วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ยืมใช้... ค่าเสื่อมราคา


หากพูดกันตามประสาชาวบ้าน ค่าเสื่อมราคาควรถือเป็น “เรื่องมโน” ที่ดูสมเหตุสมผล และมีประโยชน์ในทางธุรกิจ แต่อันที่จริงคนทั่วไปที่ไม่ใช่นักธุรกิจหรือนักลงทุน ก็สามารถยืมใช้ความรู้อันนี้ได้ด้วยเหมือนกัน เราจะมาดูตัวอย่างที่เริ่มจากยากไปหาง่าย เพื่อปรับโหมดความคิดจากไฮโซย้อนกลับสู่สามัญ


เบสิกก็ต้องมี


โดยนิยามแล้ว ค่าเสื่อมราคา หมายถึง มูลค่าที่ลดลง (เสื่อมค่า) เมื่อสินทรัพย์ถูกใช้งานไป ยกตัวอย่างการซื้อตู้เย็นเครื่องหนึ่ง คนทั่วไปอาจคิดว่าตนเองจ่ายค่าตู้เย็น 15,000 บาท จากนั้นก็ใช้งานไป 5 ปี สิ่งนี้ดูปกติสำหรับคนทั่วไป แต่ไม่ใช่สำหรับทุกคน

ตามมุมมองสายมโน (ในทางสร้างสรรค์นะครับ) การจ่ายเงินรวดเดียวในปีแรกและ “ใช้งานฟรี” อีก 4 ปีที่เหลือ ดูจะไม่ค่อยสมเหตุสมผล ทางเลือกที่ดีกว่าในสายตาของพวกเขา คือ “สมมติ” ว่ามีการทยอยจ่ายค่าตู้เย็นตลอดระยะเวลา 5 ปี ปีละ 3,000 บาท เท่า ๆ กัน เพื่อให้สะท้อนต้นทุนตามการใช้งานจริงได้ดีขึ้น

ในตัวอย่างนี้ ค่าเสื่อมราคาก็คือ 3,000 บาท ที่ตัดออกไปในแต่ละปี และเมื่อตัดค่าเสื่อมฯ ออกไป มูลค่าในทางบัญชีของตู้เย็นก็จะลดลงเป็นลำดับ นี่คือเบสิกเรื่องค่าเสื่อมราคา สำหรับการนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตของคนทั่วไป


ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ #1


สมมติท่านมีรถยนต์คันหนึ่งและกำลังจะต้องเปลี่ยนยาง 4 เส้น ในราคา 12,000 บาท ท่านได้รับข้อเสนอให้ซื้อประกัน Tyre-Care ราคา 1,200 บาท ควบคู่ไปด้วย แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ ทราบแต่บริษัทจะเปลี่ยนยางให้ยกเซ็ตทันที หากว่าใช้งานยางใหม่แล้วเกิดบวมหรือแตกแบบที่ซ่อมไม่ได้

เพื่อประเมินความคุ้มค่า สมมติว่ายางรถของท่านใช้งานได้ประมาณ 3 ปี ท่านจะตัดค่าเสื่อมราคาปีละ 12000 / 3 = 4,000 บาท มูลค่าคงเหลือของยางในแต่ละปีจะเป็นดังนี้


จากประสบการณ์การขับรถที่ผ่านมา ท่านประเมินคร่าว ๆ ว่าโอกาสที่ยางจะมีปัญหาในระดับที่ซ่อมหรือปะไม่ได้ตามเงื่อนไขการรับประกันอยู่ที่ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ ตลอดอายุการใช้งาน 3 ปี (หรือราว 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี) จึงเท่ากับว่ามีโอกาสที่จะซื้อประกันไปแล้วไม่ได้เคลมเลย 97 เปอร์เซ็นต์

หากสมมติว่าการเคลมยาง (ถ้ามี) เกิดขึ้น ณ จุดกึ่งกลางของแต่ละปี ซึ่งมูลค่าคงเหลือของยางในขณะนั้น ๆ จะเท่ากับมูลค่ายางเฉลี่ยระหว่างต้นปีและปลายปี (ตัวเลขสีแดงตะแคงข้าง) โดยสามารถแสดงเป็นภาพได้ดังนี้


ในปีที่หนึ่ง ท่านมีโอกาสเคลมยางรถยนต์มูลค่า 12,000 บาท เพื่อทดแทนยางที่ผ่านการใช้งานมาแล้วครึ่งปีและมีมูลค่าลดลงเหลือ 10,000 บาท เท่ากับว่าได้กำไร 12000 – 10000 = 2,000 บาท ด้วยความน่าจะเป็น 1 เปอร์เซ็นต์

ในทำนองเดียวกันปีที่สอง ท่านมีโอกาสเคลมยางรถยนต์และได้กำไร 12000 – 6000 = 6,000 บาท ด้วยความน่าจะเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ ส่วนปีที่สาม ท่านมีโอกาสเคลมยางรถยนต์และได้กำไร 12000 – 2000 = 10,000 บาท ด้วยความน่าจะเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ สำหรับโอกาสที่ท่านจะไม่ได้เคลมยางรถยนต์ (เท่ากับว่าได้กำไรศูนย์บาท) มีความน่าจะเป็น 97 เปอร์เซ็นต์

สรุปแล้ว ค่าคาดหวัง (expectation) ของประกันยางรถยนต์ตามเงื่อนไขนี้ คือ

(0.01 x 2000) + (0.01 x 6000) + (0.01 x 10000) + (0.97 x 0) = 180 บาท

เทียบกับค่าประกัน 1,200 บาท ที่ได้จ่ายไป ก็ต้องถือว่า “ไม่คุ้มค่า” อย่างสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปอาจแตกต่างไปจากนี้ หากท่านกำหนดข้อสมมติฐานใหม่ เช่น เพิ่มโอกาสเคลมจาก 3 เปอร์เซ็นต์ในตัวอย่าง เป็น 10 เปอร์เซ็นต์ ตลอดอายุการใช้งาน 3 ปี มูลค่าของการรับประกันดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นจาก 180 บาท เป็น 600 บาท ซึ่งอาจดีขึ้นมาหน่อย แต่เมื่อเทียบกับค่าประกัน 1,200 บาท ที่ได้จ่ายไปก็ถือว่าไม่คุ้มอยู่ดี

นี่เป็นตัวอย่างแรกสำหรับการประยุกต์ใช้เรื่องค่าเสื่อมราคา ที่ทุกท่านสามารถลองนำไปปรับใช้กับข้อเสนอการรับประกันสินค้าอื่น ๆ ได้ด้วย


ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ #2


สมมติวันดีคืนดี (ซึ่งที่จริงก็คือ ไม่ดี) เครื่องซักผ้าที่บ้านของท่านเกิดไม่ทำงานขึ้นมา และท่านกำลังคิดอยู่ว่าจะจ่ายเงิน 5,000 บาท เพื่อซ่อมแซมเครื่องซักผ้า หรือตัดใจซื้อเครื่องใหม่ดี

หากท่านจำได้ว่าซื้อเครื่องซักผ้าดังกล่าวมาในราคา 20,000 บาท และคาดว่าอายุการใช้งานปกติของมันเท่ากับ 5 ปี ท่านอาจตัดค่าเสื่อมราคาปีละ 20000 / 5 = 4,000 บาท มูลค่าคงเหลือในแต่ละปีของเครื่องซักผ้าก็จะทยอยลดลงเหมือนกับกรณียางรถยนต์ข้างต้น ถ้าโชคร้ายเครื่องซักผ้าเสียตั้งแต่สิ้นปีแรก มูลค่าคงเหลือก็จะเท่ากับ 20000 – 4000 = 16,000 บาท การจ่ายเงินซ่อม 5,000 บาท เพื่อนำมูลค่าส่วนนี้กลับมาก็น่าจะถือว่าคุ้มค่า

ในทางทฤษฎี การจ่ายเงินซ่อม X บาท เพื่อดึงมูลค่ากลับมา X บาท น่าจะเป็น “จุดแบ่ง” ว่าการซ่อมแซมนั้นจะมีความคุ้มค่าหรือไม่ อย่างไรก็ดี หากเรานำปัจจัยอื่น ๆ มาประกอบด้วย เช่น เครื่องซักผ้าใหม่อาจมีประสิทธิภาพการซักที่ดีขึ้น หรือประหยัดไฟฟ้า/น้ำประปามากขึ้น ก็มีความเป็นไปได้ที่จุดแบ่งเรื่องความคุ้มค่าจะขยับไปจากนี้ได้เหมือนกัน


ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ #3


ยังคงอยู่ที่เครื่องซักผ้า แต่คราวนี้จะเป็นเรื่องของการเลือกซื้อบ้าง

สมมติว่าท่านกำลังเปรียบเทียบเครื่องซักผ้าแบรนด์ A ราคา 18,000 บาท กับแบรนด์ B ราคา 25,000 บาท โดยทั้งสองเครื่องมีคุณลักษณะและเทคโนโลยีต่าง ๆ ใกล้เคียงกัน ตามที่ท่านได้ศึกษามา สินค้าของแบรนด์ B มีความทนทานมากกว่า แต่ท่านเองก็ไม่แน่ใจว่ามันจะคุ้มค่ากับเงินส่วนต่าง 7,000 บาท ที่ต้องจ่ายแพงกว่าหรือไม่

หากข้อมูลที่ท่านมีบ่งชี้ว่า เครื่องซักผ้าแบรนด์ A มีอายุการใช้งานทั่วไปราว 3-5 ปี (ตีว่าค่าเฉลี่ย คือ 4 ปี) ส่วนเครื่องซักผ้าแบรนด์ B มีอายุการใช้งาน 4-8 ปี (สมมติว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 6 ปี) ท่านสามารถหาค่าเสื่อมราคาของแบรนด์ A ได้เท่ากับ 18000 / 4 = 4,500 บาทต่อปี และของแบรนด์ B เท่ากับ 25000 / 6 = 4,167 บาทต่อปี

เนื่องจากค่าเสื่อมราคาสามารถมองว่าเป็น “ค่าใช้จ่าย” ที่ทยอยหักออกไปจากมูลค่าสินค้า การที่เครื่องซักผ้าแบรนด์ A มีค่าเสื่อมราคาสูงกว่าจึงหมายถึงว่ามัน แพงกว่า แบรนด์ B ทั้งที่มีราคาขายต่ำกว่า ซึ่งเราไม่มีทางรู้ได้จากการดูราคาเครื่องแต่เพียงอย่างเดียว


ไม่ต้องรู้ก็ได้ (แต่รู้ก็ดี)


สังเกตว่าวิธีคิดตามตัวอย่างทั้งสามยืนพื้นอยู่บนค่าเสื่อมราคา อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนหนึ่งใช้แนวคิดดังกล่าวโดยที่ไม่เคยรู้จักค่าเสื่อมราคามาก่อนเลยแม้แต่น้อย บางคนบอกว่าพวกเขาก็แค่หา ค่าใช้งานต่อหนึ่งปี เพื่อระบุความถูกแพงของสินค้า หรือแค่กะเอาคร่าว ๆ ว่าค่าซ่อมแซมนั้นน่าจะคุ้มค่ากับสภาพปัจจุบันของสินค้าหรือไม่

แต่ก็แน่ล่ะว่าการคำนวณออกมาอย่างมีหลักการย่อมทำให้ท่านเกิดความสงบและมั่นใจมากกว่าการคาดคะเนหรือกะประมาณ ...และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ดีสำหรับการ “ยืมใช้” เรื่องค่าเสื่อมราคาครับ

วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

กูรู - กูรู้ - กูไม่รู้


ชื่อของบทความนี้อาจฟังดูระคายหู แต่เชื่อว่ามันจะช่วยนำพา “สติ” กลับมาให้เราได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่วางแผนอนาคตทางการเงินของตนเองโดยอาศัยความรู้จากกูรูและตำราต่าง ๆ

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน การวางแผนทางการเงินในระยะยาว เช่น การเตรียมเงินสำหรับใช้จ่ายหลังออกจากงานประจำ ไม่ว่าจะด้วยการเกษียณอายุ หรือด้วยการมีอิสรภาพทางการเงิน “กูรู” หรือผู้รู้ต่าง ๆ ก็จะคอยเตือนเราไม่ให้ลืมคำนึงถึง เงินเฟ้อ จากนั้นก็ให้นำตัวเลขดังกล่าวมาใส่ไว้ในสมมติฐาน ซึ่งจุดนี้เองที่ผมค้นพบว่ามีความบกพร่องเกิดขึ้น

ข้อสันนิษฐานที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงนำไปสู่ผลลัพธ์และการวางแผนที่ผิดพลาด ซึ่งนั่นอาจหมายถึง การเดินตรงเข้าสู่หายนะทางการเงิน... ด้วยความสบายใจ


ความผิดพลาดระดับสามัญ


ในการเตรียมเงินสำหรับใช้จ่ายในอนาคต เช่น ตลอด 20 หรือ 30 ปีข้างหน้า คนทั่วไปมักทำผิดพลาดในระดับสามัญ โดยนำค่าใช้จ่ายรายปีปัจจุบันคูณด้วยจำนวนปี ถ้าสมมติว่าพวกเขาใช้จ่ายอยู่เดือนละ 20,000 บาท (หรือตกปีละ 240,000 บาท) และกำลังจะเกษียณ คนเหล่านี้อาจคำนวณเงินที่จะใช้ตลอด 20 ปีหลังเกษียณว่าเท่ากับ 240000 x 20 = 4.8 ล้านบาท

สิ่งที่กูรูจะบอกก็คือ คนทั่วไปมักลืมนึกถึงการปรับขึ้นราคาสินค้า เมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ภาวะเงินเฟ้อ

โดยนิยามแล้ว ภาวะเงินเฟ้อ หมายถึง “ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้น” ตามความคิดของกูรู หากราคาสินค้าโดยทั่วไปปรับขึ้นปีละ 3 เปอร์เซ็นต์ ค่าใช้จ่ายของเราก็ควรจะเพิ่มขึ้นปีละ 3 เปอร์เซ็นต์ด้วย ดังนั้น แทนที่จะคูณค่าใช้จ่ายปัจจุบันด้วยจำนวนปี เราก็ควรมีการปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายแต่ละปีในอัตรา 3 เปอร์เซ็นต์นี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงปีที่ 20 จึงจะได้ผลรวมค่าใช้จ่ายที่ถูกต้อง ซึ่งอาจจะต้องไปคำนวณใน Excel หรือใช้เครื่องคิดเลขทางการเงิน

ว่าแต่เราลืมอะไรไปหรือเปล่า?


ความผิดพลาดระดับกูรู


หากสังเกตกันให้ดี การคำนวณข้างต้นมีสมมติฐานสำคัญบางอย่างฝังอยู่ นั่นคือ ค่าใช้จ่ายของเราควรเพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกันกับเงินเฟ้อ ซึ่งนี่อาจจะไม่จริงก็ได้

ในอดีตที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยเคยอยู่ที่ประมาณปีละ 3-4 เปอร์เซ็นต์ แต่ค่าเฉลี่ยในช่วงไม่กี่ปีมานี้กลับลดลงเหลือ 0.5 – 1.0 เปอร์เซ็นต์ตามสภาพเศรษฐกิจ เมื่อคำนึงถึงแนวโน้มดังกล่าวนี้ กูรูวางแผนทางการเงินจึงมักแนะนำให้เราเผื่อค่าใช้จ่ายในอนาคตเพิ่มขึ้นราวปีละ 1 เปอร์เซ็นต์ ใกล้เคียงกับการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากค่าใช้จ่ายหลัก ๆ ในแต่ละเดือนของคนทั่วไป ได้แก่ ค่าอาหาร, ค่าเดินทาง และค่าที่อยู่อาศัย รวมถึงค่าใช้จ่ายที่มาเป็นครั้งคราว (แต่เป็นก้อนใหญ่กว่า) ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน, สมาร์ทโฟน หรือค่าใช้จ่ายท่องเที่ยว จากประสบการณ์ของผม รายจ่ายเหล่านี้ล้วนเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปีด้วยกันทั้งสิ้น อย่างน้อยก็สำหรับตัวผมและคนรอบ ๆ ตัว

ตัวอย่างที่ผมพบเห็นเองในชีวิตประจำวัน เช่น เมนูประจำในร้านอาหารญี่ปุ่นที่ผมชื่นชอบเคยมีราคา 180 บาท ปัจจุบันปรับเพิ่มเป็น 210 บาท ส่วนเมนูอื่น ๆ ก็มีการปรับราคาขึ้นในอัตราที่ไล่เลี่ยกัน หากประมาณว่าร้านอาหารปรับขึ้นราคาหนึ่งครั้งทุก ๆ 3-5 ปี นี่จะคิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นราว 3.1 – 5.3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี หรืออย่างผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟนเจ้าดังที่เปิดตัวเมื่อปี 2007 ราคาประมาณ 16,000 บาท จนมาถึงรุ่นล่าสุดปัจจุบันประมาณ 39,200 บาท เฉลี่ยแล้วมีราคาเพิ่มขึ้นราวปีละ 7.4 เปอร์เซ็นต์

สถานการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่าสมมติฐานของกูรูอาจไม่ถูกต้อง เพราะค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอาจ ไม่ เพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกับเงินเฟ้อ และโดยมากก็มักจะเป็นอย่างนั้น


ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น


สมมติว่าพีระมิดด้านล่างนี้เป็นตัวแทนของสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจ โดยส่วนล่างสุดกล่องสีน้ำตาลเป็นสินค้าและบริการขั้นพื้นฐาน เช่น ไข่ไก่สด, น้ำมันถั่วเหลือง, ค่าก๊าซหุงต้ม ฯลฯ ส่วนสินค้าและบริการในระดับสูงขึ้นก็เป็นกล่องที่อยู่สูงขึ้นมา เช่น ค่าอาหารในร้านห้องแถวอาจจะอยู่ในกล่องสีฟ้า และค่าอาหารในร้านตามห้างก็อาจจะอยู่ในกล่องสีชมพู อย่างนี้เป็นต้น ทั้งนี้ ตัวเลข 100, 110 และ 120 เป็นระดับราคาที่กำกับไว้เพื่อแสดงให้เห็นว่ากล่องที่อยู่ถัดขึ้นไปข้างบนนั้นแพงกว่ากล่องที่อยู่ด้านล่าง


เนื่องจากสินค้าและบริการที่นำมาคำนวณเงินเฟ้อโดยมากแล้วจะเป็นกล่องสีน้ำตาล เราจึงอาจพบว่ากล่องสีน้ำตาลนี้ “แพงขึ้น” ในอัตรา 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปีจริง (เท่ากับตัวเลขเงินเฟ้อที่วัดได้) ทว่ากล่องอื่น ๆ อาจมีการปรับราคาสูงกว่านั้น เพราะบริษัทที่มีสินค้าและบริการขั้นสูงมักมีความสามารถในการกำหนดราคาขาย (pricing power) จากการมีแบรนด์ที่แข็งแกร่งหรือมีความได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจ สอดคล้องกับประสบการณ์เรื่องสมาร์ทโฟนและราคาอาหารญี่ปุ่นที่ผมบอกไปข้างต้น



สังเกตว่าถ้าผมเป็นคนที่สั่งอาหารกินในร้านห้องแถวทั่วไป ผมย่อมจะรู้สึกได้ว่าราคาอาหารแพงขึ้นปีละ 3 เปอร์เซ็นต์ หรือถ้าผมเป็นคนที่ชอบทานอาหารในร้านชื่อดังตามห้าง ผมอาจรู้สึกถึงราคาอาหารที่ปรับตัวขึ้นเฉลี่ยปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ ทั้งสองกรณีนี้น่าจะพอทำให้ทุกท่านเห็นภาพว่า เงินเฟ้อที่วัดได้ กับ เงินเฟ้อที่เรารู้สึกได้ แตกต่างกันอย่างไร

ยิ่งไปกว่านั้น หากการใช้จ่ายของท่านมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง เช่น จากเดิมที่เคยทำอาหารทานกันเองในครอบครัว ต่อมาเปลี่ยนเป็นทานอาหารนอกบ้านบ่อยขึ้น ค่าใช้จ่ายของท่านก็จะค่อย ๆ ย้ายจากกล่องสีน้ำตาลไปยังกล่องสีฟ้า หรือกล่าวได้ว่า การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตจะทำให้ท่านสัมผัสถึงรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นเร็วขึ้นไปอีก

ตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายโดยรวมของผมเดิมอยู่ในกล่องสีน้ำตาลและกล่องสีฟ้าอย่างละครึ่ง 50/50 ระดับค่าใช้จ่ายของผมจะเท่ากับ (0.50 x 100) + (0.50 x 110) = 105 ถ้าต่อมาผมเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตโดยเน้นความสะดวกสบายมากขึ้น กลายเป็นกล่องสีน้ำตาล 30 เปอร์เซ็นต์ และกล่องสีฟ้า 70 เปอร์เซ็นต์ พอถึงปีถัดมา ระดับค่าใช้จ่ายของผมจะเท่ากับ (0.30 x 101) + (0.70 x 113.3) = 109.61

จากมุมมองของผม อัตราการเปลี่ยนแปลงของระดับค่าใช้จ่ายโดยส่วนตัวจะเท่ากับ (109.61 / 105) – 1 = 4.4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนับว่าสูงกว่าอัตราการขึ้นราคาของทั้งกล่องสีน้ำตาลและกล่องสีฟ้า

สรุปก็คือ

  1. ถ้าท่านไม่ได้ซื้อสินค้าและบริการขั้นพื้นฐานเป็นหลัก มีโอกาสสูงที่ค่าใช้จ่ายของท่านจะแพงขึ้น เร็วกว่า อัตราเงินเฟ้อ

  2. การยกระดับการบริโภคจะเป็นตัวเร่งให้ค่าใช้จ่ายเติบโตเร็วขึ้นไปอีก

นอกจากโมเดลข้างต้นนี้แล้ว หลักฐานอีกอย่างหนึ่งที่บ่งชี้แบบอ้อม ๆ ว่าค่าใช้จ่ายของคนทั่วไปน่าจะสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ ได้แก่ อัตราการปรับเพิ่มเงินเดือนซึ่งอยู่ที่ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี (ข้อมูลจากสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย ปี 2562/2563)

ถ้ารายได้ของคนทั่วไปเติบโตปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ค่าใช้จ่ายเติบโตปีละ 1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเวลาผ่านไป 20-30 ปี ทุกคนจะมีรายได้ท่วมรายจ่าย มีการเก็บออมมหาศาล และพวกเขาก็จะกลายเป็นเศรษฐีกันหมด... แต่เราก็รู้ว่านั่นไม่จริง


ใช้ตัวเลขไหนดี


เมื่อสรุปได้แล้วว่า ค่าใช้จ่ายของคนทั่วไปมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเร็วกว่าอัตราเงินเฟ้อ ตัวเลขเงินเฟ้อที่มีการคำนวณและเผยแพร่อยู่ จึงไม่ใช่ input ที่ดีสำหรับการวางแผนทางการเงิน ในอดีตเราอาจใช้ตัวเลขดังกล่าวเพราะไม่มีไอเดียที่ดีกว่านั้น หรืออาจเพราะคิดว่ามันดูเข้าท่า อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันนี้รู้แล้วว่าไม่ดี เราก็ไม่ควรใช้ต่อ และควรแสวงหาทางเลือกอื่นที่ดีกว่า

โดยหลักแล้ว ตัวเลขที่ตรงไปตรงมาและน่าจะสะท้อนความเป็นจริงได้ดีที่สุด คือ ตัวเลข ค่าใช้จ่ายจริง ที่เราได้บันทึกเอาไว้ในบัญชีรายรับรายจ่าย (ถ้ามี) อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน เช่น 8-10 ปี ข้อมูลดังกล่าวจะสะท้อนระดับราคาตามเกรดสินค้าที่เราใช้จริง รวมถึงรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป

ปัญหาของคนทั่วไปอยู่ตรงที่ว่า พวกเขาไม่มีการบันทึกค่าใช้จ่ายที่ต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งนับว่าเป็นอุปสรรคสำคัญ ในกรณีเช่นนี้ตัวเลขที่ดีรองลงมาอาจเป็น อัตราการปรับเพิ่มเงินเดือน ที่รายงานโดยบริษัทชั้นนำด้านทรัพยากรมนุษย์และหน่วยงานต่าง ๆ (ตัวเลขล่าสุดจากบริษัท Mercer และสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย รายงานตรงกันอยู่ที่ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี)

ตามธรรมชาติของคนทั่วไป เมื่อมีรายได้มากขึ้นก็มักจะใช้จ่ายมากขึ้นด้วย แต่ก็จะไม่ถึงกับเปลี่ยนไปเป็นคนละคน กล่าวคือ ถ้าเคยออมกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้ ก็มักจะรักษานิสัยการออมนั้น ๆ เอาไว้ต่อไป อย่างน้อยก็สำหรับผู้คนในภาพรวม และเมื่อสัดส่วนการออมคงที่ หากค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกับเงินเดือนก็เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล

อีกตัวเลขที่น่าสนใจมาจากองค์ประกอบหนึ่งในการคำนวณ GDP  ได้แก่ ค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภค หรือ consumer expenditure ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ในช่วงหลัง ๆ ตัวเลขนี้มีการเติบโตในอัตรา 4-5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี (อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)

สังเกตว่าค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคนี้เป็นคนละตัวกับ ระดับราคา ที่วัดไปในเงินเฟ้อ เปรียบเทียบให้เห็นง่าย ๆ สมมติว่าระดับราคาไม่มีการเพิ่มขึ้นเลย (เงินเฟ้อ = 0) แต่ผู้คนทั่วไปซื้อของนับเป็นจำนวนชิ้นมากขึ้น จะด้วยคิดว่ามันถูกดี ซื้อตามเพื่อน หรือซื้อด้วยเหตุผลใดก็ตาม ในลักษณะนี้ค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคก็จะสูงขึ้น ทั้ง ๆ ที่เงินเฟ้อไม่ขยับ และเราก็จะต้องจดจ่อไปที่ตัวเลขนี้ ไม่ใช่ตัวเลขเงินเฟ้อ


ส่งท้ายจากคนที่ “ไม่ใช่กูรู”


เนื้อหาในบทความนี้ประมวลออกมาได้ว่า ตัวเลขเงินเฟ้อไม่ใช่ input ที่ดีสำหรับการวางแผนทางการเงิน ข้อเท็จจริงนี้อาจทำให้กูรูหลายท่านกระอักกระอ่วนใจ เพราะมันขัดกับความรู้เดิม แต่ที่จริงแล้วหากกูรู รวมทั้งพวกเราทุกคน ยอมสลับโหมดไปมาระหว่าง “กู-รู้” และ “กู-ไม่-รู้” ก็ย่อมจะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด เมื่อได้องค์ความรู้ใหม่ก็นำมาบอกกัน

สิ่งสำคัญก็คือ ต้องรู้จักใคร่ครวญและยอมเปิดใจ อย่างน้อยทั้งหมดนี้ก็เพื่อประโยชน์ของตัวเราเอง