วันอังคารที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2553

House of Derivatives ตอนที่ 13 Spread Trading (1)


คนที่เทรดฟิวเจอร์ส เช่น SET50 Index Futures ส่วนมากเข้ามาด้วยมุมมองขาขึ้น (uptrend) หรือขาลง (downtrend) อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยผู้ที่คิดว่าหุ้นจะขึ้นก็จะ long (ซื้อ) ส่วนผู้ที่คิดว่าหุ้นจะลงก็จะ short (ขาย)

อย่างไรก็ตาม บางครั้งเราก็เทรดฟิวเจอร์สโดยไม่ได้มีมุมมองขาขึ้นหรือขาลงโดยตรง ตัวอย่างหนึ่งคือการทำ "spread trading"

Spread คืออะไร

spread คือ สถานะการ long ไปพร้อมๆ กับการ short ฟิวเจอร์ส ในทางเทคนิคเราสามารถทำได้ทั้ง


  • Inter-commodity spreads ซึ่งเป็นการทำ spread ข้ามตัวหุ้น เช่น การ long ฟิวเจอร์สของ JBANK และ short ฟิวเจอร์สของ SCCB เป็นต้น

  • Intra-commodity spreads ซึ่งสินค้าอ้างอิง (underlying asset) เป็นตัวเดียวกัน เช่น การ long SET50 futures ซีรีส์เดือนมีนาคมและ short ซีรีส์เดือนมิถุนายนไปพร้อมๆ กัน

หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วมันจะ long ไป short ไปทำไม อันนี้ตอบได้ไม่ยาก เราไล่พื้นฐานทีละอันเลยก็แล้วกัน

ในกรณีของการ "ซื้อ" JBANK futures และ "ขาย" SCCB futures สะท้อนมุมมองของเราที่ว่าหุ้น JBANK น่าจะ outperform หุ้น SCCB สถานการณ์อาจเป็นดังนี้


  1. หุ้น JBANK ขึ้น และหุ้น SCCB ลง --> ได้กำไรจากการซื้อ JBANK futures และได้กำไรจากการขาย SCCB futures

  2. หุ้นขึ้นทั้งสองตัว แต่หุ้น JBANK ขึ้นแรงกว่า SCCB --> กำไรที่ได้จากการซื้อ JBANK futures มากกว่าที่ขาดทุนจากการขาย SCCB futures

  3. หุ้นตกทั้งสองตัว แต่หุ้น JBANK ตกน้อยกว่า SCCB --> ขาดทุนจากการซื้อ JBANK futures แต่ได้กำไรจากการขาย SCCB futures มาชดเชย เบ็ดเสร็จแล้วได้กำไรด้วย

ในกรณีของการ "ซื้อ" SET50 futures ซีรีส์เดือนมีนาคมและ "ขาย" ซีรีส์เดือนมิถุนายนนั้นชัดเจนน้อยกว่า คงต้องว่ากันทีหลังครับ

วันพุธที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2553

Slippage (2)


ความเดิมจากตอนที่ 1 ผมได้กล่าวถึง slippage ว่าคืออะไร และทำให้กำไรของเราหดหายไปได้อย่างไร คราวนี้ผมจะบอกข้อสังเกตดีๆ เกี่ยวกับมันบ้าง

เรารู้แล้วว่าการได้ซื้อแพงกว่าที่อยากจะซื้อ(หรือขายได้ถูกกว่าที่อยากจะขาย) ทำให้เกิด slippage ขึ้น เชื่อว่าหลายท่านคงจะเริ่มรังเกียจเจ้า slippage นี้บ้างไม่มากก็น้อย แต่ผมอยากให้ข้อสังเกตว่าการเกิด slippage ขึ้นในการซื้อขายหุ้นหรือฟิวเจอร์สนั้นเป็นสัญญาที่ดีประการหนึ่งว่าเรากำลังมาถูกทาง

สมมติว่าตลาดกำลังเป็น sideway คือวิ่งอยู่ในกรอบ ไม่ได้เป็นขาขึ้นหรือขาลงที่ชัดเจน ผมหาแนวรับและแนวต้าน (จะด้วยการใช้กราฟหรือ indicator อะไรก็แล้วแต่) และกำหนดจุด long (ซื้อ) ฟิวเจอร์สไว้ โดยคาดหวังว่ามันจะเด้งขึ้นหากมันลงมาแตะที่แนวรับ

สังเกตว่าผมไม่ได้ซื้อที่แนวรับ แต่จะซื้อเหนือแนวรับเล็กน้อยเพื่อรอการยืนยันว่าราคาจะเด้งขึ้น สมมติว่าแนวรับอยู่ที่ 712.0 จุด ผมอาจตั้งซื้อไว้แพงกว่านั้นเล็กน้อยที่ 712.2 จุด

ปรากฏว่าราคาของฟิวเจอร์สเด้งขึ้นจริงตามที่คาด แต่พอมันแตะแนวรับปุ๊บ มันไปเลย เช่นอาจจะวิ่งไปแถวๆ 712.4/712.5 จุด (bid = 712.4, offer = 712.5) สิ่งที่ผมจำเป็นต้องทำหากคิดว่าแนวรับนี้รับอยู่จริงๆ ก็คือตามไปซื้อที่ราคา 712.5 จุด ซึ่งเท่ากับว่าผมยอมรับ slippage เท่ากับ 712.5 - 712.2 = 0.3 จุด ซึ่งก็น่าจะดีกว่าปล่อยให้โอกาสหลุดลอยไปเพราะ "วิเคราะห์ถูก แต่ไม่ได้ซื้อ"

หากเราวิเคราะห์ดูดีๆ การเกิด slippage ครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าตลาดมองเห็นแนวรับเดียวกับเราและเชื่อเหมือนที่เราเชื่อว่าราคาจะต้องขึ้น คำสั่งของเราเลยไม่สามารถจับคู่ได้เพราะผู้ขายมองว่าราคานั้นมันถูกเกินไป (จึงไม่มีใครเสนอขายที่ 712.2 ไง)

Slippage นิดๆ หน่อยๆ จึงน่าจะเป็นสัญญาณที่ดีว่าเราวิเคราะห์มาถูกทางครับ

วันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2553

Slippage (1)


ขออภัยหากชื่อเรื่องทำให้งงๆ ว่าจะพูดถึงเรื่องอะไรนะครับ

Slippage เป็นคำนาม อ่านว่า สลิป-พิจ เราถือว่าเป็นของคู่กันกับนักเทรด อธิบายให้ง่ายที่สุดโดยยกตัวอย่าง เช่น แนวรับของหุ้น MKY อยู่ที่ราคา 16.5 บาท ผมต้องการซื้อที่แนวรับนี้จึงตั้ง bid ไว้รอด้วยใจจดจ่อ

ในที่สุดปรากฏว่าหุ้นลงมาแตะที่ราคานี้จริงๆ ครับ อย่างไรก็ตาม เมื่อชะโงกดูบนหน้าจอ ผมยังคงเห็นราคา bid อยู่ที่ 16.5 และ offer อยู่ที่ 16.6 แต่คำสั่งของผมก็ยังไม่ match แสดงว่ามันยังรอคิวอยู่ที่ราคา bid นั่นแหละ

หากงกหน่อยผมอาจจะใจเย็นแล้วรอให้คำสั่งที่ผมตั้งไว้ match เองตามธรรมชาติ แต่ถ้าผมต้องการซื้อให้ได้ทันทีก่อนที่หุ้น MKY จะเด้งกลับไป ผมอาจจะส่งคำสั่งใหม่โดยเคาะซื้อที่ราคา 16.6 บาทเลยก็ได้ วิธีนี้จะการันตีว่าผมไม่พลาดที่จะได้หุ้นตัวนี้แต่จะทำให้ผมต้องจ่ายแพงขึ้นกว่าที่ตั้งใจไว้ 0.1 บาท

เจ้าสิบสตางค์นี่แหละครับที่เรียกว่า slippage

บางท่านอาจสงสัยว่าทำไมต้องรีบร้อนซื้อให้ได้ด้วย สู้อยู่เฉยๆ รอให้คำสั่งมัน match เองก็ไม่ต้องมี slippage แล้ว แต่ถ้าแนวรับนี้เป็นแนวรับสำคัญ บางทีการที่ผม "งก" กับเงิน 0.1 บาท อาจทำให้ผมเสียโอกาสและได้แต่มองหุ้นตัวนี้พุ่งขึ้นไปเป็น 18 บาท 19 บาท หรือแม้แต่ยี่สิบกว่าบาท

ในฐานะที่เราเป็นนักเทรด ถ้าเราสามารถจับแนวรับหรือแนวต้านสำคัญได้อย่างแม่นยำ แต่ไม่สามารถทำเงินจากมันได้นั้นถือเป็นความสูญเปล่าที่ไม่น่าให้อภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าการเสียโอกาสนั้นเกิดจากการงกเล็กๆ น้อยๆ ฝรั่งเขามีวลีเด็ดโดนใจว่า "penny wise and pound foolish" แปลเป็นไทยประมาณว่า "เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย" หรือถ้าแปลตรงตัวแบบบาดใจก็คือ เก่งนักเรื่องเศษสตางค์ แต่โง่ทีเป็นบาท (อย่าทำนะครับ)

เราๆ ท่านๆ มองแล้วจะเห็นว่าเจ้า slippage นี้ดูเหมือนจะเป็นต้นทุนอีกตัวหนึ่งที่ตอดเล็กตอดน้อยและกัดกินกำไรของเรา ซึ่งก็จริงอยู่เหมือนกัน สมมติว่า slippage ครั้งละ 0.1 / 16.5 = 0.6% ซื้อขายไป-กลับ กำไรของผมจะลดลง 1.2% ถ้าผมซื้อและขายแค่เดือนละรอบ (ปีละ 12 หน) กำไรของผมจะหดไป 14.4% แล้วลองคิดดูว่าที่เราซื้อๆ ขายๆ หุ้นปีนึงนั้นจะเหลือกำไรซักกี่เปอร์เซ็นต์

อย่างนี้คงมองข้ามไม่ได้แล้วมั้งครับ!?

วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553

บุคคล 3 จำพวกในตลาด


เชื่อหรือไม่ครับว่ามีคนบางกลุ่มเข้ามาเทรดในตลาดโดยไม่ได้ต้องการกำไร!?

เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงแม้ว่าจะขัดกับจิตสำนึกของเราๆ ท่านๆ อยู่พอสมควร นั่นเป็นเพราะว่าเราเป็นสมาชิกหมู่มากของตลาดไงล่ะครับ คนส่วนมากต้องการทำกำไรด้วยวิธีง่ายๆ ที่ทำตามได้ยาก นั่นคือการ "ซื้อถูก แล้วขายแพง" ความที่นักเก็งกำไร (speculator) อย่างเราเป็นคนหมู่มาก บางครั้งเราเลยไม่ทันได้สังเกตเห็นคนอีกสองกลุ่ม

กลุ่มแรกเป็นคนที่เข้ามาป้องกันความเสี่ยง (hedger) ที่ชัดเจนก็คือในตลาดอนุพันธ์ เช่น ผู้จัดการกองทุนที่มีพอร์ตหุ้นขนาดใหญ่อยู่ในความดูแล และต้องการป้องกันความเสี่ยงชั่วคราว เป็นต้นว่าศาลกำลังจะพิจารณาคดีความที่มีผลทางการเมือง ผู้จัดการกองทุนก็จะเข้ามา short หรือขาย SET50 futures ในชั่วระยะเวลาหนึ่งจนกว่าเรื่องราวจะสงบลงและเขาเห็นว่าตลาดหุ้นเริ่มผันผวนน้อยลง เขาก็จะทำการปิดสถานะและกลับไปถือหุ้นเต็มๆ อีกครั้งหนึ่ง

คนอีกกลุ่มหนึ่งเราไม่ค่อยจะคุ้นหูกันนัก คนกลุ่มนี้จะเป็นพวกหูตาไวชอบหาช่องทางทำกำไรแบบไม่เสี่ยง เราเรียกว่าการทำ arbitrage และเรียกคนกลุ่มนี้ว่า arbitrageur โดยส่วนตัวผมเองตั้งฉายาเท่ๆ ให้คนพวกนี้ว่าเป็น "the punisher" คือ เห็นตลาดปล่อยไก่มาก็ทำโทษซะ เก็บกำไรเข้ากระเป๋าสบายๆ


อะไรคือ arbitrage

คนจำนวนมากสับสนระหว่าง "low risk speculation" กับ "arbitrage" ความจริงถ้าเราพูดถึงการทำ arbitrage นั้นจะต้องเป็นการทำกำไรที่ไม่เสี่ยงใดๆ เลย เช่น ไปติดต่อหาคนซื้อรถเบนซ์มือสองได้ที่ราคา 800,000 บาท จากนั้นก็ไปหารถมาจากเต็นท์รถได้ที่ราคา 750,000 บาท เท่ากับว่าได้กำไร 50,000 บาทโดยไม่เสี่ยงอะไรเลย

ขณะที่ low risk speculation เราอาจจะซื้อรถมาจากเต็นท์ก่อน ผ่านไป 2 สัปดาห์จึงค่อยหาคนซื้อต่อได้ ถ้าเป็นกรณีนี้เราก็จะมีความเสี่ยงที่จะขายไม่ออกหรือขายขาดทุน

ในแง่ของตลาดหุ้นหรือตลาดอนุพันธ์ โอกาสในการทำ arbitrage มักจะเกิดขึ้นน้อยมาก และเกิดขึ้นเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ ถ้าอยากเห็นตัวอย่างแบบสัมผัสได้ให้ลองไปดูคนต่อแถวออกจากสถานีรถไฟฟ้านะครับ ทันทีที่มีแถวใดแถวหนึ่งคิวสั้น คนที่ต่อคิวอยู่แถวข้างๆ จะกรูกันเข้าไปทันที

arbitrage opportunity มันสั้นขนาดนั้นแหละครับ!

วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

Invert Equity Fund: อีกไอเดียแผลงๆ


นวัตกรรมทางการเงินเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ โดยส่วนมากจะเกิดขึ้นในซีกโลกตะวันตก ผมคิดว่าคนเอเชียเป็นคนชอบใช้มากกว่าชอบคิด แม้ว่าจะมีศักยภาพที่จะทำก็ตามที ถ้าว่าตามนี้ผมก็คงจะเป็นคนเอเชียที่มีความคิดแหวกแนวพิลึกๆ กว่าเกณฑ์เฉลี่ยทั่วไป (เฉพาะด้านการเงินการลงทุนนะครับ)

ไอเดียต่อไปนี้ใครจะนำไปพัฒนาหรือนำไปใช้ก็ไม่ว่ากัน ไม่ต้องมาจ่ายค่าลิขสิทธิ์ด้วยนะครับ ขออย่างเดียวคืออย่าเคลมว่าคิดได้เอง ไม่ใช่ว่าผมอยากได้หน้าได้ตา แต่ถ้าผมอนุญาตจะเท่ากับผมส่งเสริมให้ทุศีลโดยโป้ปดผิดศีลข้อ 4 ครับ

สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าจะมีในแวดวงการลงทุนก็คือ กองทุนรวมที่ให้ผลตอบแทนในทางตรงกันข้ามกับหุ้น หรือ invert equity fund

อย่างเช่นเวลาที่หุ้นขึ้น 5% กองทุนทั่วไปจะให้ผลตอบแทนราว 5% ใกล้เคียงกัน แต่กองทุนที่ผมว่านี้จะให้ผลตอบแทน -5% (ติดลบ ใช่แล้วครับ) ในทางตรงข้ามเวลาที่หุ้นตก 5% กองทุนอื่นจะขาดทุนราว 5% ส่วนกองทุนนี้จะให้ผลกำไร 5% ฟังดูพิลึกใช่มั๊ยล่ะ ...แล้วมันจะดีอย่างไร

ผมมองว่ากองทุนลักษณะนี้คือสิ่งที่ตลาดยังขาดอยู่ คนที่ซื้อหุ้นหรือซื้อกองทุนหุ้นสามารถเล่นได้เพียงขาเดียว คือ ทำกำไรในตลาดขาขึ้น ส่วนพอตลาดลงก็ต้องรีบตาลีตาเหลือกขายหุ้น แล้วออกมาถือครองเงินสด ซึ่งก็จะส่งผลช่วยกระทืบซ้ำให้ตลาดตกหนักและซบเซาเข้าไปอีก การมีกองทุนที่สวนทางแบบนี้จะช่วยให้นักลงทุนไม่ต้องขายหุ้นออกไปจริงๆ เพียงแต่หันมาถือกองทุนแบบนี้เท่านั้น

ท่านที่มีความรู้ในระดับที่ลึกขึ้นอาจแย้งว่าตราสารอนุพันธ์ก็สามารถทำแบบนี้ได้ แต่สิ่งที่ผมนำเสนอนี้เป็น "กองทุนรวม" ซึ่งชาวบ้านทั่วไปสามารถสัมผัสได้ครับ ผมคิดว่ามันตรงไปตรงมา ซื้อขายเหมือนกับกองทุนเด๊ะเลย ต่างจากการเข้าทำสัญญาฟิวเจอร์สซึ่งนักลงทุนจะต้องมีภาระในการคำนวณและวางหลักประกัน มีความเสี่ยง basis risk และก็ต้องคอยขยับสัญญา (roll over) อีกด้วย มือใหม่แค่ฟังก็เริ่มมึนแล้วครับ

กองทุนนี้จะช่วยให้ตลาดหุ้นมีเสถียรภาพมากขึ้นและช่วยส่งเสริมให้ตลาดอนุพันธ์ในบ้านเราเติบโตอย่างยั่งยืน เพราะกองทุนจะเข้าสู่ตลาดในฐานะผู้ป้องกันความเสี่ยง (hedger) ไม่ใช่นักเก็งกำไร (speculator) ซึ่งผู้เล่นในกลุ่มหลังนี้มีเยอะมากแล้วและทำให้ตลาดไม่สมดุล

ลงท้ายนี้ผมเองอยากจะให้แง่คิดกับน้องๆ ที่อยากเรียนด้านวิศวกรรมการเงิน หรือ financial engineering ว่าการเรียนในสายนี้ตามกระแสหรือเรียนตามๆ บทเรียนไปให้ผ่านนั้นมันอาจไม่ได้ให้อะไรกับชีวิตก็ได้ ใครก็ตามที่เรียนแล้วควรจะคิดค้นอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาบ้าง บางทีของเจ๋งๆ กลับเป็นเพียงแค่ของง่ายๆ ที่ผู้คนต่างมองข้ามไป

วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2553

พล็อตหนัง The Fall of the Social Network


วันนี้นึกสนุกขอแหวกแนวอย่าว่ากันนะครับ ภาพยนตร์ที่ผมอยากเห็นมีพล็อตดังนี้

ในอนาคตอีกไม่ไกล ทุกคนรอบๆ ตัวของเราต่างก็เข้าถึงสังคมออนไลน์ แม้แต่มือถือรุ่นกระจอกสุดก็ยังเข้าสู่ "social network" ได้ทุกที่ทุกเวลา การมีพ่อแม่ ลูก คนรัก และเพื่อนอยู่ใกล้ชิดกับตัวเรา "ในอุปกรณ์ไฮเทค" กลายเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคย เราเลิกสนใจคนที่โหนรถไฟฟ้าติดกับเรา เลิกสนใจพ่อค้าขายหมูปิ้ง พอๆ กับที่พ่อค้าเองก็ไม่ได้สนใจเรา เพราะเขาเองก็หมกมุ่นอยู่ในสังคมออนไลน์เช่นกัน

ในอนาคตไกลออกไปวันหนึ่ง social network ได้พังทลายลงอย่างฉับพลัน ผู้คนต่างตกอยู่ในความมืดมน เพราะมนุษย์ได้หลงลืมทักษะในการสื่อสารระหว่างกันไปเสียแล้ว เมื่อเจอหน้ากันคนเราจะไม่มองหน้ากัน ไม่พูดกัน การแก้ปัญหาด้วยการ "พิมพ์" ข้อความให้อีกคน "อ่าน" แทนการพูดคุยถือว่าพอช่วยให้คนสื่อสารกับคนได้ แต่ไม่ใช่การสื่อสารระหว่างคนกับหมา!?

ความสัมพันธ์ระหว่างชายหนุ่มชื่อ "ด๊อก" กับหมาแปลกหน้าภายหลังการพังทลายของสังคมออนไลน์กลายเป็นเรื่องพิลึก เมื่อมนุษย์จะหันกลับมาเลี้ยงสัตว์เลี้ยงจริงๆ ที่ไม่ใช่หมาในไอแพด 16 โดยการพิมพ์ข้อความให้หมาอ่าน ก่อนที่เขาจะพบว่ามนุษย์ในยุคปู่ย่าของเขาเคยมีชีวิตที่อบอุ่นเพียงใด กับครอบครัวไม่ได้มีอยู่เพียงในอุปกรณ์ไฮเทค

ถึงตอนนี้ "ด๊อก" และหมาของเขาหวังเพียงว่าจะนำเอาสังคมที่เคยรื่นรมย์กลับมา แม้ในความจริงเขาจะไม่เคยพบเห็นมันเลยในชีวิตก็ตาม