วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

หุ้นนำดัชนี - ดัชนีนำหุ้น


ถ้าติดตามรายการ TV ที่เกี่ยวกับการลงทุน เราอาจเคยได้ยินผู้ประกาศหรือนักวิเคราะห์พูดถึง "หุ้นนำดัชนี" แล้วก็สงสัยว่าอะไรคือหุ้นนำดัชนี และมันมีความสำคัญอย่างไร

ในตลาดหุ้นไทยมีหุ้นอยู่ราว 400-500 ตัว การจะบอกได้ว่า "ภาพรวม" ของตลาดเป็นอย่างไรในวันนี้ทำได้โดยการอ้างถึงดัชนี ไม่ว่าจะเป็น

ดัชนี SET (บอกภาพรวมของหุ้นทั้งตลาด)
ดัชนี SET50 (บอกภาพรวมของหุ้นตัวใหญ่ที่สุด 50 ตัวแรก)
ดัชนีรายอุตสาหกรรม (บอกภาพรวมของอุตสาหกรรมนั้นๆ เช่น กลุ่มแบงก์ กลุ่มพลังงาน ฯลฯ)

ผมคงไม่ต้องไล่ย้อนไปถึง Charles Dow กับ Edward Jones (ที่มาของดัชนีดาวโจนส์) แต่ขอบอกสั้นๆ เพียงว่าดัชนีที่ใช้กันอยู่ในเมืองไทยนั้นเป็น "ตัวเลข" ที่คำนวณจากมูลค่าตลาด (market cap) ของหุ้นแต่ละตัว ดังนั้นหุ้นไหนตัวใหญ่ เช่น ปตท. หรือ ปูนใหญ่ ก็จะเป็นหุ้นที่มีผลต่อดัชนีค่อนข้างมาก เมื่อราคาหุ้นพวกนี้มีการเคลื่อนไหวจะส่งผลโดยตรงต่อดัชนีทันที

เราอาจไม่เคยได้ยินใครพูดตรงๆ ว่าดัชนีนำหุ้น แต่ในความเป็นจริง เมื่อตลาดหุ้นโดยรวมปรับตัวลง (เช่น ดัชนี SET ลดลง) นักลงทุนก็จะเริ่มกังวลและคิดไปเองว่า "เฮ้ย! หุ้นที่เราถือนี่เดี๋ยวมันจะตกแล้วอ่ะ" พอคิดอย่างนี้หลายคนเข้า หุ้นมันก็เลยตกไปด้วยจริงๆ


ความสัมพันธ์แบบสะท้อนกลับไปมา

เราจะเห็นว่าราคาหุ้นและดัชนีมีผลกระทบที่สะท้อนกลับไปมา ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ทำให้เกิดแรงกระแทกที่เกินจริงเมื่อตลาดหรือหุ้นบางตัวมีการเคลื่อนไหวแรงๆ ผมขอยกตัวอย่างดังนี้ครับ

เมื่อหุ้นขนาดใหญ่ตัวหนึ่ง สมมติว่าชื่อหุ้น A มีข่าวมากระทบอย่างรุนแรง ส่งผลให้ราคาหุ้นตัวนี้ทรุดลงอย่างรวดเร็ว แรงกระแทกดังกล่าวอาจสะท้อนไปที่เพื่อนบ้าน (หุ้นตัวอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน สมมติว่าชื่อหุ้น B และหุ้น C) ในเวลาใกล้เคียงกันด้วย และสะท้อนต่อไปที่ภาพรวมของอุตสาหกรรม (ดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรม สมมติว่าชื่อ ABC)

ภาพรวมของอุตสาหกรรม ABC นอกจากจะได้รับผลทางตรงจากหุ้น A แล้ว ยังได้รับผลทางตรงจากหุ้นเพื่อนบ้าน คือ หุ้น B และหุ้น C ไปพร้อมๆ กันด้วย (ผลกระทบจากหุ้น A ไปหาหุ้นเพื่อนบ้านจัดเป็นผลกระทบทางอ้อม แต่การที่หุ้นเพื่อนบ้านส่งผลต่อดัชนีของกลุ่มจัดเป็นผลกระทบทางตรง) คงพอจะนึกภาพออกนะครับ

เราอาจนึกว่าแรงกระแทกนี้จบแล้ว แต่ที่จริงมันกำลังขยายไปสู่สเกลที่ใหญ่ขึ้น การทรุดลงของอุตสาหกรรมดังกล่าวทำให้นักลงทุนในอุตสาหกรรมอื่นๆ หันมาสนใจ โดยเฉพาะถ้าอุตสาหกรรมนั้นมีน้ำหนักอย่างมากต่อดัชนีตลาด พวกเขาเริ่มตั้งคำถามและเตรียมขาย ขณะที่บางคนไม่ตั้งคำถาม แต่ว่าขายเลย แรงขายจึงเริ่มแผ่ไปทั่วทั้งตลาดและกดดันให้พวกคนที่เตรียมขายหันมาขายทันทีไปกับเขาด้วย

ดัชนีตลาด นอกจากจะได้รับผลทางตรงจากอุตสาหกรรม ABC ยังได้รับผลทางตรงจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ไปพร้อมกันด้วย ต่อจากนี้นักลงทุนทั่วทั้งตลาดเห็นแล้วว่าดัชนีตลาดกำลังปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว จึงพากันเทขายหุ้นตามไปด้วย ไม่เว้นแม้แต่หุ้น beta ต่ำ


กลับสู่ภาวะปกติ

หลังจากที่ตลาดทรุดลงได้พักหนึ่ง (คนอยากขายขายได้หมดแล้ว) คนอยากซื้อก็เริ่มกลับมาเก็บหุ้นในราคาที่ต่ำลง ทำให้ดัชนีเริ่มประคองตัวได้ ภาวะของการตื่นขายก็ค่อยๆ หมดไป หากภาพใหญ่ของตลาดในระยะยาวยังเป็น "ขาขึ้น" แรงซื้อก็จะเริ่มกลับมา สุทธิแล้วหุ้น A อาจจะตกลงแต่ก็ไม่มากเท่ากับทีแรก ส่วนหุ้นตัวอื่นๆ ก็อาจกลับมาเสมอตัวหรือพลิกกลับมาบวกเสียด้วยซ้ำ

ตัวอย่างดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพียงแต่กลไกของมันไม่ค่อยมีใครรู้ สิ่งที่เราสังเกตได้มีเพียงการตอบสนองที่เกินจริงในลักษณะเดียวกับการ "overshoot" ในทางวิศวกรรม และถ้าใครอยู่ในตลาดนานพอก็จะเห็นว่ามันเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ


ภาพจาก Wikipedia

1 ความคิดเห็น: