วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ยืมใช้... ค่าเสื่อมราคา


หากพูดกันตามประสาชาวบ้าน ค่าเสื่อมราคาควรถือเป็น “เรื่องมโน” ที่ดูสมเหตุสมผล และมีประโยชน์ในทางธุรกิจ แต่อันที่จริงคนทั่วไปที่ไม่ใช่นักธุรกิจหรือนักลงทุน ก็สามารถยืมใช้ความรู้อันนี้ได้ด้วยเหมือนกัน เราจะมาดูตัวอย่างที่เริ่มจากยากไปหาง่าย เพื่อปรับโหมดความคิดจากไฮโซย้อนกลับสู่สามัญ


เบสิกก็ต้องมี


โดยนิยามแล้ว ค่าเสื่อมราคา หมายถึง มูลค่าที่ลดลง (เสื่อมค่า) เมื่อสินทรัพย์ถูกใช้งานไป ยกตัวอย่างการซื้อตู้เย็นเครื่องหนึ่ง คนทั่วไปอาจคิดว่าตนเองจ่ายค่าตู้เย็น 15,000 บาท จากนั้นก็ใช้งานไป 5 ปี สิ่งนี้ดูปกติสำหรับคนทั่วไป แต่ไม่ใช่สำหรับทุกคน

ตามมุมมองสายมโน (ในทางสร้างสรรค์นะครับ) การจ่ายเงินรวดเดียวในปีแรกและ “ใช้งานฟรี” อีก 4 ปีที่เหลือ ดูจะไม่ค่อยสมเหตุสมผล ทางเลือกที่ดีกว่าในสายตาของพวกเขา คือ “สมมติ” ว่ามีการทยอยจ่ายค่าตู้เย็นตลอดระยะเวลา 5 ปี ปีละ 3,000 บาท เท่า ๆ กัน เพื่อให้สะท้อนต้นทุนตามการใช้งานจริงได้ดีขึ้น

ในตัวอย่างนี้ ค่าเสื่อมราคาก็คือ 3,000 บาท ที่ตัดออกไปในแต่ละปี และเมื่อตัดค่าเสื่อมฯ ออกไป มูลค่าในทางบัญชีของตู้เย็นก็จะลดลงเป็นลำดับ นี่คือเบสิกเรื่องค่าเสื่อมราคา สำหรับการนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตของคนทั่วไป


ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ #1


สมมติท่านมีรถยนต์คันหนึ่งและกำลังจะต้องเปลี่ยนยาง 4 เส้น ในราคา 12,000 บาท ท่านได้รับข้อเสนอให้ซื้อประกัน Tyre-Care ราคา 1,200 บาท ควบคู่ไปด้วย แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ ทราบแต่บริษัทจะเปลี่ยนยางให้ยกเซ็ตทันที หากว่าใช้งานยางใหม่แล้วเกิดบวมหรือแตกแบบที่ซ่อมไม่ได้

เพื่อประเมินความคุ้มค่า สมมติว่ายางรถของท่านใช้งานได้ประมาณ 3 ปี ท่านจะตัดค่าเสื่อมราคาปีละ 12000 / 3 = 4,000 บาท มูลค่าคงเหลือของยางในแต่ละปีจะเป็นดังนี้


จากประสบการณ์การขับรถที่ผ่านมา ท่านประเมินคร่าว ๆ ว่าโอกาสที่ยางจะมีปัญหาในระดับที่ซ่อมหรือปะไม่ได้ตามเงื่อนไขการรับประกันอยู่ที่ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ ตลอดอายุการใช้งาน 3 ปี (หรือราว 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี) จึงเท่ากับว่ามีโอกาสที่จะซื้อประกันไปแล้วไม่ได้เคลมเลย 97 เปอร์เซ็นต์

หากสมมติว่าการเคลมยาง (ถ้ามี) เกิดขึ้น ณ จุดกึ่งกลางของแต่ละปี ซึ่งมูลค่าคงเหลือของยางในขณะนั้น ๆ จะเท่ากับมูลค่ายางเฉลี่ยระหว่างต้นปีและปลายปี (ตัวเลขสีแดงตะแคงข้าง) โดยสามารถแสดงเป็นภาพได้ดังนี้


ในปีที่หนึ่ง ท่านมีโอกาสเคลมยางรถยนต์มูลค่า 12,000 บาท เพื่อทดแทนยางที่ผ่านการใช้งานมาแล้วครึ่งปีและมีมูลค่าลดลงเหลือ 10,000 บาท เท่ากับว่าได้กำไร 12000 – 10000 = 2,000 บาท ด้วยความน่าจะเป็น 1 เปอร์เซ็นต์

ในทำนองเดียวกันปีที่สอง ท่านมีโอกาสเคลมยางรถยนต์และได้กำไร 12000 – 6000 = 6,000 บาท ด้วยความน่าจะเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ ส่วนปีที่สาม ท่านมีโอกาสเคลมยางรถยนต์และได้กำไร 12000 – 2000 = 10,000 บาท ด้วยความน่าจะเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ สำหรับโอกาสที่ท่านจะไม่ได้เคลมยางรถยนต์ (เท่ากับว่าได้กำไรศูนย์บาท) มีความน่าจะเป็น 97 เปอร์เซ็นต์

สรุปแล้ว ค่าคาดหวัง (expectation) ของประกันยางรถยนต์ตามเงื่อนไขนี้ คือ

(0.01 x 2000) + (0.01 x 6000) + (0.01 x 10000) + (0.97 x 0) = 180 บาท

เทียบกับค่าประกัน 1,200 บาท ที่ได้จ่ายไป ก็ต้องถือว่า “ไม่คุ้มค่า” อย่างสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปอาจแตกต่างไปจากนี้ หากท่านกำหนดข้อสมมติฐานใหม่ เช่น เพิ่มโอกาสเคลมจาก 3 เปอร์เซ็นต์ในตัวอย่าง เป็น 10 เปอร์เซ็นต์ ตลอดอายุการใช้งาน 3 ปี มูลค่าของการรับประกันดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นจาก 180 บาท เป็น 600 บาท ซึ่งอาจดีขึ้นมาหน่อย แต่เมื่อเทียบกับค่าประกัน 1,200 บาท ที่ได้จ่ายไปก็ถือว่าไม่คุ้มอยู่ดี

นี่เป็นตัวอย่างแรกสำหรับการประยุกต์ใช้เรื่องค่าเสื่อมราคา ที่ทุกท่านสามารถลองนำไปปรับใช้กับข้อเสนอการรับประกันสินค้าอื่น ๆ ได้ด้วย


ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ #2


สมมติวันดีคืนดี (ซึ่งที่จริงก็คือ ไม่ดี) เครื่องซักผ้าที่บ้านของท่านเกิดไม่ทำงานขึ้นมา และท่านกำลังคิดอยู่ว่าจะจ่ายเงิน 5,000 บาท เพื่อซ่อมแซมเครื่องซักผ้า หรือตัดใจซื้อเครื่องใหม่ดี

หากท่านจำได้ว่าซื้อเครื่องซักผ้าดังกล่าวมาในราคา 20,000 บาท และคาดว่าอายุการใช้งานปกติของมันเท่ากับ 5 ปี ท่านอาจตัดค่าเสื่อมราคาปีละ 20000 / 5 = 4,000 บาท มูลค่าคงเหลือในแต่ละปีของเครื่องซักผ้าก็จะทยอยลดลงเหมือนกับกรณียางรถยนต์ข้างต้น ถ้าโชคร้ายเครื่องซักผ้าเสียตั้งแต่สิ้นปีแรก มูลค่าคงเหลือก็จะเท่ากับ 20000 – 4000 = 16,000 บาท การจ่ายเงินซ่อม 5,000 บาท เพื่อนำมูลค่าส่วนนี้กลับมาก็น่าจะถือว่าคุ้มค่า

ในทางทฤษฎี การจ่ายเงินซ่อม X บาท เพื่อดึงมูลค่ากลับมา X บาท น่าจะเป็น “จุดแบ่ง” ว่าการซ่อมแซมนั้นจะมีความคุ้มค่าหรือไม่ อย่างไรก็ดี หากเรานำปัจจัยอื่น ๆ มาประกอบด้วย เช่น เครื่องซักผ้าใหม่อาจมีประสิทธิภาพการซักที่ดีขึ้น หรือประหยัดไฟฟ้า/น้ำประปามากขึ้น ก็มีความเป็นไปได้ที่จุดแบ่งเรื่องความคุ้มค่าจะขยับไปจากนี้ได้เหมือนกัน


ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ #3


ยังคงอยู่ที่เครื่องซักผ้า แต่คราวนี้จะเป็นเรื่องของการเลือกซื้อบ้าง

สมมติว่าท่านกำลังเปรียบเทียบเครื่องซักผ้าแบรนด์ A ราคา 18,000 บาท กับแบรนด์ B ราคา 25,000 บาท โดยทั้งสองเครื่องมีคุณลักษณะและเทคโนโลยีต่าง ๆ ใกล้เคียงกัน ตามที่ท่านได้ศึกษามา สินค้าของแบรนด์ B มีความทนทานมากกว่า แต่ท่านเองก็ไม่แน่ใจว่ามันจะคุ้มค่ากับเงินส่วนต่าง 7,000 บาท ที่ต้องจ่ายแพงกว่าหรือไม่

หากข้อมูลที่ท่านมีบ่งชี้ว่า เครื่องซักผ้าแบรนด์ A มีอายุการใช้งานทั่วไปราว 3-5 ปี (ตีว่าค่าเฉลี่ย คือ 4 ปี) ส่วนเครื่องซักผ้าแบรนด์ B มีอายุการใช้งาน 4-8 ปี (สมมติว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 6 ปี) ท่านสามารถหาค่าเสื่อมราคาของแบรนด์ A ได้เท่ากับ 18000 / 4 = 4,500 บาทต่อปี และของแบรนด์ B เท่ากับ 25000 / 6 = 4,167 บาทต่อปี

เนื่องจากค่าเสื่อมราคาสามารถมองว่าเป็น “ค่าใช้จ่าย” ที่ทยอยหักออกไปจากมูลค่าสินค้า การที่เครื่องซักผ้าแบรนด์ A มีค่าเสื่อมราคาสูงกว่าจึงหมายถึงว่ามัน แพงกว่า แบรนด์ B ทั้งที่มีราคาขายต่ำกว่า ซึ่งเราไม่มีทางรู้ได้จากการดูราคาเครื่องแต่เพียงอย่างเดียว


ไม่ต้องรู้ก็ได้ (แต่รู้ก็ดี)


สังเกตว่าวิธีคิดตามตัวอย่างทั้งสามยืนพื้นอยู่บนค่าเสื่อมราคา อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนหนึ่งใช้แนวคิดดังกล่าวโดยที่ไม่เคยรู้จักค่าเสื่อมราคามาก่อนเลยแม้แต่น้อย บางคนบอกว่าพวกเขาก็แค่หา ค่าใช้งานต่อหนึ่งปี เพื่อระบุความถูกแพงของสินค้า หรือแค่กะเอาคร่าว ๆ ว่าค่าซ่อมแซมนั้นน่าจะคุ้มค่ากับสภาพปัจจุบันของสินค้าหรือไม่

แต่ก็แน่ล่ะว่าการคำนวณออกมาอย่างมีหลักการย่อมทำให้ท่านเกิดความสงบและมั่นใจมากกว่าการคาดคะเนหรือกะประมาณ ...และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ดีสำหรับการ “ยืมใช้” เรื่องค่าเสื่อมราคาครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น