วันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สิ่งประดิษฐ์เปลี่ยนโลก คือ ...


ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินับพันปี มีสิ่งประดิษฐ์มากมายเกิดขึ้น หลายสิ่งได้เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ไปอย่างสิ้นเชิง เราลองมาทายกันดีไหมครับว่าสิ่งประดิษฐ์อันไหนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และส่งผลกระทบสูงสุดต่อประวัติศาสตร์ของมนุษย์เรา


หากถามคนในยุคปัจจุบัน ผมเชื่อว่าคนจำนวนมากหรืออาจจะส่วนมากเลยก็ว่าได้ จะตอบว่า... INTERNET คือสิ่งประดิษฐ์ที่ส่งผลกระทบสูงสุด เพราะอินเตอร์เน็ตได้เชื่อมโยงคนทั้งโลกเข้าหากัน อินเตอร์เน็ตได้ทำให้คำว่า "online" เกิดขึ้น อินเตอร์เน็ตได้ทำลายขอบเขตที่เคยขวางกั้นทั้งระยะทาง (เราติดต่อกับคนที่อยู่ไกลข้ามทวีปได้ในเสี้ยววินาที) และเวลา (เราไม่ต้องพลาดเกมฟุตบอลหรือละครตอนจบอีกต่อไป) ...แต่ผมก็ไม่คิดว่าอินเตอร์เน็ตคือสิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด


ในยุคที่คอมพิวเตอร์ถือกำเนิดขึ้น และลดขนาดจากเมนเฟรมเครื่องใหญ่เท่าห้องลงเหลือเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่เรามีกันอยู่ทั่วไปตามบ้าน ผู้คนตื่นตะลึงกับความสามารถของมัน เครื่องมือที่สามารถพิมพ์งานแล้วเซฟเก็บไว้แก้ไขได้ เขียนโปรแกรมให้ทำงานต่างๆ ได้อย่างอิสระ คำนวณสิ่งที่เคยอยู่ในกระดาษทดนับสิบๆ หน้า เหลือแค่โค้ดไม่กี่บรรทัด แน่นอนว่าเกือบทุกคนในขณะนั้นยกย่องว่าคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและพลิกประวัติศาสตร์ของมนุษย์มากที่สุด ...แต่ผมก็ไม่คิดเช่นนั้น

ย้อนกลับไปไกลสักหน่อย เมื่อโทรทัศน์ถูกประดิษฐ์ขึ้น ผู้คนที่พบเห็นในครั้งแรกต่างก็วิ่งไปดูด้านหลังว่ามีคนซ่อนตัวอยู่หรือไม่ หรือมันเป็นเวทมนตร์อะไรที่ทำให้ภาพนิ่งเคลื่อนไหวได้ และแล้วความนิยมในทีวีก็แพร่หลายขึ้นจนต่อมาแทบทุกบ้านจะต้องมีทีวี ข่าวสารถูกส่งมาในอากาศแบบเดียวกับวิทยุ แต่ว่ามาพร้อมกับภาพเคลื่อนไหวที่ใช้หลักการแบ่งซอยภาพออกเป็นริ้วๆ แล้วส่งเป็นคลื่นมาทางอากาศ ผู้คนได้ดูถ่ายทอดสดข้ามประเทศ ข้ามทวีป ถ้าเรานึกย้อนไปถึงวันนั้นจะพอเข้าใจได้ว่าคนในสมัยนั้นยกย่องโทรทัศน์ว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เปลี่ยนโลก ...แต่ผมก็คิดว่ายังไม่ใช่ ยังไม่ใช่เลยครับ

มีบางคนก็บอกว่ารถไฟ อาจจะใกล้เคียงกับสิ่งประดิษฐ์ที่เปลี่ยนโลก ผมว่าอาจจะใช่ คือใกล้เคียง แต่ก็ยังน้อยกว่าสิ่งที่ผมคิดไว้

สิ่งประดิษฐ์เปลี่ยนโลกในความเห็นของผมก็คือ "หนังสือ" ครับ แน่นอนว่ามันฟังแล้วดูธรรมดามาก แต่เราลองนึกดูว่าก่อนหน้าที่หนังสือจะถูกประดิษฐ์ขึ้น มนุษย์เราส่งต่อความรู้จากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่งได้อย่างไร บางทีอาจจะเป็นการบอกเล่า บางทีอาจจะต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ผมเองคิดว่าสิ่งสำคัญมากๆ ที่ทำให้มนุษย์ฉลาดกว่าสัตว์อื่นอยู่ตรงที่เราสามารถเรียนรู้และส่งต่อความรู้นั้นให้กับคนอื่นๆ ได้

และหนังสือก็เป็นการส่งต่อที่ยอดเยี่ยมที่สุดวิธีหนึ่ง ลองกลับไปที่บ้าน มองดูกองหนังสือที่เราเคยอ่านมาในชีวิต เราจำอะไรในหนังสือเหล่านั้นได้บ้างครับ? ในภาพรวมบางทีเราอาจจะจำได้ซัก 3% หรือดีหน่อยก็อาจจะ 5% แต่หนังสือก็ยังคงอยู่ตรงนั้น วันหนึ่งเราย้อนกลับมาอ่านความรู้เก่าๆ ก็จะกลับมา หรือเพื่อนเราคนใดคนหนึ่งกลับมาอ่านก็จะได้ความรู้ขึ้นมาด้วย ผมจึงบอกว่าถ้าปราศจากหนังสือมนุษย์เราจะโง่กว่านี้อีกมาก

มนุษย์ประดิษฐ์รถไฟ ทีวี คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต ขึ้นมาได้ก็ด้วยอาศัยองค์ความรู้ซึ่งถูกส่งต่อจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่งผ่านทางหนังสือ แน่นอนว่าผู้ประดิษฐ์คงจะต้องคิดเองบ้างบางส่วน แต่ความรู้ที่ศึกษาจากในหนังสือก็ถือว่าเป็นฐานชั้นดีที่ทำให้ศักยภาพของเขาเหล่านั้นเปล่งประกายเจิดจ้า ดังนั้น ถ้าคิดให้ลึกซึ้งถึงผลกระทบที่ "เปลี่ยนโลก" หนังสือย่อมสร้างผลกระทบที่ชัดเจนกว่าสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ ที่ผมได้กล่าวมาแล้ว

ที่เหนือไปกว่านั้นหนังสือเป็นตัวแทนของคนที่เขียนมันขึ้นมา ผมเชื่อว่านอกจากความรู้แล้วความเป็นตัวตนของเราจะถูกถ่ายทอดออกมาทางตัวหนังสือ คนเราไม่มีทางสิ้นชื่อหากหนังสือที่เขียนยังคงอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น สามก๊ก ผมเชื่อว่าอีกนับร้อยปีในอนาคต หลอกว้านจง(ผู้เขียนสามก๊ก) หรือแม้แต่เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ซึ่งเป็นผู้แปลสามก๊กเป็นภาษาไทย ก็จะยังคงเป็นอมตะอยู่ในโลกใบนี้ และนี่คือพลังของสิ่งประดิษฐ์ที่เปลี่ยนโลก เชื่อเหมือนผมหรือไม่ครับ

วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2553

กล่าวถึง...ผู้นำที่ทำลูกน้องหมดไฟ


ผมมีโอกาสได้เปิดหนังสือพิมพ์ธุรกิจฉบับหนึ่งแล้วพบบทความดีๆ มาเล่าสู่กันฟังครับ

คอลัมน์ผู้นำตามสั่ง โดย รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ซึ่งท่านก็นำเนื้อหามาจาก Harvard Business Review อีกที เป็นเรื่องเกี่ยวกับ "ผู้นำที่ทำลูกน้องหมดไฟ" ซึ่งผมเองคิดว่าคนที่มีลูกน้องควรอ่านและคิดตามไป

"ผู้นำบางคนนั้นมีความสามารถที่ทำให้ลูกน้องเกิดอาการ...หมดใจหมดไฟทำงานได้โดยที่ผู้นำคนนั้นไม่รู้ตัว...หรือผู้นำบางคนก็ไม่สามารถดึงเอาส่วนที่ดีที่สุดของลูกน้องออกมาได้ ประมาณว่าปั้นดินให้เป็นดาวไม่เป็น หรือในบางกรณีอาจจะถึงขนาดดับประกายดาวแล้วลากดาวลงดินก็ยังได้...แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้นำนั้นไม่ยักรู้สึกตัวเลยว่าตนเองเป็นสาเหตุของความล้มเหลว"

มีใครอ่านแล้วขนลุกซู่ เพราะว่าตัวเองกำลังเป็นผู้นำประเภทนี้หรือเปล่า หวังว่าคงจะไม่นะครับ

ในบทความดังกล่าวระบุสัญญาณอันตราย 3 ประการของการเป็นผู้นำยอดแย่ ได้แก่
  1. เป็นผู้มีวิสัยทัศน์อันบรรเจิด - ปัญหาเกิดจากว่าวิสัยทัศน์ของผู้นำนั้น "บรรเจิด" มากเกินไป ใช้เวลามากเกินไปในการขายฝันของตัวเอง โดยหวังว่าลูกน้องจะอินตามไปด้วยและไม่สนใจว่าลูกน้องจะพยายามทักท้วงหรือเสนอแนะอะไร
  2. เป็นนักพูด - ผู้นำที่เป็นนักพูดและมี passion หรือมีความลึกซึ้งในสิ่งที่ตนเองเชื่อมากๆ จนกระทั่งติดอยู่แต่กับเรื่องที่ตนเองอยากพูดและไม่รับฟังสิ่งที่คนอื่นพูด (หรือทำเป็นฟัง แต่ก็ฟังไปงั้นๆ ไม่ได้คิดตาม) ลูกน้องก็จะรู้สึกเบื่อหน่ายกับการฟังผู้นำ "จ้อ" หรือ "ฟุ้ง" แต่ไอเดียของตัวเอง
  3. เป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ - ในกรณีนี้หมายถึงผู้นำที่มีไอเดียกระฉูด คอยหาไอเดียใหม่ๆ แบบไม่หยุดยั้ง ชนิดที่ว่าโปรเจกเก่ายังไม่ทันคืบหน้าก็หาโปรเจกใหม่มาอีกแล้ว หรือสั่งงานไปอย่างหนึ่ง พอผ่านไป 2 วันก็แก้ใหม่ แก้แล้วแก้อีก แก้แล้วแก้อีก แก้แล้วก็ยังแก้อีก เฮ้ย! นี่มันเกินไปแล้วนะ แบบนี้ลูกน้องก็หัวปั่นสิครับ
อันนี้ผมสรุปๆ มาให้ ถ้าใครอยากหาฉบับเต็มของบทความมาอ่านก็ลองไปค้นหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 18 ตุลาคม 2553 ดูนะครับ

หัวหน้างานคนไหนชอบและอยากตัดเก็บไว้แปะโต๊ะทำงานก็ตามสบาย แต่ลูกน้องรายไหนชอบก็ตัดเก็บไว้เฉยๆ นะครับ อย่ามาแปะไว้ที่โต๊ะทำงานล่ะ เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน

วันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2553

House of Derivatives ตอนที่ 10 Futures ของเราจับคู่กับใคร


การลงทุนใน futures หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เราอาจเป็นฝ่าย long (ซื้อ) หรือ short (ขาย) แต่ที่ปลายอีกข้างของสัญญานั้นเป็นใครกันเราเคยสงสัยหรือไม่ ผมขออธิบายดังนี้ครับ

การลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ในทางปฏิบัติแม้การซื้อขายจะยังไม่เกิดขึ้นแต่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างก็มีภาระผูกพันโดยทันที สมมติว่านายเด๋อเป็นฝ่าย long และนายดู๋เป็นฝ่าย short ดูเผินๆ เหมือนว่านายเด๋อกับนายดู๋จะจับคู่กันเป็นคู่สัญญา แต่ว่า...

ในทางเทคนิคแล้ว จะมีหน่วยงานที่เรียกว่าสำนักหักบัญชีเข้ามาเป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทุกคน อย่างเช่นในตัวอย่างข้างต้นสถานการณ์จะเป็นดังนี้

นายเด๋อ (long) ------- (short) สำนักหักบัญชี

นายดู๋ (short) -------- (long) สำนักหักบัญชี

หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน นายดู๋เกิดเบี้ยวขึ้นมา นายเด๋อจะไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากมีสำนักหักบัญชีทำหน้าที่เหมือน buffer ที่รับความเสี่ยงนั้นแทนไปแล้ว (ความเสี่ยงด้านเครดิตหรือ credit risk) ซึ่งย่อมดีกว่าการที่นายเด๋อและนายดู๋เป็นคู่สัญญากันโดยตรง ว่ากันตามจริงแล้วในเมื่อมีสำนักหักบัญชีมาเป็นคู่สัญญาให้ เราก็ไม่ต้องสนใจด้วยซ้ำว่ามีใครอยู่ที่ปลายอีกข้างหนึ่งของสัญญาครับ

การมีสำนักหักบัญชีทำให้เราๆ ท่านๆ สามารถซื้อขายกันได้อย่างคล่องตัวและไม่ต้องคอยระมัดระวังความเสี่ยงด้านเครดิตของนักลงทุนแต่ละราย สำหรับรายละเอียดของสำนักหักบัญชีหรือ Thailand Clearing House (TCH) สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก http://www.thaiclearing.com/

ในการบริหารความเสี่ยง สำนักหักบัญชีจะเรียก "หลักประกัน" จากบริษัทหลักทรัพย์(บล.) หรือโบรกเกอร์ที่เราใช้บริการอยู่ แล้วโบรกเกอร์ก็จะมาเรียกเงินประกันจากเราอีกทอดหนึ่ง ดังนั้น ถ้าอยากทราบว่าเราจะต้องวางเงินประกันเท่าไหร่ก็ให้ไปดูที่เว็บไซต์ของโบรกเกอร์ที่เราใช้บริการหรือถามเจ้าหน้าที่การตลาด(มาร์เก็ตติ้ง)ของเราครับ

วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ค่าเงินบาทกับตลาดหุ้น


ค่าเงินของประเทศไหนๆ ก็เปรียบเสมือน "หุ้น" ของประเทศนั้นๆ

ผมคิดว่าแม้จะไม่ได้ถูกต้อง 100% แต่ก็ถือว่าใกล้เคียง ประเทศที่มีเศรษฐกิจดี เช่น มีการจ้างงานมาก บริษัทเอกชนมีผลประกอบการดี รัฐบาลมีรายได้สอดคล้องกับรายจ่าย ฯลฯ ลักษณะที่ดีเหล่านี้จะดึงดูดให้นักลงทุนในประเทศต่างๆ เข้ามาลงทุน เพราะเชื่อว่าการลงทุนนั้นจะให้ผลคุ้มค่า

บาทแข็ง ทำไมผู้ส่งออกจึงเดือดร้อน

การที่ประเทศไทยมีเศรษฐกิจดี นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนจะขนเงินของเขามาแลกเป็นเงินบาท (เพราะบริษัทในประเทศเราต้องใช้เงินบาทไปซื้อวัตถุดิบ จ้างคนงาน เป็นต้น) นักลงทุนขาใหญ่ก็มาจากอเมริกา ดังนั้น เงินที่เขาขนมาก็จะเป็นเงินดอลล่าร์ เมื่อมองในมุมของ demand-supply แสดงว่าในสถานการณ์นี้ demand ของเงินบาทจะสูงขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือเงินบาทจะมีราคาแพง (เมื่อเทียบกับดอลล่าร์) เราเรียกว่าค่าเงินบาท "แข็งขึ้น" เมื่อเทียบกับดอลล่าร์

การที่ค่าเงินบาทแข็งมีผลต่อผู้ส่งออกและนำเข้า สมมติว่าเดิมเราผลิตของในเมืองไทยมีต้นทุนชิ้นละ 3,200 บาท และส่งของออกไปขายที่อเมริการาคาชิ้นละ 100 ดอลล่าร์ คิดกลับเป็นเงินไทย (ที่อัตรา 34 บาทต่อดอลล่าร์) เท่ากับ 3,400 บาท ได้กำไรชิ้นละ 3400 - 3200 = 400 บาท

ในสถานการณ์ข้างต้นที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้นมาอยู่ที่ 30 บาทต่อดอลล่าร์ สมมติราคาขายที่อเมริกายังคงเป็นชิ้นละ 100 ดอลล่าร์เท่าเดิม ผู้ส่งออกจะได้เงินเหลือเพียง 3,000 บาทเท่านั้น กลับกลายเป็นว่าขาดทุน 200 บาทในทันที ทั้งหมดนี้เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนล้วนๆ ไม่เกี่ยวข้องกับต้นทุน คู่แข่ง ประสิทธิภาพการผลิตใดๆ เลยทั้งนั้น

บาทแข็ง ทำไมหุ้นถึงขึ้น

ประเทศไทยมีรายได้หลักมาจากการส่งออก การที่ค่าเงินบาทแข็งย่อมทำให้ผู้ส่งออกขาดทุนซึ่งเท่ากับว่าประเทศไทยก็ขาดทุนด้วย รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยจึงไม่ happy ที่ค่าเงินบาทแข็ง อย่างไรก็ตาม นักลงทุนฝรั่งกลับกลายเป็นคนที่ชอบใจ

สมมติ "ลุงแซม" เป็นฝรั่งชาวอเมริกัน ขนเงินมาลงทุน 1 ล้านดอลล่าร์ ตีเป็นเงินไทย (ที่ 34 บาทต่อดอลล่าร์) 34 ล้านบาท ลุงแซมเล่นหุ้นอยู่พักนึง แม้หุ้นไม่เคลื่อนไหวไปไหน แต่ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเป็น 30 บาทต่อดอลล่าร์ ลุงแซมจะได้กำไรทันที เพราะว่า 34 ล้านบาทในตอนนี้จะกลายเป็น 34 / 30 = 1.13 ล้านดอลล่าร์ แปลว่าลุงแซมได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนล้วนๆ ถึง 13% นั่นเป็นเหตุผลที่ลุงแซม2 ลุงแซม3 ... วิ่งเข้ามาลงทุนกันใหญ่

การที่ลุงแซม1 ลุงแซม2 ลุงแซม3 เข้ามาลงทุนพร้อมๆ กันทำให้เม็ดเงินหลั่งไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไทย แย่งกันซื้อจนทำให้หุ้นขึ้นยกใหญ่ เมื่อผสมกับการที่ค่าเงินบาทแข็ง ยิ่งทำให้ผลตอบแทนของนักลงทุนฝรั่งสูงขึ้นไปอีก และนั่นก็ยิ่งดึงดูดลุงแซม4 ลุงแซม5 เข้ามาในตลาดหุ้นไทย พร้อมกับหมุนให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นไปอีก ตอนนี้ปั่นกันจนเป็นพายุทอร์นาโดแล้วครับ ไม่รู้ว่าจะจบตรงไหน

วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เราเป็นนักมวยแบบไหน


ฟังแล้วอาจจะงงว่าเรา...เป็นนักมวยได้ยังไง?

ผมกำลังพูดถึงสไตล์การทำงานของแต่ละคน แต่การเปรียบเทียบที่เห็นภาพที่สุดอันหนึ่งคือการเอาไปเทียบกับนักมวย จากประสบการณ์ทำงานของผม มนุษย์งานต่างก็มีพฤติกรรม-ความชอบ-ความถึกไม่เหมือนกัน คนที่เราทำงานด้วยเป็น "นักมวย" ในแบบเดียวกับเราหรือเปล่า อันนี้น่าสนใจครับ


คิดว่าคนไทยแทบทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ Gen Y หรือ Gen X ต่างรู้จัก "เขาทราย กาแล็คซี่" สุดยอดนักมวยขวัญใจชาวไทยผู้นี้เป็นอย่างดี เขาทรายเป็นนักมวยหมัดหนัก ในอดีตเขาทรายขึ้นชกเมื่อไหร่ท้องถนนกรุงเทพฯ จะโล่งเป็นผีหลอก ถ้าเด็กสมัยนี้นึกไม่ออกก็ให้นึกถึงกรุงเทพฯ ในช่วงสงกรานต์น่ะครับ

แม่ผมมักจะบ่นเสมอว่าเขาทรายไม่ค่อยเต้น (หมายถึงเต้นฟุตเวิร์ก) เขาทรายใช้สไตล์หนักเอาเบาสู้ ยอมเจ็บตัวเดินลุยเข้าหาคู่ชก เพราะเขารู้ว่าขอจังๆ แค่หมัดเดียวคู่ต่อสู้ก็จบเห่แล้ว นึกถึงเขาทรายแล้วทำให้นึกถึงเพื่อนร่วมงานของผมหลายคนซึ่งมีสไตล์การทำงานแบบเดินหน้าท้าชน ทำงานได้ทุกสภาวะ ดึกดื่นหรือหิวก็ไม่ยอมจบยอมเลิก


ในอีกด้านหนึ่ง นักมวยสไตล์หมัดหนัก แต่คนนี้เต้นฟุตเวิร์กด้วยแถมสาวๆ ยังกรี๊ดเพราะรูปหล่ออีกต่างหาก "ออสการ์ เดอ ลาโฮยา" (Oscar De La Hoya) คือนักมวยคนนั้น เดอ ลาโฮยาเป็นนักมวยประเภทใช้สมอง รู้จักหลบหมัด ผ่อนหมัด ถึงเวลารุกก็รุกไล่เป็นพายุ สายตาดี ต่อยแม่น ได้เหรียญทองโอลิมปิกที่บาร์เซโลนาก่อนจะมาชกอาชีพและก็ประสบความสำเร็จมากมาย คนอเมริกันให้ฉายาเดอ ลาโฮยาว่าเป็น "The Golden Boy"

คนทำงานในลักษณะของเดอ ลาโฮยาเป็นคนที่ไม่ได้บู๊ล้างผลาญ เขาจะมีการวางแผน ในจังหวะที่ควรเร่งเขาก็จะเร่ง ในจังหวะที่ควรผ่อนเขาก็จะผ่อน เขาจะเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ


สไตล์สุดท้ายที่ผมอยากพูดถึงคือ "สมรักษ์ คำสิงห์" วลีติดปากที่คนไทยจดจำคือ "ไม่ได้โม้!" สะท้อนให้เห็นถึงบุคลิกของสมรักษ์ที่เป็นคนพูดมาก แต่พูดแล้วทำได้ ในแง่ของเชิงมวย สมรักษ์ไม่ใช่นักมวยประเภทอึดหรือทนทายาด แต่เป็นประเภทใช้สมอง ชกแม่น บางทีชกแล้วคู่ต่อสู้ไม่เจ็บด้วยซ้ำ แต่ว่าชกแล้วได้คะแนน!!

หลายครั้งที่ผมเห็นผู้ร่วมงานในลักษณะนี้ คือ ทำงานคล่อง ทำงานไว ทำครบตามที่นายต้องการ แต่ก็ไม่ได้มากไปกว่านั้น แล้วก็อย่าไปหวังว่าจะเห็นเขาอยู่ทำงานดึกถึง 3-4 ทุ่ม เพราะอันที่จริงเขาทำเสร็จไปตั้งแต่ 5 โมงเย็นแล้ว
ความจริงประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่า สไตล์ไหนดีกว่ากัน เพราะดูจากผลลัพธ์แล้วไม่ว่าสไตล์ไหนก็นำไปสู่ความสำเร็จได้ทั้งสิ้น แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าสไตล์ของเราเป็นที่ยอมรับหรือไม่ ในบางองค์กรยกย่อง "เขาทราย" คือ นั่งบู๊ทำงานจน 3 ทุ่มทุกวัน แต่ถ้าเราเป็น "เดอ ลาโฮยา" ที่เฉียบคมและเน้นการ manage หรือเป็น "สมรักษ์" ที่งานแม่น งานไว แต่เดินกลับบ้านตอน 5 โมงเย็นก็อาจจะโดนเขม่นได้ แม้ว่าจะทำงานได้ดีและทำจนเสร็จ
ลองดูครับว่าองค์กรของท่านให้คุณค่ากับนักมวยแบบไหน

วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553

House of Derivatives ตอนที่ 9 กำไรจาก futures


สิ่งหนึ่งที่ทำให้การซื้อขาย futures แตกต่างจากการซื้อขายหุ้น คือ กำไรจากหุ้นโดยทั่วไปเกิดจากการ "ซื้อถูก แล้วขายแพง" ขณะที่กำไรจาก futures สามารถเกิดจากการ "ขายแพง แล้วซื้อถูก" ก็ได้ด้วย ซึ่งก็คือสามารถขายก่อนซื้อ หรือซื้อก่อนขายก็ได้นั่นเอง

เหตุผลก็คือ futures เป็นสัญญาระหว่างเรากับอีกฝ่ายหนึ่ง (ซึ่งเรียกว่าคู่สัญญา) ถ้าเราเป็นคนซื้อ อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องเป็นคนขาย

เหตุการณ์เป็นอย่างนี้ครับ สมมติว่าตลาดอนุพันธ์เพิ่งเปิดเป็นวันแรกและผมก็เป็นคนแรกที่เข้ามาสู่ตลาด ผมเปิดฉากด้วยการตั้งเสนอ "ขอซื้อ" SET50 futures ที่ราคา...บาท นาย ก โผล่เข้ามาสู่ตลาดเป็นคนที่สองและเห็นข้อเสนอของผมพอดี นาย ก จึงรับข้อเสนอของผม เท่ากับว่าผม "เปิดสถานะ" ด้วยการเป็นผู้ซื้อ ขณะที่นาย ก เองก็ "เปิดสถานะ" ด้วยการเป็นผู้ขาย

อย่างนี้คือผมทำสัญญาซื้อ ขณะที่นาย ก ทำสัญญาขาย ถ้าว่ากันตามตรงในแวดวง futures นี่ไม่ใช่การซื้อหรือขายแต่อย่างใด แต่เป็นการทำสัญญาซื้อหรือทำสัญญาขายเท่านั้น สังเกตว่าเขาใช้คำว่า "long" และ "short" ไม่ได้ใช้คำว่า buy หรือ sell

แต่...ถ้าใครไม่ชินหรือถนัดจะใช้คำว่า buy หรือ sell ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะคนส่วนมากก็จะเข้าใจครับ

การเปิดสถานะอาจจะเป็นฝั่งซื้อแบบผม หรือเป็นฝั่งขายแบบนาย ก ก็ได้ ที่สำคัญคือ เปิดสถานะแล้วก็ต้องไปปิดสถานะในภายหลัง การปิดสถานะก็ไม่ยากอะไรเพียงแต่เราไปทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม เช่น ถ้าเปิดสถานะไว้ด้วยการซื้อ ก็ให้ไปปิดสถานะด้วยการขาย เป็นต้น ทั้งนี้เราไม่ต้องห่วงว่าจะลืมปิดสถานะ เพราะถ้าเราเปิดสถานะค้างทิ้งไว้ เมื่อ futures หมดอายุทางตลาดอนุพันธ์เขาก็จะปิดสถานะให้เราโดยอัตโนมัติเพื่อคำนวณกำไรขาดทุนครับ

กำไรจาก futures ก็คำนวณในลักษณะเดียวกับหุ้น คือ เอาราคาขายลบด้วยราคาซื้อ ไม่ว่าจะซื้อก่อนขายหรือขายก่อนซื้อก็ตาม

กำไร = ราคาขาย - ราคาซื้อ

เช่น ผมเข้าซื้อ SET50 futures จำนวน 2 สัญญาที่ราคา 658 จุด และขายออกไปทั้ง 2 สัญญาที่ราคา 662.5 จุด ผมจะได้กำไรเท่ากับ 662.5 - 658 = 4.5 จุด อันนี้เป็นกำไรต่อ 1 สัญญานะครับ ถ้าเราซื้อขายมากกว่า 1 สัญญาก็ให้เอาจำนวนสัญญาคูณเข้าไป และในกรณีของ SET50 futures ก็ให้คูณด้วยตัวคูณดัชนีด้วย ซึ่งดัชนี 1 จุดเท่ากับเงิน 1,000 บาท

ในตัวอย่างนี้ผมจะได้กำไร 4.5 x 2 x 1000 = 9,000 บาทครับ

จะเห็นว่าการคิดกำไรจาก futures ไม่ยากเลย แต่ถ้าใครอยากคิดกำไรเป็นเปอร์เซ็นต์ก็จะมีขั้นตอนเพิ่มอีกนิด เพราะเราจะต้องเทียบกำไรกับเงินลงทุน ในทางปฏิบัติเงินลงทุนก็คือเงินหลักประกัน ซึ่งผมขอยกยอดไปอธิบายในตอนต่อไปครับ