วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2555

ส่องตัวตนของคุณผ่าน 3 คำถาม


ผมเคยเห็นแบบสอบถามที่วัดบุคลิกของนักลงทุน แต่เขาถามกันเป็นสิบข้อแล้วก็ยืดยาวมากมาย ผมจึงมาคิดว่ามีทางมั๊ยที่เราจะถามสั้นตอบสั้น แต่ "โดน" เต็มๆ แบบไม่ต้องเยิ่นเย้อ... ที่สุดแล้วจึงออกมาเป็น 3 คำถามสั้นๆ ดังแผนภาพ

วิธีใช้ไม่ยากอะไรเลย เริ่มต้นจากคำถามแรก จากนั้นก็ไล่เรียงไปว่าคุณตอบอะไร คำตอบของคุณจะเป็นตัวกำหนดว่าคำถามต่อไปคืออะไร สำคัญตรงที่ว่าให้ "ตอบตามความเป็นจริง" เท่านั้นเอง คำถามไหนที่อาจกำกวมผมจะมีหมายเหตุแปะไว้ด้านล่างครับ

ถ้าพร้อมแล้วก็เริ่มได้เลย


อย่างที่เห็นนะครับ เราจะได้บทสรุปภายในคำถามไม่เกิน 3 ข้อ เมื่อได้คำตอบแล้วว่าคุณเป็นนักลงทุนประเภท A, B, C, D, E หรือ F ...แล้วนักลงทุนแต่ละประเภทมีลักษณะอย่างไรกันบ้าง

ข้อ A - professional trader

คุณมีลักษณะของนักเทรดมืออาชีพ แม้คุณจะไม่ได้มองหุ้นในแบบเจ้าของกิจการและไม่ได้สนใจว่าบริษัททำมาหากินอะไร แต่คุณรู้ว่าจะทำอย่างไรกับราคาหุ้นที่เคลื่อนไหว ความรู้ที่ว่าไม่ได้โผล่ขึ้นมาเอง ทว่าเป็นผลพวงมาจากความมานะและอดทนที่จะอ่านตำรับตำรา และที่สำคัญคุณอ่านแล้วเอามาใช้ด้วย มีคนไม่มากที่เทรดหุ้น "ตามระบบ" อย่างต่อเนื่องและมีวินัย ยินดีด้วยครับ ความสำเร็จรอคุณอยู่

ข้อ B - educated mao

แม้สมญานาม "เม่าผู้มีความรู้" จะยังไม่ใช่ความฝันอันสูงสุดของแมงเม่าทั้งหลาย แต่อย่างน้อยคุณก็โผล่พ้นความเป็นเม่าสามัญมาแล้ว คุณมองออกว่าการอ่านเพียงแค่หนังสือพ็อกเกตบุ๊กดาษๆ เกี่ยวกับหุ้นไม่เพียงพอที่จะทำให้คุณสร้าง "แก่นสาร" ที่จะทำกำไรอย่างมั่นคงได้ คุณจึงศึกษาวิธีการเทรดหุ้นต่างๆ นานา ขาดอยู่เพียงการค้นพบระบบการเทรดที่ใช้ได้และเหมาะกับตัวเอง รวมทั้งทำตามมันไปด้วยความมุ่งมั่นเท่านั้น

ข้อ C - ordinary mao

อย่าวิตกกังวลไป เพราะเม่าสามัญเป็นสถานะของคนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้น คุณอาจเคยได้กำไรก้อนโต เคยติดดอย เทรดหุ้นตามข่าว ตกรถ หรือแม้แต่หันหลังให้กับตลาดมาแล้ว แต่น้อยครั้งมากที่คุณจะระบุได้ชัดๆ ว่าทำไมคราวนั้นถึงกำไร ทำไมคราวนี้ถึงขาดทุน แล้วในระยะยาวเราจะเป็นอย่างไร ฯลฯ บางทีคุณอาจต้องการความรู้ที่สูงขึ้น ประสบการณ์ที่มากขึ้น และจิตวิทยาการลงทุนที่เข้มข้นขึ้น แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้น คุณต้องศึกษาให้มากขึ้น และ shortcut ที่เร็วที่สุดก็คือ ไปอ่านงานเขียนของคนเก่งๆ ที่เป็นไอด้อลของคุณไง

ข้อ D - confused mao

เม่าที่สับสนตัวเอง เกิดจากคนที่อยากลงทุนในหุ้นตามแบบเจ้าของกิจการหรืออาจจะอยากเป็น VI (value investor) แต่แล้วเกิดขี้เกียจขึ้นมาหรือตื่นตาตื่นใจไปกับแสงสีในตลาดหุ้นอย่างไรไม่ทราบ จึงละทิ้งความสนใจจากตัวกิจการไปเสียดื้อๆ ที่บอกอย่างนี้ก็เพราะว่าการอ่านรายงานประจำปีนั้นจัดว่าเป็น "ภาคบังคับ" ของ VI ทุกคน ในเมื่อบริษัทเป็นคนเขียนเอง บทวิเคราะห์ไหนๆ ก็ไม่มีทางสู้ได้ นักลงทุนแนวนี้เข้าทำนอง ขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อน พอแตกใบอ่อนเป็นมะลิลา บางทีอาจต้องลองทบทวนดูว่าจะไปต่อในแนว VI หรือจะเบนเข็มไปเป็นนักเทรดหุ้น

ข้อ E - failed VI

อย่างน้อยการอ่านรายงานประจำปี (รวมถึงงบการเงิน และหมายเหตุประกอบงบด้วยนะครับ) ก็บ่งบอกได้ว่าคุณมีความมุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นมาเป็น VI เต็มตัว อย่างไรก็ตาม โดยธรรมชาติแล้ว VI ที่ลงทุนมานาน 3-5 ปีขึ้นไปควรจะมีพอร์ตเขียวขจี และเหตุที่เขียวก็เพราะว่า VI ตัวจริงจะ "เตะ" หุ้นตัวที่วิเคราะห์ผิดพลาดออกไปแล้วถือหุ้นชั้นเยี่ยมเอาไว้ ส่วนที่ถือไว้หลายปีแล้วยังพอร์ตแดงเถือกนั้นโดยมากเป็นกรณีติดดอยเสียมากกว่า ซึ่งการถือหุ้นติดดอยเป็นเบือก็คงบอกได้เลาๆ ว่าตอนเข้าซื้อนั้นวิเคราะห์ไม่แม่นจึงมี margin of safety น้อย แบบนี้ต้องรีบปรับปรุงครับ เสียดายความมุ่งมั่นที่มี

ข้อ F - successful VI

คุณสมบัติของคุณคู่ควรกับการเป็น VI ที่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าพอร์ตคุณจะใหญ่หรือเล็ก แต่การมาถูกทางจะช่วยให้คุณมั่งคั่งขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง คุณมีจิตวิญญาณของการเป็นเจ้าของกิจการ มีความมุ่งมั่น และยังลงทุนลงแรงอย่างคุ้มค่า ผลงานในระยะยาวของคุณเป็นสิ่งยืนยันได้เป็นอย่างดี ขอเพียงทำต่อไปเรื่อยๆ และอย่าก้าวข้ามขอบข่ายแห่งความชำนาญ (circle of competence) ของคุณออกมาก็แล้วกัน

วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2555

ลงทุนเพื่อกระแสเงินสด 2










คราวที่แล้วผมแนะนำการลงทุนที่มุ่งเน้นไปที่ "กระแสเงินสด" แทนการมุ่งไปที่ "มูลค่าพอร์ต" ตามแบบของนักลงทุนทั่วๆ ไป คราวนี้ผมจะขอชักชวนให้หันมาพินิจพิเคราะห์ดูว่าพอร์ตโฟลิโอของแต่ละท่านสร้างกระแสเงินสดมากน้อยเพียงใด

เพื่อให้สะดวกปาก ผมขอยกตัวอย่างพอร์ตโฟลิโอขนาด 1 ล้านบาทของคุณเป๊กเพื่อนผม (นามสมมติ) ซึ่งมีลักษณะคร่าวๆ ดังภาพ กองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป๊กลงทุนไม่มีการจ่ายเงินปันผล คงมีแต่กองทุนอสังหาฯ ซึ่งจ่ายเงินปันผลหลังหักภาษีในอัตราเฉลี่ยปีละ 7% และหุ้นซึ่งเฉลี่ยแล้วจ่ายปันผลหลังหักภาษีปีละ 4%

ดูเผินๆ ก็ไม่น่ามีอะไร แต่ถ้ามองดีๆ จะพบว่าพอร์ตโฟลิโอนี้มีการสร้างกระแสเงินสดน้อยมาก เนื่องจากมีเพียงหุ้นที่สร้างกระแสเงินสดเฉลี่ยปีละ 4% x 150000 = 6,000 บาท และกองทุนอสังหาฯ ซึ่งสร้างกระแสเงินสดเฉลี่ยปีละ 7% x 150000 = 10,500 บาทเท่านั้น รวมแล้วในแต่ละปีพอร์ตนี้จะสร้างกระแสเงินสดเพียง 16,500 บาท หรือคิดเป็น 1.65% ของมูลค่าพอร์ต


ปรับพอร์ตใหม่ ไม่เพิ่มความเสี่ยง

ผมขอแนะนำให้อ่านเรื่อง "ฉีกตำราเรื่องความเสี่ยง" แล้วจะเห็นว่าเราสามารถปรับพอร์ตเพิ่มสัดส่วนของหุ้นและกองทุนอสังหาริมทรัพย์เพื่อเพิ่มผลตอบแทนได้โดยไม่ต้องเพิ่มความเสี่ยง เพียงแต่เราจะต้องอดทนรอและรู้จักทำการบ้านหน่อยเท่านั้น

จากตัวอย่างข้างต้น หากผมจัดพอร์ตใหม่ดังภาพโดยเลือกสรรหุ้นที่มีผลการดำเนินงานเข้มแข็งและมีการจ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอเฉลี่ย 5% ต่อปี ส่วนกองทุนอสังหาริมทรัพย์นั้นผมคงทำอะไรให้มากไม่ได้ ก็คงถือว่ามันจ่ายเงินปันผลในอัตราเดิมคือ 7% ต่อปี



การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้สัดส่วนของพอร์ตที่สร้างกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นอย่างมาก กระแสเงินสดจากหุ้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 5% x 300000 = 15,000 บาท และกระแสเงินสดจากกองทุนอสังหาฯ จะเพิ่มเป็น 7% x 300000 = 21,000 บาท รวมเป็นกระแสเงินสดทั้งปี 36,000 บาท เพิ่มขึ้นจากเดิมเกือบสองหมื่นบาทโดยที่ไม่ต้องลงเงินเพิ่มเลย

เรื่องราวต่อจาก "ลงทุนเพื่อกระแสเงินสด" ภาคแรกคงไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ความพิสดารต่างๆ นานา เพราะเส้นทางไปสู่อิสรภาพทางการเงินนั้นที่จริงไม่ได้ยาก เพียงเรา "ทำให้ถูกต้อง และทำไปเรื่อยๆ"

"คนที่ไม่ประสบความสำเร็จย่อมมีเหตุผลมากมายมาอธิบายว่าเหตุใดเขาจึงทำไม่สำเร็จ"

หวังว่าคงไม่เป็นแบบนั้นนะครับ

วันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2555

ลงทุนเพื่อกระแสเงินสด (revisited)


ในสภาวะที่ตลาดหุ้นมีความผันผวนผมเชื่อเหลือเกินว่าหลายๆ คนคงจะอยู่ในสภาพ "ใจสั่น" เวลาที่เห็นราคาหุ้นที่ตัวเองถืออยู่ดิ่งลงอย่างน่าใจหาย ไม่เว้นแม้แต่นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าหรือ VI

ในมุมมองของ VI หุ้นบางตัวเราคิดแล้วคิดอีกก่อนซื้อ แถมยังซื้อแบบมี margin of safety ซะด้วย แต่ไหงพอตลาดปักหัวลงมันกลับดิ่งตามหน้าตาเฉยได้ล่ะ ตกลงที่เราวิเคราะห์มาก่อนหน้านี้มันถูกต้องจริงๆ หรือเปล่า??

นายตลาด หรือ Mr Market ตามแนวคิดของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เป็นบุคคลสมมติที่มีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ เขาเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจของเราและจะโผล่มาเสนอซื้อขายหุ้นกับเราทุกวัน กติกาก็คือนายตลาดเป็นคนเสนอราคา ส่วนเราเป็นคนตัดสินใจว่าจะซื้อขายหรือไม่ ดังนั้นเมื่อเข้าใจบทบาทของเขาและของเราแล้ว เราก็อย่าไปเถียงเรื่องราคากับนายตลาด คิดในฝั่งของเราเฉยๆ ก็พอว่าจะซื้อ จะขาย หรือจะอยู่เฉยๆ


มองในมุมใหม่ "ลงทุนเพื่อกระแสเงินสด"

หากว่าในภาวะที่ตลาดกำลังดิ่งลงแล้วเราเทขายหุ้น ฟังดูก็น่าจะโอเค ก็ในเมื่อหุ้นกำลังลงแล้วจะถือหุ้นไว้ทำแป๊ะอะไรจริงมั๊ยครับ แต่ถามจริงๆ เรารู้หรือเปล่าว่า ณ จุดที่เราขายหุ้นมันไม่ใช่ก้นเหว ผมเคยเห็นมานักต่อนักแล้วที่คนเทขายหุ้นด้วยความคิดว่าจะไปรอซื้อกลับที่ก้นเหว แต่กลับกลายเป็นว่าตัวเองนั่นแหละดันไปขายหุ้นตอนมันตกต่ำที่สุด จากนั้นก็ได้แต่นั่งมองหุ้นที่(เคย)เป็นของเราพุ่งขึ้นๆ จากการที่มีคนช้อนซื้อของดีราคาถูก(ไปจากเรา) หรือแม้เราไม่ได้ขายหุ้นไปที่ก้นเหว แต่พอหุ้นลงต่อเราก็กล้าๆ กลัวๆ ไม่เข้าซื้อซักที จนหุ้นเงยหัวขึ้นมาแล้วก็ยังรีๆ รอๆ จนมันพุ่งผ่านจุดที่เราขายออกไปก็เลยยอมยกธงขาว ปล่อยให้มันลอยผ่านเราไป

ทั้งหมดนี้เป็นเพราะเราพยายามไปมองที่ตัว "ราคาหุ้น" แต่เรื่องจะง่ายกว่านี้อีกมากหากว่าเราพยายามมองไปที่ "กระแสเงินสด" ที่ออกมาจากหุ้นจริงๆ ซึ่งก็คือเงินปันผล อย่างไรก็ตาม ผมต้องบอกก่อนว่าการลงทุนแนว VI เน้นไปที่คุณค่าและราคาหุ้น โดยไม่ได้มีนิยามเกี่ยวกับเงินปันผลไว้เป็นพิเศษ ดังนั้นการเน้นกระแสเงินสดหรือเงินปันผลก็เป็นเพียงแค่แนวทางย่อยของ VI เท่านั้น


ตัวอย่างการลงทุนของนักลงทุนทั่วไป

สมมติผมมีหุ้นอยู่ตัวหนึ่ง ชื่อหุ้น MKY ผมเห็นว่ามันเป็นบริษัทที่ดีทำผลกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและจ่ายปันผลปีละไม่ต่ำกว่า 80 สตางค์ ขณะที่ราคาหุ้นอยู่ที่ 10 บาท เมื่อคิดเป็นอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลก็จะอยู่ที่ 8% ซึ่งส่วนนี้ไม่เกี่ยวข้องกับสภาพตลาดหุ้น เพราะต่อให้ตลาดหุ้นมันย่ำแย่อย่างไร บริษัทก็ยังเปิดทำการและยังหาเงินได้ พอถึงเวลาจ่ายปันผลก็ยังจ่ายได้ กล่าวได้ว่าผมมั่นใจในกระแสเงินสดส่วนนี้พอสมควรจึงเข้าซื้อไว้ 10,000 หุ้น คิดเป็นเงินลงทุน 10000 x 10 = 1 แสนบาท

ต่อมาตลาดหุ้นตกใจกับปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปทำให้หุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวลงไม่เว้นแม้แต่หุ้น MKY ของผมด้วย ราคาร่วงลงมาอยู่ที่ 9 บาท ถ้าผมพยายามคิดมูลค่าเป็นตัวเงินก็จะพบว่าพอร์ตหุ้นของผมขาดทุนไปแล้ว 1 หมื่นบาท (10,000 หุ้น ขาดทุนหุ้นละ 1 บาท) คิดอย่างนี้แล้วสำหรับคนเบี้ยน้อยหอยน้อยอย่างผมก็ชวนให้ใจสั่นอยู่ไม่น้อย

อย่างไรก็ตามไม่กี่วันต่อมาตลาดหุ้นยิ่งตกใจหนัก ตลาดถล่มลงอีกเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน นำพาให้หุ้น MKY ของผมหล่นลงมาอยู่ที่ 7 บาท เอาล่ะสิ ขาดทุนรวมๆ กันตอนนี้ 3 หมื่นบาทเข้าไปแล้ว (10,000 หุ้น ขาดทุนหุ้นละ 3 บาท) นี่มันนรกชัดๆ ยิ่งคิดยิ่งหม่นหมอง


ตัวอย่างการลงทุนเพื่อกระแสเงินสด

จากตัวอย่างเดิมเพียงแต่คราวนี้ผมลงทุนเพื่อกระแสเงินสด มุมมองของผมจะเปลี่ยนไป ในทีแรกที่หุ้นตกลงมาเหลือ 9 บาทผมจะมองว่า "เฮ้ย จะเป็นไรไป บริษัทก็ยังดีอยู่ เดี๋ยวก็ได้เงินปันผลแล้ว" ผมก็จะยังเย็นใจได้ถึงแม้จะแอบอิจฉาคนอื่นในตลาดอยู่นิดๆ ที่สามารถเข้าซื้อหุ้นแสนดีตัวนี้ได้ที่ราคาต่ำกว่าผม

ครั้นพอหุ้นตกมาเหลือ 7 บาท คราวนี้ผมตาลุกแล้วครับ ถ้าคำนวณกระแสเงินสดจากเงินปันผล 80 สตางค์ เทียบกับเงินลงทุน 7 บาท อ้าว! ได้อัตราผลตอบแทนตั้ง 11.4% นี่หว่า โอ้โห มีความสุขมาก เข้าซื้อเลยที่ราคา 7 บาท และคราวนี้โอกาสดีมากจึงซื้อถึง 20,000 หุ้น (ใช้เงิน 140,000 บาท) ตอนนี้ผมก็มี "เด็กๆ" ในคาถาถึง 30,000 หุ้นที่จะมาช่วยกันสร้างกระแสเงินสดให้ผม โดยแบ่งเป็น

  • ล็อตแรก 10,000 หุ้น สร้างกระแสเงินสดให้ผมในอัตรา 8% (ไม่เลวเลย)

  • ล็อตที่สอง 20,000 หุ้น สร้างกระแสเงินสดให้ผมในอัตรา 11.4% (เยี่ยมยอด)
เมื่อคิดได้ดังนี้แล้วผมควรจะกังวลอะไรล่ะครับ


ลงทุนอย่างไรให้ถูกทาง

พยายามคิดว่าเป้าหมายหลักของเราไม่ใช่การสร้างพอร์ตหุ้นมูลค่าเท่านั้นเท่านี้ แต่เป็นการสร้างกระแสเงินสดต่างหาก เมื่อใดกระแสเงินสดที่เราสร้างขึ้นสูงกว่าค่าใช้จ่ายของเรา เมื่อนั้นเราก็มีอิสรภาพทางการเงิน

สมมติว่าคำนวณจากพอร์ตหุ้นตามตัวอย่างข้างต้นผมจะมีกระแสเงินสดจากเงินปันผลของหุ้นล็อตแรก 10000 x 0.8 = 8,000 บาท และจากหุ้นล็อตที่สอง 20000 x 0.8 = 16,000 บาท รวมแล้วผมจะมีกระแสเงินสด 24,000 บาท และยังไม่นับว่าในอนาคตบริษัทนี้อาจเติบโตและจ่ายเงินปันผลได้มากขึ้นซึ่งก็จะทำให้กระแสเงินสดของผมโตขึ้นกว่านี้อีกด้วย หากจะคิดง่ายๆ ว่าผมใช้จ่ายเดือนละ 2 หมื่นหรือตกปีละ 2.4 แสนบาท กระแสเงินสดที่ผมได้ตอนนี้ก็ยังเป็นเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของที่ผมต้องการ สิ่งที่ผมต้องทำคือ รอจังหวะเหมาะๆ ที่จะสะสมหุ้นเพิ่มเพื่อผลักดันให้กระแสเงินสดของผมใหญ่ขึ้นจนกว่าจะถึงเป้าหมายที่วางไว้

นับจากนี้ไม่ว่าตลาดจะเป็นอย่างไรก็ตาม ขอให้มองมันในฐานะของ "โอกาส" นะครับ สะสมจำนวนหุ้น ลงทุนเพื่อกระแสเงินสด แล้วเราจะไม่หม่นหมองในยามที่ตลาดเป็นขาลงครับ

วันอาทิตย์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2555

บุคลิกของหุ้น


คนแต่ละคนมีบุคลิกที่ไม่เหมือนกัน บางคนรอบคอบระมัดระวัง บางคนกล้าได้กล้าเสีย บางคนขยัน บางคนขี้เกียจ ...หุ้นก็ไม่แตกต่างกัน เพราะหุ้นแต่ละตัวต่างก็มีบุคลิกที่แตกต่างกันออกไป


บุคลิกของหุ้นตามแนว ปีเตอร์ ลินช์


หลายท่านคงทราบแล้วว่า ปีเตอร์ ลินช์ อดีตผู้จัดการกองทุน Fidelity Magellan ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้จัดการกองทุนที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของโลก แบ่งหุ้นออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่

หุ้นโตเร็ว
หุ้นโตช้า
หุ้นแข็งแกร่ง
หุ้นวัฏจักร
หุ้นฟื้นตัว
หุ้นรวยทรัพย์สิน

ลินช์แบ่งหุ้นออกเป็นประเภทต่างๆ ได้จากลักษณะ "กำไร" ของบริษัท ที่จริงแล้วใครที่เป็นนักอ่านตัวยงน่าจะทราบดีว่าลินช์ให้ความสำคัญกับกำไรของบริษัทเป็นอย่างมาก เขาชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างราคาหุ้นกับกำไรของบริษัท ซึ่งจะสะท้อนออกมาในระยะยาว จนถึงกับบอกว่า "ถ้าคุณสามารถติดตามข้อมูลได้เพียงชิ้นเดียว ให้ติดตามกำไร"

ที่กล่าวมานี้เป็นการแบ่งบุคลิกของหุ้นตามลักษณะของกำไร (ใครสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม แนะนำให้อ่าน "One Up On Wall Street" หรือเล่มภาษาไทย "เหนือกว่าวอลสตรีท" แปลโดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร) อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าถ้าเราแบ่งหุ้นตามลักษณะของราคาหุ้นก็จะเห็นอะไรที่น่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน


บุคลิกของหุ้นตามพฤติกรรมราคา


1. หุ้นนำตลาด

ผมเคยเขียนเกี่ยวกับหุ้นนำตลาดมาแล้ว แต่ในคราวนั้นผมใช้คำว่า "หุ้นนำดัชนี" (ดูใน http://www.monkeyfreetime.com/2012/02/blog-post_20.html) หุ้นพวกนี้เป็นหุ้นตัวใหญ่ๆ ที่ฝรั่งชอบ ที่ชอบนั้นก็ไม่ใช่เพราะว่ามันมีผลประกอบการดี แต่เพราะว่ามันมีขนาดใหญ่พอที่เม็ดเงินของพวกเขาจะเข้าหรือออกได้สะดวก จริงอยู่ว่าราคาหุ้นในระยะยาวขึ้นอยู่กับผลประกอบการ แต่ในระยะสั้นแล้วราคาหุ้นกลุ่มนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะตลาด

ตัวอย่างคร่าวๆ ของหุ้นกลุ่มนี้คือ หุ้นที่อยู่ในดัชนี SET50


2. หุ้นปัจเจกชน

ตรงข้ามกับหุ้นนำตลาด หุ้นปัจเจกชนจะมีบุคลิกเรียบนิ่ง "อยากอยู่เงียบๆ คนเดียว" ใครจะไปจะมาไม่ค่อยสนใจ ฝรั่งจะเข้า กองทุนจะทิ้งก็ไม่เกี่ยวกับเขา เพราะเขาเป็นพวกหุ้นขนาดกลางถึงเล็ก ราคาหุ้นก็มักจะนิ่งหรือแกว่งอยู่ในกรอบแคบๆ เป็นแรมเดือนแรมปี จนวันดีคืนดีผลประกอบการออกมา ราคาหุ้นถึงวิ่งซะทีนึง จากนั้นก็กลับเข้าสู่สภาวะปกติคือกลับมานิ่งอีกครั้ง นักลงทุนที่ถือหุ้นกลุ่มนี้จึงมักเป็นพวกถือยาว เพราะพวกเล่นสั้นมักอดทนกับความน่าเบื่อไม่ไหว

ตัวอย่างคร่าวๆ ของหุ้นกลุ่มนี้คือ หุ้นที่ ไม่ อยู่ในดัชนี SET100 หรือ SET50


3. หุ้นมั่นคง หรือ หุ้นเชิงรับ

หุ้นบางตัวที่ไม่ใช่หุ้นนำตลาด ทว่าพอตลาดเป็นขาขึ้นก็ขึ้นไปกับเขาด้วย แม้จะวิ่งไม่แรงนักก็ตาม อย่างไรก็ตามพอตลาดเป็นขาลง หุ้นพวกนี้กลับมีความทนทานหนังเหนียวและไม่ตกมากเท่าหุ้นอื่น ความจริงหุ้นกลุ่มนี้ก็เป็นที่นิยมพอสมควร เพราะคนมักมองว่าพวกมันมีผลประกอบการที่ค่อนข้างแน่นอนและหลายตัวก็จ่ายเงินปันผลในอัตราที่น่าพอใจ ที่สำคัญนักลงทุนถือแล้วมักกินอิ่ม(พอสมควร)และนอนหลับดี

ตัวอย่างคร่าวๆ ของหุ้นกลุ่มนี้คือ หุ้นที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา ทางด่วน หรือของกินของใช้ในชีวิตประจำวัน


4. หุ้นปั่น

ถ้าจะเขียนให้ถูกจริงๆ แล้วผมควรจะเขียนว่า "หุ้น(ที่เชื่อว่า)ปั่น" หุ้นพวกนี้ราคาและผลประกอบการไปคนละทิศคนละทาง ขึ้นอยู่กับว่าขาใหญ่ที่เล่นนั้นเขาจะจูงไปทางไหน ส่วนมากเป็นหุ้นขนาดเล็กหรือหุ้นที่มีผลประกอบการขาดทุนระดับที่ผู้จัดการกองทุน "ยี้" นั่นแหละครับ การที่บรรดากองทุนไม่ให้ความสนใจทำให้ "ขาใหญ่" ไม่ต้องกังวลกับ "ขาใหญ่กว่า" และสามารถทำราคา... ลากหรือทุบ จนแมงเม่ากระอักให้เห็นบ่อยๆ

หุ้นกลุ่มนี้ขอไม่ยกตัวอย่างแล้วกัน


เลือกหุ้นให้เหมาะกับตัวเอง

นักลงทุนมือใหม่มักถามหาหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงๆ โดยไม่เคยหันกลับมาดูตัวเองว่ามีบุคลิกอย่างไร คนที่ไม่ match กับหุ้นมักไปด้วยกันได้ไม่นาน ลงท้ายก็ต้องขายทิ้งออกไป และหลายครั้งก็เป็นการขายทิ้งในจังหวะที่แย่ที่สุดเสียด้วย ผมจึงคิดว่ามันคงดีกว่าถ้าจะสำรวจบุคลิกของหุ้นแล้วลองคิดดูว่าเราจะรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้หรือไม่ ไม่ว่าจะในประเด็นของกำไรหรือพฤติกรรมราคา เพราะผลตอบแทนสูงๆ จะไม่มีค่าอะไร ถ้าเราไม่อาจถือรอได้จนถึงวันนั้น

วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555

เทรดหุ้นอย่างมีระบบ


สำหรับนักเล่นหุ้นมือสมัครเล่น การซื้อขายหุ้นอย่างมีระบบดูจะเป็นเรื่องเข้าใจยาก หรือแม้บางทีเราคิดว่าเข้าใจและมีหลักการแล้ว แต่เอาเข้าจริงมันจะเป็นหลักการที่ถูกต้องหรือไม่?!

บางคนเข้าใจว่า "ใจ" สำคัญที่สุด และที่ผ่านมาตัวเองล้มลุกคลุกคลานเป็นเพราะใจไม่ถึง ใจไม่นิ่ง ใจไม่สู้ ฯลฯ แต่แท้จริงแล้วใจก็เป็นเพียงแค่ 1 ใน 3 องค์ประกอบของ "ระบบ" การเทรดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผมจะยังไม่เล่าถึงองค์ประกอบทั้งสามในตอนนี้ เพราะถ้าเล่าแล้วยาวแน่นอน ในชั้นนี้ผมขอชี้ให้เห็นก่อนว่า "ระบบ" มีแบบไหนบ้าง และแต่ละแบบมีความแตกต่างกันอย่างไร

วิธีการเทรดหุ้นอย่างมีระบบของมืออาชีพแบ่งออกเป็น 2 แบบ แบบแรกเรียกว่า mechanical trading ส่วนแบบที่สองเรียกว่า discretionary trading ถ้าคุณเป็นมืออาชีพ คุณก็ควรจะเทรดวิธีใดวิธีหนึ่งใน 2 วิธีนี้


Mechanical Trading

ในการเทรดแบบ mechanical นักเทรดจะประพฤติตัวเยี่ยงหุ่นยนต์ พวกเขามี "ระบบการเทรด" ที่เป็นกฏเกณฑ์ที่แน่นอนอยู่ ตัวอย่างเช่น ใช้การตัดกันของเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (moving average crossover) โดยเมื่อไหร่ที่เส้น MA(5) ตัดทะลุเส้น MA(10) ขึ้นไป ถือว่าเป็นสัญญาณซื้อ นักเทรดก็จะคีย์ซื้อทันทีโดยไม่หันกลับมาใคร่ครวญใดๆ อีก ในทางตรงข้าม ถ้าเส้น MA(5) ตัดทะลุเส้น MA(10) ลงมา ถือว่าเป็นสัญญาณขาย นักเทรดก็จะคีย์ขายทันทีเช่นกัน

กฏเกณฑ์ที่ผมยกตัวอย่างเป็นแบบง่ายๆ ในความเป็นจริงนักเทรดย่อมมีทางเลือกมากมาย เช่น ใช้เส้น moving average อื่นๆ อาจจะเป็น MA(8), MA(20) หรือ MA(40) เป็นต้น หรืออาจจะใช้ indicator ตัวอื่นอย่าง MACD, RSI หรือตัวอะไรก็ได้ บางทีเขาอาจจะใช้หลายตัวประกอบกันก็ยังได้

ปัญหาของนักเล่นหุ้นสมัครเล่น คือ จะใช้ indicator ตัวไหนดี?

สิ่งที่มือสมัครเล่นทำคือหยิบ indicator ที่สนใจขึ้นมาแล้วทดลองกับกราฟย้อนหลังไประยะหนึ่ง พอเห็นว่าได้กำไรดีก็เอามาใช้ แต่ตัวไหนที่ไม่ได้กำไรก็โยนทิ้งไป สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาคือเมื่อเวลาผ่านไปเจ้า indicator ที่เคยใช้การได้ดีเยี่ยมกลับแย่ลงๆ จนในที่สุดเขาก็โยนมันทิ้งไปแล้วหาตัวใหม่มาแทน วนเวียนเป็นวัฏจักรอย่างนี้เรื่อยไป

คุณอาจจะแปลกใจว่าที่จริงแล้วนักเทรดมืออาชีพไม่มีปัญหาเรื่องนี้ เหตุผลก็คือ พวกเขาทดสอบระบบอย่างเข้มงวดก่อนที่จะเอามันมาใช้ และนั่นคือสิ่งที่มือสมัครเล่นไม่ได้ทำ

การทดสอบอย่างเป็นระบบทำให้นักเทรดทราบว่า "ในระยะยาว" ระบบการเทรดของเขาจะให้ผลอย่างไร พวกเขาทราบค่าสถิติต่างๆ ของระบบการเทรดเป็นอย่างดี เป็นต้นว่ากำไรเฉลี่ยต่อครั้ง เปอร์เซ็นต์จำนวนครั้งที่เทรดได้กำไร ผลขาดทุนสูงสุด ฯลฯ พวกเขามองเห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว ดังนั้นความลุ่มๆ ดอนๆ ระหว่างทางจะไม่ทำให้พวกเขาหันเหไปจากระบบที่พวกเขาคิดมาดีแล้ว สิ่งที่ต้องทำก็คือ ปฏิบัติตามระบบอย่างเคร่งครัดเท่านั้น

และนี่ก็คือวิธีการเทรดเยี่ยงหุ่นยนต์ หรือ mechanical trading


Discretionary Trading

อย่างไรก็ตาม นักเทรดจำนวนมากไม่ต้องการหลับหูหลับตาเทรดไปตามระบบราวกับตัวเองเป็นหุ่นยนต์ บางทีพวกเขาก็เชื่อมั่นว่าวิจารณญาณหรือสัญชาตญาณของเขามีประโยชน์ต่อการเทรด ซึ่งก็น่าจะดีกว่าการทำตามกฏไปเรื่อยๆ ดังนั้นพวกเขาอาจจะมีกฏไว้หลวมๆ หรือไม่ก็อาจจะไม่มีเลย

พวกเขาอาจจะอ่านกราฟ ดู indicator เช็คแนวโน้มใหญ่ เบ็ดเสร็จแล้วค่อยประมวลออกมาว่าจะทำอะไร พูดให้ชัดก็คือ "ตัวของเขาเอง" นั่นแหละที่เป็นระบบ นักเทรดกลุ่มนี้ทดสอบระบบการเทรดเช่นเดียวกับพวก mechanical traders เพียงแต่พวกเขาต้องทดสอบกับตัวของเขาเองว่าเมื่อเห็นข้อมูลทดสอบแล้วพวกเขาสั่งซื้อขายอย่างไร แล้วก็บันทึกไว้ เมื่อเรียบเรียงได้จำนวนครั้งการเทรดมากเพียงพอก็เอาสถิติมาดูในลักษณะเดียวกัน ซึ่งนั่นก็จะทำให้พวกเขาเห็นภาพได้ว่าในระยะยาวระบบการเทรดของเขาจะทำกำไรได้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด

และแน่นอน พวกเขาทดสอบระบบอย่างเข้มงวดก่อนที่จะลงมือเทรด นอกจากนี้พวกเขายังจดบันทึกเอาไว้ด้วยว่าได้ซื้อขายอะไรไปบ้าง ที่ราคาเท่าไหร่ มีเหตุผลอะไร ซึ่งทำให้พวกเขาวิเคราะห์ผลการเทรดและปรับตัวได้เมื่อสภาวะตลาดเปลี่ยนแปลงไป เมื่อทุกอย่างที่ทำกลายเป็นอัตโนมัติ ความสามารถของเขาก้าวเข้าสู่ภาวะไร้สำนึก และนี่คือสิ่งที่นักเทรดเทพๆ ชื่อดังระดับโลกไปถึง

จะเห็นว่า "ใจ" มีความสำคัญต่อระบบการเทรดแบบ discretionary มากกว่าแบบ mechanical ซึ่งเน้นหนักไปที่วินัย เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าใจมีผลต่อสมอง การที่เราใจไม่นิ่งหรือมีอาการวอกแวกจะทำให้การตีความกราฟหรือ indicator ต่างๆ ผิดเพี้ยนไป เราจึงมักได้ยินพวกมืออาชีพพูดเสมอว่า เวลาเทรดอย่าคิดถึงเงิน เทรดให้ดีแล้วเงินจะตามมาเอง


นักเล่นหุ้นสมัครเล่น

หากต้องการอัพเกรดตัวเองจากนักเล่นหุ้นมือสมัครเล่นไปเป็นนักเทรดมืออาชีพ สิ่งที่เราต้องทำอย่างแรกคือ ระบุให้ได้ว่าจะเทรดแบบ mechanical หรือ discretionary ในข้อนี้ผมแนะนำว่าคนที่ใจไม่ค่อยนิ่งควรเริ่มต้นจากการเทรดตามกฏเสียก่อน แต่การที่จะทำเช่นนั้นได้ก็จะต้องทดสอบระบบกับข้อมูลย้อนหลังอย่างเพียงพอ รวมทั้งทดสอบกับข้อมูล real time ไปสักระยะหนึ่งด้วย ก่อนที่จะเข้าสู่สนามจริงและเงินจริง

อย่าเทรดหุ้นไปตามสัญชาตญาณ! ... แม้แต่มืออาชีพยังใช้เวลาเรียนรู้กว่าจะไปถึงระดับความสามารถแบบไร้สำนึก หากคุณเทรดตามสัญชาติญาณหรือตามการนึกคิดในขณะที่ความสามารถของตัวเองยังไม่ถึงขั้น นั่นไม่ใช่วิทยาศาสตร์และไม่ใช่ระบบ ผมชอบที่ George Angell เทรดเดอร์ชื่อดังกล่าวไว้ว่า "Every day I go in without an opinion ... and I let the market tell me where it wants to go" ไม่ต้องบรรยายเพิ่มครับ

ประการต่อมาเราควรจดบันทึกการซื้อขายหรือทำ trade journal ด้วยเสมอ ระบุว่าซื้ออะไร จำนวนเท่าไหร่ มีเหตุผลอะไรหรือใช้ indicator ตัวใด จะขายเมื่อไหร่ ...ถ้าเราบอกตัวเองได้ว่าจะขายเมื่อไหร่ นั่นแปลว่าเราจะไม่ติดอยู่บนดอย อย่างไรก็ตาม การจดบันทึกอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ แต่เราจะต้องเอาผลมาวิเคราะห์ด้วย เช่น ตรวจสอบว่า %win ของระบบการเทรดยังสูงอยู่หรือไม่ ระบบของเราเริ่มจะเจ๊งแล้วหรือยัง เป็นต้น

การเทรดหุ้นอย่างมีระบบเป็นกิจกรรมที่ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ เราต้องหมั่นทบทวนและตรวจสอบให้แน่ใจว่าเราได้ทำตามระบบอย่างมีวินัย รวมทั้งระบบของเรายังคงดีอยู่ การอ่านหนังสือและหาความรู้เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม วิธีการต่างๆ ที่หนังสือพูดถึงนั้นเราต้องเอามาทดสอบอย่างเข้มงวดก่อนที่จะนำมาใช้เสมอ แล้ววันหนึ่งเราก็จะพ้นจากสภาพแมงเม่าและกลายเป็นมืออาชีพเต็มตัวครับ