วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ธรรมนิทาน TFEX

ในสายตาของนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (value investor หรือ VI) ตราสารอนุพันธ์เป็นสิ่งที่อันตรายและไม่พึงเข้าไปยุ่งเกี่ยว แม้กระทั่งมหาเศรษฐีนักลงทุนอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ยังกล่าวว่า "ตราสารอนุพันธ์เป็นอาวุธทำลายล้างทางการเงิน" ทั้งยังเห็นว่าควรออกกฎหมายห้ามซื้อขายเสียด้วยซ้ำ

ในอีกมุมหนึ่ง นักเก็งกำไรกลับชื่นชอบตลาดอนุพันธ์ หรือ TFEX เพราะว่าใช้เงินลงทุนน้อยและสามารถทำให้ "รวยเร็ว" ได้ถ้าเก่งจริง ซึ่งก็แน่นอนว่ามีทั้งคนที่ทำได้และคนที่ทำไม่ได้ แต่ที่แน่ๆ ทุกคนเข้ามาก็เพราะเชื่อว่าตัวเองจะทำได้

ผมเองมองเห็นทั้งสองมุมมอง จึงอยากแบ่งปันแง่คิดเกี่ยวกับอนุพันธ์ผ่านนิทานธรรมะ ซึ่งอาจจะช่วยให้เหล่า VI เปิดใจให้กว้างขึ้น ขณะเดียวกันก็อาจทำให้นักเก็งกำไรตระหนักถึงสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามากขึ้น


ทิ้งไร่เข้าป่า


อนุกรมานพ ทำไร่ทำสวนเลี้ยงชีพมาเป็นเวลาช้านาน วันหนึ่งมีสหายมาชักชวนให้เลิกทำไร่ "แกจะจับจอบเสียมทำไร่ไปอีกนานเท่าไรวะ ข้าเห็นผู้คนเข้าไปหาของป่า มีแต่มีดพร้าก็หาเงินได้โขอยู่"

แรกๆ อนุกรมานพก็ลังเล ด้วยไม่เคยเข้าไปหาของป่ามาก่อน อีกทั้งทำสวนทำไร่ก็หาเงินได้ไม่ขัดสน แต่ครั้นเห็นผู้คนที่เข้าป่ามาอวดร่ำอวดรวยบ่อยเข้าก็เกิดโลภขึ้นมาบ้าง จึงตัดสินใจทิ้งไร่สวนแล้วเข้าป่าไปกับเพื่อน

"แกแน่ใจรึว่าพวกเราจะทำตามอย่างอ้ายพวกนั้นได้" เขาถามเพื่อนขึ้นมาระหว่างทาง

"ได้สิ" เพื่อนตอบ "แต่พวกเราจักต้องเรียนรู้วิธีอยู่ป่า เมื่อทำถูกวิธีแล้วออกป่าไปได้ก็ร่ำรวยเอง"

"อ้อ นี่แกชวนข้ามา ตัวเองก็ไม่รู้จักวิธีเดินป่าหรอกรึ เวรกรรมแท้ๆ" อนุกรมานพบ่นยังไม่ทันขาดคำ ทั้งสองก็หล่นโครมลงไปในหลุมดักแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว


ในเงื้อมมือโจร


ทั้งสองคนติดอยู่ในหลุมทั้งคืน จนเช้าก็มีโจรป่าพวกหนึ่งผ่านมาพบเข้า พวกมันจึงจับอนุกรมานพและสหายไปทุบตีและขังไว้กลางป่าหมายจะให้นำทางกลับไปปล้นถึงบ้านเลยทีเดียว ครั้นนายโจรและพวกไม่อยู่แล้วทั้งสองคนก็ปรึกษากัน

"ทำไร่ทำสวนได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง แต่ก็ไม่ต้องพบภยันตรายเช่นนี้ เรานี้ช่างโง่นัก" อนุกรมานพโอดครวญ

แต่เพื่อนตอบว่า "คร่ำครวญไปแล้วจะได้อะไร ยามนี้โจรไม่อยู่เป็นโอกาสดีแล้ว ควรที่เราจะสบโอกาสหนีเอาชีวิตรอดเถิด ขืนอยู่ต่อจนพวกมันกลับไปปล้นบ้านจะได้เดือดร้อนไปจนถึงครอบครัวลูกเมียเชียว"

แล้วทั้งสองก็ช่วยกันหาเศษไม้ที่มีคมถากเชือกกันทีละน้อยจนขาดได้ ก่อนจะย่องออกมาอนุกรมานพก็คว้ามีดพร้าของตนเองออกมาด้วย เพื่อที่จะได้ใช้ประโยชน์ในยามเดินป่าต่อไป


ธรรมะเตือนใจ


เมื่อหนีออกมาได้ไกลแล้วทั้งสองคนก็หยุดพักที่ริมลำธาร อนุกรมานพแลเห็นสมณะรูปหนึ่งกำลังสนทนาธรรมกับมานพอีกผู้หนึ่งซึ่งมีนามว่า ธนปติมานพ จึงพากันเข้าไปนมัสการ ทั้งสองต้องประหลาดใจที่สมณะรูปนั้นทราบความเป็นไปของพวกเขาราวกับตาเห็น

"ที่มานพทั้งสองถูกจับตัวไปนั้นเป็นเพราะได้ย่างเข้าเขตแดนของโจร โจรพวกนี้มีเขตหากินของพวกมันอยู่ ผู้ใดอยู่นอกเขตก็หาได้มีอันตราย แต่ผู้ใดก้าวล่วงเข้าไป นายโจรก็ถือว่ากระโจนเข้ามาเล่นกับพวกมันเอง จึงได้ทุบตีให้ได้รับความเจ็บปวด" สมณะรูปนั้นกล่าว

"เป็นเพราะสหายของกระผมชักชวนจึงต้องมาพบเคราะห์กรรมเช่นนี้ อ้ายมีดพร้าเล่มนี้ก็เหมือนกัน ถ้ากระผมไม่หลงคิดว่ามันจะนำพาความร่ำรวยมาให้ก็คงไม่ต้องทุกข์ยากถึงเพียงนี้" อนุกรมานพกล่าวขึ้น แต่ธนปติมานพไม่เห็นด้วย

"กระผมค้าอนุพันธ์เพื่อเลี้ยงชีพ แม้เคยหลงเชื่อเพื่อนจนผิดพลาดเสียทรัพย์ไปบ้าง แต่ก็ไม่เคยกล่าวโทษผู้ใด แล้วมีดพร้าของท่านก็เช่นกัน ท่านไม่ควรจะกล่าวโทษมันเลย" ธนปติมานพอธิบายต่อ "มีดพร้าเป็นแต่เครื่องมือ ท่านเป็นผู้ใช้มัน หากผิดพลาดประการใดก็ควรเป็นเรื่องของผู้ใช้ มิใช่โทษเครื่องมือ"

สมณะกล่าวต่อว่า "ดูก่อนอนุกรมานพ หากมีดพร้านี้อยู่ในมือโจรมันย่อมจะเป็นอาวุธทำร้ายผู้คน แต่เมื่อมีดพร้าอยู่ในมือท่านกลับเป็นเครื่องมือไว้หักร้างถางพง ท่านพึงจะเห็นข้อดีชั่วและใช้มันให้ถูกทาง หรือแม้ไม่คิดจะเดินป่าแล้ว จะกลับไปทำสวนทำไร่ก็แล้วแต่เถิด"


อนุพันธ์ก็คือผิวน้ำ


อนุกรมานพสงสัยนักว่าธนปติมานพผู้มีสติปัญญาและมีวิสัยรอบคอบเป็นปกติ เหตุใดจึงค้าอนุพันธ์ ทั้งที่มันสุ่มเสี่ยงไม่ต่างอะไรจากการที่ตัวเขาเดินป่าผจญอันตรายจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด

"อนุกรมานพ ท่านเห็นลำธารนั่นหรือไม่ โดยปกติน้ำในลำธารย่อมไหลและเกิดคลื่นกระเพื่อมอยู่เนืองๆ ปลาที่อยู่ก้นลำธารจะรู้สึกถึงแรงกระเพื่อมนั้นมากหรือน้อย" ธนปติมานพถามขึ้น

"ย่อมจะน้อย เพราะผิวน้ำที่กระเพื่อมถือว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับน้ำที่ลึกถึง 3-4 ศอก" อนุกรมานพตอบ

"แล้วปลาที่ผิวน้ำจะรู้สึกถึงแรงกระเพื่อมนั้นมากหรือน้อย" ธนปติมานพถามอีก

"พวกมันย่อมรู้สึกมากและตัวโยนไปมาตามแรงคลื่นเสียด้วยซ้ำ" อนุกรมานพว่า

"ค้าอนุพันธ์ก็เช่นกัน คนบางพวกวางเงินประกันน้อยและมองหาแต่กำไรที่จะได้ เมื่อตลาดผันผวนเหมือนระลอกคลื่น พวกเขาก็ถูกโยนไปมา คนพวกนี้จึงว่าอนุพันธ์นี้อันตรายนัก" ธนปติมานพหยุดนิดหนึ่งก่อนที่จะกล่าวต่อว่า "ขณะเดียวกันคนบางพวกคำนวณไว้ก่อนว่ามีโอกาสขาดทุนมากเพียงใด จึงวางเงินประกันไว้มากเพียงพอ พวกเขาเหมือนปลาที่อยู่ก้นลำธารและไม่สั่นไหวไปตามแรงกระเพื่อม"

เขากล่าวต่อไปว่า "ด้วยเหตุนี้ข้าจึงเลือกวิธีที่จะไม่สั่นไหวไปตามแรงกระเพื่อมของตลาด ข้าไม่เดินเข้าไปในเกมของเจ้ามือเหมือนดังที่ท่านเดินเข้าไปในเขตโจร และแม้พลาดท่าเสียทีประการใด ข้าก็จะ cut loss และรีบหนีออกมาเหมือนอย่างที่ท่านและเพื่อนหลบหนีออกมาจากรังโจร"

"ท่านคงไม่คิดดักรอตีหัวนายโจรเพื่อแก้แค้นก่อนที่จะออกมาใช่ไหม ข้าเองก็ไม่คิดจะ "เอาคืน" ก่อนแล้วค่อย cut loss เหมือนกัน เมื่อใดที่ต้องหนีข้าก็จะหนีอย่างไม่ลังเล" ธนปติมานพอธิบาย

"ข้าเห็นแล้วว่าการค้าอนุพันธ์ของท่านนั้นไม่ได้สุ่มเสี่ยงเท่ากับที่ข้าคิดมาก่อนเลย" อนุกรมานพกล่าวในที่สุด

วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ปันปัน vs ทบแหลก


แต่ไหนแต่ไรมาผมชอบลงทุนในหุ้นปันผล เพราะได้ผลตอบแทนถึงสองต่อ ต่อแรกคือ "เงินปันผล" ส่วนต่อที่สองคือ "ราคาหุ้นที่สูงขึ้น" ความรู้สึกอันหนึ่งที่คอหุ้นปันผลมีร่วมกัน ได้แก่ ความรู้สึกเบาใจและสบายใจ ไม่ว่าตลาดหุ้นจะผันผวนเพียงใด พวกเราก็มักจะได้เงินปันผลมากขึ้นทุกปีๆ ตราบเท่าที่กิจการยังไปได้สวย

แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ผมปิดตัวเองออกจากหุ้นในกลุ่มที่เรียกว่า "หุ้นเติบโต" ซึ่งแม้จะไม่เน้นการจ่ายเงินปันผล แต่มันก็ทบกำไรเก็บไว้ขยายกิจการและสร้างการเติบโต จนผมเริ่มสงสัยว่าระหว่างซื้อหุ้นปันผลแล้วเอาเงินปันผลมาลงทุนซ้ำ (ซึ่งทำให้เรามีหุ้นมากขึ้น และปีหน้าก็จะยิ่งได้เงินปันผลมากขึ้นไปอีก) กับการซื้อหุ้นเติบโตที่ไม่จ่ายเงินปันผล อย่างไหนจะทำให้รวยมากกว่ากัน

ในการนี้ผมสมมติบริษัทขึ้นมา 2 แห่ง คือ บริษัทปันปัน กับ บริษัททบแหลก ทั้งสองบริษัทมีลักษณะเหมือนกันแทบจะทุกประการ (มีหุ้นสามัญ 100 ล้านหุ้น, มีขนาดสินทรัพย์ 1,000 ล้านบาท, มีอัตราส่วนหนี้สินต่อผู้ถือหุ้น หรือ D/E เท่ากับ 1, มี ROA เท่ากับ 12%, มีค่า P/E เท่ากับ 15) จะแตกต่างกันก็เพียงว่าบริษัทปันปันจ่ายเงินปันผลในอัตรา 50% ของกำไรสุทธิ ส่วนบริษัททบแหลกไม่จ่ายเงินปันผลเลย

ภายใต้สมมติฐานว่าบริษัททั้งสองยังคงรักษา ROA ไว้ได้ที่ระดับเดิม และควบคุมค่า D/E ไว้ที่ 1 ได้ตลอดเวลา 10 ปี รวมทั้งไม่มีการเพิ่มทุนใดๆ และไม่เอาผลของค่าคอมมิชชั่นมาคิด หากเราเริ่มลงทุนด้วยเงิน 1 ล้านบาทเท่าๆ กัน (ดูตารางประกอบด้วย) ปรากฏว่า...



บริษัท ปันปัน จำกัด (มหาชน)


ณ จุดเริ่มต้น บริษัทมีกำไรเท่ากับ ROA คูณด้วยสินทรัพย์ ซึ่งเท่ากับ 120 ล้านบาท กำไรของบริษัทส่วนหนึ่งจะถูกจ่ายออกมาเป็นเงินปันผล อีกส่วนหนึ่งจะถูกบันทึกเป็นกำไรสะสม ทำให้ equity ในปีถัดมาสูงขึ้น ขนาดของบริษัทจึงใหญ่ขึ้น

กลับมาดูที่ตัวเราบ้าง จากกำไรต่อหุ้น 1.20 บาท เมื่อเทียบกับค่า P/E 15 เท่า จะคิดเป็นราคาหุ้น 18 บาท สรุปว่าเราจะซื้อหุ้นได้ 55,556 หุ้นในขั้นแรก และจะมีจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นในปีถัดๆ มาเนื่องจากเราเอาเงินปันผล (รวมทั้งเครดิตภาษีเงินปันผล) ที่ได้รับไปซื้อหุ้นเพิ่ม

เมื่อครบ 10 ปี เราจะมีจำนวนหุ้นทั้งสิ้น 78,909 หุ้น ที่ราคา 55.91 บาท คิดเป็นความมั่งคั่ง 4,411,435 บาท หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนทบต้น 16% ต่อปี


บริษัท ทบแหลก จำกัด (มหาชน)


ช่วงเริ่มต้นจะเหมือนกรณีของบริษัทปันปัน ยกเว้นเรื่องของเงินปันผล ด้วยเหตุนี้เราจึงมีจำนวนหุ้น 55,556 หุ้นเท่าเดิมตลอดระยะเวลา 10 ปี อย่างไรก็ตาม สังเกตว่าบริษัททบแหลกสามารถเพิ่มสินทรัพย์จาก 1 พันล้านบาทไปเป็น 8 พันล้านบาท ในขณะที่บริษัทปันปันเพิ่มเป็น 3 พันล้านบาทเท่านั้น

เมื่อคำนวณความมั่งคั่งก็พบว่าพอร์ตของเราโตจาก 1 ล้านบาทไปเป็น 8.59 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนทบต้นสูงถึง 24% ต่อปี ด้วยผลตอบแทนระดับนี้ ถ้าลงทุนให้ยาวนานขึ้นสมมติว่าเป็น 30 ปี เงินล้านเดียวของเราจะกลายเป็น 634 ล้านบาท!

ทีนี้เราคงไม่แปลกใจที่เห็นมหาเศรษฐี VI บางท่านขับวีออสแบบพอเพียง ทั้งที่มีปัญญาซื้อคัมรี่คันโต เหตุก็เพราะท่านไม่ได้เห็นมันเป็นแค่เงิน 1 ล้านบาท แต่เห็นศักยภาพของมันที่จะโตไปเป็นร้อยๆ ล้านบาท ดังนั้น ถ้าใครจะครหาว่า "รวยแล้วจะมัวงกอะไรกับเงินแค่ล้านเดียว" ก็ควรจะปรับใหม่เป็น "มางกอะไรกับเงินแค่ร้อยล้าน"


ข้อคิดจากเรื่องนี้


หากพิจารณาจากบริษัททั้งสองก็น่าจะสรุปได้ว่า การลงทุนในหุ้นเติบโตสามารถเอาชนะหุ้นปันผลได้อย่างไม่เห็นฝุ่น แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเราควรจะวิ่งไปขายหุ้นปันผลทิ้ง แล้วเอาเงินมาซื้อหุ้นเติบโตเสียให้หมด เพราะหุ้นทั้งสองประเภทมีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา

ในภาวะปกติหุ้นเติบโตมีความน่าสนใจมากกว่าหุ้นปันผลดังที่เราเห็นจากตัวอย่าง อย่างไรก็ตาม หุ้นปันผลมักโดดเด่นในช่วงตลาดขาลง เนื่องจากมีเงินปันผลเป็นตัวประคองไม่ให้ราคาหุ้นตกต่ำมาก และเงินปันผลที่ออกมาในช่วงหุ้นตกยังสามารถเอาไปซื้อหุ้นเพิ่มได้ในขณะที่หุ้นมีราคาต่ำด้วย (เท่ากับได้จำนวนหุ้นเพิ่มมากกว่าปกติ) ในขณะที่หุ้นเติบโตอาจจะเติบโตช้าลง ซึ่งแค่นั้นก็ถือว่าแย่แล้ว เพราะหุ้นเติบโตจะยังดีตราบเท่าที่มันเติบโตเท่านั้น

เมื่อรู้ดังนี้แล้วคงหา "ส่วนผสม" ที่เหมาะกับตัวคุณและเหมาะกับสถานการณ์ได้ไม่ยาก ไม่มีใครรู้ดีไปกว่าตัวคุณเองครับ

วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

บทเรียนจากถังเก็บน้ำ

ไม่นานมานี้ผมพบว่าน้ำประปาในบ้านไม่ค่อยไหล และกลับพ่นออกมาเป็นลมแทนที่จะเป็นน้ำ ที่สุดแล้วก็พบความจริงว่าต้นเหตุเกิดจากถังเก็บน้ำที่บ้านของผมนั่นเอง หลังจากที่ผมอธิบายเรื่อง "น้ำ" แล้ว เดี๋ยวจะฝากข้อคิดดีๆ เป็นเรื่อง "หุ้น" ให้ฟังกันบ้างนะครับ

เหตุเกิดจากถังเก็บน้ำ


ในการใช้น้ำประปา เดี๋ยวนี้บ้านสมัยใหม่มักจะไม่ต่อท่อของการประปาเข้าสู่บ้านโดยตรงแล้ว เนื่องจากแรงดันน้ำของการประปาไม่เพียงพอสำหรับเครื่องใช้ต่างๆ เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำอุ่น เป็นต้น โดยทั่วไปเราจึงต่อท่อของการประปาเข้ามาพักไว้ที่ถังเก็บน้ำก่อน จากนั้นค่อยปั๊มน้ำเข้าสู่ตัวบ้านต่อไป

ปัญหาของผมเกิดขึ้นเมื่อก๊อกน้ำเข้าของถังเก็บน้ำเกิดอุดตัน ทำให้น้ำไหลเข้าถังช้ามาก ขณะที่คนในบ้านก็ยังใช้น้ำตามปกติ น้ำในถังเก็บจึงค่อยๆ ลดลงโดยที่เราไม่รู้สึกตัว จนกระทั่งวันหนึ่งที่น้ำหมดถังนั่นแหละ ดูจากภาพ (ถังหมายเลข 1) น่าจะพอนึกออกครับ


การจับจ่ายใช้สอย


เมื่อเทียบเคียงเรื่องนี้กับการจับจ่ายใช้สอยของคนเรา (ถังหมายเลข 2) จะเห็นว่าคนทั่วไปซึ่งมีรายได้ประจำ เช่น เงินเดือน และมีรายจ่ายต่างๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า ค่าเดินทาง ฯลฯ เงินที่เหลือจากการจับจ่ายก็ย่อมกลายเป็นเงินเก็บ ไม่ต่างอะไรจากถังเก็บน้ำ

คนที่จับจ่ายใช้สอยน้อยกว่าเงินที่หามาได้ย่อมมีเงินเก็บมากขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นคนรวยในที่สุด ในทางกลับกัน คนที่จับจ่ายใช้สอยมากกว่าเงินที่หามาได้ ถึงจุดหนึ่งเงินเก็บก็หมดและอาจต้องถึงกับกู้หนี้ยืมสิน และแน่นอนว่าถ้าพฤติกรรมดังกล่าวยังไม่ถูกแก้ไข เขาก็ไม่มีวันพ้นสภาพ "ลูกหนี้" ได้

คนฉลาดจะไม่ยอมอยู่ในฐานะของ "คนจ่ายดอกเบี้ย" หรืออย่างน้อยก็พยายามออกจากสภาพนั้นโดยเร็ว เขาจะพยายามอยู่ในฐานะของ "คนรับดอกเบี้ย" ซึ่งนั่นก็ทำให้เขารวยขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง

สิ่งหนึ่งที่ผมอยากฝากให้คิด คือ การเปิดก๊อกบนให้แรงขึ้นนั้นยากกว่าการหรี่ก๊อกล่างให้เบาลง

หากคุณมีเงินเดือน 30,000 บาท ใช้จ่ายเดือนละ 28,000 บาท เท่ากับว่ามีเก็บเงินเดือนละ 2,000 บาท เพียงแค่ลดค่าใช้จ่ายลงได้ 5% หรือ 1,400 บาท ในแต่ละเดือนคุณจะมีเงินเก็บเพิ่มขึ้นเป็น 3,400 บาท มากขึ้นกว่าเดิมถึง 70% น่าทึ่งใช่มั๊ยล่ะ!


การลงทุนในหุ้น


พลิกกลับไปที่การลงทุนในหุ้น (ถังหมายเลข 3) คราวนี้เงินที่ไหลเข้ามาเกิดจากกำไรหุ้น ขณะเดียวกันเงินที่ไหลออกไปเกิดจากการขาดทุน วิธีรวย คือ เราต้องทำให้ในภาพรวมแล้วผลขาดทุนน้อยกว่าผลกำไร เมื่อกำไรพอกพูนขึ้น เราก็จะรวยขึ้น

สิ่งที่ผมพบโดยทั่วไป คือ คนส่วนมากเอาเงินเดือนหรือรายได้อื่นๆ เทเข้ามาสู่พอร์ตหุ้นอยู่ตลอดเวลา การทำแบบนั้นทำให้พวกเขาไม่รู้ตัวว่าที่จริงแล้วถังเก็บน้ำของเขากำลังสูญเสียความสมดุล และที่ทุกวันนี้ถังเก็บน้ำของพวกเขาไม่แห้งขอดก็เป็นเพราะว่าพวกเขามี "ก๊อกพิเศษ" ด้านบนขวาคอยเติมเข้ามา นี่คือสิ่งที่น่ากลัว เพราะมันทำให้พวกเขาเทเงินทิ้งไปในตลาดหุ้นโดยไม่สำเหนียกตัวเสียด้วยซ้ำ และที่จริงเขาจะรวยกว่านี้มากถ้าเพียงแต่ปล่อยเงินพวกนั้นไว้เฉยๆ

จะเห็นว่าระดับน้ำมีสองสี สีเข้มแสดงให้เห็นระดับน้ำที่แท้จริง หากว่าไม่มี "ก๊อกพิเศษ" และสีอ่อนแสดงให้เห็นถึงระดับน้ำที่รวมเอาเงินเติมอื่นๆ เข้าไปด้วยแล้ว ผมเข้าใจดีว่าเงินนั้นมันไม่มีการ "แปะป้าย" ว่าก้อนนี้มาจากไหน ก้อนนั้นมาจากไหน เมื่อเอามันเทรวมกัน เราก็จะงงๆ แล้วมองมันเป็นก้อนเดียวไปเลย

วิธีง่ายๆ ที่ผมอยากแนะนำ คือ ให้สรุปพอร์ตการลงทุนเป็นประจำ ใครที่ซื้อขายไม่บ่อยอาจสรุปทุก 1 ปี ส่วนใครซื้อขายบ่อยอาจสรุปเป็นรายไตรมาสก็ได้ ส่วนเงินนอกที่เติมเข้าไปในแต่ละช่วงก็จดบันทึกไว้ด้วย เมื่อสรุปพอร์ตจะได้หักเงินก้อนนั้นออกก่อน ทีนี้ก็จะรู้แล้วว่าตกลงได้กำไรหรือขาดทุนมากน้อยแค่ไหน

ใครอยาก advance มากขึ้นก็คำนวณด้วยวิธี Modified Dietz Method ก็ได้ เสิร์ชหาเอาในเว็บไม่ยาก ส่วนใครไม่อยากปวดหัว ทำอย่างที่ผมบอกก็โอเคแล้วครับ


ข้อคิดดีๆ ที่คุณได้


คุณอาจจะนึกไปว่าสิ่งที่แย่ที่สุด คือ "การขาดทุน" แต่แท้จริงแล้วสิ่งที่แย่ที่สุด คือ "การไม่รู้ตัวว่าขาดทุน" เพราะเมื่อคุณรู้ว่าขาดทุน อย่างน้อยก็ยังทบทวนหาทางแก้ไขได้ แต่เมื่อคุณไม่รู้ว่าตัวเองกำลังขาดทุน คุณก็คงจะทำในสิ่งเดิมๆ ซ้ำๆ และทำให้การขาดทุนนั้นเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก มิหนำซ้ำยังเอาเงินออมที่หามาได้เทลงมาในตลาดหุ้น พอกพูนความขาดทุนให้ใหญ่โตขึ้นไปอีก

ลองทบทวนดูนะครับว่า ถังเก็บน้ำของคุณกำลังจะแห้งขอดหรือไม่... อย่าให้มาคิดได้ตอนหลังว่า "ไม่น่าเลยเรา"