายใจ ไม่ว่าตลาดหุ้นจะผันผวนเพียงใด พวกเราก็มักจะได้เงินปันผลมากขึ้นทุกปีๆ ตราบเท่าที่กิจการยังไปได้สวย

แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ผมปิดตัวเองออกจากหุ้นในกลุ่มที่เรียกว่า "หุ้นเติบโต" ซึ่งแม้จะไม่เน้นการจ่ายเงินปันผล แต่มันก็ทบกำไรเก็บไว้ขยายกิจการและสร้างการเติบโต จนผมเริ่มสงสัยว่าระหว่างซื้อหุ้นปันผลแล้วเอาเงินปันผลมาลงทุนซ้ำ (ซึ่งทำให้เรามีหุ้นมากขึ้น และปีหน้าก็จะยิ่งได้เงินปันผลมากขึ้นไปอีก) กับการซื้อหุ้นเติบโตที่ไม่จ่ายเงินปันผล อย่างไหนจะทำให้รวยมากกว่ากัน

ในการนี้ผมสมมติบริษัทขึ้นมา 2 แห่ง คือ บริษัทปันปัน กับ บริษัททบแหลก ทั้งสองบริษัทมีลักษณะเหมือนกันแทบจะทุกประการ (มีหุ้นสามัญ 100 ล้านหุ้น, มีขนาดสินทรัพย์ 1,000 ล้านบาท, มีอัตราส่วนหนี้สินต่อผู้ถือหุ้น หรือ D/E เท่ากับ 1, มี ROA เท่ากับ 12%, มีค่า P/E เท่ากับ 15) จะแตกต่างกันก็เพียงว่าบริษัทปันปันจ่ายเงินปันผลในอัตรา 50% ของกำไรสุทธิ ส่วนบริษัททบแหลกไม่จ่ายเงินปันผลเลย

ภายใต้สมมติฐานว่าบริษัททั้งสองยังคงรักษา ROA ไว้ได้ที่ระดับเดิม และควบคุมค่า D/E ไว้ที่ 1 ได้ตลอดเวลา 10 ปี รวมทั้งไม่มีการเพิ่มทุนใดๆ และไม่เอาผลของค่าคอมมิชชั่นมาคิด หากเราเริ่มลงทุนด้วยเงิน 1 ล้านบาทเท่าๆ กัน (ดูตารางประกอบด้วย) ปรากฏว่า...



บริษัท ปันปัน จำกัด (มหาชน)


ณ จุดเริ่มต้น บริษัทมีกำไรเท่ากับ ROA คูณด้วยสินทรัพย์ ซึ่งเท่ากับ 120 ล้านบาท กำไรของบริษัทส่วนหนึ่งจะถูกจ่ายออกมาเป็นเงินปันผล อีกส่วนหนึ่งจะถูกบันทึกเป็นกำไรสะสม ทำให้ equity ในปีถัดมาสูงขึ้น ขนาดของบริษัทจึงใหญ่ขึ้น

กลับมาดูที่ตัวเราบ้าง จากกำไรต่อหุ้น 1.20 บาท เมื่อเทียบกับค่า P/E 15 เท่า จะคิดเป็นราคาหุ้น 18 บาท สรุปว่าเราจะซื้อหุ้นได้ 55,556 หุ้นในขั้นแรก และจะมีจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นในปีถัดๆ มาเนื่องจากเราเอาเงินปันผล (รวมทั้งเครดิตภาษีเงินปันผล) ที่ได้รับไปซื้อหุ้นเพิ่ม

เมื่อครบ 10 ปี เราจะมีจำนวนหุ้นทั้งสิ้น 78,909 หุ้น ที่ราคา 55.91 บาท คิดเป็นความมั่งคั่ง 4,411,435 บาท หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนทบต้น 16% ต่อปี


บริษัท ทบแหลก จำกัด (มหาชน)


ช่วงเริ่มต้นจะเหมือนกรณีของบริษัทปันปัน ยกเว้นเรื่องของเงินปันผล ด้วยเหตุนี้เราจึงมีจำนวนหุ้น 55,556 หุ้นเท่าเดิมตลอดระยะเวลา 10 ปี อย่างไรก็ตาม สังเกตว่าบริษัททบแหลกสามารถเพิ่มสินทรัพย์จาก 1 พันล้านบาทไปเป็น 8 พันล้านบาท ในขณะที่บริษัทปันปันเพิ่มเป็น 3 พันล้านบาทเท่านั้น

เมื่อคำนวณความมั่งคั่งก็พบว่าพอร์ตของเราโตจาก 1 ล้านบาทไปเป็น 8.59 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนทบต้นสูงถึง 24% ต่อปี ด้วยผลตอบแทนระดับนี้ ถ้าลงทุนให้ยาวนานขึ้นสมมติว่าเป็น 30 ปี เงินล้านเดียวของเราจะกลายเป็น 634 ล้านบาท!

ทีนี้เราคงไม่แปลกใจที่เห็นมหาเศรษฐี VI บางท่านขับวีออสแบบพอเพียง ทั้งที่มีปัญญาซื้อคัมรี่คันโต เหตุก็เพราะท่านไม่ได้เห็นมันเป็นแค่เงิน 1 ล้านบาท แต่เห็นศักยภาพของมันที่จะโตไปเป็นร้อยๆ ล้านบาท ดังนั้น ถ้าใครจะครหาว่า "รวยแล้วจะมัวงกอะไรกับเงินแค่ล้านเดียว" ก็ควรจะปรับใหม่เป็น "มางกอะไรกับเงินแค่ร้อยล้าน"


ข้อคิดจากเรื่องนี้


หากพิจารณาจากบริษัททั้งสองก็น่าจะสรุปได้ว่า การลงทุนในหุ้นเติบโตสามารถเอาชนะหุ้นปันผลได้อย่างไม่เห็นฝุ่น แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเราควรจะวิ่งไปขายหุ้นปันผลทิ้ง แล้วเอาเงินมาซื้อหุ้นเติบโตเสียให้หมด เพราะหุ้นทั้งสองประเภทมีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา

ในภาวะปกติหุ้นเติบโตมีความน่าสนใจมากกว่าหุ้นปันผลดังที่เราเห็นจากตัวอย่าง อย่างไรก็ตาม หุ้นปันผลมักโดดเด่นในช่วงตลาดขาลง เนื่องจากมีเงินปันผลเป็นตัวประคองไม่ให้ราคาหุ้นตกต่ำมาก และเงินปันผลที่ออกมาในช่วงหุ้นตกยังสามารถเอาไปซื้อหุ้นเพิ่มได้ในขณะที่หุ้นมีราคาต่ำด้วย (เท่ากับได้จำนวนหุ้นเพิ่มมากกว่าปกติ) ในขณะที่หุ้นเติบโตอาจจะเติบโตช้าลง ซึ่งแค่นั้นก็ถือว่าแย่แล้ว เพราะหุ้นเติบโตจะยังดีตราบเท่าที่มันเติบโตเท่านั้น

เมื่อรู้ดังนี้แล้วคงหา "ส่วนผสม" ที่เหมาะกับตัวคุณและเหมาะกับสถานการณ์ได้ไม่ยาก ไม่มีใครรู้ดีไปกว่าตัวคุณเองครับ

2 ความคิดเห็น:

  1. จริงๆหุ้นทบแหลกแบบ เบิร์กไชย์และแอปเปิ้ลนี่ก็หายากนะครัล

    ส่วนตัวผมจะเดินทางสายกลาง ซื้อหุ้นเติบโตที่จ่ายปันผลพอสมควรในตอนที่เวลาไม่แพง

    เมื่อเวลาผ่านไปปันผลที่ได้นั้นจะมากกว่า %ที่ซื้อตอนแรกอีก หากนับต้นทุนในตอนซื้อเป็นตัวตั้ง

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ใช่ครับ

      คีย์เวิร์ด คือ "ซื้อในตอนที่ไม่แพง" เพราะจะได้จำนวนหุ้นมากกว่าปกติ ทั้งที่คุณภาพของกิจการไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย

      ลบ