วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2562
ไฟไหม้มัดข้าว
ย้อนไป 164 ปีที่แล้วในช่วงเย็นวันหนึ่งก่อนสิ้นปี ขณะที่ชาวบ้านฮิโระมุระกำลังง่วนอยู่กับการจัดเตรียมงานเฉลิมฉลองเทศกาลเก็บเกี่ยว จนแทบไม่มีใครรู้สึกถึง "แผ่นดินไหว" ที่เพิ่งเกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ
โกเรียว ฮามะกุจิ ผู้นำหมู่บ้านสังเกตว่าแผ่นดินไหวครั้งนั้นแม้ไม่รุนแรง แต่การสั่นไหวก็เกิดขึ้นช้าและยาวนานผิดประหลาด เมื่อออกจากบ้านและมองมาที่ทะเล เขาพบว่าระดับน้ำได้ลดลงจนเนินหินบริเวณชายฝั่งปรากฏขึ้น โกเรียวรู้ทันทีว่าสึนามิกำลังมาแล้ว
เพื่อช่วยชีวิตผู้คนในหมู่บ้าน เขาตัดสินใจจุดไฟเผากองฟ่อนข้าวที่เก็บเกี่ยวมาโดยทันที เมื่อไฟกองใหญ่ลุกลามขึ้นประกอบกับท้องฟ้าที่ค่อย ๆ มืดลงขณะที่ตะวันตกดิน ชาวบ้านที่หอสังเกตการณ์ก็ส่งสัญญาณเรียกทุกคนให้รีบมาช่วยกันดับไฟที่บ้านของโกเรียว พวกคนหนุ่มที่วิ่งมาถึงก่อนพยายามจะเข้าไปดับไฟ แต่โกเรียวก็ตะโกนห้ามไว้ท่ามกลางความประหลาดใจของทุกคน
เมื่อชาวบ้านทยอยกันมาถึงบ้านโกเรียวที่เนินเขาจนครบแล้ว โกเรียวบอกให้ทุกคนมองไปที่ทะเล สิ่งที่ปรากฏต่อสายตา คือ แนวคลื่นยักษ์ที่ก่อตัวเป็นกำแพงทะมึนอยู่ตรงขอบฟ้า ไม่นานคลื่นสึนามิก็ถาโถมเข้าสู่หมู่บ้านและกวาดทุกอย่างจนราบเป็นหน้ากลอง อย่างไรก็ตาม โกเรียวสามารถรักษา 400 ชีวิตในหมู่บ้านเอาไว้ได้
-------------------------------------------
นี่เป็นเรื่องราวโดยย่อของเหตุการณ์ "ไฟไหม้มัดข้าว" (the fire of rice sheaves) ตามที่ปรากฏในหนังสือแบบเรียนชั้นประถมศึกษาของประเทศญี่ปุ่น โดยจุดเริ่มต้นในการค้นหาข้อมูลมาจากบทความในวารสารอินทาเนียที่ผมอ่านเมื่อไม่นานมานี้
ท่านทั้งหลายคิดอย่างไรบ้าง? ข้าวกองใหญ่แลกกับชีวิตชาวบ้านหลายร้อยคน
ผมเชื่อว่าคนจำนวนมากจะบอกว่า "สุดแสนจะคุ้ม" เพราะหากใช้วิธีวิ่งไปบอกทุกคนตามบ้าน มันก็คงช้ามาก บางทีอาจมีคนมัวเก็บข้าวเก็บของไม่ยอมหนีภัยในทันที หรืออาจมีคนที่ออกไปธุระนอกบ้านจนตามหากันไม่เจอ ฯลฯ
แต่ในทางตรงข้ามคนอีกกลุ่มหนึ่งก็อาจจะอ้างว่า คนเรามีสิทธิ์เลือกรักษาทรัพย์สินของตนเองโดยชอบธรรม ส่วนการช่วยเหลือผู้คนก็เป็นความสำคัญลำดับรอง ๆ ลงมา
ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้ คือ โลกของเรามีทั้งคนที่ถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ (แบบโกเรียว) และคนที่ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นใหญ่ การที่ใครจะเลือกเป็นแบบไหนนั้นขึ้นอยู่กับว่าเขา "ให้คุณค่า" กับสิ่งใด
คนที่ให้คุณค่ากับความร่ำรวยจะใช้เงินเป็นไม้บรรทัด ถ้าท่านจนกว่าเขา เขาก็จะบอกว่าท่านด้อยกว่า หรือถ้าเอาวุฒิการศึกษาเป็นไม้บรรทัด หากท่านเรียนมาน้อยกว่าเขา เขาก็จะบอกว่าท่านด้อยกว่า
จุดสำคัญก็คือ ขอให้เราดีพอในโลกของเรา ตามไม้บรรทัดของเรา ส่วนจะยาวหรือสั้นในโลกของใครก็ไม่เป็นไร และในทางกลับกันเราก็ต้องระมัดระวังไม่ "ยัดเยียด" ไม้บรรทัดของเราให้กับคนอื่นด้วย
สุดท้ายที่ผมอยากให้ข้อสังเกตไว้ คือ การช่วยเหลือคนอื่น น่าจะเป็นไม้บรรทัดของหมู่บ้านฮิโระมุระนี้ - โกเรียวยอมสละข้าว ซึ่งอาจจะเป็นข้าวทั้งหมดของตัวเอง เพื่อช่วยเหลือคนอื่น ส่วนคนอื่นที่จริงก็เร่งรีบมาเพื่อจะช่วยโกเรียวดับไฟ
และในที่สุดแล้วความคิดที่จะช่วยเหลือคนอื่นนี่เองที่ทำให้ทุกคนรอดตาย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
วิเคราะห์ได้เฉียบคมมากเลยครับ
ตอบลบ