วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ตัวเลขน่ารู้ - ฝุ่น PM 2.5


ในสถานการณ์ที่กรุงเทพฯ ปกคลุมไปด้วยฝุ่นละออง โดยเฉพาะฝุ่น “ขนาดจิ๋ว” ที่มีขนาดอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตร หรือที่เรียกกันว่า PM 2.5 เราจึงควรถือโอกาสนี้ศึกษาและหาทางรับมือกับฝุ่นพิษดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับบทความนี้จะเป็นเรื่องราวของตัวเลขที่เกี่ยวข้อง ส่วนประเด็นอื่น ๆ เช่น พิษภัยของฝุ่น, หน้ากากกรองอนุภาค ฯลฯ คิดว่าท่านทั้งหลายคงหาอ่านได้ไม่ยาก

[ข้อมูลต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ผู้เขียนเรียบเรียงและอธิบายด้วยภาษาง่าย ๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ผู้อ่านควรตรวจสอบกับแหล่งความรู้ทางวิชาการก่อนนำไปใช้อ้างอิง]


แค่ไหนถึงอันตราย


ความจริงแล้วมลพิษในอากาศมีอยู่มากมาย แต่ที่กำลังคุกคามและสร้างปัญหาใหญ่อยู่ก็คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (Particulate Matter หรือ PM) โดยเฉพาะ PM 2.5 หรือฝุ่นที่มีอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตร ด้วยขนาดที่เล็กมาก ๆ เพียงประมาณเศษ 1 ส่วน 30 ของขนาดเส้นผมคนเรา ฝุ่นละอองนี้จึงสามารถหลุดรอดผ่านการดักจับของระบบทางเดินหายใจเข้าสู่เส้นเลือด และไปทำอันตรายต่อร่างกายได้มาก โดยองค์การอนามัยโลกได้จัดให้ฝุ่น PM 2.5 เป็นสารก่อมะเร็งอย่างหนึ่งด้วย

ปริมาณฝุ่นสามารถวัดในหน่วย ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร โดยวัดเป็นค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง หรือค่าเฉลี่ย 1 ปี ส่วนการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยว่าระดับใดจะเริ่มเป็นอันตรายนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ ดังตารางด้านล่างนี้


ข้อมูลในตารางมาจากเว็บไซต์ Wikipedia และเว็บไซต์องค์การอนามัยโลก สังเกตว่าประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น จีน และไทย มีการกำหนดมาตรฐานไว้ค่อนข้างผ่อนคลายกว่าบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาจะมีความแข็งแกร่งหรือทนทานได้มากกว่าแต่อย่างใด แต่น่าจะเป็นเพราะว่าการกำหนดมาตรฐานเหล่านี้มีผลต่อการแจ้งเตือนประชาชน เช่น ให้งดกิจกรรมกลางแจ้ง หรือให้หาอุปกรณ์ป้องกัน ในทางปฏิบัติหากว่ามีการแจ้งเตือนอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา บางคนก็อาจจะเลิกสนใจไปในที่สุด อย่างไรก็ดี เชื่อว่ามาตรฐานดังกล่าวจะถูกปรับให้สูงขึ้นต่อไป เมื่อประเทศมีการพัฒนาดีขึ้นในอนาคต


ดัชนีชี้อันตราย


ในอีกทางหนึ่ง นอกจากการวัดปริมาณฝุ่นเป็น ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร แล้ว ยังมีการวัดค่าในรูปแบบของดัชนีด้วย อย่างเช่น AQI หรือ Air Quality Index ซึ่งเป็นดัชนีหรือ “ตัวเลข” ที่คำนวณขึ้นมาและสามารถเทียบเคียงกับปริมาณฝุ่น PM 2.5 ตามหน่วยวัดไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรได้ (ต่อไปนี้จะขอเรียกย่อ ๆ ว่า ไมโครกรัมฯ เพื่อไม่ให้ยืดยาวเกินไป)

ข้อควรสังเกต สำหรับชาวบ้านทั่วไป เมื่อได้ยินค่าตัวเลขจากสื่อต่าง ๆ เช่น 50, 70 หรือ 110
  1. ให้พิจารณาว่าตัวเลขดังกล่าวเป็น ค่าดัชนี (AQI) หรือ ปริมาณฝุ่น (ไมโครกรัมฯ) กันแน่ เพราะนี่เป็นการพูดถึงสิ่งเดียวกันในสองรูปแบบ และแน่นอนความหมายนั้นแตกต่างกัน

  2. หากเป็นค่า AQI ท่านต้องตระหนักว่าเป็น AQI ของใคร? อย่างตารางทั้งสองด้านล่างนี้ ฝั่งซ้ายเป็นตาราง AQI ของไทยจากกรมควบคุมมลพิษ ส่วนฝั่งขวาเป็นตาราง AQI ของสหรัฐอเมริกาจากเว็บไซต์ Wikipedia



  3. สังเกตว่า AQI = 50 ของไทยจะเทียบเท่าฝุ่น PM 2.5 จำนวน 37 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ส่วน AQI = 50 ของอเมริกาจะเทียบเท่า 12 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ถ้าอยากคุยให้รู้เรื่องตรงกันแน่ ๆ ก็เรียกเป็นไมโครกรัมฯ ไปเลย จะได้ลดความสับสน

  4. ค่า AQI อาจไม่บ่งบอกถึงปริมาณฝุ่น PM 2.5 เสมอไป เพราะดัชนีดังกล่าวคำนวณมาจากสารพิษในอากาศหลายตัว ไม่ว่าจะเป็น SO2, NO2, ก๊าซโอโซน ฯลฯ แล้วอิงตามตัวที่มีปริมาณเป็นพิษมากที่สุด ดังนั้น ค่า AQI ที่สูง ณ เวลาหนึ่ง ๆ อาจเป็นผลมาจากสารพิษตัวอื่นที่ไม่ใช่ฝุ่น PM 2.5 ก็ได้

  5. ปริมาณฝุ่นที่วัดเป็นค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง หมายถึง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการวัดปริมาณฝุ่นย้อนหลังไปเป็นเวลา 24 ชั่วโมง (นับจากเวลาที่มีรายงานออกมา) จึงอาจไม่สะท้อนสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน แต่ก็มีข้อดีที่ความแม่นยำ ตัวอย่างเช่น การวัดค่าอากาศเฉลี่ยย้อนหลัง 24 ชั่วโมงอาจมีความคลาดเคลื่อนในระดับ 0.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร แต่การวัดค่าเฉลี่ยย้อนหลังเพียง 1 ชั่วโมงอาจมีความคลาดเคลื่อน 1.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ส่วนการวัดเพียงครั้งเดียว (ไม่มีการเฉลี่ย) ก็จะยิ่งคลาดเคลื่อนมากไปกว่านั้น

สรุปง่าย ๆ ก็คือ ควรเจาะจงวัดปริมาณฝุ่น PM 2.5 เป็นไมโครกรัมฯ ไปเลย และถ้านับตามมาตรฐานไทย ทุกคนจะปลอดภัย เมื่อปริมาณฝุ่นไม่เกิน 37 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น