วันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ยุทธหัตถี


เป็นครั้งแรกที่ผมเอาเรื่องราวที่ไม่ได้คิดขึ้นเองมาลงไว้ในบล็อก ด้วยเหตุว่ามันเป็นสิ่งที่ผมสงสัยและเมื่อเปิดหาในกูเกิ้ลจนเจอแล้วก็คร้านจะเก็บไว้เป็น favourite ดีไม่ดีเกิดลิงก์เสีย ความรู้ก็จะพานสูญหายไป สู้เอามาไว้ในบล็อกของตัวเองแล้วทำเครดิตไปยังต้นทางดีกว่า

เรื่องราวมีอยู่ว่าในละครดังเรื่อง "ขุนศึก" ผมเห็นกษัตริย์ประทับบนหลังช้างทรง แต่ว่าอยู่ในตำแหน่งกลาง จึงสงสัยว่าผู้สร้างเขาทำผิดหรือเปล่า เพราะในภาพยุทธหัตถีที่ไหนๆ ก็เห็นกษัตริย์ประทับกันที่คอช้างแล้วต่อสู้กัน นั่งอยู่ตรงกลางจะไปสู้กันได้อย่างไร ... จึงนำผมไปสู่กูเกิ้ลและเว็บคลังปัญญาไทยตามลำดับ


-----------------------------------------------------------------------------------


ยุทธหัตถี

กล่าวกันว่าในชมพูทวีป (ดินแดนที่เป็นอินเดีย ปากีสถาน เนปาล และบังคลาเทศในปัจจุบัน) ถือเป็นคติมาแต่ดึกดำบรรพ์ว่ายุทธหัตถีหรือการชนช้างเป็นยอดยุทธวิธีของนักรบ เพราะเป็นการต่อสู้อย่างตัวต่อตัว แพ้ชนะกันด้วยความคล่องแคล่วแกล้วกล้า กับการชำนิชำนาญในการขับขี่ช้างชน โดยมิต้องอาศัยรี้พลหรือกลอุบายแต่อย่างใด เพราะโดยปกติในการทำสงครามโอกาสที่จอมทัพทั้งสองฝ่ายจะเข้าใกล้ชิดจนถึงชนช้างกันมีน้อยมาก ดังนั้น กษัตริย์พระองค์ใดกระทำยุทธหัตถีชนะ ก็จะได้รับการยกย่องว่ามีพระเกียรติยศสูงสุด และแม้แต่ผู้แพ้ก็ได้รับการยกย่องสรรเสริญว่าเป็นนักรบแท้ มิได้ติเตียนกันเลย ซึ่งคติที่ว่าเป็นความนิยมของไทยด้วยเช่นกัน

บนหลังช้างที่ทำยุทธหัตถีนั้นจะมีคนนั่งอยู่สามคน ตัวแม่ทัพจะถือง้าวอยู่ที่คอช้าง คนที่นั่งกลางอยู่บนกูบจะถือหางนกยูงซ้ายขวาโบกเป็นสัญญาณ และคอยส่งอาวุธให้แม่ทัพ (ทราบว่าจะสับเปลี่ยนที่นั่งกันตอนกระทำการรบเท่านั้น) ที่ท้ายช้างจะมีควาญนั่งประจำที่ ตามเท้าช้างทั้งสี่มีพลประจำเรียกว่า จตุรงคบาท คนทั้งหมดจะถืออาวุธ เช่น ปืนปลายขอ หอกซัด ของ้าว ขอเกราะเขน แพน ถ้าเป็นช้างยุทธหัตถีจะมีหอกผูกผ้าสีแดงสองเล่ม ปืนใหญ่หันปากออกข้างขวาหนึ่งกระบอก ข้างซ้ายหนึ่งกระบอก มีนายทหารและพลทหารสวมเกราะ โพกผ้า ช้างที่เข้ากระบวนทัพจะสวมเกราะใส่เกือกหรือรองเท้าเหล็กสำหรับกันขวากหนาม โดยทั้งที่สี่เท้าสวมหน้าราห์ มีปลอกเหล็กสวมงาทั้งคู่ และมีเกราะโว่พันงวงช้าง สำหรับพังหอค่ายโดยไม่เจ็บปวด



ยุทธหัตถีที่สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยมีอยู่ 5 ครั้ง คือ
ครั้งที่ 1 รัชกาลพ่อขุนศรีอินทราทิตย์
ครั้งที่ 2 สิ้นรัชกาลพระอินทราชา พ.ศ. 1917
ครั้งที่ 3 รัชกาลพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ. 2006
ครั้งที่ 4 รัชกาลพระมหาจักรพรรดิ พ.ศ. 2091 (เกิดวีรสตรีพระศรีสุริโยทัย)
ครั้งที่ 5 พระนเรศวรกับพระมหาอุปราชา พ.ศ. 2135

สำหรับสมัยอยุธยามีการยุทธหัตถี รวม ๓ ครั้ง คือ ครั้งแรกในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระอินทราชาพระเจ้าลูกยาเธอได้ชนช้างกับข้าศึกที่นครลำปางและถูกปืนสิ้นพระชนม์ ครั้งที่สองในแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ ได้ชนช้างกับพระเจ้าแปรกรุงหงสาวดี และสมเด็จพระศรีสุริโยทัยต้องอาวุธข้าศึกทิวงคต และครั้งที่สามก็คือครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชชนช้างกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดีจนได้รับชัยชนะ ซึ่งยุทธหัตถีครั้งนี้กล่าวกันว่าเป็นครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ และเป็นวีรกรรมครั้งสำคัญที่ทำให้พระเกียรติยศของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นที่เลื่องลือไปไกล

สงครามยุทธหัตถีในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้นเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2135 เมื่อพระเจ้านันทบุเรงได้ให้พระมหาอุปราชายกทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยา หวังจะเอาชนะให้ได้โดยเด็ดขาด สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทราบข่าว จึงยกทัพหลวงไปตั้งรับที่หนองสาหร่าย ซึ่งในการต่อสู้กันครั้งนั้น ระหว่างที่การรบกำลังติดพัน ช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระเอกาทศรถ ก็พากันไล่ล่าศัตรูอย่างเมามัน จนพาทั้งสองพระองค์ตกไปอยู่ในวงล้อมของข้าศึกโดยไม่รู้ตัว มีเพียงจตุลังคบาท (ผู้รักษาเท้าทั้งสี่ของช้างทรง) และทหารรักษาพระองค์เท่านั้นที่ติดตามไปทัน แม้จะอยู่ในสภาวะเสียเปรียบ แต่พระองค์ก็มีพระสติมั่น ไม่หวั่นไหว ทรงมีพระปฏิภาณว่องไวเกิดขึ้นโดยพระอุปนิสัยว่า พระองค์จะรอดได้มีเพียงทางเดียวคือ เชิญพระมหาอุปราชาเสด็จมาทำยุทธหัตถี ซึ่งพระองค์ก็สามารถกระทำยุทธหัตถีจนได้ชัยชนะอย่างสมพระเกียรติ และนับแต่นั้นมาก็ไม่มีกองทัพใดกล้ายกมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกเลย มีแต่ฝ่ายไทยยกไปปราบปรามข้าศึกและทำสงครามขยายอาณาเขตให้กว้างขวางขึ้นกว่าแต่ก่อน

สำหรับช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่มีชัยแก่ข้าศึกในสงครามยุทธหัตถี แต่เดิมมีชื่อว่า “พลายภูเขาทอง” เมื่อขึ้นระวางได้เป็น “เจ้าพระยาไชยานุภาพ” และเมื่อมีชัยก็ได้รับพระราชทานชื่อว่า “เจ้าพระยาปราบหงสา” ส่วนพระแสงของ้าวที่ทรงฟันพระมหาอุปราชา มีชื่อว่า “เจ้าพระยาแสนพลพ่าย” และพระมาลาที่ถูกฟันขาดลงไปตอนทรงเบี่ยงหลบ มีชื่อว่า “พระมาลาเบี่ยง” สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงเชี่ยวชาญการรบยิ่ง ทรงฉลาดในการวางแผนยุทธวิธีและอุบายกระบวนศึกที่ไม่เหมือนผู้ใดในสมัยเดียวกัน ทรงเป็นผู้ริเริ่มการรบแบบกองโจร คือ ใช้คนน้อยแต่สามารถต่อสู้กับคนจำนวนมากได้ พระองค์มีความสามารถในการใช้อาวุธที่ทำการรบแทบทุกชนิดอย่างเชี่ยวชาญยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือน

“วันยุทธหัตถี” หรือที่เรียกว่า “วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” หมายถึง วันที่ระลึกที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อสมเด็จพระมหาอุปราชาของพม่า เมื่อวันจันทร์ เดือน ๒ แรม ๒ ค่ำ จุลศักราช ๙๕๔ อันตรงกับวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๑๓๕ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๘ กำหนดให้วันที่ ๑๘ มกราคม ของทุกปีเป็น “วันยุทธหัตถี”


เจดีย์ยุทธหัตถี เป็นเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรรับสั่งให้สร้างขึ้นตรงที่กระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชา ปัจจุบันอยู่ที่ตำบลดอนเจดีย์ ซึ่งเดิมเรียกว่าตำบลท่าคอยเจดีย์ ถูกค้นพบเมื่อพ.ศ.๒๔๕๖ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงรับสั่งให้เจ้าเมืองสุพรรณบุรี พระทวีประชาชน (อี้ กรรณสูตร) ค้นหาซากเจดีย์เก่าและได้ค้นพบ ซึ่งเชื่อได้ว่าน่าจะเป็นเจดีย์ยุทธหัตถี


ข้อมูลจาก http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%96%E0%B8%B5
ซึ่งอ้างจาก:
- สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม
- ช่อง 9
- สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
- โรงเรียนศึกษานารี

วันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ถามหุ้นในทีวี


เปิดทีวีดูรายการหุ้นทีไร เราก็มักจะเห็นคอหุ้นโทรศัพท์เข้ามาในรายการเพื่อถามหาแนวรับ-แนวต้าน หรือไม่เช่นนั้นก็ถามเอาดื้อๆ เลยว่า "ติดหุ้น" ตัวนั้นตัวนี้อยู่ จะทำอย่างไรดี

ดูเหมือนว่านักวิเคราะห์และรายการทีวีจะกลายเป็นที่พึ่งของนักเล่นหุ้นจำนวนหนึ่ง แต่สิ่งที่แย่ก็คือพวกเขาถามไม่ตลอดรอดฝั่ง ส่วนมากตอนซื้อจะซื้อเอง แต่จะมาถามก็ตอนที่ติดดอยแล้ว หรือบางครั้งก็กลับกันคือมาถามตอนซื้อ แต่พอหุ้นตกก็ตัดสินใจกอดหุ้นติดดอยเอง ด้วยเหตุนี้กลยุทธ์หุ้นที่ออกมาจากมันสมองของนักวิเคราะห์จึงทำงานได้เพียงครึ่งๆ กลางๆ และไม่ทำกำไร

นักวิเคราะห์ในทีวี


คำถามหนึ่งที่น่าสนใจ คือ หากเราทำตามกลยุทธ์ของนักวิเคราะห์หุ้นในทีวีแบบ "เต็มสูบ" แล้วจะได้กำไรจริงหรือไม่? ถ้าเราลงทุนหุ้นตัวที่เขาเชียร์ ซื้อและขายตามจังหวะที่เขาแนะนำ เราจะได้กำไรหรือเปล่า

คำตอบง่ายๆ คือ "ไม่รู้" เพราะในการที่จะยืนยันคำตอบนี้...

1) เราต้องตามซื้อหุ้น "ทุกตัว" ที่นักวิเคราะห์รายนี้แนะนำและลงทุนในลักษณะของพอร์ตโฟลิโอแทนที่จะมองกำไรจากหุ้นเป็นตัวๆ ไป การฟันธงว่านักวิเคราะห์แม่นหรือไม่แม่นด้วยผลลัพธ์จากหุ้นเพียง 2-3 ตัว ดูไม่ค่อยเป็นวิทยาศาสตร์สักเท่าไหร่

2) เราต้องซื้อใน "ทุกจังหวะ" ที่เขาแนะนำให้ซื้อ และขายในทุกจังหวะที่เขาแนะนำให้ขาย ปัญหาหลักๆ ของเรื่องนี้ก็คือ คนส่วนมากตามซื้อตามขายได้เพียงบางจังหวะ ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่สามารถติดตามผลงานของเขาได้อย่างสม่ำเสมอ หรือไม่ก็เกิดจากเงินทุนที่จำกัดของเราเอง พอช้อนซื้อตามคำแนะนำไป 2-3 รอบก็หมดหน้าตักแล้ว

3) เราต้องมีการ "จดบันทึก" การซื้อขายทุกครั้งและจำแนกไว้ด้วยว่าครั้งไหนบ้างที่มาจากคำแนะนำของนักวิเคราะห์รายนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นจริง คือ นักเล่นหุ้นจำนวนมากไม่ได้จดบันทึกอย่างมีระบบระเบียบเพียงพอ และบางทีก็จดไว้เฉยๆ โดยไม่เอาผลมาประมวลและวิเคราะห์ต่อ

ในเมื่อเป็นแบบนี้เราก็ไม่สามารถสรุปได้ว่ากลยุทธ์ของนักวิเคราะห์ในทีวีใช้งานได้จริงหรือไม่ แต่ถ้าจะว่าตามจริง บางทีตัวนักวิเคราะห์ที่ให้คำแนะนำเองเขาก็ไม่ได้จดไว้เหมือนกันว่าตัวเองแนะนำอะไรไปบ้าง

อย่าถามต้นทุน


คำถามสำคัญอันหนึ่งของการแนะนำกลยุทธ์หุ้นทางทีวีก็คือ "ต้นทุนอยู่ที่เท่าไหร่?"

แม้มันจะฟังดูดีมีเหตุผลที่เราควรรู้ก่อนว่านักลงทุนเคยซื้อหุ้นมาที่ราคาเท่าไร ติดหุ้นมานานหรือยัง ฯลฯ แต่แท้จริงแล้วมันเป็นแค่ "การทำบัญชี" ในสมองเท่านั้น

นักจิตวิทยาการลงทุนอธิบายเรื่องนี้ว่า การทำบัญชีในสมองเป็นกลไกที่เกิดขึ้นมาเอง เราอาจจดจำเอาไว้ว่าต้นทุนหุ้นของเราอยู่ที่ 10 บาท เมื่อราคาหุ้นลดลงเราย่อมรู้สึกว่ากำลังขาดทุน แม้บางคนจะถือคติ "ไม่ขายไม่ขาดทุน" แต่ที่จริงในสมองก็ยอมรับกลายๆ อยู่ว่าขาดทุน จุดที่เราซื้อหุ้น (10 บาท) ถูกมาร์กหรือกำหนดเอาไว้เป็นจุดอ้างอิง และนักเล่นหุ้นส่วนมากจะยอมติดหุ้นไปก่อนเพื่อลดความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น ตราบจนหุ้นกลับขึ้นมาที่ 10 บาทอีกครั้ง สมองจะถูกกระตุ้นให้ "ล้างขาดทุน" ด้วยการขายหุ้นออกไป

กลไกดังกล่าวรวมทั้งจุดอ้างอิงที่เป็นต้นทุน อาจมีความสัมพันธ์ในเชิงอารมณ์ แต่มันไม่มีความสัมพันธ์ในเชิงกำไร! หุ้นอาจวิ่งผ่าน 10 บาทแล้วไปไกลถึง 20 บาทก็ได้ มันไม่ได้สนใจว่าคุณมีต้นทุนอยู่ที่เท่าไหร่หรือ cut loss ไปหรือยัง ถ้าสถานการณ์มันเหมาะสมที่จะลง มันก็ลง ถ้าเหมาะสมที่จะขึ้น มันก็ขึ้น ถ้าเรามัวแต่ห่วงต้นทุน เราจะพบว่าในพอร์ตของเรามีแต่หุ้นเน่าๆ เหมือนกับของกินเก่าๆ ที่อยู่ในตู้เย็น

สิ่งที่เราควรทำ คือ วิเคราะห์ตามสถานการณ์ไป ต้นทุนไม่เกี่ยว

ส่งท้าย


โดยส่วนตัวผมไม่เคย(แม้แต่จะคิด)ถามหุ้นทางทีวี ซึ่งไม่ใช่ไม่เชื่อว่านักวิเคราะห์ไม่เก่ง แต่เพราะนักวิเคราะห์ไม่มีทางรู้ใจเราได้เท่ากับตัวเราเอง ความอึดอัด ความสบายใจ เป้าหมายในการลงทุนของเรา เขาก็ไม่มีทางรู้ อีกประการหนึ่งคือ ในโลกยุคนี้ข้อมูลข่าวสารของรายย่อยไม่ได้ด้อยกว่านักวิเคราะห์มืออาชีพแล้ว ทำการบ้านเสียหน่อย อ่าน annual report, เข้าฟัง Opp Day, พูดคุยกับลูกจ้าง ฯลฯ เผลอๆ จะรู้มากกว่ามืออาชีพเสียด้วยซ้ำ


หมายเหตุ ภาพประกอบเป็นตัวอย่างรายการหุ้นทางโทรทัศน์เท่านั้น ไม่มีการพาดพิงถึงตัวบุคคลหรือตัวรายการแต่อย่างใด

วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เรียนหุ้นจากเชฟกระทะเหล็ก

 

เชื่อว่าหลายคนคงเคยดูรายการ "เชฟกระทะเหล็กประเทศไทย" ที่ได้รับลิขสิทธิ์มาจากญี่ปุ่น ผมเองก็ชอบดูรายการนี้เช่นกัน และมักคิดเสมอว่ารายการนี้มันออกอากาศมายั่วน้ำลายเราก่อนนอนแท้ๆ ...แต่ก็มีอยู่คราวหนึ่งที่รายการนี้ได้ให้ไอเดียการลงทุนที่ดีกับผม

หากจำไม่ผิดในการแข่งขันทำอาหารครั้งนั้น เชฟเอียน (พงษ์ธวัช เฉลิมกิตติชัย) เชฟกระทะเหล็กอาหารตะวันตก ต้องรับมือกับ เชฟฟิลิปป์ ซึ่งเป็นยอดฝีมือคนหนึ่ง เชฟฟิลิปป์เป็นพ่อครัวที่มีฝีมือฉกาจฉกรรจ์และเป็นฝรั่งที่(ดัน)พูดไทยได้ เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่ามีอะไรจะพูดกับคู่แข่งหรือไม่ เชฟฟิลิปป์คงต้องการข่มขวัญคู่ต่อสู้จึงหันไปถามว่า "เชฟเอียน คุณพร้อมจะแพ้มั๊ย?" ในห้องส่งก็ส่งเสียงฮือฮา...

รู้มั๊ยครับว่าเชฟเอียนตอบว่าอย่างไร

เขาตอบว่า "ผมพร้อมเสมอครับ"


นัยยะของการ "พร้อมพ่ายแพ้"


หากเราศึกษาประวัติและวิธีคิดของเชฟผู้นี้ก็จะรู้ว่าทำไมเขาถึงตอบไปอย่างนั้น เชฟเอียนเคยเป็น Executive Chef ประจำโรงแรมห้าดาวมาก่อน ร้านอาหารของเขาได้รับการยกย่องติดอันดับว่าเป็นร้านอาหารที่ดีที่สุดในโลก ปัจจุบันเขามีร้านอาหารอยู่ในต่างประเทศหลายแห่งและเป็นผู้ดำเนินรายการทีวีเกี่ยวกับอาหารอีกด้วย

เชฟเอียนในวัยเด็กค่อนข้างลำบาก แม่ต้องเข็นรถขายข้าวแกง ส่วนตัวเขาต้องช่วยงานที่บ้านทั้งก่อนไปโรงเรียนและหลังเลิกเรียน แต่ที่สุดแล้วทางบ้านก็กู้เงินส่งเสียให้ไปเรียนเมืองนอก โดยตัวเขาเองก็ต้องทำงานเสิร์ฟอาหารและช่วยงานครัว เชฟเอียนมีทัศนคติของการจริงจังและทุ่มเทกับสิ่งที่ทำ เขาได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองจนชนะการแข่งขันทำอาหาร International Cooking Competition  ทำให้เขาเริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงอาหาร ทัศนคติของการพร้อมรับความพ่ายแพ้กลับเป็นการเปิดใจให้เรียนรู้สิ่งใหม่และทำให้เขาเก่งขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งไต่เต้าขึ้นมาจนถึงตำแหน่ง Executive Chef ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของเชฟได้ในที่สุด

การพร้อมที่จะพ่ายแพ้หาใช่เหตุที่เราจะพ่ายแพ้... การพร้อมเปิดรับความพ่ายแพ้ เท่ากับเรากำลังบอกตัวเองว่าเรายังไม่ดีที่สุด เรายังต้องเรียนรู้ ด้วยเหตุนี้เชฟเอียนจึงทิ้งเงินเดือนมหาศาลในตำแหน่ง Executive Chef ไปเปิดร้านอาหารของตัวเองและกลายเป็นเชฟเอียนทีเรารู้จักในทุกวันนี้


แล้วการ "พร้อมขาดทุน" ล่ะ?


ข้อคิดที่ผมได้จากเชฟเอียนก็คือ ในฐานะของนักลงทุน เราเองก็ควรพร้อมรับการขาดทุนเช่นเดียวกัน มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะซื้อแล้วหุ้นขึ้นทุกครั้งไป การขาดทุนในระยะสั้นที่เกิดจากความผันผวนของตลาดหุ้นจึงถือเป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะเมื่อเรามั่นใจว่าตัวบริษัทยังไปได้ดี ที่สุดแล้วราคาหุ้นในระยะยาวก็จะต้องสะท้อนความจริงอันนี้

เมื่อบอกให้เตรียมพร้อมรับการขาดทุน นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ VI ที่เคยได้ยินกฏเหล็กของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ซึ่งบอกว่า "อย่าขาดทุน" อาจเริ่มสับสนขึ้นมา ผมจะขออธิบายอย่างนี้ครับ

บัฟเฟตต์บอกว่ากฏการลงทุนของเขามีอยู่ว่า "ข้อ 1 อย่าขาดทุน" และ "ข้อ 2 อย่าลืมกฏข้อแรก"

อย่างไรก็ตาม คำว่าขาดทุนของบัฟเฟตต์นั้นมีความหมายไม่เหมือนกับเราๆ ท่านๆ ในสายตาของบัฟเฟตต์แล้วราคาหุ้นเป็นเพียงแค่มายา แท้จริงแล้วสิ่งที่เขาได้จากการซื้อหุ้นคือความเป็นเจ้าของกิจการหรือ "มูลค่า" ของบริษัท นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เขากล่าวประโยคที่ชัดเจนและแจ่มแจ้งที่สุดในความเป็น VI

"Price is what you pay. Value is what you get."

การขาดทุนในความหมายของบัฟเฟตต์จึงเป็นการเสื่อมมูลค่า หรือพูดง่ายๆ ก็คือบริษัทเลวลง เขาไม่ได้มองว่าการที่ราคาหุ้นลดลงเป็นการขาดทุนเหมือนอย่างคนทั่วไป ที่จริงแล้วเขาให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นน้อยมากและถึงกับกล่าวไว้ว่า "ใครทนเห็นหุ้นที่ตัวเองถืออยู่มีราคาลดลง 50% ไม่ได้ก็ไม่ควรซื้อหุ้น"

กลับมาที่ความหมายแบบ "บ้านๆ" การขาดทุนที่วัดกันด้วยราคาหุ้นจึงเป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมใจเอาไว้ ไม่ว่าหุ้นที่ถืออยู่นั้นจะเทพขนาดไหนก็ตามที นักลงทุนที่มีประสบการณ์ย่อมทราบดีว่าตลาดสามารถเคลื่อนไหวได้ทั้งสองทาง ทางหนึ่งอาจจะวิ่งขึ้นอย่างบ้าคลั่ง ส่วนอีกทางหนึ่งอาจจะดิ่งลงอย่างบ้าคลั่งเช่นเดียวกัน ถ้าบ้ามากหุ้นก็จะ over- หรือ undervalue และเป็นโอกาสให้เข้าซื้อขาย ส่วนถ้าบ้าน้อยก็เป็นแค่ความผันผวนเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งผมไม่ใส่ใจ เมื่อเราซื้อหุ้นตามแนว VI อย่างแท้จริง โอกาสที่ซื้อแล้วหุ้นลงมีไม่มาก หรือต่อให้ลงมันก็ยังกลับมาได้ในระยะยาว เพราะ "มูลค่า" ของธุรกิจเป็นตัวบังคับ

ดังนั้น ถ้ามีใครมาถามผมว่าพร้อมที่จะขาดทุนหรือไม่ ผมคงต้องตอบแบบเชฟเอียนครับ "ในระยะสั้น ผมพร้อมเสมอ"

วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

วิจารณญาณ


บทบาทการเป็น "ผู้นำ" และ "ผู้ตาม" อาจจะอยู่ที่ตำแหน่งหรือหัวโขนที่สังคมมอบหมายให้ แต่การเป็น "ผู้นำที่ดี" กลับอยู่ที่คุณสมบัติหนึ่งของตัวเราเอง และสิ่งนั้นก็คือ วิจารณญาณ

ในสถานการณ์คับขันและต้องการการตัดสินใจที่เฉียบคม ผู้นำที่ดีจะไม่มีความลังเลสงสัยใดๆ สมองของเขาเอาข้อมูลทั้งหมดมาวางแผ่พร้อมไปกับใคร่ครวญอย่างระมัดระวัง เมื่อคิดดีแล้วจึงตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาด ทั้งหมดนี้อาจกินเวลาเพียง 2-3 วินาที หรือน้อยกว่านั้น ในทางตรงข้าม ผู้นำที่แย่จะคิดย้อนไปมาว่าควรทำอะไรดี ครั้นพอตกลงใจได้แล้วก็กลับฉุกคิดและตัดสินใจอีกรอบ จะมาสรุปได้ก็ตอนที่จะหมดเวลานั่นเอง

เรื่องแปลกก็คือ ส่วนมากแล้วผู้นำที่ "คิดน้อยและคิดเร็ว" มักจะแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง ส่วนผู้นำที่ "คิดมากและคิดช้า" มักแก้ไขปัญหาได้ไม่ค่อยดี

โดยทั่วไปวิจารณญาณจะทำให้เกิดการตัดสินใจที่เฉียบคมและถูกต้อง ผู้นำที่มีวิจารณญาณดีจึงไม่ต้องคิดนู่นนี่มากมาย เพียงแต่ตัดสิ่งที่ไร้สาระออกและใช้ปัญญาขบคิดก็สามารถหาทางออกได้แล้ว วิจารณญาณเป็นสิ่งจำเป็นต่อผู้ที่เป็นหัวหน้างานในระดับต่างๆ และผมก็เห็นว่ามันจำเป็นต่อการลงทุนไม่แพ้กัน


สูตรสำเร็จไม่มีจริง

ในสมัยเรียนเราอาจเคยทำข้อสอบเก่าด้วยความหวังว่าบางทีข้อสอบจะออกซ้ำกับแนวข้อสอบเก่าๆ บ้าง บางคนพอเจอแนวข้อสอบเก่าโผล่มาก็ทำได้เกือบเต็มเพราะว่าซ้อมมาดี แต่พอเจอแนวข้อสอบใหม่กลับพลิกแพลงไม่เป็นและตกม้าตาย

ในชีวิตจริงนอกห้องเรียน (รวมทั้งในตลาดหุ้น)เราไม่ได้วนเวียนเจอกับโจทย์เดิมๆ เสมอไป ประวัติศาสตร์อาจมีซ้ำรอยเดิมบ้าง แต่ส่วนมากเราจะเจอกับเรื่องใหม่ๆ เสียมากกว่า นั่นเป็นเพราะว่าเมื่อเวลาเปลี่ยนไป สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป อย่างที่คุณตัน ภาสกรนที เคยบอกไว้ว่า "สูตรสำเร็จไม่มีจริง" สิ่งที่คนอื่นทำแล้วประสบความสำเร็จ เราอาจจะทำตามได้แต่ลงท้ายผลลัพธ์ก็ไม่เหมือนกัน

สูตรสำเร็จในการลงทุนก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ทำสมัยหนุ่มๆ อาจไม่เวิร์กแล้วในสถานการณ์ปัจจุบันก็เป็นได้ บางคนถึงกับปรามาสว่าที่บัฟเฟตต์รวยได้ก็เพราะว่าหุ้นถูกๆ ในสมัยนั้นหาง่าย ไม่เหมือนกับปัจจุบัน อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่าถ้าหนุ่มน้อยบัฟเฟตต์มาเกิดในยุคนี้ เขาก็ย่อมรู้จักปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับยุคสมัย และสร้างเนื้อสร้างตัวจนเป็นเศรษฐีได้อยู่ดี ...นี่แหละครับที่ผมเรียกว่า "วิจารณญาณ" ซึ่งจะทำให้เราเรียนรู้ เสริมสร้างประสบการณ์ และเอาตัวรอดได้เสมอ

เถียงครู

ในสังคมไทยการเถียงครูเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยได้รับการยอมรับ ทั้งจากคุณครูซึ่งมักจะมองเด็กที่เถียงครูว่าเป็นพวกก้าวร้าว ไม่มีสัมมาคารวะ ส่วนเพื่อนร่วมชั้นก็จะมองว่าไอ้คนนี้มันแปลก(แต่ก็ขึ้นอยู่กับวิธีการเถียงด้วยเหมือนกัน) อย่างไรก็ตาม เราต้องแยกแยะระหว่างการเถียงในแบบข้างๆ คูๆ กับการเถียงแบบสร้างสรรค์ให้ออก ที่จริงแล้วการโต้แย้งครูอย่างมีเหตุผลก็ช่วยพัฒนาความคิดความอ่าน รวมทั้งวิจารณญาณของเราได้เป็นอย่างดี

สำหรับวิถีของนักลงทุน การโต้แย้งนักลงทุนชั้นเซียน "คนโปรด" ซึ่งเราถือเสมือนเป็นครูนั้น จัดได้ว่าเป็นความท้าทายอันยิ่งใหญ่ เพราะเท่ากับว่าเรากำลังก้าวข้ามจากบทบาทของการเป็นผู้ตามไปสู่บทบาทของผู้สร้างสรรค์หรือผู้นำ ผมเองมีเซียนวีไอท่านหนึ่งเป็นต้นแบบ เริ่มแรกก็ศึกษากลยุทธ์ของท่านและพยายามทำตาม แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็พบว่าแนวคิดบางอย่างของท่านไม่สอดคล้องกับนิสัยและความชอบของเรา

ตัวอย่างเช่น วีไอท่านนั้นชอบถือหุ้นเกือบ 100% ของพอร์ตอยู่เสมอ แต่เมื่อเราทำตามก็พบข้อเสียว่า พอถึงเวลาหุ้นตกทั้งตลาดเรากลับไม่มีเงินสดมาซื้อหุ้นเพิ่มในจังหวะที่ดีที่สุด อย่างดีเราได้แค่ขายหุ้นบางตัวในพอร์ตของเรามาซื้อตัวใหม่ ซึ่งผมรู้สึกว่าไม่ค่อยชอบสถานการณ์ดังกล่าวนัก จึงเริ่มคิดค้นและฉีกแนวออกมาอย่างระมัดระวังจนกลายเป็นแนวทางการลงทุนปัจจุบันในที่สุด

เราไม่อาจสร้างสรรค์แนวทางการลงทุนของตัวเองได้เลยหากปราศจากวิจารณญาณที่ดี และวิจารณญาณที่ดีก็ต้องมาจากความรู้และประสบการณ์ นั่นหมายความว่าระหว่างที่เราอ่านหนังสือ ลงทุน เลียนแบบ คัทลอส ฯลฯ เราไม่เพียงแต่ทำมันไปเฉยๆ แต่ต้องเก็บเอามันมาเป็นบทเรียนและรู้จักต่อยอดด้วยเสมอ เมื่อสั่งสมไว้มากพอ มันจะกลายเป็นวิจารณญาณของเรา และทำให้เราสามารถ "คิดน้อยและคิดเร็ว" แต่ได้ผลลัพธ์ออกมาดี