วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2564

เงินปันผลคงค้าง


การจ่ายเงินปันผลดูเหมือนจะเป็น “กิจกรรมน่างง” ที่ไม่ค่อยมีใครงง ยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือ เมื่อหุ้นตัวหนึ่งจ่ายเงินปันผลออกมา ราคาหุ้นก็จะลดลงโดยธรรมชาติ ทำให้ค่า P/E ลดลง... แต่เราจะสามารถตีความได้ไหมว่า P/E ที่น้อยลงหมายถึงหุ้นตัวนั้นถูกลง? (ถ้าใช่ เราจะได้รอซื้อหุ้นหลังจ่ายปันผล) หรือที่จริงหุ้นดังกล่าวน่าจะยังมีความถูกแพงเท่าเดิม แม้ P/E จะเปลี่ยนไป?

ตัวอย่างเช่น หุ้น ABCD จ่ายเงินปันผลหุ้นละ 0.80 บาท หรือคิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของกำไร 2 บาท หากหุ้นตัวนี้มีราคาตลาด 32 บาท ค่า P/E จะเท่ากับ 32 / 2 = 16 เท่า และหลังจากจ่ายเงินปันผล ราคาหุ้นก็น่าจะลดลงมาเหลือ 32 – 0.8 = 31.2 บาท ส่งผลให้ค่า P/E ลดลงเหลือ 31.2 / 2 = 15.6 เท่า

เพื่อตอบคำถามข้างต้นได้อย่างเป็นหลักเป็นฐาน เราจะสมมติว่าหุ้นแต่ละตัวมี “เงินปันผลที่กำลังจะจ่าย” แฝงอยู่กับราคาหุ้น ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่าบริษัทต่าง ๆ มักถือครองเงินสดเตรียมไว้สำหรับการจ่ายเงินปันผลงวดที่กำลังจะมาถึง และทำให้สามารถอธิบายได้ว่า ราคาหุ้น (P) เท่ากับ ราคาของส่วนการดำเนินงาน (Price of Operations: PO) บวก เงินปันผลคงค้าง (Accrued Dividend: AD)


P  =  PO + AD


สำหรับบริษัทที่ไม่มีการจ่ายเงินปันผลก็ไม่มีความจำเป็นต้องเตรียมเงินสดส่วนนี้ (AD = 0) และราคาหุ้นทั้งหมดที่เราเห็นก็จะเป็นราคาตลาดของส่วนการดำเนินงานแต่เพียงอย่างเดียว

[คำว่า Accrued Dividend ในที่นี้เป็นแนวคิดเดียวกับ Accrued Interest ของพันธบัตร จึงมีความแตกต่างจาก Accrued Dividend หรือ เงินปันผลค้างจ่าย ที่เป็นคำศัพท์ในทางบัญชี ขอให้ผู้อ่านที่เป็นนักบัญชีโปรดเข้าใจว่าเป็นคนละความหมายกัน]

โดยหลักแล้ว เงินปันผลคงค้าง มักเตรียมไว้ในรูปเงินสดหรือเงินฝากธนาคาร ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก กล่าวได้ว่าการมีหรือไม่มีเงินปันผลคงค้างนั้น แทบไม่มีผลกระทบต่อตัว E หรือกำไรของบริษัท แต่ในทางกลับกัน เงินปันผลคงค้างกลับส่งผลกระทบโดยตรงกับราคาหุ้น (ตัว P) เพราะราคาหุ้นจะลดลงเมื่อบริษัทจ่ายเงินปันผลส่วนนี้ออกมา

พูดง่าย ๆ ก็คือ การวัดความถูกแพงของหุ้นจากค่า P/E ที่คำนวณแบบดั้งเดิม จะถูกบิดเบือนด้วยเงินปันผลคงค้าง และถ้าจะแก้ปัญหานี้ เราก็จำเป็นต้องคำนวณ P/E ที่สะท้อนเฉพาะส่วนการดำเนินงานจริง ๆ


สังเกตว่าความถูกแพงของหุ้นที่วัดจากค่า P/E เฉพาะส่วนการดำเนินงาน (คือ ใช้ราคาหุ้นหักด้วยเงินปันผลคงค้าง) ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แม้มีการจ่ายเงินปันผล สะท้อนความจริงที่ว่าตัวกิจการไม่ได้ดีขึ้นหรือแย่ลงเพียงเพราะการจ่ายเงินปันผล ยิ่งไปกว่านั้น การวิเคราะห์ในมุมมองนี้ยังทำให้เรามองเห็นความสมเหตุสมผล เมื่อราคาหุ้นลดลงหลังการจ่ายเงินปันผล สะท้อนการลดลงของปริมาณเงินปันผลคงค้างที่อยู่ภายในบริษัท


ข้อสรุป


1. การจ่ายเงินปันผลจะทำให้ค่า P/E ลดลง แต่ไม่ได้แปลว่าหุ้นตัวนั้นถูกลง

2. ค่า P/E ที่ลดลงหลังจ่ายเงินปันผล สะท้อนการลดลงของ เงินปันผลคงค้าง ที่อยู่ภายในบริษัท

3. หากคำนวณ P/E เฉพาะส่วนการดำเนินงาน จะพบว่ามีค่าเท่ากันทั้งก่อนและหลังจ่ายเงินปันผล แสดงว่าหุ้นยังคงมีความถูกแพงเท่าเดิม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น